ได้ยินว่าแค่โกหกก็ต้องตกนรกแล้ว โทษหนักเกินไปหรือเปล่า?

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 28 ธันวาคม 2005.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,173
    การโป้ปดมดเท็จนั้น เมื่อใครเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้มีกำเนิดในนรก ในดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุดย่อมยังการกล่าวตู่ด้วยคำไม่เป็นจริงให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
    พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ พอลองดูอย่างละเอียดรอบคอบก็จะพบว่ามีเงื่อนไขของการไปนรกเพราะมุสาวาทอยู่ นั่นคือเสพจนติด เพาะเลี้ยงตัวโกหกจนมันเติบโตขึ้นเป็นนิสัยถาวร ปั้นน้ำเป็นตัวบ่อยเสียจนชินชาหน้าไม่อาย
    เมื่อเล็งเข้าไปที่จิตใจของผู้สร้างสมนิสัยโป้ปดมดเท็จจนเคยตัว จะเห็นว่ามีความดำมืด มีความบิดเบี้ยวเลอะเลือน และที่ธรรมชาติเขาพิพากษาไว้ก็คือหากจิตชุ่มด้วยบาป สกปรกมะล่อกมะแล่กดูไม่ได้ ก็จะต้องมีที่ไปเหมาะกับความสกปรกโสมมของตนเอง
    อีกประการหนึ่ง ตัวมุสาตัวเดียวมันเหมือนเชื้อโรคร้าย สามารถแตกกิ่งก้านสาขาออกไปเป็นโรคอื่นได้ไม่รู้จบ จะเปรียบเทียบเหมือนกับเอดส์ที่เข้าไปทำลายภูมิต้านทานโรคต่างๆในร่างกายมนุษย์ก็ได้ เมื่อใดที่ความละอายถูกทำลายลง เมื่อนั้นคนเราย่อมหมดความยับยั้งชั่งใจที่จะกระทำบาป พร้อมจะก่อเวรก่อกรรมได้ทุกชนิด สมดังที่พระพุทธเจ้ามีพระดำรัสคือ
    เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่แก่ใจ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งนั้น ย่อมไม่มี
    โกหกหนึ่งครั้งคือสร้างความบิดเบี้ยวให้กับจิตหนึ่งหน สังเกตดูก็ได้ครับ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ครั้งต่อไปลองพูดปดแบบรู้ทั้งรู้ว่าเรื่องมันไม่จริง พูดเสร็จให้ดูเข้ามาในใจตัวเอง จะเห็นความฟุ้งซ่านจับไม่ติด หรือแม้หากว่าพื้นฐานเป็นผู้ทรงสติเป็นเยี่ยม อย่างน้อยที่สุดคุณจะเห็นความเย็นชาของจิต มีความรู้สึกอยากเย้ยโลก และเห็นว่าการสร้างข้อมูลเท็จได้แนบเนียนคืออำนาจที่แท้จริง
    ความจริงยิ่งกว่าสิ่งใดก็คือ สัจจะความจริงนั่นแหละอำนาจสูงสุด เมื่อคุณพูดถึงความจริงบ่อยๆ พูดอย่างมีสติทั้งรู้ว่าบางครั้งอาจก่อผลด้านลบให้กับตนเอง แต่ละครั้งคุณจะรู้สึกถึงพลัง ความมั่นคงทางใจ และความสามารถรู้เห็นอะไรๆได้ตามจริงราวกับคนเคยตาสั้นได้แว่นที่จักษุแพทย์มอบให้
    มาพูดถึงความจำเป็นต้องโกหกในชีวิตประจำวันกันบ้าง การโกหกมดเท็จนั้นมีหลายแบบ แบบที่เดือดร้อนคนอื่นมากก็มี ไม่เดือดร้อนใครเลยก็มี โกหกโดยเจตนาให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายก็มี โกหกเพราะมาดหมายเอาประโยชน์เข้าตนก็มี โกหกทุกวันจนติดเป็นนิสัยก็มี นานๆโกหกทีก็มี โกหกแบบหยอกล้อเล่นหัวเพื่อได้หัวเราะกันก็มี โกหกแบบตลกเลือดจะให้ตระหนกตกใจปางตายก็มี
    ตัวแปรต่างๆจะทำให้เกิดน้ำหนักผิดแผกแตกต่างไป ที่เห็นผลใกล้ที่สุดก็คือความบิดเบี้ยวทางความรู้สึกอันเป็นของรู้เฉพาะตน (ผู้มีความสามารถหยั่งรู้วาระจิตก็ทราบได้ แต่คนทั่วไปเขาจะไม่รู้สึกถึงความบิดเบี้ยวอันนี้ในเราเลย)
    ความบิดเบี้ยวทางจิตเป็นอย่างไร? ขอให้ลองดูตอนคุณโกหกคำโต เมื่อไหร่โกหกเสร็จลองพยายามรู้ตามจริงว่าหายใจเข้าหรือออกให้ได้สักสิบครั้ง นับดูสิครับว่าจิตมีความสามารถตามรู้ไปได้จริงๆกี่ครั้ง เสร็จแล้วเอาใหม่ ถ้ามีโอกาสให้โกหกเพื่อประโยชน์ของเรา แต่เราไม่เอา จะเอาแต่ความจริง พูดแต่คำที่เป็นสัตย์ พูดออกมาจากใจที่ซื่อทางโลกแต่เจ้าปัญญาทางธรรม พอพูดเสร็จสังเกตดูว่ารู้สึกดีอย่างไร เกิดความมั่นคงทางใจแค่ไหน ขอให้ทราบว่านั่นแหละอำนาจแห่งสัจจะที่เราได้รับในทันที ลองพิสูจน์ให้เห็นอำนาจนั้นชัดขึ้นด้วยการตามรู้ลมหายใจเข้าออกสิบครั้ง แล้วจะรู้ว่าเราทำได้ไม่ยากเลย
    ความสามารถรู้ตามจริงนั้น โดยทั่วไปคนเราถือเป็นเรื่องผิวเผิน แต่ที่แท้มีความสำคัญยิ่งยวดกับชีวิต เพราะเมื่อสามารถรู้ได้ตามจริง ก็ย่อมเห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ คนเราเมื่อรู้จักประโยชน์ย่อมเก็บเกี่ยวแต่ประโยชน์มาสั่งสมไว้ให้พอกพูน แต่เมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นโทษก็อาจพลาดตักตวงมันเข้ามาด้วยความละโมบโลภมาก เหมือนกองขยะแห่งบาปกรรมส่งกลิ่นเน่าเหม็นเพียงใดก็ไม่รู้สึก เพราะจมูกแห่งมโนธรรมมันตายด้านไปเสียแล้ว
    นี่แหละ สังเกตจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเราเอง เอาเราเองเป็นที่ตั้งของเครื่องวัด ก็จะพบว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ขู่เล่น ท่านตรัสชี้ว่าอะไรเป็นอะไรตามจริงต่างหาก
    ถาม
     
  2. vichian

    vichian เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กันยายน 2005
    โพสต์:
    8,164
    ค่าพลัง:
    +41,920
    การพูดปดมดเท็จ หากประกอบด้วยเจตนาให้ผู้อื่นเข้าใจผิด และเดือดร้อนจากคำพูดของตน หรือเพื่อประโยชน์ตนนั้นก็ถือว่าผิดครับ เพราะเป็นเรื่องไม่ปกติเสียแล้ว ศีล แปลว่า ปกติ ครับ

    สวัสดีที่ยังปกติบ้างไม่ปกติบ้าง
    จากคนที่ยังไม่เต็มบาท
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 พฤศจิกายน 2007

แชร์หน้านี้

Loading...