ไขปริศนา "พระแก่นจันทน์พระเจ้าอุเทน" อยู่ในรัสเซีย?

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย montrik, 24 พฤษภาคม 2021.

  1. montrik

    montrik แดง แดนอุทัย สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มกราคม 2008
    โพสต์:
    10,119
    กระทู้เรื่องเด่น:
    74
    ค่าพลัง:
    +12,075
    ไขปริศนา "พระแก่นจันทน์พระเจ้าอุเทน" อยู่ในรัสเซีย?
    วันที่ 23 พ.ค. 2564 เวลา 20:19 น.
    67B8417E0CAE089137331452AEED345B.jpg

    เรื่องราวการของระพุทธรูปสำคัญของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เคารพนับถือกันในเอเชียตะวันออก แต่สูญหายไปจากจีนหลังชาติตะวันตกรุกรานปักกิ่งเมื่อ 100 กว่าปีก่อน
    หลายปีก่อนผู้เขียนได้สนทนากับมิตรสหายในวงการประวัติศาสตร์เรื่องพระพุทธรูปองค์แรกของโลก ผู้เขียนบอกว่าก่อนการมาถึงของศิลปะชาวโยนก (กรีก) ในชมพูทวีปมีตำนานการสร้างพระพุทธรูปกันแล้ว ปรากฏในตำนานเรื่องพระแก่นจันทน์ ทางเถรวาทเรียกว่า "พระแก่นจันทน์แดง" ส่วนทางมหายานเรียก "พระแก่นจันทน์พระเจ้าอุเทน"

    เดี๋ยวคนไทยเราไม่คุ้นปางแก่นจันทน์เท่าไหร่ แต่สมัยก่อนนิยมสร้างกัน ตามตำนานฝ่ายเถรวาทพระแก่นจันทน์สร้างโดยพระเจ้าปเสนทิโกสล มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์แล้วไม่พบ จึงทรงดำริว่าหากวันหนึ่งพระศาสดาหาไม่แล้ว คงสลดพระทัยอย่างมาก จึงทรงสร้างพระพุทธรูปองค์แรกของโลกจากไม้ไม้แก่นจันทน์ แต่ฝ่ายมหายานว่าพระเจ้าอุเทน (อุทยานะ) เป็นผู้สร้างขึ้นเพราะรำลึกถึงพระศาสาดา คราวเสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์นานถึง 3 เดือน ดังประวัติกล่าวว่า

    "... พระเจ้าอุเทนทรงเฝ้าคำนึงถึงพุทธองค์ยิ่งนัก ถึงกับอ้อนวอนให้พระโมคคัลลานะใช้อิทธิฤทธิเดินทางไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยนายช่าง 32 คน เพื่อสร้างพระปฏิมาที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับพุทธองค์ ทั้งหมดเดินทางไปสวรรค์ถึง 3 ครั้ง นายช่างจึงสามารถสลักพระปฏิมาจากไม้แก่นจันทน์ เมื่อเสร็จแล้วพระพุทธองค์เสด็จกลับสู่มนุษย์โลกอีกครั้งพอดี ครั้นเมื่อทอดพระเนตรพระปฏิมาทรงมีพุทธทำนายว่า "หนึ่งพันปีหลังตถาคตปรินิพพาน พระปฏิมานี้จะถูกอัญเชิญไปยังแผ่นดินจีน แผ่นดินนั้นพระศาสนาจะรุ่งเรือง เวไนยสัตว์ทั้งหลายจะได้รับคำสั่งสอนและบรรลุธรรม ... "

    เดิมพระแก่นจันทน์อยู่ที่เมืองสาวัตถี ต่อมาพระเจ้ากรุงกุษาณะอัญเชิญไปแผ่นดินของพระองค์ ซึ่งปัจจุบันคืออัฟกานิสถาน ราวศตวรรษที่ 3 และมีการสร้างองค์จำลองที่บามิยัน ต่อมาเกิดศึกสงครามที่แคว้นกุษาณะ พระสงฆ์ชื่อกุมารายันลักลอบนำพระแก่นจันทน์เดินทางมายังจีน ตำนานเล่าว่าตอนกลางวันท่านอุ้มพระ แต่กลางคืนพระช่วยอุ้มท่านพากันมาถึงแคว้นชิวฉือในที่สุด

    พระแก่นจันทน์น่าจะมาถึงฉางอันในปี 384 จากนั้นย้ายสถานที่ประดิษฐานไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาพันกว่าปี

    จนกระทั่งมาประดิษฐานแห่งสุดท้ายที่วัดจันถานซื่อ (วัดจันทนะ) ใกล้ๆ กับทำเนียบจงหนานไห่ในปัจจุบัน แต่วัดนี้ถูกทำลายไปในช่วงกองทัพพันธมิตร 8 ชาติรุกรานจีนในปี ค.ศ. 1900 องค์พระก็หายไปด้วย ทางจีนเหลือแต่ภาพเหมือน แต่ต่อมาแม้แต่วิหารประดิษฐานภาพเหมือนก็ยังพังทลาย

    การสูญหายของพระแก่นจันทน์เป็นปริศนาที่ชาวพุทธในจีนอยากจะรู้ความจริงมากที่สุด (แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็อยากรู้เพราะทำองค์จำลองไว้ และอ้างว่าก่อนที่จะหายไปองค์จริงทำปาฏิหาริย์เหินฟ้ามาสลับกับองค์จำลองที่ญี่ปุ่น ที่วัดเซริวจิ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงอ้างว่าตัวเองรักษาของจริงไว้)

    นักวิชาการบางคนโยงว่า การที่พระแก่นจันทน์หายไปจากจีน เป็นเหตุให้ราชวงศ์ชิงถึงกาลสิ้นสุด ระบบศักดินาถึงกาลอวสาน

    ไม่นานมานี้ มีนักวิชาการรัสเซียอ้างว่า พบเบาะแสของพระแก่นจันทน์แล้ว คาดว่าน่าจะอยู่ที่แคว้นบูเรียต ซึ่งเป็นแคว้นที่นับถือศาสนาพุทธในแถบไซบีเรีย สาเหตุที่ไปอยู่ที่นั่นเพราะทหารชาวบูเรียตไปร่วมกับทัพรัสเซียและทัพ 8 ชาติบุกปักกิ่งเมื่อปี 1900 ได้ฉวยโอกาสช่วงชุลมุนตอนฝรั่งเศสเผาปักกิ่ง บุกเข้าไปที่วัดจันถานแล้วลักลอบย้ายพระแก่นจันทน์ออกมาซ่อนไว้ระยะหนึ่งเพื่อไม่ให้พวกฝรั่งล่วงรู้ จากนั้นทำทีว่าเป็นพัสดุไปรษณีย์ของกองทัพบูเรียต แล้วส่งต่อๆ กันข้ามไปถึงรัสเซียในที่สุด โดยที่ทหารรัสเซียฝรั่งไม่ทราบเรื่อง แต่ทหารบูเรียตห่อผ้าคะตัก หรือผ้ามาลัยทิเบต สำหรับถวายพระไว้เป็นสัญลักษณ์

    พระแก่นจันทน์อยู่บูเรียตอย่างสงบได้พักเดียว รัสเซียเกิดการปฏิวัติบอลเชวิก ศาสนาเริ่มถูกกดขี่ มีการทำลายศาสนสถานทุกศาสนา รวมถึงวัดพุทธในแคว้นบูเรียต ส่วนศาสนวัตถุถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์รวมถึงพระแก่นจันทน์ แต่ชาวบูเรียที่พอจะมีเส้นสายมักพยายามหาทางเข้าไปไหว้เงียบๆ ในคลังพิพิธภัณฑ์ พระแก่นจันทน์เก็บอยู่ในคลังจนถึงกาลสิ้่นสุดของสหภาพโซเวียตได้มีการร้องขอพระแก่นจันทน์กลับไปยังแคว้นบูเรียต ในปี 1991 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดเอกิตุย ดัตซัน

    อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้กังขาว่าพระแก่นจันทน์ที่แคว้นบูเรียตเป็นองค์จริงหรือไม่ เพราะมีช่วงหนึ่งที่พระเจ้าคังซีทรงย้ายพระแก่นจันทน์มาที่วัดจันถานซื่อ ซึ่งอาจเป็นองค์จำลองเพราะจากการตรวจสอบองค์พระโดยเจ้าหน้ที่พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ ในเลนินกราด พบว่าสร้างจากไม้ Lime tree ไม่ใช่ไม้จันทน์ แต่อาบด้วยผงไม้จันทน์จนหนาแล้วลงรักปิดทอง 3 ชั้่น (ปิดทองในสมัยพระเจ้าว่านลี่ แห่งราชวงศ์หมิง)

    ไม่ว่าจะสร้างตั้งแต่ยุคพระเจ้าอุเทน หรือยุคไหนก็ตาม ก็ยังนับเป็นพระแก่นจันทน์อยู่ดี

    11333F08D9C5EB84F54ED2006FD6092E_1000.jpg
    ภาพพระบฏ ปัจจุบันไม่ทราบว่าภาพพระบฎพระปฏิมาแก่นจันทน์สูญหาย หรือประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด

    ประวัติสังเขปพระปฏิมาแก่นจันทน์องค์แรกของพระศากยมุนีพุทธเจ้า
    โดย ว่านจิ่วหลิง เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน ปี 1932 ของปีจันทรคติ

    หกปีหลังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ได้ทรงเสด็จไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดา และทรงประทับอยู่ยาวนานหลายเดือน เป็นเหตุให้พระเจ้าอุเทนทรงเฝ้าคำนึงถึงพุทธองค์ยิ่งนัก ถึงกับอ้อนวอนให้พระโมคคัลลานะใช้อิทธิฤทธิเดินทางไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยนายช่าง 32 คน เพื่อสร้างพระปฏิมาที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับพุทธองค์ ทั้งหมดเดินทางไปสวรรค์ถึง 3 ครั้ง นายช่างจึงสามารถสลักพระปฏิมาจากไม่แก่นจันทน์ เมื่อเสร็จแล้วพระพุทธองค์เสด็จกลับสู่มนุษย์โลกอีกครั้งพอดี ครั้นเมื่อทอดพระเนตรพระปฏิมาทรงมีพุทธทำนายว่า "หนึ่งพันปีหลังเราปรินิพพาน พระปฏิมานี้จะถูกอัญเชิญไปยังแผ่นดินจีน ณ ที่ซึ่งพระศาสนาจะรุ่งเรือง เวไนยสัตว์ทั้งหลายจะได้รับคำสั่งสอนและบรรลุธรรม

    ในช่วง 1280 ปีต่อมา พระปฏิมาแก่นจันทน์ประดิษฐานที่แว่นแคว้นภาคตะวันตกของภารตวรรษ ต่อมาราชันแห่งอาณาจักรกุษาณนำไปยังแคว้นตนและประดิษฐานที่นั่นนาน 66 ปี ต่อมาถูกอัญเชิญไปยังเมืองเหลียงโจว (เมืองโบราณในมณฑลกานซู) นาน 14 ปี ไปยังนครฉางอาน (นครซีอานในปัจจุบัน) 17 ปี เจียงหนาน (แว่นแคว้นแถบลุ่มน้ำทางใต้แม่น้ำแยงซีเกียง) 173 ปี และที่ไหวหนาน (เมืองหยางโจวในปัจจุบัน) เป็นเวลา 367 ปี จนถูกอัญเชิญกลับมาที่เจียงหนานและประดิษฐานอยู่นาน 21 ปี

    จากนั้นพระปฏิมาแก่นจันทน์ถูกอัญเชิญไปยังเปี้ยนจิง (เมืองไคฟงในปัจจุบัน) นาน 176 ปี ต่อมาไปประดิษฐานที่เมืองเยียนจิง (ปักกิ่งในปัจจุบัน) ณ อารามเซิ่งอานนาน 12 ปี จากนั้นอัญเชิญขึ้นไปทางทิศบูรพายังเมืองซ่างจิง (เมืองโบราณในมณฑลเหลียวหนิง) 11 ปี และเป็นที่สักการะของมหาชนที่มหาอารามจูชิง 120 ปี ต่อมาอัญเชิญลงสู่เบื้องทักษิณทิศไปยังนครจงตู (ปักกิ่งในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ พระราชฐานชั้นในเป็นเวลา 15 ปี

    นับแต่ช่วงเวลาก่อนสถาปนาราชวงศ์หยวนถึงรัชสมัยติ้งโจว (ค.ศ. 1217) พระปฏิมาแก่นจันทน์ประดิษฐาน ณ อารามเซิ่งอาน นับจากปีที่ 12 แห่งราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1275) ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วิหารเหรินจื้อ ที่ภูเขาว่านโซ่ว ต่อมาย้ายไปยังอารามต้าเซิง ว่านอาน ในช่วงเริ่มต้นราชวงศ์หมิงพระปฏิมาแก่นจันทน์อยู่ที่อารามชิงโซ่ว ทว่า อารามได้รับความเสียหายในปีที่ 4 แห่งรัชสมัยเจี่ยจิ้ง พระปฏิมาถูกอัญเชิญไปยังอารามจิ่วเฟิง และอยู่ที่นั่นนาน 128 ปี

    ในปีที่ 4 แห่งรัชสมัยคังซี (ค.ศ. 1665) ฮ่องเต้ทรงมีพระบัญชาให้สร้างอารามหงเหริน เพื่อที่พระองค์จักได้กระทำสักการะแก่พระปฏิมาแก่นจันทน์ ทว่า ในรัชสมัยกวงซวี่ เกิดขบถเกิงจื่อ (กองทัพพันธมิตร 8 ชาติรุกรานจีนในปี ค.ศ. 1900) อารารมหงเหรินได้เสียหายย่อยยับจากสงคราม และเป็นเหตุให้พระปฏิมาแก่นจันทน์สูญหายนับแต่บัดนั้น เหลือเพียงภาพพระบฏวาดจากองค์จริงที่รอดพนจากหายนะครั้งนั้น

    ต่อมาภาพพระบฏนี้ถูกไปประดิษฐานที่วิหารไท่เหอ ทว่า วิหารไท่เหอต่อมาพังทลายลง จึงนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอจัดแสดงสิ่งของโบราณ โดยเหตุที่ประเทศจีนต้องเผชิญกับภัยสงครามและภัยธรรมชาตินานาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สมาชิกสมาคมธรรมะพิทักษ์ชาติ จึงจัดพิธีสักการะพระปฏิมาแก่นจันทน์องค์แรก ในวันที่ 9 กันยายน ถึง 28 กันยายน 1932 ตามปฏิทินจันทรคติ

    (ปัจจุบันไม่ทราบว่าภาพพระบฎพระปฏิมาแก่นจันทน์สูญหาย หรือประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด)

    บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

    หมายเหตุ

    • เรื่อง "ไขปริศนา "พระแก่นจันทน์พระเจ้าอุเทน" อยู่ในรัสเซีย?" เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊คของ Kornkit Disthan เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2016

    • เรื่อง "ประวัติสังเขปพระปฏิมาแก่นจันทน์องค์แรกของพระศากยมุนีพุทธเจ้า" เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊คของ Kornkit Disthan เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2013




    ขอขอบคุณ
    https://www.posttoday.com/world/652980
     

แชร์หน้านี้

Loading...