เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 เมษายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,920
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,920
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ ถ้าโบราณเขาเรียกว่า "วันสุกดิบ" ส่วนใหญ่ทั้งสุกทั้งดิบก็คือข้าวปลาอาหารที่จะถวายพระนั่นแหละ ข้าวปลาอาหาร ตลอดจนกระทั่งขนมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไปโดยประเพณีหรือเปล่า เมื่อถึงเวลา คนโบราณจะถวายพระก่อน

    ถ้าหากว่าเราศึกษาประวัติพระอัญญาโกณฑัญญเถระ จะปลูกข้าวท่านก็ทำบุญ จะเกี่ยวข้าวท่านก็ทำบุญ จะขนข้าวขึ้นยุ้งท่านก็ทำบุญ ส่วนพระสุภัททเถระไปทำบุญตอนขนข้าวขึ้นยุ้งทีเดียว

    พระอัญญาโกณฑัญญเถระจึงเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่บรรลุอรหันต์ในพระพุทธศาสนาของพระสมณโคดม ส่วนพระสุภัททเถระเกือบจะไม่ทัน คือถ้าพระอานนท์ใจแข็งหน่อยเดียว ไม่ให้เข้าพบ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องบรรลุกัน แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่านี่ก็คือปัจฉิมสักขิสาวก ผู้ที่จะบรรลุธรรมด้วยคำสอนของพระองค์ท่านเป็นรูปสุดท้าย จึงอนุญาตให้เข้าไปฟังธรรมแล้วก็บรรลุได้

    คนโบราณถึงได้กลัว..กลัวว่าถ้าจะต้องน่าหวาดเสียวขนาดพระสุภัททเถระก็คงจะเสี่ยงเกินไป ดังนั้น..ไม่ว่าอะไรที่เป็นผลผลิต เกิดจากไร่จากสวนชุดแรกก็มักจะถวายพระก่อน

    ในช่วงที่ข้าวตั้งท้อง ยังเป็นน้ำนมอยู่ ก็ทำข้าวยาคูถวายพระ ในช่วงที่ข้าวตกรวงกำลังแก่ ก็ทำข้าวเม่าถวายพระ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทำบุญข้าวใหม่ถวายพระก่อน
    เราจะเห็นว่าคนโบราณนั้น ทำอะไรอยู่กับบุญอยู่กับกุศลตลอดเวลา ดังนั้น..เขาทั้งหลายเหล่านั้นจึงอยู่ในลักษณะของการ "อยู่เย็นเป็นสุข" เพราะสิ่งที่ตนกระทำเอง

    แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันนี้ อย่างลุงเชิญ บุญรังษี คหบดีของจังหวัดจันทบุรี ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง เป็นเพื่อนของหลวงลุงสุนทร สุธมฺมสุนฺทโร ลุงเชิญปฏิบัติธรรมแล้วติดขัดอยู่หลายปี ไปต่อไม่เป็น พอดีปีนั้นกระผม/อาตมภาพไปเยี่ยมหลวงลุงสุนทร ถ้าจำไม่ผิดเป็นปี ๒๕๓๗ เพราะว่าหลวงลุงสุนทรท่านป่วยแล้วไปรักษาตัวที่บ้านเชิงเขาคิชฌกูฎ เมื่อไปถึง ปรากฏว่าหลวงลุงท่านเริ่มแข็งแรงดีแล้ว ก็บอกว่า "หลวงพี่..ไปเยี่ยมเพื่อนผมหน่อย เขาเป็นนักปฏิบัติธรรม" แล้วก็ให้ลูกชายพาขึ้นรถไปที่บ้านสวนบางกะจะ
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,920
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    ลุงเชิญที่ปฏิบัติธรรมแล้วติดขัดอยู่หลายปี เห็นเพื่อนคือหลวงลุงสุนทรมาก็สอบถามปัญหา หลวงลุงสุนทรท่านบอกว่า "ถามหลวงพี่ผมเถอะ" ก็คือถึงแม้ว่าท่านจะอายุมากกว่า แต่ว่าบวชทีหลัง ก็คือรุ่นของอาตมภาพแล้ว ถัดมาก็เป็นรุ่นของท่านอาจารย์ตี๋ (พระนิติ สุธมฺมสุนฺทโร) แล้วก็มาเป็นรุ่นท่านโกวิท แล้วก็รุ่นท่านสมปอง สุธมฺมสนฺตจิตฺโต แล้วถึงเป็นรุ่นของท่านวิศิฏฐ์ สุธมฺมกาโม กับหลวงลุงสุนทร สุธมฺมสุนฺทโร แล้วถึงจะมาเป็นรุ่นของพระครูปลัดสมนึก สุธมฺมถิรสทฺโธ กับท่านสำออย สุธมฺมธนปาโล ก็ห่างกันเยอะอยู่นะ..!

    ลุงเชิญก็เลยขนเอาปัญหาที่ตัวเองติดขัดอยู่แล้วไปต่อไม่เป็นมาถาม กระผม/อาตมภาพแก้ไขปัญหาให้ ลุงเชิญดีใจมาก เพราะว่าบางอย่างเหมือนกับ "หญ้าปากคอก" หรือ "ผงเข้าตาตัวเอง" เขี่ยเองไม่ได้ มีคนอื่นเขี่ยให้ก็ดีใจ ปวารณานิมนต์ตลอดชีวิต แม้ตัวเองตายแล้วก็สั่งลูกหลานไว้ว่าให้นิมนต์ต่อ นี่อีกไม่กี่วันกระผม/อาตมภาพก็ต้องไปบ้านลุงเชิญอีก

    คราวนี้ปรากฏว่าตอนนั้นกระผม/อาตมภาพยังอยู่ที่เกาะพระฤๅษี ลุงเชิญวิ่งจากท่าใหม่ จันทบุรี เมื่อกี้บอกว่าบางกะจะ แล้วทำไมตอนนี้บอกว่าท่าใหม่ ? เพราะว่าสวนที่บางกะจะนั้นเป็นสวนมหาสมบัติ แค่ฝนตกนี่มีพลอยกลิ้งอยู่บนพื้นแล้ว..! ลุงเชิญก็เลยเก็บเอาไว้ให้ลูกให้หลาน แล้วก็ไปซื้อที่ดินที่อำเภอท่าใหม่ทำสวนทุเรียน

    ทุเรียนรุ่นแรกออกมา ๘ ลูก ลุงเชิญวิ่งจากท่าใหม่ไปถึงเกาะพระฤๅษี ใช้เวลา ๘ ชั่วโมง..! เพื่อเอาทุเรียนไปถวายพระอาจารย์เล็ก บอกว่าเป็นผลผลิตรุ่นแรกของสวน อยากจะถวายพระก่อน "เมื่ออยากจะถวายพระ ก็นึกถึงแต่หลวงพี่เท่านั้น" ก็เลยวิ่งเสียหลายร้อยกิโลเมตรเอามาถวาย กำลังใจลักษณะอย่างนี้ กระผม/อาตมภาพฉันทุเรียนของเขาไม่ลง..! ก็คือเป็นกำลังใจที่มุ่งแต่บุญแต่กุศล อยู่ในลักษณะอย่างนั้น

    มีญาติโยมอีกท่านหนึ่งก็อยู่ในลักษณะนี้ ก็คือถามปัญหาแล้วกระผม/อาตมภาพแก้ไขให้เขาได้ ควักเงินหมดตัวเลยถวายมา
    กระผม/อาตมภาพบอกว่า "โยม..คิดให้ดีก่อนว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ไหม ?" พวกเราตลอดจนกระทั่งญาติโยมทั้งหลายจะรู้ว่า ทำบุญกับวัดท่าขนุน โดยเฉพาะทำบุญกับเจ้าอาวาสนี่ยากมาก ทำเยอะก็โดนบ่น..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,920
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    มีโยมท่านหนึ่งขอถวายเงินจำนวนหลายล้านบาท เพื่อร่วมสร้างสมเด็จองค์ปฐมองค์ใหญ่หน้าตัก ๒๑ ศอกหน้าวัดท่าขนุน เฉพาะองค์พระก็ประมาณ ๓ ล้านบาท รวมตัวอาคารด้วยอะไรด้วยก็หมดไป ๑๗ ล้านกว่าบาท เขาปวารณาถวาย อาตมภาพบอกยังไม่รับ กลับไปคิดให้ดีก่อนหนึ่งอาทิตย์ ถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน หรือว่าคนในครอบครัวรอบข้างไม่มีความจำเป็นจะใช้เงินก้อนนี้ แล้วค่อยมาถวาย

    เขาหายไปหนึ่งอาทิตย์แล้วกลับมา ยืนยันว่า "ไม่มีความจำเป็นครับ เงินก้อนนี้เป็นเงินที่สามารถถวายทำบุญได้" ดังนั้น..กระผม/อาตมภาพถึงได้รับเอาไว้ ก็แปลว่าถ้าหากว่าจะทำบุญกับวัดท่าขนุน ถือเงินมาส่งเดช อาจจะโดนไล่กลับบ้านไป แล้วก็โดนไล่ไปหลายรายแล้ว..!

    โดยเฉพาะพวกที่อยู่ ๆ ก็แบกผ้าป่ามา ไม่ได้บอกไม่ได้กล่าว อยู่ ๆ ก็ไปทำผ้าป่า แล้วก็แบกมาถึงวัด บอก "มึงจะไปถวายวัดไหนก็ไป วัดนี้ไม่รับ เพราะว่ากูไม่ได้สั่ง..!" เพราะว่ากำลังใจของญาติโยมที่ประกอบไปด้วยบุญด้วยกุศลอย่างเดียว บางทีก็อยู่ในลักษณะ "อธิโมกขสัทธา" เป็นศรัทธาที่ไม่มีปัญญาประกอบ เกิดความศรัทธาขึ้นมาก็ทุ่มเทหมดตัว บางทีก็ไม่ได้นึกว่าตนเองและคนรอบข้างจะเดือดร้อนหรือเปล่า ?

    การทำบุญในลักษณะนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญ พระองค์ท่านบอกว่าอามิสทาน คือทานที่เป็นข้าวของเงินทองนั้น แม้ว่าสำคัญ แต่ว่าธรรมทานสำคัญกว่า ก็คือการให้ธรรมเป็นทาน

    ในเมื่อญาติโยมถึงเวลาเกิดศรัทธาขึ้นมา ไม่ใช่เราเป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชีหรือฆราวาสอยู่วัด ก็รีบไปยุให้เขาถวายเยอะ ๆ ประมาณว่าถวายเท่านี้จะได้อยู่ชั้นจาตุมหาราช ถวายเท่านี้จะได้อยู่ชั้นดาวดึงส์ ถวายเท่านี้จะได้อยู่ชั้นยามา ถวายเท่านี้จะได้อยู่ดุสิตบุรีเฟส ๔ กูจะบ้า..!

    สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านให้ทานเพื่อตัดความโลภ ดังนั้น..
    การทำทานจึงไม่ใช่การถวายทีละมาก ๆ แต่เป็นการทำบ่อย ๆ ทำน้อยแต่บ่อยครั้ง กำลังใจจะตัดละได้ง่ายกว่า เพราะว่าของไม่มาก เราไม่หวง เมื่อทำไปหลาย ๆ ครั้ง สภาพจิตเริ่มเข้มแข็งขึ้น มีอำนาจเหนือความโลภ ก็จะถวายได้มากขึ้น บ่อยขึ้น แต่ก็ต้องมีปัญญาประกอบด้วยว่า ถวายไปแล้วตัวเราและคนรอบข้างจะเดือดร้อนหรือเปล่า ? ยังมีบุคคลที่จำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองตรงนี้หรือไม่ ? เพราะว่าสูงกว่านั้นขึ้นไปยังมีการรักษาศีล ซึ่งอานิสงส์มากกว่าการทำทานเป็นร้อยเท่า สูงกว่าศีลก็ยังมีภาวนา ที่อานิสงส์มากกว่าการรักษาศีลเป็นร้อยเท่า..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,920
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    การทำบุญนั้น พวกเราจึงต้องระมัดระวังให้ดี สิ่งที่โบราณสอนเอาไว้ก็คือ มีโอกาสให้รีบทำไว้ ถ้าท่านทั้งหลายศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของไทย จะเห็นว่าเรามีเทศกาลงานบุญทุกเดือน ถ้ายิ่งทางด้านอีสานยิ่งชัดเจน ก็คือ "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ประเพณีและแนวทางการดำเนินชีวิต ประเพณี ๑๒ เดือน แนวทางการประพฤติปฏิบัติ ๑๔ อย่าง ค่อย ๆ ไปศึกษาเอา ที่เขาบอกว่า "เดือน ๕ ทำบุญสงกรานต์ เดือน ๖ อีสานมีงานบั้งไฟ" นั่นแหละ...

    ในเรื่องของการทำบุญจึงต้องถือตามแบบโบราณ เพราะเขามีทำทั้งปี คือทำบ่อย ๆ ทำบ่อยไม่ใช่ทำมาก เพราะถ้าทำมาก จิตใจเกิดความหวงแหนขึ้นมาก็ทำไม่ได้ ทำน้อยแต่บ่อยครั้ง อานิสงส์ของทานส่งผลให้เรามีฐานะร่ำรวยมั่นคงในภายหน้า

    รักษาศีล อานิสงส์ช่วยให้เราเป็นผู้มีรูปสวย มีจิตใจดีงาม เจริญภาวนา อานิสงส์ทำให้เรามีปัญญามาก เพราะฉะนั้น..มีโอกาสให้ทานเราให้ มีโอกาสรักษาศีลเรารักษา มีโอกาสภาวนาเราปฏิบัติ จึงจะเรียกได้ว่าทำตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...