เยือนถิ่นไทยดำ เพชรบุรี วัฒนธรรมที่ยังอยู่ในยุคจักรกล

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย paang, 15 กุมภาพันธ์ 2006.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,326
    [​IMG]

    "ลุกกะเฮือนมาซำบายดีล่ะบ่อ" คำนี้อาจจะไม่คุ้นหูสำหรับเราๆ ท่าน ๆ แต่สำหรับชาวไทยดำหรือลาวโซ่งแล้วข้อความข้างต้นเป็นคำพูดทักทายสวัสดี

    "ไทยดำ" หรือ "ลาวโซ่ง" ที่กำลังกล่าวถึงเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ที่ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี นี่เอง

    สารานุกรมไทยดำล้ำค่าของกลุ่มนักศึกษา โครงการเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชน กล่าวถึงไทยดำไว้ว่า ไทยดำหรือไตดำ (Tai Dam, Black Tai) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ผู้ไทยดำ ไทยทรงดำ โซ่ง ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง

    เรียกอย่างไรคงไม่ผิด เพราะเป็นที่เข้าใจถึงกลุ่มชนเดียวกัน กลุ่มชนชาวไทยดำมีชื่อเรียกตนเองว่า "ไต" - ผู้ไต - ผู้ไตดำ (หรือไทยดำ)

    ความหมายของคำว่าไต คือกลุ่มชาติพันธุ์คนไทยสาขาหนึ่งที่มีความเป็นอิสระ คำว่า "ดำ" หมายถึงการแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มสีดำ ชื่อเรียกขานในนาม "ไทยดำ" จึงมีความหมายโดยรวม ว่ากลุ่มชาติพันธุ์คนไทยสาขาหนึ่งในบรรดาหลายชนเผ่า ที่แต่งกายด้วยสีดำนั่นเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยดำด้วย

    ชาวไทยดำมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถงหรือแถน แต่เดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว (แคว้นล้านช้าง) ทิศเหนือติดกับตอนใต้ของประเทศจีน

    ไทยดำได้ถูกอพยพเข้าสู่ดินแดนของประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ใน พ.ศ.2322 เมื่อกองทัพไทยไปตีเวียงจันทน์ แล้วกวาดต้อนไทยดำที่อพยพมาจากสิบสองจุไท ส่งไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี

    ต่อมาได้กวาดต้อนเข้ามาเพิ่มเติมอีก ในสมัยรัชกาลที่ 1 ใน พ.ศ.2335 และสมัยรัชกาลที่ 3 ใน พ.ศ.2381 ก่อนจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณหนองปรงในปัจจุบัน และถือว่าแผ่นดินหนองปรงนี้ คือบ้านเกิดเมืองนอนของชาวไทยดำ มีการสืบเชื้อสายมาหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน และได้กระจายกันอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี พิจิตร พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี ชุมพร และสุราษฎร์ธานี <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=1><TBODY><TR bgColor=#ffe9ff><TD>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>

    คนไทยดำมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ภาษาไทดำจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท (Tai Language-Family) กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับภาษาไทยและภาษาลาว สำเนียงพูดของคนไทยดำแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไปบ้างแต่ก็ไม่มาก ลักษณะตัวอักษรมีความสวยงามคล้ายกับอักษรลาวและอักษรไทยบางตัว

    บ้านของชาวไทยดำ เรียกว่า "กวังตุ๊บ" หรือ "เฮือนลาว" มีลักษณะเด่นคือ มีหลังคาทรงโค้งรูปกระดองเต่า มุงด้วยหญ้าคายาวลงมาเกือบถึงพื้น แทนฝาเรือนเพื่อกันลม ฝน และอากาศที่หนาวเย็น ตัวเรือนยกใต้ถุนสูง ภายในตัวบ้านมี "กะล้อห่อง" ที่แปลว่ามุมห้อง บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวไม่สามารถเข้าไปในห้องนี้ได้

    และถ้าสังเกตบ้านของชาวไทยดำ บนจั่วหลังคาบ้านจะมี "ขอกุด" ลักษณะจะคล้ายเขาควายโง้งงอเข้าหากัน ประดับไว้

    มีตำนานไทยดำเล่ากันมาว่า แถนหรือเทวดาเป็นผู้ส่งควายมาเป็นสัตว์ใช้งานช่วยมนุษย์ทำมาหากิน จึงทำให้มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวไทยดำ เพราะชาวไทยดำทำนาเป็นอาชีพหลัก จึงเป็นที่มาของการสร้าง "ขอกุด" ประดับไว้เหนือจั่วหลังคาบ้าน ถือว่าควายมีบุญคุณทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความอดทน มุ่งมั่นการต่อสู้และความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ อันเกิดจากมีควายคอยช่วยเหลือ

    แม้ปัจจุบันรูปแบบบ้านได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และด้วยเหตุที่หญ้าคาหายากและเกิดไฟไหม้ได้ง่ายจึงมีความนิยมในบ้านแบบไทยดำลดน้อยลง แต่ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่

    *นางถนอม คงยิ้มละมัย* หรืออาจารย์ถนอม ให้ความรู้เกี่ยวกับไทยดำว่า "บรรพบุรุษของฉันเป็นไทยดำ ไทยดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความสนุกสนาน เคารพนบนอบ มีน้ำใจรักพวกพ้อง"

    ประเพณีความเชื่อของชาวไทยดำนั้นมีอยู่มากมาย อาจารย์ถนอมได้ยกตัวอย่างของประเพณีเกี่ยวกับผี คือพิธีเสนเรือนหรือเสนเฮือน ว่าเป็นพิธีกรรมซึ่งเกิดจากคติการนับถือผีบรรพบุรุษ เป็นพิธีที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเป็นการไว้ผีที่ "กะล้อห่อง" นิยมทำกัน 2-3 ครั้งต่อปี เพื่อที่จะได้มีความสุข "เฮ็ดนาก็มีข้าวขาย เฮ็ดไฮก็มีหมากไม้" <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=2><TBODY><TR bgColor=#ffffe8><TD>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>

    พิธีเสนเฮือนจะไม่ทำกันในเดือน 9 กับเดือน 10 เพราะผีเรือนจะไปเฝ้าแถนและในเดือน 5 เพราะอากาศร้อนพืชพันธุ์ไม่สมบูรณ์ สำหรับการเสนนั้นครูถนอมบอกว่ามีอยู่สองประเภทคือ เสนเฮือนผู้ต้าว กับ เสนเฮือนผู้น้อย

    อาจารย์ถนอมยังเล่าให้ฟังอีกว่า คนที่นี่ยังใช้ภาษาไทยดำกันอยู่แต่คนที่จะเขียนภาษาไทยดำได้นั้นมีอยู่ไม่มากแต่ก็มีการฟื้นฟู สอนเด็กในชุมชนให้รักษาสืบทอดต่อกันไป ถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจเพราะเด็กๆ ให้ความสนใจ

    นอกจากนี้ ยังมีการฝึกสอนการละเล่นของชาวไทยดำให้กับเด็กๆ เช่น "การเล่นแคน" เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวไทยดำนิยมเล่นกันในช่วงงานไทยดำ หรือเทศกาลต่างๆ เครื่องดนตรีที่ใช้ก็คือ แคน และการปรบมือ แต่ในปัจจุบันมีการนำเครื่องดนตรีอื่นมาผสมผสานเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน

    เพลงที่ใช้ในการเล่นแคนเรียกว่า "เซิ้งแคน" เป็นคำร้องสดโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง โดยร้องพร้อมกับเสียงแคนและเสียงปรบมือให้จังหวะ เพลงที่ใช้เล่นแคนนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 จังหวะ คือ แคนย่าง แคนระบำหรือแคนแกร และแคนแล่น โดยความเร็วของแต่ละจังหวะก็จะแตกต่างกันออกไป "แคนแล่น" จะเป็นจังหวะที่เร็วมากที่สุด

    อาจารย์ถนอมยังได้ยกตัวอย่างเนื้อร้องของเพลงแคนให้ฟังว่า "รำคนเดียวเปลี่ยวกายหาคู่มาให้เถิดเอย (ซ้ำ) หนองปรงตัวลือมารำเอาชื่อ เถิดเอย (ซ้ำ) เห็นพี่รำรำไม่สวยไม่อยากรำด้วยหรืออย่างไร (ซ้ำ)

    ถึงพี่จะรำรำไม่สวยน้องอยากรำด้วยออกจะตาย (ซ้ำ) ฯลฯ

    การเล่นแคนจะสนุกสนานก็ต้องมีการรำแคน เป็นการละเล่นที่แสดงให้เห็นถึงความสามัคคี เพราะชาวไทยดำจะมารำร่วมกัน และเมื่อใดที่บ้านอื่นมีงานชาวไทยดำก็จะมีการไปช่วยงานระหว่างกันจนมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ผัวต้องเอามีดมาสับชุดของเมียเพื่อที่เมียจะได้ไม่ต้องไปรำแคน เพราะบางช่วงมีงานอยู่ตลอดก็มี

    นอกจากในเรื่องของความสามัคคีแล้ว ชาวไทยดำยังมีนิสัยรักสนุกสนานและแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของชาวไทยดำเพราะมีท่ารำเป็นของตนเอง สำหรับชาวไทยดำที่ตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี จะจัดงานประจำปีทุกวันที่ 10 เมษายนของทุกปี

    การแต่งกายของชาวไทยดำนั้น ผู้ชายชาวไทยดำจะสวมเสื้อก้อม ลักษณะของเสื้อก้อม คือเป็นเสื้อคอตั้งไม่มีปก มีสีครามเข้มทั้งตัวไม่มีลวดลาย กระดุมทำด้วยเงินส่วนใหญ่จะใช้กระดุมตั้งแต่ 9 จนถึง 13 เม็ด นิยมเป็นเลขคี่ นุ่งกางเกงซึ่งมีอยู่ 2 แบบ แบบล่วงขาม้า (ล่วงฮี) ขาสั้นเรียกว่าล่วงก้อม

    ฝ่ายหญิงก็สวมเสื้อก้อมเช่นเดียวกัน แต่จะนุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม ประกอบด้วยผ้า 3 ส่วน คือ ตีนซิ่น ตัวซิ่น และหัวซิ่น เย็บต่อกันเป็นผืนเดียว

    นอกจากนี้ ยังมีเสื้อฮีที่ไว้ใช้ในพิธีการทั้งชายและหญิง โดยที่ฝ่ายหญิงสามารถสวมได้สองด้าน ฝ่ายชายสวมได้ด้านเดียว เสื้อฮีจะใช้กระดุม 15,21,27 เม็ด ติดกระดุมถี่เท่าไหร่ยิ่งดี

    สำหรับผู้ชายที่ติดกระดุมไม่ตรงรังดุมจะถูกตำหนิว่าไม่รอบคอบ เป็นพ่อบ้านที่ไม่ดี เป็นกลวิธีการเลือกคู่ครองของชาวไทยดำในสมัยก่อนอีกวิธีหนึ่ง

    ใครอยากรู้เรื่องราวของไทยดำ สามารถเยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่อาจารย์ถนอมได้รวบรวมไว้ ติดต่อล่วงหน้าได้ที่ 0-3244-6444

    ความน่าสนใจของชาวไทยดำนั้นยังมีให้ศึกษาอีกมากมาย ด้วยอัธยาศัยไมตรีจิตของชาวไทยดำที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาได้อย่างสนุกสนาน ถือเป็นโชคดีของชาวไทยดำที่สามารถธำรงรักษาอัตลักษณ์ของตนได้อย่างสมบูรณ์

    ที่มา @ มติชน
     

แชร์หน้านี้

Loading...