เพลงประจำบ้าน

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 6 พฤศจิกายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    ฮือๆๆ ก่อนเคยเห็นกันอยู่ บัดนี้ต้องมาพลัดพรากจากลูกหลานไปอย่างไม่มีวันกลับคืนมา เป็นการร้องไห้คร่ำครวญ รำพึงรำพันของบรรดาญาติโยมที่สูญเสียคนที่เคารพคนที่รัก คนที่สนิท ต้องตายจากไป หากผู้ตายเสียชีวิตที่บ้านก็จะนำศพตั้งสวดบำเพ็ญกุศลที่บ้าน วงปี่พาทย์มอญที่นำมาประโคมก็จะบรรเลงเพลงเป็นลำดับแรกคือ เพลงประจำบ้าน

    เมื่อวิญญาณออกจากร่าง ยมบาลยมทูตก็จะนำดวงจิตดวงนั้นไปตัดสินคดีความตามบัญชีรายชื่อของผู้สิ้นบุญจากโลกใบนี้ไปสู่ภพภูมิอีกมิติหนึ่ง หากทำกรรมดีให้ไปสวรรค์ หากทำกรรมชั่วให้ไปตกนรกโลกันต์ ตามภพภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์เรียกว่า อบายภูมิ 4 ได้แก่ นรก 256 ขุม สัตว์เดรัจฉาน เปรต และอสูรกาย พวกสัตว์เดรัจฉานมีกายหยาบสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ส่วนพวกที่กายละเอียดเรียกว่า โอปปาติกะ ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ พวกสัตว์เดรัจฉานนั้นเคยทำผิดศีลห้า เคยตกนรกมาแล้วแต่ยังไม่หมดกรรมจึงเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอีกชาติหนึ่ง พวกเปรต อสูรกายนั้นเป็นพวกทำกรรมหนัก เคยตกนรกมาแล้วแต่ยังไม่หมดกรรมจึงเกิดเป็นอสูร (ผี) และเป็นเปรต พวกนี้มีจิตใจหยาบช้า ร้อนรนเหมือนถูกไฟไหมเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา อดอยากหิวโหยตลอดเวลา ไม่มีอาหารกิน ถ้ามีกินก็กินไม่ได้เพราะว่าปากเท่ารูเข็ม มือเท้าใหญ่โตเท่าใบลาน ใบตาล ตัวสูงเท่าต้นตาล ส่งเสียงร้องเล็กแหลมจนแสบแก้วหูอย่างทุกข์ทรมาน พวกนี้ญาติโยมทำบุญอุทิศอาหารมาให้ได้

    ส่วนพวกที่ตกนรกนั้นมีถึง 256 ขุม แบ่งออกเป็นขุมใหญ่ๆ ได้ 8 ขุม ได้แก่ สัญชีวนรก กาฬนรก สังฆาตนรก โรรุจนรก มหาโรรุจนรก ตาปนนรก มหาตาปนนรก และอเวจีนรก ซึ่งแต่ละขุมนรกมีเครื่องทรมานมากมาย เคยมีผู้ถอดจิตลงไปเที่ยวในนรกมาแล้ว ตั้งแต่สมัยพุทธกาลและในปัจจุบันเมื่อไม่นานมานี้ก็ยังมีคนตายไป 3-4 วัน แล้วฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาเล่าเรื่องนรกสวรรค์เป็นจริงเป็นจึง นำข้อมูลจากยมบาลยมทูตมาบอกผู้คนบนโลกมนุษย์ให้ทำความดีสะสมบุญไว้มากๆ ก็มีให้ศึกษาอยู่มากมายไว้เตือนสติมนุษย์โลก

    เพลงประจำบ้านนั้นมีท่วงทำนองคล้ายคลึงกับเพลงประจำวัดมาก จะแตกต่างกันบางวรรคบางตอน เช่นการบรรเลงทำนองขึ้นต้น และบรรเลงย้อนกลับช่วงกลางเพลงมาช่วงวรรคต้นๆ ของเพลงอีกครั้งหนึ่ง และเปลี่ยนบันไดเสียงคนละเสียงกับเพลงประจำวัด ส่วนทำนองหลัก

    ใหญ่ๆ เหมือนและใกล้เคียงกันมาก เมื่อบรรเลงจบเพลงจะนำเพลงมาบรรเลงต่อท้ายก็ได้ แต่ต้องนำเพลงที่มีความหมายเศร้าโศก เช่น เพลงที่มีสำเนียงภาษามอญอัตรา 2 ชั้น มาต่อท้าย ในสมัยหลังๆ พวกนักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากรมักนำเพลงระบำทวารวดีมาบรรเลงต่อท้าย เพลงประจำบ้าน และนั่นเป็นวิธีเล่นของนักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ถือว่าผิดแบบแผนประการใด เพลงประจำบ้านมักใช้บรรเลงประโคมที่บ้านงานศพ และบรรเลงเป็นลำดับสุดท้ายของการประโคมศพ หลังจากสวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว และสามารถนำมาบรรเลงตอนประชุมเพลิงเผาศพ หลังจากทอดผ้ามหาบังสุกุลบนเมรุเรียบร้อยแล้ว

    คนโบราณมักจะถือว่าห้ามนำตะโพนมอญมาบรรเลงหรือถือยกแบกหามขึ้นบ้านเรือนเพราะว่าเชื่อว่าเป็นลางร้าย เป็นอัปมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย เป็นเครื่องหมายของความตาย แต่ถ้าหากมีคนตายในบ้านเรือนจะนิยมนำตะโพนมอญที่บรรเลงอยู่ในวงปี่พาทย์มอญมาบรรเลงให้เข้ากับพิธีกรรมงานศพ และตะโพนมอญจะตีทำนอง (เท่ง-ทึง) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่บรรเลงเป็นลำดับแรกตอนขึ้นต้นทำนองเพลงประจำบ้านตามประเพณีที่ยึดถือต่อๆ กันมา

    ธรรมะเตือนสติก่อนจาก : พระพุทธองค์ตรัสว่า สัตว์ที่จุติเป็นเทวดามีจำนวนน้อย แต่สัตว์ที่จุติจากเทวดาไปเกิดในนรกมีมากกว่า แม้เทพที่ไม่ได้สดับฟังพุทธธรรมเมื่อสิ้นอายุก็ลงไปสู่นรกบ้างเปรตบ้าง
     

แชร์หน้านี้

Loading...