เรื่องเด่น หลักอินทรียสังวร คือ การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 29 พฤษภาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,363
    E1100C51-FDDC-4FB8-87B9-922FFE3414C8.jpeg
    วันนี้จะขอกล่าวถึงหลักการปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ หลักอินทรียสังวร คือ การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา

    การที่เราประพฤติปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการนั่งสมาธิภาวนาทุกวันนี้ ก็เพื่อให้เรามีกำลังเข้มแข็งเพียงพอที่จะตัดกิเลสต่าง ๆ ได้ แต่ว่าทุกท่านส่วนมากแล้ว ร้อยละ ๙๙ มักจะปล่อยให้กำลังของตนรั่วไหลออกไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนหมด ทุกครั้งที่ปฏิบัติได้ก็ปล่อยให้รั่วไหลไปหมด กำลังจึงไม่เพียงพอที่จะสู้กิเลส ต่อต้านกิเลส หรือตัดกิเลสได้เสียที

    ในเมื่อสู้ไม่ได้ก็ไม่สามารถต้านทานได้ เมื่อไม่สามารถต้านทานได้ ก็ไม่สามารถที่จะตัดละได้ นี่เป็นเรื่องปกติ แต่ที่เสียดายคือเวลาที่ผ่านไปแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี เราเองไม่ควรที่จะโดนความทุกข์ต่าง ๆ มาเบียดเบียนอย่างหนักจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็ยังโดนอยู่ร่ำไปเพราะว่าไม่รู้จักสำรวมอินทรีย์นั่นเอง

    ถึงเวลาตาเห็นรูปจิตก็ไปปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดก็เช่นเดียวกัน ซึ่งการไปปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบนั้นเกิดโทษทั้งคู่ เพราะว่าความชอบเป็นอิฏฐารมณ์ อยู่ในส่วนของราคะ ก็เป็นกิเลสตัวใหญ่มหึมา ความไม่ชอบอยู่ในส่วนของโทสะ ก็เป็นกิเลสใหญ่มหึมาอีกตัวหนึ่ง

    ทำอย่างไรที่เราจะระมัดระวัง สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเอาไว้ ไม่ให้ไปสนใจใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในใจ ? เราก็ต้องปฏิบัติภาวนาให้สมาธิทรงตัวให้มากกว่านี้ เมื่อทรงตัวแล้ว ก็พยายามที่จะระมัดระวังรักษา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเอาไว้ ไม่ให้ไปนึกคิดปรุงแต่งกับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ที่เข้ามาถึง

    การที่จะทำเช่นนั้นได้ นอกจากสมาธิต้องทรงตัวแล้ว สติยังต้องแหลมคมว่องไว ปัญญายังต้องเห็นโทษของการที่เราไปปรุงแต่งใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์เหล่านั้น เมื่อสติรู้ทัน สมาธิก็จะหยุดการปรุงแต่งลงทันที ปัญญาก็จะทำให้เรารู้จักหลีกเลี่ยง หันมาประคับประคองรักษาใจของเรา ไม่ให้เกิดทุกข์เกิดโทษของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั้งหลายเหล่านั้น

    ถ้าหากว่า สติ สมาธิ ปัญญา ของเราถึง เราก็จะสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส หยุดใจไว้ไม่ไปครุ่นคิดในอารมณ์ต่าง ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็สักแต่ว่าเป็นรูป สักแต่ว่าเป็นนาม สักแต่ว่าเป็นธาตุ ไม่สามารถที่จะทำอันตรายแก่จิตใจของเราได้

    ตัวอย่างบุคคลที่สำรวมอินทรีย์คือ พระนันทะเถระ ที่กำลังจะแต่งงานกับนางชนบทกัลยาณี แล้วองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านำตัวไปบวช เมื่อบวชอยู่ก็ไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม เพราะครุ่นคิดถึงแต่นางชนบทกัลยาณี องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้วาระจิต จึงพาพระนันทะขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ให้ไปเห็นนางฟ้าต่าง ๆ ที่สวยงามกว่านางชนบทกัลยาณีจนไม่สามารถที่จะประมาณได้ พร้อมกับให้สัญญาว่า ถ้าพระนันทะตั้งใจปฏิบัติธรรมจนสำเร็จ ก็จะขอนางฟ้าจากพระอินทร์มาให้เป็นภรรยา

    ด้วยความที่อยากได้นางฟ้าที่สวยกว่าพระนางชนบทกัลยาณีจนประมาณไม่ได้มาเป็นภรรยา พระนันทะก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม ปรากฏว่าบรรลุมรรคผล จนไปขอเปลื้องปฏิญญา ก็คือขอเลิกคำสัญญากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นผู้ที่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอย่างยิ่ง จนได้เป็นเอตทัตคะทางเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ เพราะท่านเห็นชัดเจนแล้วว่ารูปเป็นโทษอย่างไร เสียงเป็นโทษอย่างไร กลิ่นเป็นโทษอย่างไร รสเป็นโทษอย่างไร สัมผัสเป็นโทษอย่างไร ใจครุ่นคิดเป็นโทษอย่างไร

    เราทั้งหลายจึงควรจะประพฤติปฏิบัติตามปฏิปทาของพระนันทะเถระ ก็คือต้องรู้จักระมัดระวังสำรวมอินทรีย์ ไม่ปล่อยกำลังสมาธิที่เราทำได้รั่วออกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เสียหมด จะได้มีกำลังเข้มแข็งเพียงพอที่จะต่อต้านกระแสกิเลสได้ แล้วถ้ากำลังสูงเพียงพอ สามารถตัดละกิเลสได้ก็ยิ่งดี

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติพึงสังวรให้มากไว้ ถ้าท่านใดสงสัยว่าปฏิบัติธรรมมาวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ทำไมถึงยังไม่ได้มรรคไม่ได้ผลเลย ก็ขอให้รู้ว่าเราขาดการสำรวมอินทรีย์เป็นอย่างยิ่ง ปฏิบัติเสร็จก็ไปนั่งคุยกันจนกำลังรั่วหายหมด ปฏิบัติเสร็จก็ไปนั่งส่องเฟซฯ ส่องไลน์กันจนกำลังรั่วหายหมด นี่ยกตัวอย่างแค่ตากับหูเท่านั้น

    ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...