หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 7 พฤศจิกายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ (1)

    คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.9)



    เรื่องกรรมเป็นหลักธรรมที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา นอกจากสำคัญแล้วก็เป็นหัวข้อที่คนมักมีความสงสัย เข้าใจกันไม่ชัดเจนในหลายแง่หลายอย่าง บางครั้งก็ทำให้นักเผยแผ่พระพุทธศาสนาประสบความยากลำบากในการที่จะชี้แจง อธิบาย หรือตอบปัญหา ไขข้อสงสัย

    แนวการอธิบายเรื่องกรรม

    การอธิบายเรื่องกรรมนั้น โดยทั่วไปมักพูดกันเป็น ๒ แนว แนวที่ได้ยินกันมาก คือแนวที่พูดอย่างกว้างๆ เป็นช่วงยาวๆ เช่น พูดว่า คนนี้เมื่อสมัยก่อนเคยหักขาไก่ไว้ แล้วต่อมาอีก ๒๐-๓๐ ปี โดนรถชนขาหัก ก็บอกว่าเป็นกรรมที่ไปหักขาไก่ไว้ หรือคราวหนึ่ง หลายสิบปีแล้วไปเผาป่า ทำให้สัตว์ตาย ต่อมาอีกนานทีเดียว อาจจะแก่เฒ่าแล้วมีเหตุการณ์เป็นอุบัติภัยเกิดขึ้น ไฟไหม้บ้านแล้วถูกไฟคลอกตาย นี้เป็นการอธิบาย เล่าเรื่อง หรือบรรยายเกี่ยวกับกรรมแบบหนึ่ง ซึ่งมักจะได้ยินกันบ่อยๆ

    การอธิบายแนวนี้มีความโลดโผน น่าตื่นเต้น น่าสนใจ บางทีก็อ่านสนุก เป็นเครื่องจูงใจคนได้ประเภทหนึ่ง แต่คนอีกพวกหนึ่งก็มองไปว่าไม่เห็นเหตุผลชัดเจน การไปหักขาไก่ไว้กับการมาเกิดอุบัติเหตุรถชนในเวลาต่อมาภายหลังหลายสิบปีนั้นมีเหตุผลเชื่อมโยงกันอย่างไร ผู้ที่เล่าก็ไม่อธิบายชี้แจงให้เห็น ทำให้เขาเกิดความสงสัย คนที่หนักในเรื่องเหตุผล เมื่อไม่สามารถชี้แจงเหตุปัจจัยเชื่อมโยงให้เขามองเห็นชัดเจน เขาก็ไม่ยอมเชื่อ

    ยิ่งสมัยนี้เป็นยุคที่ถือว่าวิทยาศาสตร์เจริญ ต้องอธิบายเหตุผลให้เห็นจริงเห็นจังได้ว่าเรื่องโน้นกับเรื่องนี้สัมพันธ์กันอย่างไร พระพุทธศาสนาที่แท้นั้นต้องการให้เห็นความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยชัดเจนทั้งด้านรูปธรรมและด้านนามธรรม แต่พวกเราเองปล่อยตัวหละหลวมกันมา วิทยาศาสตร์ก็เหมือนมาช่วยเตือนให้เราหันไปฟื้นวิธีคิดของพระพุทธศาสนาขึ้นมา ซึ่งจะมีอะไรๆ ให้แก่วิทยาศาสตร์ด้วย นี่ก็คือการอธิบายแบบที่สอง

    การอธิบายแบบที่ ๒ ก็คือ อธิบายในแง่ของเหตุปัจจัยที่แยกแยะเชื่อมโยงให้เห็นชัด ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดซับซ้อน นับว่ายากอยู่ จะต้องอาศัยการพินิจพิจารณาและศึกษาหลักวิชามาก

    และบางทีก็หาถ้อยคำมาพูดให้มองเห็นชัดเจนได้ยาก

    กรรม โดยหลักการ

    ความหมายและประเภทของกรรม

    ก่อนจะพูดเรื่องกรรมนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมมีความหมายอย่างไร แม้แต่เรื่องความหมายของคำก็เป็นปัญหาเสียแล้ว

    ก. ความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

    ลองไปถามชาวบ้านดูว่า "กรรม" แปลว่าอะไร เอาคำพูดในภาษาไทยก่อน บางทีเราพูดว่า "แล้วแต่บุญแต่กรรม" กรรมในที่นี้หมายถึงอะไร กรรมในที่นี้มาคู่กับบุญ พอกรรมมาคู่กับบุญ เราก็แปลบุญเป็นฝ่ายดี บุญอาจเป็นการกระทำที่ดีหรือผลดีที่จะได้รับ ส่วนกรรมก็กลายเป็นการกระทำชั่วหรือผลชั่วที่ไม่น่าพอใจ นี่คือความหมายหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจ ดังนั้นชาวบ้านส่วนมากพอได้ยินคำว่ากรรมแล้วไม่ชอบ เพราะมีความรู้สึกในทางที่ไม่ดี

    มองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย



    ที่มา: ข่าวสด
    http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud08061149&day=2006/11/06
     
  2. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่(2)

    คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.9)



    คำว่ากรรมและบุญจึงเป็นเครื่องชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า คนเข้าใจความหมายของกรรมในทางไม่ดี เอาบุญเป็นฝ่ายข้างดี แล้วเอากรรมเป็นฝ่ายตรงข้าม

    อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนผู้หนึ่งไปประสบเคราะห์ร้าย บางคนก็บอกว่า "เป็นกรรมของเขา" คนนั่งเรือไปในทะเล เรือแตก จมน้ำตาย หรือถูกพายุพัดมาแล้วเรือล่มตายไป อุบัติเหตุอย่างนี้ บางคนบอกว่าเป็นกรรมของเขา คำว่ากรรมในที่นี้เรามองในแง่เป็นผลร้ายที่เขาได้รับ เป็นเคราะห์ หรือเป็นผลไม่ดีที่สืบมาจากปางก่อน

    นี่ก็แสดงว่า เรามองคำว่ากรรมในแง่อดีต คือมองในแง่ว่าเป็นเรื่องผ่านมาแล้วมาแสดงผล และเป็นเรื่องที่ไม่ดี ได้ ๒ แง่ คือ ๑ เป็นเรื่องข้างไม่ดี ๒ เพ่งเน้นในทางอดีต

    ในเวลาเดียวกันก็มองไปในแง่เป็นผลด้วย อย่างที่พูดว่า "จงก้มหน้ารับกรรมไปเถิด" ที่ว่ารับกรรม ก็คือรับผลของกรรม นายคนหนึ่งไปลักของเขามา ถูกจับได้ขังคุก คนอื่นก็มาปลอบใจว่า เอ็งก้มหน้ารับกรรมไปเถิดนะ เราทำมาไม่ดี กรรมในที่นี้กลายเป็นผล คือเป็นผลของกรรมนั่นเอง

    นี้คือความหมายของกรรมที่เราใช้กันในภาษาไทย

    ในฐานะที่เป็นผู้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ลองวินิจฉัยดูว่า ความหมายเหล่านี้ถูกหรือไม่ ความหมายที่เน้นไปในทางไม่ดี เป็นเรื่องไม่ดีคู่กับบุญ เป็นเรื่องที่เน้นอดีต และมองไปที่ผลอย่างนี้ ถูกหรือไม่

    เมื่อพิจารณาตรวจดู เราก็จะมองเห็นได้ชัดว่า ถ้าเอาหลักธรรมแท้ๆ มาวินิจฉัยแล้ว ความหมายเหล่านี้คลาดเคลื่อน ได้เพียงแง่เดียว ข้างเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหมายที่แท้จริง เพราะว่า "กรรม" นั้นแปลว่าการกระทำ เป็นกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ บุญก็เป็นกรรม บาปก็เป็นกรรม หมายความว่าบุญคู่กับบาป แต่คนไทยมีบ่อยๆ ที่เอาบุญมาคู่กับกรรม เอากรรมเป็นข้างร้าย

    ส่วนที่ว่า ก้มหน้ารับกรรมไป ก็เป็นการมองที่ผล แต่ที่จริงนั้นกรรมเป็นตัวการกระทำ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไป ส่วนผลของกรรมท่านเรียกว่าวิบาก หรือจะเรียกว่าผลเฉยๆ ก็ได้ ตัวกรรมเองแท้ๆ นั้นไม่ใช่ผล

    ในเมื่อ "กรรม" ในภาษาที่เราใช้กันอยู่นี้ มีความหมายคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับหลักที่แท้จริง ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ได้มีความเข้าใจไขว้เขวในเรื่องกรรมเกิดขึ้น เพราะภาษาเป็นเครื่องแสดงว่า คนมีความเข้าใจอย่างไร เพราะฉะนั้นในขั้นต้นนี้เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า กรรมคืออะไร

    ถ้าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรรมเป็นเรื่องของการกระทำที่ร้ายที่ชั่ว เราก็ต้องแก้ไขความเข้าใจให้เห็นว่า กรรมนี้เป็นคำกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เรียกว่าเป็นบุญ หรือบุญกรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่าบาป หรือบาปกรรม หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรม จะต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นเรื่องพื้นฐานขั้นต้นๆ ซึ่งได้เห็นชัดๆ ว่า

    แม้แต่ความหมายเราก็ไขว้เขวกันแล้ว

    Ref.
    http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud06071149&day=2006/11/07
     

แชร์หน้านี้

Loading...