เรื่องเด่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ผู้เปี่ยมล้นเมตตาธรรม

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 17 มิถุนายน 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    b988e0b89de0b8b1e0b989e0b899-e0b8ade0b8b2e0b888e0b8b2e0b982e0b8a3-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8ade0b8b2.jpg
    ผู้เขียน วิชัย เทียนถาวร

    หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
    พระอาจารย์ผู้เปี่ยมล้นเมตตาธรรม

    พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นศิษย์พระกรรมฐาน ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
    พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นหนึ่งในกองทัพธรรม อันมีท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นหัวหน้าตามคำสั่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ให้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่ธรรมภาคปฏิบัติ หรือทางด้านวิปัสสนากัมมัฎฐาน โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั่นคือ สาระสำคัญเบื้องต้นที่ผู้เขียนมีความสนใจ

    ครั้งหนึ่งเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ได้ไปกราบนมัสการ “หลวงพ่อ” และได้หนังสือ “ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร” พระผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรมอันหาประมาณมิได้ จัดทำโดยมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2543 เมื่อมีโอกาสอ่าน หลายรอบแล้วเห็นว่ามีคุณค่าแก่การเผยแพร่ให้อนุชนรุ่นหลังๆ ได้รู้จักพระอริยสงฆ์ ในอดีต อันควรแก่การกราบไหว้บูชา ผู้มีนามว่า พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

    ชาติตระกูล : พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ตรงกับวันอาทิตย์ 20 สิงหาคม 2442 ณ บ้านม่วงไข่ ตําบลพรรณา อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านเป็นบุตรชายคนที่สองของจ้าวไชยกุมาร (เม้า) ซึ่งเป็นหลานของคุณพระเสนาณรงค์ (นวล) อดีตเจ้าเมืองพรรณานิคม ฝ่ายมารดาของท่านชื่อนุ้ย เป็นบุตรีของคุณหลวงประชานุรักษ์ จะเห็นว่าท่านพระอาจารย์จึงเป็นเชื้อสายขุนนางทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดา คงจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ท่านพระอาจารย์จึงเป็นผู้รักชาติบ้านเมืองและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มากเป็นพิเศษ

    ตระกูลของพระอาจารย์ เป็นเชื้อสายขุนนางเก่าแก่ของหมู่ชน เรียกว่า “ภูไท” หรือ “ภูไทย” ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาวในสมัยรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งแรกได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครจ้าวไชยกุมารบิดาของพระอาจารย์เป็นผู้ที่มีคนนับหน้าถือตามาก จึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านม่วงไข่ ต่อมาบิดาของท่านได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนใหม่ที่บ้าน
    บะทอง ซึ่งห่างจากที่เก่าไม่มากนัก และก็ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านอีก ท่านได้ดำรงตำแหน่งอยู่จนสิ้นชีพ

    ชีวิตในเพศฆราวาส : พระอาจารย์ฝั้นเป็นผู้มีลักษณะดี มีความประพฤติเรียบร้อยและมีน้ำใจโอบอ้อมอารีมาตั้งแต่เด็ก ท่านเป็นนักเรียนเรียนดี ครั้นเรียนจบท่านคิดจะทำราชการจึงได้ติดตามพี่เขยไปยังจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพี่เขยของท่านรับราชการในตำแหน่งปลัดขวาที่อำเภอเมืองขอนแก่น ระหว่างที่อยู่ขอนแก่นนี้ พระอาจารย์ได้สังเกตเห็นทางการทำการปราบปรามโจรผู้ร้าย มีการฆ่าฟันกัน ได้เห็นการประหารชีวิตนักโทษ ได้เห็นเจ้าเมืองกลับกลายเป็นนักโทษ ครั้นพี่เขยย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเลย พระอาจารย์ก็ติดตามไปด้วย ก็ได้เห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนั้นอีก ท่านได้สติบังเกิดความเบื่อหน่ายในความยุ่งเหยิงวุ่นวายชีวิตในทางโลก ไม่แน่ไม่นอน จึงเลิกคิดที่จะทำงานรับราชการ ตัดสินใจบวชเพื่อสั่งสมบุญบารมีในทางพุทธศาสนาต่อไป

    ชีวิตในเพศบรรพชิต : พ.ศ.2461 บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพนทอง บ้านบะทอง อ.พรรณนิคม จ.สกลนคร พ.ศ.2462 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย ณ วัดสิทธิบังคม บ้านไร่ อ.พรรณานิคม โดยมีพระครูป้องเป็นอุปัชฌาย์ และเริ่มหัดพระกรรมฐานทันที พ.ศ.2463 ได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นครั้งแรก ประมาณเดือน 3 ข้างขึ้น ณ บ้านม่วงไข่ ได้ขอปาวารณาเป็นศิษย์พร้อมกับท่านอาญาครูดี และท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน และได้เริ่มฝึกหัดปฏิบัติพระกรรมฐานกับท่านพระอาจารย์มั่นตั้งแต่บัดนั้น

    พ.ศ.2464-2467 ได้พบกับท่านอาจารย์ดูลย์อตุโล ไปกราบท่าน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโร ในรายนี้บางครั้งก็ติดตามพระอาจารย์มั่น บางครั้งก็ไปกับหมู่เพื่อนธุดงค์ ปฏิบัติพระกรรมฐานตามป่าเขาทั้งในเขตประเทศไทยและลาว ในปี พ.ศ.2468 ได้ทำการญัติกรรมเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตนิกาย ที่วัดโพธิสมกรณ์อุดรธานี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2468 โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จุม พันธโล) เป็นอุปัชฌาย์

    พรรษาที่ 1 (พ.ศ.2468) จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดอรัญวารี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พรรษาที่ 2 (พ.ศ.2469) จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์กู่และท่านพระอาจารย์กว่า ณ บ้านดอนแดง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พรรษาที่ 3 (พ.ศ.2470) จำพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง ต.หัวตะบาบ จ.อุบลราชธานี พรรษาที่ 4 (พ.ศ.2471) จำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.นครพนม พรรษที่ 5-6 (พ.ศ.2472-2473) จำพรรษาที่ป่าช้าบ้านผือ อ.โนนทับ จ.ขอนแก่น พรรษาที่ 7 (พ.ศ.2474) จำพรรษาที่บ้านภูระงำ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น กับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ พรรษาที่ 8 (พ.ศ.2475) จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล จ.นครราชสีมา พรรษาที่ 9-10 (พ.ศ.2476-2477) จำพรรษาที่บ้านมะรุม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา พรรษาที่ 11-19 (พ.ศ.2478-2486) จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล จ.นครราชสีมา พรรษาที่ 20 (พ.ศ.2487) จำพรรษาที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี พรรษาที่ 21-29 (พ.ศ.2488-2496) จำพรรษาที่วัดป่าธาตุนาเวง (ปัจจุบัน คือ วัดป่าภูธรพิทักษ์ จ.สกลนคร) พรรษาที่ 30-31 (พ.ศ.2497-2498) จำพรรษาที่วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร พรรษาที่ 32 จำพรรษาที่วัดป่าธาตุนางเว จ.สกลนคร พรรษาที่ 33-38 (พ.ศ.2500-2506) จำพรรษาที่วัดป่าถ้ำขาม จ.สกลนคร พรรษาที่ 39 (พ.ศ.2507) จำพรรษาที่วัดป่าธาตุนางเว จ.สกลนคร พรรษาที่ 40-52 (พ.ศ.2508-2519) จำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ตราบจนมรณภาพ

    กาลซึ่งมรณภาพ : พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคปอดและโรคหัวใจ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันอังคารที่ 4 มกราคม 2520 เวลา 19.50 น. ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สิริรวมอายุได้ 77 ปี 4 เดือน 15 วัน พรรษาที่ 52

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงคารวะศพ และพระราชทานน้ำอาบศพท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในวันที่ 5 มกราคม 2520 เวลา 15.30 น.
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ เมรุชั่วคราว วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในวันที่ 21 มกราคม 2521 เวลา 15.30 น.

    และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีพุทธศักราช 2525 เวลา 15.30 น.

    พระผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาอันหาประมาณมิได้ : ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หรือ “หลวงปู่ฝั้น” ของบรรดาลูกศิษย์ฯ ทั้งหลายเป็นผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม อันหาประมาณมิได้ หลวงปู่จะมีเมตตาเสมอเหมือนกันหมดตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินลงมาถึงคนยากคนจนธรรมดาสามัญ ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ใหญ่ เด็กโต เด็กเล็ก พระภิกษุ สามเณร ชี เมื่อได้มาพบหลวงพ่อแล้วมีแต่ความอิ่มอกอิ่มใจกลับไป เมื่อกลับไปแล้วก็อยากกลับมาอีก ไม่รู้จักเบื่อจักพอ คราวเมื่ออยู่ใกล้หลวงปู่มีแต่ความเย็นจิตเย็นใจ ความทุกข์ความเดือนร้อนวุ่นวายใจไม่รู้ว่าหายไปไหนหมด เมื่อได้ฟังหลวงปู่เทศนา อบรมสั่งสอน ทำให้ใจมีแต่ความสงบชุ่มเย็นเบิกบานนี้เป็นความรู้สึกของบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย

    ส่วนหลวงปู่เองก็มีความเมตตาธรรมต่อบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่อย่างเหลือล้นไม่มีประมาณ บางครั้งพระอุปัฏฐากก็ต้องการให้หลวงปู่ได้พักผ่อนขอร้องโยมไม่ให้รบกวนหลวงปู่มากนัก แต่หลวงปู่ก็กลัวว่าอย่าไปห้ามเขา เขามาไกล เขาอยากจะมากราบหลวงปู่ให้เขาเข้ามา เป็นต้น บางครั้งหลวงปู่เองพูดว่า อย่ากวนหลวงปู่หลาย หลวงปู่เหนื่อย แต่หลวงปู่ก็ยังเมตตาสงเคราะห์ญาติโยมต่อไป นี่เป็นความเมตตาโดยแท้ของหลวงปู่ไม่ต้องการให้ผู้คนทั้งหลายที่ตั้งใจเดินทางมาหาหลวงปู่แล้วผิดหวังกลับไป

    ที่โรงพยาบาลสกลนครมีตึกสงฆ์อาพาธอยู่หลังหนึ่งซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก วันหนึ่งหลวงปู่ได้ไปพบเห็นตึกสงฆ์ดังกล่าว ก็เกิดความเมตตาสงสาร จึงดำริจะสร้างตึกสงฆ์อาพาธหลังใหม่ให้ 1 หลัง ทางโรงพยาบาลได้ทราบข่าวนี้ด้วยความยินดี

    วันที่ 20 สิงหาคม 2518 อันเป็นคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ได้ไปประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสงฆ์อาพาธ ณ โรงพยาบาลสกลนคร การดำเนินงานลุล่วงไปด้วยดี เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้ยอดเงินทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 แสนบาท ยังมีผู้บริจาคซื้ออุปกรณ์อีก 5 แสนบาท และได้ประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2519 อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ โดยหลวงปู่ฝั้นเป็นประธานเปิดเอง ตึกสงฆ์อาพาธ “ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร” ของโรงพยาบาลสกลนคร นับเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี และความเมตตาของหลวงปู่ที่มีต่อสังคมส่วนรวมแห่งนี้ตราบเท่าจนทุกวันนี้และสืบต่อไปวันข้างหน้านานเท่านาน

    ต่อมาหลวงปู่ยังได้ก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ตัวอำเภอพรรณานิคม โดยหลวงปู่ออกทุนให้ 2.5 ล้านเริ่มต้น และต่อมารัฐบาลให้งบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2519 จำนวน 1,018,000 บาทสมทบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความมีเมตตาและเกียรติคุณคุณงามความดีของหลวงปู่ ทางการมีมติเอกฉันท์ตั้งชื่อโรงพยาบาลนี้ว่า “โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พรรณานิคม” งานก่อสร้างโรงพยาบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่ หลวงปู่มามรณภาพเสียก่อน (4 มกราคม 2520) แต่บรรดาลูกศิษย์และกำลังศรัทธาของประชาชนร่วมใจ ดำเนินจนสามารถเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2520 ยอดรวมค่าใช้จ่ายก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นจำนวนเงิน 5,504,019.74 บาท และได้มีพิธีมอบให้ทางราชการรับไปดำเนินการโดยมีพระอาจารย์แปลง สนฺทโร รักษาการเจ้าอาวาส วัดป่าอุดมสมพร เป็นผู้มอบ

    ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นพระสุปฏิปันโน ที่น่าเคารพบูชากราบไหว้อย่างยิ่ง เมื่อสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ผู้คนทั้งหลายเกือบทุกภาคของประเทศได้หลั่งไหลมาคารวะกราบไหว้เป็นประจำ แม้ล้นเกล้าสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ทรงให้ความเคารพ เสด็จไปทรงเยี่ยมและทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ฝั้นหลายครั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า “ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร” เป็นปูชนียบุคคลอันควรค่าแก่ความเคารพนับถืออย่างแท้จริง ดังคำโคลงสี่สุภาพที่ว่า

    เมตตา พ่อหว่านให้ ทุกหนแห่งนา
    จน หมดเรี่ยวแรงตน ไป่รั้ง
    ตัว ไม่หวงกังวล แต่ทุกข์ ศิษย์พ่อ
    ตาย แต่ตัว เกียรติยั้ง อยู่สิ้น กาลสมัย

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/article/news_2780187
     

แชร์หน้านี้

Loading...