ร้อยแปดความเชื่อ เสน่ห์เมืองบาหลี

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 30 มกราคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    [​IMG]
    อะไรที่เป็นเรื่องเร้นลับ เกี่ยวกับจิตวิญญาณ อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ไม่ได้ คนก็ยิ่งสนใจ อยากรู้ อยากสัมผัส
    เช่นที่เกาะบาหลี ดินแดนแห่งเทพเจ้า หนึ่งในหมู่เกาะทางใต้ของประเทศอินโดนีเซีย
    ด้วยเสน่ห์ของเมืองที่ยังศรัทธาต่อความเชื่อ ประเพณีวิถีแบบ (เกือบ) เดิม โดยเฉพาะเรื่องของไสยศาสตร์ที่ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมชมโดยตลอด
    ไม่รวมความเชื่อที่ว่าหาดทรายสีดำ อันเป็นผลมาจากลาวาภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ ที่ว่ากันว่าถ้าได้หมกตัวอยู่ใต้ทรายที่ว่าจะช่วยรักษาโรค โดยเฉพาะโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
    นอกจากนี้ก็ยังมีโปรโมชั่นแบบลดแลกแจกแถม เช่น ซื้อทัวร์บรูไนแถมบาหลี
    เพิ่งมาเจอสึนามิ กับแผ่นดินไหว สกัดดาวรุ่ง จนอาการสาหัสพอสมควร นักท่องเที่ยวยกเลิกเที่ยวบินเสียเกือบครึ่ง
    รวมทั้งภูเก็ตแอร์ที่เพิ่งเปิดเส้นทางบินใหม่กรุงเทพฯ-เดนปาซาร์ เมื่อวันที่เกิดแผ่นดินไหวพอดิบพอดี จึงต้องโหมประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมายว่า เกาะบาหลีนั้นอยู่ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย คนละโยชน์กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหว ไม่รู้สึกแม้แรงสะเทือน
    บาหลียังสบายดี และสามารถทำหน้าที่รองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสบายๆ ยังคงเสน่ห์แบบเดิมๆ ไม่ว่าจะด้านธรรมชาติหรือวัฒนธรรม
    อย่างอาคารที่นี่ห้ามสูงเกินยอดมะพร้าว เพราะจะเป็นการลบหลู่เทพเจ้า ฉะนั้นอย่างเก่งก็ 4 ชั้น
    เล่ากันว่าสมัยซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ปล่อยให้มีการก่อสร้างโรงแรมแกนด์ บาหลี บีช สูง 10 ชั้น ต่อมาก็เหตุการณ์ฝูงหนูนับล้านตัวเข้ากัดกินไร่นาเสียหายหมด พอปีรุ่งขึ้นภูเขาไฟกุนุงอากุงเกิดปะทุพ่นควันและเถ้าออกมาเป็นระยะๆ แถมด้วยแผ่นดินไหว
    กระทั่งประธานาธิบดีซูฮาร์โตชิงอำนาจมาจากซูการ์โนได้ แผ่นดินบาหลีจึงกลับมาสงบสุขเหมือนเดิม
    บาหลียังคงเชื่อเรื่องพลังแห่งเทพอย่างแรง
    นับแต่ก้าวออกจากสนามบินนูราลัย ตลอดทางสิ่งที่คนไทยรู้สึกคุ้นตา คือ ผ้าขาวม้าตาสก๊อตสีดำ/ขาว ที่คนบ้านนี้นิยมผูกรอบศาล รอบเทวรูป ที่เห็นกันถนัดชัดตาคือ อนุสาวรีย์บิม่า เทพเจ้าแห่งท้องทะเล นุ่งผ้าขาวม้าสัปยุทธ์กับสัตว์ประหลาดอยู่กลางสี่แยก
    "คนบาหลีเชื่อว่าผ้าขาวม้าตาสก๊อตดำ/ขาว ช่วยเพิ่มพลังอำนาจ จึงนิยมนำไปห่มคลุมศาลและรูปเทพเจ้า ช่วยให้มีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น"
    แนนซี่ ทรัพย์สมัย ประธานกรรมการบริษัท เอ็นเค เอ็กซเพรส เทรเวิล กรุ๊ป บริษัทซึ่งรับสัมปทานการทำทัวร์ รวมทั้งกิจการเช่ารถในบาหลี มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ เฉลยให้ฟังหลังจากพาไปชมระบำ "บารอง ดานซ์" ที่หมู่บ้านบาดูบูลัน
    ระบำ "บารอง ดานซ์" เป็นหนึ่งในการแสดงศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบาหลี ที่แขกไปใครมาจะต้องมานั่งชม เพราะช่วยบอกเล่าถึงที่มาความเชื่อในเทพเจ้าของชาวบาหลี เรื่องที่แสดงจะเกี่ยวกับมหาภารตะ
    "บารอง" เป็นสิงโตเทพเจ้า ตัวแทนของวิญญาณที่ดีงาม ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์หมู่บ้าน ส่วน "รังดา" ตัวแทนอวตารของพระอุมา สัญลักษณ์ของวิญญาณชั่วร้าย
    ในบทละคร "รังดา" จะทำร้าย "บารอง" แต่ก็จะมีกลุ่มนักระบำกริช (ห่มผ้าขาวม้าตาสก๊อต) คอยให้การช่วยเหลือเมื่อบารองเพลี่ยงพล้ำ ซึ่งหมายถึงการทะนุบำรุงหมู่บ้าน แต่ด้วยเวทมนตร์ของรังดาทำให้กริชของนักระบำกริชที่จะจ้วงแทงรังดากลับกลายเป็นจ้วงแทงตนเอง
    ดีแต่ว่า "การูด้า" เทพแห่งนกมาช่วยไว้ทัน ทำให้นักระบำกลุ่มนี้หนังเหนียว ถูกกริชแทงเท่าไรก็ไม่เข้า นี่เองเป็นที่มาของความเชื่อว่าการห่มคลุมผ้าขาวม้าตาสก๊อตช่วยเพิ่มพลังอำนาจ
    นอกจากนี้ยังได้ทราบว่า สาเหตุที่นางรำ ซึ่งบ้านนี้ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ต้องฝึกรำกันตั้งแต่ยังตัวน้อยๆ รำไปทำตาเหลือกซ้ายทีขวาที ถือว่า มอง "ฟ้า" เป็นการบูชาเทพยดา และมอง "ดิน" บูชาผี

    มาบาหลี...ขาดไม่ได้คือ "ทานาล็อท" วิหารศักดิ์สิทธิ์กลางมหาสมุทรอินเดีย อยู่ตำบลทาบานัน ห่างจากสนามบินราว 45 นาที (ถ้ารถไม่ติด) สองข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งนาแบบขั้นบันได
    นอกจากความเขียวชอุ่มของทุ่งนา ที่นี่ยังมีประเพณีการลงแขก มีหุ่นไล่กา มีการบูชาแม่โพสพ รวมทั้งบ้านไหนที่มีงานเลี้ยงจะมีการตั้ง "เพนยอร์" เสาไม้ไผ่ตกแต่งเป็นช่อเป็นรวงด้วยใบมะพร้าวอยู่หน้าบ้าน เพื่อนบ้านคนอื่นๆ ก็จะมาร่วมวงกินข้าวด้วย
    บาหลีแม้จะเป็นจังหวัดที่ 27 ของอินโดนีเซีย แต่วิถีวัฒนธรรมที่นี่กลับแตกต่างจากอินโดนีเซีย เพราะตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวดัตช์มานานราวครึ่งศตวรรษ
    โดยเฉพาะที่ตำบลทาบานันการใช้ชีวิตของผู้คนที่นี่ค่อนข้างจะเดิมๆ ซึ่งถ้าเป็นในเมืองหลวงอย่างเดนปาซาร์จะมีสัญลักษณ์ของประเพณีเดิมๆ เหลือให้เห็นไม่กี่อย่าง อาทิ มีปุระ (วัด) และมีการบูชาเทพและผีด้วย "บาแตน" กระทงสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ทำจากใบมะพร้าว บ้างก็ทำเป็นทรงกรวย บรรจุด้วยไม้ดอกนานาชนิด
    วัฒนธรรมในบาหลีส่วนหนึ่งจะรับและผสมผสานมาจากอินเดีย เช่น การทำผ้าบาติก นั่นก็เพราะเมื่อครั้งที่ประเทศอินเดียเกิดสงครามศาสนา ชาวอินเดียจำนวนมากอพยพกันมาอยู่ที่บาหลี โดยอาศัยวิหารทานาล็อทเป็นปราการ
    วิหารทานาล็อทสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 โดยนักบุญดายังระวาตี เล่ากันว่าตานักบุญคนนี้เป็นคนดีที่ถูกใส่ไฟว่าเป็นมารร้ายจึงถูกขับออกจากหมู่บ้าน วันหนึ่งเขาฝันว่าเทพเจ้ามาบอกให้สร้างวัด วัดที่ว่าจึงถูกสร้างขึ้น พร้อมกับที่ตัวเขาเองบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ที่นั่น เป็นที่นับถือของชาวบาหลีว่าศักดิ์สิทธิ์นัก ทั้งเชื่อกันว่ามีงูศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษาอยู่ที่ใต้วิหาร
    แม้วันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด วิหารแห่งนี้ยังตั้งตระหง่านอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย ทั้งเป็นหนึ่งในจุดชมพระอาทิตย์อัสดง บ้างก็ไปว่ายน้ำ เล่นวินด์เซิร์ฟ
    อีกเป้าหมายที่เป็นหัวใจของการเที่ยวบาหลี คือ การไปชมภูเขาไฟที่คินตามณี
    คินตามณีเป็นชื่อของเทือกเขา ที่มีความสูง 1,818 เมตร มีภูเขาไฟกุหนุงอากุง ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สถิตของมวลเทพและภูเขาไฟบาตูร์ที่ยังไม่ดับ และโดยเหตุที่คนบ้านนี้ถือว่าภูเขาไฟบอกท่าทีของเทพเจ้า เช่น ถ้าภูเขาไฟปะทุพ่นลาวา นั่นคือเทพเจ้าทรงพิโรธ ตลอดทางจึงได้เห็นชาวบ้านลงอาบน้ำตรงหน้าบ้านที่ทำเป็นรางรับน้ำจากน้ำพุ ซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก
    ที่นี่ถือเป็นจุดวัดดวงนักท่องเที่ยวจุดหนึ่ง เนื่องจากภูมิอากาศแบบเกาะทำให้บาหลีมีฝนตกบ่อยครั้ง แต่ตกไม่ยาวนานเหมือนบ้านเรา ฉะนั้นถ้าเจอฝนตกแล้วอดใจรอสักพักใหญ่ๆ ท้องฟ้าจะเปิดให้เห็นยอดภูเขาอยู่ไม่ไกล
    นอกจากเสน่ห์ที่งดงามชวนสัมผัสศิลปวัฒนธรรมของบาหลีแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชมชอบกันนัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย คือ การช็อปปิ้ง
    ที่นี่มี "ตลาดปราบเซียน" ซึ่งเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า สินค้าที่บาหลีราคาถูกที่สุดในบรรดาตลาดสินค้าพื้นเมือง ถ้าเก่งจริง
    แต่ก่อนจะประลองฝีมือ ต้องชำระล้างบาปเสียก่อน ด้วยการเข้าเยี่ยมชมวิหารศักดิ์สิทธิ์ "เทมภัคสิริงค์" เป็นพระราชวังเก่าของราชวงศ์อุบุด สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาสำหรับกษัตริย์เท่านั้น
    ผู้ที่จะเข้าชมในวิหารศักดิ์สิทธิ์ได้จะต้องแต่งกายสุภาพ โดยบริเวณทางเข้าวิหารจะมีโสร่งให้บริการ พร้อมทั้งมีผ้าแถบเล็กๆ กว้างราว 2 นิ้วให้ทุกคนคาดปิดสะดือ เพราะเชื่อว่าสะดือเป็นสิ่งสกปรก ถ้าใครไม่คาดปิด จะเกิดอาการเจ็บป่วย
    ภายใน "เทมภัคสิริงค์" มีทั้งน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ "ทีร่าเอ็มพูล" ที่ผุดขึ้นจากใต้ดินเป็นพันปีโดยไม่มีวันหมด เชื่อกันว่าถ้าได้อธิษฐานแล้ววักน้ำขึ้นมาดื่มหรือประพรมร่างกายจะสมปรารถนา แต่ถ้าเป็นคนที่นี่จะ (แก้ผ้า) ลงอาบเลยทีเดียว
    นอกจากนี้ก็มีแท่นศักดิ์สิทธิ์บูชาพระศิวะ ถือกันว่าช่วงเวลาหนึ่งเทพศิวะจะถูกเชิญลงมาสถิตอยู่ที่แท่นศักดิ์สิทธิ์ พอถึงเวลานั้นทุกคนจะแต่งกายกันอย่างงดงามด้วยชุดพื้นเมืองมาบูชาและขอพร
    ลูบหน้าชำระบาปพร้อมกับขอพรกันเรียบร้อยแล้วก็พร้อมที่จะท้าประลองกับ "ตลาดปราบเซียน" ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก "เทมภัคสิริงค์"
    แต่ก่อนจะเข้าสู่เป้าหมาย เขามีข้อเตือนอยู่ 3 ข้อ 1.อย่าเข้าร้านแรกๆ (อาจตีอกชกตัวเพราะได้ของแพง) 2.ถ้าไม่คิดจะซื้อของ อย่าเข้าไปในร้าน (เพราะอาจจะไม่ได้ออกมา) และ 3.เมื่อต่อรองได้แล้ว ควรขอถุงมาใส่เอง (เพราะอาจโดนเปลี่ยนสินค้ากลางอากาศ)
    ฟังกฎกติกาแล้ว ทำให้นักช็อปมือใหม่ถึงกับหนาว ยิ่งพอเห็นหน้าตาของย่านตลาดที่ว่า ยิ่งรู้รักสามัคคี เดินเกาะกลุ่มกันโดยไม่รู้ตัว เพราะสองข้างทางเต็มไปด้วยแผงค้าเหมือนจตุจักรบ้านเรา แต่จะมีเจ้าของร้านยืนถือสินค้า ทั้งร้องทั้งกวักลูกค้าอยู่หน้าแผง
    สินค้าบางชิ้นที่แม่ค้าเห็นว่าที่ลูกค้ามอง แกจะหยิบแทบจะยัดใส่มือ พยายามรวบรัดราคาแล้วหาถุงใส่ให้ บ้างลูกค้ายังไม่ยอม ถึงกับกุมข้อมือลูกค้าอย่างเหนียวแน่นพร้อมกับร้องให้เสนอราคา
    จึงไม่แปลกที่จะเห็นเพื่อนร่วมทางบางคนร้องขอความช่วยเหลือเพราะไม่สามารถจะออกมาจากร้านได้
    บางชิ้นพอถามราคา แกบอก 1 แสนรูเปียห์ (ประมาณ 500 บาท) พอร้องโอ้โห แกว่า 5 หมื่น พอเราไม่สนใจ ราคาเหลือ 2 หมื่น (100 บาท) และถ้าหยุดต่อรองราคา ได้ของมาที่ราคาแค่ 50 บาท
    ลูกทัวร์บางรายหลังจากมาขึ้นรถแล้ว เล่าให้ฟังอย่างตื่นตระหนกว่า แค่เดินผ่าน พี่แกเอาผ้ามาคล้องคอแล้วเสนอสินค้ากันน่าดู
    กระนั้นก็ยังได้ยินหลายคนเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันแล้วบอกว่า ฝากไว้ก่อนเถอะ วันหน้าจะมาเอาคืน!
     

แชร์หน้านี้

Loading...