รู้รักชีวิตเมื่อผักมีพิษเต็มเมือง

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย sithiphong, 16 กุมภาพันธ์ 2006.

  1. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,445
    ค่าพลัง:
    +141,948
    รู้รักชีวิต
    เมื่อผักมีพิษเต็มเมือง

    http://www.matichon.co.th/adm/tour/template1.php?idn=&selectid=2711&sid=&select=

    สุมิตรา จันทร์เงา
    sumitra@matichon.co.th

    คอลัมน์คนรักผัก/เทคโนโลยีชาวบ้าน
    ฉบับที่365 15/08/48



    ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพคงทราบว่าเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศนอร์เวย์ได้ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าผักสดกินใบจากประเทศไทยหลายชนิด เนื่องจากตรวจสอบพบสารพิษตกค้างปะปนอยู่ในตัวอย่างพืชผักหลายรายการด้วยกัน ได้แก่
    ผักสะระแหน่ ตะไคร้ ผักชีฝรั่ง ผักชีไทย ใบโหระพา ผักแขยง ชะอม และผักแพว
    โดยคณะกรรมาธิการแจ้งสินค้าอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ผ่านระบบเตือนภัยเร่งด่วนของสหภาพยุโรป แจ้งว่า ได้ตรวจพบเชื้อ Escherichie coli ปนเปื้อนอยู่กับผักกินใบดังกล่าวที่ส่งจากไทยไปยังนอร์เวย์ เกรงจะเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคจึงให้ส่งกลับ สร้างผลสะเทือนต่อตลาดส่งออกผักผลไม้ของไทยอย่างมหาศาล
    เชื้อ Escherichie coli นี้ คือจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง เป็นแบคทีเรียที่ฝังตัวอยู่ในธรรมชาติ พบได้ทั่วไปในน้ำ สิ่งปฏิกูล หรือมูลสัตว์ หากมีการปนเปื้อนในอาหาร เมื่อบริโภคเข้าไปเชื้อโรคจะไปแสดงผลทำให้มีอาการต่อระบบทางเดินอาหารที่เรียกว่า gastro-enterits ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
    เท่าที่ตรวจสอบชั้นต้นนั้น ทางนักวิชาการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า เชื้อตัวนี้อาจเกิดขึ้นจากวัตถุดิบในการทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องมาจากปุ๋ยอินทรีย์ที่มีเชื้อ Escherichie coli ฝังอยู่ โดยเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวไม่ใช่โรคพืชแต่เป็นโรคของคน
    เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ทางสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร (สวป.) ก็ได้เข้าไปตรวจสอบปัญหาและพบว่า ผักที่ตรวจพบสารปนเปื้อนดังกล่าวเป็นสินค้าส่งออกของห้างหุ้นส่วนจำกัด ชัชวาลย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต แอนด์ แพคเกจจิ้ง ซึ่งได้ผ่านการรับรองตามขั้นตอนของกรมวิชาการเกษตรตามระเบียบทุกขั้นตอนแล้ว ซึ่งทางหน่วยงาน สวป. ได้เข้าไปสุ่มตัวอย่างใบสะระแหน่สด น้ำที่ใช้ในการผลิต swap test มือและถุงมือของพนักงาน เพื่อมาตรวจในห้องปฏิบัติการแล้วเพื่อยืนยันผลการตรวจเทียบกับทางสหภาพยุโรป
    อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยยังไม่ทันได้ต่อสู้หรือพิสูจน์ผลการทดสอบอะไร รัฐบาลนอร์เวย์ก็ชิงสั่งห้ามนำเข้าสินค้าผักสดกินใบจากประเทศไทยทั้งหมดแล้ว ไม่ใช่เฉพาะแต่สินค้าจากบริษัทเอกชนที่ถูกตรวจพบเท่านั้น แต่เป็นการระงับทั้งประเทศ ถือว่าเสียหายแบบโดมิโนไปตามๆ กัน
    เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ปัญหากระทบต่อภาพลักษณ์ด้านนโยบายความปลอดภัยทางด้านอาหารของประเทศ (ฟู้ดเซฟตี้) หรือการส่งออกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงร้านอาหารไทยที่เปิดขายอยู่ในนอร์เวย์ และสหภาพยุโรป (อียู) จำนวนมากที่จะต้องขาดแคลนผักสวนครัวสำหรับปรุงอาหารไทย เพราะผักทุกชนิดถูกระงับการนำเข้าหมดชั่วคราว
    ร้อนถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ต้องเรียกประชุมผู้ประกอบการส่งออกสินค้าผักสดของไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับทราบถึงแนวทางการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออกไปต่างประเทศ ให้เพิ่มมาตรการตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ รวมถึงสารปนเปื้อนอื่นๆ นอกเหนือจากการตรวจเฉพาะสารกำจัดแมลง โรคพืช และวัชพืชตามปกติด้วย
    ขณะเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ออกอาการแปลกใจไม่น้อยที่เพิ่งทราบว่า ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าผักและผลไม้ของไทย ไม่ได้ตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งถือว่าเป็นช่องโหว่ในการดำเนินงานที่สำคัญมาก เพราะสารตกค้างอื่น เช่น สารเคมีในการกำจัดแมลง โรคพืชและวัชพืชนั้นได้ตรวจเป็นประจำ แต่ทางกรมวิชาการเกษตรกลับมองข้ามเชื้อจุลินทรีย์ไป โดยกรมวิชาการเกษตรจะมาอ้างว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้กำหนดให้ตรวจจุลินทรีย์นั้นถือว่าฟังไม่ขึ้น แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้ว การตรวจจะต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นก็ตาม
    เชื่อว่าพอมีข่าวออกมาเช่นนี้ ก็คงต้องมีมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการตรวจสอบคุณภาพสินค้าส่งออกของไทยขนานใหญ่ให้รอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่า ต่อจากนี้ไปกรมวิชาการเกษตรอาจจะต้องไปประสานกับผู้ส่งออกเพื่อขอรายชื่อสวนผักของเกษตรกรที่เพาะปลูกผักส่งขายให้เอกชนเพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบเชื้อถึงแปลงผักกันเลยทีเดียว และอาจมีการออกใบรับรองคุณภาพสินค้าให้ ณ จุดตรวจที่สวนผักเลยก็เป็นได้
    สำหรับตัวเลขการส่งออกพืชผักสวนครัวจากเมืองไทยไปนอร์เวย์ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าเพียง 5 แสนบาท เทียบกับตลาดสหภาพยุโรปโดยรวม 330 ล้านบาท ยังถือว่าน้อยมาก แต่ถ้ามองในมุมของคุณภาพอาหารปลอดภัย หรือ "ฟู้ดเซฟตี้" แล้ว ข่าวด้านลบเกี่ยวกับภาพลักษณ์สินค้าไทยอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงแนวโน้มการนำนโยบายการกีดกันการนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้ามาใช้กีดกันสินค้าจากบ้านเรามากขึ้น โดยนำเรื่องความสะอาดของสินค้ามาเป็นเหตุผล ดังนั้น เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา
    แต่หากจะลำดับเหตุการณ์เตือนภัยเกี่ยวกับสารพิษตกค้างในผักแล้ว เฉพาะปีนี้ผักส่งออกจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ในบัญชีผักอันตรายเฉพาะของยุโรปเท่านั้น เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ก่อนหน้าที่นอร์เวย์จะออกประกาศเตือนไม่กี่สัปดาห์ ประเทศสิงคโปร์ก็พบสารตกค้างในผักชีไทยเช่นกัน
    โดย นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ "ข่าวสด" ว่า ขณะนี้ประเทศสิงคโปร์ ได้เข้มงวดในเรื่องสุขอนามัยของสินค้าเกษตรนำเข้าเพิ่มมากขึ้น โดยหน่วยงาน Agri-Food Veterinary Authority (AVA) ของสิงคโปร์ ให้เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสินค้าเกษตรทุกครั้งที่นำเข้า
    ล่าสุดรัฐบาลสิงคโปร์แจ้งมายังกรมวิชาการเกษตรว่า ตรวจพบสารคลอไพริฟอส ตกค้างในผักชีที่นำเข้าจากไทย และถ้าปัญหาสารพิษตกค้างยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน สิงคโปร์อาจปฏิเสธการนำเข้าผักชีจากไทยตลอดไป ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกพืชผักและผลไม้ชนิดอื่นทั้งระบบด้วย
    ปัจจุบันสิงคโปร์ก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีการนำเข้าสินค้าพืชผักจากไทยค่อนข้างมาก ทั้งผลไม้สด ผักสด โดยเฉพาะเครื่องเทศ สมุนไพร ผักปรุงแต่งกลิ่น ตลอดจนพืชอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูป ซึ่งนอกจากจะนำเข้าเพื่อบริโภคภายในประเทศแล้ว สิงคโปร์ยังนำเข้าเพื่อการส่งออกต่ออีกด้วย ด้วยเหตุนี้สิงคโปร์จึงต้องเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าจำพวกพืชผักผลไม้ไทยอย่างมาก หากผู้ส่งออกฝ่ายไทยไม่ปรับตัวในการคัดสรรควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างจริงจังก็อาจจะไม่สามารถรักษาตลาดได้ในระยะยาว
    อย่างไรก็ตาม นโยบายเข้มงวดเรื่องสารตกค้างนี้ ถือว่าเป็นโชคดีของคนต่างชาติที่จะได้บริโภคพืชผักที่สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐาน ขณะที่ชาวบ้านตาดำๆ ทั่วไปก็คงต้องก้มหน้าก้มตากินผักถูกๆ พอกสารพิษในประเทศกันต่อไปอีกนาน ตราบใดที่ผู้ผลิตสินค้ายังเน้นหนักการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณมากๆ ออกสู่ตลาดอยู่เหมือนเดิมโดยปราศจากการควบคุม แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการเตือนภัยคนไทยในการรับประทานพืชผักที่อาจมีสารตกค้างปะปนอยู่มากเป็นระยะๆ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศจีน
    เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ก็เคยแถลงว่า ภายหลังการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-จีน ส่งผลให้สินค้าจากประเทศจีนทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำพวกพืชผักและผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านเข้ามาทางด่านตรวจพืชเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ด่านตรวจพืชสะเดา จังหวัดสงขลา และด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพฯ ปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรได้เก็บตัวอย่างสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากจีนไปตรวจสอบสารพิษตกค้างขั้นละเอียดที่ห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ทุกชิปเมนต์ ผลการวิเคราะห์ระบุชัดเจนว่า ได้ตรวจพบสารพิษตกค้างในพืชผักหลายชนิด
    ไม่ว่าจะเป็น ถั่วลันเตา คะน้า หน่อไม้น้ำ กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง บร็อกโคลี่ และกระเทียม
    ทั้งนี้ สารพิษตกค้างที่ตรวจพบเป็นสารต้องห้ามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศห้ามใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะสารเมทามิโดฟอส โมโนโครโตฟอส และสารเมวินฟอส ซึ่งมีพิษเฉียบพลันสูงเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
    ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศให้มีความปลอดภัย กรมวิชาการเกษตรจึงประสานงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยเสนอให้ดำเนินการเข้มงวดสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น กำหนดให้ผู้นำเข้ามีใบรับรองปลอดสารพิษตกค้างแสดงพร้อมสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาด้วยทุกเที่ยวขนส่ง ซึ่งทาง อย. ก็เห็นด้วย และเบื้องต้น อย. ได้กำหนดให้ผักและผลไม้ที่นำเข้าทุกล็อต ทั้งสภาพผลสด แช่เย็น และแช่แข็ง ต้องมีหนังสือรับรองว่า ปราศจากสารพิษตกค้าง 3 รายการ คือ เมทามิโดฟอส โมโนโครโตฟอส และเมวินฟอส
    อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติก็ไม่มีใครไปติดตามตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องว่ารัดกุมในการปฏิบัติหน้าที่มากน้อยแค่ไหน ทราบแต่ว่าเมื่อ วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ประธานมูลนิธิโครงการหลวง คือ มจ.พีศเดช รัชนี ได้ออกมาประกาศเตือนคนไทยที่รับประทานผักผลไม้จากจีนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะพอกสารตกค้างไว้เพียบ
    องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เปิดเผยว่า ผักและผลไม้จากจีนเริ่มทะลักเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2546 หลังจากรัฐบาลได้เจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-จีนแล้วเสร็จ โดยปัจจุบันผักและผลไม้ที่นำเข้ามา ส่วนใหญ่มาทางท่าเรือของเอกชน 8-9 ราย ซึ่งไม่มีระบบตรวจสอบการตกค้างที่มีคุณภาพเพียงพอ และที่ผ่านมาก็พยายามแจ้งให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาแก้ปัญหาแล้ว แต่ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเป็นทางการ
    ดังนั้น จึงน่าเป็นห่วงความปลอดภัยของผู้บริโภคผักและผลไม้ชาวไทยที่นิยมซื้อผักผลไม้จากจีนเนื่องจากมีราคาถูกเพราะทะลักเข้ามาจำหน่ายในปริมาณมาก โดยที่ผู้บริโภคไม่ทราบว่าผักและผลไม้ดังกล่าวมีคุณภาพต่ำ เพราะกรรมวิธีเพาะปลูกไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องสารเคมีตกค้างจำนวนมากที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายได้
    อันที่จริงเรื่องคุณภาพพืชผักที่ปลอดจากสารตกค้างหรือสารพิษนี้เป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะรู้เท่าทันและไว้วางใจได้ว่าผักจากแหล่งไหนจึงจะสะอาดปลอดภัยที่สุด เพราะบรรดาป้ายประกาศคุณสมบัติความสะอาดปลอดภัยของผักปลอดสารพิษที่พ่อค้าแม่ค้าผักแปะไว้ตามแผงขายผักเพื่อเพิ่มมูลค่าผักอนามัยของตัวเองให้ขายได้ราคาดีกว่าผักจากสวนทั่วไปนั้น ก็ใช่ว่าจะรับประกันคุณภาพเต็มร้อยได้
    เพราะสวนผักไหนๆ จะอ้างว่าปลอดสารพิษอย่างไรก็ได้โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้เห็น
    เรายังไม่มีการสุ่มตรวจของ อย. ที่สม่ำเสมอและได้มาตรฐานอย่างแท้จริง ยังไม่มีเครื่องหมาย "ปลอดสารพิษ" ที่การันตีความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้เหมือนกับเครื่องหมายแอร์-ตู้เย็นประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบที่ใช้กันในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
    ไม่มีอะไรเลยที่จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้
    หลายคนจึงเสี่ยงผิดเสี่ยงถูกกันเอาเอง และยอมซื้อผักที่อ้างว่าปลอดสารพิษราคาแพงๆ ถือเป็นเกราะป้องกันชั้นแรกไว้ก่อน ถ้าปลอดสารพิษตามคำโฆษณาจริงก็ดีไป แต่ถ้าไม่ปลอดจริงก็ถือว่าเป็นคราวซวยของใครของมัน
    ฉะนั้นผักที่ปลอดภัยที่สุด โดยไม่ต้องรอเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากสถาบันหรือหน่วยงานไหนก็คือผักที่เราปลูกรับประทานกันเองแบบพืชผักสวนครัวในบ้านนั่นเอง
    ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เราจะมีปัญญาและมีเวลามาปลูกผักกินกันเองได้หรือไม่
    ถ้ายังต้องซื้อหามาบริโภคกันอยู่ควรจะต้องระมัดระวังความสะอาดอย่างไรจึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพในระดับหนึ่ง
    เรื่องนี้คงต้องพูดกันยาวค่ะ
    จะพยายามหาแนวทางการปลูกผักในบ้านมาชวนกันทำสวนครัวเล็กๆ เพื่อทำผักสลัดรับประทานกันเองให้ได้ค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...