เรื่องเด่น ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งเกิดความรู้สึกว่ากิเลสมากขึ้น

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 22 พฤษภาคม 2018.

  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,351
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +70,463
    33035804_1947103372007001_6799674201620873216_n.jpg

    อยากจะบอกท่านทั้งหลายว่า การปฏิบัติธรรมของเรานั้น บุคคลจำนวนมากยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งเกิดความรู้สึกว่ากิเลสมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะชาวต่างชาติเข้ามาปฏิบัติแล้วบอกว่า ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองมี รัก โลภ โกรธ หลง เท่าไร ให้ลองไปปฏิบัติธรรมตามหลักของพุทธศาสนาดู ซึ่งความจริงแล้วเหตุที่เป็นดังนั้น เพราะว่าการปฏิบัติของเรานั้นดำเนินไปผิดทาง

    การที่เราเดินผิดทาง ก็เพราะว่าเมื่อถึงเวลาเราภาวนาแล้วอารมณ์ใจเริ่มทรงตัว เราไม่ได้คลายออกมาแล้วใช้กำลังจากการภาวนาไปพิจารณาวิปัสสนาญาณต่าง ๆ เมื่อจิตไม่มีสิ่งที่ดีเอาไว้ยึดไว้เกาะ ไว้พิจารณา ก็จะฟุ้งซ่านไปหา รัก โลภ โกรธ หลง ที่ตนเองเคยชิน พอจิตมีกำลังมากเพราะมีสมาธิหนุนเสริมอยู่ ก็จะฟุ้งซ่านใน รัก โลภ โกรธ หลง อย่างเป็นงานเป็นการ เป็นหลักเป็นฐานมาก ก็ทำให้ท่านที่ไม่เข้าใจไปกล่าวว่า ยิ่งปฏิบัติ รัก โลภ โกรธ หลง ก็ยิ่งมาก กิเลสก็ยิ่งมาก ถ้าเป็นดังนั้นก็ขอให้รู้ว่าเราทำผิดแล้ว

    การที่เราจะปฏิบัติให้ถูก เมื่อภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้วให้ถอยกลับมาวิปัสสนา การที่เราจะรู้ว่าอารมณ์ใจทรงตัวได้แค่ไหน ก็เหมือนกับเราก้าวไปถึงทางตัน สภาพจิตไม่สามารถดำเนินความเป็นสมาธิต่อไปได้ ก็จะถอยกลับ ในช่วงที่สมาธิจิตถอยกลับมา ถ้าเราไม่หาวิปัสสนาญานให้คิด สภาพจิตก็จะเลี้ยวไปหา รัก โลภ โกรธ หลง โดยอัตโนมัติ

    วิปัสสนาญาณต่าง ๆ ที่เราควรจะคิด ควรจะนำมาพิจารณา ได้แก่ ไตรลักษณ์ คือลักษณะความเป็นจริง ๓ ประการ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี ร่างกายของสัตว์อื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด นี่คืออนิจลักษณะ คือความไม่เที่ยงเป็นปกติ

    ในระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็ประกอบไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของการปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น นี่คือทุกขลักษณะ อาการที่ต้องทน แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ต้องทน ก็คือทนคู่กับความเสื่อมสลายตามสภาพนั่นเอง แล้วในที่สุดไม่ว่าเป็นกายเราก็ดี กายคนอื่นก็ดี กายของสัตว์อื่นก็ดี หรือวัตถุธาตุต่าง ๆ ก็ดี ก็ไม่สามารถที่จะยืนยงดำรงอยู่เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาได้ ล้วนแล้วแต่ต้องเสื่อมสลายตายพังไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเป็นเราเป็นของเราเลย

    ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วไม่ชัดเจน ก็ให้แยกร่างกายของเราออกเป็นธาตุ ๔ ก็คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ส่วนที่แข็งเป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน จับได้ต้องได้ เป็นส่วนของธาตุดิน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในภายนอกทั้งหลายทั้งปวง ที่แข้นแข็ง สามารถจับต้องสัมผัสได้ เหล่านี้เป็นธาตุดิน เราลองแยกเอาไว้ส่วนหนึ่ง ว่ากองนี้คือดิน

    ส่วนที่เป็นของเหลว ไหลไปมาในร่างกายเรา มีความเอิบอาบ ชุ่มชื่น เคร่งตึง คือธาตุน้ำ ได้แก่ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ เป็นต้น เราลองแยกเอาไว้อีกส่วนหนี่ง ว่ากองนี้เป็นธาตุน้ำ

    ส่วนที่พัดไปมา เคลื่อนไหวอยู่ในร่างกายของเราได้ เรียกว่าธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมตามช่องว่างของร่างกาย เช่น ลมในช่องหู ลมในช่องจมูก ลมที่ค้างอยู่ในท้องในไส้คือแก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย คือความดันโลหิต สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จัดเป็นธาตุลม แยกเอาไว้อีกกองหนึ่ง

    ส่วนที่ให้ความอบอุนแก่ร่ายกาย คือไฟธาตุที่กระตุ้นให้ร่างกายเจริญเติบโต ไฟธาตุที่เผาผลาญให้ร่างกายนี้ทรุดโทรมลง ไฟธาตุที่ช่วยในการสันดาปย่อยอาหาร ไฟธาตุที่ยังร่างกายให้เกิดความกระวนกระวายยามเจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งเหล่านี้เป็นธาตุไฟ แยกไว้กองหนึ่ง

    นี่เป็นดิน นี่เป็นน้ำ นี่เป็นลม นี่เป็นไฟ มาดูใหม่ให้ชัด ๆ อีกครั้งหนึ่งว่า กองนี้คือดิน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในภายนอกทั้งปวง แยกไว้หนึ่งกอง ธาตุน้ำคือเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย น้ำตา น้ำดี ไขมันเหลว ปัสสาวะ แยกไว้อีกหนึ่งกอง ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมตามช่องว่างของร่างกาย ลมที่ค้างอยู่ในท้องในไส้ ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย แยกไว้อีกกองหนึ่ง ส่วนที่ให้ความอบอุ่น กระตุ้นให้ร่างกายเจริญเติบโต เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ช่วยสันดาปย่อยอาหาร กระตุ้นร่างกายให้เกิดความกระวนกระวายยามเจ็บไข้ได้ป่วย แยกเอาไว้อีกกองหนึ่ง

    ส่วนนี้เป็นดิน ส่วนนี้เป็นน้ำ ส่วนนี้เป็นลม ส่วนนี้เป็นไฟ เมื่อแยกออกมาแล้วตัวตนของเราอยู่ที่ไหน ? เพราะหมดเกลี้ยง..ไม่มีอะไรเหลือเลย เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสภาพร่างกายนี้ จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ เป็นเพียงสมบัติของโลกที่เรายืมมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น ถึงเวลาก็เสื่อมสลาย ตาย พังไปตายสภาพ ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

    เมื่อพิจารณาถึงจุดสุดท้ายแล้วก็รวบกลับมา คือเราไม่ปรารถนาการเกิด เราปรารถนาพระนิพพานแห่งเดียว แล้วยกกำลังใจของเรา ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบ หรือว่ายกจิตขึ้นสู่พระนิพพานไปเลยก็ได้ ให้ตั้งใจว่าภาพพระพุทธรูปนี้เป็นพุทธนิมิต แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน เอาจิตจดจ่อแน่วแน่อยู่กับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ตั้งใจว่าถ้าเราตายลงไปเมื่อไร ขอมาอยู่กับพระองค์ท่านที่นี่แห่งเดียว

    หลังจากนั้นก็ดูลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนาของเรา ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีคำภาวนากำหนดรู้คำภาวนาไปด้วย ถ้าลมหายใจเบาลงหรือหายไป คำภาวนาหายไป ให้กำหนดรู้ไว้เฉย ๆ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๖

    ที่มา www.watthakhanun.com
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...