เรื่องเด่น มนุษย์สากลหัวใจสู่สังคมพหุวัฒนธรรมสันติภาพที่แท้จริง

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย อกาลิโก!, 22 ตุลาคม 2017.

  1. อกาลิโก!

    อกาลิโก! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    609
    กระทู้เรื่องเด่น:
    531
    ค่าพลัง:
    +3,732
    93355_th.jpg

    มนุษย์สากลหัวใจสู่สังคมพหุวัฒนธรรมสันติภาพที่แท้จริง

    ศาสนาเป็นทางรอดของสังคม ร้อยเรียงให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข : พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน

    หลักสูตรการพัฒนาความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่ ณ สถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มีการจัดเสวนาการอยู่ร่วมกันในพหุวัฒนธรรม โดยเสวนาภายใต้หัวข้อว่า " สังคมพหุวัฒนธรรม มุมมองต่างศานิกชน " เมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค.๒๕๖๐ ที่ผ่านมา โดยร่วมเสวนา ๓ ท่านคือ

    ๑) พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ในฐานะผู้แทนพระพรหมบัณฑิต ศ.ดร.อธิการบดีมหาจุฬาฯ และผู้แทนสถาบันการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา กล่าวว่า ผู้นำศาสนาอิสลามทุกท่าน ที่มีความใจกว้างที่จะเห็นมิติมุมมองศาสนาอื่น เพราะโลกเราแคบลง ใจของเราแคบลงเหมือนกัน เพราะไม่ค่อยเรียนรู้กัน โลกเรามีความหลากหลายมาก ท่านเปิดโอกาสให้ศาสนิกอื่นมาแบ่งปัน เพราะเราจะเจริญเติบโตไปด้วยกัน เรามีความหลากหลายกันทางวัฒนธรรม เป็นความงดงาม เหมือนดอกไม้ในแจกัน (Diversity is Beautiful ) เพราะความหลากหลายคือ

    กฎของธรรมชาติ ท่านพุทธทาสกล่าวว่า " โลกนี้มีศาสนาเดียวไม่ได้ ต้องมีความหลากหลายสังคมพหุวัฒนธรรมต้องเคารพให้เกียรติ หาวิธีจะอยู่ร่วมกับเขา ไม่ต้องให้เขามาเป็นเรา ให้เขาเป็นเขาดีที่สุด ที่ขัดแย้งกันเพราะเราอยากให้เขามาเป็นเรา การแต่งกายเป็นความงามของแต่ละวัฒนธรรม เช่น ชุดแต่งกายของพระสงฆ์ การแต่งกายของผู้นับถืออิสลาม ล้วนแต่มีความสวยงาม คำว่า Multicultural Society : สังคมพหุวัฒนธรรม เป็นสังคมที่มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิต ชาติพันธุ์ ที่มีความแตกต่างกัน แต่มีการยอมรับและให้เกียรติกัน

    ในความจริงนั้น เราไม่มีศาสนาแต่เพราะเรากลัวอะไรบางอย่าง เราจึงหาเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ไม่มีความมั่นคงในการใช้ชีวิต "ศาสนาจึงเป็นเครื่องร้อยเรียงให้เราอยู่ร่วมกัน "ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวประโยคสำคัญว่า " การเกิดขึ้นของศาสนา มีเป้าหมายเพื่อความสงบ ร่มเย็นเป็นสันติสุขของชาวโลก " จึงมีคำถามว่า ศาสนาช่วยโลก หรือ โลกช่วยศาสนา เพราะศาสนาจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอทางรอดแก่มนุษยชาติอย่างไร ? ศาสนากำลังพ่ายแพ้ต่อวัตถุนิยมหรือช่วยดึงมนุษย์ออกจากกับดักของวัตถุนิยม และ ศาสนากำลังพ่ายแพ้ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง ทำไมเราต้องมีพหุวัฒนธรรม เพราะเป็นการก้าวข้ามพรมแดน เป็นการเชื่อมโยงในพหุวัฒนธรรม มีการพึ่งพาอาศัยกัน ทำไมต้องมีพหุวัฒนธรรม เพราะเราไม่อดทนต่อกัน ไม่อดทนต่อความแตกต่าง อดทนที่จะฟังเพื่อปรับเข้าหากัน ไม่ใช่ฟังเพื่อจับผิด เราจึงต้องมี ๔ สากล เพราะธรรมชาติอย่างไรก็สากล เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

    ๑)" มนุษย์สากล" พระพุทธเจ้าพยายามบอกมนุษย์ว่าเราสามารถเข้าธรรมทุกคน พระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบวรรณะ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดและคืนความเป็นธรรมให้แก่มนุษย์ เพื่อให้มนุษย์สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ว่าเราเป็นมนุษย์มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน เราคือพี่น้องกัน เราย่อมไปสู่ทะเลเหมือนกัน เพราะสิ่งที่จำแนกชั่วดี คือ การกระทำของมนุษย์ มิใช่ชาติวรรณะ " ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว " บุคคลผู้พิสูจน์ความจริงนี้ คือ ท่านดร.อัมเบดการ์ เกิดมาจากวรรณะจัณฑาลสู่ประธานร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญประเทศอินเดีย

    ๒)"เมตตากรุณาสากล" เราต้องมีความเมตตามนุษย์เหมือนกัน ช่วงน้ำท่วมที่มหาจุฬาฯ มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ อิสลามมาพักที่มหาจุฬาฯ เพราะเมื่อมนุษย์มีความทุกข์ เราจึงต้องมีความเมตตา พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ด้วยการไม่มีอคติ คือ ความลำเอียง (Bias) ลำเอียงเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว

    ๓) "ปัญญาสากล" เป็นปัญญาที่ข้ามพ้นในการยึดมั่นอัตลักษณ์ของตนเองว่า แบบของเราดีกว่า ยูเนสโก กล่าวไว้ "เคารพ ยอมรับ ตระหนักรู้คุณค่าความแตกต่างทางวัฒนธรรม ร่วมรับผิดชอบ ปกป้อง รักษา ดูแล เอาใจใส่ต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมื่อเกิดปัญหา นิ่งสงบ ฟัง เพื่อหาทางออกบนทางเลือกที่หลากหลาย และดึงอัตลักษณ์เฉพาะมาเป็นอัตลักษณ์ร่วมสากล พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า " ขันติ ปรมัง ตโป ตีติกขา ความอดทนคือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง "

    ๔) "สันติภาพสากล" คือ เรามีความสากลด้านสันติภาพ ผู้นำทางการเมืองบางประเทศพยายามแบ่งแยกแล้วปกครอง พระพุทธเจ้าเน้นสันติภาพตรัสว่า " There is no greater happiness than peace : สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี " ซึ่งสัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา ย่อมกลัวต่อความตาย ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงให้ผู้อื่นฆ่า ทำไมเราต้องดูแลลมหายใจของตนเอง เพราะถ้าเราโกรธ เกลียด คนรอบข้างก็รับพลังความเกลียดโกรธไปด้วย เราต้องดูแลลมหายใจของตนเองให้ดีที่สุด

    ๒) มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ผู้แทนศาสนาคริสต์ กล่าวว่า ทุกอุปสรรคมีบททดสอบ ทุกบทสอบเราจะผ่านด้วยสันติวิธี เงื่อนไขของการเสวนาเราต้องจูนคลื่นเสาอากาศเครื่องรับ เพื่อการสื่อสารที่เกิดผล เพราะตั้งแต่ปี ๒๐๐๗ จนถึงปัจจุบัน เราจะหาข้อมูลจาก Google โดยถามคำถามมากที่สุด คือ " ใครคือพระเจ้า ความรักคืออะไร ศาสนามีความหมายต่อฉันอย่างไร "เป็นคำถามท้าทายทั้งภาคพื้นเอเชียและอเมริกาโดยเฉพาะอินโดนีเชีย ปัจจุบันหนึ่งพันกว่าล้านคนไม่มีศาสนา เรามี "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน" แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกศาสนาในโลกเหมือนกันทั้งหมด แต่เรามีลัทธินิกายมากมาย ศาสนาอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด พระเยซูคริสต์เป็นความหวังของสังคมชาวยิวในสมัยนั้น พระเยซูมีการเสวนาปราศจากอคติกับศัตรูไม่ใช้รุนแรง

    ความท้าทายในโลกปัจจุบันถ้าเราไม่คุยกันจะเกิดอคติและความขัดแย้งมีอคติทางความคิด บางคนกลายเป็นพวกหัวรุนแรง บ้าคลั่งทางศาสนา ปัจจุบันเราเอาศาสนาออกไปจากสังคมหรือสาธารณะไปเป็นเรื่องส่วนตัว มีการสร้างศาสนาใหม่ของทุกคน " Super Religion " ถือว่าไม่ถูกต้อง เราจะต้องตระหนักว่า "สิทธิขั้นพื้นฐาน คือ เสรีภาพการนับถือศาสนา" เราจึงต้องเดินทางไปด้วยกันเพื่อสันติมีการนั่งรถไฟขบวนเดียวกันเป็นเชิงสัญลักษณ์ เวลามาเจอกันอย่าคุยหลักการมาก เพราะแค่กินยังแตกต่างกันในแต่ละศาสนา แต่ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในระดับผู้นำและระดับรากหญ้า เราต้องคุยกันเสวนาระหว่างศาสนา มิตรภาพระหว่างศาสนา ด้วยการฟังผู้อื่นอย่างเคารพและมิตรภาพ เข้าใจผู้อื่นอย่างถ่องแท้ บางครั้งแม้แต่ศาสนาเดียวก็มีหลากหลายนิกาย ต้องสร้างความเข้าใจในศาสนาของตนเองก่อน ก่อนจะไปเคารพคนอื่นต้อง ต้องเคารพศาสนาของตนเองก่อน

    การเสวนาเป็นสื่อสารจาก ๒ ฝ่าย เพื่อนำไปสู่ " การพูดการฟัง การให้ การรับ มิตรภาพ " มิใช่คุยเรื่องธุรกิจหรือการเมือง แต่มากด้วยความสมดุลในท่าที อุปสรรคในการเสวนา คือ " ขาดความรู้ ยึดติดในอดีต ขาดเสรีภาพ บิดเบือนความจริง " วิธีการเสวนาทางสายกลางนำไปสู่การสร้างสันติ คือ " Identity : อัตลักษณ์ Diversity : ความต่าง คือ ความเชื่อ วัฒนธรรม ความคิด ท่าที และ Plurality : ความหลากหลาย " ที่อินโดนีเชียมีการนำกระจกสีที่อาสนวิหารคาทอลิก บาหลี มาต่อเป็นภาพสวยงามมาก ความเป็นหนึ่งเดียว โดยการนำ Head Heart ต้องไปด้วยกัน มุสลิมจากประเทศตูนีเชีย มูฟตี มูฮัมหมัด ทาลบี กล่าวว่า " เมื่อใดก็ตามถ้าหากปากกาของพวกเราหัก สิ่งที่เหลืออยู่ มีเพียงอย่างเดียวคือ มีดพก " ปากกาหมายถึง การเสวนาพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจ การล้างเท้า เป็นการรับใช้มนุษยชาติ ต่างวัฒนธรรมและศาสนาแต่ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข โดยการเคารพซึ่งกันและกัน หน้าบ้านคนหนึ่งมีต้นไม้ใหญ่ ผู้คนมักจะมาปัสสาวะใส่ประจำ เขียนป้ายแล้วก็ยังปัสสาวะ เจ้าของบ้านจึง " ใช้ผ้าเจ็ดสีผูกต้นไม้ ใช้ความศรัทธาของผู้คน จึงไม่มีใครมีปัสสาวะ อีกเลย เพราะไร้ความศรัทธา ไร้ความสันติสุข แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง สร้างสรรค์สิ่งดีงาม

    ๓) พระดุษฏี เมธังกุโร ผู้แทนพระพุทธศาสนา กล่าวว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่มีอิทธิพลมากสำหรับคนปัจจุบัน วัตถุนิยมครอบงำคนในสังคมปัจจุบัน ในเทคโนโลยียากจะหาความจริงใจ สามารถตั้งชื่อปลอมได้ ไร้ซึ่งความจริงใจ เพราะไม่มีโอกาสได้เจอหน้ากัน ทุกศาสนาเป็นรถไฟขบวนเดียวกันมุ่งสู่สันติภาพเหมือนกัน แต่คนปัจจุบันขาดการเข้าถึงศาสนาของตนอย่างแท้จริง เราในฐานะศาสนิกต้องระวังเพราะเรามีพหุวัฒนธรรม แม้แต่เพศก็เป็นพหุวัฒนธรรม อดีตหญิงชายต่างกัน แต่ปัจจุบันเราแต่งกายเหมือนกันมากบางครั้งมองยากว่าชายหรือหญิง ความหลากหลายต้องมีความงดงาม เราต่างคนต่างอยู่ไม่ได้ เราต้องอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง พุทธทาสมองว่า ศาสนาคือที่พึ่ง ความรัก เช่น การบวชต้นไม้จะช่วยให้เคารพต้นไม้ แต่ความเชื่อนี้อาจจะใช้ไม่ได้ทั้งหมด บางคนอาจจะขอสึกต้นไม้แล้วตัดต้นไม้ แต่จริงๆ เราต้องให้มองให้ประโยชน์ของต้นไม้สร้างปัญญา ความเชื่อใช้ได้เฉพาะกลุ่ม เพราะบางกลุ่มไม่มีความเชื่อ จุดร่วมกันคือ การเคารพซึ่งกันและกัน จะมีกี่ศาสนาก็ได้ ถ้าเราเคารพและอดทนต่อกัน เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เราจะศึกษาศาสนาอื่นถือว่ายาก เพราะภาษาเป็นอุปสรรค เหมือนฝรั่งมาศึกษาศาสนาพุทธภาษาจะเป็นอุปสรรค ขอให้เราศึกษาศาสนาของตนให้เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาตน

    สรุปว่า ถ้าเราไม่มีความเมตตา เราจะไม่ได้รับความเมตตาเช่นกัน ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาเกิดมาจากรากหญ้า ผู้นำสามารถเชื่อมกันได้ แต่ศาสนิกไม่สามารถเชื่อมกันได้ มีความหวาดระแวงกัน ทำอย่างไรให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันได้ คำตอบ คือ ผู้นำศาสนาต้องสร้างการพูดคุยกัน ต้องลงพื้นที่ไปด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกันจะได้เรียนรู้กัน เราจำเป็นต้องรักและถนุถนอมกันและกัน ผู้นำต้องเริ่มก่อนในการลงพื้นที่ ผู้นำต้องเป็นต้นแบบระวังการกระทบกระทั่งกันในทางศาสนา ที่สิงคโปร์การให้งบประมาณศาสนาเดียวจะไม่ให้เลย เพราะจะสร้างความขัดแย้ง แต่ถ้าให้ทุกศาสนาเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันจะมีงบประมาณให้มากมาย ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดี ในประเทศไทยเราควรตระหนักมากเรื่องการสนับสนุนงบให้กับทุกศาสนามีความเท่าเทียมกัน เน้นการอยู่ร่วมกันโดยยกกุฏีจีน ๓ ศาสนา ๔ ความเชื่อ เป็นต้นแบบการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

    มีคำกล่าวว่า "ฝูงสุนัขที่มีสิงโตนำ ย่อมดีกว่า ฝูงสิงโตที่มีสุนัขนำ"ผู้นำต้องใส่ต่อคนต่องาน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตรัสว่า " สังคมเราต้องการคนดีมากกว่าคนเก่ง " โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ผู้นำต้องทำหน้าที่แบบชาวสวน หมายถึง ทำงานกับสิ่งมีชีวิต กับดักของผู้นำ คือ หลงตัวเอง ท่านปรีดี พนมยงค์ "เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าขาดประสบการณ์ เมื่อถึงเวลาที่ข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไร้ซึ่งอำนาจ " มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า " อำนาจนั้นเหมือนยาเสพติด ถ้าได้มาย่อมวางไม่ลงและต้องการอยู่เสมอ ไม่มีวันที่จะวางลงได้ " ทางคริสต์จึงสอนว่า "รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง จงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนดังที่ท่าน ต้องการให้เขาปฏิบัติต่อท่าน "พระเยซูคริสต์ขอให้คริสชนเป็นผู้นำในการรับใช้ผู้อื่นด้วยความรัก to be servant " เรามาในโลกนี้เพื่อรับใช้ "ผู้นำต้องจับแมลงวันด้วยน้ำผึ้ง คือ ฟังอย่างนุ่มนวลมิใช่ไปฆ่าหรือใช้ความรุนแรง

    ฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเอื้อเฟื้อเกื้อกูลทุกศาสนา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจะบอกเสมอว่า เวลาไปต่างจังหวัดต้องไปหาพระก่อนแสดงความเคารพ ทำอย่างไรเราจะมีเวทีให้เยาวชนพุทธ คริสต์ อิสลาม มีกิจกรรมร่วมกันเพื่อเรียนรู้ เราไม่อยากให้มีหลักสูตรเฉพาะศาสนาเดียว แต่เราควรมีหลักสูตรพัฒนาผู้นำระหว่างศาสนา สมเด็จสังฆราชตรัสกับท่านจุฬาราชมนตรี ว่า เราคือครอบครัวเดียวกัน ต้องหาโอกาสปรึกษาหากัน ถึงเวลาองค์กรศาสนาจะต้องร่วมมือกัน สร้างคนดีมากกว่าคนเก่ง เราต้องจับมือกันร่วมมือกันทุกศาสนา จงมีเมตตาต่อบุคคลที่อยู่ใต้ฟ้า บุคคลที่อยู่บนฟ้าจะเมตตาแก่เรา
    ----------
    ขอบคุณที่มา
    http://www.banmuang.co.th/news/education/93355
     

แชร์หน้านี้

Loading...