พระบูชาในสยาม "3 สมัย "

ในห้อง 'วิธีดูพระเครื่อง-เครื่องรางของขลัง' ตั้งกระทู้โดย อดุลย์ เมธีกุล, 24 กุมภาพันธ์ 2008.

  1. อดุลย์ เมธีกุล

    อดุลย์ เมธีกุล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กันยายน 2007
    โพสต์:
    7,363
    ค่าพลัง:
    +11,795
    ชั่วโมงเซียน : พระบูชาในสยามประเทศ "๓ สมัย"


    [​IMG] วงการนักนิยม พระเครื่อง นอกจาก จะมีการศึกษา พระพุทธพิมพ์ องค์เล็กๆ (พระเครื่อง) แล้ว ยังมีการศึกษา และ สะสมพระพุทธรูป มาอย่างยาวนาน อีกด้วย ซึ่งกล่าวได้ว่า มีการศึกษา และสะสม มาก่อนพระเครื่อง เสียอีก
    พระพุทธรูปที่พบ ในประเทศไทยนั้น มีการสร้างไว้ หลายสมัย เช่น ทวารวดี ศรีวิชัย สุโขทัย เป็นต้น ซึ่งแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็มีเอกลักษณ์ ทางศิลปะต่างๆกันไป ตามอารยธรรม ในสมัยนั้นๆ
    ก่อนที่จะมีพระพุทธรูปขึ้นนั้น บรรดาพุทธศาสนิกชนสมัยก่อน ในประเทศอินเดีย ได้สร้างปูชนียสถานไว้เป็นที่สักการะแล้ว ยังไม่ได้สร้างรูปจำลอง ของพระพุทธองค์ไว้กราบไหว้เหมือนปัจจุบัน ได้แต่สร้างเป็นสัญลักษณ์ แทนพระพุทธองค์ เช่น รูปกอบัว (สัญลักษณ์ตอนประสูติ) รูปธรรมจักร (สัญลักษณ์ตอนเสด็จปรินิพพาน)
    [​IMG] ต่อมาเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (ที่ประวัติของท่านได้ถูกสร้าง เป็นภาพยนตร์เมื่อไม่นานมานี้) กษัตริย์ของกรีก ได้กรีธาทัพเข้ามาจนถึง ประเทศอินเดีย เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๓ ชนชาติกรีกก็เริ่มมีความเลื่อม ในพระพุทธศาสนา มีการริเริ่มนำการสร้างปฏิมากรรม รูปเทพเจ้าต่างๆ มาดัดแปลง เป็นรูปเหมือนตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    พระพุทธรูปแบบที่ว่านี้ มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า "พระพุทธรูป แบบคันธารราฐ" ซึ่งนับเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธรูปในโลก เป็นศิลปะที่รุ่งเรือง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเทวรูปที่งดงาม ของกรีก มีใบหน้าเหมือนฝรั่ง มีเส้นผมอย่างคนสามัญ ยาวสลวย และเกล้าชั้นสูง ส่วนจีวรทำเหมือนเสื้อคลุมของชาวโรมัน มีรอยย่นเป็นริ้วๆ
    จากนั้นเป็นต้นมา ก็มีคตินิยมการสร้างพระพุทธรูปกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพระพุทธศาสนา เผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทย จึงมีการนำพระพุทธรูปเข้ามาสักการะในเมืองไทย และสร้างขึ้นเองอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
    พระพุทธรูปในประเทศไทยได้แบ่งออกเป็นหลายยุคสมัย แต่ในวันนี้ขอเขียนถึง ๓ สมัยก่อน คือ
    [​IMG] สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๘) เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุด ในบรรดาพระพุทธรูปของไทยด้วยกัน มีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) สันนิษฐานว่าเป็นอาณาจักรของมอญ เนื่องจากว่ามีศิลาจารึกภาษามอญรวมอยู่ด้วย
    นอกจากนี้ พระพุทธรูปทวารวดี ยังพบตามเมืองต่างๆ ในภาคกลางอีก เช่น ราชบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ กาญจนบุรี รวมทั้งในภาคอีสาน พบที่นครราชสีมา บุรีรัมย์ อีกด้วย
    พระพุทธรูปสมัยทวารวดี แบ่งออกเป็น ๒ ยุค คือ ยุคต้น น่าจะมีอายุการสร้าง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ ใบหน้ามีความยาว หน้าผากแคบ เม็ดพระศก ขนาดใหญ่ พระเนตร อูมโต ระดับเดียว กับหน้าผาก พระขนงโก่งยาว จรดกันที่สันจมูก (เรียกว่าคิ้วต่อ) จมูกใหญ่ ปากแบะกว้าง ริมฝีปากหนา จีวร เป็นแบบเรียบๆ และบางแนบติดกับองค์พระ
    ยุคปลาย น่าจะมีอายุการสร้างระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ เป็นศิลปะผสมระหว่างศรีวิชัย และ ศิลปะอู่ทอง รวมอยู่ด้วย จึงมีการห่มจีวร ที่มีริ้วมากกว่ายุคแรก หรือประภามณฑลหลังที่มีลวดลาย แบบศรีวิชัยปรากฏอยู่ด้วย หรือเม็ดพระศกมีขนาดเล็ก เรียงเป็นแบบต่างจากยุคต้น
    [​IMG] สมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘) เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่อีกสมัยหนึ่งของไทย มีอายุร่วมสมัย กับสมัยทวารวดี อาณาจักรศรีวิชัยมีจุดศูนย์กลางอยู่ทางทิศใต้ของประเทศไทย ทางชวา หรือ เกาะสุมาตรา แต่ที่เมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ก็พบว่ามีอารยธรรมศรีวิชัย ที่งดงามปรากฏอยู่มาก
    รูปเคารพในสมัยศรีวิชัย เน้นไปทางแบบมหายานมาก จึงปรากฏเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นส่วนใหญ่ อิทธิพลของศิลปะคุปตะ และปาละ (จากอินเดีย) ส่งผลให้พระบูชาศรีวิชัย มีทรวดทรงที่อ่อนช้อย นิยมการทรงเครื่องด้วยผ้าและสังวาลอย่างมาก และนิยมทำซุ้มเรือนแก้ว ประภามณฑล ที่พระเกศขององค์พระมักปรากฏเป็นเครื่องทรงครอบเป็นทรงสูง
    พระพุทธรูปสมัยศรีวิชัยนี้ ได้แผ่อิทธิพลมายังพุทธรูปของสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๐) อีกด้วย
    พระบูชาสมัยลพบุรี เป็นการสร้างพระตามอิทธิพลจากเมืองนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งสันนิษฐานว่าครั้งหนึ่งได้แผ่อิทธิพลมาครอบครองแผ่นดินแถบนี้ โดยมีราชธานีลูกหลวงอยู่ที่กรุงละโว้ (จ.ลพบุรี) พระพุทธรูปลพบุรี จึงเป็นการสร้างโดยศิลปะนครวัดทั้งหมด
    [​IMG] ศิลปะสมัยลพบุรี ได้รับอิทธิพลจากทวารวดี ผสมกับศรีวิชัยในยุคนั้น มีการนับถือร่วมระหว่างพุทธกับพราหมณ์ จึงมีการสร้างทั้ง พระพุทธรูป และเทวรูป ประดับเครื่องทรงสง่างามอย่างพระมหากษัติรย์ ใบหน้าเป็นทรงสี่เหลี่ยม คางสั้นใบหน้าค่อนข้างดุ พระโอษฐกว้าง และแบะ พระเกตุทำเป็นก้นหอย ฝาชีครอบ หรือแบบมงกุฎ แบบกระจัง หรือแบบเทริดขนนก
    พระพุทธรูปสมัยลพบุรี นิยมสร้างเป็นพระปางนาคปรกกันมาก และมีเทวรูปยืนขนาบด้านข้างซ้ายและขวา เป็นพระอวโลกิเตศวร ๔ กร และ ๒ กร (นางปัญญาบารมี) ในวงการพระเรียกว่า "พระนารายณ์ทรงปืน"
    ในยุคปลายของศิลปะลพบุรีนั้น เริ่มมีศิลปะของอู่ทองเข้ามาผสม โดยพระศกทำเป็นผมหวี ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า แบบอู่ทองผมหวีนั่นเอง ซึ่งจะพบเห็นศิลปะแบบนี้ได้ในพระเครื่องกรุวัดศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เช่น พระหูยาน เป็นต้น
    นอกจากนี้ พระบูชาที่พบในเมืองไทยยังมีอีกหลายสมัย ตามศิลปะของแต่ละเมือง มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่น่าศึกษา และอนุรักษ์ความเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย

    ที่มา - คม ชัด ลึก
     
  2. fox2008

    fox2008 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กุมภาพันธ์ 2008
    โพสต์:
    197
    ค่าพลัง:
    +403
    ขอขอบคุณ สำหรับประวัติความรู้ที่นำมาแบ่งปัน

    ขอบคุณมากครับ...
     
  3. มันตรัย

    มันตรัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    8,346
    ค่าพลัง:
    +8,190
    ขอบคุณมากๆเลยครับ
     
  4. ฐาณัฏฐ์

    ฐาณัฏฐ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2008
    โพสต์:
    6,197
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,075
    ขอบคุณครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...