ปัสสาวะเล็ด...เรื่องที่ควรรู้

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย แสงอมตะ, 19 มกราคม 2013.

  1. แสงอมตะ

    แสงอมตะ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2012
    โพสต์:
    126
    ค่าพลัง:
    +486
    ปัสสาวะเล็ด

    ปัญหาปัสสาวะผิดปกตินั้นพบได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งทั้งเพศหญิงเพศชายในแต่ละวัยต่างก็มีเหตุปัจจัยแตกต่างกันออกไป ปัญหาปัสสาวะในสตรีสูงอายุนั้นส่วนใหญ่มักสัมพันธ์กับภาวะหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ซึ่งเกิดในช่วงอายุประมาณ 50 ปี หรืออาจเกิดอาการหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วหลายปี อาการที่พบมีได้ตั้งแต่ปัญหาการกักเก็บปัสสาวะ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือตอนกลางคืน ปวดปัสสาวะแล้วต้องรีบเข้าห้องน้ำ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และไอจามปัสสาวะเล็ด และปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะลำบากต้องเบ่งช่วย และปัสสาวะไหลช้า เป็นต้น ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน

    * ภาวะหมดประจำเดือนหรือวัยทอง เมื่อเข้าสู่วัยทอง รังไข่จะค่อยๆ หยุดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน อวัยวะใดก็ตามที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนนี้ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งหมายรวมถึงอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ทั้งระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ลดลง
    * ความผิดปกติของอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น กระบังลมหย่อน ซึ่งก็คือการหย่อนของมดลูกและผนังช่องคลอด จึงส่งผลต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะที่อยู่ใกล้กัน เช่น ทำให้กระเพาะปัสสาวะหย่อนตามไปด้วยในลักษณะตกท้องช้าง จนท่อปัสสาวะแอ่นขึ้น จึงมีผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปัสสาวะไม่สุดหรือปัสสาวะไหลไม่สะดวก ซึ่งผู้หญิงที่คลอดบุตรหลายคนทางช่องคลอดหรือมีประวัติคลอดยากจะเกิดความผิดปกติเช่นนี้ได้ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ภาวะใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดการกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ เช่น การตั้งครรภ์ หรือเนื้องอกมดลูก ก็อาจเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะบ่อยได้
    * โรคทางกาย เช่น เบาหวานที่ควบคุมไม่ดี หลอดเลือดสมองตีบ และภาวะหัวใจล้มเหลวระยะแรก เป็นต้น
    * การรับประทานยาบางประเภท เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ซึ่งบางตัวจะเป็นยาขับปัสสาวะ จึงมีผลข้างเคียงทำให้ปัสสาวะบ่อย
    * พฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิด พบว่า ชา กาแฟ น้ำอัดลม และอาหารบางประเภทที่มีกาเฟอีน รวมทั้งช็อกโกแลต จะมีผลกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ โดยการหันมาดื่มกาแฟหรือชาสมุนไพรไทยที่ไม่มีกาเฟอีน

    สำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย แพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติในแง่ของการกักเก็บหรือขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ความถี่ในการปัสสาวะ โดยค่าเฉลี่ยปกตินับตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งก่อนเข้านอนไม่ควรเกิน 8 ครั้ง และในผู้ที่อายุน้อยกว่า 70 ปี การตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนไม่ควรเกิน 1 ครั้ง ซึ่งหากเกินกว่านั้นก็จำเป็นต้องหาสาเหตุ และหลายๆ ครั้งมักพบว่าเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัว เช่น การดื่มน้ำก่อนเข้านอน โดยอาจเนื่องมาจากต้องรับประทานยาก่อนนอน ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนเวลามารับประทานยาหลังอาหารมื้อเย็นก็ได้

    ตัวผู้ป่วยเองนั้นสามารถมีส่วนร่วมกับแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้ด้วยการจดบันทึกการขับถ่ายปัสสาวะของตนเองในแต่ละวัน (Bladder diary) โดยบันทึกเวลาและปริมาณของปัสสาวะในแต่ละครั้ง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะราดเพราะกลั้นไม่อยู่ หรือไอจามปัสสาวะเล็ดก็ให้บันทึกไว้ด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น โดยผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวและไม่จำเป็นต้องใช้การตรวจที่มีราคาแพง

    หลังจากซักประวัติ แพทย์จะตรวจสอบความสามารถในการกักเก็บปัสสาวะของผู้ป่วยโดยการหาความจุของกระเพาะปัสสาวะด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ พร้อมทั้งทดสอบว่ามีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอจามหรือไม่ จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยไปปัสสาวะทิ้งแล้วจึงทำการตรวจหาปริมาณปัสสาวะเหลือค้าง ซึ่งโดยปกติเราควรกลั้นปัสสาวะได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือเท่าๆ กับดูภาพยนตร์จบ 1 เรื่อง ไม่ใช่ปวดปัสสาวะทุก 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง และไม่ควรเหลือปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะเกิน 100 ถึง 150 ซีซี นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจหาภาวะอักเสบติดเชื้อที่อาจซ่อนอยู่ ภายหลังจากการตรวจระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว แพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อหาความผิดปกติภายในอุ้งเชิงกรานที่อาจสัมพันธ์กับปัญหาปัสสาวะผิดปกติ เช่น ภาวะกระบังลมหย่อน โดยในขั้นตอนนี้หากผู้ป่วยยังไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แพทย์ก็มักจะทำการตรวจให้ด้วย

    สำหรับวิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการเป็นหลัก โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งการรักษาออกเป็น 3 วิธีหลักๆ คือ การรักษาโดยไม่ใช้ยา การรักษาโดยการใช้ยา และการรักษาโดยการผ่าตัด

    การรักษาโดยไม่ใช้ยา มีวิธีการดังต่อไปนี้

    - การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นลำดับแรก ได้แก่ ลดน้ำหนัก งดปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอเรื้อรัง ท้องผูก ยกของหนัก เป็นต้น รวมทั้งลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ โดยทั่วไปแนะนำให้ดื่มน้ำไม่เกิน 1,500 ซีซี/วัน เพราะเรามักจะได้รับน้ำจากอาหารร่วมด้วยอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับกิจวัตรประจำวันของแต่ละคนด้วย
    - การฝึกขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือกล้ามเนื้อหูรูด แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกขมิบอย่างสม่ำเสมอแม้จะให้การรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดก็ตาม เพราะการฝึกขมิบนั้นเหมือนกับการออกกำลังกายซึ่งควรทำเป็นประจำทุกวัน สตรีที่ไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถฝึกขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อให้เกิดความแข็งแรงได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเป็นมาตรฐานชัดเจนว่าควรขมิบบ่อยมากน้อยเพียงใด การฝึกขมิบมี 2 แบบ คือ
    - ขมิบค้าง นับ 1 ถึง 10 แล้วคลายออก ขมิบถี่ตั้งแต่ 10 ถึง 30 ครั้ง ใน 3 ช่วงเวลาต่อวัน วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการกลั้นปัสสาวะให้ดีขึ้น
    - ขมิบคลายถี่และเร็ว วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดทำงานได้ดีขึ้นในแบบอัตโนมัติ จึงช่วยป้องกันภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอจาม

    อุปกรณ์ช่วยพยุงในช่องคลอด (Pessary) ซึ่งทำจากซิลิโคน ค่อนข้างปลอดภัย และมีโอกาสเกิดการแพ้น้อย แพทย์จะทำการวัดขนาดให้พอดีกับช่องคลอดของผู้ป่วยแต่ละราย สอนวิธีการใส่และถอด รวมทั้งนัดให้ผู้ป่วยกลับมาตรวจติดตามเป็นระยะ อุปกรณ์ช่วยพยุงนี้ ได้แก่
    - ชนิดที่ใช้รักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอจาม ใช้ใส่ในช่องคลอดเพื่อช่วยพยุงบริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะ ชนิดที่ใช้รักษาภาวะกระบังลมหย่อน ใช้ใส่ในช่องคลอดเพื่อช่วยพยุงอวัยวะอุ้งเชิงกรานที่หย่อนให้กลับสู่ตำแหน่งปกติ จึงช่วยแก้ไขอาการปัสสาวะลำบากได้

    การรักษาโดยการใช้ยา

    - การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเฉพาะที่ ซึ่งใช้ทาในช่องคลอด ช่วยรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง ช่วยลดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และช่วยลดการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อได้
    - การใช้ยาต้านการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั้นเกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน การให้ยากลุ่มนี้จะช่วยให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวลดลง แต่ก็อาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง และท้องผูกได้ อีกทั้งมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาต้อหินอีกด้วย

    การผ่าตัด

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่เทปช่วยพยุงบริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งใช้สำหรับรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอจาม โดยแพทย์จะทำการตรวจประเมินความรุนแรงของอาการ รวมถึงซักถามถึงผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยก่อนว่ามีมากน้อยเพียงใด มีความจำเป็นต้องทำการผ่าตัดหรือไม่ เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดมีราคาค่อนข้างสูง และการผ่าตัดก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้


    ที่มา...HealthToday
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 111.jpg
      111.jpg
      ขนาดไฟล์:
      7.8 KB
      เปิดดู:
      80
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 มกราคม 2013

แชร์หน้านี้

Loading...