บทความให้กำลังใจ(สิ่งที่น่ากลัวกว่าภัยพิบัติ)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    รักษาใจ คลายความปวด
    พระไพศาล วิสาโล
    ความเจ็บปวดนั้นเป็นปัญหาที่คนทั้งโลกต้องประสบ ไม่ว่าเราจะมีความเจริญก้าวหน้าในทางวิทยาการแค่ไหน เราก็ไม่สามารถหลีกพ้นจากความเจ็บปวดไปได้ และในปัจจุบันความเจ็บปวดก็เป็นปัญหาสำคัญมาก เรียกว่าเป็นพรมแดนที่การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะเข้าใจอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังจัดการได้ยากเช่นเดียวกับความเครียด สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้มันเป็นเรื่องท้าทายก็เพราะว่ามันสัมพันธ์กับระบบซึ่งถือว่าซับซ้อนที่สุดในร่างกายของมนุษย์หรือในโลกก็ว่าได้ นั่นคือสมองและระบบประสาท

    ทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าสมองเป็นพรมแดนที่ทุกวันนี้เรายังมีความรู้น้อยมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ซับซ้อนทางโครงสร้างอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น สมองยังเป็นอวัยวะที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เรารู้จักน้อยมากคือจิตใจ ซึ่งทุกวันนี้ผู้รู้ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจิตใจอยู่ที่ไหนแน่ สัมพันธ์กับสมองอย่างไร หรือเป็นคนละส่วนกัน

    ความเจ็บปวดคือประเด็นที่เป็นจุดบรรจบกันระหว่างสองสิ่งที่เป็นเรื่องยาก คือสมองและจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายวงการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง ขณะเดียวกันอาตมาคิดว่าในเรื่องนี้แนวคิดและประสบการณ์ทางด้านศาสนามีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่อยู่ในวงการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์ด้วย

    ความเจ็บปวดก็เช่นเดียวกับความเจ็บป่วยในร่างกายของเรา คือมันไม่ใช่เป็นเรื่องทางกายภาพล้วน ๆ ความเจ็บป่วยทุกอย่างจะมีมิติทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอไม่มากก็น้อย เมื่อคนหนึ่งเจ็บป่วยหรือเจ็บปวด ไม่ใช่กายของเขาเท่านั้นที่ป่วยหรือปวด แต่ว่าจิตใจของเขาก็พลอยป่วยหรือปวดตามไปด้วย อันนี้เป็นธรรมดาของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นในการทำความเข้าใจความเจ็บป่วย ถ้าเราจำกัดความสนใจของเราอยู่ที่ร่างกายเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่อาจเข้าใจความจริงอย่างครบถ้วน อาจทำให้การจัดการความเจ็บป่วยนั้นไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจมิติความสัมพันธ์ทางจิตใจกับความเจ็บป่วยด้วย

    อาจารย์ประเวศ วะสี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโลหิตวิทยา เคยเล่าถึงประสบการณ์ของท่านตอนหนึ่งเมื่อครั้งทำงานที่โรงพยาบาลศิริราชว่า วันหนึ่งมีคนไข้ชายวัยกลางคน ตัวซีด ไม่มีเรี่ยวแรง จนต้องนอนเปลมาให้ท่านรักษา อาจารย์ประเวศซักถามอาการคนไข้สักพัก ก็หันไปพูดกับแพทย์ประจำบ้าน ว่า คนไข้คนนี้ไม่เป็นอะไรมาก ตัวซีดเพราะมีพยาธิปากขอทำให้เลือดจาง ได้กินเหล็กจะดีวันดีคืน พูดเสร็จท่านก็หันไปหาคนไข้ ปรากฏว่าคนไข้ลุกขึ้นจากเปลเลย แล้วบอกหมอว่า “ถ้ามันหายง่ายอย่างนี้ ผมก็ไม่ต้องใช้ไอ้เปลนี้แล้วล่ะ” ว่าแล้วก็เข็นเปลออกไปติดฝา

    ทำไมคนไข้ถึงมีเรี่ยวแรงทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้กินยาเลย ที่จริงต้องถามใหม่ว่า ในเมื่อเป็นแค่พยาธิปากขอ แต่ทำไมตอนแรกเขาถึงไม่มีเรี่ยวแรง จนต้องนอนเปลมา คำตอบก็คือ เป็นเพราะความวิตกกังวลและความกลัว เขาอาจคิดว่าเขากำลังเป็นมะเร็งหรือเป็นโรคร้ายถึงตาย พอคิดอย่างนี้ ก็เลยไม่มีแรงจนต้องนอนเปลมาให้หมอรักษา แต่พอหมอวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นอะไร เป็นแค่พยาธิปากขอเท่านั้นเอง ความวิตกกังวลก็หายไป เรี่ยวแรงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

    เพียงแค่ความวิตกกังวลหรือความทุกข์ใจก็สามารถทำให้ร่างกายทรุดหนักยิ่งกว่าโรคภัยไข้เจ็บหรือความเจ็บป่วยทางกายด้วยซ้ำ คนที่เป็นทุกข์เมื่อเจ็บป่วย อาตมาคิดว่าประมาณ ๑ ใน ๓ ของความทุกข์เกิดจากความเจ็บป่วยทางกาย ที่เหลือเป็นเพราะความทุกข์ใจ (อันนี้เป็นประมาณการของอาตมาเอง ไม่ใช่ข้อสรุปทางวิชาการ) ที่ยโสธร มีคุณป้าคนหนึ่งเทียวเข้าเทียวออกโรงพยาบาลหลายครั้ง โดยไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร แล้ววันหนึ่งหมอก็บอกคนไข้ว่า “ป้าเป็นมะเร็งนะ อยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน” แกตกใจ ทำใจไม่ได้ ปรากฏว่าอยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็ตาย คำถามคือที่แกตายเร็วกว่าที่หมอคาดการณ์เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะก้อนมะเร็งหรือเปล่า หรือเป็นเพราะจิตใจที่วิตกกังวลหดหู่หมดหวัง ก้อนมะเร็งไม่ทันปลิดชีวิตแกเลย แต่ว่าใจที่ท้อแท้หดหู่หรือหวาดวิตกก็ทำให้แกตายเร็วทั้ง ๆ ยังสามารถอยู่ได้นานกว่านั้นมาก

    มองในแง่นี้ก็เห็นได้ว่าความเจ็บป่วยทางจิตเกิดขึ้นควบคู่กับความเจ็บป่วยทางกาย และบางครั้งมันเป็นตัวการที่ทำให้ความเจ็บป่วยหรืออาการทางกายรุนแรงขึ้น แทนที่จะอยู่ได้ ๓ เดือนหรือเกินกว่านั้น เพราะบางคนอยู่ได้เกินกว่าที่หมอวินิจฉัย แต่ว่าในกรณีนี้กลับอยู่ได้แค่ ๑๒ วัน นี่เป็นอิทธิพลของจิตใจซึ่งทำให้ความเจ็บป่วยทางกายเพิ่มขึ้น อาจจะคูณสองคูณสามเลยก็ได้ มีการวิจัยพบว่า คนที่กลัวเข็มฉีดยา เวลาถูกเข็มแทง ความเจ็บจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่าของคนที่ไม่กลัว เรียกว่าคูณสามเลย ความเจ็บ ๑ ส่วนเกิดเพราะเข็ม อีก ๒ ส่วนเกิดจากความกลัว

    ความทุกข์ใจไม่เพียงทำให้ความเจ็บป่วยทางกายรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้คนที่ไม่ป่วยกลับกลายเป็นคนป่วย มีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยโดยที่ไม่มีความผิดปกติทางกายเลย แต่เป็นเพราะมีปัญหาทางจิตใจ มีผู้หญิงคนหนึ่งยังสาวอยู่ แต่เป็นโรคปวดหัวปวดท้องเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง เป็นมาหลายปีแล้วไปหาหมอครั้งแล้วครั้งเล่าอาการก็ไม่ดีขึ้น หมอก็แปลกใจ เพราะว่าตรวจเช็คทุกอย่างแล้วไม่มีความผิดปกติทางกายเลย หมอก็เกือบจะถอดใจแล้ว แต่แล้ววันหนึ่งก็ฉุกคิดขึ้นมา จึงขอให้คนไข้เล่าประวัติให้ฟัง เธอเล่าว่าเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เสียตั้งแต่เล็ก อยู่กับพี่สาวสองคน พอคนไข้เล่าถึงพี่สาว แกก็มีอารมณ์เกิดขึ้น หมอเห็นได้ชัดเลยว่า เธอโกรธพี่สาวสองคนที่ทอดทิ้ง ปล่อยให้เธอเผชิญปัญหาตามลำพัง ทั้งน้อยใจทั้งโกรธเพราะมีความคาดหวังกับพี่สาว แต่พี่สาวไม่สนใจใยดีเลย หมอเชื่อว่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอมีอาการอย่างนี้ จึงแนะนำให้เธออภัยพี่สาวทั้งสองคน แต่คนไข้ไม่เชื่อ หลังจากนั้นก็หายไปเลย หนึ่งปีต่อมาหมอได้รับจดหมายจากคนไข้คนนี้ เธอเขียนมาบอกว่าตอนนี้หายดีแล้ว เพราะได้ทำตามที่หมอแนะนำคือให้อภัยพี่สาว

    เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความโกรธความเกลียด ความน้อยเนื้อต่ำใจก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ทั้งที่ไม่มีความผิดปกติทางกายเลย เป็นเพราะสาเหตุทางใจล้วนๆ เพราะฉะนั้นความเจ็บปวดจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทางกายอย่างเดียว แต่มักมีสาเหตุทางใจประกอบด้วย และบางทีก็เป็นส่วนสำคัญหรือเป็นสาเหตุหลักด้วยซ้ำ เฮอร์เบิร์ต เฮนสัน แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับความเจ็บป่วยมานานมาก ได้สรุปว่าความเจ็บป่วยของผู้ที่ไปหาหมอร้อยละ ๖๐-๙๐ เป็นเรื่องกายจิตสัมพันธ์ (psychosomatic) และเกี่ยวข้องกับความเครียด

    มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ประการแรกคือความโกรธอย่างที่อาตมาได้พูดแล้ว ประการที่สองคือความกลัว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งไปในทางร้าย อย่างเช่นคนไข้ที่หมอบอกว่าอยู่ได้ ๓ เดือน แต่อยู่ได้เพียง ๑๒ วันเท่านั้นก็ตาย ที่ตายเร็วนั้นเป็นเพราะถูกความกลัวรุมเร้า ซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งล่วงหน้าว่าใครจะดูแลฉัน ถ้าใกล้ตายฉันจะเจ็บปวดแค่ไหน จะต้องทุกข์ทรมานอย่างโน้นอย่างนี้ สร้างภาพหรือตีตนไปก่อนไข้ ก็ทำให้ความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดเพิ่มพูนขึ้น

    คุณหมออมรา มะลิลาเล่าถึงการทดลองแห่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก เขาเชิญชวนนักโทษมาเป็นอาสาสมัคร ใครมาร่วมหรือผ่านการทดลองนี้จะลดหย่อนผ่อนโทษให้ การทดลองนี้แบ่งอาสาสมัครออกเป็น ๒ กลุ่ม บอกกลุ่มแรกว่า จะทดลองใช้น้ำกรดมาหยดตรงกลางหลังเพื่อศึกษาถึงความสามารถในการทนต่อความเจ็บปวดของอาสาสมัคร โดยน้ำกรดนี้จะละลายเนื้อบริเวณนั้นให้เป็นวุ้น และสามารถซึมเข้าไปละลายกระดูกได้ด้วย ส่วนกลุ่มที่สอง ผู้ทดลองบอกว่าน้ำที่หยดกลางหลังนั้นเป็นน้ำกลั่น ทั้งนี้เพื่อทดสอบว่าผิวหนังจะมีปฏิกิริยาแบบภูมิแพ้อย่างไร

    มีการจัดให้อาสาสมัครนอนโดยมีม่านกั้นแต่ละคน แล้วเขาก็ส่งน้ำมาตามท่อเพื่อให้หยดตรงกลางหลัง ที่จริงไม่ใช่น้ำกรดแต่เป็นน้ำกลั่นที่มาจากถังเดียวกัน ปรากฏว่าผ่านไปแค่ไม่กี่นาทีก็มีคนร้องโวยวายบอกว่าปวดมากเลยจะตายอยู่แล้ว ปวดสุด ๆ จนต้องหยุด เพราะว่าคนนั้นถึงขั้นช็อคและหัวใจหยุดเต้นเสียชีวิต ที่เหลือ ๘๕ เปอร์เซ็นต์ มีตุ่มแบบลมพิษใหญ่บ้างน้อยบ้าง อีก ๑๕ เปอร์เซ็นต์มีผื่นอยู่กลางหลัง คนที่มีอาการคล้ายลมพิษนั้นบอกว่ารู้สึกว่าเจ็บปวด คำถามก็คือ อาการอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อน้ำที่หยดลงไปเป็นแค่น้ำกลั่น

    ความกลัวที่เกิดจากความปรุงแต่งว่ากำลังถูกน้ำกรดหยดกลางหลัง ทำให้เกิดอาการตอบสนองทางกายทันที ที่น่าสนใจคือเมื่อเขาผ่าผิวหนังที่เป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนลูกมะกรูดของคนตายไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ปรากฏว่ามันมีอาการคล้ายกับโรคภูมิแพ้เวลามีแมลงสัตว์กัดต่อย ส่วนอวัยวะอย่างอื่นปกติ มันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร นี่เป็นผลของจิตใจที่ทำให้เกิดการตอบสนองทางกายเหมือนกับเจอน้ำกรดจริง ๆ

    นอกจากความโกรธและความกลัวแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อความเจ็บปวดและความเจ็บป่วยทางกาย ก็คือความห่วงกังวล เรื่องความห่วงกังวลนี้ เห็นได้ชัดเจนกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย แพทย์พยาบาลหลายคนพบว่ามีผู้ป่วยบางคนที่เมื่อให้ยาระงับปวดแล้วสามารถลดอาการปวดได้เพียง ๑๐-๑๕ นาทีเท่านั้น จากนั้นผู้ป่วยก็กลับมาทุรนทุรายใหม่

    คุณหมอผู้หนึ่งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าว่าได้ไปดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งมีอาการหนักจนต้องเข้าห้องไอซียู มีสายระโยงระยาง สื่อสารได้ลำบาก ตลอดเวลาที่อยู่ห้องไอซียูแกมีอาการทุรนทุราย หมอนึกว่าแกปวด จึงให้ยาบรรเทาปวด แต่แกสงบได้แค่ ๑๕ นาที จากนั้นก็กระสับกระส่ายใหม่ หมอสงสัยว่าแกคงมีอะไรค้างคาใจ จึงพยายามถามว่าแกเป็นห่วงอะไรหรือไม่ แกก็ทำปากขมุบขมิบ ฟังไม่ชัดเจน หมอจับความได้ว่า แกต้องการพูดคำว่า “เชียงใหม่” หมอไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ถามลูก ลูกก็ตอบไม่ได้ แต่ลูกเล่าว่า พ่อซึ่งเป็นคนกำแพงเพชร เคยไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชที่เชียงใหม่ และได้อุทิศร่างกายให้แก่ที่นั่น แกคงเป็นห่วงว่าจะไม่ได้ทำตามที่ตั้งใจไว้เพราะมาป่วยที่จุฬา ฯ เมื่อหมอทราบเช่นนี้ก็พูดกับคนไข้ว่า ลุงไม่ต้องกังวล หากเป็นอะไรไปหมอจะจัดการเรื่องร่างกายของลุงให้ ปรากฏว่าตรงกับที่แกเป็นห่วง พอได้ยินเช่นนั้น อาการทุรนทุรายก็หายไป

    อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย มีอาการกระสับกระส่าย ได้รับยาระงับปวดแล้วก็สงบได้ไม่ถึง ๒๐ นาที แล้วก็ทุรนทุรายอีก พยาบาลสงสัยว่า ผู้ป่วยคงมีความห่วงกังวลในจิตใจ จึงคุยกับลูก ได้ความว่า ผู้ป่วยเป็นหมอพราหมณ์ และยังไม่มีใครสืบทอดวิชานี้ พยาบาลเดาว่าคงเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง แกถึงกระสับกระส่าย ก็เลยถามลูกชายว่า พ่อว่ามีใครที่เป็นลูกศิษย์บ้างไหม ก็ได้ทราบว่ามีญาติคนหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ จึงแนะให้ญาติคนนี้ทำพิธีสืบทอดวิชา โดยให้ทำกันเดี๋ยวนั้นเลย พอทำพิธีเสร็จ ก็บอกให้คนป่วยทราบว่ามีคนสืบทอดวิชาแล้ว ปรากฏว่าคนไข้อาการดีขึ้น หายกระสับกระส่าย

    ความห่วงกังวลเมื่อเกิดกับใครย่อมทำให้ทุกข์ใจ หากเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็มักมีอาการทุรนทุรายกระสับกระส่าย เป็นอาการทางใจล้วนๆ แต่ทำให้มีปฏิกิริยาทางกายเกิดขึ้น แม้แต่ยาระงับปวดก็เอาไม่อยู่ แต่พอเขารู้สึกสบายใจ หมดความห่วงกังวล อาการทางกายก็ดีขึ้น แสดงให้เห็นว่ามิติทางใจเป็นเรื่องสำคัญมาก
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    (ต่อ)
    มีอีกเรื่องหนึ่ง พระซึ่งเป็นเพื่อนของอาตมาไปดูแลอาจารย์ของอาตมาที่ตึกสงฆ์ รพ.จุฬาฯ แต่ก็มีผู้ป่วยที่เป็นฆราวาสอยู่ในตึกนี้ด้วย ประมาณตีสองก็มีคนมานิมนต์ท่านให้ไปช่วยรับสังฆทานจากแม่ของเขาซึ่งกำลังจะเสียชีวิต ท่านก็ไปรับสังฆทาน ระหว่างที่รับก็สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกอยู่ตลอดเวลา สัญญาณชีพที่จอมอนิเตอร์ขึ้นลงเร็วมาก จึงอยากช่วยให้ท่านไปอย่างสงบ สอบถามลูกได้ความว่า ผู้ป่วยชอบใส่บาตรวันพระ และไปไหว้หลวงพ่อทองที่วัดไตรมิตรเป็นประจำ ท่านจึงพูดกับคนไข้ว่า “โยม วันนี้วันพระนะ (ที่จริงไม่ใช่วันพระหรอก แต่ท่านอยากให้แกนึกถึงวันพระ) โยมคดข้าวใส่ขันนะ เตรียมดอกไม้ธูปเทียนเอาไว้ จะไปใส่บาตรพระกัน” พอพูดถึงเรื่องใส่บาตร คุณยายซึ่งไม่ค่อยรู้สึกตัวแล้วก็มีอาการตอบสนอง คือพนมมือ อาการกระตุกลดลง เสร็จแล้วท่านก็พูดต่อว่า “โยม ไปหน้าบ้านกัน เอาเก้าอี้ไปด้วย” สักพักก็พูดต่อว่า “ทางซ้ายมีพระมาไหม” แกส่ายหัว “แล้ว ทางขวาล่ะ” ทีนี้แกพยักหน้า เพราะปกติพระมาบิณฑบาตจากทางขวาเป็นประจำตอนที่คุณป้ายังปกติดีอยู่ แล้วท่านก็พูดนำต่อว่า “ พระมาแล้ว โยมตักข้าวใส่บาตร ถวายกับข้าว และดอกไม้ธูปเทียน” พูดนำทีละรูป ทีละรูป จนครบ ๖ รูป ถึงตอนนี้แกไม่มีอาการกระตุกแล้ว สัญญาณชีพก็สวิงน้อยลง ทีนี้ท่านก็บอกว่า “โยมไปวัดไตรมิตรกัน ไปกราบหลวงพ่อทอง” กราบหนึ่ง กราบสอง กราบสามเสร็จ ก็ชวนผู้ป่วยทำสมาธิ หายใจเข้านึกถึง “พุธ” หายใจออกนึกถึง “โธ” คุณยายก็ทำตาม ตอนนี้สัญญาณชีพค่อย ๆ เคลื่อนช้าลง จนในที่สุดก็แบนราบ แสดงว่าสิ้นลมแล้ว อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าเมื่อคนไข้นึกถึงบุญกุศลหรือสิ่งดีงาม ความกลัว ความทุกข์ ความกังวลก็บรรเทาเบาบาลง ทำให้ใจสงบ ไม่มีอาการกระสับกระส่ายอีกต่อไป

    อาตมาคิดว่าการเยียวยารักษาความเจ็บป่วดด้วยวิธีการทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรมองข้าม โดยควรทำควบคู่ไปกับการดูแลทางกายภาพหรือการให้ยา ถ้าจะสรุปว่ามีวิธีการอะไรบ้างที่ช่วยลดความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดลงได้ อาตมาอยากเริ่มต้นที่กรณีของน้องโย

    น้องโยเป็นเด็กผู้ชายอายุ ๗ ขวบ วันหนึ่งป้าชวนน้องโยซ้อนรถจักรยานยนต์เข้าไปในเมือง นครปฐม ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุถูกรถชน ป้าแขนหัก น้องโยขาเละข้างหนึ่ง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ตลอดทางป้าร้องโอดโอย แต่น้องโยไม่ร้องเลย จนถึงห้องผ่าตัดน้องโยก็ไม่ร้อง พอผ่าตัดเสร็จหมอก็ถามน้องโยว่า ทำไมน้องโยไม่ร้องเลย น้องโยพูดว่า “ผมกลัวป้าเสียใจครับ” น้องโยเป็นห่วงป้า ไม่อยากให้ป้าทุกข์กว่านี้ เพราะป้าเองทก็ทุกข์มากพอแล้วที่นอกจากแขนจะหักแล้วยังรู้สึกผิดที่ทำให้หลานต้องมาเจอเคราะห์กรรมอย่างนี้ ความเป็นห่วงป้า ทำให้น้องโยอดกลั้นต่อความเจ็บปวดอย่างไม่น่าเชื่อ กรณีน้องโยเป็นตัวอย่างว่าการนึกถึงผู้อื่น ทำให้ความเจ็บปวดของตัวเองเป็นเรื่องเล็กน้อย

    นี่เป็นประเด็นสำคัญประการแรก การที่เรานึกถึงสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง โดยเฉพาะเวลานึกคนที่เรารัก เราห่วงใย มันทำให้เรามีความสามารถในการอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น เพราะความเจ็บปวดของเรากลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่น

    ประการที่สองซึ่งก็เชื่อมโยงกับประการแรกก็คือ การมองในแง่ดี อาตมาเคยอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบที่วัดโคกนาว อำเภอหาดใหญ่ วันสุดท้ายของการอบรมได้พาอาสาสมัครไปเยี่ยมคนไข้ที่วัดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัย อาสาสมัครได้พบเด็กคนหนึ่งอายุ ๑๔ ปี ผมร่วงหมดทั้งหัว เพราะป่วยเป็นโรคมะเร็งสมอง ต้องฉายแสง อาสาสมัครแปลกใจมากที่เด็กหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกับอาสาสมัครซึ่งเป็นคนแปลกหน้าได้อย่างเป็นกันเองมาก แถมยังมีอารมณ์วาดภาพซึ่งเป็นกิจกรรมที่เธอชอบ

    ระหว่างที่คุยกัน เด็กก็บอกว่า “หนูโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะมีญาติคนหนึ่งเป็นมะเร็งปากมดลูกและปวดมาก” แล้วเธอก็พูดต่อว่า “หนูโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง” นี่เป็นมุมมองที่ทำให้เธอไม่ทุกข์ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งสมอง เธอมองในเชิงบวกว่า ยังดีที่ฉันไม่เจอหนักกว่านี้

    ประการที่สามคือการให้อภัย การให้อภัยนี้สำคัญ อาตมาได้เล่าแล้วถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่เจ็บปวดเรื้อรังเพราะความโกรธแค้นพี่สาว แต่เมื่อเธอให้อภัยพี่สาว ความเจ็บปวดก็หายเป็นปลิดทิ้ง มีอีกกรณีหนึ่ง เป็นผู้หญิงเช่นกัน ตอนอายุ ๒๐ ปี เพื่อนชายพาเธอไปส่งบ้าน เสร็จแล้วก็ข่มขืนเธอ ต่อมาผู้ชายคนนั้นติดคุก แต่ความเจ็บแค้นไม่จางหายไปจากจิตใจของเธอเลย จากความเจ็บแค้นกลายเป็นความเกรี้ยวกราดต่อคนรอบตัว สุดท้ายความเกรี้ยวกราดนั้นก็ส่งผลกลับมาที่ตัวเอง ทำให้ใจสั่น ปวดหัว และปวดท้องมาก แถมเธอยังปวดข้อต่อขากรรไกร เพราะเธอกัดฟันมากเวลานอน เป็นอย่างนี้มานานจนทนไม่ไหว ในที่สุดเธอก็พบว่า เป็นเพราะความแค้นต่อผู้ชายคนนั้น เธอคิดว่าถ้าไม่ให้อภัยเขา เธอคงอยู่ไม่ไหวแน่ๆ ในที่สุดเธอก็เรียนรู้ที่จะให้อภัย เลิกจมปลักอยู่กับอดีต และก็มองไปข้างหน้า เมื่อสามารถให้อภัยคนๆ นั้น เธอก็สามารถมองไปข้างหน้าและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ เมื่อก่อนทุกเช้าต้องตื่นขึ้นมาด้วยความโกรธ แต่พอให้อภัยได้สุขภาพก็ดีขึ้น ชีวิตก็มีความสุข เพราะฉะนั้นการให้อภัยจึงสำคัญมากในการบรรเทาความเจ็บปวด

    เมื่อประมาณ ๖-๗ ปีก่อน ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา มีโครงการเรียกว่า โครงการเยียวยาด้วยการให้อภัย (Stanford Forgiveness Project)โดยให้คนที่มีความทุกข์จากการถูกทำร้าย มีความเจ็บปวดในจิตใจเพราะว่าถูกกระทำ มาฝึกการให้อภัย ซึ่งมีหลายแบบ ทุกคนเข้าอบรม ๖ วัน ๆ ละ ๕๐ นาที จากนั้นก็ติดตามอาการของผู้ที่เข้าโครงการนี้ ซึ่งมีจำนวนเกือบ ๓๐๐ คน มีการติดตามนานถึง ๑๘ เดือนหลังจากเข้าโครงการ สิ่งที่เขาพบก็คือ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีความเคียดแค้นลดลง นอกจากนั้นอาการอื่น ๆ เช่น ความเครียด อาการปวดท้อง ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อก็ลดลงด้วย ต่อมาเขาเอาวิธีการนี้ไปใช้กับผู้หญิงที่สูญเสียลูกและสามีในไอร์แลนด์เหนือ เพราะในไอร์แลนด์เหนือมีการฆ่าฟันกันมากระหว่างชาวคาทอลิกกับโปรแตสแตนท์ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งมาเข้าคอร์สนี้ มาฝึกการให้อภัยวันละ ๒ ชั่วโมง ทำทุกวันตลอดหนึ่งอาทิตย์ ก็ปรากฏว่าอาการเจ็บปวด ความซึมเศร้าความเครียดลดลง เดี๋ยวนี้ก็มีการเอาวิธีการนี้ไปใช้ในบริษัทใหญ่ๆ เช่น อเมริกันเอ็กเพรส เป็นต้น วิธีนี้ไม่ได้ใช้กับคนที่ถูกกระทำเท่านั้น คนที่มีความเกลียดชังผู้คนรอบตัว ก็รู้สึกดีขึ้นเมื่อให้อภัยผู้อื่น

    การช่วยให้ผู้คนรู้จักให้อภัย เป็นวิธีการที่ได้ผล อาตมาเรียกการให้อภัยว่า “ยาสามัญประจำใจ” คนเราถ้าไม่มียาประเภทนี้ จิตใจจะมีความทุกข์ ความเครียด กดดัน ความดันโลหิตสูง ทุกคนจึงควรมียาสามัญชนิดนี้ไว้เยียวยาจิตใจ ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายด้วย

    ประการที่สี่ คือศรัทธาหรือความเชื่อมั่น เราคงทราบดีอยู่แล้วว่าศรัทธา เช่นศรัทธาหมอ ศรัทธาพยาบาล หรือศรัทธาต่อยา มีผลต่อการรักษา วิลเลียม เฮนรี เวลช์ ผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ซึ่งมีชื่อเสียงมากในอเมริกา พูดถึงพ่อของเขาซึ่งเป็นแพทย์เหมือนกันว่า “ทันทีที่ท่านเข้าห้องผู้ป่วย คนป่วยจะรู้สึกดีขึ้นทันที บ่อยครั้งมิใช่เพราะการรักษาของท่าน แต่เป็นเพราะการปรากฏตัวของท่านต่างหากที่รักษาผู้ปวยให้หายได้” อันนี้ชี้ให้เห็นว่าศรัทธาในตัวแพทย์ และเมตตากรุณาของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความหวัง เกิดกำลังใจ เกิดความอบอุ่นใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเจ็บปวดและความเจ็บป่วยทุเลาลง

    วงการแพทย์ทราบดีว่ายาหลอก (Placebo) นั้นมีอิทธิพลต่อคนไข้มาก มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดเอาเองหรืออุปาทานเท่านั้น แต่มันมีผลต่อระบบประสาท และสารเคมีในสมอง เคยมีการทดลองที่น่าสนใจมาก โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น ๒ กลุ่ม ผู้ทดลองบอกทั้ง ๒ กลุ่มว่า ต้องการทดสอบประสิทธิภาพของยาแก้ปวดชนิดหนึ่ง กลุ่มแรกได้รับการบอกว่ายาระงับปวดเม็ดนี้ราคา ๒ เหรียญ ๕๐ อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ายาระงับปวดราคา ๑๐ เซ็นต์ ก่อนที่จะให้ยา ก็เอาไฟฟ้าช็อตที่ฝ่ามือ แล้วให้อาสาสมัครให้คะแนนความปวด จากนั้นก็ให้ยาระงับปวด ปรากฏว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มแรกที่ได้ยาราคาแพง บอกว่าความเจ็บปวดลดลง ส่วนกลุ่มที่สองที่ได้รับยาราคาถูก ความเจ็บปวดลดลง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่อาสาสมัครเหล่านี้ไม่รู้ก็คือความจริงแล้วยาที่ให้แก่ทั้งสองกลุ่มนั้นเป็นยาตัวเดียวกัน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ที่จริงมันไม่ใช่ยาแก้ปวด แต่เป็นวิตามินต่างหาก การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้ามีความเชื่อมั่นว่าเป็นยาระงับปวด ความเจ็บปวดก็จะลดลง และจะลดลงมากหากเชื่อว่าเป็นยาราคาแพง แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นยาราคาถูก ความเจ็บปวดก็จะลดลงได้ไม่มากเท่ายาราคาแพง

    การทดลองนี้ชี้ว่าความเชื่อมั่นนั้นสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ช่วยบรรเทาความรู้สึกปวดเท่านั้น แม้กระทั่งความรู้สึกว่าอร่อย รสชาติดี ก็สัมพันธ์กับเรื่องราคาด้วยเหมือนกัน มีการทดลองให้อาสาสมัครมา ๒๐ คนมากินไวน์ ๕ แก้ว เขาได้รับการบอกเล่าว่า ๕ แก้วนี้เป็นไวน์ ๕ ชนิด แต่ที่จริงมี ๓ ชนิดเท่านั้น อีก ๒ แก้วเป็นไวน์ชนิดเดียวกันกับ ๓ แก้วแรก ทุกคนได้รับการบอกเล่าว่าไวน์ ๕ แก้วมีราคาตั้งแต่ ๕ เหรียญ ถึง ๙๐ เหรียญต่อขวด เสร็จแล้วก็ให้ชิมไวน์ คนที่ชิมไวน์ ๕ เหรียญจะรู้สึกว่ารสชาติดีน้อยกว่าไวน์ราคา ๙๐ เหรียญทั้งๆ ที่เป็นไวน์ชนิดเดียวกัน ที่น่าสนใจคือมันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น เพราะเมื่อเขาทำการสแกนสมองด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ ก็พบว่าสมองส่วนที่รับความรู้สึกสบายหรือสุขเวทนา ที่เรียกว่า prefrontal cortex มีปฏิกิริยาตอบสนองในทางเดียวกัน นั่นคือ เมื่อกินไวน์ ๕ เหรียญ อาการของสมองส่วน prefrontal cortex ก็จะสว่างนิดหน่อย แต่เมื่อได้ชิมไวน์ที่เขาคิดว่าราคา ๙๐ เหรียญ สมองส่วนนี้ก็จะสว่างมากขึ้น และไม่ได้เกิดกับคนกินไวน์สมัครเล่นเท่านั้น แม้กระทั่งคนที่เป็นเซียนกินไวน์ เมื่อทำการทดลองแบบนี้ ก็ได้ผลคล้ายกัน

    การทดลองนี้ชี้ว่าความเชื่อนั้นสัมพันธ์กับความรู้สึก ถ้าเชื่อว่าเป็นของแพง ก็รู้สึกว่ามีรสชาติดี แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นของถูก ก็รู้สึกว่ารสชาติไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ไวน์ทั้งสองแก้วนั้นมาจากขวดเดียวกัน

    ประการที่ห้า คือสมาธิ สมาธินั้นสามารถที่จะช่วยเยียวยาความเจ็บปวดได้ คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ท่านเคยดูแลคนไข้คนหนึ่ง เธอ ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี อาการหนักจนกระทั่งไตวายตั้งแต่เด็ก ต้องไปฟอกเลือดเป็นประจำ เธอเคยถูกเจาะไขสันหลังแล้วเจ็บมาก จึงเกลียดหมอและกลัวเข็มฉีดยาอย่างที่สุด เวลาถูกเข็มแทง เธอจะด่าหมอและร้องกรี๊ดจนชัก บางทีก็เกร็งจนหมดสติไป
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    (ต่อ)
    คุณหมอสุมาลีพยายามพูดคุยกับเด็กคนนี้ว่า เธอกลัวอะไร โกรธใคร มีเรื่องเครียดหรือเปล่า อะไร คุณหมอแนะนำให้เด็กทำความเข้าใจกับความกลัวของตัวเอง รวมทั้งหันมาดูความกลัวของตน จนกระทั่งความกลัวลดลง ต่อมาคุณหมอชวนเด็กคนนี้ไปเข้าคอร์สรรมฐาน ฝึกสมาธิติด้วยการเดินจงกรม การตามลมหายใจ ปรากฏว่าเด็กเข้าใจและทำได้ ต่อมาก็หายกลัวเข็ม สามารถมองเข็มขนาดใหญ่แทงเข้าเนื้อตัวเองได้ จุดสำคัญอยู่ที่วันที่ผ่าตัดเปลี่ยนไต เธอแพ้ยาฉีดแก้ปวด จนอาเจียนแผลระบมมาก หมอไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เด็กตั้งสติได้ดีมาก บอกว่าขอพาราเซตามอลเม็ดเดียว พอกินยาเสร็จเธอก็ตามลมหายใจเข้าออก แล้วก็หลับไป จากนั้นหมอก็ผ่าตัดจนสำเร็จเรียบร้อย โดยไม่มีเสียงร้องเจ็บจากเธอเลย นี่เป็นเรื่องที่อัศจรรย์มาก ต่อมาก็กลายเป็นกรณีศึกษาของแพทย์ที่นั่นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งก็อธิบายได้ด้วยสมาธิล้วนๆ

    มีอีกกรณีหนึ่ง คุณหมออมรา มะลิลาเล่าว่า เคยไปเยี่ยมอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งซึ่งมะเร็งลามไปถึงกระดูก คนไข้เจ็บปวดมาก ยาก็เอาไม่อยู่ นอนไม่ได้ ต้องนั่งตัวงอ ตัวซีด มีเหงื่อเม็ดโต ๆคุณหมออมราจึงชวนคนไข้ทำสมาธิ ด้วยการตามลมหายใจ หายใจเข้าก็บริกรรมว่า “พุท” หายใจออกบริกรรมว่า “โธ” ทีแรกนึกว่าคนไข้จะทำได้แค่ ๕ นาที เพราะไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน แต่ปรากฏว่าคนไข้ทำได้นานถึง ๕๐ นาที ระหว่างที่ทำนั้น ความเจ็บปวดทุเลาลงมากจนสามารถนั่งหลังตรงได้ ทำเสร็จก็รู้สึกดีขึ้นมาก ปากเป็นสีชมพู ผิวพรรณมีน้ำมีนวล เหงื่อหายไปหมด คุณหมออมราแปลกใจมากว่า ทำไมถึงนั่งได้นานอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน ก็ได้คำตอบว่า เป็นเพราะเวลาทำงานเขาจะมีสมาธิกับงานมาก พอเอาสมาธินั้นมาใช้กับการตามลมหายใจ จึงสามารถทำได้ไม่ยาก นี้เป็นตัวอย่างว่าสมาธินั้นช่วยบรรเทาปวดได้มาก

    ประการที่หก เป็นวิธีการที่ยากขึ้นอีกหน่อย แต่ก็ใช้ได้ดีก็คือการมีสติ รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น โดยไม่ถูกความรู้สึกนึกคิดครอบงำใจ เช่น เมื่อมีความกลัว ก็เห็นความกลัว แต่ไม่จมอยู่ในความกลัว เมื่อมีความปวด ก็เห็นความปวด ไม่ถลำเข้าไปในความปวดนั้น สตินั้นต่างจากสมาธิ สมาธินั้นบรรเทาปวดเพราะช่วยให้จิตไปจดจ่อสิ่งอื่น ทำให้ลืมความปวด หรือละเลยความปวด เช่น ปวดท้อง แต่จิตไปจดจ่อที่ลมหายใจ พูดอีกอย่างหนึ่งคือสมาธิเป็นการเอาจิตออกจากความปวดหรือออกจากร่างกายส่วนที่กำลังเจ็บปวด นี่เป็นประสบการณ์ที่เราเคยพบมาแล้ว เช่นคนที่เล่นไพ่นานๆ ข้ามวันข้ามคืนโดยไม่รู้สึกปวดหรือเมื่อยเลย แต่พอนั่งพับเพียบฟังพระเทศน์แค่ ๑๕ นาทีก็ปวดเมื่อยต้องขยับขาแล้ว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะตอนที่เล่นไพ่นั้น จิตจดจ่ออยู่ที่ไพ่ จึงไม่รับรู้ความปวดเมื่อย เลิกเล่นเมื่อไหร่ถึงรู้สึกปวดเมื่อย ตรงข้ามกับเวลาฟังพระเทศน์ ใจไม่มีสมาธิจึงรับรู้ความปวดเมื่อยที่ขาได้ง่าย

    สมาธินั้นช่วยพาจิตออกจากความเจ็บปวด แต่สติทำงานอีกแบบหนึ่ง คือไปรับรู้ความปวด โดยไม่ยึดติดความปวดนั้น รู้ว่ากายปวด แต่ใจไม่ปวด เพราะเห็นความปวดเฉย ๆ โดยไม่ยึดว่าความปวดเป็น “ตัวกูของกู” ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากสักหน่อยแต่สามารถทำได้ คุณหมออมราเล่าถึงคนไข้คนหนึ่ง เป็นมะเร็งลำไส้ ปวดทรมานมาก ยาก็เอาไม่อยู่ แต่เนื่องจากเขาเคยเจริญสติมาก่อน จึงเอาสติมาใช้งาน คนไข้คนนี้พูดตามสำนวนของเขาว่า สติเอาจิตมาตั้งที่หัวไหล่ แล้วดูกายที่เจ็บปวด ปรากฏว่า ความทุกข์ทรมานหายใจ จิตเป็นปกติ สงบเย็น แต่พอเผลอสติ จิตไปรวมกับกาย ก็ทุกข์มากเหมือนกับโลกจะแตก จนเมื่อมีสติกลับมา ใจก็แยกออกจากกาย เห็นความปวดกายแต่ใจไม่ทุกข์

    การมีสติช่วยให้เกิดการรับรู้แบบผู้สังเกต ผู้เห็น ไม่ใช่ผู้เป็น เมื่อมีสติ จิตก็รับรู้ความปวดหรือทุกขเวทนา แต่จิตไม่ปวดด้วย เพราะไม่ได้ยึดมันว่าเป็นของเรา พูดอีกอย่างคือ เห็นความปวด แต่ไม่มีผู้ปวด กายปวด แต่จิตไม่ปวด มีแต่ทุกขเวทนา แต่ไม่มีความทุกข์ทรมาน ทุกขเวทนากับทุกข์ทรมาน สองอย่างนี้ต่างกัน ทุกขเวทนาเป็นเรื่องกาย แต่ทุกข์ทรมานเป็นเรื่องใจ ทุกขเวทนาเป็นของจริง แต่ทุกข์ทรมานเกิดจากการปรุงแต่งของใจ เมื่อใจไม่มีสติก็ไปยึดความเจ็บปวดว่าเป็นตัวกูของกู มีตัวกูผู้ปวดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง มีแต่ความปวด ไม่มีผู้ปวด ตัวกูผู้ปวดนั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเมื่อไม่มีสติ

    ความกลัวก็เช่นกัน ถ้ามีสติเห็นความกลัว ความกลัวก็ทำอะไรให้ทุกข์ใจไม่ได้ คุณหมอวิธาน ฐานวุฒ ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ เล่าว่า เวลาทำการผ่าตัดเล็ก เช่นผ่าไฝ คนไข้บางคนจะกลัวมาก กลัวแม้กระทั่งเข็มฉีดยาชา ต้องให้ยานอนหลับก่อนจึงจะฉีดยาชาได้ แต่บางทีก็ไม่ได้ผล เพราะยานอนหลับออกฤทธิ์ตอนที่กลับบ้านแล้ว หมอถามคนไข้ว่าที่กลัวนี่กลัวอะไร คนไข้บอกกลัวเจ็บ พอฉีดยาชาให้ก็ถามว่ากลัวอีกหรือเปล่า คนไข้ก็ยังกลัว ถามว่ากลัวอะไร ฉีดยาชาแล้วไม่มีอะไรน่ากลัว แต่คนไข้ก็ยังกลัวอยู่ ความกลัวมันก็ทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น ทั้งที่ฉีดยาชาเข้าไป คุณหมอก็พยายามอธิบายว่ามันไม่น่ากลัวนะ ฉีดยาชาไม่เจ็บหรอกแต่ก็ไม่สำเร็จ แม้อธิบายว่ามันไม่อันตรายหรอกผ่าตัดเล็กแค่นี้ คนไข้ก็ยังรู้สึกกลัวอยู่นั่นเอง

    สุดท้ายก็ใช้วิธีให้คนไข้สังเกตดูความกลัว แต่ก่อนพอคนไข้บอกว่ากลัว หมอก็บอกว่าไม่ต้องกลัวหรอก แต่ตอนหลังพอคนไข้บอกว่ากลัว หมอก็เปลี่ยนคำพูดใหม่บอกว่า กลัวก็ดีแล้วอย่าพยายามไม่กลัว แต่ให้สังเกตความกลัวของตัว ลองดูว่ากลัวเท่าไรถ้าคะแนนเต็ม ๑๐ จะให้คะแนนความกลัวเท่าไหร่ แล้วก็ให้สังเกตกายของคุณด้วย ว่าปฏิกิริยาทางกายเป็นอย่างไร หัวใจเต้นอย่างไร ลมหายใจเป็นอย่างไร หลังจากสังเกตแล้วต่อมาก็ให้ยอมรับความกลัว ศิโรราบต่อมัน ไม่พยายามผลักไสหรือกดข่มมัน ให้รู้สึกเหมือนว่าคุณไปนั่งอยู่ตรงใจกลางความกลัวเลย หมอวิธานเล่าว่าเมื่อใช้วิธีนี้ ความกลัวของคนไข้ลดลงจาก ๘-๙ เป็น ๔-๕ เลย

    นี้เป็นการใช้สติในการจัดการกับความกลัว คือรับรู้เฉย ๆ โดยไม่หนี หรือเอาใจออกห่างจากความกลัวหรือสิ่งที่เรากลัว เป็นการดูความกลัวโดยไม่เป็นผู้กลัว และยอมรับมันโดยไม่ผลักไสมัน เวลาเราพยายามผลักไสหรือกดข่มอะไรก็ตาม มันจะหายไปชั่วขณะ แล้วก็จะผุดโผล่มา ยิ่งผลักไสความโกรธความเกลียดความปวด ก็จะยิ่งโกรธ ยิ่งเกลียด ยิ่งปวดมากขึ้น แต่เมื่อเรายอมรับมัน ใจก็สงบ และช่วยให้กายสงบด้วย ไม่ใช่สงบต่อความปวดเท่านั้น หากยังช่วยให้เราสงบเมื่อเผชิญกับความตายได้ด้วย

    มีหลายคนที่เมื่อยอมรับความตายได้ ใจก็สงบนิ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เคยไปว่ายน้ำที่สมุยแล้วจู่ ๆ โดนกระแสน้ำซัดออกนอกฝั่งไปเรื่อยๆ เธอกลัวมาก พยายามว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งถูกกระแสน้ำพัดออก ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย เพื่อนเห็นก็เข้าไปช่วยไม่ได้เพราะกลัวถูกกระแสน้ำซัดออกไปด้วย ทีแรกเธอตกใจมาก แต่ตอนหลังพอรู้แน่ว่าจะต้องตายก็ทำใจได้ ตายก็ตาย พอทำใจได้อย่างนั้นใจก็สงบ ไม่ดิ้นรน ลอยคออยู่นิ่ง ๆ ไม่กระเสือกกระสนอีกต่อไป ปรากฏว่าถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดเข้าหาฝั่งเอง เพื่อนก็เลยว่ายมาช่วยเธอ พาเข้าฝั่ง เธอเล่าว่าการที่เธอยอมรับความตายได้ทำให้รอดชีวิตมาได้ ถ้าไม่พร้อมที่จะตาย เธอจะต้องพยายามว่ายเข้าหาฝั่ง ซึ่งในที่สุดก็จะหมดแรง มีหลายคนที่ตายเพราะพยายามว่ายเข้าฝั่งจนหมดแรงในที่สุด

    คนเราเมื่อกลัวตายก็พยายามขัดขืน แต่เมื่อยอมรับมัน ใจก็สงบได้ นี่คือประโยชน์ของสติอาตมาคิดว่าการเผชิญความเจ็บปวดด้วยวิธีนี้ คือการยอมรับความเจ็บปวด และศิโรราบต่อมัน จะทำให้ใจทุกข์ทรมานเพราะความเจ็บปวดน้อยลง ความทุกข์หรือความเจ็บปวดอาจจะหารสองหารสาม ตรงกันข้ามถ้าเราขัดขืน พยายามปฏิเสธ ผลักไสมัน ความทุกข์หรือความเจ็บปวดก็จะคูณสองคูณสาม ความพยายามผลักไสต่อสู้ทำให้ใจทุกข์เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเวลามีความเจ็บปวดเท่านั้น แต่รวมถึงเวลาของหาย อกหัก สูญเสียคนรักด้วย มันเป็นเรื่องเดียวกัน คือยิ่งต่อสู้ยิ่งปฏิเสธก็ยิ่งทุกข์ ความทุกข์คูณสองคูณสามทันที เหมือนกรณีที่อาตมาเล่าถึงความกลัวเวลาถูกจีดยา ถ้ากลัวเข็ม พอเข็มแทงความเจ็บจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่าของคนที่ไม่กลัว แต่ถ้ามีสติเห็นความกลัว รู้ว่าความกลัวเกิดขึ้นโดยไม่ผลักไส ความกลัวก็จะคลายลง ใจก็จะนิ่ง ทำให้ความเจ็บจากการถูกเข็มแทงลดลงด้วย

    ประการที่เจ็ด ที่อาตมาอยากจะเพิ่มคือการสวดมนต์ การสวดมนต์เป็นวิธีการที่ช่วยให้เกิดสมาธิ หรือจะเรียกว่าทำให้จิตเบี่ยงเบนออกจากความเจ็บปวด มารับรู้สิ่งที่ดีงามหรือสิ่งที่ศรัทธา ทำให้ใจสงบได้ อาจจะมีเอ็นโดรฟินหลั่งมา ช่วยให้ความเจ็บปวดทุเลาลง ถ้าเรามีความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธ์ สวดมนต์อยู่เสมอ ก็จะช่วยบรรเทาความปวดได้ ถึงแม้ไม่ได้สวดมนต์เอง แต่ให้คนอื่นสวดให้ ความปวดก็ลดลงได้เช่นกัน

    มีการทดลองซึ่งมีชื่อมาก คือการให้คนจากศาสนาต่างๆ กัน ยิว พุทธ คริสต์ โปรแตสแตนท์ สวดมนต์ให้แก่คนไข้ โดยรู้ว่าคนไข้เป็นใครชื่ออะไร อยู่ที่ไหน แต่ไม่รู้จักกัน แล้วก็น้อมจิตส่งใจไปให้ ปรากฏว่าคนไข้เหล่านี้อาการดีขึ้น เขาแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกเยียวยาด้วยการบำบัดรักษาทางกาย กลุ่มที่สองบำบัดด้วยเสียงเพลง แล้วก็การสร้างจินตภาพถึงสิ่งที่ดีงาม และกลุ่มที่สามโดยการสวดมนต์ให้แก่คนไข้ พบว่ากลุ่มที่สามมีการตอบสนองที่ดีขึ้นกว่าสองกลุ่มแรกด้วยซ้ำ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไปว่าเป็นเพราะเหตุใด

    ทั้งหมดนี้การแพทย์ยังสงสัยอยู่ว่าเป็นไปได้อย่างไร ทำงานอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะแม้กระทั่งยานอนหลับ หรือยาสลบ ทุกวันนี้เราก็ยังรู้ไม่ชัดว่ามันทำงานได้อย่างไร มียาหลายตัวมากที่เราไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร แต่มันสามารถเยียวยาและรักษาให้หายได้ ทำนองเดียวกันกับวิธีการทางจิตใจ หรือบางครั้งเรียกว่าวิธีการทางจิตวิญญาณ วิธีการทางศาสนา ทุกวันนี้มีหลายกรณีที่เราไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร ต่อระบบประสาท ต่อร่างกายของเรา แต่ที่แน่ๆ คือมันได้ผล สามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้

    วิธีการทางจิตใจที่อาตมาประมวลมาข้างต้น ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดความเจ็บปวดได้ หลายวิธีการก็เป็นสิ่งที่ทุกท่านอาจจะได้ยินได้ฟังจากการบรรยายที่ผ่านมา ได้ประสบพบเห็นกับตัวเองแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีอะไรใหม่ อาตมาเพียงแต่ประมวลเพื่อให้เห็นภาพได้กว้างขึ้น เรื่องการบำบัดหรือเยียวยาความปวดนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของหมอ ของยา หรือของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของตัวผู้ป่วยเองด้วย ซึ่งหากวางจิตวางใจให้ถูกต้อง มีการเจริญสติ การทำสมาธิ การสวดมนต์ การรู้จักให้อภัยหรือว่าการมองโลกในแง่ดี ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ก็ช่วยให้ความปวดบรรเทาลงได้

    อาตมาใช้เวลาพอสมควรแล้วก็ขอยุติเพียงเท่านี้

    คำถาม

    เป็นผู้พยายามปฏิบัติระยะเริ่มต้น ก็เคยปฏิบัติบ้าง อาศัยฟังจากครูบาอาจารย์บ้าง จากซีดีบ้างก็มีพระอาจารย์บางท่านพยายามสอนว่าเวลานั่งสมาธิแล้วเจ็บปวด เราก็ให้ทนไป แล้วถึงจุดหนึ่งแล้วก็ให้แยกจิตออกมาดูกายแล้วก็จะคลายเจ็บ แล้วก็พยายามทำ ในชีวิตเคยประสบอย่างนั้นครั้งเดียว ว่าเรานั่งจนเจ็บมากๆ แต่ก็ไม่ลุก แล้วก็หลุดจากความเจ็บไปแป๊บนึง แล้วพอมันหลุดไปแป๊บหนึ่งเราก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างที่อาจารย์บอกเลย พอคิดได้อย่างนี้ก็กลับมาเจ็บเหมือนเดิม ครั้งสองครั้งในชีวิต ผมก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยากมาก ที่อาจารย์ว่ามีคนปวดมากแล้วก็เอาจิตมาไว้ที่ไหล่แล้วก็หายปวด อาจารย์ครับในฐานะที่เราเป็นแพทย์แล้วมีเวลาไม่มาก เรามีวิธีแยกกายดูจิตอย่างไร ?

    พระไพศาล วิธีดูจิตหรือการการเจริญสติเป็นเรื่องไม่ง่าย ถ้าไม่ได้ฝึกฝนมาก่อน จะทำได้ยาก อาตมาจึงพูดเป็นเรื่องท้าย ๆ ในเบื้องต้น สิ่งที่น่าทำก่อนก็คือ การให้กำลังใจเขา ทำให้เขารู้สึกดี เช่น ให้ความรักความเมตตาแก่เขา ความมีน้ำใจของเราเป็นสิ่งแรกที่ผู้ป่วยสามารถสัมผัสได้ ถ้าเริ่มต้นตรงนี้ก่อน ก็จะช่วยให้เขาคลายความกังวล จากนั้นก็ควรแนะนำให้เขาลองสังเกตความเจ็บความปวดดู แต่ไม่ต้องถึงกับแยกกายแยกจิตออกมา เพราะศัพท์นี้อาจทำให้ดูเป็นเรื่องยาก แต่ให้เขาสังเกตดูกาย ดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับกาย เช่น ลมหายใจ กาเรต้นของหัวใจ รวมทั้งสังเกตดูอารมณ์ความรู้สึกของตน ทีแรก เขาอาจจะยังทำได้ไม่ต่อเนื่อง หรือทำไม่ค่อยได้ เช่น ทำไปสักพักก็ไปปักตรึงอยู่กับความเจ็บปวดนั้น แต่หากบ่อยๆ ก็จะทำได้คล่องขึ้น อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่าต้องใช้หลายวิธี อย่างคนบางคน เขามีความโกรธเกลียดกังวล เขามีความทุกข์ใจ เราก็ต้องช่วยเขาหาด้วยว่าเขามีอะไรอยู่ในใจหรือเปล่า เพราะถ้ามีความกังวล ความเครียด ก็จะทุกข์มากขึ้น ปวดมากขึ้น

    เดี๋ยวนี้คนมีความเครียดความกังวลมาก ทำให้เกิดอาการอย่างหนึ่ง คือใจสั่น หายใจไม่เต็มที่ หนึ่งในสี่ของคนที่ไปหาหมอ จะมีอาการพวกนี้มาก เกิดจากความกังวลเรื่องหนี้สิน เรื่องลูก เรื่องสามี ถ้าเราเข้าใจและพยายามคุยกับเขา คุยกับเขาไม่ใช่แต่เรื่องอาการทางกาย แต่คุยเรื่องอื่นด้วย เหมือนกับที่อาตมาเล่าถึงหมอที่ขอให้คนไข้พูดเรื่องชีวิตของเขา แทนที่จะพูดแต่เรื่องอาการ บางทีชีวิตเขาอาจมีปมบางอย่าง ซึ่งทำให้เจ็บปวดมากขึ้น เป็นความเจ็บปวดเพราะปัจจัยที่เรียกว่า psychosocial ไม่ใช่ physical เลยก็ได้ ตรงนี้ถ้าเราทำให้เขาคลายความรู้สึกดังกล่าวก็จะช่วยได้มาก คือมันมีหลายวิธี แต่อยากจะแนะว่าการดูความเจ็บปวดก็ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนไป อย่างที่คุณหมอวิธานแนะนำคนไข้ เริ่มจากการให้คะแนนความกลัว วิธีนี้ทำให้จิตคอยสังเกตความกลัว ไม่จมอยู่กับความกลัว แต่เราเป็นผู้ดูมัน แล้วก็ลองยอมรับมัน วิธีนี้ใช้กับความปวดได้ด้วย แต่ความปวดจะยากกว่า การดูความกลัวกับการดูความปวดนั้นต่างกัน ดูความกลัวอาจจะง่ายกว่าดูความปวด เพราะความปวดมีแรงดึงดูดมากกว่า

    ทราบมาว่าความกลัวกับความโกรธเป็นอารมณ์ที่ค่อนข้างจะลำบากในการดูแล ซึ่งเมื่อครู่นี้ ท่านก็ได้อธิบายเพิ่มเติมแล้ว แต่ทีนี้บางทีเราเจอผู้ป่วยที่มีปัญหาคาใจเรื่องการให้อภัย แล้วตัวเราเองมีเวลาเจอกับผู้ป่วยไม่มาก ด้วยเทคนิคง่ายๆ พระคุณเจ้าจะให้คำแนะนำอย่างไร ในเรื่องการให้อภัยผู้อื่นเพื่อลดปัญหาทางกายหรือว่าอาการปวดที่ตัวเองมี ?

    พระไพศาล ควรแนะให้เขาลองแผ่เมตตา การแผ่เมตตาควรเริ่มจากคนที่เรารักก่อนเพราะทำได้ง่าย จากนั้นก็แผ่เมตตาให้แก่คนที่ห่างออกไปหน่อย หรือแผ่เมตตาแก่คนที่เรารู้สึกเฉยๆ แล้วค่อยแผ่เมตตาให้แก่คนที่เรารู้สึกลบ แล้วให้เขาสังเกตว่า เวลานึกถึงคนที่รัก ความรู้สึกเป็นอย่างไร เวลานึกถึงคนที่โกรธ ความรู้สึกเป็นอย่างไร ไม่นานเขาจะรู้เลยว่าความโกรธความเกลียดมันเป็นโทษต่อเขา ถ้าเขาไม่อยากเป็นทุกข์ เขาก็ควรปล่อยวางความโกรธความเกลียด เราอาจช่วยเขาด้วย คือช่วยให้เขาเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณโกรธเกลียดใครสักคน อยากจะทำร้ายใครสักคน คนที่ถูกทำร้ายเป็นคนแรกคือคุณ ทันทีที่คุณแช่งใครว่าขอให้แกไปตกนรก คนที่ตกนรกคนแรกคือเรา พอเขาเห็นอย่างนี้ ก็อยากอยากบรรเทาความโกรธเกลียด เกิดแรงจูงใจที่จะให้อภัย หลายคนบอกว่าที่ฉันให้อภัยเพราะฉันรู้ว่าฉันโกรธต่อไปไม่ได้แล้ว ไม่อย่างนั้นฉันจะแย่ ไม่ได้ให้อภัยเพราะว่ารักเขานะ แต่ให้อภัยเพราะตัวเองทุกข์จนทนไม่ไหวแล้ว ก็เลยให้อภัย ต้องเป็นขั้นตอนอย่างนี้ หากให้เขานึกถึงตัวเองก่อน เอาประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง อาตมาคิดว่าการให้อภัยก็จะทำได้ง่ายขึ้น
    :- https://visalo.org/article/D_dhammachatBumbud10.html
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    BuddhaSunrise.jpg
    ความคิดที่อันตราย

    พระไพศาล วิสาโล
    ในการบรรยายคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับคำถามจากแพทย์หญิงท่านหนึ่งว่า หากผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต เธอควรทำอย่างไร เนื่องจากมีผู้เตือนว่า หากเธอช่วยเหลือเขา จะเป็นการแทรกแซงกรรมของเขา การกระทำของเธอนั้นแม้เป็นบุญ ก็เป็น “บุญสีดำ” ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อเธอ

    แม้ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเรื่อง “บุญสีดำ”มาก่อน (คุ้นแต่คำว่า กรรมดำ กรรมขาว) แต่ไม่รู้สึกแปลกใจกับความเห็นดังกล่าว เนื่องจากระยะหลังได้ยินบ่อยขึ้น ก่อนหน้านี้ก็ได้ยินอาจารย์พยาบาลท่านหนึ่งพูดว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นอาจทำให้ “เจ้ากรรมนายเวร”ของเขาไม่พอใจ และมาทำร้ายเราได้ เธอมีความเห็นว่า คนใกล้ตายนั้นกำลังชดใช้กรรม ดังนั้นจึงควรปล่อยให้เขารับกรรมไป เธอคงหมายความต่อไปว่า หากเขายังไม่หมดบุญหมดกรรม ก็คงยังไม่ตายง่าย ๆ

    ความคิดที่ว่า คนใกล้ตายนั้นกำลังชดใช้กรรม ดังนั้นเราจึงควรปล่อยเขาไป (ตามบุญตามกรรม) ไม่ควรยื่นมือไปช่วยเหลือเขา เป็นความคิดที่อันตรายมาก เพราะถ้าเห็นด้วยกับความคิดนี้ ต่อไปเมื่อเห็นใครกำลังจมน้ำตาย เราก็ไม่ควรไปช่วยเขา เห็นคนประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน นอนรอความตาย ก็ไม่ควรพาเขาส่งโรงพยาบาล เห็นใครที่กำลังตายเพราะน้ำท่วมไฟไหม้ ก็ต้องปล่อยเขาไป ถือเสียว่าเป็นกรรมของสัตว์

    ถ้าคิดต่อไปตามตรรกะของความเชื่อดังกล่าว ก็หมายความว่า ใครที่กำลังประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนแม้จะยังไม่ใกล้ตาย เราก็ไม่ควรช่วยเขา เพราะเขากำลังใช้กรรม(ที่อาจทำไว้ในอดีตชาติ) หากเห็นผู้หญิงกำลังถูกฉุดคร่าอนาจารหรือกระทำชำเรา ก็ควรนิ่งเฉยหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เห็นคนหิวโหย หรือประสบภัยพิบัติ ก็ต้องปล่อยเขาให้เขาเผชิญทุกข์ตามลำพัง ความคิดดังกล่าวถ้ามองให้สุดสาย ก็เห็นได้ไม่ยากว่า ถ้าคนไทยคิดแบบนี้กันหมด เมืองไทยก็เป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นดินแดนอนารยะสมบูรณ์แบบ เพราะผู้คนอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไม่มีความเมตตาปรานีต่อกันเลย

    แม้จะไม่มีความรู้ทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะเรื่องกฎแห่งกรรมเลย ก็น่าจะเห็นได้ไม่ยากว่าความคิดดังกล่าวมีจุดอ่อนอย่างมาก ใครก็ตามที่มีความคิดดังกล่าว ลองนึกภาพว่าหากลูกสาว หรือน้องสาวของตน ถูกฉุดคร่าอนาจารหรือทำร้าย ถ้ามีคนเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา คุณอยากให้คนเหล่านั้นนิ่งเฉยหรือไม่ และหากเขานิ่งดูดาย โดยให้เหตุผลว่า ลูกสาวหรือน้องสาวของคุณกำลังใช้กรรม จึงไม่อยากแทรกแซงกรรม คุณจะรู้สึกกับคนเหล่านั้นอย่างไร จะว่าไปแล้วไม่ต้องคิดให้ไกลตัว คนที่มีความคิดดังกล่าว หากเห็นลูกของตนกำลังถูกทำร้ายอยู่ต่อหน้า คุณจะอยู่นิ่งเฉยเพราะเห็นว่าลูกกำลังชดใช้กรรมหรือไม่

    ถ้าคุณไม่ยอมนิ่งเฉย อีกทั้งไม่อยากให้ใครนิ่งเฉยปล่อยให้ลูกของคุณถูกทำร้ายด้วยเหตุผล ดังกล่าว ควรหรือไม่ที่คุณจะนิ่งเฉยเวลาเห็นลูกของคนอื่นเดือดร้อนหรือกำลังจะตายด้วยเหตุผลเดียวกัน

    ความคิดดังกล่าวนอกจากจะทำให้ผู้คนไม่อยากเป็นพลเมืองดีแล้ว ยังทำให้คนไทยไม่อยากทำหน้าที่ของตนให้ถึงที่สุดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ช่วยชีวิตผู้อื่น เช่น หมอ พยาบาล ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากความคิดเช่นนี้แพร่หลายในหมู่หมอและพยาบาล อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย (ที่จริงอาจต้องถามต่อไปว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับอาชีพหมอและพยาบาล เพราะในเมื่อเป็นอาชีพที่ต้อง “เสี่ยง”กับการถูกเจ้ากรรมนายเวรหรือ “บุญสีดำ”เล่นงาน จะมีอาชีพนี้ทำไม สู้ไปเป็นวิศวกร ทนายความ หรือนักร้องนักแสดงไม่ดีกว่าหรือ)

    ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความคิดดังกล่าวถูกขยายความให้ครอบคลุมไปถึงความพยายามทุกอย่างที่เป็นการช่วยชีวิตผู้คน แม้จะไม่ใช่การลงมือช่วยด้วยตัวเอง แต่เป็นการช่วยในเชิงนโยบาย ก็ถือว่าเป็นการแทรกแซงกรรม ที่ส่งผลให้ผู้ช่วยเหลือเดือดร้อนด้วย เมื่อสามปีที่แล้ว แพทย์ใหญ่ท่านหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็มีการพูดกันในหมู่แพทย์จำนวนหนึ่งว่าเป็นเพราะท่านผลักดันนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรคจนสำเร็จ ทำให้ผู้คนจำนวนมากรอดตาย เจ้ากรรมนายเวรของคนเหล่านั้นจึงหันมาทำร้ายท่านแทน

    ทุกวันนี้ “เจ้ากรรมนายเวร” เป็นสิ่งที่คนไทยสะพรึงกลัวกันมาก และถูกมองว่าเป็นต้นเหตุแห่งความวิบัตินานาประการของผู้คน แต่ไม่เคยมียุคใดที่ฤทธานุภาพของเจ้ากรรมนายเวรจะขยายขอบเขตกว้างขวางอย่างทุกวันนี้ จนสามารถทำร้ายคนดีที่ช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีพฤติกรรมไม่ต่างจากเจ้าพ่อหรือนักเลงที่หากแก้แค้นศัตรูของตนไม่ได้ ก็หันมาเล่นงานคนที่ช่วยเหลือศัตรูของตน

    ความคิดแบบนี้จัดว่าเป็นของใหม่ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง และไม่สอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนา จริงอยู่พุทธศาสนาสอนว่า ความชั่วเมื่อได้ทำลงไป ย่อมส่งผลให้ประสบความทุกข์ร้อน หากทำร้ายใครก็ย่อมประสบผลร้ายในเวลาต่อมา ในชาดกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้เคยมีเวรมีกรรมหรือถูกกระทำในชาติก่อน แล้วมาแก้แค้นกันในชาติถัดมา นั่นคือที่มาของคำว่า เจ้ากรรมนายเวร แต่เจ้ากรรมนายเวรในแง่นี้มิใช่อำนาจมืดที่ทรงฤทธานุภาพและเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวพร้อมจะทำร้ายใครก็ตามที่ขัดขวางการแก้แค้นของตนอย่างที่เข้าใจในคนบางกลุ่มเวลานี้

    แนวคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวร หากเชื่อแล้วทำให้คนกลัวบาป ไม่กล้าเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเชื่อแล้วทำให้นิ่งดูดาย หรือไม่กล้าช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่ง อีกทั้งยังขัดกับคำสอนทางพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องเมตตากรุณา และการทำความดี เพราะ “ทำดีย่อมได้ดี” หากทำความดี อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ได้รับผลตอบแทนคือประสบเคราะห์จากกรรมนั้น ก็เท่ากับขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

    การช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบความทุกข์ยากนั้น หาใช่การแทรกแซงกรรมหรือกฎแห่งกรรมไม่ เพราะถึงอย่างไรกฎแห่งกรรมก็ไม่มีใครสามารถแทรกแซงหรือขัดขวางได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอนตายตัว จริงอยู่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัย แต่ก็ไม่สมควรที่เราจะเหมารวมว่า ใครก็ตามที่ประสบความทุกข์ร้อน นั่นเป็นเพราะเขาเคยทำความไม่ดีในอดีตชาติ ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้เขารับกรรมไป ใครที่มีความเชื่อเช่นนั้น ก็แสดงว่ากำลังสมาทานลัทธินอกพุทธศาสนาที่ชื่อ “ลัทธิกรรมเก่า” (คือความเชื่อที่ว่า สิ่งใดก็ตามที่ประสบ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน)

    คนไทยจำนวนมากสมาทานลัทธิกรรมเก่า (ปุพเพกตเหตุวาท) โดยสำคัญผิดว่าเป็นคำสอนทางพุทธศาสนา ดังหลายคนเชื่อว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นผลแห่งกรรมในอดีตชาติ (ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าคนเราเจ็บป่วยด้วยหลายสาเหตุ ไม่ใช่เพราะกรรมอย่างเดียว) แต่น่าแปลกก็ตรงที่ว่าคนที่มีความเชื่อแบบนี้ เวลาล้มป่วยแทนที่จะอยู่นิ่งเฉย กลับแสวงหาการรักษาพยาบาล หรือไม่ก็พยายามเยียวยาตนเอง โดยไม่คิดว่าเป็นการแทรกแซงกรรมแม้แต่น้อย แต่เหตุใดเวลาคนอื่นประสบความทุกข์ยาก จึงกลับวางเฉย ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการแทรกแซงกรรมของเขา

    เมื่อเห็นคนประสบความทุกข์ยาก ปุถุชนอย่างเราย่อมไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขากำลังรับผลกรรมจากอดีตชาติหรือไม่ แต่ถึงรู้ก็สมควรที่เราจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ เพราะนั่นเป็นคุณธรรมและหน้าที่ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน มองอย่างเห็นแก่ตัว หากเราไม่ทำ นั่นก็แสดงว่าเรากำลังสร้างกรรมใหม่ที่เป็นอกุศลกรรมให้แก่ตนเอง ใครจะไปรู้ว่าในวันหน้าหากเราประสบเหตุร้ายแบบเดียวกัน คนอื่นอาจเมินเฉยอย่างเดียวกับที่เราเคยทำกับผู้อื่น หากเราไม่ปรารถนาให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา ก็ไม่ควรทำสิ่งเดียวกันนี้กับผู้อื่น

    จริงอยู่ผู้ประสบเภทภัยหรือผู้ป่วยใกล้ตาย อาจกำลังรับผลแห่งกรรมหนักที่เคยทำไว้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราควรจะนิ่งดูดาย แต่หากทำเต็มที่แล้ว ไม่สามารถเยียวยารักษาหรือช่วยเหลือได้ ก็ต้องทำใจปล่อยวาง ถึงตอนนั้นจะบอกว่าเป็นกรรมของเขา เราไม่อาจฝืนกรรมของเขาได้ ก็มิใช่เรื่องเสียหาย ดีกว่าที่จะวางเฉยแต่แรกโดยอ้างว่าเป็นกรรมของสัตว์

    พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเมตตากรุณา กฎแห่งกรรมคือความจริงที่พระพุทธองค์นำมาสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทำความดี หนีความชั่ว หมั่นสร้างบุญกุศล และเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น รวมทั้งฝึกฝนจิตใจเพื่อให้ลดละความเห็นแก่ตัว จนหลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในตัวตน ทำให้มีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นับวันกฎแห่งกรรมถูกใช้เพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว อยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ขณะที่บุญกุศลถูกตีความเพื่อส่งเสริมความโลภ (เช่น ทำบุญเพื่อให้ถูกหวยรวยพนัน หรือถวาย ๑๐๐ บาทแต่หวังรวยเป็นล้าน) มุ่งเอาเข้าตัวยิ่งกว่าจะเผื่อแผ่ผู้อื่น

    ทัศนคติดังกล่าวลุกลามไปจนถึงขั้นมีความเชื่อในคนบางกลุ่มว่า เราไม่ควรแผ่ส่วนบุญให้ใครมากนัก เพราะจะทำให้บุญของเราเหลือน้อยลง (คนที่คิดเช่นนี้ไม่เข้าใจแม้กระทั่งคำสอนพื้นฐานเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ปัตติทานมัย หรือการทำบุญด้วยการการแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่น ซึ่งหมายความว่ายิ่งแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่น เราก็ยิ่งได้บุญมากขึ้น)

    สัตว์ที่กำลังรอถูกเชือด หากเราช่วยไถ่ชีวิตเขาออกมาได้ ย่อมถือว่าเป็นบุญฉันใด การช่วยเหลือผู้ใกล้ตายให้มีชีวิตรอด หรือจากไปอย่างสงบ ก็ถือว่าเป็นกุศลฉันนั้น ชาวพุทธไม่มีความคิดว่าการไถ่ชีวิตสัตว์เป็นการแทรกแซงกรรมฉันใด ก็ไม่ควรมองว่าการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์เป็นการขัดขวางกฎแห่งกรรมฉันนั้น
    :- https://visalo.org/article/matichon255311.htm
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    เลิกพิธีกรรมเสียทีดีไหม ?
    พระไพศาล วิสาโล
    เจ้าอาวาสท่านหนึ่งพูดไว้น่าคิดว่า “เวลาจะทำดี ทำไมต้องมีพิธีกรรมเยอะแยะ เวลาคนที่ทำชั่วไม่เห็นจะต้องมีพิธีกรรมอะไรเลย”

    หลายคนพอได้ยินก็นึกถึงการทำบุญขึ้นมาทันที เพราะเวลาจะถวายของให้วัดแต่ละครั้ง ก็ต้องผ่านพิธีกรรมหลายอย่าง ถ้าไม่มีการรับศีล อย่างน้อยก็ต้องกล่าวคำถวายทั้งภาษาบาลีและไทย เสร็จแล้วก็ต้องกรวดน้ำรับพร แต่เวลาคนจะขโมยของวัด กลับทำโดยไม่ต้องสนใจพิธีรีตองใด ๆ

    อันที่จริงคำพูดของท่านเจ้าอาวาสคงไม่ได้เจาะจงเฉพาะพิธีกรรมในวัดเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงวงการอื่นด้วย เช่นในวงราชการก็มักจะมีเสียงบ่นว่าเวลาจะทำประโยชน์แก่ประชาชนทำไมจึงช่างยุ่งยากนัก ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย มีระเบียบหยุมหยิมเต็มไปหมด แต่เวลาจะคอร์รัปชั่น กลับทำได้สะดวกดายนัก

    เดี๋ยวนี้พิธีกรรมเฟ้อไปทุกหนแห่ง จะประชุมก็ต้องมีพิธีเปิด-ปิด แม้กระทั่งจะปลูกป่าก็หนีพิธีกรรมไม่พ้น การที่มีพิธีกรรมเกิดขึ้นมากมายจนรุงรังนั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคนสมัยนี้ไม่รู้จักพิธีกรรมกันแล้ว คือเข้าใจว่าพิธีกรรมเป็นสิ่งที่ต้องมีต้องทำเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนการเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่ามันมีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายอะไร ดังนั้นจึงมักทำสักแต่ว่าให้เสร็จหรือผ่านไป ให้ได้ชื่อว่าทำ จนเกิดสำนวนว่า “ทำพอเป็นพิธี” ซึ่งอาจจัดว่าเป็นความติดยึดที่เกิดจากความหลงอย่างหนึ่ง ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า “สีลัพพตุปาทาน”

    บางคนอาจสงสัยขึ้นมาว่า ในเมื่อพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับการการติดยึดในพิธีกรรม เหตุใดจึงมีพิธีกรรมมากมายในพุทธศาสนา

    ตอบอย่างสั้นที่สุดก็คือ เพื่อให้ผู้กระทำได้รับประโยชน์ครบถ้วนสมบูรณ์นั้นเอง แต่ก่อนจะขยายความก็ต้องอธิบายในที่นี้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้มองว่าพิธีกรรมเป็นสิ่งที่ “ต้อง”ทำ ยิ่งเวลาจะทำความดีด้วย แล้วพิธีกรรมก็หาใช่สิ่งจำเป็นไม่ เช่นเดียวกับการหาฤกษ์หายาม แต่สาเหตุที่มีพิธีกรรมขึ้นมาก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการทำความดีนั้นให้เกิดผลเต็มที่ หรือเพื่อให้ผู้ทำความดีนั้นได้รับผลแห่งความดีของตนอย่างครบถ้วน

    ยกตัวอย่างเวลาจะทำบุญด้วยการถวายของให้วัด เช่น จีวร อาหาร หรือเครื่องใช้ไม้สอย ทางพุทธศาสนาถือว่า นอกจากประโยชน์ในทางกายหรือทางวัตถุแล้ว ควรมีประโยชน์อย่างอื่นเกิดขึ้นจากการบำเพ็ญบุญดังกล่าวด้วย ได้แก่ประโยชน์ทางจิตใจ คือ ความสงบ ความปราโมทย์ แช่มชื่นเบิกบาน รวมทั้งมีปัญญาเพิ่มพูนขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกำหนดพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อน้อมนำจิตใจของผู้ถวายให้บังเกิดความสงบเป็นเบื้องต้น เช่น มีการบูชาคุณพระรัตนตรัย ตั้งนโม ๓ จบ เป็นต้น

    ลองนึกถึงคนที่เพิ่งเสร็จจากการกระวีกระวาดจัดเตรียมของถวายพระ ตอนนั้นจิตอาจยังวุ่นอยู่ ไม่มีสมาธิ ยิ่งมากันเป็นกลุ่ม ก็มักส่งเสียงดัง หาความสงบได้ยาก แต่พอมีคนขึ้น “อรหัง สัมมา สัมพุทโธ” ก็เท่ากับเป็นอาณัติสัญญาณให้ทุกคนสงบเสียง บรรยากาศที่สงบช่วยน้อมใจทุกคนให้มีสมาธิ เมื่อมีสมาธิหรือความสงบใจแล้ว ความแช่มชื่นเบิกบาน รวมทั้งความปีติอันเนื่องจากการทำความดีนั้น ก็บังเกิดขึ้นโดยง่าย

    และเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางใจเพิ่มพูนขึ้น พระท่านจึงนอกจากจะกล่าวอนุโมทนาให้ผู้ถวายมีความแช่มชื่นในบุญกุศลที่บำเพ็ญแล้ว ยังให้ข้อคิดเพื่อเป็นคติในการดำเนินชีวิตที่ดีงามและผาสุก เป็นการเพิ่มพูนสัมมาทิฏฐิ หรือพัฒนาปัญญา

    นอกจากผลทางจิตใจดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าพิธีกรรมยังช่วยในการสร้างความพร้อมเพรียงแก่หมู่คณะ ก่อให้เกิดความสามัคคีและกระชับความสัมพันธ์ เรียกว่าเกิดประโยชน์ในทางสังคม ยังไม่ต้องพูดถึงการสมาทานศีล ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้บุคคลมีพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงาม ไม่ก่อปัญหาแก่ผู้อื่นและชุมชน

    หากพิจารณาให้รอบด้านแล้ว จะเห็นว่าพิธีกรรมทางพุทธศาสนามุ่งประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านเสมอ ได้แก่ ด้านวัตถุหรือความเป็นอยู่ ด้านสังคม (ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมและความสัมพันธ์) ด้านจิต และด้านปัญญา ทั้ง ๔ ด้านล้วนมีคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตและสังคม อันไม่อาจขาดด้านใดด้านหนึ่งไปได้ พูดง่าย ๆ คือพิธีกรรมทางพุทธศาสนามุ่งให้เกิดประโยชน์ครบถ้วนอย่างเป็นองค์รวม

    ไม่ว่าพิธีกรรมในงานถวายผ้าป่า ผ้ากฐิน การทำบุญบ้าน หรืองานศพ ล้วนคำนึงถึงประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านเสมอ คือนอกจากจะมีการถวายปัจจัย (ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์แต่พระเท่านั้น หากยังส่งผลถึงชุมชนด้วย) ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านมาทำงานและรื่นเริงร่วมกัน (เช่น เตรียมของถวาย ทำอาหารหรือจัดสถานที่ด้วยกัน) ตลอดจนมีพิธีกรรมเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบ ปีติ (หรือผ่อนคลายจากทุกข์โศก) รวมทั้งการเทศนาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในชีวิต

    ประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านนี้เรายังเห็นได้จากประเพณีพิธีกรรมของชุมชน เช่น ลอยกระทง บุญบั้งไฟ กล่าวคือ ไม่เพียงแต่มีจุดมุ่งหมายอนุรักษ์ลำน้ำหรือเพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่โดยตรงเท่านั้น ยังเอื้อให้เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวในชุมชน และมีกิจกรรมทางศาสนาเพื่อให้เกิดความมั่นใจในชีวิต รวมทั้งมีการปลูกฝังตอกย้ำทัศนคติที่เคารพธรรมชาติ และจิตสำนึกต่อชุมชน ซึ่งล้วนเป็นคติที่สำคัญในการดำเนินชีวิต

    อย่างไรก็ตามประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านของพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ถูกมองข้ามไปมากในปัจจุบัน ผู้คนพาติดยึดกับรูปแบบ ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จนรูปแบบของพิธีกรรมไม่สามารถส่งเสริมประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านได้ครบถ้วน ผลก็คือ บ่อยครั้งพิธีกรรมกลับกลายเป็นโทษแทนที่จะเป็นคุณ เช่น พิธีแห่เทียนเข้าพรรษา แทนที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน กลับส่งเสริมธุรกิจของนายทุนในเมือง ขณะที่ชาวบ้านมีความเป็นอยู่แย่ลง ประเพณีทอดผ้าป่าบ่อยครั้งก็ลงเอยด้วยการทะเลาะวิวาทเพราะเมาสุราอาละวาด ในขณะที่พิธีในงานศพก็หาได้ช่วยให้ผู้ร่วมงานเกิดอนุสติหรือคติชีวิตไม่ เพราะไม่มีการแสดงธรรมที่สื่อกับผู้คน โดยที่ประโยชน์ในทางวัตถุ ก็หาได้เกิดขึ้นกับชุมชน (โดยผ่านวัด)ไม่ เพราะเงินถ่ายเทไปเข้ากระเป๋าพ่อค้าแม่ขายในกิจการงานศพแทน

    พิธีกรรมไม่ใช่สิ่งที่ควรเลิก หากควรปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัย โดยมุ่งประโยชน์ทั้ง ๔ ประการดังที่กล่าวมา เช่น ปรับปรุงพิธีรับศีลเพื่อให้ผู้คนตระหนักว่าศีลมีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมอย่างไร หรือประยุกต์พิธีทำบุญในโอกาสต่าง ๆ เพื่อช่วยน้อมจิตของสาธุชนให้มีความสงบมากขึ้น และยิ่งดีมากขึ้นหากสามารถส่งเสริมให้หมู่คณะเกิดสามัคคี เช่น มีการทำกิจกรรมร่วมกัน (มิใช่มาร่วมพิธีเพียงแค่พนมมือทื่อ ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน)

    คงไม่มีพิธีกรรมใดในเวลานี้ที่สมควรจะปรับปรุงยิ่งกว่าพิธีศพโดยเฉพาะในเมือง อย่างแรกที่ควรทำคือทำให้พิธีต่าง ๆ สื่อกับผู้คนมากขึ้น เช่น นอกจากการนิมนต์พระมาเทศน์แล้ว ควรนึกถึงการจัดบรรยายหรือเสวนาในงานศพด้วย จะเป็นเรื่องธรรมะล้วน ๆ เรื่องสุขภาพ หรือคติชีวิตจากประวัติของผู้ตาย ก็ล้วนเป็นประโยชน์และน่าจะได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงานศพ แทนที่จะคิดมาสังสันทน์พูดคุยกันเท่านั้น และที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการทำให้งานศพเป็นโอกาสในการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น การบริจาคเงินในนามของผู้ตายเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือผู้ยากไร้ สนับสนุนการศึกษาของสงฆ์ หรือสนับสนุนพระสงฆ์ที่ทำงานสงเคราะห์ชุมชน เป็นต้น

    บุญกุศลนั้นมิใช่สิ่งที่เป็นนามธรรมซึ่งคอยเราอยู่ในภพหน้าเท่านั้น หากยังปรากฏอยู่ในภพนี้และแสดงตัวอยู่ในหลายรูปลักษณ์ ทั้งที่จับต้องหรือใช้สอยได้ สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ และยึดเหนี่ยวผู้คนให้กลมเกลียวกัน พิธีกรรมที่กอปรด้วยปัญญาคือบ่อเกิดแห่งบุญกุศลดังกล่าว ดังนั้นจึงควรที่เราจะช่วยกันรักษาและสร้างสรรค์พิธีกรรมดังกล่าวให้ยั่งยืนและเพิ่มพูนสืบไปอย่างสมสมัย
    :- https://visalo.org/article/matichon254404.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    Buddhaandlotusamazon.jpg
    อีกครึ่งหนึ่งของพุทธศาสนาที่หายไป

    พระไพศาล วิสาโล
    คนต่างชาติที่ได้ยินกิตติศัพท์คนไทยว่ามีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และขี้เกรงใจ พอได้มาเมืองไทยจริง ๆ หลายคนอดประหลาดใจไม่ได้ที่เห็นคนไทยแย่งกันขึ้นรถเมล์โดยไม่สนใจเด็กหรือคนแก่เลย ตามท้องถนนคนขับรถก็ไม่ค่อยมีน้ำใจหยุดรถให้คนเดินข้าม เวลาเข้าแถวซื้อตั๋วหรือจ่ายเงินก็มักมีการแซงคิวอยู่เป็นประจำ กระทั่งในมหาวิทยาลัยบางแห่งถึงกับรณรงค์เรียกร้องให้นักศึกษาต่อคิวเวลาจะใช้ลิฟท์ ขณะเดียวกันการเอาขยะไปทิ้งไว้หน้าบ้านคนอื่นก็เป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเมือง ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องอาชญากรรม ปัญหาโสเภณี เด็กเร่ร่อน ฯลฯ

    ที่จริงคนไทยนั้นยังมีน้ำใจอยู่เต็มเปี่ยม แถมขี้เกรงใจอีกต่างหาก แต่น้ำใจและความเกรงใจของคนไทยนั้นส่วนใหญ่มีไว้ให้กับคนที่รู้จักกันมากกว่า ลงได้เป็นเพื่อนกันแล้ว จะให้ช่วยอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าไม่รู้จักกันแล้ว ก็แทบจะเมินหน้าเลย มีท่านผู้หนึ่งเล่าว่า คนงานก่อสร้างข้างบ้านชอบทิ้งขยะลงมาบริเวณบ้านของท่านอยู่เนื่อง ๆ ท่านขอร้องก็แล้ว ว่ากล่าวก็แล้ว คนงานคนนั้นก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม จนภายหลังท่านก็หันมามาผูกมิตรกับคนงานคนนั้น หมั่นชักชวนพูดคุย และเอาของมาให้ พอคุ้นเคยกันแล้ว ท่านก็ขอร้องคนงานคนนั้นว่าอย่าทิ้งขยะลงมาข้างบ้านได้ไหม ปรากฏว่าฝ่ายหลังให้ความร่วมมืออย่างดี ก็เพื่อนขอร้องแล้วนี่ จะปฏิเสธ ก็ใจดำเกินไป

    นอกจากเพื่อนและญาติพี่น้องแล้ว อาคันตุกะก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่คนไทยพร้อมจะแสดงน้ำใจให้ แต่นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว ท่าทีก็จะเปลี่ยนไป กลายเป็นคนไร้น้ำใจ ไม่สุภาพ อาจถึงขั้นกลายเป็นคนเห็นแก่ได้ไปเลย ท่าทีเช่นนี้มิได้มีเฉพาะกับคนแปลกหน้าเท่านั้น กับสังคมส่วนรวมก็มีท่าทีทำนองเดียวกันด้วย ดังเห็นได้ว่าอะไรที่เป็นทรัพย์สินส่วนรวม เราไม่ค่อยดูแลรักษาเท่าไร ไม่ว่า แม่น้ำลำคลอง ป่าไม้ โทรศัพท์สาธารณะ หรือของหลวง ล้วนอยู่ในสภาพเสื่อมทรุด

    นอกจากจะไม่ดูแลรักษาแล้ว บางทีถึงกับเป็นตัวการทำให้มันวิบัติเร็วเข้า พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่พบได้ในคนจำนวนไม่น้อยก็คือ ถ้าเป็นของหลวง ก็จะแย่งกันเอา (เหตุผลก็คือ “ถึงฉันไม่เอา คนอื่นก็เอาอยู่ดี”) แต่เวลาอยู่ในหมู่เพื่อน กลับแย่งกันจ่าย หรือแย่งกันเป็นเจ้ามือ ความไม่รู้สึกผูกพันกับสังคมส่วนรวมนี้เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การคอร์รัปชั่นแพร่ระบาดในเมืองไทย ไม่ใช่เพียงเพราะว่าต้องการช่วยเพื่อนพ้องเท่านั้น หากยังเพราะผู้คนเป็นอันมากไม่รู้สึกเดือดร้อนที่ใครเขาจะคอร์รัปชั่นกัน แพทย์ชนบทคนหนึ่งซึ่งเป็นแกนนำในการต่อต้านการทุจริตยา ๑,๔๐๐ ล้านบาทเมื่อ ๓ ปีก่อนเล่าว่า มีเพื่อนและผู้ใหญ่หลายคนมาตักเตือนและตำหนิเขาว่า “ไปยุ่งกับเขาทำไม เงินพวกนี้เป็นเงินของคุณเสียเมื่อไหร่”

    คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยสรุปว่า เป็นเพราะการสอนศีลธรรมยังไม่มากเท่าที่ควร ผู้คนจึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้ทางออกก็คือต้องเพิ่มชั่วโมงศีลธรรมในโรงเรียนให้มากขึ้น และนิมนต์พระมาเทศน์ตามสถานที่ต่าง ๆ ให้มากขึ้น อีกทั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ควรมีรายการธรรมะมากขึ้นด้วย
    แต่จะมีใครนึกบ้างไหมว่า การที่พฤติกรรมดังกล่าวแพร่หลายในสังคมไทย หาได้เป็นเพราะผู้คนห่างเหินจากการสอนศีลธรรมไม่ ตรงกันข้าม เป็นเพราะศีลธรรมที่สอนกันในเวลานี้แพร่หลายทั่วถึงไปทุกหมู่เหล่าต่างหาก ผู้คนจึงเป็นอย่างที่เห็น ๆ กัน

    ศีลธรรมที่สอนกันอยู่เวลานี้เป็นอย่างไร จึงทำให้คุณธรรมหรือน้ำใจของผู้คนจำกัดอยู่ในแวดวงแคบ ๆ เช่น ญาติมิตรและคนรู้จักเท่านั้น ? คำตอบส่วนหนึ่งก็คือศีลธรรมที่สอนกันเวลานี้แทบไม่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมหรือหน้าที่ที่พึงมีต่อส่วนรวม แม้ว่าพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ดังได้สอนว่าการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นบุญอย่างหนึ่ง(ไวยาวัจจมัย) แต่หลักธรรมข้อนี้ก็แทบจะถูกลืมไปแล้ว การทำบุญจึงกร่อนเหลือเพียงแค่การให้ทาน และก็เน้นเฉพาะการให้ทานกับพระเท่านั้นผลก็คือชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเอื้อเฟื้อกับพระ แต่ไร้น้ำใจกับผู้คน (เช่นเอาเปรียบคนงาน )

    อุเบกขาเป็นธรรมอีกข้อหนึ่งซึ่งมีไว้เพื่อให้คนเคารพธรรมและหลักการของสังคม หาไม่แล้วผู้คนอาจเมตตาและกรุณาเลยเถิด คือช่วยอย่างไม่มีขอบเขตจนเสียหายต่อส่วนรวม (เช่นปกป้องลูกเวลาทำผิด หรือเอาเงินของส่วนรวมไปช่วยเพื่อน ) แต่ปรากฏว่าปัจจุบันอุเบกขากลับถูกละเลย พ่อแม่และครูสอนแต่เรื่องเมตตากรุณา โดยที่เมตตากรุณานั้นไป ๆ มา ๆ ก็จำกัดวงเฉพาะกับคนรู้จักเท่านั้น

    ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือศีล ๕ มักสอนกันว่าการละเมิดศีล ๕ นั้น ก่อผลเสียต่อผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ผลเสียต่อส่วนรวม (เช่นทำให้ชุมชนวุ่นวายไร้ความสงบ) มักจะไม่ค่อยมีการพูดถึง ศีล ๕ จึงกลายเป็นเรื่องระหว่างบุคคลต่อบุคคลล้วน ๆ

    เห็นได้ว่าศีลธรรมที่สอนกันทุกวันนี้ มักเน้นแต่เรื่องความประพฤติระหว่างบุคคลต่อบุคคล
    แต่ข้อปฏิบัติที่บุคคลพึงมีต่อสังคม แทบไม่มีการสอนกันเลย (เดี๋ยวนี้มีใครรู้จัก”อปริหานิยธรรม”บ้าง) ศีลธรรมแบบนี้อาจเหมาะกับชุมชนเล็ก ๆ เช่นหมู่บ้าน เพราะทุกคนรู้จักกันหมด เพียงแค่ปฏิบัติตามหลักทิศ ๖ (ความสัมพันธ์ระหว่างคน ๖ คู่ เช่นสามีกับภรรยา ครูกับศิษย์) หมู่บ้านก็สงบสุขได้ แต่สังคมปัจจุบัน เต็มไปด้วยคนที่เราไม่รู้จักอีกมากมาย คนเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากการกระทำของเรา โดยที่เรานึกไม่ถึง (เช่น ใช้ไฟเปลืองก็ทำให้คนอีกมากต้องอพยพเพราะการสร้างเขื่อน) คนเหล่านี้ที่เราไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้านี้แหละที่เรียกว่า”สังคม” ซึ่งเราควรคำนึงถึงอยู่เสมอ

    พุทธศาสนานั้นให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมมาก เพราะถ้าสังคมดีมีความสงบสุข ชีวิตก็เจริญงอกงาม ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักธรรมหลายข้อเกี่ยวกับการจัดสรรสภาพแวดล้อมที่ดีและเกื้อกูล (เช่นจักรวรรดิวัตร) และดังนั้นเราจึงมีหน้าที่รักษาสังคมหรือสภาพแวดล้อมให้ดีด้วย ด้วยเหตุผลเดียวกันจึงทรงจัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา แทนที่จะปล่อยให้ภิกษุต่างคนต่างอยู่ ก็มารวมกันเป็นชุมชน ใช่แต่เท่านั้นยังทรงบัญญัติ”วินัย” เพื่อจัดระเบียบชุมชนสงฆ์ให้เป็นไปด้วยดี แต่เดี๋ยวนี้วินัยมีความหมายเหลือเพียงแค่ข้อปฏิบัติส่วนบุคคล หรือข้อปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคลเท่านั้น ซึ่งเป็นความหมายที่แคบมาก การที่อีกความหมายหนึ่งของวินัยคือ”ระบบสังคม”ถูกละเลยไป ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าทุกวันนี้เราสอนพุทธศาสนากันแต่พียงครึ่งเดียว คือข้อปฏิบัติส่วนบุคคลเท่านั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พบว่านักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก เอาแต่นั่งภาวนา โดยไม่ใส่ใจดูแลแม้กระทั่งวัดที่ตนอาศัยอยู่ จะกล่าวไปไยถึงสังคมวงกว้างหรือวงการพุทธศาสนาที่กำลังเผชิญกับวิกฤต

    พุทธศาสนาจะเจริญงอกงามได้ก็ต่อเมื่อเราสอนและปฏิบัติพุทธศาสนาอย่างครบถ้วน นั่นคือปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมส่วนรวม ในทางตรงข้าม ถ้าสอนพุทธศาสนาเพียงครึ่งเดียว ถึงแม้จะสอนกันเท่าไร แทนที่จะเกิดผลดี ก็อาจกลายเป็นโทษได้
    :- https://visalo.org/article/matichon254402.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    มุ่งไปสู่หนใด
    พระไพศาล วิสาโล
    คงมีน้อยคนที่รู้ว่าภูฐานเริ่มมีการพัฒนาประเทศพร้อม ๆ กับไทย คือ ปี ๒๕๐๔ โดยมีแผนห้าปีเช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่ไทยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการสร้างถนน เขื่อน และโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ท่ามกลางคำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” ภูฐานกลับพัฒนาอย่างเชื่องช้า ในช่วงสิบปีแรกนั้นเน้นที่การสร้างถนน โรงเรียน และอาคารสำหรับหน่วยงานรัฐบาล เพราะก่อนหน้านั้นอย่าว่าแต่สนามบินเลย แม้แต่โรงพยาบาล บริการไปรษณีย์ โทรศัพท์ โรงเรียนประชาบาล ภูฐานไม่มีแม้แต่อย่างเดียว

    ก่อนยุคพัฒนา ภูฐานมีสภาพไม่ต่างจากเมืองไทยเมื่อ ๑๕๐ ปีก่อน แม้เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศ ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่ใช่เพราะว่าทั้งประเทศเต็มไปด้วยป่าเขาอันทุรกันดาร อีกทั้งยังขาดทุนรอนและการช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากยังเป็นความตั้งใจของผู้ปกครองประเทศที่ต้องการให้การพัฒนาดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะตระหนักดีถึงผลเสียของการเปิดรับเทคโนโลยีและเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจจากภายนอกอย่างเต็มที่ นโยบายเปิดประตูแบบแง้ม ๆของภูฐานเห็นได้ชัดจากการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ คน


    หลังจากพัฒนาประเทศไปแล้วเกือบ ๓๐ ปี ภูฐานจึงเริ่มมีสถานีโทรทัศน์ประจำชาติเป็นครั้งแรก พร้อม ๆ กับการเปิดใช้อินเตอร์เน็ตและเคเบิลทีวี หลังจากนั้นอีก ๑๐ ปีจึงมีการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๕ แม้จะห่างไกลจากประเทศไทยมากในแง่ความเจริญทางวัตถุ แต่ในด้านคุณภาพชีวิตของประชากรแล้ว ภูฐานล้ำหน้ากว่าไทยในหลายด้าน อาทิ ประชากรร้อยละ ๙๘ มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แม้รายได้ของประชาชนจะอยู่ในระดับต่ำหากวัดเป็นตัวเงิน (ร้อยละ ๒๓ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน) แต่นั่นเป็นเพราะการซื้อขายมีไม่มาก ชาวบ้านสามารถผลิตปัจจัยสี่เลี้ยงตัวเองได้ คนอดอยากหรือยากไร้จึงมีน้อยมาก สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาคนภายนอกก็คือ บ้านเรือนของคนภูฐานที่แม้อยู่ในชนบทห่างไกลก็แต่ก็มีสภาพดีและมีขนาดใหญ่โต กระท่อมซอมซ่อนั้นเห็นได้น้อยมาก ส่วนในเมืองก็ไม่สู้มีคนขอทานหรือคนไร้บ้าน คนว่างงานซึ่งมีมากในประเทศพัฒนาทั้งหลาย กลับไม่เป็นปัญหาในภูฐานเลย กล่าวได้ว่าภูฐานไม่มีคนว่างงานเลยเพราะชนบทยังสมบูรณ์และที่ทำกินยังมีอีกมาก

    สภาพดังกล่าวตรงข้ามกับประเทศไทย หลังจากพัฒนามา ๕๐ ปี ปัญหาที่ดินได้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤต ปัจจุบันมีเกษตรกรไร้ที่ทำกินกว่า ๘ แสนครัวเรือน เกือบ ๕ ล้านครอบครัวมีที่ทำกินไม่เพียงพอ ทั้ง ๆ ที่มีที่ดินถึง ๓๐ ล้านไร่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ทำประโยชน์เพราะมีการซื้อตุนเพื่อเก็งกำไร ใช่แต่เท่านั้นการสูญเสียที่ดินยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัญหาหนี้สิน แม้คนไทยที่มีรายได้จัดว่ายากจนมีเพียงร้อยละ ๖ แต่เกือบทั้งประเทศมีปัญหาหนี้สิน (เฉลี่ยเกือบแสนบาทต่อครัวเรือน) โดยเฉพาะเกษตรกร มีหนี้สินเกือบ ๒ แสนบาทต่อราย แทบทุกปีต้องประสบกับการขาดทุนเพราะราคาพืชผลตกต่ำขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นไม่หยุด จำนวนไม่น้อยต้องทิ้งไร่นาไปเป็นกรรมกร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการล่มสลายของชนบท ในขณะที่ที่ดินกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อยมากขึ้นทุกที (ประมาณว่าที่ดินร้อยละ ๙๐ อยู่ในมือคนเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น)

    ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยให้มีการสูญเสียที่ดินอย่างอิสระเสรีนั้น ภูฐานกลับทำสิ่งตรงข้าม คือส่งเสริมให้ที่ดินกระจายสู่มือประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ในอดีตนั้นองค์กรสงฆ์มีที่ดินอยู่ในครอบครองเป็นจำนวนมาก ที่ดินเหล่านั้นเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของวัด สิ่งที่รัฐบาลภูฐานทำก็คือ ให้องค์กรสงฆ์หันมารับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแทน ส่วนที่ดินขององค์กรสงฆ์ รัฐบาลก็ขอซื้อเพื่อเอาไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนซึ่งขาดแคลนที่ทำกิน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๒๕

    แม้ชีวิตในชนบทภูฐานจะไม่สะดวกสบาย เพราะถนนหนทางไม่สะดวก ไฟฟ้าก็ไม่ทั่วถึง แต่ชนบทภูฐานก็ยังมีชีวิตชีวาอยู่มาก ครอบครัวอบอุ่น มีคนหลายรุ่นอยู่ด้วยกัน คนหนุ่มสาวไม่จำเป็นต้องไปหางานทำในเมือง เพราะที่ดินและงานการไม่ขาดแคลน ที่สำคัญคือธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก นั่นเป็นเพราะรัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติมาตั้งแต่แรก ภูฐานจึงมีพื้นที่ป่ามากถึงร้อยละ ๗๒ โดย ๑ ใน ๓ ได้รับการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

    ต้องถือว่าเป็นเพราะเห็นการณ์ไกลรัฐบาลจึงมีนโยบายเช่นนี้ ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ป่าไม้ถูกตัดอย่างมโหฬารตั้งแต่เริ่มพัฒนาประเทศ เพราะต้องการส่งไม้ไปขายต่างประเทศเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แม่น้ำลำคลองกลายเป็นที่รองรับมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมก็เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนแม้กระทั่งทุกวันนี้ธรรมชาติก็ยังถูกทำลายในนามของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลร้ายในระยะยาวต่อประชาชนอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวบ้านรอบชุมชนอุตสาหกรรมอย่างมาบตาพุดเท่านั้นที่มีสุขภาพย่ำแย่ หากชาวบ้านที่เคยพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติแวดล้อมเพื่อการยังชีพและการทำมาหากินก็เดือดร้อนถ้วนหน้า มิไยต้องเอ่ยถึงคนในเมืองที่ต้องกินอาหารที่เต็มไปด้วยสารพิษอันเป็นผลจากการใช้สารเคมีทางเกษตร ซึ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นเนื่องจากธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

    นโยบายดังกล่าวแม้จะทำให้เงินไหลมาเทมาในเวลาอันสั้น แต่ได้สร้างปัญหาระยะยาวไว้มากมายหลายประการ ที่สำคัญคือการผลักภาระนานาประการให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ ในขณะที่คนส่วนน้อยได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะเม็ดเงินที่กระจุกอยู่ในกลุ่มคนดังกล่าว ผลก็คือเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในชาติ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น กล่าวคือคนร้อยละ ๒๐ ซึ่งเป็นกลุ่มรวยที่สุดมีรายได้มากกว่าคนกลุ่มจนที่สุดเกือบ ๑๓ เท่า และหากคำนวณจากทรัพย์สินครัวเรือนแล้ว ความแตกต่างก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ประมาณว่าครัวเรือนร้อยละ ๒๐ ซึ่งรวยที่สุดมีสินทรัพย์มากกว่าครัวเรือนที่จนที่สุดถึง ๖๙ เท่า เมื่อมองจากค่าดัชนีความเหลื่อมล้ำของรายได้แล้ว เมืองไทยอยู่ในระดับที่ไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกา เช่น ไนเจอร์ มาลี หรือแซมเบียมากนัก

    ภายในชั่วเวลา ๔๒ ปี คือนับแต่ปี ๒๕๐๘ ถึงปี ๒๕๕๐ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยได้เพิ่มขึ้นถึง ๒๕ เท่า แต่ความสุขนอกจากไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว กลับลดลงด้วยซ้ำ ดูจากสัดส่วนคนที่มีปัญหาทางจิตเพิ่มมากขึ้น (เมื่อปี ๒๕๕๒ พบว่าประชาชนอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป มีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ ๑๒ หรือประมาณ ๕ ล้านคน) และมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น (ปี ๒๕๓๖ คนไทยฆ่าตัวตาย ๒.๗ คนต่อประชากรแสนคน ๑๖ ปีต่อมา ตัวเลขเพิ่มเป็น ๕.๗ คนต่อประชากรแสนคน) ตรงกันข้ามกับภูฐานซึ่งมีปัญหาเหล่านี้น้อยมาก แม้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวจะไม่ถึงครึ่งของไทยก็ตาม แต่กล่าวได้ว่าคนภูฐานมีความสุขกว่ามาก เคยมีการทำดัชนีวัดความสุขของทุกประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าภูฐานมาเป็นที่ ๘ จาก ๑๗๘ ประเทศ

    ใครที่ได้ไปภูฐานย่อมอดประทับใจไม่ได้ในน้ำใจไมตรีของผู้คนที่นั่น ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสและไว้วางใจคนแปลกหน้า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็มีมากกว่า คดีอุกฉกรรจ์แทบไม่ปรากฏ ขณะที่การลักขโมยก็มีน้อยมากโดยเฉพาะในชนบท นักธุรกิจชาวตะวันตกผู้หนึ่งที่อยู่ในเมืองบุมทังกล่าวว่า เขาสามารถทิ้งเงินสด ๑ ล้านเหรียญไว้บนโต๊ะในสำนักงานได้โดยไม่มีใครแตะต้องเลย นักท่องเที่ยวต่างชาติล้วนรู้สึกแปลกใจเมื่อกลับมายังที่พักของตน แล้วพบว่ากุญแจห้องไม่ได้อยู่ที่โต๊ะรับรอง แต่เสียบคาไว้ที่ประตูห้องของตน ทั้งนี้เพราะพนักงานโรงแรมแน่ใจว่าจะไม่มีใครมาเปิดห้องนั้นนอกจากแขก

    สภาพเช่นนี้สูญหายไปจากเมืองไทยนานแล้ว อาชญากรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วไป อย่าว่าแต่ตามท้องถนนเลย แม้กระทั่งบ้านเรือนของตนก็หาใช่สถานที่ปลอดภัยอย่างสิ้นเชิงไม่ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข ระบุตรงกันว่าปัจจุบันนอกจากเด็กจำนวนมากถูกพ่อแม่ทอดทิ้งแล้ว ยังถูกทำร้ายจากในบ้านมากกว่านอกบ้าน ทั้งจากผู้เป็นพ่อแม่ คนรู้จัก ขณะเดียวกันภรรยาที่ถูกสามีทำร้ายก็กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

    เมืองไทยนับวันจะกลายเป็นเมืองแห่งความรุนแรงทุกขณะ เหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคมมิใช่อะไรอื่น หากคือส่วนขยายจากความรุนแรงในทุกระดับตั้งแต่ในครอบครัวจนถึงอาชญากรรมบนท้องถนนที่สั่งสมมานาน เมื่อผนวกกับความเหลื่อมล้ำในสังคม ความคับแค้นใจทางการเมือง และอำนาจนิยมโดยรัฐ ความรุนแรงก็พร้อมจะระเบิดกลางเมืองจนทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่าย ๆ

    ใช่หรือไม่ว่านี้คือผลพวงของการพัฒนาที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรีบเร่ง ซึ่งนอกจากจะไม่คำนึงถึงมิติอื่น ๆ ที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตแล้ว ยังเป็นการพัฒนาที่ไร้ความเป็นธรรม เพราะมุ่งอำนวยประโยชน์แก่คนส่วนน้อย ลำเอียงต่อภาคอุตสาหกรรม บริการ และเมืองโดยผลักภาระให้แก่ภาคเกษตรกรรมและชนบท ทั้งหมดนี้แยกไม่ออกจากการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ผลประโยชน์ถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและแตกแยกจนถึงขั้นวิกฤต

    ภูฐานและเมืองไทยเป็นตัวอย่างที่แตกต่างอย่างเด่นชัดระหว่างการพัฒนาที่เน้น “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” กับการพัฒนาที่เน้น “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” แม้หวังได้ยากที่เมืองไทยจะเปลี่ยนจุดหมายการพัฒนาไปเป็นความสุขมวลรวมประชาชาติ แต่ยังไม่สายที่เราจะหันมาเสริมสร้างดุลยภาพภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แทนที่จะมองแต่ข้างนอกเพื่อแข่งขันให้ทันหรือล้ำหน้าประเทศอื่นในทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะการเร่งรีบอย่างผิดทิศผิดทางนั้นในที่สุดอาจทำให้เมืองไทยไม่ต่างจากรถแข่งที่กำลังพุ่งสู่หุบเหวเบื้องหน้าก็ได้
    :- https://visalo.org/article/matichon255310.htm

     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ปล่อยวางได้เมื่อใจรู้ทัน
    พระไพศาล วิสาโล
    มีเพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่งลูกชายวัย ๔ ขวบเกิดอารมณ์ดี ไปเด็ดดอกไม้มาใส่แจกัน ดอกไม้มีสองสี คือสีเหลือง กับ สีแดง เด็กเอาสีเหลืองกับสีแดงแยกใส่คนละแจกัน แล้วเอาไปให้ย่า ย่าก็ขอบอกขอบใจ แต่พอเด็กไม่อยู่ ย่าก็เปลี่ยนเอาดอกสีเหลืองและสีแดงมาผสมในแจกันเดียวกัน พอหลานมาเห็นก็ไม่พอใจ โกรธ โวยวาย บอกให้ย่าเปลี่ยนกลับให้เป็นเหมือนเดิม แต่ตอนนั้นย่าไม่อยู่แล้ว อยู่แต่แม่ เด็กโวยวายมาก อาละวาดเลย แม่ก็บอกว่าเดี๋ยวแม่ทำให้ เด็กก็ไม่ยอม จะต้องให้ย่ามาทำ คือเปลี่ยนให้เป็นเหมือนเดิม แม่บอกว่าย่าไม่อยู่แม่ทำเองก็แล้วกัน เด็กก็ไม่ยอมจะให้ย่าทำ แม่บอกว่างั้นเดี๋ยวย่ากลับมาจะบอกย่าให้ เด็กก็ไม่ยอมจะเอาเดี๋ยวนั้นให้ได้ เจอแบบนี้แม่ชักมีน้ำโห

    ตอนแรกแม่อยากจะดุลูกว่าทำไมทำตัวแบบนี้ ทำไมพูดไม่ฟัง เอาแต่ใจตัว แต่ก็ตั้งสติได้ รู้ว่ายิ่งต่อว่าลูก ก็ยิ่งเพิ่มโทสะให้กับลูก ดังนั้นแทนที่จะดุด่าว่ากล่าวลูกเธอก็ใช้น้ำเย็น พูดกับลูกดีๆ ว่า ลูกโกรธย่าใช่ไหม เด็กตอบว่าใช่ แม่ถามว่า ลูกโกรธย่าที่เอาดอกไม้ของลูกไปสลับกันใช่มั้ย เด็กตอบว่า ใช่ แม่ถามต่อว่า ลูกโกรธมากเลยใช่ไหม เด็กตอบว่าโกรธมาก แม่จึงถามต่อว่า ลูกโกรธเท่าไหร่ โกรธเท่านี้ เท่านี้ หรือเท่านี้ ว่าแล้วก็เอามือผายออกเหมือนกับว่าโกรธเท่าฟ้าเลย เด็กก็ตอบว่าโกรธเท่าฟ้าเลย แม่จึงบอกลูกว่า เดี๋ยวย่ากลับมาแม่จะบอกย่าให้ว่าลูกโกรธย่าเท่าฟ้าเลย

    ปรากฏว่าพูดเท่านี้ ความโกรธของเด็กก็ลดวูบลง แล้วก็หยุดพยศเลย สักพักก็วิ่งออกไปเล่นข้างนอกเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความโกรธของลูกหายไปทันที เป็นเพราะอะไร อันนี้เป็นเพราะว่าแม่ทำให้ลูกได้เห็นความโกรธของตัว ได้รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธ สิ่งที่แม่ทำเป็นเหมือนกับกระจกสะท้อนให้เด็กได้เห็นความโกรธของตัว พอเด็กเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ ความโกรธก็ดับวูบเลย คือเด็กเกิดสติขึ้นมา สติทำให้เห็นความโกรธ เมื่อความโกรธถูกเห็น มันก็จะดับไป อันนี้เป็นธรรมชาติของอารมณ์ทั้งหลาย ความโกรธนั้น เราไม่ต้องกดข่มมัน เพียงแค่เห็น หรือรู้ทันมันด้วยสติมันก็หายไป เด็กโกรธเพราะมีความหลง พอมีสติ มีความรู้สึกตัว ความหลงหายไป ความโกรธก็ตั้งอยู่ไม่ได้

    เด็กชายอีกคนหนึ่ง อายุประมาณสี่ขวบ เป็นคนกลัวโป๊ะมาก เวลาพ่ออุ้มลงโป๊ะเพื่อนั่งเรือข้ามแม่น้ำ เด็กจะกลัวมาก ดิ้นสุดฤทธิ์ เพื่อให้พ่อพาออกจากโป๊ะ พ่อก็พยายามพูดกับลูก ใช้เหตุผลกับลูกว่า อย่ากลัว ลูกอยู่กับพ่อแล้ว พ่ออุ้มลูกไว้แน่น ลูกไม่ต้องกลัว เด็กก็ยังกลัว โวยวาย ดิ้นไม่หยุด เป็นอย่างนี้ประจำ พ่อก็ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร พอได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนที่เพิ่งเล่าเมื่อสักครู่ เขาก็สนใจว่ามันจะช่วยได้จริงหรือ

    วันหนึ่งเขาอุ้มลูกชายลงโป๊ะ ลูกก็ดิ้นเหมือนเคย ร้องโวยวาย พ่อก็พูดกับลูกว่า ตอนนี้ลูกกลัวใช่มั้ย ลูกตอบว่า ใช่ พ่อถามต่อว่า กลัวมันเป็นยังไง ตอนนี้หัวใจเป็นยังไง เด็กตอบว่า หัวใจมันเต้นเร็ว พ่อถามถึงร่างกายส่วนอื่น เด็กก็ตอบว่าตอนนี้ตัวเกร็ง ขนลุกเลย ทีนี้พ่อถามถึงความรู้สึกว่า แล้วใจเป็นยังไง เด็กตอบว่า ใจมันกลัว มันหนัก พูดคุยสักพักเด็กก็นิ่ง หยุดดิ้น เสร็จแล้วก็ปล่อยมือออกจากตัวพ่อ แล้วก็ลงมาวิ่งเล่นบนโป๊ะ กลายเป็นว่าเด็กไม่กลัวโป๊ะแล้ว ความกลัวมันหายไปเลย

    สิ่งที่พ่อทำก็คือทำให้ลูกได้เห็นความกลัวของตัว ได้ดูกายดูใจ กายเป็นอย่างไร ใจเป็นอย่างไร แค่รู้หรือเห็นมัน ความกลัวก็หายไป เห็นได้ว่า การดู การรู้ หรือการเห็นเฉย ๆ นั้นมีพลังสามารถปลดเปลื้องอารมณ์ต่างๆ ออกจากใจได้ แต่เคล็ดลับอันนี้ผู้คนไม่ค่อยตระหนักเท่าไร ส่วนใหญ่จะพยายามกดข่ม ต่อต้าน เช่น เวลาเด็กกลัวก็บอกลูกว่าอย่ากลัวๆ พอเด็กโกรธก็บอกว่าอย่าโกรธๆ หรือแม้กระทั่งเวลาเกิดขึ้นกับตัวเองก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน อันนั้นเป็นวิธีหนึ่งแต่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด วิธีที่ดีกว่านั้นคือการมีสติดูมัน เห็นมัน รู้เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร

    การเจริญสติก็คือการฝึกจิตให้มีนิสัยที่จะรู้เฉยๆ เห็นอย่างที่มันเป็น ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ไม่ต้องตีค่าว่าดีหรือชั่ว เพราะถ้าตีค่าว่าดีก็อยากจะยึดครอง ถ้าตีค่าว่าชั่วก็อยากจะผลักไส ให้เห็นอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่เห็นตามที่เราอยากจะให้มันเป็น วางใจเป็นกลาง ไม่ตีค่าไม่ตัดสิน ช่วยให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง จนกระทั่งได้เห็นถึงสภาวะที่เป็นปรมัตถ์ของมัน

    การตัดสินอารมณ์ต่างๆ ว่าดีหรือชั่ว บวกหรือลบ อันนี้ยังเป็นสมมติอยู่ แต่ถ้าเราเห็นจนกระทั่งว่ามันเป็นแค่สภาวธรรมที่เกิดขึ้น ความโกรธกับความเมตตาที่จริงก็เป็นธรรมเหมือนกัน และก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์เหมือนกัน ความเมตตาที่เกิดขึ้นในใจก็สอนธรรมได้ ความโกรธที่เกิดขึ้นในใจก็สอนธรรมให้กับเราได้เช่นกัน เช่น สอนเรื่องไตรลักษณ์ สอนให้เห็นว่ามันไม่จีรัง มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน การเจริญสติเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องยกระดับเป็นวิปัสสนา คือการเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง โดยไม่มีการให้ค่าไม่ตัดสินตามสมมติ

    แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเราก่อนถึงตรงนั้น คือทำให้เราอยู่เหนืออารมณ์ได้ ไม่ปล่อยให้มันมารังควานจิตใจ จนเกิดความรุ่มร้อน เกิดความรู้สึกบีบคั้น แค่เห็นมัน ดูมัน มันจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน จะมองมันว่าเป็นเพื่อนก็ได้ เป็นเพื่อนหรือแขกที่มาเยี่ยม อยากจะเข้ามาก็เชิญ เราไม่ผลักไส เราไม่ทำอะไรกับเธอทั้งสิ้น

    มีนักปฏิบัติคนหนึ่งเป็นฝรั่ง ชื่อแจ๊ค คอร์นฟิลด์ เขียนหนังสือไว้เยอะมาก เขาเคยมาบวชที่เมืองไทยแล้วก็ไปอยู่ที่สวนโมกข์กับท่านอาจารย์พุทธทาสบ้าง อยู่ที่วัดหนองป่าพงกับหลวงพ่อชาบ้าง มีคราวหนึ่ง ตอนนั้นภาวนาใหม่ๆ เกิดความกลัวมาก พยายามที่จะกดข่มความกลัวก็ไม่สำเร็จ พยายามใช้เหตุผลว่ากลัวอะไร ทำไมถึงกลัวก็ไม่ได้ผล จึงรู้สึกแย่มากที่มาปฏิบัติแล้วยังกลัวอยู่ และรู้สึกท้อกับการปฏิบัติว่าทำอย่างไรความกลัวก็ไม่หายไป แต่ถึงจุดหนึ่งเขาได้สติแล้วก็พูดกับตัวเองว่า ถ้ามันจะกลัวอย่างนี้ไปตลอดชีวิตก็ช่างมัน ฉันไม่สนใจแล้ว พอวางใจแบบนี้ความกลัวก็ลดวูบไปเลย เขารู้สึกแปลกใจมาก และได้เรียนรู้ว่าพอยอมรับมัน และไม่ทำอะไรกับมัน เสมือนว่ามันเป็นอาคันตุกะที่จรเข้ามา มันก็คลายพิษสงลงไปทันที

    อารมณ์ทั้งหลายถ้าเราเห็นมันเป็นศัตรู มันก็จะเป็นศัตรูกับเรา ถ้าเราผลักไสมัน มันก็จะต่อสู้ แต่ถ้าเราเห็นมันเป็นแค่อาคันตุกะที่จรเข้ามาและไม่ผลักไสไล่ส่งมัน ขณะเดียวกันก็ไม่ทำตามอำนาจของมัน คือเป็นกลางๆ อยู่เฉยๆ มันก็จะคลายพิษสงลง รังควานเราน้อยลง แทนที่จะเป็นศัตรูก็กลายเป็นเพื่อนบ้านที่รู้เวลา อ้อยิ่งสักพักก็รู้ว่าถึงเวลาที่ต้องไปแล้ว มันไปเองโดยที่เราไม่ต้องขับไสไล่ส่งมันเลย

    การรู้เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรจึงเป็นวิธีการที่เราไม่ควรมองข้ามไม่ว่าจะเป็นนักภาวนาหรือไม่ก็ตาม
    :- https://visalo.org/article/suksala24.html
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    เมื่อความสะดวกสบายกลายเป็นพระเจ้า
    พระไพศาล วิสาโล
    สวนสนริมทางหลวงช่วงจอมทอง-ฮอดงดงามนัก แม้จะไม่ใช่ผลงานของธรรมชาติล้วนๆ แต่ลำต้นที่สูงใหญ่เรียงรายเป็นแนวแถวท่ามกลางร่มเงาคลุมครึ้มให้ความรู้สึกโปร่งโล่งเย็นใจอย่างยิ่ง ส่วนสนามหญ้าใต้คาคบเล่าก็เขียวขจีราบเรียบดังผืนพรม ใครเห็นเป็นต้องนึกอยากลงจากรถมาพักผ่อนเอนกาย คณะของเราก็เช่นกันเผอิญเป็นช่วงใกล้เพลพอดีจึงแวะลงข้างทาง เมื่อเลือกได้ร่มเงาที่พอใจ ก็ตั้งวงอาหารก่อนจะเดินทางต่อไป

    ชายหนุ่มที่ร่วมเดินทางมาด้วยเปรยขึ้นมาว่า น่าจะมาจัดค่ายเยาวชนกันที่นี่ เพราะบรรยากาศดีเหลือเกิน อีกคนก็แย้งขึ้นมาว่า จะมาทำให้ที่นี่สกปรกเพิ่มขึ้นหรือไง พลางมองไปที่พงหญ้าไม่ใกล้ไม่ไกล ซึ่งเกลื่อนกลาดไปด้วยถุงพลาสติก ขวดเบียร์และเศษขยะอีกมากมาย ชายคนแรกตอบกลับไปว่า จัดค่ายก็เพื่อจะให้เด็กมาช่วยเก็บขยะไงล่ะ ว่าแล้วก็จัดอาหารถวายพระ

    ใช้เวลาไม่นานอาหารมื้อเพลก็แล้วเสร็จ เศษอาหารนั้นมีหมาสองตัวคอยเก็บกวาดอยู่แล้ว ส่วนถุงพลาสติกนั้นต้องกลายเป็นขยะสถานเดียว ชายหนุ่มเก็บถุงพลาสติกอย่างคล่องแคล่วเผลอแวบเดียวเขาก็ไปอยู่ที่พงหญ้าแล้วโยนถุงพลาสติกไปสมทบกับกองขยะ ทั้งๆ ที่เมื่อไม่กี่นาทีมานี้เขาเองเป็นคนเสนอให้พาเด็กมาเก็บกวาดขยะที่สวนสนแห่งนี้

    เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย หลายคนก็คงประสบด้วยตนเองมาแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ที่ทางของถุงพลาสติกเหล่านี้ควรจะอยู่ตรงไหน แต่แล้วคนเป็นอันมากกลับเอาไปสุมกองไว้ในพงหญ้ากลางสวนสนอันงดงาม แม้กระทั่งชายหนุ่มผู้มีหัวคิดดีในเรื่องการแก้ปัญหาขยะในสวนสนแห่งนี้ ก็ยังกระทำไม่ต่างจากคนอื่น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบก็คือ เพราะความสะดวกสบายนั่นเอง การโยนเศษขยะเข้าพงหญ้านั้นสะดวกและสบายกว่าการเก็บขึ้นรถเพื่อเอาไปทิ้งในที่ที่สมควรทิ้งเป็นไหนๆ

    สมัยนี้ความสะดวกสบายกลายเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าอะไรก็ตาม แม้จะก่อปัญหาแก่สิ่งแวดล้อม เบียดเบียนผู้คนแต่หากก่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ตนเสียแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น ตรงกันข้ามสิ่งใดก็ตามแม้จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิต สังคม และธรรมชาติ แต่หากไม่ให้ความสะดวกสบายแก่เราแล้วก็เมินได้เลย การเปิดไฟจำเพาะเวลาที่เราต้องการใช้ นอกจากประหยัดเงินแล้วยังไม่ผลาญทรัพยากรสูญเปล่า แต่เป็นเพราะการกระทำเช่นนั้นไม่สะดวกสบายเท่าใดนัก ผู้คนจึงพากันเปิดไฟทิ้งแช่ไว้กันทั้งเมือง แม้จะรณรงค์ให้ประหยัดไฟเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนจะทำไม่ขึ้น รู้ทั้งรู้ว่าโฟมนั้นเป็นภัยต่อบรรยากาศและก่อปัญหาขยะแต่ในเมื่อกล่องโฟมนั้นให้ความสะดวกมากกว่าถุงพลาสติก เราจึงไม่รู้สึกอะไรเวลากินอาหารบรรจุกล่องโฟม

    น้ำดื่มบรรจุขวดนับวันจะก่อปัญหาแก่สิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที แต่เป็นเพราะสินค้าชนิดนี้ให้ความสะดวกสบายกว่า ผิดกับการนำกระติกน้ำติดตัวไปด้วย ซึ่งต้องคอยรินน้ำและคอยล้างกระติกอยู่เสมอ ผลก็คือขวดพลาสติกกลายเป็นขยะเกลื่อนกลาดไปทั่วทุกหนแห่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งบนยอดเขา ริมทะเลและกลางป่าลึก เช่นเดียวกับขวดน้ำอัดลม ซึ่งเดี๋ยวนี้ซื้อแล้วก็ไม่ต้องห่วงว่าจะต้องคืนขวด จะทิ้งเรี่ยราดที่ไหนก็ได้ ภาระจึงตกหนักอยู่กับสิ่งแวดล้อมและเทศบาล แต่ใครเล่าจะอินังขังขอบ เพราะรู้ๆ อยู่ว่าวิธีนี้ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ซื้อ(และผู้ผลิต) เป็นอย่างมาก

    เป็นเพราะหลงใหลคลั่งไคล้ในความสะดวกสบาย เราจึงตกเป็นเหยื่อของลัทธิบริโภคนิยมไปโดยไม่รู้ตัว สินค้าต่างๆ พากันเรียงหน้าเข้ามาในนามของความสะดวกสบาย กาแฟสำเร็จรูปมีเสน่ห์ยวนใจเรา ไม่ใช่เพียงเพราะรสชาติที่จับจิตเท่านั้น หากยังเพราะเราสามารถเข้าถึงความสุขดังกล่าวได้ อย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องบด ไม่ต้องกรอง และไม่ต้องคอยให้ยุ่งยากอีกต่อไปเพียงแค่ได้ยินคำโฆษณาว่า ผงซักฟอกชนิดนี้ผสมสารพิเศษที่ทำให้เราขยี้น้อยลง ใจเราก็จดจ่ออยู่กับผงซักฟอกชนิดนั้นทันทีโดยไม่ถามต่อไปว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และด้วยเหตุผลเดียวกันเราจึงยินดีจ่ายเงินซื้อผ้าอ้อมชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย เพราะไม่ต้องเสียเวลาซักให้เมื่อย ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพง เช่น โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุค ซึ่งสามารถสะกดผู้คนให้หลงได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมันสัญญาว่าจะให้ความสะดวกสบายแก่เรานั่นเอง

    ที่พูดนี้มิได้ชักชวนให้เราปฏิเสธความสะดวกสบาย แต่เพียงอยากจะชี้ว่า ไม่มียุคใดที่ถือเอาความสะดวกสบายเป็นสรณะสูงสุดเท่ายุคนี้ จริงอยู่คนยุคไหนก็ปรารถนาความสะดวกสบายด้วยกันทั้งนั้น แต่อย่างน้อยคนแต่ก่อนก็ไม่ถือเอาความสะดวกสบาย เป็นคุณค่าสูงสุดอย่างปัจจุบัน จะทำอะไรก็ไม่ได้คำนึงความสะดวกสบายอย่างเดียว หากยังคำนึงถึงสิ่งอื่น ซึ่งมักถือว่าสำคัญกว่าความสะดวกสบายส่วนตน สิ่งนั้นอาจจะได้แก่ ความเจริญงอกงามในจิตใจ ความปกติสุขในสังคม ประโยชน์เกื้อกูลต่อธรรมชาติแวดล้อม รวมถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งสูงสุด เวลาเข้าป่าหาเห็ด แทนที่จะเก็บจนหมดหรือเก็บให้มากเท่าที่จะมากได้ จะได้ไม่ต้องกลับมาหาใหม่ให้เหนื่อยยาก กลับเก็บแต่พอกิน เพื่อเหลือให้คนอื่นได้เก็บบ้าง เวลาใช้น้ำ ทั้งๆ ที่ไม่ได้กันดารแร้นแค้นอะไร แต่น้ำถังหนึ่งๆ กลับใช้หลายครั้ง หลายหน เช่น ล้างผัก ถูบ้าน เสร็จแล้วแทนที่จะทิ้ง ก็รดต้นไม้ เช่นเดียวกับปลา แม้จะมีเต็มแม่น้ำ แต่แทนที่จะเลือกกินเฉพาะที่เอร็ดอร่อยแล้วทิ้งส่วนที่เหลือ กลับใช้ประโยชน์ทุกส่วน ถ้าเหลือก็เอามาหมักหรือแช่เกลือ แม้รสชาติจะไม่อร่อยเท่าของสด แถมยังต้องยุ่งยากเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะความตระหนี่ หากเป็นผลจากการเคารพและสำนึกในคุณค่าของธรรมชาติต่างหาก

    ความสะดวกสบายจะมีคุณค่าอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเป็น มรรค ไม่ใช่เป็น ผล หรือจุดหมายในตัวมันเอง ในทางพระพุทธศาสนา “สัปปายะ” (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “สบาย” ) ถือเป็นธรรมฝ่ายกุศลที่สำคัญ แต่ “ความสบาย” ดังกล่าวมิใช่จุดหมายสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นความสบายทางด้านที่อยู่อาศัย (อาวาสสัปปายะ) ความสบายทางด้านอาหาร (โภชนสัปปายะ) ความสายทางด้านดินฟ้าอากาศ (อุตุสัปปายะ) ตลอดจนความสบายอีก ๔ ประการ ที่เหลือนั้นล้วนมีประโยชน์ตรงที่เป็นปัจจัยเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่การทำคุณงามความดี เพื่อให้ชีวิตจิตใจเจริญงอกงาม(เรียกสั้นๆว่า “การปฏิบัติธรรม”) หากมีความสะดวกสบายในด้านที่พักและอาหารแล้ว ไม่ใช้โอกาสอันเกื้อกูลนี้ทำกุศลเพื่อให้เกิดประโยชน์ตนประโยชน์ท่านกลับเพลิดเพลินในความสุข จนไม่ทำงานการ แถมเกิดความโลภ อยากได้ความสะดวกสบายมาปรนเปรอตนยิ่งขึ้น นั้นก็แสดงว่า ความสะดวกสบายกลายเป็นพิษภัยทิ่มแทงชีวิตแล้ว

    เนื่องจากความสะดวกสบายมิได้เป็นจุดหมายในตัวมันเอง หากเป็นเพียงอุปกรณ์และเงื่อนไขไปสู่สิ่งที่ดีงามกว่า ดังนั้นจึงต้องมีขอบเขต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราพึงรู้จักพอหรือรู้จักประมาณในความสะดวกสบาย การหมกมุ่นอยู่ในความสะดวกสบาย จนเห็นเป็นพระเจ้าที่อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นการ ”ใช้” หรือเกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายอย่างไม่ถูกต้อง ผลจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเป็นโทษแก่ตนเองและผู้อื่น

    โทษภัยของความสะดวกสบายที่ไร้ขอบเขตได้ปรากฏให้เห็นแล้วไม่เว้นแต่ละวัน การกินอย่างไม่รู้จักพอเพราะคิดถึงแต่ความเอร็ดอร่อยและสะดวกปากเป็นเกณฑ์ ตลอดจนวิถีชีวิตที่แวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกจนใช้มือไม้ไม่เป็น แลไม่รู้จักออกกำลังกาย กำลังทำให้โรคหัวใจกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนยุคนี้ ขณะเดียวกันการบริโภคสิ่งของแบบชั่วครู่ชั่วยาม ไม่เพียงแต่จะผลาญทรัพยากรธรรมชาติให้หมดลงไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น หากยังก่อปัญหาขยะและมลภาวะไปทั่ว ซึ่งยังแก้กันไม่ได้จนทุกวันนี้แม้เทคโนโลยีจะมีมากมายเพียงใดก็ตาม ใช่แต่เท่านั้นความสะดวกสบายอย่างไม่รู้จักพอยังทำให้คนในสังคมแตกแยกกันเพราะแย่งชิงทรัพยากรเป็นเหตุ

    เพียงแค่การประหยัดไฟ หากทำกันทั้งประเทศ โดยยอมสูญเสียความสะดวกสบายเสียหน่อยเท่านั้นจะทุ่นไฟได้นับพันเมกะวัตต์ นั่นหมายถึงการไม่ต้องสร้างเขื่อนนับสิบๆ เขื่อน เท่ากับลดการทำลายป่าและลดความขัดแย้งของคนในชาติไปในตัว หากเรายอมเสียเวลาซักผ้าเช็ดหน้ากันบ้าง ก็จะลดการผลิตทิชชูไปได้มหาศาล และหากโรงเรียนทั่วประเทศหันมาใช้ถุงผ้าบรรจุข้อสอบแทนที่จะใช้ถุงกระดาษ ซึ่งใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย น่าคิดว่าจะลดการตัดต้นไม้และลดปริมาณขยะในเมืองได้มากมายเพียงใด ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้ปิ่นโตแทนถุงพลาสติก แม้จะต้องเสียเวลาล้างแต่ก็ก่อผลดีแก่สิ่งแวดล้อมมาก

    นักเศรษฐศาสตร์อาจจะบอกว่าการล้างผ้าเช็ดหน้า ถุงผ้า และปิ่นโตนั้นเป็นการสิ้นเปลือง เปลืองทั้งสบู่หรือผงซักฟอก เปลืองทั้งค่าแรง(กรณีที่ต้องจ้างคน) สู้ใช้แล้วทิ้งเลยไม่ได้ แต่นั้นเป็นการมองเพียงด้านเดียว จริงอยู่ถึงแม้คนใช้ถุงกระดาษถุงพลาสติกจะไม่ต้องจ่ายค่าทำความสะอาด แต่ในที่สุดแล้วสังคมทั้งสังคมก็ต้องเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายเสียเอง ทั้งในด้านกำจัดขยะและการบำบัดมลพิษ นี้ก็ทำนองเดียวกับโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำย่อมจ่ายต้นทุนน้อยกว่าโรงงานที่บำบัดน้ำเสียด้วยตนเอง แต่เมื่อเอาความเสียหายจากมลภาวะในแม่น้ำมารวมต้นทุนในการผลิตแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมากกว่าโรงงานประเภทหลังสักเพียงใด

    ไม่มีความสะดวกสบายใดๆ ที่ได้มาเปล่าๆ หากจะต้องมีราคาค่างวดติดตามมาเสมอ การรู้จักประมาณในความสะดวกสบายจึงควรเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินชีวิตและบริโภค แม้จะพึงพอใจในความสะดวกสบาย แต่ก็ไม่พึงให้สิ่งนั้นขึ้นมาเป็นใหญ่จนกลายเป็นพระเจ้าของเรา วันใดก็ตามที่ความสะดวกสบายกลายเป็นคุณค่าระดับรองๆ ไม่เพียงแต่ชีวิตของเราจะเปลี่ยนเท่านั้น แม้สังคมทั้งสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ของเราหากว่าคนนับล้านๆ หันมาขี่จักรยานแทนที่จะนิยมนั่งรถเก๋ง จะว่าไปแล้ว ไม่ต้องถึงขั้นขี่จักรยานเพียงแค่หันมาใช้บริการขนส่งมวลชนกันให้ทั่วกรุง กรุงเทพฯ ก็จะเปลี่ยนโฉมไปทันที

    เป็นเพราะใครๆ ก็หวังความสะดวกสบายเฉพาะตน จึงพากันซื้อรถเก๋งกันทั้งเมือง ผลก็คือจราจรกลายเป็นจลาจลจนเข้าขั้นวิกฤต มลพิษระบาดทั้งเมือง นี้จะเรียกว่าอะไรหากไม่ใช่ราคาของความสะดวกสบายที่กลายเป็นพระเจ้าของเราไปแล้ว
    :- https://visalo.org/article/chaladsue_8.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    กรรมของผู้บริโภค
    พระไพศาล วิสาโล
    ถึงคุณจะไม่เชื่อเรื่องกรรม แต่อย่างน้อยก็คงมีสักครั้งหนึ่งที่คุณอดรำพึงกับตนเองไม่ได้ว่า เกิดมาเป็นคนไทยยุคนี้ช่างมีกรรมเสียเหลือเกิน เมืองไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ก็จริงอยู่ แต่อาหารที่สะอาดปลอดภัยไว้ใจได้ กลับหายากอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะหยิบอะไรใส่ปาก ก็ไม่มีวันแน่ใจได้เลยว่าจะปลอดพ้นจากสารพิษหรือไม่ เวลามีการสำรวจสารตกค้างในอาหาร เดาได้เลยว่า ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างที่ตรวจจะต้องพบสารพิษตกค้าง แม้แต่ข้าวสารก็ไม่เว้น อันตรายของพืชผักผลไม้ในตลาดเมืองไทยมีมากเพียงใด ก็ดูได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า เดี๋ยวนี้ชาวสวนเป็นอันมากไม่ยอมกินพืชผลที่ตนเองปลูก ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลีบนดอยสูงในเชียงใหม่ หรือแตงโมที่นครปฐม ล้วนปลูกเพื่อขายถ่ายเดียวส่วนผลจะตกอยู่กับผู้ซื้อเพียงใด ใครบ้างจะนำพา

    เจอแบบนี้ชั่วนาตาปี หากใครจะบอกให้ปลงก็คงปลงไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นก็ต้องหาคนผิด แน่นอนว่าจำเลยรายแรกที่เราหมายตาไว้ก็คือ ผู้ผลิต ส่วนจำเลยที่สองก็คือ รัฐบาลนั่นเอง ขั้นตอนต่อไปก็คือเรียกร้องให้รัฐบาลเข้มงวดกวดขันกับผู้ผลิต หากกฎหมายยังไม่รัดกุมก็ต้องแก้ไขให้มีบทลงโทษหนักๆ พร้อมกับกำหนดค่ามาตรฐานให้แน่ชัดเพื่อสินค้าจะได้มีความปลอดภัยมากขึ้น

    สมมติว่าวันดีคืนดีรัฐบาลเกิดแข็งขันขึ้นมาเป็นเดือดเป็นร้อนแทนเราจริงๆ และทำตามข้อเรียกร้องข้างต้นโดยไม่มีลูบหน้าปะจมูกใดๆ เลย(ขอย้ำว่านี่เป็นเรื่องสมมติ ซึ่งแปลว่าไม่ใช่เรื่องจริงและคงเป็นจริงได้ไม่ง่ายนัก) นี้ย่อมเป็นข่าวดีสำหรับเราอย่างแน่นอน แต่ข่าวร้ายก็คือ ในที่สุดอาหารเปื้อนสารพิษก็คงจะยังเกลื่อนตลาดเหมือนเดิม กฎหมายหรืออาญาสิทธิ์ของรัฐมิใช่แก้วสารพัดนึกที่จะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง หากทำได้เช่นนั้นจริงระบอบคอมมิวนิสต์ก็จะไม่มีวันล่มสลาย และสหภาพโซเวียตก็คงยังไม่แตกเป็นเสี่ยงๆ อย่างที่ได้เห็นกันอยู่

    จริงอยู่ใครๆ ก็ไม่อยากมีเรื่องมีราวกับตำรวจ แต่ถ้าคุณเป็นชาวสวนซึ่งเป็นหนี้สินรุมเร้า คุณคงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเร่งผลผลิตเพื่อเอาไปขายใช้หนี้ นั่นหมายความว่านอกจากจะต้องระดมใส่ปุ๋ยและฮอร์โมนแล้ว ยังต้องรีบเก็บรีบขนผลผลิตไปตลาดทั้งๆ ที่ยากำจัดศัตรูพืชยังไม่ทันสลายตัว อันที่จริงสารเคมีเหล่านี้ คุณอาจจะรู้ด้วยซ้ำว่า มันไม่เพียงแต่จะเป็นภัยต่อสุขภาพ หากยังเป็นโทษต่อสภาพแวดล้อม ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ และมีแมลงศัตรูพืชมากขึ้นเพราะธรรมชาติเสียสมดุล ผลผลิตจึงมีแต่จะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะเหตุนี้เอง คุณจึงต้องพึ่งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงมากขึ้น เพื่อให้มาทำงานทดแทนธรรมชาติ แม้จะชั่วคราวก็ยังดี จะมีสักกี่คนที่คำนึงถึงผลระยะยาว ตราบใดที่ยังไม่แน่ใจว่าตนเองจะอยู่รอดในวันนี้วันพรุ่งนี้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับคนที่ไม่มีทุนรอนและร้อนเงิน การปลูกพืชโดยใช้สารเคมีอาจเป็นทางเดียวที่ช่วยให้คุณสามารถหาเงินมาคืนนายทุนหรือธกส.(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ได้ทันเวลา

    ความจำเป็นทางการเงินเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีปัจจัยทางสังคมอีกมากหลายที่บังคับให้ชาวนาชาวสวนต้องหันไปหาสารเคมี เวลานี้ชนบทหลายแห่งขาดแคลนกำลังคน จนถึงขั้นต้องไปขนคนจากหมู่บ้านไกลๆ เพื่อมาเก็บเกี่ยวผลผลิต แน่ล่ะในกรณีเช่นนี้ค่าจ้างจะต้องสูงพอ ส่วนค่าขนส่งก็ต้องจ่ายอีกต่างหาก แต่บางครั้งทั้งๆ ที่สร้างแรงจูงใจถึงเพียงนั้นก็ยังหาคนได้ยาก ดังนั้นเมื่อถึงคราวจะต้องกำจัดวัชพืช แทนที่จะเสียเวลาตามหาคนมาถางหญ้า ชาวไร่ชาวสวนเป็นอันมากก็หันไปใช้ยากำจัดศัตรูพืชเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป บางทียังจะทุ่นเงินอีกด้วยซ้ำ

    ทางสายตรงแม้จะสั้น แต่เมื่อรกชัฏเสียแล้ว ใครต่อใครหันไปใช้ทางอ้อมเพราะราบเรียบกว่า การเกษตรแบบไร้สารเคมีนั้นเป็นของประเสริฐ แต่การที่ชาวนาชาวสวนไม่เลือก คงไม่ใช่เพราะเขาไม่เห็นประโยชน์ หากเลือกได้เขาคงเลือกเกษตรกรรมอินทรีย์เป็นอันดับแรก ดังที่หลายคนก็เลือกวิธีการนี้เวลาจะปลูกไว้กินเอง แต่เมื่อถึงคราวจะต้องปลูกขาย มีเหตุปัจจัยมากมายดังกล่าวแล้วที่ทั้งบังคับทั้งชักจูงให้เขาต้องพึ่งสารเคมีที่ร้ายแรง การจะสรุปว่าเป็นเพราะความโลภและความเลวของเกษตรกร ชีวิตของเราจึงไม่ปลอดภัยนั้น เห็นจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก คนดีๆ หรือคนที่มีความโลภพอประมาณไม่ต่างจากเราๆ ท่านๆ หากเลือกที่จะปลูกพืชผักขาย ในที่สุดก็คงจะหลีกสารเคมีเหล่านี้ไม่พ้น

    จะว่านี่เป็นกรรมของเราในฐานะผู้บริโภคก็ย่อมได้ แต่กรรมในที่นี้มิได้หมายถึงคราวเคราะห์หรือวิบากกรรมที่ซ้ำเติมชีวิต หากแต่หมายถึงกรรมที่เป็นการกระทำของเราเอง เมื่อมองไปอย่างถึงที่สุดแล้ว ปัจจัยหรือเงื่อนไขทางสังคมที่กำหนดให้ผู้ผลิตทั้งหลายต้องตกอยู่ในสภาพ “ฆาตกรผ่อนส่ง” นั้น เราทุกคนล้วนมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดมีขึ้นทั้งสิ้น เวลาเราหลงใหลได้ปลื้มกับการที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นนิกส์ เรารู้หรือไม่ว่ากำลังเชียร์ให้รัฐบาลเร่งสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมให้หนักมือขึ้นและปล่อยปละละเลยชาวนาชาวไร่ยิ่งกว่าเดิม จนเป็นหนี้สินกันทั้งประเทศ เวลาเราดีใจที่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยพุ่งพรวดเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ เราเคยมองต่อไปหรือไม่ว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากหรือไม่ และเขามีทางเลือกมากขึ้นเพียงใดในการผลิตพืชผลด้วยวิธีการที่ต่างไปจากเดิมซึ่งรวมถึงการไม่ใช้สารเคมี เมื่อเราสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ เราตระหนักหรือไม่ว่า กำลังส่งเสริมให้ชนบทล่มสลายและสนับสนุนให้ผู้คนต้องอพยพมาทำงานในเมือง จนแรงงานขาดแคลนในชนบท ในสภาพเช่นนี้ใครที่คิดจะทำการเกษตรปลอดสารเคมี คงต้องคิดหนัก เว้นเสียแต่ว่าสามารถหาแรงงานมาช่วยได้ แต่นั่นก็อาจจะหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้น คำถามก็คือผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่

    ตรงนี้เองก็เป็นกรรมของเราอีกเช่นกัน เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการของถูก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่า เรากำลังสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารเคมีเนื่องจากเป็นหนทางที่จะได้ผลผลิต “ราคาถูก” ความจริงแล้วเกษตรแบบสารเคมี ไม่มีวันที่จะผลิตพืชผักราคาถูกได้เลยหากว่าเอาต้นทุนทางสังคมและสภาพแวดล้อมที่เสียไปมาคำนวณด้วย ในขณะที่การเกษตรปลอดสารเคมี แม้จะมีสภาพต้นทุนด้านแรงงานมากกว่า แต่ต้นทุนทางสังคมและสภาพแวดล้อมกลับน้อยกว่ามาก กระนั้นก็ตาม เมื่อผู้บริโภคให้ความสำคัญกับตัวเงินมากกว่าก็ยากที่อาหารปลอดสารเคมีจะแย่งชิงพื้นที่ในตลาดได้ ดังนั้นการที่ตลาดบ้านเรามีอาหารธรรมชาติน้อยมาก จึงต้องโทษผู้บริโภคคือเราทุกคนด้วย

    เวลาเราชี้นิ้วกล่าวโทษใคร เราต้องไม่ลืมว่าอีกสามนิ้วกำลังชี้กลับมาที่ตัวเรา สินค้าในตลาดนั้นไม่ได้ถูกกำหนดโดยผู้ผลิตฝ่ายเดียว ดังนั้นหากมีสินค้าเลวๆ อยู่เต็มตลาด นั่นก็เพราะว่าตลาดต้องการสินค้าเช่นนั้นด้วย เป็นเพราะเราต้องการพืชผักสวยๆ ชาวสวนจึงไม่รีรอที่จะใช้สารเคมีนานาชนิดเพื่อให้ผลผลิตออกมาน่ากิน เป็นเพราะเรายอมไม่ได้ที่ข้าวสารจะมีราคาแพง จึงเท่ากับว่าเราเห็นดีเห็นงามกับการที่รัฐบาลกดราคาข้าว ผลก็คือชาวนาจำต้องปลูกข้าวแบบเอาปริมาณเข้าว่า ยิ่งกว่าที่จะเน้นคุณภาพ

    สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตามหลักอิทัปปัจจยตาไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอยๆ หรือเป็นไปด้วยตัวมันเองล้วนๆ ในทางการเมือง มีคำกล่าวว่าราษฎรเป็นอย่างไรรัฐบาลก็เป็นอย่างนั้นหากได้ผู้ปกครองที่เลวร้าย ต้นตอก็อยู่ที่ประชาชนนั่นเอง ฉันใดก็ฉันนั้น คุณภาพของผู้ผลิตก็ย่อมเป็นผลสะท้อนมาจากคุณภาพของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้การแก้ปัญหาคุณภาพสินค้าจึงมิได้อยู่ที่การเข้มงวดกวดขันกับผู้ผลิตอย่างเดียว หากยังขึ้นอยู่กับการพัฒนาตัวผู้บริโภคเองด้วย

    คุณภาพของตัวเราเองในฐานะผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ และบางทีจะสำคัญยิ่งกว่าผู้ผลิตเสียด้วยซ้ำ คุณภาพของผู้บริโภคมิได้หมายถึงการมีความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ตนจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น หากจะต้องมองให้เห็นปัญหาอย่างเชื่อมโยงกับปัจจัยแวดล้อม จนประจักษ์แก่ใจว่าเราเองก็มีส่วนทำ “กรรมร่วม” คือร่วมกันสร้างเงื่อนไขในสังคมซึ่งก่อผลเสียแก่ตัวเราเองในท้ายที่สุด ยิ่งสามารถมองจนเลยพ้นคุณค่าอันฉาบฉวยและคำนึงถึงผลประโยชน์อันยาวไกลไปได้มากเพียงใด สิ่งที่สะท้อนกลับคืนมาก็จะเป็นคุณประโยชน์แก่เรามากเพียงนั้น
    :- https://visalo.org/article/chaladsue_2.htm

     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    how to be poor.jpg
    ตามรอยความฟุ่มเฟือย

    พระไพศาล วิสาโล
    คนไทยจับจ่ายใช้สอยกันหนักขึ้นทุกทีจนนายกฯ บรรหารเป็นห่วง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีจดหมายจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเวียนไปถึงรัฐมนตรีทุกกระทรวงโดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ปรารภถึงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับหนึ่งว่าคนไทยกำลังติดอันดับโลกในด้านความฟุ่มเฟือยโดยมีตัวเลขระบุว่าคนไทยซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์มากเป็นที่ ๒ ในเอเชียรองจากญี่ปุ่น ทั้งๆที่รายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยของคนไทยมีไม่ถึงร้อยละ ๗ ของรายได้คนญี่ปุ่น นอกจากนั้นคนไทยยังจับจ่ายใช้สอยด้วยบัตรเครดิตโดยเฉลี่ยมีปริมาณสูงกว่าคนสิงคโปร์และเกาหลีใต้ แม้ว่ารายได้ของคนไทยจะต่ำกว่าทั้งสองประเทศมากก็ตาม

    ดูเหมือนว่าจะเป็นประเพณีแล้วว่า ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็จะกำชับให้หน่วยงานราชการทุกกระทรวง ทบวง กรมลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เพื่อส่งเสริมนโนบายประหยัด ในท้ายจดหมายดังกล่าว ยังระบุอีกด้วยว่าขอให้ระบบราชการเป็นตัวอย่างในการนิยมใช้ของไทย ต่อจากนั้นก็มีข่าวนายกรัฐมนตรีแจกเนคไทไหมไทยแก่รัฐมนตรีทุกคน นัยว่าเพื่อรณรงค์ใช้ของไทย แต่นโนบายนี้เห็นทีจะไม่เป็นผล เพราะไม่กี่วันหลังจากนั้นก็มีข่าวดังไปทั่วประเทศว่า อดีตรองนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งมอบรถเบนซ์ราคา ๖ ล้านแก่รองนายกรัฐมนตรีที่เคยร่วมคณะรัฐมนตรีเดียวกัน


    อันที่จริงว่ากันโดยตัวเลข คนไทยซื้อรถเบนซ์น้อยกว่าคนอาฟริกาใต้ด้วยซ้ำ อีกทั้งจำนวน ๑๓,๔๓๙ คันที่ซื้อเมื่อปีที่แล้วก็ยังน้อยกว่าจำนวนรถอีกหลายยี่ห้อที่ขายดีอยู่ในเวลานี้ เทียบแล้วก็มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ ๓ ของรถยนต์ทั้งหมดที่ซื้อขายกันเมื่อปีที่แล้ว ถึงอย่างไรก็ตามความฟุ่มเฟือยของคนไทยก็เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธได้ยาก และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังไปแล้ว การที่นักศึกษามหาวิทยาลัยสะพายกระเป๋าใบละ ๘๐,๐๐๐ บาท ขับรถคันละหลายแสนบาท ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เดี๋ยวนี้ สามารถพูดอย่างเต็มปากได้แล้วว่า นี้คือความเป็นไทยอย่างหนึ่ง

    ความเป็นไทยแบบนี้นับว่าเป็นของใหม่เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของไทย ย้อนหลังไปไม่กี่สิบปีคนไทยยังมีกิตติศัพท์ในด้านการเป็นอยู่อย่างสมถะ ฝรั่งที่มาเยือนเมืองไทยไม่ว่าสมัยพระนารายณ์หรือสมัยรัชกาลที่ ๗ ล้วนบันทึกตรงกันว่าคนไทยกินอยู่อย่างง่ายๆ ทั้งๆที่บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามที่น่าสนใจก็คือ คนไทยไม่ได้อยู่อย่างสมถะไปทั้งปีทั้งชาติ ฝรั่งเขียนตรงกันอีกเหมือนกันว่าถึงหน้าเทศกาล วันนักขัตฤกษ์ หรือมี “งาน” เมื่อไร คนไทยจะฉลองกันเต็มที่ มีอาหารกินกันอย่างฟุ่มเฟือย และที่ขาดไม่ได้คือดื่มเหล้าจนมากมาย แต่หมดงานสิ้นเทศกาลเมื่อไรก็กลับมาอยู่กันง่ายๆ มีข้าว ปลา กับผักเป็นหลัก เนื้อวัวเนื้อหมูนานครั้งถึงจะได้กิน ขณะที่ “เครื่องดื่ม” มีเพียงอย่างเดียวคือน้ำ
    น่าคิดว่าทั้งๆที่คนไทยมีนิสัยรักสนุกแต่เหตุใดจึงไม่ฟุ่มเฟือยเหมือนในปัจจุบัน ความเชื่อทางด้านศาสนาและประเพณีท้องถิ่นย่อมมีส่วนอยู่มาก แต่คงไม่ใช่สาเหตุเดียว เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมคงมีส่วนอยู่ไม่น้อย พูดง่ายๆคือการที่คนไทยแต่ก่อนอยู่กันอย่างสมถะ สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะทรัพยากรที่เป็น “ส่วนเกิน” นั้นมีน้อย จริงอยู่ธรรมชาติแวดล้อมในอดีตนั้นอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง แต่วิถีการผลิตของคนสมัยก่อนเป็นการผลิตแบบยังชีพ นั่นคือผลิตแค่พอกินไม่ได้ผลิตจนล้นเกินความต้องการ สมัยก่อนไม่ค่อยมีการค้าขายจึงไม่รู้จะผลิตมากๆไปทำไม สาเหตุสำคัญอีกประการก็คือการผลิตส่วนใหญ่ต้องทำด้วยตนเองและต้องทำกับมือด้วยเพราะเทคโนโลยีเป็นแบบพื้นๆ ลงคนเราต้องทำอะไรด้วยตนเองแล้ว ก็มักจะทำเท่าที่จำเป็นคือเท่าที่ตัวเองต้องการบริโภคและในทางกลับกัน ในเมื่อมีเงื่อนไขว่า ถ้าต้องการอะไรก็ต้องทำด้วยตนเองแล้ว ผู้คนก็ย่อมจำกัดความต้องการของตนให้เหลือเท่าที่จำเป็น ดอลสตอยเคยกล่าวว่า “ใครก็ตามหากจำเป็นต้องต่อเก้าอี้ด้วยตนเอง ในที่สุดก็จะพบว่า นั่งกับพื้นนั้นแหละดีแล้ว”

    วิถีการผลิตเช่นนี้ทำให้คนไทยไม่มีสิทธิฟุ่มเฟือยได้มากนัก ถ้ากินทิ้งกินขว้าง ก็หมายความว่าต้องทำนาหนักขึ้น หาไม่ข้าวก็จะหมดยุ้งก่อนข้าวรุ่นใหม่จะมา ถ้าอยากมีเสื้อผ้าหลายๆชุด ก็ต้องยอมเหนื่อยกับการทอผ้า ถึงอยากจะเมาทุกวี่ทุกวัน ก็ติดขัดเพราะต้องเก็บข้าวไว้กินก่อน จะกู้ยืมเงินใครมาเสพสุขก็ทำได้ยากเพราะนายทุนเงินกู้มีน้อย มิหนำซ้ำการเป็นหนี้เป็นสินใครก็ไม่ใช่ของดี ในยุคที่ผู้คนผลิตเพียงแค่พอกินพอใช้ การเป็นหนี้สินย่อมหมายความว่า ถ้าไม่ขี้เกียจ (ผลิตน้อยกว่าที่ต้องการ) ก็ต้องเป็นคนมือเติบหรือฟุ่มเฟือย (ต้องการมากกว่าที่ผลิตได้)

    วิถีชีวิตดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อเศรษฐกิจแบบเงินตราเข้ามา หลังจากที่คนไทยผลิตข้าวเพื่อขายมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือแบบแผนการบริโภคได้เปลี่ยนไป นอกจากซื้อเสื้อผ้ากันมากขึ้นแล้ว อาหารการกินก็ยกระดับสูงขึ้น และที่เห็นได้ชัดคืองานเลี้ยงงานฉลอง เช่นงานทำบุญ บวชลูก แต่งงานลูก ทำกันใหญ่โต ขนาดล้มวัวล้มควาย จนเป็นหนี้เป็นสินกันแพร่หลาย ในภาคกลางสภาพดังกล่าวเห็นได้ชัดเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว อันเป็นระยะเดียวกับที่นายทุนเงินกู้ ซึ่งเป็นชาวจีนส่วนใหญ่ แพร่เข้าไปในท้องถิ่น เมื่อเงินหาง่ายขึ้นอุปสรรคกีดขวางการบริโภคของคนไทยก็พังทลายลง ผู้คนสามารถหาสิ่งมาปรนเปรอความต้องการของตนได้โดยไม่ต้องลงไม้ลงมือทำด้วยตนเอง แม้ว่านั่นอาจหมายถึงการสูญเสียที่ดินของตนไปในที่สุดก็ตาม

    ตกมาถึงปัจจุบัน เงื่อนไขทางเศรษฐกิจยิ่งอุดหนุนจุนเจือความรักสนุกของคนไทยให้เบ่งบานอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แถมคนไทยยังสามารถรักสบายได้อีกต่างหาก เพราะเงินหาได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก อยู่เฉยๆก็อาจได้เงินมาเป็นล้านๆเพราะขายที่ดินหรือขายหุ้นได้ (ยังไม่ต้องพูดถึงเงินกู้หรือสินเชื่อแบบต่างๆที่หาได้ง่ายรวมทั้งในรูปบัตรเครดิต ซึ่งคนไทยใช้กันชนิดติดอันดับโลก) ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจที่โตเอาๆก็ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่เมืองไทยมีเศรษฐีหมื่นล้านหลายคนในชั่วเวลาไม่ถึงสิบปีนอกจากจะแสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแล้ว ยังบ่งชี้ถึงความผิดพลาดในการกระจายรายได้ที่ทำให้เงินจำนวนมหาศาลไหลเทไปยังคนจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้น เงินที่ได้มาอย่างง่ายดายโดยแรงหนุนจากระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ (รวมถึงรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเช่น การพนัน ตลอดจนการคอรัปชั่นซึ่งระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง) ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ในชั่วเวลาไม่ถึง ๖ ปี จำนวนคนไทยที่ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มเป็นเกือบ ๕ เท่า คือจาก ๓๘๓,๐๐๐ คนเป็น ๑,๘๒๐,๐๐๐ คนโดยหมดเงินไปกับสิ่งของฟุ่มเฟือยในต่างแดนถึง ๒๗,๕๐๐๐ ล้านบาทในเพียงปีเดียว ส่วนเงินที่ควักไปให้กับของฟุ่มเฟือยในประเทศรวมทั้งเพื่อการบันเทิงเริงรมย์ต่างๆนั้นคงจะมีมากกว่านี้กลายเท่า

    นิสัยรักสนุกและชอบสบายน่าจะเป็นเหตุผลอธิบายได้ว่า เหตุใดคนไทยจึงไม่ค่อยเก็บออมเงินเหมือนคนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรืออาจจะรวมถึงมาเลเซียด้วย แต่สาเหตุนอกเหนือจากนั้นเชื่อว่าคงมีอีกมากที่สำคัญคือทัศนคตินิยมวัตถุ ซึ่งกำลังแพร่ระบาดไปทุกอณูของชีวิตคนไทย เริ่มตั้งแต่เด็กก็ถูกเลี้ยงดูด้วยการปรนเปรอวัตถุ เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก จึงคิดว่าวัตถุสิ่งของราคาแพงจะเป็นเครื่องแสดงความรักของตนได้ (หรือมิฉะนั้นก็เป็นอุปกรณ์ตัดความรำคาญ) เด็กที่กำลังเติบโตตามเมืองใหญ่ๆของไทยยามนี้ยากที่จะซาบซึ้งหรือเข้าใจความรักหรือคุณค่านามธรรมอื่นๆ เพราะถูกเลี้ยงดูด้วยวัตถุไม่ใช่ด้วยความรัก จึงเข้าใจไปว่าคุณค่าของคนอยู่ที่วัตถุและแสดงด้วยวัตถุเท่านั้น หากถามเยาวชนในปัจจุบันว่าอะไรบ้างที่ทำให้เขาอับอายคำตอบคือ ถ้าเป็นเด็กเล็กก็อายเพราะไม่มีสเกตบอร์ดหรือกระเป๋าเวิร์กช็อป ถ้าเป็นวัยรุ่นก็อายเพราะไม่มีวิทยุมือถือหรือกระเป๋าหลุยส์วิตตอง

    ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะพบด้วยตัวเองในเวลาไม่นานว่าหากขับรถเบนซ์หรือรถหรูมีระดับแล้ว ก็จะเป็นเจ้าถนนได้ง่ายเพราะตำรวจจราจรจะไม่มากวนเลย และถ้าไปติดต่อธุระการงานที่ไหน ก็จะได้รับความเชื่อถือจากผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฝรั่ง (ฉบับเดียวกับที่กล่าวมาแต่ต้น) เขียนเล่าว่า ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศของธนาคารไทยแห่งหนึ่งเตรียมจะซื้อรถโตโยต้า ฮอนด้าหรือไม่ก็ซูซูกิด้วยซ้ำ ปรากฎว่าพอเจ้านายรู้เข้า ต้องรีบห้ามทันทีพร้อมกับเสนอให้ซื้อรถเบนซ์ “มิฉะนั้นภาพพจน์จะไม่ดีเอาเลย” เขากล่าว สองสามตัวอย่างที่กล่าวมาแสดงว่า ความฟุ่มเฟือยหรือการนิยมของหรูหรานั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของความอยากเสพอยากสนุก หรือหน้าตาล้วนๆ หากยังเป็นเรื่องของความอยู่รอดด้วย

    การเอาตัวรอดในยามที่ต้องเจรจากับตำรวจหรือคู่ค้าทางธุรกิจนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่หากว่าในยามพบปะเพื่อนฝูง ผู้คนยังคิดถึงการเอาตัวรอด โดยการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีด้วยของใช้ราคาแพงชนิดใหม่ล่าสุด นั่นเป็นเรื่องไม่ธรรมดาแล้ว ในทุกวงการแม้กระทั่งในหมู่เด็กและวัยรุ่น ภาพลักษณ์กำลังถูกสร้างขึ้นมาอย่างเอาเป็นเอาตายไม่หยุดหย่อน จะเพื่อเป็นกำแพงปกป้องตนเองไม่ให้ใครมาข่มขู่ดูถูกก็ดี เพื่อเชิดชูตนให้สูงเด่นก็ดี หรือเพื่อเป็นเครื่องมือแสวงผลประโยชน์จากผู้อื่นก็แล้วแต่ ย่อมแสดงว่าผู้คนเวลานี้กำลังมองคนอื่นเป็นคู่แข่งหรือไม่ก็เป็นเหยื่อ เท่ากับเป็นการบ่งบอกถึงสภาพอันเปราะของสังคมที่ปราศจากแรงยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เช่นความรัก ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล กลุ่มชุมชน หรือสังคมใดก็ตามถ้าหากมีความแน่นแฟ้นกลมเกลียวกันแล้ว แม้ภาพลักษณ์ของแต่ละคนจะสำคัญ แต่ก็หาได้มีความสำคัญที่สุดไม่ เพราะมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า นั่นคือมิตรภาพ ความเอื้ออาทร และการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ในสังคมเช่นนี้ทรัพย์สินไม่ได้มีไว้โชว์หรือแสดงตัวตนเหนือผู้อื่นเป็นสำคัญ หากแต่เป็นไปเพื่อเผื่อแผ่ส่วนรวม ในหมู่บ้านสมัยก่อน คนรวยได้รับการนับหน้าถือตา เพราะมีบ้านใหญ่ วัวควายเยอะ ก็หามิได้ หากแต่เป็นเพราะรู้จักสงเคราะห์เพื่อนบ้านต่างหาก

    การแก้ปัญหาความฟุ่มเฟือยในสังคมไทย หากจะให้ได้ผลต้องมีหลายมิติ นอกจากการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มภาษีดอกเบี้ย ควบคุมการใช้จ่ายเงินของภาครัฐบาล หรือขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยแล้ว ยังมีมิติทางสังคมวัฒนธรรมเช่น การเลี้ยงดูเด็ก การเสริมสร้างแรงยึดเหนี่ยวในสังคมให้เข้มแข็ง เป็นต้น แม้แต่มาตรการทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมก็สำคัญ เพราะตราบใดที่ตำรวจยังไม่กล้าแตะต้องคนขับรถเบนซ์ ขณะที่คนมีเงินสามารถหลุดคดีอุกฉกรรจ์ได้ง่าย ความฟุ่มเฟือยหรือการอวดมั่งอวดมีก็ย่อมเป็นวิธีเอาตัวรอดที่ดีที่สุดสำหรับสังคมตัวใครตัวมันอยู่นั่นเอง
    :- https://visalo.org/article/chaladsue_15.htm

     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    ข่าวดีและข่าวร้ายสำหรับชาวพุทธ
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อเดือนที่แล้วมีข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้รับความสนใจจากสำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก ข่าวนั้นก็คือ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ๒ แห่งในสหรัฐอเมริกาได้บทสรุปตรงกันอย่างมิได้นัดหมายว่า ชาวพุทธมีความสุขและความสงบใจมากกว่าคนกลุ่มอื่น ข้อสรุปดังกล่าวมิได้มาจากการทำแบบสอบถามอย่างที่มักนิยมทำกันในเวลานี้ แต่เกิดจากการตรวจสอบหรือวัดการทำงานของสมอง นักวิทยาศาสตร์พบว่าในหมู่คนถือพุทธนั้น สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกที่ดี ๆ จะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากกว่าสมองของคนกลุ่มอื่น ซึ่งก็หมายความว่าความสุขและความรู้สึกนึกคิดในทางบวกจะเกิดขึ้นกับคนถือพุทธมากกว่า นอกจากนั้นเขายังพบอีกว่า ชาวพุทธมีแนวโน้มจะตื่นตระหนก ตกใจ หรือโกรธน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น

    ฟังแล้วคนไทยอย่าเพิ่งปลื้ม เพราะชาวพุทธที่เขานำมาตรวจวัดสมองนี้เป็นชาวพุทธในอเมริกา และเป็นผู้ที่ชอบทำสมาธิภาวนา บทสรุปจริง ๆ ของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ๒ แห่งนี้ก็คือ สมาธิภาวนานั้นช่วยให้ใจสงบ ระงับความโกรธ และควบคุมความกลัวได้ อานิสงส์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะเวลาทำสมาธิเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นต่อเนื่องแม้จะเลิกทำสมาธิแล้ว

    ข้อสรุปย่อหน้าหลังนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ คนไทยหรืออย่างน้อยผู้ที่สนใจใฝ่ธรรมเขารู้มานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่านี้จะเป็นครั้งแรก ๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างสมาธิภาวนากับการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก แถมยังไปไกลถึงขั้นสรุปว่าชาวพุทธมีความสุขและใจสงบยิ่งกว่าคนกลุ่มอื่น

    ถ้าถือว่านั่นเป็นข่าวดี ข่าวร้ายก็คือเมื่อ ๒-๓ เดือนก่อน มีข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งแพร่ไปทั่วโลก ข่าวนี้ให้ความรู้สึกตรงข้ามกับข่าวแรก และโยงมาถึงเมืองไทยโดยตรง นั่นคือข่าวที่ว่าพระสงฆ์ไทยเป็นโรคจิตกันมากขึ้น ที่ถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายก็มีไม่น้อย จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสงฆ์ผู้หนึ่งเปิดเผยว่า มีพระสงฆ์ไทยจำนวนมากป่วยเป็นโรคจิต โรคซึมเศร้า โรคเครียดและวิตกกังวล

    คงไม่มีข่าวใดที่จะตัดกันมากเท่านี้อีกแล้ว ในดินแดนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศบริโภคนิยมสุด ๆ ชาวพุทธที่นั่น (ซึ่งเกือบร้อยทั้งร้อยเป็นฆราวาส) เป็นผู้ที่มีความสุขมากกว่าใคร ๆ ขณะที่ในประเทศซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเมืองพุทธ พระสงฆ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบ กลับมีความเครียดและปัญหาจิตใจกันมากขึ้น แม้จะไม่มีการทำสถิติพระสงฆ์ไทยที่มีปัญหาทางจิต แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าพระสงฆ์ไทยเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ก็เป็นตัวชี้วัดระดับความเครียดของพระสงฆ์ไทยได้ไม่น้อย

    อ่านข่าวทั้งสองแล้ว คงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับวงการพระสงฆ์ไทย? วิถีบรรพชิตน่าจะเป็นวิถีแห่งความสงบ แต่เหตุใดพระสงฆ์ไทยจึงมีปัญหาทางจิตใจกันมากขึ้น? คุณหมอแห่งโรงพยาบาลสงฆ์ตั้งข้อสังเกตว่า การเมืองในวัดและความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ที่แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ หรือตามภูมิลำเนา เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง

    ข้อสังเกตนี้สามารถโยงไปถึงปัญหาการปกครองสงฆ์ ไม่เฉพาะในระดับวัดเท่านั้น หากสัมพันธ์ไปถึงระดับประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปกครองสงฆ์ทุกวันนี้มิได้ใช้อำนาจเป็นหลัก เมื่อมีปัญหาใดเกิดขึ้นในวงการสงฆ์ ไม่ว่าระดับใดก็ตาม วิธีที่นิยมใช้กันก็คือการออกกฎหรือคำสั่ง( ดังกฎมหาเถรสมาคมฉบับล่าสุด ซึ่งว่ากันว่ามีขึ้นเพื่อห้ามพระเที่ยวห้างหรือใช้โทรศัพท์มือถือ) แต่นั่นยังไม่ร้ายเท่ากับปัญหาที่ว่าการใช้อำนาจนับวันจะอิงคุณธรรมน้อยลงเรื่อย ๆ กลายเป็นการใช้อำนาจแบบอัตตาธิปไตย คือเอาความเห็นหรือผลประโยชน์ของผู้ปกครองเป็นหลัก

    ผลประโยชน์และเส้นสายได้มามีอิทธิพลต่อการปกครองสงฆ์ยิ่งกว่าหลักคุณธรรม ทำให้วงการสงฆ์เต็มไปด้วยการแก่งแย่งผลประโยชน์ (ตั้งแต่เงินค่าสวด ไปจนถึงรายได้จากการขายวัตถุมงคลและเงินก่อสร้างโบสถ์) ยิ่งผลประโยชน์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับสมณศักดิ์และตำแหน่งปกครองด้วยแล้ว วัดและคณะสงฆ์จึงกลายเป็นวงการที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและขับเคี่ยวในทางสมณศักดิ์และตำแหน่งปกครอง ไม่เว้นแม้แต่ระดับเจ้าอาวาส

    การปรับปรุงการปกครองสงฆ์เพื่อให้คุณธรรมมาเป็นหลักยิ่งกว่าผลประโยชน์ เป็นเรื่องสำคัญ การทำให้คณะสงฆ์รวมศูนย์อำนาจน้อยลง กระจายอำนาจมากขึ้น และปกครองในรูปกลุ่มบุคคลแทนที่จะอิงตัวบุคคล เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยลดระบบเส้นสาย และทำให้การปกครองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการต่อมาคือทำให้คณะสงฆ์มีความโปร่งใสมากขึ้นทั้งในด้านการบริหารและการเงิน ตั้งแต่ระดับวัดขึ้นไป

    แต่ทำแค่นั้นหาพอไม่ สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้คือการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ การละเลยสมาธิภาวนา เน้นแต่ด้านปริยัติ เป็นจุดอ่อนสำคัญของการศึกษาสงฆ์ตลอด ๘๐ ปีที่ผ่านมา การที่สมาธิภาวนาขาดหายไปจากชีวิตของพระสงฆ์ ทำให้ท่านขาดความสุขประณีตที่จะมาหล่อเลี้ยงชีวิตพรหมจรรย์ และดังนั้นจึงเข้าหาความสุขทางวัตถุมากขึ้น หมกมุ่นในลาภสักการะ และถลำสู่วังวนแห่งการแก่งแย่งผลประโยชน์ รวมถึงการวิ่งเต้นในทางสมณศักดิ์ จนไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของญาติโยม

    การศึกษาที่เน้นปริยัติ หากสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดและสามารถนำธรรมะมาใช้กับชีวิตและสังคมได้ ก็ยังไม่นับว่าสูญเปล่า เพราะผู้เรียนสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง แต่การศึกษาของสงฆ์ในปัจจุบันเป็นปริยัติศึกษาแบบท่องจำล้วน ๆ แถมเนื้อหายังล้าสมัย ห่างไกลจากชีวิตและสังคมสมัยใหม่ จึงไม่ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจใฝ่รู้ เรียนอย่างแกน ๆ เพียงเพื่อให้จบ การศึกษาแบบนี้สร้างความทุกข์แก่พระเณรเป็นอันมากจนเป็นโรคเครียดกันมิใช่น้อย

    การศึกษาและการปกครองอย่างที่เป็นอยู่นี้แหละที่ทำให้พระสงฆ์ไทยทั้งหนุ่มและชราเป็นโรคเครียดกันมาก จนนำไปสู่ปัญหามากมาย รวมถึงการหาทางออกที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การหมกมุ่นกับความบันเทิงเริงรมย์จากโทรทัศน์และวีซีดี ทั้งโป๊และไม่โป๊ การเข้าหาอบายมุข การสะสมลาภสักการะ และการแย่งชิงอำนาจกัน มิพักต้องพูดถึงเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ อีกนับไม่ถ้วน
    :- https://visalo.org/article/budKawdee.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...