ทำบุญอะไรถึงจะฉลาด ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 21 สิงหาคม 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,174
    ถาม : ต้องทำบุญอะไรคะถึงจะฉลาด ?

    ตอบ : ฉลาดมันต้องในเรื่องของ ธรรมทาน และอีกตัวหนึ่งก็คือตัว ภาวนา ตัวภาวนานี่เป็นตัวสร้างปัญญาโดยเฉพาะ สมมุติว่าถ้าหากว่าชาตินี้เราภาวนาจนสามารถทรงฌานทรงสมาบัติได้ เกิดชาติใหม่ฉลาดแน่นอน แต่ขณะเดียวกันถ้ามีผลทางด้านธรรมทาน อย่างเช่นว่า ถวายพระไตรปิฎก ไว้ หรือว่า ข้อธรรมอันใดที่เรามั่นใจว่าปฏิบัติได้แล้วนำไปสั่งสอนคนอื่นต่อ อันนี้ก็จะเป็นตัวที่สร้างความฉลาดให้โดยตรง การบริจาคหนังสือทุกประเภท ถือเป็นธรรมทานแต่ ถ้าหากว่าได้พระไตรปิฎกนี่ เป็นธรรมทานโดยตรง อานิสงส์ก็จะมากกว่าอันอื่นเขา เอามั้ยเกิดกี่ยกดี ?

    ถาม : รอสังคายนาอยู่ครับ ?

    ตอบ : รอสังคายนาอยู่ ... จริงๆ ไม่ต้องก็ได้ ฉบับสยามรัฐ ดี มันผิดอยู่คำเดียว มันไม่ได้ผิดหรอกมันเพี้ยนกันระหว่าง ชะโน กับ ชะนัง มันก็ชนหมู่มากเหมือนกัน ต่างกันอยู่นิดเดียวเท่านั้นเอง

    ถาม : พระไตรปิฎกนี่จริงๆ ไม่มีอรรถกถาเลยใช่มั้ยครับ ?

    ตอบ : พระไตรปิฎกนี่จริงๆ ไม่มี อรรถกถานี่ประเภทที่เรียกว่าเห็นว่ากระดูกเยอะไป เติมน้ำให้หน่อยอะไรอย่างนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวจะแทะไม่ออกแล้วเสร็จแล้วก็ใบฎีกา แล้วก็อธิบายอรรถกถา อนุฎีกา อธิบายฎีกาใช่มั้ย ? เสร็จแล้วก็ยังมีเกจิอาจารย์ อธิบายอนุฎีกาอีกอันนี้อีก ยิ่งมาต่อปีกต่อหางยิ่งยาวไปเรื่อย อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่ากล่าวถึงพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกก็จะว่าพระพุทธเจ้าเกิดในตระกูลศากยะอย่างนี้ เสด็จออกบวชเมื่ออายุ ๒๙ ปี ต่อมาอรรถกถาก็ พระพุทธเจ้าเกิดในตระกูลศากยะใช่มั้ย ? มีบิดาชื่อนั้น มีมารดาชื่อนั้น แต่งงานเมื่อนั้น มีบุตรเมื่อนั้น เสด็จออกบวชเมื่อนั้นอย่างนี้ พอใบฎีกาเขาจะต่อปีกต่อหางไปอีก มีภรรยาชื่อนั้น พี่น้องชื่อนั้นอะไรอย่างนี้ มันก็จะเยอะขึ้นๆ ไปเรื่อย ถ้าหากว่าอรรถกถานี่ยังเชื่อได้เพราะว่า อรรถกถาเป็นสัมภิทาญาณแล้วหลังจากนั้นเขาก็จะอธิบายเฝื่อมากขึ้น เพราะว่ามันจะอยู่ลักษณะที่เรียกว่าเหมือนจะพยายามเอาความเก่งของตัวเองมากลบความเก่งของคนเก่า ในเมื่อในลักษณะนั้นมันก็จะจิตมันก็จะประกอบไปด้วยกิเลสด้วยอะไรด้วยมันก็จะอธิบายเข้าป่าเข้าดงไปก็เยอะ

    ถาม : อย่างพระสูตรนี่ พระพุทธเจ้าท่านจะดูตามเฉพาะบทบาลีอย่างเดียวเหรอครับ แนวเรื่องมันไม่ได้ต่อกันเลย ?

    ตอบ : เขาเอามาจัดอยู่เป็นหมวดหมู่เดียวกัน เพราะว่าจะเป็นเนื้อหาในลักษณะที่สอนคนประเภทเดียวกัน อย่างเช่นว่า พระสูตรแต่ละสูตรนี่จะสอนคนในลักษณะอย่างนี้ๆ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งปลายแล้วจบลงในลักษณะอย่างนี้ ท่านจะขึ้นหัวแล้วสรุปท้ายตั้งแต่ เอวัมเมสุตัง ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ เอกังสะมะยังภะคะวา สมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า.... ไล่ไปเรื่อยแล้วก็จะมาสรุปลงท้าย อิทะมะโว จะภะคะวา ปัญจวัคคียาภิกขุ ภะคะวะโตภาสิตัง พระปัญจวัคคีพอได้ฟังภาษิตก็คือ คำเทศน์ของพระพุทธเจ้าแล้วอย่างนี้นี่ก็จะไล่ลงไปว่าผลเป็นอย่างไร ขึ้นต้นอย่างไร เนื้อหาอย่างไร สรุปอย่างไรนี่ ละเอียดมากมาสมัยหลังๆ ตัดออกเยอะ ยิ่งถ้าหากว่าเกี่ยวกับชาดกต่างๆ ซึ่งเราเห็นเป็นนิทานไปเลยอย่างนี้ เขาจะตัดหัวตัดท้ายหมดเหลือแต่เนื้อหาที่มาๆ อย่างไรไม่บอก ผลลัพธ์รับอย่างไรก็ไม่บอก มันจะทำให้เสียผลถ้าหากว่าคนที่ไม่ใช่ประเภท อุคคติติญญู คือประกอบไปด้วยปัญญาอย่างยิ่งฟังแค่เนื้อหาแทงตลอดเลย ก็จะเสียผลไปเลย เพราะส่วนใหญ่ชาดกแต่ละเรื่องจะเริ่มจากว่ามีสาเหตุมาจากอะไร อย่างเช่นว่าทำไม พระโลลุทายี นิสัยเสียขนาดนี้ ทำอะไรก็จับจดโลเลมีแต่สิ่งผิดพลาดอยู่ตลอด พอคนเขากล่าวนินทาขึ้นมา พระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงถามว่าภิกษุทั้งหลายเธอพูดกันด้วยเรื่องอะไร พอพูดกับถึงเรื่องนี้เสร็จแล้วท่านก็อธิบายว่า โลลุทายีไม่ได้เป็นชาตินี้ชาติเดียว อดีตชาติเขาเป็นมาอย่างนี้ๆ ท่านเกิดเป็นคนนี้ๆ ว่าไปเรื่อยๆ แล้วก็สรุปว่า อะหังเอวะ ตัวตถาคตเองก็เกิดเป็นอย่างนี้

    ท่านโลลุทายีเป็นผู้นี้ ท่านผู้นี้เกิดเป็นอะไรอย่างนี้ พอสรุปเสร็จเรียบร้อยคนฟังก็บรรลุมรรคผลเป็นแถว ของเราเองยังไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าไม่ได้ตรองตามในปัญหาในเนื้อหาตามที่ท่านว่ามา เพราะว่าคนมี ปัญญาเขาตรองตามเออ... ขนาดพระพุทธเจ้าเองท่านก็ยังเวียนตาย เวียนเกิดไม่รู้จบเนาะ กว่าจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านเองก็ต้องทุกข์ต้องยากมาอย่างนี้ แต่ละท่านแต่ละองค์ก็ต้องเป็นอย่างนี้ๆ แรงกรรมมันหนุนส่งเป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดอีกมันก็จะทุกข์อีก เป็นแบบนี้เราอย่าเกิดอีกดีกว่า จะมีการสรุปท้ายอะไรด้วย ลักษณะท่านตรองตามด้วยปัญญา ดังนั้นว่า ทุกสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ท่านเน้นเอามรรคผลทั้งนั้น เพียงแต่สมัยนี้หลวงพ่อท่านบอกว่าสัญญาและปัญญาของคนมันทรามลงไม่ได้คิดถึงตรงจุดนี้ ฟังเอามันอย่างเดียวก็มี หรือไม่ก็อยากรู้ว่าเรื่องราวมันเป็นยังไงแค่นั้นเอง

    ถาม : แล้วเรื่องที่ต่อเนื่องอย่างนี้เราก็จะพบอยู่ในอรรถกถา ?

    ตอบ : จะมีอรรถกถาที่ท่านอธิบายอยู่แต่ว่าเนื้อหายังไม่ละเอียดอย่างที่บอกแล้วว่า ส่วนใหญ่ก็ประเภทเนื้อล้วนๆ อย่างนี้ถ้าใส่น้ำลงไปหน่อยค่อยคล่องคอขึ้น

    ถาม : เลยมีความรู้สึกว่า เอ้... พระพุทธเจ้าเวลาท่านเล่าเรื่องท่านตรัสเป็นบทๆ อย่างนี้หรือเปล่าหรือท่านเล่าเป็นเรื่องกันแน่ ?

    ตอบ : จะเป็นเรื่องไป แต่ว่า แต่ละเรื่องแต่ละตอนไม่ได้ต่อเนื่องกันเพียงแต่ว่าพอถึงเวลาสังคายนาเขาจะมาจัดเป็นหมวดหมู่เข้า พอจัดหมวดหมู่เข้า อันที่เป็นพระวินัยก็เป็นพระวินัย ท่านอาจจะประเภทวันนี้เทศน์พระสูตรไปซักครึ่งวันอย่างนี้ อยู่ๆ มันมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระวินัยขึ้นมา ก็ต้องเรียกสงฆ์มาประชุมกัน ตรัสถามว่าเธอทำอย่างนี้จริงมั้ย ? เสร็จแล้วก็โทษของการที่ทำอย่างนี้เป็นอย่างไร ? ประโยชน์ของการละเว้นเป็นอย่างไร ? แล้วก็บัญญัติเป็นข้อห้ามขึ้นต่อสงฆ์ทั้งหลาย ก็อาจจะเป็นว่า วันนี้อย่างนี้ วันนี้อย่างนี้สลับกันไปกันมา แต่ว่า พระอานนท์ ท่านจำได้ทั้งหมด ท่านก็เอามาจัดหมวดหมู่ตอนสังคายนาพระไตรปิฏก เนื้อหามันก็เลยเหมือนอย่างกับว่าบางทีมันกระโดดไม่ได้ต่อเนื่องกันไม่ได้อะไรกัน

    ถาม : อ่านตามบทแปลของบาลีอย่างเดียวนี่ไม่ต่อเนื่องกันเลยครับ ?

    ตอบ : ไปคนละทิศคนละทาง ยังดีว่าท่านมาแยกหมวดแยกหมู่นี่พวกเราสบายกันเยอะ ไม่งั้นมันต้องคลำกันทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ กว่าจะเจอส่วนที่ตัวเองชอบ

    ถาม : ฉบับสยามรัฐนี่ผิดตัวเดียวเท่านั้นเหรอครับ ?

    ตอบ : ไม่ได้ผิดหรอก เพี้ยน (หัวเราะ) ไม่ถือว่าผิด คำเดียวเท่านั้น

    ถาม : แล้วฉบับภาษาไทยล่ะครับ ?

    ตอบ : ยังไม่ได้อ่านรายละเอียดของเขา แต่ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะเป็นไทยที่ต้องแปลเป็นไทยอีกทีพอเป็นไทยที่ต้องแปลเป็นไทยอีกทีคนอ่านถ้าไม่คุ้นกับภาษาไทยโบราณก็เรียบร้อยเลย เจ๊งสนิท สมัยก่อนเขาว่าอะไรนะ ปลูกเรือนใกล้ท่าไม่มีน้ำจะกิน ช่างปั้นหม้อดินไม่มีหม้อจะใช้ เลี้ยงไก่ไว้ไม่มีไก่จะขัน อยากขึ้นสวรรค์ให้ไปแก้ผ้าในวัด ปลูกเรือนใกล้ท่าไม่มีน้ำจะกิน บ้านอยู่ริมน้ำไม่มีน้ำจะกินน่ะ ลูกบ้านนั้นขี้เกียจบรรลัยเลย ตักน้ำขึ้นบ้านแค่นั้นมันยังไม่ตัก ช่างปั้นหม้อดินไม่มีหม้อจะใช้ ก็สไตส์เดียวกัน เลี้ยงไก่ไว้ไม่มีไก่จะขัน อันนี้เขาหมายถึงว่าประเภทที่ว่าถึงเวลาชาวบ้านใส่บาตรเลี้ยงพระไปเรื่อย บทจะเอาจริงขึ้นมาพระเอาแต่ขี้เกียจ กินแล้วนอนสวดมนต์ไหว้พระอะไรไม่ป็นสักอย่าง ถึงเวลาจะจัดพิธีสงฆ์อะไรก็ทำไม่ได้ เลี้ยงไก่ไว้ไม่มีไก่จะขัน อยากไปสวรรค์ให้ไปแก้ผ้าในวัด สมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นใบลานหรือไม่ก็กระดาษสาอะไรที่เป็นพับๆ ถึงเวลาจารึกเป็นคำสอนเป็นพระสูตร เป็นพระวินัย พระอภิธรรมเสร็จก็จะห่อผ้าเก็บไว้ อยากไปสวรรค์ต้องไปแก้ผ้าในวัด ไปแกะอ่านเอาเอง

    ถาม : นึกว่าให้ไปแก้ผ้าจริงๆ ?

    ตอบ : ยายบ๊อง ขืนไปแก้ผ้าจริงๆ พระ เณรแตกตื่นหมด



    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนมีนาคม ๒๕๔๕
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ



    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 22 ตุลาคม 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...