ตะลอนเที่ยว-เลี้ยวเข้าวัดป่า อุบลราชธานี

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 27 พฤศจิกายน 2005.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="100%"><TBODY><TR><TD>
    คอลัมน์ บันทึกเดินทาง

    โดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย



    </TD><TD vAlign=top align=right>
    [​IMG]

    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    [​IMG]

    พอฝนซาเม็ด ลมหนาวเริ่มมาทักทาย หลายคนเริ่มชำเลืองมองวันที่บนปฏิทิน เตรียมหาวันหยุดยาว ลาไปพักผ่อนปลายปี

    อิน เทรนด์ สุดสุดต้องภาคเหนือ ไปหายใจกรุ่นอายหมอก บนยอดดอย

    คราวนี้ขอสวนกระแสสักนิด แม้จะเป็นทางเหนือเหมือนกัน แต่เป็นตะวันออกเฉียงเหนือ-จังหวัดอุบลราชธานี

    ความที่เมืองดอกบัวเป็นจังหวัดใหญ่ ถ้าไม่วางแผนการเดินทางคงเปลืองน้ำมัน(ไม่) น่าดู

    วันแรกออกท่องเที่ยวนอกตัวเมืองกันก่อน เริ่มที่ แก่งสะพือ อยู่ในแม่น้ำมูล ที่พิบูลมังสาหาร ห่างจากอำเภอเมืองไปราว 45 กิโลเมตร

    ในราวเดือนมกราคม-พฤษภาคม อยู่ในช่วงหน้าแล้ง น้ำน้อยไหลหลั่นลงคล้ายน้ำตกขั้นเตี้ยๆ มองเห็นแก่งหินอยู่ตามแนวขวางของแม่น้ำชวนให้ลงเล่น แต่เพราะไปปลายหน้าฝน น้ำเยอะจนอดเห็นแก่งหินไปโดยปริยาย

    ส่วนบนฝั่งเป็นสวนสาธารณะ ตกเย็นเมื่อไหร่หลายคนก็จับจองม้าหิน บ้างปูเสื่อ นำอาหารมานั่งทาน มองทิวทัศน์ยามเย็นอย่างเพลินใจ

    จากแก่งสะพือสังเกตป้ายบอกทางไปเรื่อยๆ ขับรถไปไม่นานก็ถึงเขื่อนสิรินธร

    ภายในบริเวณเขื่อนเป็นที่ตั้งของ สวนสิรินธร สวนสาธารณะที่ชาวอุบลฯและนักท่องเที่ยวนิยมแวะ

    จะให้อาหารปลาที่ศาลาริมเขื่อน เดินเล่นสักพักแล้วค่อยกลับ หรือจะอยู่นานไปจนเย็นย่ำค่ำคืนก็ได้ เพราะทางเขื่อนมีบ้านพักหลังย่อมราคาเยา ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมเขื่อนไว้รองรับ

    จะไปเที่ยวลาวขับรถไปอีกไม่กี่สิบกิโลเมตรก็ถึง"ด่านชายแดนช่องเม็ก"

    ถึงจะย่างเข้าหน้าหนาว แต่ก็ไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะท้องฟ้าใสแดดยามเที่ยงจึงยังคงรักษาดีกรีความร้อนได้อย่างไม่มีตก สินค้าที่สะดุดตาอย่างแรกจึงเป็นร่มสีสันสดใสหลายขนาดที่มีให้เลือกซื้ออยู่เยอะ

    ที่ด่านมีทั้งคนไทย,คนลาวและนักท่องเที่ยวตาน้ำข้าวเดินกันขวักไขว่ คึกคักเอาการ

    หลังเสียปี้ผ่านด่าน 5 บาท ก็เดินข้ามไปชมตลาดลาวได้ มีร้านค้าปลอดภาษีอยู่หลายร้านทางซ้ายมือ ขายขนม ช็อกโกแลต เหล้า เบียร์ บุหรี่ น้ำหอม ฯลฯ ฉลากที่ติดไว้บ่งว่ามาจากหลายประเทศอย่าง ไทย เวียดนาม จีน อังกฤษ ฯลฯ

    ถัดไปเป็นบรรดาร้านรวงที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับถนนเล็กน้อย ขายสินค้ากันแผงชนแผง มีให้เลือกซื้อทั้งที่หนีบผม ไฟแช็ก ไฟฉาย นาฬิกา เสื้อผ้าวัยรุ่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ เครื่องเล่นอิเล็กโทน ฯลฯ เสียงเรียกให้แวะดูสินค้าดังไปตลอดทาง

    ข้ามถนนไปอีกฝั่ง ส่วนใหญ่ขายผัก,ผลหมากรากไม้,กล้วยไม้,ยาสมุนไพร แถมยังขายกบตัวเป็นๆ กระโดดอยู่ในกะละมัง

    เทป,ซีดีเพลงไทย,เพลงลาวและเพลงสากล ทางฝั่งลาวขายอยู่หลายราคา มีตั้งแต่แผ่นละ 20 บาท จนถึง 100 กว่าบาท ให้เลือกซื้อกันตามสะดวก

    ถ้ายังไม่เหนื่อยขับรถขึ้นไปจากช่องเม็กไปอำเภอโขงเจียมกันต่อ

    อำเภอนี้มีเขื่อนปากมูล

    เพราะปัญหาระหว่างสร้างและหลังสร้าง กับปัญหาระหว่างฝ่ายรัฐกับชาวบ้านมีเยอะ เห็นชัดคือ เรื่องการประมง จนรัฐต้องแก้ด้วยการสร้างบันไดปลาไม่ค่อยโจน เอ้อ! บันไดปลาโจน ให้ปลาได้ขึ้นไปวางไข่เหนือเขื่อน

    เป็นอีกหนึ่งจุดในเขื่อนปากมูลที่ใครไปใครมาต้องแวะชมเกือบทุกคน

    อีกแห่งในโขงเจียมที่ไม่น่าพลาดคือ แม่น้ำสองสี

    ดอนด่านปากน้ำมูล เป็นจุดที่น้ำโขงและน้ำมูลมาพบกันเกิดเป็นสองสี เป็นที่มาของคำเรียกง่ายจำได้แม่นว่า "โขงสีปูน มูลสีคราม"

    จุดที่ชมแม่น้ำสองสีได้ชัดต้องที่ วัดโขงเจียม ภายในวัดมีศาลาโบกปูนไว้ให้นั่งชมแบบไม่ร้อน บางคนบอกว่าบางครั้งน้ำจะขึ้นมาถึงใต้ศาลาเลยทีเดียว

    เสียดายวันที่ไปน้ำอยู่ห่างออกไปเป็นสิบเมตร ที่อยู่ใกล้คือวัวหลายตัว ยืนบ้าง นอนคุดคู้บ้าง เล็มหญ้าที่ขึ้นบนพื้นดินที่ครั้งหนึ่งน้ำเคยท่วมถึงอย่างสบายอารมณ์

    หากท้องเริ่มร้อง ใกล้กับจุดชมแม่น้ำสองสี มีร้านอาหารหลายแพริมน้ำโขงให้เลือกอร่อยตามชอบ ฝั่งตรงข้ามที่เขียวด้วยสีของต้นไม้คือ ประเทศลาว

    แล้วก็นึกไปว่าไม่ว่าถูกแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติหรือประเทศ ที่สุดแล้วคนสองฝั่งโขงก็พี่น้องกันทั้งนั้น

    ส่วนที่ "อุทยานแห่งชาติผาแต้ม" มีเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯที่ประจำอยู่ตรงทางเข้า ช่วยแนะนำเป็นอย่างดี

    หยุดที่แรกคือ "เสาเฉลียง" ดูเผินๆ ราวกับเห็ดยักษ์ เดินขึ้นไปหน่อยคือ "ลานหินแตก" ได้ชื่อนี้เพราะบางจุดหินแยกออกเป็นร่อง สุดลานเป็นหน้าผา มีลมเย็นพัดมาเป็นระยะ หลายคนใช้เวลาชมวิวรอบๆ อยู่ตรงนี้เป็นนาน

    มาถึง "ผาแต้ม" ไม่ได้ดูภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์หลายร้อยภาพ สะท้อนชีวิตผู้คนยุคนั้นคงเสียดายแย่

    เริ่มที่ "ผาขาม" ต่อด้วย "ผาแต้ม" สุดท้ายคือ "ผาหมอน" วาดเป็นภาพมนุษย์ เป็นสัตว์อย่าง ช้าง วัว เต่า ปลา บางภาพก็ใช้ฝ่ามือทาบ บ้างก็เป็นภาพสิ่งของเครื่องใช้ในวิถีชีวิต

    เดิมทางเดินอยู่ใกล้ชิดกับภาพเขียนสี แต่เพราะนักท่องเที่ยวไปแตะภาพบ่อยเข้า ทางอุทยานฯจึงต้องกั้นทางเดินใหม่ให้ห่างออกมา

    เลียบทางเดินเบื้องล่างคือแม่น้ำโขง ถัดไปเป็นฝั่งลาว(อีกแล้ว) คนหนึ่งในกลุ่มเปรยเล่นๆ ขึ้นมาว่า ครั้งหนึ่งภูฝั่งนี้กับฝั่งโน้นอาจเคยติดกันมาก่อนก็เป็นได้ สันนิษฐานเอาจากรูปทรงของภูทั้งสองฝั่ง ที่ถ้านำมาประกบกันแล้วน่าจะลงล็อคกันพอดี

    กว่าจะดูภาพเขียนสีเสร็จก็เลยเวลาพระอาทิตย์ตกที่ผาแต้ม แต่ยังทันเห็นแสงสุดท้ายของวันที่นั่น

    จากผาแต้ม เดินทางอย่างไม่รีบร้อนนัก สักชั่วโมงกว่าก็ถึงตัวเมืองอุบลฯ

    อาหารขึ้นชื่อของอุบลฯที่เห็นขายกันหลายเจ้าคือ "ก๋วยจั๊บญวน" เส้นคล้ายขนมจีน แต่เส้นเล็กกว่า สีขาวขุ่น เหนียวนิดๆ อีกอย่างคือ "ข้าวเกรียบปากหม้อญวน" ใส่เส้นหมูยอและผักแบบเต็มพิกัด ถ้าให้อิ่มกว่านี้ก็ตอกไข่เพิ่มลงไป รอให้ไข่สุกพอประมาณแล้วตวัดแป้งขึ้นมาห่อไส้ ราดน้ำจิ้มลงไปหน่อย ก็หอมกรุ่นชวนทาน

    ร้านเครื่องดื่มเลื่องชื่อของตัวเมืองหลายคนยกให้ "เล็กนมสด" ขายเครื่องดื่มสารพัด ทั้งชา กาแฟ โกโก้ ฯลฯ ทานคู่กับขนมปังทาแยมหรือสังขยา คนแน่นร้านทุกวัน

    รุ่งขึ้นเป็นโปรแกรมเข้าวัดเติมบุญกันหน่อยท่าจะดี

    วัดที่ชาวอุบลฯคนไทยรวมไปถึงคนต่างชาติรู้จักกันดีคือ "วัดหนองป่าพง" ตั้งอยู่ที่วารินชำราบ ไม่ไกลจากอำเภอเมืองนักมีหลวงพ่อชา สุภัทโท พระเกจิสายกรรมฐานเป็นผู้ก่อตั้ง

    วัดนี้เป็นต้นแบบของวัดป่าร่วมร้อยแห่ง ภายในแบ่งสัดส่วนชัดเจน เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวชะอุ่ม บรรยากาศจึงร่มรื่นเอื้อต่อการทำจิตใจให้สงบ

    เดินเข้าไปภายในวัดจะพบกับอาคาร 3 ชั้น เป็นอย่างแรก เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาสิ่งของต่างๆ อย่าง เครื่องอัฐบริขาร รถเข็นของหลวงพ่อชาเมื่อครั้งที่ท่านอาพาธ ฯลฯ รวมทั้งหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อชา

    จากนั้นเดินไปนมัสการเจดีย์ ระหว่างทางมีสุภาษิตธรรมเขียนลงบนป้ายติดไว้ตามต้นไม้ มีให้อ่านอยู่มากมาย สอนธรรมอีกทางหนึ่ง

    ก่อนกลับแวะเข้าไปดูหนังสือธรรมคำสอนของหลวงพ่อชาที่เรียกว่า "มรดกธรรม" ไม่ได้ติดราคาขาย บอกแค่เพียงต้นทุนการผลิต ใครต้องการหยิบติดมือไปก็มีตู้ให้บริจาคตามกำลังศรัทธา

    อีกหนึ่งวัดป่าที่ชาวพุทธทั้งไทยและเทศรู้จักกันดีคือ "วัดป่านานาชาติ" เป็นวัดป่าสาขาที่ 19 ของวัดหนองป่าพง ภายในร่มรื่นด้วยต้นไม้เช่นเดียวกัน

    เดิมวัดนี้มีพระชาวอเมริกันหลายรูป หลวงพ่อชาจึงเรียกว่า "วัดป่าอเมริกาวาส" แต่ต่อมามีพระจากหลายประเทศนับสัญชาติแล้วก็เป็นสิบ หลวงพ่อชาจึงเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นชื่อที่รู้จักกันในปัจจุบัน

    ถึงจะเป็นพระต่างชาติ แต่ภาษาก็ไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร เพราะพระจำนวนไม่น้อยฝึกฝนภาษาไทยจนใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว สอนธรรมแก่ชาวบ้านและญาติโยมอย่างไม่มีปัญหา ถึงวันพระเจ้า อาวาสก็ขึ้นนั่งธรรมาสน์เทศน์เป็นภาษาไทยให้คนฟังได้อิ่มรสธรรม

    แม้จะอยู่เมืองดอกบัวไม่นานนัก แต่ก็ประทับใจไม่ใช่น้อย...

    [​IMG]

    พระสงฆ์ที่วัดป่านานาชาติ

    ที่มา: มติชน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 พฤศจิกายน 2005

แชร์หน้านี้

Loading...