เรื่องเด่น จิตหลงมายา และ ทางดับกิเลส

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 26 กรกฎาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,209
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,711
    จิตหลงมายา.jpg

    ตอนที่ ๑ จิตหลงมายา และ ทางดับกิเลส


    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพทุธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม การอบรมจิตนั้น มาจากภาษาบาลีว่า จิตตภาวนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงจิตไว้ว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสร คือ ผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา แต่ว่าจิตนี้เมื่อปฏิบัติทำจิตตภาวนา ก็วิมุตหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามาได้ เครื่องเศร้าหมองนั้นมาจากคำว่า กิเลส และกิเลสนี้เป็นสิ่งที่จรเข้ามาดองจิต นอนเนื่องอยู่ในจิต จึงหมายความว่า กิเลสไม่ใช่เป็นธรรมชาติของจิต แต่เป็นสิ่งที่จรเข้ามา ดังกล่าว จึงเป็นเหมือยอย่างแขกหรือผู้มาหาที่เข้ามาสู่บ้าน แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ยึดบ้านที่เข้ามานั้นเป็นที่อาศัย ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตนี้ยังเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้ ถ้าน้อมไปในฝ่ายชั่ว ก็จะคุ้นเคยอยู่กับความชั่ว ถ้าน้อมไปในทางดีในความดี ก็จะคุ้นเคยอยู่ในฝ่ายความดี จิตเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้ดั่งนี้

    ธรรมชาติของจิต

    แต่ว่าจิตนั้นก็ยังมีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นธาตุรู้ อันเรียกว่าวิญญาณธาติ คือ ธาตุรู้ คืออะไร ๆ ได้ แต่ว่าเพราะจิตที่ยังมิได้อบรมนั้น แม้จะเป็นธรรมชาติรู้ ก็ยังเป็นรู้ผิดรู้หลงอยู่ เพราะยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง เพราะฉะนั้น เมื่อรู้สิ่งใดก็เป็นความรู้ที่ไม่ทะลุปรุโปร่ง แต่เป็นความรู้ที่ติดอยู่แค่มายาของสิ่งเหล่านั้น ยังไม่ทะลุถึงสัจจะ คือ ความจริง ฉะนั้นจึงมีความยึดถือติดอยู๋ในมายาของสิ่งนั้น ๆ ในโลก เมื่อสิ่งที่ยึดนั้นเป็นเพียงมายา ไม่ใช่เป็นสัจจะ คือ ความจริง ความรู้ที่ยึดมายานั้นจึงเป็นความรู้ผิด เป็นความรู้หลง ฉะนั้น จึงรับอารมณ์ คือ เรื่องทั้งหลายที่ได้ประสบพบเห็นทางตา โดยเป็นรูปต่าง ๆ ที่ได้ยินทางหู โดยเป็นเสียงต่าง ๆ ที่ได้ทราบทางจมูกโดยเป็นกลิ่นต่าง ๆ ที่ได้ทราบทางลิ้นโดยเป็นรสต่าง ๆ ที่ได้ทราบทางกายโดยเป็นสิ่งถูกต้องต่าง ๆ และที่ได้รู้ได้คิดทางใจโดยเป็นธรรมะที่แปลว่าเรื่องราวต่าง ๆ คือ เรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้ว เป็นต้น สิ่งที่รับทางตาหูเป็นต้น ดังกล่าว เข้ามาคิดปรุงหรือปรุงคิดในจิตใจ เรียกว่า อารมณ์ และเมื่อความรู้ของจิตที่รับนั้น ยังเป็นความรู้แค่มายาของสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้นจึงบังเกิดความยินดีในอารมณ์ คือ เรื่องอันเป็นที่ตั้งของความยินดี ยินร้ายในอารมณ์ คือ เรื่องอันเป็นที่ตั้งของความยินร้าย หลงติดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความหลงติด จึงปรากฏเป็นราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้ เป็นโทสะความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง เป็นโมหะคือความหลงอันเรียกว่า กิเลส


    อาสวะ อนุสัย

    อารมณ์และกิเลสเหล่านี้ก็ประกอบกันอยู่ หมักดองจิตอยู่ ทับถมทวีขึ้น และมุ่งอาการที่หมักดองก็เรียกว่า อาสวะ มุ่งอาการที่นอนเนื่องก็เรียกว่า อนุสัย อันเป็นที่ตั้งของอาการจิตที่เรียกว่า นิสสัย อุปนิสัย สันดาน ของบุคลลแต่ละคน และเมื่ออารมณ์และกิเลสหมักดองนอนเนื่องอยู่ดั่งนี้ เมื่อจิตนี้รับอารมณ์ คือ เรื่องใหม่ ๆ เข้ามาทางตาทางหูเป็นต้น ก็ทำให้อารมณ์และกิเลสที่หมักดองอยู่เป็นอาสวะเป็นอนุสัยดังกล่าวนั้นฟุ้งขึ้นมา ปรากฏเป็นความชอบบ้างในเมื่ออารมณ์ใหม่ ๆ เหล่านั้นเป็นพวกเดียวกันกับสิ่งที่ชอบ เป็นเป็นความชังบ้างในเมื่ออารมณ์ใหม่ ๆ เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของสิ่งที่ชัง เป็นอย่างเดียวกัน เป็นพวกเดียวกันกับความชังที่หมักดองอยู่ บังเกิดความหลงบ้าง ในเมื่ออารมณ์ใหม่ ๆ เหล่านั้นเป็นที่ตั้ง คือเป็นพวกเดียวกันกับความหลงที่นอนจมอยู่ ก็เพิ่มพูนราคะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ ดังกล่านั้นทวีมากขึ้นไปอีก

    จิตเศร้าหมอง

    เพราะฉะนั้น จิตของแต่ละบุคคลนี้จึงเป็นจิตที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส เพราะยังมีเครื่องเศร้าหมองมาหมักดองนอนจมอยู่ มากำบังธรรมชาติของจิตที่ประภัสสร คือ ผุดผ่องนั้น ทำให้ไม่ผุดผ่อง และมาปิดบังความรู้ที่เป็นธาตุรู้นั้นไม่ให้รู้จริง ให้รู้แค่มายาติดอยู่แค่มายาเท่านั้น อันสิ่งทั้งหลายที่เป็นอารมณ์ดังกล่าวนั้น ซึ่งทุก ๆ คนก็ชอบบางอย่าง ชังบางอย่าง หลงอยู่บางอย่าง อยู่โดยปรกติ ก็เป็นเพราะเหตุดังที่กล่าวมา

    มายาของรูปเป็นต้น

    และข้อที่เรียกว่ามายานั้น ถ้าพิจารณาก็พอเห็นได้ว่าเป็นมายาจริง ดังรูปทั้งหลายที่ตาเห็น เช่น ร่างกายนี้ของกันและกันก็เห็นแค่ผมขนเล็บฟันหนัง ใต้หนังเข้าไปก็มองไม่เห็น และผมขนเล็บฟันหนังนั้น ก็เป็นไปตามวัย เมื่ออยู่ในวัยที่งดงามเปล่งปลั่ง ก็งดงามเปล่งปลั่ง เมื่อผ่านวัยที่งดงามเปล่งปลั่งไปแล้ว ก็ทรุดโทรมชำรุด และก็ประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่ไม่งดงาม และสิ่งที่สกปรกเป็นอันมากภายในผืนหนังที่หุ้มห่ออยู่นี้ ถ้าเปิดออกมาดูแล้ว ก็จะไม่ปรากฏเป็นสิ่งที่งดงามน่ารักน่าชม แต่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด ทั้งโดยสี ทั้งโดยสัณฐาน ทั้งโดยกลิ่น ทั้งโดยที่เกิด ทั้งโดยที่อยู่ เพราะฉะนั้น ความงดงามที่ปรากฏอยู่ จึงมีอยู่แค่ผมขนเล็บฟันหนังที่ตามองเห็น และที่กำลังอยู่ในวัยที่เปล่งปลั่ง และที่ได้มีการตบแต่ง มีการชำระล้างตบแต่งไว้แล้ว เสียงก็เช่นเดียวกัน ก็สักแต่ว่าเป็นเสียง จะเป็นเสียงนินทาเสียงสรรเสริญ ก็เป็นแค่เสียง ความเป็นเสียงนั้นจะเป็นนินทาก็ตาม จะเป็นสรรเสริญก็ตาม ไม่แตกต่างกัน เหมือนอย่างลมที่พัดมา กระทบดังเองของทุก ๆ คน จะมาทางทิศไหนก็ไม่ต่างกัน จะพัดเบาพัดแรงก็เป็นลม แต่ว่าเพราะมีภาษาคือเสียงนั้นเองเป็นภาษา และก็มีสมมติภาษานั้นขึ้น บัญญัติภาษานั้นขึ้น สำหรับสื่อให้รู้จิตใจของกันและกัน จึงทำให้ติดในสมมติบัญญัติตามที่เสียงแสดงออก

    แต่ว่าเสียงที่แสดงออกไว้เป็นภาษานั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นความจริง ทั้งสรรเสริญทั้งนินทา ในเมื่อสรรเสริญผิดนินทาผิด เช่นว่าทำชั่ว สรรเสริญว่าทำดี ก็ไม่ทำให้ผู้ที่ถูกสรรเสริญว่าดีนั้นดีขึ้นมาได้ ต้องชั่วตามที่ตนทำนั้นเอง เมื่อทำดีแต่ถูกนินทาว่าชั่ว ก็ไม่ทำให้ความดีกลับเป็นความชั่วได้ เมื่อทำดีก็คงเป็นทำดีอยู่นั่นเอง แต่ว่าบุคคลติดในสมมติบัญญัติของภาษา จึงได้มีนินทา มีสรรเสริญ ทำให้เสียงที่สักแต่ว่าเป็นลม หรือดังที่เรียกว่า ลมปาก มีพลังอำนาจขึ้น ด้วยการที่มายึดถือในสมมติบัญญัติเป็นภาษาของเสียง กลุ่นนั้นจะเป็นอย่างไรก็แค่ประสาทจมูก พ้นประสาทจมูกไปแล้วก็ไม่ปรากฏว่าเป็นอย่างไร รสนั้นก็เช่นเดียวกัน อร่อยหรือไม่อร่อย ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็อยู่แค่ลิ้น พ้นประสาทลิ้นไปถึงคอแล้ว ความอร่อยไม่อร่อยต่าง ๆ ก็ไม่ปรากฏ สิ่งที่กายถูกต้องก็เหมือนกัน ก็ปรากฏว่าเป็นอย่างไรอยู่แค่กายประสาท พ้นกายประสาทเข้าไปแล้วก็ไม่ปรากฏเป็นความรู้สึกอย่างใด ธรรมะ คือ เรื่องราวทางใจต่าง ๆ ที่จิตมาปรุงคิดหรือคิดปรุง ก็ปรากฏเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ที่ความปรุง เหมืองอย่างพ่อครัวที่ปรุงอาหาร จะปรุงให้มีรสเค็มก็เค็ม จะปรุงให้มีรสเปรี้ยวก็เปรี้ยว จะปรุงให้มีรสหวานก็หวาน จิตก็เหมือนกัน จะปรุงให้ชอบก็ชอบ จะปรุงให้ชังก็ชัง จะปรุงให้หลงก็หลง ถ้าจิตไม่ปรุงเสียอย่างเดียว ชอบชังหลงก็ไม่ปรากฎ สิ่งเหล่านี้เป็นมายาทั้งนั้น แต่ว่าจิตนี้เพราะยังมีอวิชชาอยู่ จึงไม่รู้ถึงสัจจะคือความจริง รู้แค่มายา ก็ติดอยู่แค่มายา และปรุงแต่งกันอยู่แค่มายา โลกเป็นดั่งนี้

    ความหลงอยู่ในมายา

    เพราะฉะนั้น จึงได้มีความหลงอยู่ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ตั้งต้นแต่ความจริงทั่ว ๆ ไปที่เป็นเรื่องสามัญ จนถึงความจริงที่เป็นสิ่งละเอียด ที่เป็นสิ่งสามัญนั้น ก็คือความจริงในกิจการทั้งหลาย ในความติดต่อกันทั้งหลายของบุคคลนั้น ๆ เมื่อจิตรู้แค่มายา ไม่รู้ถึงความจริง จึงได้พากันเชื่อผิด คิดผิด ปฏิบัติผิด ทางกาย ทางวาจา ทางใจกันอยู่ในเรื่องนั้น ๆ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้จิตนี้เองพิจารณา โดยตรัสชี้ให้เห็นว่าโลกนี้มีมายาอย่างไร เพื่อให้รู้จักว่านั่นเป็นมายา และให้รู้ทะลุเข้าไปถึงสัจจะความจริง

    ประพฤติในศีล

    ตั้งต้นแต่กรรมที่กระทำ ตรัสสอนให้รู้จักว่า อย่างไรเป็นอกุศลกรรม กรรมชั่ว อย่างไรเป็นกุศลกรรม คือ กรรมดี เพื่อที่จะได้ละกรรมชั่วประกอบกรรมดี และการที่จะได้ปัญญาพิจารณาให้เห็นสัจจะคือความจริงดั่งนี้ด้วยตนเอง ให้จิตใจของตนเองรับรองด้วย ไม่ใช่เป็นแต่เชื่อพระวาจาตรัสเท่านั้น จึงตรัสสอนให้ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส คือให้บริสุทธิ์จาก
    กิเลสดังกล่าว ราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ และเมื่อสงบกิเลสเหล่านี้ลงได้อย่างหยาบด้วยศีล คือด้วยการที่มาเชื่อพระพุทธเจ้า รับศีลของพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติงดเว้นใจของตัวเองจาก โลภ โกรธ หลง ที่จะก่อให้เกิดเจตนาประกอบกรรม อันเป็นอกุศลทุจริตทางกาย วาจา ใจ ต่าง ๆ ได้ คือว่าเมื่องดเว้นใจของตัวเองได้ ก็คือ งดเว้นกิเลสกองโลภ โกรธ หลง เหล่านี้เองได้ สามารถที่จะรักษาศีลได้ ตั้งต้นด้วยศีล ๕ และงดเว้นใจของตัวเองจากกิเลสเหล่านี้ ที่เมื่อรับอารมณ์ต่าง ๆ ก็บังเกิดขึ้น และเมื่อยึดถืออยู่ก็ยังรักษากิเลสเหล่านี้ไว้ในจิตใจ เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง ในจิตใจ แม้ไม่ก่อเจตนากรรมออกมาเป็นบาปอกุศลทุจริต ก็ยังทำจิตใจให้ฟุ้งซ่านดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ถ้าหากว่าไม่ระงับเสีย กิเลสที่บังเกิดกลุ้มรุมจิตใจอยู่นี้ก็จะแรงขึ้นได้ ลุกลามขึ้นเป็นกิเลสอย่างหยาบ มาเป็นนายของจิตใจ ก่อเจตนากรรมให้ประพฤติผิดศีลต่าง ๆ ก่ออาชญากรรมต่าง ๆ

    ปฏิบัติในสมาธิ

    พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ปฏิบัติในสมาธิ ตั้งจิตมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย หัดน้อมจิตมาในกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งของสมาธิที่เป็นกุศล อาการที่เป็นสมาธินั้นคือ อาการที่จิตตั้งและเมื่อตั้งมั่น ไม่ใช่ตั้งชนิดที่คลอนแคลน กวัดแกว่ง กลับกลอก แต่เป็นชนิดที่ตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติทำกรรมฐานเพื่อสมาธิ และเมื่อทำบ่อย ๆ เข้าแล้ว ก็จะทำให้จิตนี้ตั้งมั่นได้ดียิ่งขึ้น เพราะว่าน้อมมาบ่อย ๆ จิตก็จะมีความคุ้นเคยอยู่ในกรรมฐาน ก็จะสละจากอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกิเลสได้ มาเอากรรมฐานเป็นอารมณ์ มาดูดดื่มในกรรมฐานและในการปฏิบัติกรรมฐานเพื่อสมาธินี้ เป็นทางพิจารณาก็มีเป็นทางที่ทำจิตรวมเข้ามาไม่พิจารณาก็มี จึงจะรู้ที่พิจารณานั้นก็เช่นพิจารณากาย ให้เห็นว่า ผมขนเล็บฟันหนัง เป็นต้น ที่ยึดถือกันอยู่ว่าสวยงามน่ารักน่าชมสะอาดนั่น ก็เป็นเพียงยึดในมายาของกาย จึงตรัสสอนให้พิจารณาละมายาเสีย มองเข้าไปเห็นสัจจะคือความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงาม เพื่อดับกิเลสกองราคะ อันจะทำให้จิตสงบจากราคะ และให้เจริญเมตตาแผ่จิตออกไป มุ่งให้บุคคลนั้น ๆ สัตว์นั้น ๆ โดยเจาะจงและไม่เจาะจงเป็นสุข ก็เป็นเครื่องดับโทสะพยาบาท และกำหนดพิจารณาธาตุกรรมฐาน ซึ่งรวมกันอยู่เป็นก้อนนี้อันเป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา โดยตรัสสอนให้แยกธาตุออกไป ว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุดินนํ้าไฟลม หรือเติมอากาศ (เพิ่มธาตุที่ ๕ คือ อากาสธาตุ) มาประกอบกันเข้า สักแต่ว่าเป็นธาตุ เมื่อ ธาตุสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นธาตุ ปรากฏขึ้น อัตตสัญญา ความสำคัญหมายยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราก็หายไป ก็เป็นการแก้โมหะดับโมหะในข้อนี้ เมื่อปฏิบัติกำจัดดับราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ อันบังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจได้ด้วยกรรมฐานเหล่านี้ จิตก็จะบริสุทธิ์สะอาดและเมื่อต้องการเพิ่มพลังให้เป็นจิตในสมาธิ ก็กำหนดสมาธิที่รวมจิตเข้ามา ให้มีอารมณ์เป็นอันเดียว เช่น อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก หรือทำเพ่งกสิณตามที่
    พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จิตก็จะรวมเป็นเอกัคคตา คือ ความที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวกันของจิตได้ เป็นสมาธิได้ตั้งแต่ขั้นบริกรรม คือ ขั้นที่ปฏิบัติกำหนด ขั้นอุปจาร คือ ว่าใกล้ที่จะสงบแน่วแน่ จนถึงขั้นอัปปนา คือ แน่วแน่

    บำเพ็ญในปัญญา

    และก็น้อมจิตที่แน่วแน่นี้ กำหนดพิจารณานมรูป หรือ ขันธ์ ๕ ให้เห็นสัจจะคือความจริง ว่า ล้วนเป็นอนิจจะไม่เที่ยงต้องเกิดต้องดับ ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตามิใช่ตัวเราของเรา คือ ไม่ควรจะเห็นยึดถือว่าตัวเราของเรา เพราะไม่มีตัวเราของเราอยู่ในนามรูป หรือในขันธ์ ๕ นี้ ดั่งนี้ ก็เป็นการปฏบัติเพื่อลดอวิชชาโมหะ ทำลายอวิชชาโมหะ ทำให้จิตนี้ปรากฎความประภัสสร คือ ผุดผ่องมากขึ้น หยั่งรู้ถึงสัจจะคือความจริงมากขึ้น เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมา ดังที่เรียกว่า จักษุ คือ ดวงตาผุดขึ้น ญาณความหยั่งรู้ผุดขึ้น ปัญญาความรู้ทั่วผุดขึ้น วิชชาความรู้แจ่มแจ้งผุดขึ้น โอภาส คือ ความสว่างผุดขึ้น ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว และทรงแสดงสั่งสอนไว้ การปฏิบัติโดยลำดับดั่งนี้เอง คือ สติปัฏฐาน ตั้งสติหรือสติตั้ง สัมมัปปธาน เพียรชอบ อิทธิบาท ธรรมะที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ อินทรีย์ ธรรมะที่เป็นใหญ่ พละ ธรรมะที่เป็นกำลัง โพชฌงค์ ธรรมะที่เป็นองค์ของความตรัสรู้ และมรรค มีองค์ ๘ ก็รวมอยู่ในทางปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้ อันนำให้บังเกิดดวงตา บังเกิดญาณ บังเกิดปัญญา บังเกิดวิชชา บังเกิดแสงสว่าง ในอริยสัจทั้ง ๔ ของพระพุทธเจ้า ดับอวิชชาได้ ดับกิเลสทั้งปวงได้ ดับทุกข์ได้ เมื่อปฏิบัติยังไม่ถึง ก็ย่อมดับได้ไปโดยลำดับ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก บางอย่างจนถึงทั้งหมด เพราะว่า ความบรรลุถึงผลดังที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่จะบรรลุได้ด้วยความคิดว่าจะบรรลุ หรืออยากจะบรรลุ แต่อยู่ด้วยการปฏิบัติมาโดยลำดับ ขึ้นไปโดยลำดับ ธรรมะก็จะสนันสนุนส่งผู้ปฏิบัติขึ้นไปโดยลำดับเองด้วย ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติทำความสงบสืบต่อไป

    -----------
    คัดลอกมาจากหนังสือ :
    หายใจให้เป็นสุข : สมเด็จพระญาณสังวร
    ๓ ตุลาคม ๒๕๕๑
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 กรกฎาคม 2017
  2. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,209
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,711
     

แชร์หน้านี้

Loading...