คนไข้ I.C.U. : คนไข้เตียงที่ 18 CA liver (โรคมะเร็งในตับ)

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 8 พฤษภาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    <CENTER>คนไข้ I.C.U. : คนไข้เตียงที่ 18 CA liver (โรคมะเร็งในตับ) </CENTER>
    <!--detail--><!--images--><!--images-->คนไข้เตียงที่ 18

    คนไข้ชื่อ คุณภักดี อายุ 67 ปี

    ป้ายหน้าเตียงเขียนไว้ว่า CA liver (โรคมะเร็งในตับ)

    คนไข้นอกเตียงที่ยกหัวขึ้นสูง อยู่ในห้องไอซียู รูจมูกสองข้างมีท่อออกซิเจนต่ออยู่ ท้องอืดพองหลาม เห็นเส้นเลือดสีเขียวคดเคี้ยวที่หน้าท้องชัดเจน

    สองปีก่อน...

    เขาเป็นโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหาร หลังผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออก หมอใหเสารเคมีบำบัดรักษาต่อเนื่องมานานหนึ่งปี หลังจากนั้น หมอก็นัดเขามาตรวจเป็นระยะๆ เมื่อครบสองปีของการผ่าตัดครั้งแรก พบว่ามะเร็งกระจายไปที่ตับ

    การกระจายของมะเร็งนี้ กระจายไปพร้อมกันทีเดียวหลายจุด ไม่สามารถจะผ่าตัดรักษาได้ สารเคมีบำบัดก็ไม่ได้ผลอีกแล้ว

    ท้องคนไข้อืดหลามด้วยมีน้ำคั่งในช่องท้อง หรือเรียกว่า ท้องมานน้ำ ทำให้หายใจไม่สะดวก อยู่โรงพยาบาลมาแรมเดือน อาการมีแต่ทรงกับทรุด

    เมื่อคนไข้บ่นแน่น หมอก็เจาะน้ำในท้องออกทีละสองลิตร เจาะออกน้ำในท้องก็สร้างขึ้นใหม่

    อยู่ห้องไอซียูได้หนึ่งเดือน คุณภักดีเริ่มซึมลง ถามคำตอบคำ ร่างผ่ายผอม ใบหน้าตอบจนเห็นเป็นรูปกระโหลก ตาเหลือง ตัวเหลือง มีแต่พุงที่โตขึ้นทุกวัน มือเริ่มสั่นเทิ้ม ตัวขึ้นลายจ้ำ ผลการเจาะเลือดแสดงว่าตับเริ่มไม่ทำงานแล้ว

    "คุณหมอครับ ช่วยรักษาพ่อผมให้เต็มที่ ผมขอฝากเป็นคนไข้พิเศษของคุณหมอ" ลูกชายคุณภักดีมาหาหมอสุรชาติ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอายุรกรรม

    การตอบรับคนไข้ เป็นคนไข้พิเศษ เพื่อหาผลประโยชน์ เป็นเรื่องที่น่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับคนเป็นหมอ...โดยเฉพาะหมอสุรชาติ

    "คุณครับ ผมรักษาเต็มที่แล้วครับ คนไข้ทุกคนถือว่าเป็นคนไข้พิเศษหมอหมด" หมอสุรชาติตอบอย่างจริงใจ

    "ประทานโทษนะครับ คุณภักดีมีลูกกี่คนครับ" หมอถามเบาๆ

    "สามคน หมอ พ่อเลี้ยงพวกเรามาอย่างปากกัดตีบถีบ พอตอนนี้พวกเราจะเลี้ยงตอบแทนบุญคุณท่านบ้าง เวลาก็เหลือน้อยเต็มที"

    "คุณแม่ของคุณมาด้วยไหมครับ"

    "แม่อยู่บ้าน พวกเราไม่อยากให้แม่มาเห็นอาการของพ่อ"

    "แล้วคุณมาโรงพยาบาลกับใครครับ"

    "มากับสามคนพี่น้องเลยหมอ"

    "งั้นขอเชิญคุณกับพี่น้องมาคุยกับหมอพร้อมๆกันนะครับ"

    ชายสามคนนั่งต่อหน้าหมอ

    "ครับ...ใครเป็นพี่คนโตครับ" หมอทักทายอย่างเคร่งขรึม

    "ผมครับ" ชายคนที่มาพบหมอแต่แรกยกมือขึ้น

    "ผมอยากเรียนให้ทุกท่านทราบว่า โรคมะเร็งในตับของคุณพ่อของคุณนี้ เป็นโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย ไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาก็ได้แต่ประคับประคอง คือปวดก็ให้ยาแก้ปวด แน่นก็เจาะน้ำในท้องออก เหนื่อยก็ให้ออกซิเจน"

    "ไม่มีทางรักษาเลยหรือหมอ" พี่ชายคนโตถามอย่างเครียดๆ

    "ครับ...ตามความรู้ของแพทย์แผนปัจจุบันไม่มีทางรักษาเลย"

    "จะอยู่นานเท่าไร"

    "อยู่นานเท่าไรนั้น หมอไม่สามารถตอบได้แน่ชัด บอกได้แต่ว่าอายุคุณภักดีคงไม่ยืนยาวเกินหนึ่งปี การอยู่นานหรือไม่นาน ขึ้นกับกำลังใจ
    และตอนนี้ หมอก็ยังไม่ได้บอกคุณภักดีตามความเป็นจริงเลย ญาติอยากให้หมอบอกไหมครับ"

    "หมออย่าบอกพ่อเลย...พ่อจะได้ไม่หมดกำลังใจ" ทั้งสามคนเห็นเหมือนกัน

    "แต่อย่างไร พวกเราก็อยากให้หมอรักษาพ่อให้เต็มที่ อยากให้พ่ออยู่โรงพยาบาลไปเรื่อยๆ เวลาปวด หรือแน่น หมอจะได้ช่วยเหลือได้"

    "ครับ" หมอรับปาก

    "หมอ ฉันอยากรู้ว่าสามีฉันจะมีทางรอดไหม" คุณมะลิวรรณ ภรรยาคุณภักดี ถามหมอสุรชาติ แม้ลูกไม่ไห้มาดูอาการของพ่อ เธอก็มาจนได้

    "ลูกๆของคุณ บอกคุณว่าอย่างไรบ้างครับ" หมอสุรชาติเลียบๆเคียงๆ

    "พวกเขาไม่บอก แต่ฉันดู ฉันก็ว่าสามีฉันคงไม่รอด" คุณมะลิวรรณ ดูเป็นคนใจแข็ง

    "ตอนผ่ามะเร็งกระเพาะอาหารครั้งแรก หมอว่าจะอยู่ไม่เกินหนึ่งปี นี่อยู่มาสองปี ก็กำไรแล้วหมอ"

    หมอสุรชาตินิ่งฟัง

    "ฉันคุยกับลูกๆแล้ว เขาอยากให้พ่อของเขาอยู่ใกล้หมอ แต่ฉันอยากเอาสามีฉันกลับบ้าน ไมอจะอนุญาตไหม"

    "คุณมะลิวรรณครับ อาการของสามีคุณเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ทางแพทย์แผนปัจจุบันนี้รักษาไม่ได้ แต่ทุกอย่างก็แล้วแต่ทางญาติตัดสินใจ อยู่โรงพยาบาลหมอก็จะรักษาไปตามอาการ"

    "แม่ อย่าเพิ่งเอาพ่อกลับเลย ถ้าแม่เอาพ่อกลับบ้าน เกิดพ่อปวเดหรือแน่น แม่จะช่วยพ่ออย่างไร" ลูกๆขัด คุณมะลิวรรณ เองก็ลังเลใจ แม้จะพูดว่า

    "อยู่โรงพยาบาล ก็ทุกข์ทรมาน เห็นแต่ความสลดหดหู่ เอาพ่อกลับบ้านเถอะลูก หมอเขาก็บอกรักษาไม่ได้ ปวดหรือแน่น เดี๋ยวหมอก็ต้องให้ยาแก้ปวดอย่างดีไป ให้พ่อกลับไปอยู่ที่บ้านเราเถอะ พ่อเขารักบ้าน...อยู่อย่างสงบๆ พ่อเขาจะได้ไปดี"

    "แต่พวกผมไม่เห็นด้วย" ลูกๆคัดค้าน

    "ผมว่าแม่ลองถามพ่อดูสิครับ" ลูกๆเสนอ

    "พ่อ พ่อยากอยู่โรงพยาบาล หรืออยากกลับบ้าน" คุณมะลิวรรณ ถามคุณภักดี ที่นอนหลับตาหายใจเหนื่อย

    "อยากหาย" คุณภักดีบอก ทุกคนฟังแล้วสะท้อนสะท้านในอก คนไข้อยากหาย เขาอยากอยู่โรงพยาบาล

    "เอาอย่างนี้ครับ ผมจะย้ายคุณภักดีไปอยู่ห้องแยกไอซียู จะได้เป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับคนไข้อื่นๆ ญาติจะพูดคุย จะทำอะไร ทำได้โดยสะดวกครับ" หมอสุรชาติแนะนำ

    ห้องแยก ทำให้คุณมะลิวรรณ สามารถเชิญอาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานมาทำพิธี อาราธนาพระมาสวดให้คุณภักดีฟัง ป้อนสมุนไพรและยาจีน

    หมอสุรชาติเองก็อนุญาตด้วยความเข้าใจ และเห็นใจ ...อาจจะมีหมอน้อยคนที่คิดเหมือนหมอสุรชาติ

    ที่เขาคิดดังนี้ ก็เพราะหมอสุรชาติ นึกถึงตัวเขาเอง ถ้าเขาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เจ็บปวด เขาก็คงไม่อยากเจ็บปวด และขอจากไปอย่างสงบเงียบ คนเราต้องเตรียมตัว และเลือกวิธีสุดท้ายของตนเอง เพราะไม่มีใครที่จะพ้นความตาย

    ถ้าหมอสุรชาติต้องเขียนพินัยกรรมความตายของตนเอง เขาจะเขียนว่า

    ...เมื่อจากไป ก็ขออย่าให้จากไปอย่างทุกข์ทรมาน ขอให้ตายอย่างมีศักดิ์ศรี ปราศจาคเครื่องช่วยชีวิตที่ยืดการตาย แต่ไม่ได้ช่วยให้ฟื้นคืนชีวิต...

    แม้ปัจจุบันกระแสการกลับไปตายรัง...สูง คนไข้เมื่ออยู่ในระยะสุดท้าย รักษาไม่ได้ ส่วนหนึ่งหมอก็แนะนำให้กลับไปสิ้นชีวิตที่บ้าน โดยคิดว่าน่าจะเป็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรี มีสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น...ซึ่งก็เป็นจริงในบางราย แต่ ไม่ใช่ทุกราย

    เพราะคนไข้บางคนกลับไปอยู่บ้าน อยู่ด้วยความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่มียาระงับปวด ระงับความทรมาน... จนถึงวาระสุดท้าย

    สังคมไทยพัฒนาแต่ละส่วนไปไม่พร้อมกัน

    เช่น...เราพัฒนาความเจริญทางวัตถุ แต่ไม่พัฒนาความเจริญด้านจิตใจไปพร้อมกัน

    ความคิดการตายอย่างมีศักดิ์ศรี ตายที่บ้านมีกระแสสูง แต่...ญาติมิตรผู้ดูแลคนไข้ ยังไม่สามารถดูแลคนไข้ในระยะสุดท้ายได้ดีพอ และการแพทย์...ที่ดูแลคนไข้ที่บ้านยังไม่เพียงพอ

    ดังนั้นจึงต้องมีช่วงเวลาที่เหมาะสม...ที่นำคนไข้กลับไปตายรัง

    เมื่อถึงวาระที่เหมาะสม ที่ญาติเลือก และหมอก็เห็นพ้อง

    นั่นคือ...เมื่อคุณภักดีนิ่งเงียบ ไม่ตอบสนองแต่ความเจ็บปวดใดๆ คุณมะลิวรรณจึงขอนำสามีกลับบ้าน

    เธอเรียกสามีที่นอนหลับตา สติเลือนรางไปทุกทีว่า

    "พ่อ พ่อ แม่กำลังจะพาพ่อกลับบ้านของเราแล้วนะพ่อนะ"

    ไอซียูทุกไอซียู ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ตอกย้ำว่า

    "น หิ โน สงฺครนฺเตน มหาเสเนน มจฺจุนา ...เมื่อความตายเกิดขึ้น ไม่มีใครจะผัดเพี้ยนได้"

    ดังนั้น...ผู้ที่มีชีวิตอยู่ พึงเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท และรีบทำคุณความดี เสียตั้งแต่บัดนี้

    =============

    คัดลอกมาจากงานเขียนของ พญ. ชัญวลี ศรีสุโข

    ตีพิมพ์ลงในหนังสือ 108 คนไข้ I.C.U.

    ตีพิมพ์วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2545

    =============

    จบเล่มแล้วครับผม สำหรับท่านที่ได้อ่านตั้งแต่ตอนที่ 1 จนถึง ตอนที่ 18 ก็เท่ากับว่า ท่านเองก็ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบแล้วเช่นกัน อิอิ

    แต่เรื่องราวเกี่ยวกับคนไข้ยังไม่หมดครับ ซึ่งผมจะได้เอามาโพสต์ในโอกาสต่อไป

    อ่านบทความ คนไข้ I.C.U. ทั้งหมด ได้ที่ http://www.taradidea.com ครับ<!--detail--> <!-- [​IMG] -->โดย : อ่านไม่ออก
     

แชร์หน้านี้

Loading...