ข้อคิด:พระอานนท์พุทธอนุชา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Raindrops, 15 กรกฎาคม 2006.

  1. Raindrops

    Raindrops เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    180
    ค่าพลัง:
    +1,147
    พระเมฆิยะไม่ยอมฟังคำท้วงติงของพระพุทธองค์ละทิ้งพระองค์ไว้แล้วไปสู่สวนมะม่วงอันร่มรื่น บำเพ็ญสมณธรรมทำจิตให้สงบ แต่ก็หาสงบไม่ ถูกวิตกทั้งสามรบกวนจนไม่อาจให้จิตสงบได้เลย วิตกทั้งสามนั้นคือกามวิตก - ความตรึกเรื่องกาม พยาบาทวิตก - ความตรึกในทางปองร้าย และวิหิงสาวิตก - ความตรึกในทางเบียดเบียน ในที่สุดจึงกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า
    "เมฆิยะเอย! จิตนี้เป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายาก ห้ามได้ยาก ผู้มีปัญญาจึงพยายามทำจิตนี้ให้หายดิ้นรน และเป็นจิตตรงเหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง
    เมฆิยะเอย! จิตนี้คอยแต่จะกลิ้งเกลือกลงไปคลุกเคล้ากับกามคุณ เหมือนปลาซึ่งเกิดในน้ำถูกนายพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำแล้ว คอยแต่จะดิ้นลงไปในน้ำอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาจึงพยายามยกจิตขึ้นจากอาศัยในกามคุณ ให้ละบ่วงมารเสีย"


    "อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะประเสริฐอะไร อีกประการหนึ่งเล่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบอัธยาศัยของข้าพเจ้าอยู่ ถ้าพระองค์ทรงประสงค์ก็คงจะตรัสให้ข้าพเจ้าเป็นอุปฐากของพระองค์เอง ความรู้สึกของข้าพเจ้าที่มีต่อพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างไร พระองค์ก็ทรงทราบอยู่แล้ว"

    พระอานนท์เป็นผู้รอบคอบ มองเห็นกาลไกล เมื่อพระผู้มีพระภาคและสงฆ์มอบตำแหน่งนี้ไว้แล้ว จึงทูลของเงื่อนไขบางประการดังนี้
    "ข้าแต่พระผู้เป็นนาถาของโลก! เมื่อข้าพระองค์รับเป็นพุทธอุปฐากแล้ว ข้าพระองค์ทูลขอพระกรุณาบางประการ คือ
    ๑. ขอพระองค์อย่าได้ประทานจีวรอันประณีตที่มีผู้นำมาถวายแก่ข้าพระองค์เลย
    ๒. ขอพระองค์อย่าได้ประทานบิณฑบาต อันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
    ๓. ขอพระองค์อย่าได้ให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ๆ เดียวกันกับที่พระองค์ประทับ
    ๔. ขออย่าได้พาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ ซึ่งพระองค์รับไว้
    "ดูก่อนอานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไรจึงขอเงื่อนไข ๔ ประการนี้"
    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลขอพร ๔ ประการนี้ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ ว่าข้าพระองค์รับตำแหน่งพุทธอุปฐาก เพราะเห็นแก่ลาภสักการะ"
    พระอานนท์ยังได้ทูลขึ้นอีกในบัดนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด! ข้ออื่นยังมีอีกคือ
    ๕. ขอพระองค์โปรดกรุณา เสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ซึ่งข้าพระองค์รับไว้เพื่อพระองค์ไม่อยู่
    ๖. ขอให้ข้าพระองค์ได้พาพุทธบริษัทเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่เขามาเพื่อจะเฝ้า
    ๗. ถ้าข้าพระองค์มีความสงสัยเรื่องใด เมื่อใดขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามได้ทุกโอกาส"
    "อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพร ๓ ประการนี้!"
    "ข้าพระองค์ทูลขอ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ข้าพระองค์บำรุงพระองค์อยู่ทำไมกัน เรื่องเพียงเท่านี้พระองค์ก็ไม่ทรงสงเคราะห์ ข้าแต่พระจอมมุนี ข้ออื่นยังมีอีก คือ
    ๘. ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนา ในที่ใดแก่ผู้ใด ซึ่งข้าพระองค์มิได้อยู่ด้วย ขอได้โปรดเล่าพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง"
    "อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพรข้อนี้?"
    "ข้าแต่พระจอมมุนี! ข้าพระองค์ทูลขอพรข้อนี้เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ดูเถิด พระอานนท์เฝ้าติดตามพระศาสดาอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่เมื่อถามถึงพระสูตร หรือชาดก หรือคาถา ว่าสูตรนี้ ชาดกนี้ คาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหนก็หารู้ไม่ เรื่องเพียงเท่านี้ยังไม่รู้ จะมัวติดตามพระศาสดาอยู่ทำไม เหมือนกบอยู่ในสระบัว แต่หารู้ถึงเกสรบัวไม่"

    แต่การบวชอาจจะทำความดีได้มากกว่า เพราะมีโอกาสมากกว่า ถ้าเปรียบด้วยภาชนะสำหรับรองรับน้ำ ภาชนะใหญ่ย่อมรองรับน้ำได้มากกว่าภาชนะเล็ก และภาชนะที่สะอาดย่อมไม่ทำให้น้ำสกปรก เพราะฉะนั้นลูกจึงเห็นว่าการบวชเป็นเสมือนภาชนะใหญ่ที่สะอาด เหมาะสำหรับรองรับน้ำ คือความดี

    หน้าที่ประจำของพระอานนท์ คือ
    ๑. ถวายน้ำ ๒ ชนิด คือทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน
    ๒. ถวายไม้สีฟัน ๓ ขนาด (ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่)
    ๓. นวดพระหัสถ์และพระบาท
    ๔. นวดพระปฤษฎางค์
    ๕. ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฎี

    มหาบพิตร! สำหรับอานนท์นั้นเป็นบัณฑิต เป็นผู้เข้าใจเหตุการณ์ และมีความอดทนอย่างเยี่ยม เป็นบุคคลที่หาได้โดยยาก

    "อานนท์ - วาจาสุภาษิตย่อมไม่มีประโยชน์แก่ผู้ไม่ทำตาม เหมือนดอกไม้ที่มีสีสวย สัณฐานดี แต่หากลิ่นมิได้ แต่วาจาสุภาษิต จะมีประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ทำตาม เหมือนดอกไม้ซึ่งมีสีสวย มีสัณฐานงาม และมีกลิ่นหอม
    อานนท์เอย! ธรรมที่เรากล่าวดีแล้วนั้น ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มากแก่ผู้ไม่ทำตามโดยเคารพ ไม่สาธยายโดยเคารพ และไม่แสดงโดยเคารพ แต่จะมีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาลแก่ผู้ซึ่งกระทำโดยนัยตรงกันข้าม มีการฟังโดยเคารพเป็นต้น"


    "พระองค์ผู้เจริญ!" พระอานนท์ทูล "ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ประดุจโพธิ์และไทรเป็นที่พึ่งของหมู่นก เหมือนน้ำเป็นที่พึ่งของหมู่ปลา และป่าเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์จตุบททวิบาท พระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งซึ่งมีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ"

    "นาฬาคิรีเอย! เธอถือกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน"

    "พระคุณเจ้า! ทราบว่า พระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า ๕๐๐ ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ?"
    "ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด" พระอานนท์ทูล
    "พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก?"
    "เพื่อแบ่งถวายภิกษุทั้งหลายผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า"
    "จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำเพดาน"
    "จะเอาผ้าเพดานเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำผ้าปูที่นอน"
    "จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำผ้าปูพื้น"
    "จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า"
    "จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปทำผ้าเช็ดธุลี"
    "จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร?"
    "เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา?"


    ภิกษุทั้งหลาย! ขึ้นชื่อว่าอุปการะผู้อื่นแม้แต่น้อย อันบัณฑิตพึงระลึกถึงและหาทางตอบแทนในโอกาสอันควร"

    ปาฏิบุคคลิกทานใดๆ จะมีผลเท่าสังฆทานหาได้ไม่...
    ..."อานนท์! ปาฏิปุคคลิกทานมีอยู่ ๑๔ ชนิด คือ
    ๑. ของที่ถวายแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ๒. ของที่ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
    ๓. ของที่ถวายแก่พระอรหันตสาวก
    ๔. ของที่ถวายแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตตผล
    ๕. ของที่ถวายแก่พระอนาคามี
    ๖. ของที่ถวายแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุอนาคามิผล
    ๗. ของที่ถวายแก่พระสกทาคามี
    ๘. ของที่ถวายแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุสกทาคามิผล
    ๙. ของที่ถวายแก่พระโสดาบัน
    ๑๐. ของที่ถวายแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุโสดาปัตติผล
    ๑๑. ของที่ให้แก่คนภายนอกพุทธศาสนา ซึ่งปราศจากกามราคะ
    ๑๒. ของที่ให้แก่ปุถุชนผู้มีศีล
    ๑๓. ของที่ให้แก่ปุถุชนผู้ทุศีล
    ๑๔. ของที่ให้แก่สัตว์ดิรัจฉาน
    "อานนท์! ของที่ให้แก่สัตว์ดิรัจฉานยังมีผลมาก ผลไพศาล อานนท์! คราวหนึ่งเราเคยกล่าวแก่ปริพพาชกผู้หนึ่งว่า บุคคลเทน้ำล้างภาชนะลงในดินด้วยตั้งใจว่า ขอให้สัตว์ในดินได้อาศัยอาหารที่ติดน้ำล้างภาชนะนี้ได้ดื่มกินเถิด แม้เพียงเท่านี้เรายังกล่าวว่าผู้กระทำได้ประสบบุญแล้วเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นจะกล่าวไปไย ในทานที่บุคคลให้แล้วแก่ปุถุชนผู้มีศีล หรือผู้ทุศีล จนถึงแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีผลมากเล่า แต่ทั้งหมดนี้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ให้เจาะจงบุคคล เรากล่าวว่า ปาฏิปุคคลิกทานใดๆ จะมีผลเท่าสังฆทานมิได้เลย
    "อานนท์! ต่อไปเบื้องหน้าจักมีแต่โคตรภูสงฆ์ คือสงฆ์ผู้ทุศีล มีธรรมทราม สักแต่ว่ามีกาสาวพัสตร์พันคอ การให้ทานแก่ภิกษุผู้ทุศีลเห็นปานนั้นแต่อุทิศสงฆ์ ยังเป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาลประมาณมิได้"

    "น้องหญิง! มลทินและบาปจะมีแก่ผู้มีเมตตากรุณาไม่ได้ มลทินย่อมมีแก่ผู้ประกอบกรรมชั่ว บาปจะมีแก่ผู้ไม่สุจริต ...

    การแบ่งแยกมนุษย์ให้เหินห่างจากมนุษย์ เป็นการเหยียดหยามมนุษย์ด้วยกัน


    “น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่าปกติของคนเราอาจจะรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และต้องอยู่ร่วมกันนานๆ ต้องมีโยนิโสมนสิการ และต้องมีปัญญา จึงจะรู้ว่าคนนั้นคนนี้มีปกติอย่าง คือดีหรือไม่ดี ที่น้องหญิงพบเราเพียงครู่เดียวจะตัดสินได้อย่างไรว่าอาตมาเป็นคนดี อาตมาอาจจะเอาชื่อท่านอานนท์มาหลอกเธอก็ได้ อย่าเข้ามาเลยกลับเสียเถิด"

    "น้องหญิง! ความรักเป็นเรื่องร้ายมิใช่เป็นเรื่องดี พระศาสดาตรัสว่าความเป็นรักเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โศก และทรมานใจ เธอชอบความทุกข์หรือ?"

    "ถ้าไม่มีรัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักจะมีได้หรือไม่"


    แต่ใครเล่าจะเอาชนะความปรารถนาของหญิงได้ง่ายๆ ลงจะเอาอะไรก็จะเอาให้ได้ เพราะธรรมชาติของเธอมักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ถ้าผู้หญิงคนใดใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาชีวิต หรือในการดำเนินชีวิต หญิงคนนั้นจะเป็นสตรีที่ดีที่สุดและน่ารักที่สุด

    "เมื่อไม่เคยมาเลย ทำไมเธอจึงจะรักให้เป็นโดยมิต้องเป็นทุกข์เล่าน้องหญิง! คนที่จับไฟนั้นจะจับเป็นหรือจับไม่เป็น จะรู้หรือไม่รู้ ถ้าลงได้จับไฟด้วยมือแล้วย่อมร้อนเหมือนกัน ใช่ไหม?"
    "ใช่ - พระคุณเจ้า"
    "ความรักก็เหมือนการจับไฟนั่นแหละ ทางที่จะไม่ให้มือพองเพราะไฟเผามีอยู่ทางเดียว คืออย่าจับไฟอย่าเล่นกับไฟ ทางที่จะปลอดภัยจากรักก็ฉันนั้น มีอยู่ทางเดียวคืออย่ารัก"

    "ภคินี! เธอรักใคร่พอใจในอานนท์หรือ?"
    "พระเจ้าข้า" นางทาสียกมือแค่อกรับตามเป็นจริง
    "เธอรักอะไรในอานนท์?"
    "ข้าพระพุทธเจ้า รักนัยน์ตาพระอานนท์ พระเจ้าข้า"
    "นัยน์ตานั้น ประกอบขึ้นด้วยเส้นประสาทและเนื้ออ่อน ต้องหมั่นเช็ดสิ่งสกปรกในดวงตาอยู่เป็นนิตย์มีขี้ตาไหลออกจากนัยน์ตาอยู่เสมอ ครั้นแก่คงก็จักฝ้าฝางขุ่นมัวไม่แจ่มใส อย่างนี้เธอจักรักนัยน์ตาของพระอานนท์อยู่หรือ?"
    "ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์รักหูของพระอานนท์ พระเจ้าข้าฯ"
    ภคินี! หูนั้นประกอบด้วยเส้นเอ็นและเนื้อ ภายในช่องหูมีของโสโครกเป็นอันมาก มีกลิ่นเหม็น ต้องแคะไค้อยู่เสมอ ครั้งชราลงก็หนวก จะฟังเสียงอะไรก็ไม่ถนัดหรืออาจไม่ได้ยินเลย ดังนี้แล้ว เธอยังจะรักอยู่หรือ?"
    นางเอียงอายเล็กน้อย แล้วตอบเลี่ยงต่อไปว่า
    "ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์รักจมูกอันโด่งงามของพระอานนท์พระเจ้าข้า"
    "ภคินี! จมูกนั้นประกอบขึ้นด้วยกระดูกอ่อนที่มีโพรง ภายในมีน้ำมูกและเส้นขน กับของโสโครกมีกลิ่นเหม็นเป็นก้อนๆ อย่างนี้เธอยังจะรักอยู่อีกหรือ"
    ไม่ว่านางจะตอบเลี่ยงไปอย่างไร พระพุทธองค์ก็ทรงชี้แจงให้พิจารณาเห็นความเป็นจริงของร่างกายอันสกปรกเปื่อยเน่านี้ ในที่สุดนางก็นั่งก้มหน้านิ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า
    "ภคินีเอย! อันร่างกายนี้สะสมไว้แต่ของสกปรกโสโครก มีสิ่งปฏิกูลไหลออกจากทวารทั้ง ๙ มีช่องหู ช่องจมูก เป็นต้น เป็นที่อาศัยแห่งสัตว์เล็กน้อยเป็นป่าช้าแห่งซากสัตว์นานาชนิด เป็นรังแห่งโรค เป็นที่เก็บมูตรและกรีส อุปมาเหมือนถุงหนังซึ่งบรรจุเอาสิ่งโสโครกต่างๆ เข้าไว้ และซึมออกมาเสมอๆ เจ้าของกายจึงต้องชำระล้างขัดถูวันละหลายๆ ครั้ง เมื่อเว้นจากการชำระล้างแม้เพียงวันเดียวหรือสองวัน กลิ่นเหม็นก็ปรากฏเป็นที่รังเกียจ เป็นของน่าขยะแขยง
    "ภคินี - ร่างกายนี้เป็นเหมือนเรือนซึ่งสร้างด้วยโครงกระดูก มีหนังและเลือดเป็นเครื่องฉาบทา ที่มองเห็นเปล่งปลั่งผุดผาดนั้นเป็นเพียงผิวหนังเท่านั้น เหมือนมองเห็นความงามแห่งหีบศพ อันวิจิตรตระการตา ผู้ไม่รู้ก็ติดในหีบศพนั้น แต่ผู้รู้ เมื่อทราบว่าเป็นหีบศพ แม้ภายนอกจะวิจิตรตระการตาเพียงไรก็หาพอใจยินดีไม่เพราะทราบชัดว่า ภายในแห่งหีบอันสวยงามนั้นมีสิ่งปฏิกูลพึงรังเกียจ"


    คราวหนึ่งนางได้ฟังโอวาทจากพระศาสดาเรื่องกิเลส ๓ ประการคือ ราคะ โทสะ และโมหะ พระพุทธองค์ตรัสว่า
    "กิเลสทั้งสามประการนี้ย่อมเผาบุคคลผู้ยอมอยู่ใต้อำนาจของมัน ให้รุ่มร้อนกระวนกระวายเหมือนไฟเผาไหม้ท่อนไม้และแกลบให้แห้งเกรียม ข้อแตกต่างแห่งกิเลสทั้งสามประการนี้ก็คือ ราคะนั้นมีโทษน้อยแต่คลายช้า โทสะมีโทษมากแต่คลายเร็ว โมหะมีโทษมากด้วยคลายช้าด้วย


    ผู้ใดตกอยู่ในความรัก ดวงใจของผู้นั้นย่อมเป็นทาส ทาสของความรัก ทาสรักนั้นจะไม่มีใครสามารถช่วยปลดปล่อยได้ นอกจากเจ้าของดวงใจจะปลดปล่อยเอง

    แต่ความรักต้องมีวงจรของมัน จนกว่ารักนั้นจะสุดสิ้นลง ชีวิตมันจะเป็นอย่างนี้เสมอ เมื่อใครคนหนึ่งพยายามดิ้นรนหาความรัก เขามักจะไม่สมปรารถนา แต่พอเขาทำท่าจะหนีความรักก็ตามหา ความรักจึงมีลักษณะคล้ายเงา เมื่อบุคคลวิ่งตาม มันจะวิ่งหนี แต่เมื่อเขาวิ่งหนี มันจะวิ่งตาม


    มนุษย์เราทำอะไรลงไปเพราะเหตุเพียงสองอย่างเท่านั้น คือเพราะหน้าที่อย่างหนึ่ง และเพราะความเรียกร้องของหัวใจอีกอย่างหนึ่ง ประการแรกแม้จะทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง มนุษย์ก็ไม่ค่อยจะเดือนร้อนเท่าใดนัก เพราะคนส่วนมากหาได้รักหน้าที่เท่ากับความสุขส่วนตัวไม่ แต่สิ่งที่หัวใจเรียกร้องนี่ซิ ถ้าไม่สำเร็จ หรือไม่สามารถสนองได้ หัวใจจะร่ำร้องอยู่ตลอดเวลา มันจะทรมานไปจนกว่าจะหมดฤทธิ์ของมัน หรือมนุษย์ผู้นั้นตายจากไป

    เพื่อนที่ดีในยามทุกข์สำหรับผู้หญิง ก็คือน้ำตา ดูเหมือนจะไม่มีอะไรอีก แล้วจะเป็นเครื่องปลอบประโลมใจได้เท่าน้ำตา แม้มันจะหลั่งไหลจากขั้วหัวใจ แต่มันก็ช่วยบรรเทาความอึดอัดลงได้บ้าง
    เนื่องจากผู้หญิงถือว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของความรัก ตรงกันข้ามกับผู้ชายซึ่งมักจะเห็นว่าความรักเป็นเพียงบางส่วนของชีวิตเท่านั้น

    ธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตเสมอ มันเป็นเพื่อนที่ดีทั้งยามสุขและยามทุกข์ ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติมักจะเป็นชีวิตที่ชื่นสุขเบาสบาย ยิ่งมนุษย์ทอดทิ้งห่างเหินจากธรรมชาติมากเท่าใด เขาก็ยิ่งห่างความสุขออกไปทุกทีมากเท่านั้น

    อะไรเล่าจะเป็นความชื่นใจของสตรีมากเท่ารู้สึกว่าชายที่ตนพะวงรักมีความห่วงใยในตน สตรีเป็นเพศที่จำความดีของผู้อื่นได้เก่งพอๆ กับการให้อภัย และลืมความผิดพลาดของชายอันตนรัก เหมือนเด็กน้อยแม้จะถูกเฆี่ยนมาจนปวดร้าวไปทั้งตัว แต่พอมารดาผู้เพิ่งจะวางไม้เรียวแล้วหันมาปลอบด้วยคำอันอ่อนหวานสักครู่หนึ่ง และแถมด้วยขนมชิ้นน้อยๆ บ้างเท่านั้น เด็กน้อยจะลืมเรื่องไม้เรียว กลับหันมาชื่นชมยินดีกับคำปลอบโยนและขนมชิ้นน้อย เขาจะซุกตัวเข้าสู่อ้อมอกของมารดาและกอดรัดเหมือนอาลัยอย่างที่สุด การให้อภัยแก่คนที่ตนรักนั้น ไม่มีที่สิ้นสุดในหัวใจของสตรี

    บุคคลเมื่อมีความปรารถนาอย่างรุนแรงย่อมคิดหาอุบายเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ปรารถนานั้น เมื่อไม่ได้โดยอุบายที่ชอบ ก็พยายามทำโดยเล่ห์กลมารยา แล้วแต่ว่าความปรารถนานั้นจะสำเร็จได้โดยประการใด โดยเฉพาะความปรารถนาในเรื่องรักด้วยแล้วย่อมหันเหบิดเบือนจิตใจของผู้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมันให้กระทำได้ทุกอย่าง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เมื่อใดความรักและความหลงครอบงำจิตเมื่อนั้นบุคคลก็มืดมน เสมือนคนตาบอด

    เป็นความจริงที่ว่าความสุขนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจ มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหนและภาวะอย่างใด ถ้าสามารถพอใจในภาวะนั้นได้ เขาก็มีความสุข

    ความสุขมิใช่เป็นสิ่งที่เราจะต้องแสวงหาและมุ่งมอง หน้าที่โดยตรงที่มนุษย์ควรทำนั้นคือ การมองทุกข์ให้เห็น พร้อมทั้งตรวจสอบพิจารณาสาเหตุแห่งทุกข์นั้น แล้วทำลายสาเหตุแห่งทุกข์เสีย โดยนัยนี้ความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง

    "มองทุกข์ให้เห็นจึงเป็นสุข" อธิบายว่า เมื่อเห็นทุกข์กำหนดรู้ทุกข์และค้นหาสมุฏฐานของทุกข์แล้วทำลายสาเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย เหมือนหมอทำลายเชื้ออันเป็นสาเหตุแห่งโรค ยิ่งทุกข์ลดน้อยลงเท่าใด ความสุขก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ความทุกข์ที่ลดลงนั้นเองคือความสุข

    ผู้หญิงมีความอ่อนแอทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พระศาสดาจึงกีดกันหนักหนา ในเบื้องแรกที่จะให้สตรีบวชในศาสนา ทั้งนี้เป็นเพราะมหากรุณาของพระองค์ ที่ไม่ต้องการให้สตรีต้องลำบาก มีเรื่องเดียวเท่านั้นที่สตรีทนได้ดีกว่าบุรุษนั้นคือการทนต่อความเจ็บปวด

    "น้องหญิง! ชีวิตนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องที่น่าละอาย ทรงตัวอยู่ด้วยเรื่องที่ยุ่งยากสับสน และจบลงด้วยเรื่องเศร้า อนึ่งชีวิตนี้เริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงคร่ำครวญ เมื่อลืมตาขึ้นดูโลกนี้เป็นครั้งแรกเราก็ร้องไห้ และเมื่อจะหลับตาลาโลกเราก็ร้องไห้อีก หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้คนอื่นหลั่งน้ำตา เด็กร้องไห้พร้อมด้วยกำมือแน่นเป็นสัญญลักษณ์ว่าเขาเกิดมาเพื่อจะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตานั้นทุกคนแบมือออก เหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึก และเป็นพยานว่าเขามิได้เอาอะไรไปเลย

    ทุกคนต้องการความสมหวังในชีวิตรัก แต่ความรักไม่เคยให้ความสมหวังแก่ใครถึงครึ่งหนึ่งแห่งความต้องการ ยิ่งความรักที่ฉาบทาด้วยความเสน่หาด้วยแล้วจะเป็นพิษแก่จิตใจ ทำให้ทุรนทุรายดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น ความสุขที่เกิดจากความรักนั้นเหมือนความสบายของคนป่วยที่ได้กินของแสลง เธออย่าพอใจในเรื่องความรักเลย เมื่อหัวใจถูกลูบไล้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวังความผิดหวังก็จะรอเราอยู่
    น้องหญิง! อย่าหวังอะไรให้มากนัก


    การกระทำที่นึกขึ้นภายหลังแล้วต้องเสียใจนั้น พระศาสดาทรงสอนให้เว้นเสีย เพราะฉะนั้นแม้จะประสบปัญหาหัวใจ หรือได้รับความทุกข์ยากลำบากสักปานใด ก็ต้องไม่ทิ้งธรรม

    ธรรมดาว่าไม้จันทร์นั้น แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น อัศวินก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา อ้อยแม้เข้าสู่หีบยนต์แล้วก็ไม่ทิ้งรสหวาน บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม พระศาสดาทรงย้ำว่าพึงสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรักษาธรรม


    ในคนร้อยคนหาคนกล้าได้หนึ่งคน ในคนพันคนหาคนเป็นบัณฑิตได้หนึ่งคน ในคนแสนคนหาคนพูดจริงได้เพียงหนึ่งคน ส่วนคนที่เสียสละได้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่ คือไม่ทราบจะคำนวณเอาจากคนจำนวนเท่าใดจึงจะเฟ้นได้หนึ่งคน

    "น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่าบุคคลอาจอาศัยตัณหาละตัณหาได้ อาจอาศัยมานะละมานะได้ อาจอาศัยอาหารละอาหารได้ แต่เมถุนธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ชักสะพานเสีย คืออย่าทอดสะพานเข้าไปเพราะอาศัยละไม่ได้"
    "ข้อว่าอาศัยอาหารละอาหารนั้น คือละความพอใจในรสของอาหาร จริงอยู่สัตว์โลกทั้งมวลดำรงชีพอยู่ได้เพราะอาหาร ข้อนี้พระศาสดาก็ตรัสไว้ แต่มนุษย์และสัตว์เป็นอันมากติดข้องอยู่ในรสแห่งอาหาร จนต้องกระเสือกกระสนกระวนกระวาย และต้องทำชั่วเพราะรสแห่งอาหารนั้น ที่ว่าอาศัยอาหารละอาหารนั้นคืออาศัยอาหารละความพอใจในรสแห่งอาหารนั้น บริโภคเพียงเพื่อยังชีวิตให้ชีวิตนี้เป็นไปได้เท่านั้น เหมือนคนเดินทางข้ามทะเลทราย เสบียงอาหารหมด และบังเอิญลูกน้อยตายลงเพราะหิวโหย เขาจำใจต้องกินเนื้อบุตรเพียงเพื่อให้ข้ามทะเลทรายได้เท่านั้น หาติดในรสแห่งเนื้อบุตรไม่"
    "ข้อว่าอาศัยตัณหาละตัณหานั้น คือเมื่อทราบว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ ก็มีความทะยานอยากที่จะเป็นบ้าง เพื่อพยายามจนได้เป็นแล้ว ความทะยานอยากอันนั้นก็หายไป อย่างนี้เรียกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา"
    "ข้อว่าอาศัยมานะละมานะนั้น คือเมื่อได้ยินได้ฟังภิกษุหรือภิกษุณี หรืออุบาสกอุบาสิกา ชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบันเป็นต้น ก็มีมานะขึ้นว่าเขาสามารถทำได้ ทำไมเราซึ่งเป็นมนุษย์และมีอวัยวะทุกส่วนเหมือนเขาจะทำไม่ได้บ้าง จึงพยายามทำความเพียร เผากิเลสจนได้บรรลุโสดาปัตติผลบ้าง อรหัตตผลบ้าง อย่างนี้เรียกว่าอาศัยมานะละมานะ เพราะเมื่อบรรลุแล้วมานะนั้นย่อมไม่มีอีก"
    "ดูก่อนน้องหญิง! ส่วนเมถุนธรรมนั้น ใครๆ จะอาศัยละมิได้เลย นอกจากจะพิจารณาเห็นโทษของมันแล้วเลิกละเสีย ห้ามใจมิให้เลื่อนไหลไปยินดีในกามสุขเช่นนั้น น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่า กามคุณนั้นเป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มีสุขน้อยแต่มีทุกข์มาก มีโทษมากมีความคับแค้นเป็นมูล มีทุกข์เป็นผล"


    "น้องหญิง! หยุดร้องไห้เสียเถิด การร้องไห้ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ช่วยเรื่องหนักใจของเธอให้คลายลงได้"

    ที่อาตมาไม่รักน้องหญิง มิใช่เพราะอาตมามาเกิดในตระกูลอันสูงศักดิ์ ส่วนเธอเป็นทาสีดอก แต่เป็นเพราะอาตมาเห็นโทษแห่งความรัก ความเสน่หา ตามที่พระศาสดาทรงสอนอยู่เสมอ


    "นอกจากนี้ มนุษย์ทุกคนล้วนมีเลือดสีแดง รู้จักกลัวภัยและใคร่ความสุขเสมอกัน เหมือนไม้นานาชนิด เมื่อนำมาเผาไฟย่อมมีเปลวสีเดียวกัน ...มนุษย์ไม่ว่าจะเกิดในวรรณะใด เมื่อประพฤติดีก็เป็นคนดีเหมือนกันหมด เมื่อประพฤติชั่วก็เป็นคนชั่วเหมือนกันหมด"

    ขอให้น้องหญิงเชื่อว่าการที่อาตมาไม่สามารถสนองความรักของน้องหญิงได้นั้นมิใช่เป็นเพราะอาตมารังเกียจเรื่องชาติเรื่องตระกูลของเธอเลย แต่มันเป็นเพราะอาตมารังเกียจตัวความรักนั่นต่างหาก"
    "ภคินีเอย! อันธรรมดาว่าความรักนั้น มันเป็นธรรมชาติที่เร่าร้อนอยู่แล้ว ถ้ายิ่งมันเกิดขึ้นในฐานะที่ผิดที่ไม่เหมาะสมเข้าอีกมันก็จะยิ่งเพิ่มแรงร้อนมากขึ้น การที่น้องหญิงจะรักอาตมา หรืออาตมาจะรักเธออย่างเสน่หาอาลัยนั่นแล เรียกว่าความรักอันเกิดขึ้นในฐานะที่ผิดหรือไม่เหมาะสม ขอให้เธอตัดความรักความอาลัยเสียเถิด แล้วเธอจะพบความสุขความปลอดโปร่งอีกแบบหนึ่งซึ่งสูงกว่า ประณีตกว่า


    พระศาสดาตรัสว่าผู้ชนะตนเองได้ชื่อว่าเป็นยอดนักรบในสงคราม เธอจงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิด อย่าเป็นผู้แพ้เลย"

    พุทธองค์จึงทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะกังวาน ดังนี้
    "ดูก่อนท่านทั้งหลาย! ทางสองสายคือกามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขสายหนึ่ง และอัตตกิลมถานุโยค การทรมานกายให้ลำบากเปล่าสายหนึ่ง อันผู้หวังความเจริญในธรรมพึงละเว้นเสีย ควรเดินทางสายกลาง คือเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ คือความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดชอบ การทำชอบ การประกอบอาชีพในทางสุจริต ความพยายามในทางที่ชอบ การตั้งสติชอบ และการทำสมาธิชอบ


    ท่านทั้งหลาย! ความเกิดเป็นความทุกข์ ความแก่ความเจ็บความตายก็เป็นความทุกข์ ความแห้งใจ หรือความโศกความร่ำไรรำพันจนน้ำตานองหน้า ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งของอันไม่เป็นที่พอใจ ปรารถนาอะไรไม่ได้ดังใจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความทุกข์ที่บุคคลต้องประสบทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยสรุปการยึดมั่นในขันธ์ ๕ ด้วยตัณหาอุปาทานนั่นเองเป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่
    "ท่านทั้งหลาย! เราตถาคตกล่าวว่าความทุกข์ทั้งมวลย่อมสืบเนื่องมาจากเหตุ ก็อะไรเล่าเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น เรากล่าวว่าตัณหานั้นเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากดิ้นรน ซึ่งมีลักษณะเป็นสามคือดิ้นรนอยากได้อารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนาเรียกกามตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากเป็นนั่นเป็นนี่เรียกภวตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากผลักสิ่งที่มีแล้วเป็นแล้วเรียกวิภวตัณหาอย่างหนึ่ง นี่แลคือสาเหตุแห่งทุกข์ขั้นมูลฐาน
    "ท่านทั้งหลาย การสละคืนโดยไม่เหลือซึ่งตัณหาประเภทต่างๆ ดับตัณหาคลายตัณหาโดยสิ้นเชิงนั่นแล เราเรียกว่านิโรธคือความดับทุกข์ได้
    "ทางที่จะดับทุกข์ดับตัณหานั้นเราตถาคตแสดงไว้แล้ว คืออริยมรรคมีองค์ ๘"
    "ท่านทั้งหลายจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย เราตถาคตเองเป็นที่พึ่งแก่ท่านทั้งหลายไม่ได้ ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางบอกทางเท่านั้น ส่วนความเพียรพยายามเพื่อเผาบาปอกุศล ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ทางมีอยู่เราชี้แล้วบอกแล้ว ท่านทั้งหลายต้องเดินเอง"


    to be continued
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กรกฎาคม 2006
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,470
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018

แชร์หน้านี้

Loading...