กรรมในขั้นสูง..กรรมที่อยู่เหนือกรรม

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย @^น้ำใส^@, 17 เมษายน 2006.

  1. @^น้ำใส^@

    @^น้ำใส^@ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    2,330
    ค่าพลัง:
    +4,674
    กรรมในขั้นสูง..กรรมที่อยู่เหนือกรรม[​IMG] [​IMG]


    คัดลอกจาก หนังสือ ธรรมดาของชีวิตเป็นเช่นนั้นเอง โดยวศิน อินทสระ

    --------------

    เมื่อพูดถึงกรรมในขั้นสูง หรือซีกของโลกุตระ ผู้ฟังอาจจะงงเพราะมันเป็น paradox คือเป็นคำที่เหมือนไม่จริง แต่จริง เช่น ในระดับสูงจะพูดว่า "ผู้สร้างกรรมไม่มี ผู้ทำกรรมไม่มี ผู้เสวยผลกรรมไม่มี มีแต่ธรรมล้วนๆ ที่เป็นไปอยู่ นี่คือความเห็นที่ถูกต้อง"

    ในซีกของโลกียะ โลกของสมมติสัจจะ ถือว่า "ผู้สร้างกรรมมี ผู้ทำกรรมมี ผู้เสวยผลของกรรมมี" แต่พอไปถึงซีกของโลกกุตระ ซึ่งเป็นซีกที่ไม่พูดถึงตัวตน ละลายตัวตนออกไปว่า ไม่มีตัวผู้ทำ เมื่อไม่มีตัวผู้กระทำแล้ว ผู้เสวยผลจะมีได้อย่างไร ถ้าเรามองดูในแง่ของสมมติสัจจะ
    หรือในซีกของโลกียะ คำพูดอย่างนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ต้องฟังให้ดีว่าท่านกำลังพูดถึงซีกโลกุตระ คือผู้ทำกรรมไม่มี ผู้เสวยผลจของกรรมไม่มี ธรรมล้วนๆเป็นไปอยู่ นี่คือทรรศนะที่ถูกต้อง นี่คือความเห็นที่ถูกต้อง

    ขอยกตัวอย่างให้ฟังว่า เราพูดถึงต้นมะขาม ต้นมะม่วง ต้นทุเรียน ต้นอะไรก็แล้วแต่ เราเรียกชื่อไปต่างๆอันนี้คือชื่อที่เราตั้งให้มัน แต่ว่าตัวมันเองไม่รู้ว่ามันเป็นมะม่วง ว่ามันเป็นทุเรียน ว่ามันเป็นมะขาม ถ้าเรียกตามภาษาพฤกษศาสตร์มันก็ไม่มีต้นมะขาม ไม่มีต้นมะม่วง ไม่มีต้นทุเรียน ไม่มีต้นอะไร มันมีแต่เซลล์ มีแต่ชีวิตที่เป็นพืชชนิดหนึ่ง นี่คือพูดแบบปรมัตถ์ ต้องเป็นอย่างนั้น

    เช่นว่า ทุกข์มีอยู่แต่ผู้ถึงทุกข์ไม่มี การกระทำมีอยู่แต่ผู้กระทำไม่มี ความดับมีอยู่ แต่ผู้ดับไม่มี ทางมีอยู่แต่ผู้เดินไม่มี ถือว่าเป็นการละลายตัวตน ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Doing without doer. มีการกระทำ แต่ไม่มีผู้กระทำ วิบากอันนี้เรียกว่า กรรมที่อยู่เหนือกรรม


    โดยหลักใหญ่แล้ว กรรมมี ๔ อย่างคือ

    ๑.กรรมขาวให้ผลขาว คือ กรรมดีให้ผลเป็นความสุข
    ๒.กรรมดำให้วิบากดำ คือ กรรมชั่วให้ผลเป็นความทุกข์
    ๓.กรรมทั้งดำทั้งขาว ให้วิบากทั้งดำทั้งขาว กรรมทั้งดีทั้งชั่วให้ผลทั้งดีทั้งชั่ว ทำกรรมคละกัน ให้ผลทั้งสุขทั้งทุกข์
    ๔.กรรมไม่ดำไม่ขาว ให้วิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม คือมันไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล

    พูดให้เข้าใจง่าย คือ คนมีบุญก็เป็นทุกข์อย่างคนมีบุญ คนมีบาปก็เป็นทุกข์อย่างคนมีบาป คนดีก็เป็นทุกข์อย่างคนดี คนชั่วก็เป็นทุกข์อย่างคนชั่ว ท่านลองนึกดู คนดีก็เป็นทุกข์อย่างคนดี เช่น อยากให้คนอื่นเขาดี เรายิ่งดีมากเท่าไรก็ยิ่งอยากให้คนอื่นเขาดี มันก็ทุกข์เหมือนกัน พ่อแม่ดี อยากให้ลูกดี ก็พยายามทำให้ลูกดี ส่งเสริมให้ลูกดี ก็เป็นทุกข์ตามประสาคนดี ก็ยังดีกว่าเป็นทุกข์อย่างคนชั่ว คนมีบุญก็เป็นทุกข์อย่างคนมีบุญ ลองเป็นคนมีบุญดูว่าจะมีทุกข์หรือไม่มีทุกข์ แต่มันดีกว่าคนเป็นทุกข์อย่างคนมีบาปเท่านั้นแหละ



    ที่ดีที่สุด คือ ข้ามพ้นทั้งบุญทั้งบาป ข้ามพ้นอุปสรรคเครื่องข้องทั้งสอง คือ บุญและบาป เป็นกรรมที่อยู่เหนือกรรม ทางพระพุทธศาสนายอมรับความเป็นไปได้ของการอยู่เหนือกรรม พ้นไปจากกรรมดีกรรมชั่ว เมื่อกรรมและวิบากพร้อมทั้งเหตุเป็นไปอยู่ เงื่อนต้นรู้ไม่ได้ เหมือนพืชกับ ต้นไม้ ใครๆก็รู้ไม่ได้ว่าพืชเกิดก่อนต้นไม้ หรือต้นไม้เกิดก่อนพืช เหมือนไก่กับไข่ แม้ในอนาคตกาล เมื่อสังสารวัฏยังมีอยู่ ความเป็นไปแห่งกรรมและวิบากก็ยังมองไม่เห็น คือมันต้องเป็นไปแน่นอน แต่ว่ามองไม่เห็นว่ามันจะเป็นอย่างไร

    กรรมไม่มีในผล ผลก็ไม่มีในกรรม ทั้ง ๒ อย่างว่างจากกัน แต่เว้นกรรมเสียแล้ว ผลก็มีไม่ได้ คือต้องอาศัยกัน เปรียบเหมือนไฟไม่มีในแสงอาทิตย์ ไม่มีในแก้วกระจก ไม่มีในมูลโคแห้งที่ให้เป็นเชื้อไฟ (โคมัย) ภายในวัตถุทั้ง ๓ นั้นมันก็ไม่มี แต่มันเกิดขึ้นด้วยการกระทำของวัตถุทั้ง ๓ อย่างฉันใด วิบากก็หาไม่ได้ในกรรม แม้ภายนอกกรรมก็หาไม่ได้ กรรมก็ไม่มีในวิบากนั้น กรรมนั้นว่างจากผล ผลก็ไม่มีในกรรม แต่ผลอาศัยกรรมนั้นแหละมันจึงเกิดขึ้น ก็ฉันนั้น

    มีต่อค่ะ..



    <!-- / message --><!-- sig -->
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 เมษายน 2006
  2. @^น้ำใส^@

    @^น้ำใส^@ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    2,330
    ค่าพลัง:
    +4,674
    เคยเห็นชาวนาเขาจุดบุหรี่สมัยที่ยังไม่มีไฟอะไรที่ทันสมัยเหมือนอย่างในเวลานี้ เขาจะพกเหล็กเล็กๆอันหนึ่ง กับหินก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่ง และมีกระบอกเล็กๆอันหนึ่ง สำหรับใส่นุ่นหรือสำลี ไฟมันไม่มีในเหล็ก ไม่มีในหิน ไม่มีในนุ่นหรือสำลี แต่อาศัยเหล็กไปตีหิน ประกายไฟก็เกิดขึ้น พอประกายไฟเกิดขึ้น เขาจะเอากระบอกเล็กๆที่บรรจุนุ่นหรือสำลีไว้ไปรับประกายไฟ แล้วไฟจะติดขึ้น เขาก็จุดบุหรี่ได้ เสร็จแล้วก็ดับไฟ เอาไว้จุดคราวต่อไปใหม่ ไฟไม่มีในเหล็ก ไม่มีในหิน และไม่มีในนุ่นหรือสำลี แต่อาศัยวัตุ ๓ อย่างนั้น ไฟเกิดขึ้นได้ ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงเปรียบด้วยไม้สีไฟ เอาไม้แห้งมาสีกัน แล้วทำให้เกิดประกายไฟขึ้น มันอาศัยกันอย่างนี้

    อันแท้จริงในสังสารวัฏนี้ ผู้สร้างสังสารวัฏไม่มี จะเป็นเทวดาหรือพรหมก็ไม่มี เป็นแต่ธรรมล้วนๆ เป็นไปอยู่ ธรรมล้วนๆ คือกระบวนการ มีแต่กระบวนการล้วนๆ เป็นการรวมกันเข้าของเหตุปัจจัย แล้วก็เกิดผลอะไรขึ้นมา


    เคยมีผู้มาสนทนากับพระพุทธเจ้า แล้วทูลถามว่า ความทุกข์นี้บุคคลทำให้เกิดขึ้นหรือ ?
    พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าพูดอย่างนั้น

    ถามว่า ความทุกข์นี้คนอื่นทำให้เกิดขึ้นหรือ?
    พระพุทธเจ้า อย่าพูดอย่างนั้น

    ถามว่า ความทุกข์นี้ ทั้งตนเองและผู้อื่นทำให้เกิดขึ้นหรือ?
    พระพุทธเจ้า อย่าพูดอย่างนั้น

    ถามว่า ถ้าอย่างนั้นความทุกข์ไม่มีหรือพระโคดม
    พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าพูดอย่างนั้น

    ถาม แปลว่าทรงปฏิเสธทั้งหมดเลย ข้าพเจ้าพูดสิ่งใดพระโคดมก็ปฏิเสธทั้งหมด ถ้าอย่างนั้นขอให้พระโคดมแสดงว่า กรรมมีอย่างไร? ความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร?


    พระพุทธเจ้าก้ตรัสกระบวนธรรม ธรรมล้วนๆเป็นไปอยู่เริ่มจากอวิชชา มีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร มีสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ.. ไล่เรื่อยไป..จบลงด้วยว่าความทุกข์เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ กองแห่งความทุกข์ทั้งมวลเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ ทำหน้าที่ละลายตัวตน ละลายบุคคล ผู้ทำ ผู้สร้าง แต่ว่าเป็นกระบวนธรรมขึ้น นี่พูดถึงกรรมในแง่ลึก และขอให้สนใจในเรื่องกรรมไม่ดำไม่ขาว ที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม


    พราหมณ์ภาวรีส่งลูกศิษย์ ๑๖ คน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ผูกปัญหาให้คนละตอน คนละเรื่อง เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้า ในคำสรรเสริญพระพุทธเจ้านั้น พราหมณ์ภาวรีได้บอกว่า "สพฺพกมฺมกฺขยํ ปตฺโต วิมุตฺโต อุปธิกฺขเย" พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ถึงความสิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งอุปธิคือ กิเลส เพราะฉะนั้นชาวพุทธถ้าจะตัดกรรม ก็ต้องไปตัดที่กิเลส ให้กิเลสเบาบางลง กรรมก็เบาบาง ถ้ากิเลสมากขึ้น กรรมก็มากขึ้น เพราะตัวต้นเหตุอยู่ที่กิเลส กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ เป็นการวนเวียนของกิเลส ของกรรม และของวิบาก

    ---------------

    <!-- / message --><!-- sig -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...