กรรมทางกาย วาจา ใจ อย่างไหนมีโทษเป็นบาปมากกว่า

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 20 กรกฎาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    กรรมทางกาย วาจา ใจ อย่างไหนมีโทษเป็นบาปมากกว่า

    คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของเศรษฐีพ่อค้าผ้า) ใกล้เมืองบาลัน เวลาเช้าสาวกของนิครนถนาฎบุตรคนหนึ่งชื่อ ทีฆตปัสสีเข้าไปบิณฑบาตในเมืองนาลันทา บริโภคอาหารแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ปาวาริกัมพวัน สนทนากันเรื่องกรรมทางกาย วาจา ใจ ว่าอย่างไหนมีโทษเป็นบาปมากกว่า

    ทีฆตปัสสี : นิครนถนาฎบุตรกล่าวว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่าในการทำบาปกรรม

    พระพุทธเจ้า : เราเรียกว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ไม่เรียกทัณฑ์ และเรากล่าวว่ามโนกรรมมีโทษมากในการทำบาป

    ทีฆตปัสสีกลับไปหานิครนถนาฎบุตร ซึ่งเวลานั้นพักอยู่ที่เมืองนาลันทาเหมือนกัน เล่าเรื่องที่สนทนากับพระสมณโคดมให้อาจารย์ฟัง ซึ่งเวลานั้นอุบาลีคหบดีสาวกคฤหัสถ์คนสำคัญของนิครนถ์นั่งอยู่ด้วย เห็นว่าทีฆตปัสสีกล่าวถูกต้องแล้ว คำของพระสมณโคดมไม่ถูกต้อง

    อุบาลีคหบดีต้องการไปโต้วาทะกลับพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ นิครนถนาฎบุตรก็สนับสนุน แต่ทีฆตปัสสีไม่เห็นด้วยบอกว่า พระสมณโคดมมีมายาสำหรับกลับใจคน (อาวัฏฏนีมายา)

    เมื่อพบกันพระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องที่สนทนากับทีฆตปัสสีให้อุบาลีคหบดีทราบตามที่เขาทูลถาม ทรงเล่าตรงกับที่ทีฆตปัสสีเล่าทุกประการ อุบาลียืนยันว่าทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่าทัณฑ์ทางใจ (นี่คือตอนหนึ่งของการสนทนา)

    พระพุทธเจ้า : ในการก้าวไปถอยกลับของพวกนิครนถ์ ย่อมเหยียบสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นอันมาก (โดยไม่ตั้งใจ) ในเรื่องนี้นิครนถนาฎบุตรบัญญัติวิบาก (คือผลกรรม) อย่างไร

    อุบาลี : กรรมที่ทำไม่จงใจไม่มีโทษมาก

    พระพุทธเจ้า : ถ้าจงใจเล่า

    อุบาลี : เป็นกรรมที่มีโทษมาก

    พระพุทธเจ้า : นิครนถนาฎบุตรบัญญัติเจตนาไว้ในส่วนไหนของทัณฑ์ทั้ง ๓

    อุบาลี : บัญญัติไว้ในมโนทัณฑ์

    นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทรงชี้ให้ดูว่ามโนกรรมมีโทษมาก แต่อุบาลีก็ยังยืนยันเหมือนเดิม จึงตรัสซักไซ้ไล่เลียงต่อไป

    พระพุทธเจ้า : ในเมืองนาลันทานี้มีคนมาก ถ้าจะมีใครกล่าวว่าเขาจะฆ่าคนในเมืองนาลันทานี้ให้ตายพร้อมกันเพียงครู่เดียวจะทำได้หรือไม่

    อุบาลี : อย่าว่าแต่คนเดียวเลย แม้ ๑๐ คน ๒๐-๕๐ คน ก็ไม่อาจประหารคนในเมืองนาลันทานี้ให้ตายพร้อมกันได้

    พระพุทธเจ้า : ถ้าสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีความชำนาญทางจิตมาในหมู่บ้านนาลันทานี้ กล่าวว่าจะทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้าถ่านด้วยการคิดประทุษร้ายเพียงครั้งเดียวจะทำได้หรือไม่

    อุบาลี : ทำได้อย่างแน่นอน แม้ ๕๐ หมู่บ้านก็ทำได้อย่าว่าแต่หมู่บ้านเดียวเลย

    พระพุทธเจ้า : นี่ก็แสดงว่ามโนกรรมมีความสำคัญเพียงไร

    อุบาลี : พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ชื่นชมต่อภาษิตของพระผู้มีพระภาคตั้งแต่อุปมาข้อแรกแล้ว แต่ที่ทำเป็นยึดมั่นในความเห็นเดิมอยู่ ก็เพื่อที่จะฟังพระปฏิภาณ (ไหวพริบ) ในการตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค ต่อจากนั้นอุบาลีคหบดีก็สรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า แจ่มแจ้งเหมือนหงายของที่คว่ำ เป็นต้น ขอถึงพระรัตนตัรยเป็นสรณะตลอดชีวิต

    พระพุทธองค์ทรงเตือนให้ใคร่ครวญเสียก่อน เพราะอุบาลีเป็นคนที่มีชื่อเสียงอยู่ การจะเปลี่ยนความเคารพเลื่อมใสจากลัทธิหนึ่งไปยังอีกลัทธิหนึ่งจำต้องไตร่ตรองให้ดี อุบาลีแสดงความเลื่อมใสยิ่งขึ้นและยืนยันการถึงพระรัตนตรัยของตน พระพุทธองค์ตรัสว่าตระกูลของอุบาลีนั้นเป็นเหมือนบ่อน้ำสำหรับพวกนิครนถ์ ควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์อย่างเดิม

    อุบาลีชื่นชมต่อพระพุทธจริยายิ่งขึ้น และทูลว่าเคยได้ยินมาว่าพระสมณโคดมสอนว่า จงให้ทานแก่พวกเราไม่ควรให้แก่พวกอื่น พึงให้ทานแก่สาวกของเราไม่ควรให้ทานแก่สาวกพวกอื่น ทานที่ให้แก่เราและสาวกของเรามีผลมาก ที่ให้แก่ผู้อื่นหามีผลมากอย่างนั้นไม่ แต่ความเป็นจริงที่ประสบด้วยตนเองในบัดนี้ก็คือ พระผู้มีพระภาคชี้ชวนข้าพระองค์ให้ให้ทานแม้ในพวกนิครนถ์

    พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมมีอนุปุพพิกถา เป็นต้น จนอุบาลีคหบดีได้บรรลุธรรมคือพระโสดาปัตติผล เมื่อกลับไปยังบ้านของตนได้สั่งคนเฝ้าประตูบ้านว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปปิดประตูไม่ต้อนรับพวกนิครนถ์ ต้อนรับแต่พระผู้มีพระภาค พระภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา

    ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ยินข่าวนี้จึงบอกแก่นิครนถนาฏบุตร นิครนถนาฏบุตรไม่เชื่อ ในที่สุดได้ไปพิสูจน์ด้วยตนเอง โดยการไปที่บ้านอุบาลี แต่ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างเคย เพียงแต่ให้ปูอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง

    เมื่อออกมาต้อนรับอย่างขัดเสียไม่ได้ก็นั่งบนอาสนะที่ดีกว่า เมื่อสนทนากันไปเป็นเวลานานเห็นว่านิครนถนาฏบุตรยังสงสัยในการเปลี่ยนศาสนาของตน อุบาลีจึงประคองอัญชลีไปทางทิศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ แล้วเปล่งวาจาหลายครั้งว่าตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

    นิครนถนาฏบุตรเสียใจจนอาเจียนเป็นเลือด

    ที่พวกเดียรถีย์หรือนักบวชลัทธิอื่นพูดกันว่า พระสมณโคดมมีอาวัฏฏนีมายาเวทมนต์ สำหรับกลับใจคนนั้น จริงๆ แล้วสิ่งนั้นไม่ใช่อื่นไกล สิ่งนั้นคือพระวาจาที่ประกอบไปด้วยเหตุผล ซึ่งผู้ฟังตรองตามแล้วเห็นจริงได้ และตรัสพระวาจานั้นด้วยเมตตา มุ่งประโยชน์และความสุขแก่ผู้ที่มาสนทนาด้วย เมื่อเขาได้มองเห็นเหตุผลอย่างชัดเจนและนำไปปฏิบัติตามแล้วได้ประโยชน์เขาก็เลื่อมใส กลับใจจากลัทธิอื่นมานับถือพระพุทธศาสนา

    อุปาลิวาทสูตร

    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6347
     
  2. countdown

    countdown เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    1,016
    ค่าพลัง:
    +3,165
    กรรมใจครับ เพระใจไม่คิด กายไม่ทำงาน วาจาไม่ออก (ใจเป็นหลัก)
     

แชร์หน้านี้

Loading...