สติเป็นจิตหรือเปล่า? หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 22 สิงหาคม 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ถาม : สติเป็นจิตหรือเปล่า
    หลวงพ่อ : จิตเป็นแต่เพียงความรู้สึก รู้นึก รู้คิด รู้ร้อน รู้เย็น เท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อาตมาขอถามดูสิว่า คนวิกลจริตเราเรียกว่าคนไม่มีสติใช่ไหม ใช่ค่ะ แล้วเขามีจิตหรือเปล่า เขายังมีจิต พอจิตเขาไม่มีสติ เขาก็กลายเป็นคนวิกลจริต สติถ้าจะว่าโดยส่วนรวมแล้ว ถ้าจิตไม่มี อะไรก็ไม่มี ธรรมก็ไม่มี สติก็ไม่มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็ไม่มี ถ้าไม่มีจิตโดยธรรมชาติของคนเราจะต้องมีส่วนประกอบ ๒ อย่าง คือ กาย จิต ทีนี้เมื่อมีจิตเพียงหนึ่ง ไม่มีกายเป็นส่วนประกอบ ทำอะไรไม่สำเร็จ แต่เมื่อมาก่อร่างเป็นตัว เป็นตน เป็นรูป เป็นร่างขึ้น มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจิตอันนี้ก็อาศัยประสาท ๕ คือ ประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย และหัวใจ ซึ่งเรียกว่า มันสมอง เป็นสื่อสัมพันธ์ ความรู้สึกนึกคิด ซึ่งแสดงอาการออกมาด้วยการคิดดี และคิดชั่ว ดังนั้น สภาพความเป็นจริงของจิตนั้นเป็นแต่เพียงรู้สึก รู้นึก รู้คิด แต่หาระเบียบไม่ได้ คิดเรื่อยเปื่อยไป แต่เมื่อมีสติเป็นเครื่องประกอบซึ่งเรียกว่า เจตสิก ที่ประกอบอยู่ในจิต ถ้าคนมีสติอ่อน ๆ ก็กลายเป็นคนปัญญาอ่อน ถ้าคนมีสติเข้มแข็ง ก็กลายเป็นคนมีปัญญาโดยธรรมชาติ ถ้าสติที่ได้ฝึกฝนอบรมด้วยการเพ่งพินิจในเครื่องรู้ อันเป็นอุบายให้เกิดกำลังกล้าขึ้นมา สติมีกำลังเราเรียกว่า " พลังจิต" เช่น นักใช้อำนาจจิตทั้งหลาย โดยปกติแล้วเป็นเพียงแต่ใช้การนึกอย่างเดียวแล้ว จิตจะไม่มีพลัง ต้องอาศัยการฝึกหัดเพ่งเทียน เพ่งกสิณ อะไรก็แล้วแต่ ในเมื่อจิตมีเครื่องรู้ จิตก็มีสติสัมปชัญญะดี จิตก็มีพลัง ถ้าหากอาศัยการเพ่งกสิณ ก็สามารถใช้พลังจิต ใช้ประโยชน์ในทางโลกได้ เช่น อาจใช้พลังจิตช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ อะไรต่าง ๆ เช่น หมอมนต์ไสยศาสตร์ทั้งหลาย เป็นต้นว่า หมอต่อกระดูก ถ้าลำพังเพียงแต่นึกในจิตว่า ให้กระดูกต่อกัน ๆ มันก็ไม่เกิดผล เขาจึงมีคาถาอาคมท่องบ่นเป่าลงไป กระดูกสามารถต่อกันได้ คาถานั้นแหละ คือ เครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นส่วนประกอบให้จิตกับสติเกิดพลังขึ้นมา เพราะฉะนั้นจิตกับสติ เราจึงต้องเข้าใจว่า จิตนี้ เพียงแต่นึก แต่คิด แต่หาความเป็นระเบียบไม่ได้ แต่เมื่อมีสติเข้าประกอบเป็นเจตสิกแล้ว ความคิดของจิตมันจะเป็นระเบียบยิ่งขึ้นอย่างที่เรามาหัดภาวนานี้ หัดเพื่อให้จิตของเราเกิดสติ มีสติเข้มแข็งขึ้น เพื่อจะได้จัดระบบความคิดของจิตให้มีระเบียบดีขึ้น จะปราศจากกันไม่ได้
    ถ้าเราตั้งใจจะฟังคำพูดของผู้พูด เมื่อจิตของเราอยู่กับคำพูด ก็เหมือนเราขาดสติ อันนี้ว่ากันโดยธรรมดา ๆ ทีนี้อีกอันหนึ่งไม่ใช่ลักษณะของการขาดสติ อันนี้เกิดขึ้นสำหรับผู้ที่เคยภาวนาเป็นมาแล้ว ถ้าหากการฟังเทศน์ ถ้าจิตไม่ยอมรับ ก็เข้าไปสู่ความสงบ ในเมื่อสงบแล้ว ก็จะเข้าไปค้นคว้าตามหน้าที่ของมัน ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ใช่เรื่องขาดสติ อย่างการฟังเทศน์ ฟังไป ๆ ถ้าหากว่าภูมิของผู้เทศน์กับภูมิของเราไม่ตรงกัน จิตจะไม่เอาไหน ก็จะเข้าไปสู่ความสงบ แล้วก็เข้าไปค้นคว้าของมันเอง โดยไม่สนใจคำพูดของผู้พูด อันนี้ไม่ใช่ลักษณะของการขาดสติ แต่ถ้าเราตั้งใจให้จิตอยู่กับคำพูดของผู้พูด พอเสร็จแล้วไม่ใช่ลักษณะของความสงบ แต่มันลอยเลื่อนลืม ๆ ไป นี้เป็นลักษณะของการขาดสติ
    ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นสิ่งมีคุณ มีประโยชน์ และมีความจริงตามขั้นภูมิของเขา หลักวิชาไสยศาสตร์ก็มีความจริงตามขั้นภูมิของเขา เช่น มนต์ต่อกระดูกที่กล่าวมาแล้ว ความจริงก็ปรากฏเป็นส่วนมาก คือ ผู้ที่เขาเรียนแล้วก็สามารถต่อกระดูกได้ แม้ในระดับชนชั้นปัญญาชน เช่น คุณหลวงศุภชลาศัยก็เก่งในวิชาต่อกระดูก อันนี้ถ้าเอาคาถามาท่องบ่นนั้นเป็นความผิดหรือไม่ ต้องอยู่ที่ความรู้จริง และความรู้เท่าเอาทันของผู้ใช้ พระพุทธเจ้าก็ใช้วิชาไสยศาสตร์ในคราวจำเป็น เคยได้ยินไหม พระพุทธเจ้าใช้วิชาไสยศาสตร์ อะไรที่เราน้อมไปเพื่อผลตอบแทนในการท่องบ่นคาถาอาคม หรืออธิษฐานจิต อันนี้คือไสยศาสตร์ และต้องการความสำเร็จ ถ้าเราไปไหว้พระ ก็เป็นไสยศาสตร์ ถ้าเราท่องบ่นเพื่อกราบไหว้ อันนี้เรียกว่าเป็นการฝึกฝนอบรมจิต เป็นพุทธศาสตร์ล้วน ๆ อาจจะเป็นคาถาในศาสนาพราหมณ์ที่เขาท่องบ่นก็ตาม แต่ถ้าเราเอามาท่องเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ ให้รู้แจ้งเห็นจริงโดยไม่ต้องขออะไร อันนี้เป็นพุทธศาสตร์ เราท่อง พุทโธ พุทโธ แล้วเราขอว่าภาวนาแล้ว พอเลิกภาวนาขอให้ร่างลอยนั้น เป็นเรื่องของไสยศาสตร์ พระพุทธรูปองค์เดียวนี้เป็นได้ทั้งไสยศาสตร์ และพุทธศาสตร์
    ทำสมาธิก็เป็นไสยศาสตร์ เช่น พอทำสมาธิแล้ว ให้สามารถเกิดเป็นหมอดูได้ มองหาทรัพย์สมบัติ หรือใช้พลังจิตเพื่อจะใช้กดขี่ข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของคนอื่นให้ตกมาอยู่ในอำนาจของตน นอกจากเป็นไสยศาสตร์แล้ว ยังเป็นมิจฉาสมาธิอีก แต่ถ้าทำไปโดยไม่หวังผลอะไร คือทำด้วยใจบริสุทธิ์แล้วเป็นพุทธศาสตร์ล้วน ๆ
    ไสยศาสตร์ บางคนเรียนแล้วเกิดความยุติธรรม และอยุติธรรมขึ้นมา เช่นสมมติว่า ใครก็ตามเรียนพวกเสน่ห์มหานิยม พระพุทธเจ้าว่าเป็น ดิรัจฉานวิชา เรียนเครื่องลางของขลังก็เป็น ดิรัจฉานวิชา ทำไมถึงว่าอย่างนั้น ก็ท่านไปกำหนดเอาที่ว่า เมื่อเก่งแล้วขาดศีลธรรม ไม่มีศีลห้า อย่างเรียนมนต์เสน่ห์เก่งแล้วอยากได้ลูกสาวใครก็เอาสีผึ้งไปติดเธอ ให้เธอวิ่งตาม อันนี้ไม่ยุติธรรมเป็นการกดขี่ข่มเหงคนที่เธอไม่เลื่อมใสศรัทธา กับเอาวิชาไปข่มเหงเธอ เป็นการทำเยี่ยงสัตว์ดิรัจฉาน แต่ถ้ารู้ไว้แต่ไม่ทำอย่างนั้น พระองค์ก็ไม่ตำหนิ การทำสมาธิ เมื่อเราทำสมาธิมาดีแล้วไม่ว่าท่องคาถาบทไหนขลังหมด เช่น คาถาต่อกระดูกบทหนึ่งว่าไว้ว่า "จัตตาโร ยถา ปัตโต เอโก ปัตโต อธิฏฐามิ" เกิดขึ้นเมื่อท้าวมหาราชทั้ง ๔ เอาบาตร ๔ ใบ ไปถวายพระพุทธเจ้า ทีนี้พระพุทธเจ้าจะอธิษฐานใช้ของใครอันใดอันหนึ่ง ก็กลัวจะเสียพระทัย จึงเอาบาตรทั้ง ๔ มารวมกันเข้า แล้วพระองก์อธิษฐานจิตว่า "จัตตาโร ยถา ปัตโตเอโก ปัตโต อธิฏฐามิ" บาตรนี้มี ๔ ใบ เราอธิษฐานจิตเพื่อให้บาตรนี้มีรวมใบเดียว นี้คือพระพุทธเจ้าใช้ไสยศาสตร์ จะมีประโยชน์ หรือ ไม่มีประโยชน์ก็ขึ้นอยู่กับขั้นภูมิของเรา ที่มีประโยชน์คือสำหรับผู้ใช้ให้เกิดศีลธรรม แต่ไปใช้ผิดศีลธรรมจนทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้วเรียกว่า ดิรัจฉานวิชา เพราะฉะนั้นวิชาอาคม หรืออาวุธ เช่น ปืน คนไม่มีศีลธรรมก็ใช้ในทางไม่ถูกต้อง
    กิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ แต่กิเลสก็เป็นสิ่งมีประโยชน์สำหรับคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอยาก อย่างเห็นได้ชัดในวันนี้ ที่ท่านทั้งหลายตั้งใจมาฟังเทศน์นี้ นอกจากอยากจะรู้ธรรมะแล้ว ยังอยากจะได้บุญ อยากจะไปสวรรค์ อยากจะไปนิพพาน สิ่งเหล่านี้เป็นอาการของกิเลสทั้งนั้น แต่ว่าที่เรามีกิเลสนี้เป็นสิ่งกระตุ้นเตือน ความรู้สึกของเราให้เกิดความกระตือรือร้น เช่นผู้ที่จะสร้างโลก หรือสร้างหลักฐานให้มั่นคง ก็อาศัยกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวตัณหานี่แหละคือความทะเยอทะยาน มันเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนจิตใจของคนให้อยากได้ อยากดี อยากเป็น ซึ่งเป็นวิสัยของฆราวาสผู้ครองเรือน ถ้าฆราวาสหมดจากกิเลสแล้วโลกจะเสื่อม ต้องรักษาความอยากเอาไว้ แต่เมื่อเราจะใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง คือ เกิดประโยชน์แก่ตนเองด้วย แก่ผู้อื่นด้วย หมายถึงว่า ไม่ทำตัวเองให้เดือดร้อน ไม่ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน เราก็ควรจะมีศีล เป็นขอบเขตของการใช้กิเลส ถ้าหากว่าใครจะใช้กิเลสไปในทางไหนก็ตาม ให้นึกถึงศีล ๕ ข้อ อยากรวย อย่าริเป็นขโมย อยากรวย อย่าริเป็นโจรปล้น อยากรวยอย่าฉ้อโกง โดยเอาศีลข้อ อทินนาทาน มาเป็นขอบเขต นี่ยกตัวอย่างให้ฟังเพียงข้อเดียว นอกนั้นคิดเอาเอง
     
  2. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    และอีกอันหนึ่งที่ชาวพุทธเข้าใจผิด และตำหนิพระพุทธเจ้า ซึ่งหลายปีมาแล้วได้ยินท่านผู้รู้ท่านหนึ่ง เขียนบทความไปอ่านในที่ประชุมของเจ้าคณะจังหวัด ๗๑ จังหวัด สมัยนั้นมีเพียง ๗๑ จังหวัด มีข้อความตอนหนึ่งว่า คำสอนในพระพุทธศาสนา บางอย่างพระสงฆ์ไม่ควรนำมาสอนประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนขี้เกียจงอมืองอเท้า เช่น คำว่า สันโดษ เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าชัด ๆ คำว่า สันโดษ แปลว่าความพอ ไม่ได้หมายความว่า พอเฉพาะเท่าที่มีอยู่ แต่พอตามสติปัญญาความสามารถของตน มาไขความอยู่ตอนนี้ ใครจะมีความสามารถใช้สติปัญญาของตนเอง เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือส่วนรวม ขนาดไหน อย่างไร ใช้ไปเถอะ รวมแล้วคืออย่าให้เกินขอบเขตของศีลห้าก็แล้วกัน ศีลห้าข้อนี้ นอกจากเป็นขอบเขตของการใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นอุบายตัดผลเพิ่มของบาปกรรม วันนี้เรามีศีลห้าบริบูรณ์ ถ้าเรายึดศีลห้าเป็นหลักปฏิบัติตลอดไป
    บาปกรรมที่จะเพิ่มผล อันเป็นวิบากที่เราจะต้องไปรับในกาลข้างหน้านั้น มีเท่าไรก็ยุติอยู่เพียงแค่นี้ ถ้าหากเราไม่เคร่งในศีล ๕ ข้อ เราไปละเมิดข้อใดข้อหนึ่งเรียกว่า บาปเก่า แทนที่จะมีน้ำหนักเพียงกิโลเดียว ถ้าไปทำเพิ่มก็หนักเพิ่มขึ้นไปอีก ทำทีไรก็เพิ่มขึ้นทุกที ถ้าเรางดเว้นไม่ทำแล้ว ก็ยุติเพียงแค่นี้ ส่วนที่มีแล้วก็แล้วไป กาลข้างหน้าเราไม่ได้ทำ เราทำแต่ความดี ผลเพิ่มของบาปก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น หลักการทำความดีนี้ก็ คือ เราต้อง ทำดี ทำดี ทำดี อย่างเดียวเท่านั้น ในเมื่อตั้งใจแต่จะทำดีอย่างเดียว มันก็ดีไปเรื่อย ๆ เพราะเราไม่ได้ทำความชั่วมาเป็นเครื่องถ่วงความดี
    ถ้าเป็นวัตถุ บุญกับบาป เมื่อชั่งน้ำหนักก็มีน้ำหนักเท่ากัน บุญเป็นของเบา บาปเป็นของหนัก อันนี้เป็นโวหารในทางเทศน์ เป็นข้อเปรียบเทียบให้ผู้ฟังเข้าใจ การเรียนไสยศาสตร์ราศีดำ ไม่ใช่ราศีเขาดำเพราะการเรียนไสยศาสตร์ แต่ดำเพราะใช้ไสยศาสตร์ไปทำความชั่ว เรียกว่าไปทำในสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ก็เป็นบาป บาปก็ทำให้ผู้ทำนั้นหมดสง่าราศี ไสยศาสตร์มันเป็นของกลาง ๆ พูดเฉพาะหลักวิชา แต่ทำให้คนหน้าดำ หน้าแดง หรืออะไรได้ทั้งนั้น แต่ที่แน่ ๆ คือ ใช้ไสยศาสตร์ไม่ถูกทาง นั่นคือคนที่ทำความชั่วบ่อย ๆ ผิวหน้าเขาจะไม่ผ่องใส ดำ ความไม่คิดอย่างนั้น จะมีอาการอะไรเกิดขึ้นก็ตามกำหนดรู้จิตกับบริกรรมภาวนาเท่านั้น แล้วจิตก็ค่อยสงบลงไปเอง ถ้าเราไปแปลกใจหรือไปเอะใจ ทักท้วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จิตจะถอนจากสมาธิ
    อาจารย์บางองค์ที่ปลุกเสกของในพาน พอปลุกเสกได้ที่แล้ว ของนั้นจะกระโดด บางทีก็กระโดดตีกัน ในสายลูกศิษย์ของอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นนี่มีอยู่องค์หนึ่ง แต่องค์นั้นไม่ได้ตั้งใจจะปลุกเสก ไม่ได้เรียนไสยศาสตร์อะไร ถ้าท่านภาวนาจิตสงบลงไปแล้ว ถ้วยที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวท่าน ห่างประมาณ ๑ เมตร กระโดดตีกันโผงผางขึ้นมา เป็นแบบนี้ก็มีได้ อำนาจของจิตเป็นสิ่งที่มีพลังมาก พระพุทธเจ้าจึงกำหนดขอบเขตเอาไว้ว่า มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ การเริ่มต้นด้วยการภาวนานี้ ก็จะให้มีศีลและเจริญเมตตา เพื่อฝึกหัดจิตของผู้ภาวนาให้มีความรู้สึกละอายต่อบาปอกุศล

    คัดลอกมาจาก http://www.palapanyo.com/dham/files... มัลติมีเดีย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย/answer09.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...