ตำนานเหรียญเสมาฉลองอายุครบ ๖ รอบ

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย ศรทอง, 11 มกราคม 2011.

  1. ศรทอง

    ศรทอง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2007
    โพสต์:
    297
    ค่าพลัง:
    +63

    เนื่องในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 อันเป็นศุภวาระมงคลที่ “พระครูมนูณธรรมวัตร” หรือ “หลวงพ่อสาคร มนุณญโญ” แห่ง วัดหนองกรับ ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ศิษย์เอกผู้สืบสายพุทธาคมแห่งหลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ จะมีอายุครบ 6 รอบ 72 ปี ทางคณะกรรมการวัดหนองกรับและศิษยานุศิษย์จึงได้ขออนุญาตหลวงพ่อสาครดำเนินการจัดสร้าง “เหรียญเสมาฉลองอายุครบ 6 รอบ”และ”เหรียญเม็ดฟักทองอุดมโชค” เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ทุกท่านที่ได้บริจาคทุนทรัพย์ทำบุญร่วมสร้างกำแพงวัดหนองกรับให้แล้วเสร็จ

    รูปลักษณ์แบบเหรียญเสมาฉลองอายุครบ 6 รอบ นี้ เป็นเหรียญเสมาขนาดความสูง 3.8 ซ.ม. ลักษณะคล้ายกับเหรียญเสมา 8 รอบ ของหลวงปู่ทิม อิสริโก แต่ได้ปรับแต่งรายละเอียดบางอย่างให้แตกต่างไปจากเดิม


    ด้านหน้า-เป็นรูปหลวงพ่อสาครนั่งเต็มองค์ ด้านบน มีอักขระ “มะอะอุ” คือ แก้ว 3 ประการ ซึ่งหมายถึง พระพุทธ,พระธรรมและพระสงฆ์ ขอบชั้นในเป็นเม็ดไข่ปลา ด้านล่าง เป็นรูปหัวเสือ อันหมายถึง “ปีขาล” อันเป็นปีเกิดของหลวงพ่อสาครนั่นเอง
    ด้านหลัง- มียันต์ครูของ หลวงปู่ทิม อิสริโก และเขียนว่า “ที่ระลึกฉลองอายุครบ ๖ รอบ” มีลายเซ็นสมณศักดิ์ของหลวงพ่อสาครเป็นตัวนูน ชื่อวัดและวันที่ ๓ ก.พ. ๒๕๕๓ และในครั้งนี้ได้จัดสร้างทั้งแบบเหรียญชั้นเดียวและเหรียญปะฉลุลงยา เพื่อเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือของการสร้างเหรียญปะฉลุซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนให้ชนรุ่นหลังได้เห็น ถือเป็นเหรียญที่จัดสร้างได้อย่างวิจิตรงดงามเหรียญหนึ่งในยุดปัจจุบัน



    พิธีอธิฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว วันที่ ๑๖ ถึง ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
    พิธีอธิฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว โดย หลวงพ่อสาคร มนุญโญ เริ่มขึ้นในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งเป็นวันธงชัย พราหมณ์ทำพิธีบวงสรวงบอกกล่าวเทวดาฟ้าดิน หลวงพ่อสาครนั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวเป็นปฐมฤกษ์ ที่หอยันต์อันเข้มขลัง หลังจากนั้นหลวงพ่อสาครได้อธิษฐานจิตเป็นประจำทุกวัน เป็นเวลา ๙ วัน จนกระทั่งถึงวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ อันเป็นวันฟูและฤกษ์บนเป็น “มหัทธโนฤกษ์” ซึ่งฤกษ์นี้เรียกว่า “ฤกษ์เศรษฐี” ส่งผลด้านความเจริญทางทรัพย์สิน หลักทรัพย์มั่นคง และฤกษ์ล่างเป็น “ปลอด” คือความไม่มีอันตราย ส่งผลดี ปราศจากอุปสรรคความขัดข้อง สัปตฤกษ์เป็น “ศุภะ” เกื้อหนุนส่งเสริมเกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งเป็นพิธีสุดท้ายได้ทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว และสวดสมโภชวัตถุมงคล ทั้งหมดในอุโบสถวัดหนองกรับเป็นพิธีสุดท้าย ในขณะทำพิธีบวงสรวง เกิดฝนตกโปรยปราย ดุจเทพยดาฟ้าดิน ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ หลังเสร็จพิธีฝนก็หยุดตกเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

    เรียบเรียงโดย นางพญา
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มกราคม 2011
  2. คนกันเอง

    คนกันเอง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    7,441
    ค่าพลัง:
    +8,975
    เหรียญสวยมากครับ พี่ศรทอง
     
  3. ศรทอง

    ศรทอง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2007
    โพสต์:
    297
    ค่าพลัง:
    +63
    เหรียญมหาโภคทรัพย์ หลวงพ่อสาคร

    วัตถุมงคล มหาโภคทรัพย์
    ความเมตตาเป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งปวง
    หลวงพ่อสาคร มนุญฺโญ วัดหนองกรับ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

    ความเมตตา คือสภาวะของจิตใจที่มีเยื่อใยไมตรีจิตมิตรใจ คิดเกื้อกูลด้วยสุขประโยชน์ ปราศจากอาฆาตพยาบาทโกรธแค้น แสดงออกทางสีหน้าและสายตาที่สงบแช่มชื่น มองด้วยสายตาอันแสดงถึงความปรารถนาดีให้มีความสุข ปราศจากความมุ่งร้ายที่เป็นภัยต่อกันทั้งปวง นี่เป็นความหมายที่กล่าวถึงคุณลักษณะของความเมตตานั่นเอง

    ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา พระครูมนูญธรรมวัตร หรือ หลวงพ่อสาคร มนุญฺโญ วัดหนองกรับ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ศิษย์ผู้สืบสานพุทธาคมจากหลวงปู่ทิม อิสริโก จะมีอายุครบ 73 ปี ทางคณะกรรรมการวัดหนองกรับและศิษยานุศิษย์ได้ขออนุญาตหลวงพ่อสาครจัดสร้างเหรียญรูปเหมือนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาทุนทรัพย์ก่อสร้างกำแพงรอบวัดหนองกรับให้แล้วเสร็จ หลวงพ่อสาครได้ให้ชื่อเหรียญรุ่นนี้ว่า มหาโภคทรัพย์ อันเป็นชื่อที่ให้ความบริบูรณ์ในด้านทรัพย์สินเงินทองและเป็นมงคลอย่างยิ่ง

    เหรียญไข่รูปเหมือนนั่งสมาธิเต็มองค์ มหาโภคทรัพย์


    รูปแบบลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่คล้ายผลมะตูม มีขั้วอยู่ที่ห่วงเหรียญอันหมายถึงการออกดอกออกผลเป็นผลสำเร็จ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนเต็มองค์หลวงพ่อสาครในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิบนโต๊ะขาสิงห์ ด้านบนเขียนว่า มหาโภคทรัพย์ ด้านล่างเป็นลวดลายรองรับในชั้นล่าง

    ส่วนด้านหลัง บรรจุอักขระยันต์ครูตามแบบหลวงปู่ทิม อิสริโก เป็นประธาน หลวงพ่อสาครท่านได้กำหนดให้อักขระล้อมรอบชั้นในและชั้นนอก ดังนี้ “ปิโยเทวะมนุสสานัง ปิโยพรหมนะมุตตะโม ปิโยนาคะสุปัณณานัง ปิยินทรียังนะมามิหัง” แปลว่า”ผู้เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่สูงสุดของพรหมทั้งหลาย เป็นที่รักตลอดไปถึงติรัจฉานมีนาคและครุฑเป็นอาทิ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้มีอินทรีย์อิ่มพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า” พระคาถานี้ถือว่าเป็นสุดยอดทางเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ แฝงคติทางพระพุทธศาสนาที่สื่อถึงความหมายแห่งการสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้าอันเป็นที่รักแห่งชนทั้งปวง ด้วยว่าเป็นพุทธคุณบทเมตตาอันล้ำเลิศในพระคาถาอิติปิโสรัตนมาลา เหล่าพระคณาจารย์ทั้งหลายหากจะหวังผลในทางเมตตามหานิยมต้องใช้กำกับเสมอ พระคาถานี้มีชื่อว่า “ดอกไม้สวรรค์” เป็นพระคาถาบท “ปิ”เป็นหนึ่งในบท”อิติปิโสรัตนมาลา” ซึ่งพรรณนาคุณแห่งพระรัตนตรัยที่แจกแจงออกไปตามอักขระอย่างลึกซึ้ง แล้วร้อยกรองเข้าไว้ด้วยกันดุจพวงมาลา ซึ่งมีมาแต่โบราณกาลสืบทอดกันมาช้านาน

    ส่วนที่เป็นคาถาวงในนั้นประกอบด้วยด้านบนคือ อ่านว่า “นะชาลีติ” เป็นคาถาหัวใจพระสีวลี พระสิวลีเป็นพระมหาเถระในครั้งพุทธกาลที่ได้รับการรับรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เป็นเอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก”คำว่าเอตทัคคะแปลว่าเป็นเลิศ ดังนั้นพระสิวลีเถระจึงเป็นพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศด้านมีลาภมากนั่นเอง แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงกล่าวว่า “ยกเว้นแต่พระตถาคตเจ้าแล้ว ไม่มีผู้ใดจะเลิศด้วยลาภเหมือนพระสิวลีเถรเจ้า” ดังนั้นพระคาถาหัวใจพระสิวลีจึงโดดเด่นในเรื่องโชคลาภโภคทรัพย์ พระคาถาบทต่อกันมาเป็นคาถา”มงกุฎพระพุทธเจ้า” โบราณาจารย์แต่เก่าก่อนท่านว่ามีพุทธคุณครอบจักรวาลโดดเด่นดีทุกด้านทุกทาง อ่านว่า “อิติปิโส วิเสเสพุทธะนาเมอิ อิเมนาพุทธะตังโสอิ อิโสตังพุทธะปิติอิ” ความหมายคือ “ขออัญเชิญคุณแห่งพระพุทธเจ้าอันวิเศษ คุณแห่งกระแสพระนิพพานอันประเสริฐ ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญแล้วจงเป็นมหาวิภูษิตาภรณ์ประดับด้วย มงกุฎทิพย์และเครื่องทรงแห่งพระเจ้ามหาจักรพรรดิ ครอบคลุมข้าพเจ้าตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ” หากรวมคุณวิเศษแห่งอักขระทั้งปวงแล้วต้องถือได้ว่าครบถ้วนครอบคลุมให้คุณวิเศษในทุกด้านอย่างบริบูรณ์เลยทีเดียว

    หลวงพ่อสาครท่านได้ปรารภเป็นคติที่น่าสนใจให้ฟังว่า”คนเราน่ะ หากมีแต่คนเมตตารักใคร่ไม่โกรธเกลียดแล้วก็จะมีแต่มิตรที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูล จะประกอบกิจการงานใดก็ราบรื่นประสบผลสำเร็จ ได้ทรัพย์สินเงินทองตามมา นี่ถึงเรียกว่าความเมตตาเป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งปวงจริงๆ” ด้วยเหตุนี้ท่านจึงบรรจงเลือกวางอักขระให้บังเกิดความเมตตานำหน้าก่อน จึงเป็นที่มาแห่งเหรียญที่ชื่อ “มหาโภคทรัพย์” นั่นเอง
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 5987.jpg
      5987.jpg
      ขนาดไฟล์:
      78.6 KB
      เปิดดู:
      388
  4. ศรทอง

    ศรทอง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2007
    โพสต์:
    297
    ค่าพลัง:
    +63
    พระสังกัจจายน์ รุ่นรับทรัพย์ ไตรมาส 54 หลวงพ่อสาคร

    พระสังกัจจายน์ รุ่นรับทรัพย์ ไตรมาส 54 หลวงพ่อสาคร
    พระสังกัจจายน์ เป็นพระมีพุทธลักษณะอ้วน พุงพลุ้ยมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ โชคลาภ เป็นหนึ่งในพระสาวกผู้ใหญ่ จัดอยู่ในเอตทัคคะ ผู้ใดบูชาผู้นั้นได้ลาภประเสริฐแล
    พระสังกัจจายน์ที่สร้างขึ้นมาเป็นวัตถุมงคล เท่าที่ค้นพบมีมาแต่สมัยเชียงแสน
    ดังภาพของพระสังกัจจายน์ องค์ที่นั่งสองมือประสานอยู่ที่พุง นั่งขัดสมาธิเป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ค่อนข้างจะหายากสักหน่อย ในภายหลังมีพระคณาจารย์หลายท่านจัดสร้างจำลองขึ้นมา มีทั้งเนื้อโลหะ เนื้อผง
    วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเพื่ออำนวยพรให้แก่ผู้ได้ครอบครอง มั่งมี ศรีสุข อุดมสมบูรณ์ด้วยลาภยศเงินทองนั่นเอง โดยสรุปแล้วพระสังกัจจายน์รูปร่างสมบูรณ์ เพราะไม่อด ผู้ใดมีครอบครองก็ไม่อดเช่นกัน
    ในจำนวนพุทธสาวกจำนวน ๘๐ องค์ ที่เป็นเอตทัคคะมีเพียง ๔๑ องค์เท่านั้น และในจำนวน ๔๑ องค์นี้ มีการจำลองรูปมาเป็นพระพิมพ์หรือพระบูชาที่วงการนักนิยมพระเครื่องรู้จักกันนามแค่๓ องค์ คือ ๑. พระโมคคัลลานะ ๒. พระสารีบุตร และ ๓. พระสังกัจจายน์ ท่านที่แสวงหาวัตถุมงคล สมควรจัดหา พระสังกัจจายน์ มาบูชาเพื่อสอดคล้องกับทัศนคติแต่โบราณ ตำนานพุทธสาวกทั้ง ๘๐ องค์ กล่าวว่า พระสังกัจจายน์ เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิต กัจจานโคตร หรือกัจจายนโคตร ในแผ่นดินของพระเจ้าจัณฑปัชโชต กรุงอุชเชนี เมื่อกัจจายนะกุมารเจริญวัยเรียนจบไตรเพท บิดาได้ถึงแก่กรรม จึงได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา ครั้นต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงทราบว่าพระศาสดาตรัสรู้แล้วเสด็จเที่ยวโปรดสัตว์สั่งสอน ประชุมชนธรรมะที่พระองค์สอนนั้นเป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์แก่ผู้ประพฤติตาม จึงมีพระประสงค์ใคร่เชิญเสด็จพระบรมศาสดาไปประกาศที่กรุงอุชเชนีจึงรับสั่งให้กัจจายนะปุโรหิตไปทูลเสด็จกรุงอุชเชนี กัจจายนะปุโรหิตพร้อมด้วยผู้ติดตาม ๗ คน จึงออกจากกรุงอุชเชนีครั้นมาถึงจึงพากันเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเทศน์สั่งสอนในที่สุดบรรลุอรหันต์ทั้ง ๘ คน หลังจากนั้นทั้ง ๘ ก็ทูลขออุปสมบท ทรงขออนุญาต ครั้นอุปสมบทแล้ว
    จึงทูลเชิญเสด็จกรุงอุชเชนี ตามหน้าที่ พระองค์รับสั่งว่า
    "ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้วพระเจ้าปัชโชตจักทรงเลื่อมใสท่าน”

    พระสังกัจจายน์ รุ่นรับทรัพย์ ไตรมาส 54 หลวงพ่อสาคร
    พระกัจจายนะจึงออกเดินทางพร้อมพระอรหันต์อีก ๗ องค์ที่ติดตามมาด้วยกลับคืนสู่กรุงอุชเชนี และประการสัจธรรมให้แก่พระเจ้าจัณฑปัชโชต พร้อมชาวพระนครเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และถ้อยคำประการอันเป็นสัจธรรม หลังจากนั้น กลับคืนสู่สำนักของพระพุทธองค์ ตรัสว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายแห่งการย่อคำพิสดาร นับจากนั้นมา พระสังกัจจายน์ก็เป็นผู้สรุปย่อคำสอนบอกแก่บรรดาสาวกทั้งหลาย ด้วยความพอใจอย่างยิ่ง ในคำย่อนั้น และยังเป็นผู้ทูลขอให้พระพุทธองค์บัญญัติแก้ไขพุทธบัญญัติบางประการ ปรากฏว่าเป็นที่พอพระทัยแก่องค์พระศาสดาเป็นอย่างมาก พระสังกัจจายน์ เป็นผู้มีรูปงาม ผิวเหลืองดุจทอง ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมี โสเรยยะบุตรเศรษฐี คะนองเห็นพระสังกัจจายน์จึงปากพล่อยกล่าวว่า ถ้าเราได้ภรรยามีรูปกายงดงามเยี่ยงท่านนี้ จักพอใจยิ่ง พลันปรากฏว่า โสเรยยะบุตรมหาเศรษฐีหนุ่มคะนองปากได้กลายเพศเป็นหญิงในทันทีจึงหลบหนีไป ต่อมาได้สามีและบุตรสองคน จึงกลับมาขอขมากับพระสังกัจจายน์ โสเรยยะจึงกลับคืนสู่เพศชายเช่นเดิมนับว่าพระสังกัจจายน์มีฤทธิ์อำนาจยิ่งองค์หนึ่งในพุทธสาวก
    มีเรื่องแทรกเข้ามาว่า เพราะรูปกายอันงดงามของพระสังกัจจายน์
    สร้างความปั่นป่วนแก่อิตถีเพศอย่างมาก จึงได้เนรมิตกายใหม่ให้อ้วน พุงพลุ้ย
    น่าเกลียด เพื่อความสงบแห่งจิตและกิเลส
    เรื่องราวของ พระสังกัจจายน์
    พอสรุปได้ว่าเป็นพระพุทธสาวกที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรู้ และเป็นที่โปรดของพระพุทธองค์ยิ่ง มีบารมี มีอิทธิฤทธิ์ ผู้ใดบูชาพระสังกัจจายน์จึงได้รับพรจากพุทธสาวก อันเป็นเอตทัคคะอย่างสมบูรณ์
    พระสังกัจจายน์ในพระเครื่อง อาจจะด้วยตำนานพุทธประวัติ
    เกี่ยวกับพุทธสาวกทั้งหลาย ๘๐ องค์ เอตทัคคะ ๔๑ องค์ พระสังกัจจายน์จึงถูกนำมาสร้างจำลองขึ้นอีกองค์หนึ่ง เพื่อแสดงความหมายถึงอันอุดมสมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ ความเจริญ ด้วยเหตุนี้ พระสังกัจจายน์จึงสร้างจำลองอย่างโดดเดี่ยวออกมาในแบบพระบูชาและพระเครื่องมากมายหลายคณาจารย์ด้วยกัน
    จากการค้นพบในกรุพระเชียงแสน
    พบพระสังกัจจายน์ ทำให้น่าเชื่อว่าการสร้างพระสังกัจจายน์นั้น
    มีการสร้างมาแล้วในสมัยเชียงแสน ลพบุรี กลางสมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงในต้นรัตนโกสินทร์ ในด้านพระเกจิอาจารย์รูปจำลองพระสังกัจจายน์ของ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ได้รับความนิยมสูงแต่ก็ยังเรียกกันว่า รูปเหมือนหลวงพ่อเงิน ทำนองเป็นรูปจำลองของหลวงพ่อเงินจริงๆ โดยข้อเท็จจริงแล้ว พระหลวงพ่อเงินที่เช่าหาราคาแพง ในทุกวันนี้เป็น รูปจำลองของพระสังกัจจายน์ ที่ถูกต้อง
    พระพิมพ์รูปแบบของ พระสังกัจจายน์
    ส่วนมากมีจัดการสร้างในกรุงเทพฯ เช่น กรุวัดท้ายตลาด กรุวัดเงินคลองเตย และ พระพิมพ์ของหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร เป็นต้น ในต่างจังหวัดไม่ค่อยปรากฏ ในต้นรัตนโกสินทร์ ในยุคกลาง พอมีการจัดสร้างกันมาบ้าง
    ลักษณะของพระสังกัจจายน์
    โดดเด่นมองเห็นก็รู้ว่าเป็นพุทธสาวกองค์ไหน เมื่อสรุปแล้วจะเห็นว่าพุทธสาวกจำนวน๘๐ องค์ พระเอตทัคคะ ๔๑ องค์นั้น มีเพียงพระสังกัจจายน์เท่านั้นที่สร้างอย่างโดดเด่น ส่วนพระโมคคัลลา-พระสารีบุตรจะต้องสร้างเป็นพระสาม มีพระพุทธองค์และขนาบด้วยพระพุทธสาวกทั้งสองทำให้น่าคิดว่าเคยพบพระกรุ หรืออย่างพระพิมพ์มเหศวร จ.สุพรรณบุรี อาจจะเป็นพระโมคคัลลา พระสารีบุตร ก็ได้ เพราะมีพระสององค์ พระพุทธรูปจำลอง ในแบบพระบูชาก็ดีหรือแบบพระเครื่องก็ดี ที่มีสององค์นั้นไม่น่าจะเป็นพระพุทธองค์ เพราะพุทธองค์ไม่มีพี่ไม่มีน้อง
    พระสังกัจจายน์ รุ่นรับทรัพย์ ไตรมาส 54 หลวงพ่อสาคร
    ในวงการพระเครื่องพุทธสาวกที่ถูกนำมาสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชามีเพียงองค์เดียวที่โดดเด่นไม่ถกเถียงคือ พระสังกัจจายน์ องค์นี้เท่านั้นที่ยุติได้ทั้งแบบมหายาน หินยาน นิยมการสร้างมากแบบจีนนิยมสร้างมากกว่าในเมืองไทย มีวัดจีนหลายวัดที่สร้างพระสังกัจจายน์ใหญ่เป็นเนื้อโลหะ เครื่องเคลือบ สมัยเช็งเตาปังโคย กังไสก็เคยพบพระสังกัจจายน์ในจำนวนมาก พระอรหันต์ทั้ง ๑๘ องค์ รวมพระสังกัจจายน์ไว้ด้วยอีกหนึ่งองค์ ผู้ใดบูชา “พระสังกัจจายน์”ย่อมเป็นมหามงคลอุดมด้วย ลาภ ยศ ความเจริญรุ่งเรืองดีนักแล
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  5. ศรทอง

    ศรทอง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2007
    โพสต์:
    297
    ค่าพลัง:
    +63
    พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตฺตโม
    หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ จ.ระยอง


    ในบรรดาพระเครื่องวัตถุมงคลที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นชัดเจนแสดงถึงพุทธคุณเรื่องความอยู่ยงคงกระพัน ปลอดภัยแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง พระปิดตามหาอุตม์ คงจัดอยู่ในแถวหน้า ด้วยรูปลักษณะที่ปิดหน้า,ปิดหู,ปิดสะตือ,ปิดกัน พูดง่ายๆปิดสารพัดทางเข้าออกในร่างกาย รูปลักษณะนี้เป็นภูมิความรู้วิชาที่สืบสานยาวนานมาแต่ครั้งโบราณกาลแฝงคติธรรมอันลึกซึ้ง ดูแล้วให้ความรู้สึกเข้มขลังมีพลังอย่างประหลาด

    คติความเชื่อแห่งโบราณจารย์ที่สืบต่อกันมาเกี่ยวกับ พระปิดตามหาอุตม์ ซึ่งมีลักษณะเป็นพระปิดตาหลายมือยกขึ้นปิดทวารทั้ง 9 นั้น ท่านให้ความหมายไว้เป็นสองนัย กล่าวโดยนัยแรกหมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่ทรงเข้านิโรธสมาบัติเรียกว่า ภควัม ซึ่งเป็นการปิดเสียซึ่งการรับรู้สำรวมแห่งอายาตนะภายนอกและภายในทั้งหลายจิตจึงดำรงอยู่ในความสงบอย่างยิ่ง ส่วนนัยยะที่สองนั้นท่านหมายถึงพระภควัมปติเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยพุทธกาลพระภควัมบดี หรือ พระมหากัจจายนะ นั้น ไม่ใช่รูปสมมติแทนองค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า คำว่า ภควัมบดี หรือ ภควัมปติ แปลว่า ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นอีกนามหนึ่งของ พระมหากัจจายนะ ที่เรารู้จักกันในชื่อ พระสังกัจจายน์ นั่นเอง

    หนึ่งในพระสาวกผู้ทรงเอตกทัคคะ 80 รูป ของพระพุทธองค์ พระควัมปติเถระมีคุณวิเศษมาก มีความเป็นเลิศทางการย่อพระธรรมคัมภีร์ให้สั้นลง และอธิบายความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจ ได้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง รูปเคารพนิยมเป็นรูปปิดตาบ้าง พระปิดทวารทั้ง 9 บ้างนั้น เป็นอุปเท่ห์หมายถึง ตอนที่พระภควัมปติเถระท่านกำลังเข้านิโรธสมบัติ ทวารทั้งเก้าก็จะปิดสนิทไม่ยินดียินร้ายกับกิเลสทั้งหลาย หมายถึงดับสนิท อาสวะกิเลสต่างๆ ไม่อาจที่เข้ามาแผ้วพานได้เลย จากมูลเหตุนี้เองโบราณจารย์ต่างๆท่านจึงสร้างรูปเคารพเป็นรูปพระปิดตาคือมีมือคู่เดียวมาปิดที่หน้าบ้างเป็นรูปพระปิดทวารทั้ง 9 บ้าง และโดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นพระปิดตาก็จะปลุกเสกให้เด่นไปทางเมตตามหานิยม โชคลาภโภคทรัพย์ แต่ถ้าเป็นพระปิดตาทวารทั้ง 9 ก็จะปลุกเสกให้เด่นไปทางอยู่ยงคลกระพันชาตรีและแคล้วคลาด พระปิดทวารทั้ง 9 ที่นิยมกันมากก็คือ พระปิดทวารของหลวงปู่ทับวัดทอง , หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง , หลวงปู่จัน วัดโมลี , หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ , หลวงพ่อทา วัดพระเนียงแตก , หลวงพ่อปล้อง วัดหลุมดิน เป็นต้น

    คำว่า อุตฺตมะ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ตรงกับคำในภาษาไทยว่า อุดม มีความหมายว่าสูงยิ่ง เลิศ มากมาย บริบูรณ์ ส่วนคำว่า มหา นั้นมีความหมายว่ายิ่งใหญ่ มากมาย ดังนั้น มหาอุตม์ หรือ มหาอุตฺตโม จึงมีความหมายว่า ผลอันเลิศ บริบูรณ์ ยอดเยี่ยมและยิ่งใหญ่ และเป็นความหมายที่ถูกต้องกว่าคำที่ว่า มหาอุต พระปิดตามหาอุตม์ จึงเป็นพระที่อุดมไปด้วยความดีมีคุณวิเศษครบถ้วนทุกอย่างทุกทางโดยสมบูรณ์ หากอ้างอิงเชื่อถือเอาอำนาจพุทธคุณโดดเด่นสองนัยยะของพระมหาอุตม์คือโชคลาภอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งและอยู่ยงคงกระพันชาตรีนับว่าใช้ได้ทุกทางที่เรียกว่า ครอบจักรวาล ไม่ใช่เป็นพระ อุด แต่เพียงอย่างเดียว ดังที่คนทั่วๆไปมีความเข้าใจผิดกันว่า อุดมโชคลาภค้าขายบ้าง,คลอดลูกยากบ้าง,ล้วนแต่เป็นความเชื่อที่ผิด

    จากความศักดิ์สิทธิ์ของ พระปิดตามหาอุตฺตโม ของหลวงปู่ทิม อิสริโก ที่ได้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2518 ซึ่งมี พุทธคุณเข้มขลังเป็นที่กล่าวขานมาจวบจนปัจจุบันซึ่งเสาะหาได้ยากยิ่งและมีสนมราคาแพง ดังนั้นในวาระกาลเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2553 นี้ ทางวัดหนองกรับได้กราบเรียนต่อ หลวงพ่อสาคร มนุญฺโญ ศิษย์เอกผู้สืบสานพุทธาคมของหลวงปู่ทิม เพื่อขออนุญาตดำเนินการจัดสร้าง พระปิดตามหาอุตฺตโม ขึ้น โดยยึดถือรูปแบบเดิมของหลวงปู่ทิมเป็นหลัก แต่ได้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้แตกต่างออกไป เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพ่อสาคร มนุญฺโญ โดยจะดำเนินการอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาสในปี 2553 นี้
    รูปลักษณะ เป็นลักษณะแบบพระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตฺตโม ของหลวงปู่ทิม อิสริโก ที่สร้างขึ้นจากเค้ารางตามรูปแบบของพระปิดตายันต์ยุ่งพิมพ์เศียรบาตรของหลวงปู่ทับ วัดทอง เป็นรูปองค์นั่งขัดสมาธิเพชร มือสวมกำไลยกขึ้นปิดหน้า ปิดหู ปิดท้อง ปิดก้น ล้อมรอบด้วยมูลสูตรแห่งอักขระเลขยันต์ดุจการชักยันต์คุ้มครองตัว โดยเดินเป็นเส้นยันต์ที่สะบัดพลิ้ว คม ชัด ลึก ที่ศีรษะมี นะกระหม่อม มีอักขระ นะ กลับคู่อยู่ที่ชอกแขนคู่หน้า ที่หน้าผากมีอักขระ พะ หงาย ด้านหลังมีอักขระ พะ หงาย มี ยันต์เฑาะว์ ขนาบสองข้างด้วย ยันต์อุณาโลม ถัดลงมามีอักขระหัวใจธาตุ 4 นะมะพะทะ ปิดหัวท้ายด้วย นะขมวดวน และอักขระแถวล่างสุด นะอุต ดูเข้มขลังองอาจมีเสน่ห์ลึกล้ำอย่างยิ่ง

    กำหนดพิธีเททอง
    วันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ตรงกับวันอังคารขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 ปีขาล ตรงกับวันธงชัย เวลา 16.19 น. โดยพระคณาจารย์ร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกพระเครื่องในพิธีเททอง อาทิเช่น พระครูวิจิตรธรรมาภิรัต เจ้าอาวาสวัดละหารไร่ (จุดเทียนชัย) พระครูอุปถัมภ์พัฒนกิจ(โพธิ์) วัดแม่น้ำคู้เก่า,พระครูประภัศร์โพธิคุณ (วิรัตน์) วัดป่าหวาย,พระอาจารย์ปุ่น สีลเตโช วัดใหม่กระทุ่มล้ม,พระอาจารย์ประสงค์ ปสาโท วัดคลองน้ำแดง
    ฤกษ์บนเป็นเพชฌฆาตฤกษ์ หมายความว่าเป็นฤกษ์แห่งการฟันผ่าอันตรายและอุปสรรค ให้ผลอันดีเยี่ยมในการปลุกเสกเครื่องรางของขลังทางแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพันชาตรี
    ฤกษ์ล่างเป็นปลอด ซึ่งหมายความว่าเป็นฤกษ์ไม่มีอันตราย ส่งผลดี ปราศจากอุปสรรคมาขัดขวาง สัปตฤกษ์เป็นกัมมะ หมายถึง เกิดผลดี ยั่งยืน สมบูรณ์ส่งเสริมฤกษ์บนดีนัก
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  6. ศรทอง

    ศรทอง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2007
    โพสต์:
    297
    ค่าพลัง:
    +63
    หนุมาน มหาปราบ
    บุญญานุสรณ์แห่งกฐิน ๕๒
    หลวงพ่อสาคร มนุญฺโญ
    วัดหนองกรับ ตำบลหนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง


    ในงานกฐินปี 2552 นี้ หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ทายาทสืบสานแห่งพุทธาคมของหลวงปู่ทิม ได้มีดำริให้จัดสร้าง หนุมานขึ้นเพื่อแจกแก่ผู้ร่วมทำบุญกฐินในปี 2552 นี้ โดยให้ทำตามรูปแบบรอยเดิมของหลวงปู่ทิม คือ หนุมานนั่งยอง ในลักษณะเตรียมพร้อมลุกขึ้นต่อสู้อยู่เสมอ แต่ต้องการให้เป็นเอกลักษณะ เฉพาะของวัดหนองกรับ และที่สำคัญทำให้งดงามอย่างที่สุดครบถ้วน ทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งถือเป็นการจัดสร้าง หนุมานลอยองค์ครั้งแรกของหลวงพ่อสาคร และหลวงพ่อสาครเองท่านเป็นผู้มีกำเนิดวันเดียวกับหนุมานคือ วัน อังคาร เดือนสาม ปีขาล ว่ากันว่าบุคคลที่มีดวงกำเนิดเช่นนี้เป็นผู้มี ตบะ เดชะ ได้โฉลกกับการปลุกเสกหนุมานอย่างยิ่ง
    ท่านได้กำหนดพิธีกรรมในการปลุกเสกตามตำรา หลวงปู่ทิม คือ กำหนดเสก ๕ เสาร์ ๕ อังคาร เพื่อให้หนุมานมีฤทธิ์เดชอานุภาพอย่างสูงสุดก่อนการปลุกเสกนั้น ท่านได้ทำ พิธีชุบตัวหนุมาน ด้วยศรมารายณ์เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ในอุโบสถวัดหนองกรับโดย หลวงพ่อสาครท่านได้ใช้น้ำพระพุทธมนต์ผสมกับว่าน 108 เพื่อนำมาแช่ว่านยาชุบตัวหนุมานก่อน นอกจากนี้ยังมีใบไม่รู้นอนทั้ง ๗ ชนิด เพื่อถือเคล็ดของความไม่รู้จักนอน ไม่รู้จักตายเหมือนหนุมาน

    รูปลักษณะ เป็นรูปหนุมานนั่งยองคล้ายรูปแบบของหลวงปู่ทิมผู้เป็นปรมาจารย์ แต่ได้เพิ่มเติมเสริมให้ เป็นหนุมานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพ่อสาคร โดยมือทั้งสองข้างวางที่หัวเข่าในลักษณะท่านั่งของลิงอย่างเป็นธรรมชาติ ในลักษณะเตรียมพร้อมลุกขึ้นสู้ต่อกรกับเหล่าไพรีอยู่เสมอ

    เท้าทั้งสองวางบนหินและหางพันรอบตามเรื่องราว เมื่อครั้งที่หนุมานไปหายาสังกรณีตรีชวาที่เขาสรรพยา เพื่อนำปรุงเป็นยามารักษาพระลักษมณ์ที่ต้องหอกโมกขศักดิ์ โดยหนุมานใช้หางพันรอบเขาสรรพยา เพื่อล่อให้ยาหนีขึ้นไปอยู่บนยอดเขา ฐานเป็นฐานกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 1.25 ซม. ด้านหน้ามีอักขระ “หะนุมานะ” คือ หัวใจ หนุมาน และด้านหลังมีอัก่ขระ “นะสังสะตัง” คือ กำลังหนุมาน ขนาดความสูง จากฐาน 2.7 ซม. ลวดลายต่างๆในตัวหนุมานได้ถูกรังสรรค์ขึ้น มาอย่างวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าแห่งงานศิลป์ที่ครบถ้วนด้วยศาสตร์ของการสร้างหนุมานตามตำราแห่งโบราณาจารย์

    หลังจากเสร็จสิ้นพิธีชุบตัวหนุมานแล้ว ได้ทำพิธีอุดผงที่ใต้ฐานของหนุมานได้เจาะรู ไว้เพื่อบรรจุผงพรายกุมาร (ของหลวงปู่ทิม),ผงพุทธคุณฐหินเขี้ยวหนุมาน,ดิน๗โป้ง,ดิน๗ท่า,ดิน๗ป่าช้า,ดิน๗ขุนเขา,ดิน๗โบสถ์,ดิน๗เสมา,ดิน๗ปลวก,ดิน๔สมุทร,ดิน๙ป่า๙เขา,ดิน๙หนองใหญ่,สีผึ้งคุมพล,น้ำมันเสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ หมีดำแดง,ผงงาช้าง,ผสมรวมกับว่านยา ๑๐๘ อุดที่ใต้ฐานของหนุมานทุกตน ส่วนสำหรับหนุมานที่มีกริ่งปิดก้นก็จะบรรจุเม็ดลูกปืนด้าน เป็นเม็ดกริ่ง โดยถือเคล็ดที่ว่า “แม่ไม่ฆ่าลูก” พิธีทั้งหมดกระทำภายในอุโบสถวัดหนองกรับผู้ที่จะทำการอุดผงจะต้องนุ่งขาวห่มขาว สมาทานศีลทุกครั้ง โดยผู้ที่จะทำการอุดผงเมื่อเข้าไปทำพิธีดังกล่าวในอุโบสถ แล้วหากออกมาจะเข้าไปทำพิธีใหม่อีกไม่ได้ ส่วนมากจะกระทำก่อนเที่ยงวันซึ่งถือเป็นช่วงที่ตะวันขึ้นเป็นเคล็ดในเรื่องของความเจริญรุ่งเรือง
    คาถาอาราธนาหนุมาน
    ตั้งนะโม ๓ จบ นึกถึงคุณพระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์,หลวงปู่ทิมและหลวงพ่อสาครเป็นที่สุด"หะนุมานะ นะสัง
    สะตัง อะหังนุภา สวาหะ"
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 8534.jpg
      8534.jpg
      ขนาดไฟล์:
      74.2 KB
      เปิดดู:
      160

แชร์หน้านี้

Loading...