หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ด

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย Specialized, 28 กรกฎาคม 2010.

  1. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ใต้สามัญสำนึก ๔
    [​IMG]
    พระวิริยังค์ ใกล้พบกับพระอาจารย์มั่น ฯ
    พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ผู้ซึ่งได้นำพระวิริยังค์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม อายุได้ ๒๒ ปี อุปสมบทได้หนึ่งพรรษา เดินธุดงค์ครั้งสำคัญเพื่อติดตามพระอาจารย์มั่น ฯ ผู้เป็นพระปรมาจารย์ของคณะกัมมัฏฐาน การเดินธุดงค์ด้วยเท้าจากจังหวัดจันทบุรี จนถึงจังหวัดนครราชสีมานั้น นับว่าไม่ใช่ใกล้ แต่ระหว่างทางที่ผ่านก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า สมัยนั้นเป็นป่าใหญ่และเป็นสถานที่วิเวกของผู้สนใจในธรรมได้เป็นอย่างดี
    จากถ้ำวัวแดง ท่านอาจารย์ ได้พาข้าพเจ้าเดินทางต่อไป คราวนี้ไม่เป็นป่าใหญ่ เป็นทุ่งนาและมีป่าไม้เต็ง-ไม้รัง-ไม้แดงเป็นระยะ ๆ ไป ไม่มีอะไรจะทำให้เกิดความหวาดเสียวเหมือนที่ผ่านมา เพราะท่านอาจารย์ได้มุ่งตรง เพื่อตัดทางให้ถึงพระอาจารย์มั่น ฯ ให้เร็วเข้า จึงไม่มุ่งเข้าหาป่าใหญ่ เดินลัดเข้าหาตัวอำเภอกระโทกก็ถึงในวันเดียว พักอยู่ที่วัดนี้ตามอัธยาศัย เปลี่ยนจากธุดงค์นอนกับดินกับหญ้ามาจำวัดกันบนกุฏิที่เขาจัดไว้ให้ ซึ่งก็ทำให้บรรยากาศทั้งหลายเปลี่ยนไป โดยการพบหมู่คณะผู้ปฏิบัติธรรมมาด้วยกัน แล้วก็ไต่ถามถึงการปฏิบัติว่าได้ผลอย่างไร ไปธุดงค์กันที่ไหน เป็นการสังสรรค์ภายในหมู่คณะ ซึ่งก็ได้ผลไปอีกอย่างหนึ่ง
    ในขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่สองยังไม่สงบ การจะไปไหนมาไหนจะต้องมีการระมัดระวัง และขณะที่มาถึงนครราชสีมานั้น ก็เป็นเวลาที่ทางฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังทิ้งระเบิดสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา
    หลังจากพวกเราได้พบปะสังสรรค์กับหมู่คณะที่จากกันไปนาน แล้วก็ออกเดินทางจากอำเภอกระโทกเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา พักที่วัดป่าสาลวัน อันเป็นวัดใหญ่ของคณะกัมมัฏฐานในจังหวัดนี้ แทบเป็นวัดร้างเพราะมีพระภิกษุสามเณรไม่กี่องค์เนื่องจากวัดนี้อยู่ใกล้สถานีรถไฟ จึงได้ถูกลูกหลง (ลูกระเบิด) เข้าให้หลายลูก พระภิกษุสามเณรจึงต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นกันเสียเป็นส่วนมาก ท่านอาจารย์กงมาบอกกับผู้เขียนว่า นี่แหละ ดูเอาเถิด เมื่อสงครามเกิดขึ้น ก่อความทุกข์ยากให้แก่คนทุกชั้นแม้กระทั่งพวกเราผ่ายพระสงฆ์ ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามก็ยังพลอยลำบากไปกับเขาด้วย ชื่อว่าสงครามนี้ไม่ดีเลย แต่มนุษย์ก็ชอบทำสงครามทุกยุคทุกสมัย
    ตื่นขึ้นตอนเช้าท่านอาจารย์ก็พาข้าพเจ้าเข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านที่เคยไปแต่ก่อน ๆ รู้สึกหงอยเหงามากเพราะญาติโยมอพยพไปที่อื่น ๆ ยังกลับกันไม่หมด มองไปทางใดเห็นแต่หลุมลูกระเบิด บางหลุมเก่าขังน้ำจนเกิดผักบุ้งเต็ม มันมีอยู่ภาพหนึ่ง ซึ่งเห็นภาพที่น่าหวาดเสียวก็คือ มี ๒ คน ถูกสะเก็ดระเบิดเลือดอาบตัวแดงไปหมด เขายังมีชีวิตอยู่ ได้วิ่งกระเสือกกระสนเข้ามาที่วัดนี้ แต่การวิ่งของเขาวิ่งโดยความกลัวหรืออย่างไรไม่ทราบ วิ่งอย่างไม่มองหน้า-หลัง ตรงขึ้นศาลาการเปรียญ เลือดไหลแดงฉาน เขาตรงเข้ากราบพระประธานแล้วสิ้นใจที่ตรงนั้นเอง มันช่างเป็นภาพที่น่าปลงธรรมสังเวชอะไรเช่นนั้น
    ท่านอาจารย์บอกกับผู้เขียนว่า เราควรจะรีบเดินทางต่อไปดีกว่า เพื่อพบกับพระอาจารย์มั่น ฯ ตามความตั้งใจของพวกเรา ท่านอาจารย์ก็รีบไปสืบว่ามีรถไฟเดินไปทางจังหวัดอุดรหรือเปล่า เพื่อเป็นการย่นทางย่นเวลา เพราะถ้าใช้เวลาเดินจะต้องเป็นเดือน ๆ อีก เวลาก็จะใกล้เข้าพรรษามาแล้ว อาจจะไม่ทันกาล
    เมื่อทราบว่ามีรถไฟวิ่งไปอุดรเป็นบางวัน ท่านอาจารย์ก็คอยวันนั้น ได้พาข้าพเจ้าขึ้นรถไฟ ซึ่งสภาพในขณะนั้นก็แย่มาก เพราะรถไฟถูกลูกระเบิดเค้เก้ไปเยอะ แต่ก็ต้องทนเอา แม้จะต้องยืนบ้างนั่งบ้างไปวันเดียวก็ถึงจังหวัดอุดรธานี ได้พาไปพักที่วัดป่าบ้านจิก
    ณ ที่จังหวัดอุดรนี้สงบเหมือนกับไม่มีสงคราม ผู้คนมิได้อพยพหนีภัยแต่อย่างใด เมื่อมาถึงวัดนี้ก็พอดี คุณนายทิพย์ผู้เป็นเจ้าของวัดป่าบ้านจิก ก็เป็นวัดป่าเช่นเดียวกับวัดป่าทั้งหลาย โดยมีกุฏิพระภิกษุสามเณรอยู่องค์ละหลัง เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม มีศาลาการเปรียญเป็นที่ประชุมพระภิกษุสามเณรในเวลาบางครั้งบางคราวที่จะได้ มีการอบรมสมาธิและชี้แจงข้อธรรมที่ปฏิบัติมา
    วันหนึ่ง คุณนายทิพย์และคณะอุบาสิกาหลายคน ได้มาสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์กงมา ต่างก็ได้ถามถึงเรื่องการปฏิบัติทางจิตใจหลายอย่าง ท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายไปตามความรู้ของท่าน แต่คุณนายทิพย์ยังไม่พอใจ เพราะเธอแก่ปริยัติมาก เมื่อพูดถึงวิธีการเข้าฌานว่าจะเข้าอย่างไร ขอให้ท่านอาจารย์เข้าให้พวกดิฉันดูบ้างซี ท่านอาจารย์กงมาท่านถูกไม้นี้เข้า ท่านจึงหาวิธีแก้ลำด้วยหนามยอกเอาหนามบ่ง จึงได้บอกว่าจะเข้าฌานให้ดูก็ด๊าย ! ให้คุณนายจัดหามะม่วงอกร่องกับข้าวเหนียวมูลมาให้ มากหน่อย ไม่ว่าแต่อาตมาดอก เข้าฌานได้ทุกคน ถ้ารับประทานมันให้อิ่ม เข้าฌานมันจะยากอะไร คณะคุณนายชอบใจกันเป็นการใหญ่
    เมื่อพักอยู่จังหวัดอุดรธานีประมาณ ๑ อาทิตย์ก็เดินทางคือไปจังหวัดสกลนครอันเป็นจุดหมายปลายทาง และเป็นจุดประสงค์อย่ายิ่งในการเดินธุดงค์อันแสนจะทุรกันดารในครั้งนี้
    ข้าพเจ้ามีจิตใจเบิกบานผิดกว่าการเดินทางไปที่ไหน ๆ ทั้งหมดในวันนี้เพราะมาถึงจังหวัดสกลนคร ทั้งทราบว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้มาพักอยู่ในจังหวัดนี้ แต่ท่านอาจารย์ยังไม่พาผู้เขียนไปถึงท่านอาจารย์มั่น ฯ เพียงแต่พักเอาแรงกันที่วัดสุทธาวาสในตัวจังหวัดเสียหลายวัน ทำให้ข้าพเจ้าทุรนทุรายมิใช่น้อย ที่มาใกล้แล้วไม่รีบไป และท่านได้เล่าถึงความเป็นไปต่าง ๆ ของท่านอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งอาจารย์ของข้าพเจ้าได้ว่าไว้อย่างนี้ คือ
    ๑. ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านรู้จักใจคน จะนึกจะคิดอะไรทราบหมด
    ๒. ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านดุยิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งนั้น
    ๓. ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเทศน์ในธรรมปฏิบัติยอดกว่าใครทั้งนั้น
    ๔. ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านปฏิบัติตัวของท่านเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์อย่างเยี่ยมยอด
    ๕. ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านจะต้องไล่พระที่อยู่กับท่าน ถ้าหากทำผิด แม้แต่ความผิดนั้นไม่มาก แต่เป็นเหตุให้เสื่อมเสีย
    นี่ก็เป็นความทรงจำของผู้เขียนที่จะต้องท่องไว้ในใจไม่มีวันลืม ทั้งกลัวทั้งต้องการที่จะพบ ทั้ง ๆ ที่ยังไปไม่ถึง เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจยิ่งกว่าครั้งใด ๆ ของผู้เขียนอย่างยิ่ง ดูเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ คราวนี้ ข้าพเจ้าได้ถามท่านอาจารย์ว่า เมื่อไรจึงจะเดินทางไปพบท่านอาจารย์มั่น ฯ เสียที ได้รับคำตอบว่า รอก่อน กี่วันท่านก็ไม่บอก ก็จำต้องอยู่ที่วัดสุทธาวาสนี้ไปเรื่อย ๆ ข้าพเจ้าคิดในใจว่า ท่านอาจารย์ก็คงจะตระเตรียมอะไร ๆ ของท่านบ้างเป็นแน่ เพราะท่านได้จากท่านอาจารย์มั่นไป ๑๐ กว่าปี ก็คงจะร้อน ๆ หนาว ๆ เหมือนหัน เอาเถอะ แม้จะรอหลายวันก็เป็นการรอที่ใกล้ความหมายกันแล้ว !!!
    ณ วัดสุทธาวาสนี้เป็นที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้มามรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงเป็นวัดประวัติศาสตร์ที่สำคัญวัดหนึ่ง และเป็นสถานที่ประชุมของคณะพระกัมมัฏฐาน ที่นับเนื่องด้วยความเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯ ทุก ๆ ปี ของวันมาฆบูชา
    ข้าพเจ้ามาพักที่นี่ได้ถามญาติโยมทั้งหลายที่อยู่ในละแวกนี้ ก็ทราบว่าเป็นวัดที่ท่านอาจารย์เสาร์ ผู้เป็นอาจารย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯ มาสร้างไว้ เป็นป่าไกลจากตัวเมือง ๒ ก.ม. จึงเป็นวัดที่สงบสงัดมาก แต่บัดนี้ก็มีบ้านคนตลอดจนถึงที่ทำการของรัฐบาล เช่นศาลากลางจังหวัดก็มาตั้งอยู่ใกล้ ๆ จึงทำให้กลายเป็นวัดกลางเมืองไปในปัจจุบัน
    ท่านอาจารย์กงมาได้บอกผู้เขียนว่า หนทางจากวัดสุทธาวาสนี้ไปที่บ้านโคก ต. ตองโขบ อ. เมือง สกลนคร เป็นหนทางไกลถึง ๕๐๐ เส้น ๒๐ ก.ม. ต้องเดินไปไม่มีทางรถยนต์ เป็นบ้านเกิดของท่านอาจารย์กงมา ซึ่งเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเอง
    ท่านว่าเป็นโชคดีอะไรเช่นนี้ ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้มาพักที่บ้านของเราเท่ากับว่าเราได้โปรดญาติเราพร้อมกับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิสูง ถ้าเราไม่มาจากจันทบุรีเราจะเป็นคนเสียหายมาก จะพลาดโอกาสที่งดงามอย่างยิ่ง แต่เป็นการดีและประจวบเหมาะเอาเสียจริง ๆ ที่เรื่องต่าง ๆ มาผสมผเสได้อย่างนี้ ซึ่งท่านอาจารย์มั่น ฯ จะต้องรักเรามาก จึงมารอเราที่บ้านของเราเอง เราไม่เหนื่อยเลยที่ต้องตรากตรำมาอย่างลำบากนี้ การเดินทางของเราจึงมีผลอย่างล้นค่าที่สุดในชีวิต
    ผู้เขียนได้ฟังอาจารย์ของผู้เขียนรำพึงรำพันอยู่เช่นนี้ ช่างถูกอกถูกใจผู้เขียนเสียจริง ๆ แต่ข้าพเจ้ากลับคิดว่าการที่จะได้พบท่านอาจารย์มั่น ฯ ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เหลือจะพรรณนาถึงความซาบซึ้งตรึงใจ คล้ายกับจะพึงได้เห็นพระอรหันต์ก็ปานกัน นึกไปก็กระหยิ่มในใจ อยากจะพบหน้าท่านอาจารย์มั่น ฯ เสียโดยพลัน วันและเวลาช่างยาวนานเสียเหลือเกิน มากกว่าที่ข้าพเจ้าเดินทางมาเป็นเวลา ๓ เดือนเศษเสียอีก กับช่วง ๕ วันที่อยู่วัดสุทธาวาส เหมือนกับจะถ่วงเวลาหิวกระหายให้เยิ่นเย้อ
    ข้าพเจ้าดีใจอีกครั้งหนึ่งเมื่อเช้าวันนั้น อันถือว่าเป็นวันพิเศษ คือเป็นวันอาจารย์กับศิษย์กำลังจะเดินทางไป ซึ่งจะต้องได้ถึงที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ พักอยู่ ใช้เวลา ๕ ชั่วโมง ขณะที่เดินไป ลูกศิษย์อาจารย์มิได้พูดกันถึงเรื่องอะไรเลย ต่างก้มหน้าเดินเอา ๆ อย่างไม่คิดถึงความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ส่วนข้าพเจ้านั้น มิได้ก้มหน้าเปล่า ๆ มีการวาดมโนภาพอยู่ในใจอย่างไม่เคยมีมาในกาลก่อนว่า ท่านอาจารย์คงจะมีร่างกายสูงใหญ่ สถานที่อยู่จะต้องกว้างขวางร่มรื่น มีพระผู้ทรงคุณวุฒิอยู่กับท่าน ห้อมล้อมคอยฟังธรรมจากท่านเป็นอันมาก พระภิกษุสามเณรที่อยู่นั้น คงจะอยู่ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง แต่คงจะได้รับประโยชน์มากมายเหลือล้น บริเวณลานวัดคงจะเรียบร้อยทุกอย่าง ไม่มีหยากเยื่อรกรุงรัง ผู้ที่มาฟังท่านอาจารย์มั่น ฯ เทศนา คงจะได้รับรสพระธรรมที่ยิ่งใหญ่
    ยิ่งวาดมโนภาพ ก็ยิ่งคิดไปถึงครั้งพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ในเมื่อถึงกาลออกพรรษา จะมีภิกษุสามเณรมาจากทิศต่าง ๆ เข้ามาเฝ้าเพื่อทูลถามอรรถปัญหาต่าง ๆ และก็ได้รับประโยชน์มหาศาล บัดนี้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้มีพระภิกษุสามเณรมาจากทิศต่าง ๆ ดูแต่เรากับอาจารย์ก็กำลังมา ข่าวว่ามีพระภิกษุสามเณรมาจากที่ต่าง ๆ ก่อนเราก็มี กำลังจะมาตอนหลังเราก็มี ดูก็จะเป็นการพิลึกกึกกืออยู่ไม่น้อย ดูก็จะเหมือนครั้งพุทธกาลเสียละกระมัง คิดไปคิดมา เอ... นี่จะคิดมากไปเสียแล้ว ทำไมจะนำเอาอาจารย์มั่นฯ ผู้เป็นเพียงพระสาวกมาเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้า ไม่ควรแม้ ถ้าไม่ปรียบอย่างนี้จะไปเปรียบอย่างไรจึงจะดี ก็ควรจะเปรียบกับสาวกบางองค์ แต่เราก็ไม่รู้ประวัติพระสาวกเหล่านั้น
    พระวิริยังค์พบกับพระอาจารย์มั่นแล้ว
    มโนภาพที่ข้าพเจ้ากำลังวาดไป ๆ อยู่นั้นได้สะดุดหยุดลง เมื่อพระอาจารย์ของข้าพเจ้าบอกว่า ถึงแล้ว วิริยังค์ โน่นยังไง บ้านโคก อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา และนี่ยังไง ทางเข้าไปวัดป่าที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ พักอยู่ เหมือนกับตัวลอยจะเหาะเสียแล้วเรา ดุให้มึนซู่ซ่าไปตามร่างกายคล้ายกับเกิดปีติในสมาธิอย่างไรก็อย่างนั้น ยิ่งใกล้เข้าไปก็ยิ่งเหมือนกับตกอยู่ในห้วงแห่งความปลื้มปีติอย่างไม่เคยมีมาก่อนเลย
    ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่า ศรัทธาที่เกิดขึ้นจากศิษย์กับอาจารย์นี้ เป็นเรื่องมหัศจรรย์เหลือหลาย ได้แก่ตัวของข้าพเจ้า ขณะที่กำลังจะเหยียบย่างเข้าในบริเวณที่พักของท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นความเชื่อตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวท่าน เป็นธรรมตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวท่าน เป็นความซาบซึ้งตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวท่าน หวนระลึกถึงพระสาวกบางท่านแล้วมานมัสการพระพุทธเจ้า ยังมิทันได้เห็นพระพักตร์พระพุทธองค์ แม้เพียงนั่งอยู่ข้างคันธกุฎีเท่านั้น กำหนดจิตดูน้ำที่ตกชายคาเป็นนิมิตว่า น้ำตกลงมาแล้วก็หายไป เป็นฟองขึ้นแล้วก็หายไป ไม่ตั้งอยู่ได้นาน สังขารทั้งหลายก็เป็นเช่นเดียวกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ท่านพระสาวกรูปนั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ก่อนที่จะพบพระพักตร์ของพระพุทธองค์ นี่ข้าพเจ้าก็จะเห็นเช่นนั้นหรืออย่างไร แม้ขณะที่จะก้าวย่างเข้าสู่ลานวัดที่พักก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ยากจะพูดออกมาว่าเป็นอย่างไร
    ถึงแล้ว ! ! ! ความรอคอยของผู้เขียนได้บรรลุจุดที่หมายอย่างสมบูรณ์ในเมื่อเข้าถึงที่พักและข้าพเจ้าต้องตกตะลึงนิดหน่อย เมื่อเห็นท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นครั้งแรกของชีวิต ซึ่งท่านได้นั่งอยู่ที่ศาลาหลังเล็ก ชี้มือมายังอาจารย์ของข้าพเจ้าและผู้เขียน สั่งให้พระภิกษุรูปหนึ่งและสามเณรให้รีบมารับบริขาร ที่ผู้เขียนกับอาจารย์กำลังตะพายบาตรแบกกลด ความนึกความคิดไปต่าง ๆ นานาหายจากจิตไปแล้วโดยสิ้นเชิง กลับมาเป็นความเลื่อมใส ขณะที่มาถึงเป็นเวลาบ่าย ๕ โมงเย็นแล้ว และท่านอาจารย์มั่นฯ ได้สั่งให้พระเณรจัดบริขารนำไปที่กุฏิซึ่งได้จัดไว้เป็นอย่างดีล่วงหน้าแล้ว และพระอาจารย์ข้าพเจ้าได้พาผู้เขียนซึ่งขณะนี้ตัวเบาจริง ๆ เพราะบริขารที่ถูกตะพายมาถึง ๕๐๐ เส้น ได้ถูกปลดออกไปแล้ว เข้าไปกราบนมัสการท่านอาจารย์มั่น ฯ บนศาลาหลังเล็กซึ่งมุงด้วยหญ้าคา ประโยคแรกและน้ำเสียงครั้งแรกที่เป็นคำพูดของท่านอาจารย์มั่นฯ ที่เข้าสู่โสตประสาทของข้าพเจ้า ๆ ยังจำได้และจำได้แม่นยำ เพราะเป็นคำที่ซาบซึ้งอะไรเช่นนั้น “เออ เจ้าลูกศิษย์อาจารย์เหนื่อยแท้บ่อ” หมายความว่า “เหนื่อยมากนักหรือ” ท่านอาจารย์กงมาได้ตอบว่า “ไม่เหนื่อยเท่าไร พอทนได้” ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ให้พวกเราไปสรงน้ำ มีพระภิกษุสามเณรได้จัดน้ำร้อนน้ำเย็นไว้พร้อม คอยรับพวกเรา ผู้เขียนสรงน้ำไปพลางคิดไปพลางว่า ข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรที่อยู่กับพระอาจารย์มั่นฯ นี้ช่างเรียบร้อยและรู้ทุก ๆ อย่างยิ่งกว่าผู้ที่อยู่ในถิ่นเจริญที่ได้ศึกษาสูงเสียอีก แม้ว่าที่นี่จะเป็นบ้านนอกอยู่ในป่าดง ดูแค่ลานวัด แม้จะมีต้นไม้ปกคลุมอยู่หนาแน่น แต่ภายใต้ต้นไม้ที่เป็นลานจะถูกกวาดเตียนเรียบ ไม่มีใบไม้รกรุงรัง โอ่งน้ำทุกแห่งวางไว้อย่างมีระเบียบ กระทั่งฝาปิดโอ่ง ขันตักน้ำ แม้จะเป็นกระบวยซึ่งทำด้วยกะลามะพร้าว แต่ก็สะอาดเรียบร้อย โอ่งถูกขัดทั้งข้างนอกและข้างใน สะอาดสะอ้าน หลังจากสรงน้ำเสร็จแล้ว เข้าไปที่กุฏิที่จัดไว้แล้ว แม้จะเป็นกุฏิมุงหญ้าคา แต่สะอาดจริง ๆ แม้แต่ผ้าเช็ดเท้ายังพับเป็นระเบียบ แทบไม่กล้าเหยียบลงไปเลย เมื่อเข้าห้องยิ่งดูเป็นระเบียบ เพราะบริขารต่าง ๆ ถูกจัดไว้เรียบร้อย แม้กระทั่งบาตรตั้งแล้วเปิดฝา เพื่อไม่ให้อับและเหม็นกลิ่น ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะภิกษุสามเณรทั้งหลาย ได้ถูกอบรมการปฏิบัติข้อวัตรต่าง ๆ อย่างดียิ่ง จึงเป็นอันว่า วัฒนธรรมของพระนี้มีอยู่แม้กระทั่งในป่าเขา ในท้องถิ่นป่าดงที่ห่างไกลความเจริญ
    เมื่อผู้เขียนได้กลับออกจากกุฏิ มองไปโดยทั่ววัด เห็นพระ-เณรทุกรูป ต่างก็เข้าที่จงกรมอยู่ตามกุฏิของตน เพราะกุฏิแต่ละหลังจะมีทางเดินจงกรมทุกหลัง ขณะนั้นบรรยากาศโดยทั่วบริเวณช่างสงบเอาจริง ๆ ต่างองค์ต่างก็มุ่งหวังเพื่อพระนิพพานโดยแท้ แม้จะมองไปที่กุฏิอาจารย์มั่น ฯ ก็เห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าก็เลยเข้าทางจงกรมต่อไป แม้จะเดินทางมาถึง ๒o กว่า ก.ม. แล้ว แทนที่จะพักกันวันนั้น แต่เมื่อเห็นทุก ๆ องค์เขาเข้าที่จงกรมหมดแล้วก็ต้องเข้ากับเขาต่อไป แต่ก็ไม่เห็นว่าจะเหน็ดเหนื่อยเลย เพราะขณะนี้มีปีติอยู่ในตัวแล้ว และเป็นความสำเร็จในชีวิตของความเป็นพระ อย่างที่จะต้องจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของตนเองด้วย ความหนักแน่นของจิตในขณะนี้ ดูเหมือนไม่มีอะไรจะมาเปรียบเทียบได้
    หลังจากเดินจงกรมเสร็จ พอท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านขึ้นกุฏิ พระภิกษุสามเณรก็หยุดจงกรม คอยสังเกตดูว่าท่านจะเข้าห้องเลย หรือท่านจะนั่งอยู่ข้างนอก ถ้าหากท่านนั่งอยู่ข้างนอก พระภิกษุสามเณรทั้งหลายก็จะรีบตามขึ้นไป เพื่อจะได้ฟังธรรมจากท่าน วันนั้นท่านได้มานั่งข้างนอก พระภิกษุสามเณรทั้งหลายก็ทยอยกันขึ้นไปที่กุฏิของท่านข้าพเจ้ามองเห็นอาจารย์กงมาผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้ากำลังเดินขึ้นไป ผู้เขียนก็เดินตามขึ้นไปบ้าง เป็นอันว่าการเดินทางแม้จะเหน็ดเหนื่อยก็ไม่ต้องคำนึงถึง ขึ้นไปเพื่อฟังธรรมจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งมันเป็นการรอคอยที่ออกจะนานพอดู ความตั้งใจก็ตั้งอย่างเที่ยงมั่นอยู่แล้ว
    เมื่อทุก ๆ องค์นั่งอยู่ในความสงบ ต่างก็ดูเหมือนจะพยายามสำรวมใจกันอย่างเต็มที่ เพราะเท่าที่สังเกตดู ทุก ๆ ท่านอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อม หมายถึงพร้อมจะรับธรรมโดยอาการสงบเสงี่ยม สำรวมระวังแม้กระทั่งการเดินและการนั่ง น่าเลื่อมใสจริง ๆ ทำให้ผู้เขียนก็ต้องเตรียมพร้อมเช่นเดียวกัน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการพบท่านอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งก็ได้รับแต่คำเล่าลือว่า ท่านมีความหนักแน่นในธรรมวินัย และมีพละกำลังจิตน่าเกรงขาม
    แต่ท่านกลับมีกิริยามรรยาทที่อ่อนน้อมละมุนละไม ทักทายปราศรัยกับอาจารย์ของข้าพเจ้าอย่างเป็นกันเอง คล้ายกับท่านได้คุ้นเคยกันมาตั้งเป็นสิบ ๆ ปี ทำให้ผู้เขียนคลายความตึงเครียดไปตั้งเยอะ ค่อย ๆ พอหายใจโล่งไปได้ เมื่อเห็นท่านคุยไปและยิ้มย่องผ่องใสเหมือนธรรมดา หลังจากท่านถามสารทุกข์สุกดิบกับอาจารย์ของข้าพเจ้าแล้ว ก็หันมาถามผู้เขียนว่า ได้มาพร้อมกันหรือ และมากันยังไง
    ผู้เขียนก็ตอบว่า
    “ครับ ! มากับอาจารย์ของกระผม เดินทางมาโดยเท้าตลอด เป็นระยะหลายร้อย ก.ม. !”
    ท่านยิ้ม แล้วก็ไม่พูดอะไรต่อไป หันไปทางภิกษุสามเณรทั้งหลายแล้วท่านก็เริ่มที่จะแสดงธรรม
    ตั้งแต่ ๒๐.๐๐ น. โดยประมาณ ถึง ๒๔.๐๐ น. เป็นการแสดงธรรมอย่างละเอียดอ่อน ในเนื้อความแห่งธรรมจักรกัปฺปวัตนสูตร ซึ่งผู้เขียนยังไม่เคยฟังวิธีการอธิบายอย่างนี้มาก่อนเลย (ข้อความละเอียด ขอให้อ่านประวัติพระอาจารย์มั่น ฯ ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้ว) ตลอดเวลา ๔ ชั่วโมงเต็ม ซึ่งเป็นเวลามิใช่น้อยเลยสำหรับการแสดงธรรม ซึ่งท่านพูดอยู่ตลอดไม่มีเวลาหยุด
    ผู้เขียนและอาจารย์ของข้าพเจ้าก็กำลังเดินทางมาเหน็ดเหนื่อยมาก แต่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านก็มิได้คำนึงถึงเหตุการณ์เหล่านั้น เอาธรรมเป็นใหญ่ ร่างกายช่างมัน ทรมานมัน นี้เป็นคำพูดของท่าน แต่เราทั้ง ๒ ก็ได้ถูกทรมานแล้วอย่างไม่ต้องมีการหลีกเลี่ยงได้ แต่การถูกทรมานในครั้งนี้ เป็นการทำโดยความเต็มใจทั้ง ๒ ฝ่าย คือผู้ถูกทรมานก็ไม่ย่อท้อ ผู้ทรมานก็ไม่ท้อถอย ก็เลยเข้ากันได้ เป็นอันว่าได้ต่อสู้กับกิเลสอย่างได้ผลคุ้มค่าที่สุด
    ตอน.พระวิริยังค์ฟังธรรมเทศนา
    ของ ท่านอาจารย์มั่น ฯ กัณฑ์แรก
    มิใช่เท่านั้นสำหรับตัวผู้ผู้เขียน ในเมื่อเวลาเสร็จจากการแสดงธรรมในค่ำคืนวันนั้น ทุกองค์ต่างก็รีบทยอยกลับ ผู้เขียนก็เตรียมจะกลับอยู่แล้ว แต่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้เรียกให้ผู้เขียนหยุดก่อน ให้ทุกองค์กลับแล้วให้ข้าพเจ้าเก็บย่ามและของให้เข้าในห้องของท่าน ท่านได้เอนหลังลงแล้วก็ให้ผู้เขียนบีบนวด เป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งสำหรับพระกัมมัฏฐานผู้เป็นศิษย์ถือว่าการถวายการนวด นั้นเป็นกิจวัตรประจำ
    วันนี้ท่านได้ให้โอกาสแก่ผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐแล้วที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ให้โอกาสนี้แก่เรา เพราะยากนักที่ท่านจะให้โอกาสแก่ภิกษุรูปใด
    และนึกอยู่ ๒-๓ ครั้ง ท่านอาจารย์ ก็รีบลุกขึ้นพลัน ยังกับจะรู้ใจผู้เขียนเอาทีเดียว แล้วข้าพเจ้าก็รีบหาไม้สีฟัน น้ำล้างหน้า กระโถนถวายท่าน เมื่อท่านรับและล้างหน้าเสร็จแล้วท่านก็พูดกับผู้เขียนว่า
    “เราได้นิมิตดี คือปรากฏในนิมิตว่า ได้รองเท้าใหม่คู่หนึ่ง รองเท้าคู่นี้แปลกไม่มีแหว่งเว้าตรงกลางเหมือนกับรองเท้าทั่ว ๆ ไป เออ วิริยังค์กลับได้”
    ผู้เขียนกราบ ๓ ครั้งแล้วก็รีบกลับกุฏิ สว่างได้อรุณพอดี
    เป็นอันว่าผู้เขียนได้ถูกท่านทรมานตั้งแต่วันแรกพบ ถือว่าเป็นโชคดีของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง ท่านคงเห็นว่าผู้เขียนตั้งใจยิ่งใหญ่เหลือเกิน แล้วก็เลยฉลองความศรัทธาเสียให้เต็มที่ พอเช้าขึ้นแทนที่ข้าพเจ้าจะอ่อนเพลีย หรือเหน็ดเหนื่อย กลับกระปรี้กระเปร่าสดชื่นเอาจริงๆ เหมือนกับคนได้ของอันถูกใจและได้สมใจและได้มากเสียด้วย
    แต่อะไรก็ไม่ว่าหรอก ปัญหาที่ท่านได้ตั้งให้ข้าพเจ้านั่นซี หนักกว่าอะไร ? ก็รองเท้าคู่นั้นนั่นเอง มันหมายถึงความว่าอย่างไรกัน ท่านเองก็ไม่อธิบายขยายความให้กระจ่างแจ้งเลย คงให้ผู้เขียนต้องขบปัญหานี้เองนานทีเดียว จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า ความคิดของข้าพเจ้าจะถูกต้อง
    เป็นอันว่าข้าพเจ้าได้ออยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ สมความปรารถนา และนับเป็นโชคอันมหาศาล ที่พระผู้ปฏิบัติท่านอาจารย์มั่นฯ มาก่อน ได้หลีกทางให้ผู้เขียนได้เข้ารับหน้าที่เป็นอุปัฏฐากอย่างที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร เพราะเป็นที่ทราบในความประสงค์ของท่านอาจารย์แล้ว นี่แหละที่ข้าพเจ้ายังได้รับความภาคภูมิใจหนักหนา ที่อยู่ได้กับท่านและใกล้ชิดเป็นกรณีย์พิเศษ
    วันหนึ่งพระอาจารย์กงมาผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าได้เตือนผู้เขียน ขณะที่มีโอกาสเข้าไปกราบไหว้ท่านตามเวลาปรกติ ท่านเตือนว่า
    “การอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ และได้เป็นผู้อุปัฏฐากนี้ ต้องถือว่าเป็นบุญอย่างยิ่งของเธอแล้ว เพราะผู้จะเป็นอุปัฏฐากท่านอาจารย์มั่น ฯ นี้ ต้องเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยกิริยามรรยาท ต้อนรับแขกเป็น เคารพพระเถรานุเถระที่จะเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน มีสติระวังในขณะที่ปฏิบัติกิจวัตรโดยรอบคอบและสะอาด ตื่นก่อน นอนทีหลัง ฯลฯ”
    “เมื่อรู้ความจริงต่าง ๆ ของการปฏิบัติอาจาริยวัตรโดยรอบคอบแล้ว เธอจะได้ความรู้อย่างพิเศษ และได้ความชำนาญตลอดถึงอัตถปัญหา ก็ถามท่านได้ตามความสามารถของตน จึงเป็นโอกาสอันงดงามที่สุดในชีวิตพรหมจรรย์ของเธอ”
    ข้าพเจ้าฟังด้วยความปลาบปลื้มใจ น้ำตาได้ซึมซาบออกมาโดยไม่รู้ตัวกับปีติ นึกในใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างประกอบกันเข้าโดยอัตโนมัติ เพราะอาจารย์มั่น ฯ ก็ให้โอกาส อาจารย์ของข้าพเจ้าก็ให้โอกาส ตัวของผู้เขียนเองก็ให้โอกาสแก่ตัวเอง เป็นอันว่า ไม่มีอะไรจะมาขัดข้องในการแสวงหาธรรมชั้นสูงกันต่อไปอีกแล้ว
    เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีพิธีการที่จะเตรียมการต่าง ๆ ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ให้ให้ข้าพเจ้าจัดการทำไม้กราด ความจริงไม้กราดที่จะต้องกวาดวัดนั้น ก็มีปรกติอยู่แล้ว แต่ท่านให้จัดเป็นพิเศษ หามาไว้ให้พร้อม โดยไม่ต้องทำตลอด ๓ เดือน นี้ก็เป็นเครื่องสะกิดใจข้าพเจ้าอย่างยิ่งในเรื่องของการรักษาความสะอาดทั้งบริเวณวัดและที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องใช้ ท่านเป็นผู้มีความสะอาดอย่างยิ่ง แม้กระทั่งห้องส้วม ต้องเช็ดถูให้สะอาดจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ส้วมนั้นมิใช่ส้วมซึม เป็นส้วมหลุม ท่านได้ดุอาจารย์ของข้าพเจ้าว่า
    “กงมา นี่เธอทำไมไม่รักษาความสะอาด ปล่อยให้ส้วมรกยังกับป่าเสือ”
    ผู้เขียนต้องตกใจอย่างยิ่ง ! ในวันนั้น ท่านเดินทางไปกุฏิของท่านอาจารย์กงมา ได้เห็นต้นหญ้าเกิดขึ้นรอบห้องส้วม ซึ่งเข้าใจว่าท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าคงลืมไปหลายวัน ปล่อยให้หญ้าขึ้นโดยรอบ แท้จริงท่านก็ให้สามเณรถากหญ้าโดยรอบอยู่เสมอ
    ผู้เขียนจำคำได้ว่า “ส้วมรกยังกับป่าเสือ” จากปากคำของท่านอาจารย์มั่น ฯ ตกใจมาก และท่านยังถามข้าพเจ้าว่า
    “อยู่ด้วยกันที่จันทบุรี ส้วมก็รกอย่างนี้หรือ ?”
    ผู้เขียนได้แก้ตัวแทนท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าว่า “ที่จันทบุรี ส้วมอยู่กลางวัด กวาดทุกวัน”
    ในการจำพรรษาปีนี้ก็เป็นเรื่องพิเศษสำหรับข้าพเจ้าอย่างยิ่ง เพราะเป็นการจำพรรษากับผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทำให้จิตใจเกิดความระมัดระวังเป็นอย่างสำคัญอยู่ ผู้เขียนจำได้ว่า ขณะนั้น สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังไม่สงบ จึงทำให้จีวรของใช้ต่าง ๆ ขาดแคลนมาก แม้กระทั่งไม้ขีดไฟก็ไม่มีใช้ ต้องใช้เหล็กไฟ ตะบันไฟ เวลาจะจุดบุหรี่กันแต่ละครั้งก็ต้องตีเหล็กไฟเอา แม้จีวรก็ใช้ผ้าทอเอง หนามาก
    แต่ว่าท่านอาจารย์เป็นผู้มีบุญญาภินิหารมาก สิ่งของแม้จะหายาก แต่ก็ยังพอมีใช้ ไม่ถึงกับขาดแคลนนัก ผู้เขียนต้องอัศจรรย์มาก ทั้ง ๆ ที่ท่านก็มิได้ทำอะไรให้เป็นของขลัง และเพื่อโอ้อวดคุณภาพตลอดทั้งโฆษณาอะไรเลย แต่ประชาชนต่างก็ทราบเกียรติคุณของท่านอย่างกว้างขวางรวดเร็ว ในเมื่อท่านจะพักอยู่ที่ไหน จึงทำให้ไม่ขาดแคลนเครื่องใช้อันเป็นไปตามอัตตภาพ
    มันเป็นความจำ ที่ข้าพเจ้าจะต้องจำจนกระทั่งบัดนี้ ที่ผู้เขียนกับพระอาจารย์มหาบัว ญาณฺสมฺปณฺโน ในวันหนึ่ง ญาติโยมทั้งหลายมาประชุมกันที่ศาลา ศาลานั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ให้กั้นห้องแล้วท่านก็จำวัดอยู่ที่นั่น ขณะที่ญาติโยมประชุมกันด้วยเทศกาลอันใดอันหนึ่ง ในเมื่อทำศาสนกิจส่วนอื่นเสร็จแล้ว ถึงเวลาเทศน์ ท่านอาจารย์ได้สั่งให้ผู้เขียนกับอาจารย์มหาบัวเทศน์ให้โยมฟังทีละกัณฑ์ เมื่อท่านสั่งแล้ว ท่านก็เข้าห้องไป ผู้เขียนกับอาจารย์มหาบัว ก็มองหน้ากันว่า จะทำอย่างไร ข้าพเจ้าก็กลัว อาจารย์มหาบัวก็กลัว กลัวอะไร ? ไม่กลัวโยมหรอก แต่กลัวท่านอาจารย์....
    ตอนพระวิริยังค์ พระมหาบัว ถูกให้เทศน์ต่อหน้าท่าน
    ใจของผู้เขียนรู้สึกจะเต้นแรงเป็นพิเศษ ผู้เขียนไม่เคยกลัวเรื่องเทศน์ให้โยมฟัง เพราะผู้เขียนเป็นนักเทศน์มาตั้งแต่เป็นสามเณรอายุเพียง ๑๗ ก็เริ่มจะเป็นนักเทศน์แล้ว บัดนี้อายุ ๒๒ ปี ผ่านการเทศน์มาไม่ใช่น้อย
    แต่ท่านจะมาให้เทศน์ต่อหน้าท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่เราจะต้องมาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน ท่านก็เป็นที่น่าเกรงขามอย่างยิ่งแล้ว ทำไมพระเถระผู้มีอาวุโสสูงตั้งเยอะแยะท่านไม่สั่งให้เทศน์ ทำไม ? จึงมาสั่งให้เราผู้เป็นภิกษุใหม่เทศน์ ยิ่งคิดยิ่งไม่สบายใจ จะเทศน์ออกหรือนี่
    ส่วนอาจารย์มหาบัว ผู้เขียนก็ทายใจถูกเหมือนกันว่า ใจของท่านอาจารย์มหาบัวก็กำลังระทึกหวั่นไหวอยู่อย่างหนัก และก็ถูกให้เทศน์ก่อน เพราะอาวุโสกว่าผู้เขียน ท่าทางเหมือนจะปวดหนักปวดเบายังไงพิกล ผู้เขียนก็นึกขำอยู่ในใจ ทั้งขำทั้งกลัวระคนกันไป ข้าพเจ้าก็ยังรู้จักกับอาจารย์มหาบัวใหม่ ๆ ไม่ทราบว่าเคยเทศน์หรือเปล่า หรือเป็นนักเทศน์มาเก่งแล้ว ก็ทำให้หนักใจแทนอยู่
    เมื่อต่างก็มองตากันไปกันมาพอสมควร เวลาอันระทึกใจก็มาถึงคือเสียง “พรหมมาจะโลกา” อาราธนาเทศน์ โยมเขาอาราธนาแล้ว ผู้เขียนบอกท่านอาจารย์มหาบัว แต่ดูรู้สึกว่าท่านมีความมั่นใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว ได้ก้าวขึ้นธรรมาสน์ยังไง ๆ พิกล เหมือนกับจะอุทธรณ์อะไรออกมาจากใจสักอย่างยังงั้นแหละ แต่จะไปอุทธรณ์กับใคร เมื่อขึ้นธรรมาสน์ ท่านก็หลับหูหลับตาเทศน์อย่าน้ำไหลไฟดับเหมือนกัน แสดงว่าเจนเวทีมาพอสมควรทีเดียว แต่เวทีนี้เป็นเวทีอันตรายเหลือหลาย ท่านคงจะคิดอย่างนั้นเอง เมื่อท่านใช้วาทะแห่งการแสดงธรรมอย่างไพเราะและอึดอัดระคนกัน เป็นอันว่าจบธรรมเทศนาไปได้อย่างสบาย
    เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ทำเอาผู้เขียนต้องหัวใจเต้น มันเป็นตาของเราแล้ว พร้อมกันนั้น ท่านมหาบัวก็ชำเลืองมายังข้าพเจ้า ท่านคงจะคิดในใจว่า ถึงตาวิริยังค์มั่งละน่า และคงจะคิดต่อไปว่า ดูท่าทางของวิริยังค์จะเอายังไง จะไปไหวหรือไม่ไหว เพราะต่างก็ยังไม่รู้ความสามารถของกันและกัน ท่านมหาบัวนั่งเรียบร้อยแล้ว โยมก็อาราธนาต่อ ขอให้ “ยาคูไทย” เทศน์ต่อไปเถอะ ญาติโยมแถวนี้เขาเรียกผู้เขียนว่า “ยาคูไทย” ซึ่งแปลว่า พระไทย
    เป็นอันว่าผู้เขียนก็ขึ้นธรรมาสน์ในอันดับต่อมา พอขึ้นธรรมาสน์แล้วรู้สึกตัวลอย ๆ พิกลเหมือนกัน เพราะท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านนั่งอยู่ข้างหลัง เราเป็นภิกษุหนุ่มนับว่าอ่อนพรรษากว่าใคร ๆ ทั้งหมดที่มารวมกันอยู่นี้ ก็ทำให้หวาดเสียวซู่ซ่าไปหมด ผู้เขียนพยายามกำหนดใจมิให้หวั่นไหว แต่มันก็หยุดได้เป็นพัก ๆ อาศัยชำนาญธรรมาสน์เท่านั้น ที่ทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยในเวลาอันเร็วพลัน แต่เข้าใจว่า คงจะมีหลายองค์จับพิรุธได้ ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็สามารถแสดงธรรมไปได้ ตามประสาของผู้ประหม่า และหวาดเสียวเป็นที่สุด พอเทศน์เพลิน ๆ ไปก็ไม่เป็นไร พอนึกถึงท่านอาจารย์มั่น ฯ นั่งอยู่ข้างหลัง สะดุ้งทุกที แต่ก็เอาตัวรอดปลอดภัยไปได้ นับเป็นธรรมเทศนาประวัติศาสตร์ของผู้เขียนจริง ๆ ยี่สิบเก้าปีแล้ว ยังคงจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ทราบว่าจะเขียนพรรณนาเหตุอย่างใดจึงจะถูกต้องกับความเป็นจริง
    และก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดในอนาคตกาลต่อมา ผู้เขียนกับอาจารย์มหาบัวจะต้องเทศน์คู่กันเสมอ ๆ มา เช่นงานศพอาจารย์มหาทองสุข พระครูอุดมธรรมคุณ งานศพท่านอาจารย์ชม ที่หนองหลวง อ. สว่างแดนดิน งานพิธีของท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดอุดมสมพร อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร จะต้องถูกให้เทศน์ด้วยกันทุกครั้ง เมื่ออาจารย์มหาบัวเทศน์ ผู้เขียนก็ต้องเทศน์ คล้ายกับท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระท่านจะรู้กาลอนาคตว่าพระสององค์นี้จะต้องเทศน์ร่วมกัน
    กาลพรรษานี้ ผู้เขียนพึ่งจะบวชเป็นพระภิกษุพรรษาที่ ๒ รู้สึกว่าเป็นพรรษาที่อิ่มเอิบด้วยธรรมอย่างยิ่ง ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านแสดงธรรมแทบทุกวัน แต่ละครั้งของท่านแสดงธรรม ดุจจิ้มหรือจี้ลงในหัวใจของผู้เขียนอย่างลึกซึ้งสุดพรรณนา ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงบุญวาสนาบารมีของตนเองว่า “บุญจริง ๆ หนอที่ได้มาพบอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรมและแสดงธรรมที่ซาบซึ้งจริง ๆ” จะมีอะไรเล่ามาเปรียบเทียบได้ถึงความดีงามของการให้ทานธรรมของท่านอาจารย์มั่น ฯ
    การปฏิบัติกิจวัตรด้วยการอุปัฏฐาก โดยการใกล้ชิดนั้น นับแต่การปูที่นอน กางกลด ซักผ้า เทกระโถน ล้างบาตร รับบาตร ปูอาสนะ หั่นผัก ตำหมาก มวนบุหรี่ ชงชา นั่งคอยรับใช้ ถวายน้ำบ้วนปาก ไม้สีฟัน จนถึงการบีบนวด ผู้เขียนได้บรรจงปฏิบัติท่านด้วยเคารพเป็นอย่างสูงสุด พยายามทำให้ดีที่สุด แต่ก็ไม่วายที่จะเกิดความบกพร่องขึ้น เพราะท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเป็นคนละเอียดและสะอาดมาก บางครั้งล้างกระโถนไม่สะอาด ท่านก็ดุเอา กระโถนยุคนั้นทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ถ้าไม่พยายามเอาขี้เถ้าแช่จริง ๆ แล้วจะมีกลิ่น แม้จะมีกระโถนเคลือบล้างง่าย ๆ ท่านก็ไม่ใช้ ซึ่งเป็นการฝึกฝนผู้ที่จะอุปัฏฐากท่านไปในตัวเสร็จ แม้แต่ผ้าปูที่นอน ซึ่งการเย็บผ้าตะเข็บข้างบนข้างล่างเหมือนกัน ถ้าไม่สังเกตจริง ๆ จะไม่ทราบเลย ผู้เขียนไม่สังเกตเอาหัวกลับท้าย เอาท้ายกลับหัว ถูกดุเอาหลายครั้งจนจำได้ กลดที่แขวนจำวัด กลดนั้นมันกลม ใครจะจำได้ว่าข้างไหนเป็นหัวนอน ข้างไหนเป็นปลายเท้า ผู้เขียนก็จะโดนดุอีก เพราะกางกลับไปข้างบ้าง เอาหัวไปเท้าบ้าง นึกว่าไม่เป็นไร จนถึงกับต้องเอาเครื่องหมายไปหมายไว้ที่กลด จนจำได้ จึงไม่โดนดุ ท่านพูดเสมอ ๆ ว่า
    “ก็เมื่องานภายนอกหยาบ ๆ อย่างนี้ยังทำไม่ได้ ทำไมจิตเป็นของละเอียดจึงจะบำเพ็ญฝึกหัดได้”
    ทำเอาผู้เขียนสะดุ้งทุกครั้ง จึงเป็นอันว่า ผู้เขียนต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อถวายความเคารพและทดแทนคุณานุคุณของท่าน ก็มิใช่ผู้เขียนจะผูกขาดการปฏิบัติท่านอาจารย์มั่น ฯ แต่ผู้เดียว ทุก ๆ องค์ที่อยู่ด้วยก็ช่วยกันเท่าที่โอกาสจะให้ และทุก ๆ องค์ก็ต้องการเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ศรัทธาด้วยตนเองที่จะถวายการอุปัฏฐากท่าน โดยเฉพาะท่านได้เอ็นดูผู้เขียนเป็นกรณีพิเศษ ไม่ทราบว่าเป็นเหตุผลอะไร ท่านเคยพูดว่า
    “วิริยังค์ ธาตุถูกกัน เวลาบีบนวดถวาย”
    เมื่อกาลพรรษาผ่านไปอย่างได้ผลในการบำเพ็ญ โดยไม่หยุดยั้งเหมือนประหนึ่งว่า ๓ เดือนนั้นเป็น ๓ วันไปทีเดียว
    ส่วนอาจารย์ของข้าพเจ้า ท่านก็หาวิธีที่จะวางรากฐานในบริเวณสถานที่แห่งนี้ให้เป็นการถาวรสมกับท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้มาพักอยู่ที่นี่ถึง ๒ พรรษา ท่านได้จัดการที่ดินให้เป็นบริเวณกว้างขวางหลายสิบไร่ให้เป็นวัดขึ้น จัดการก่อสร้างกุฏิศาลาให้ใหญ่โตและถาวรขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
    ท่านอาจารย์กงมา ได้พูดกับผู้เขียนว่า “วิริยังค์ เราจะต้องทำที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่บำเพ็ญวิปัสสนาเป็นการถาวรแก่ละแวกบ้านของเราให้สมกับท่านอาจารย์มั่น ฯ ผู้เป็นปรมาจารย์ได้มาพักอยู่ในสถานที่แห่งนี้”
    ผู้เขียนได้ตอบท่านว่า “จะไม่เป็นการรบกวนความสงบของท่านอาจารย์มั่น ฯ ไปหรือ เพราะว่าท่านไม่ต้องการที่จะก่อสร้างที่ถาวร จะเป็นกังวล”
    ท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าบอกว่า “ไม่เป็นเช่นนั้นดอก แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยังสร้างคันธกุฎีถวายราคาตั้งหลายล้าน”
    ตอนพระวิริยังค์เขียนมุตโตทัย
    หลังจากปวารณาออกพรรษาแล้ว (พ.ศ. ๒๔๗๔) ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านก็ได้ไปพักที่บ้านนามน ไม่ไกลจากบ้านโคกเท่าไรนัก ประมาณ ๔ ก.ม.
    แต่เวลาไปครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าปฏิบัติท่านอย่างใกล้ชิด ท่านก็ไม่ให้ข้าพเจ้าไปกับท่าน ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ข้าพเจ้าจะต้องติดตามท่านไปทุกหนทุกแห่ง ในครั้งนี้ท่านได้บอกองค์นั้นบ้าง องค์นี้บ้าง ให้ไปกับท่าน แต่ข้าพเจ้าท่านไม่บอก กลับเฉยเสีย แม้ข้าพเจ้าจะเรียนท่านว่า จะขอตามไปด้วย ท่านก็ไม่ให้ไป
    ทำเอาผู้เขียนต้องงงเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมท่านจึงไม่ให้ข้าพเจ้าไปกับท่านทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ปฏิบัติอุปัฏฐากท่านทุกอย่างในขณะนั้น หลังจากท่านได้เดินทางออกจากบ้านโคกไปแล้ว ข้าพเจ้าสังเกตดูมันให้หงอยเหงาไปหมด ดูเหมือนใบไม้จะเหี่ยวแห้ง แผ่นดินแห้งแล้งไปทีเดียว ข้าพเจ้าทนไม่ไหวต้องติดตามไปหาท่านที่วัดป่าบ้านนามน และก็ไม่ได้นำเอาบริขารไป ไปเป็นเพียงอาคันตุกะเท่านั้น เมื่อกราบท่านเสร็จแล้วก็ปฏิบัติเหมือนกับปฏิบัติอยู่เดิม ได้กระทำทุกอย่าง ได้เวลาเย็นผู้เขียนก็ลาท่านกลับ ตอนกราบลาจะลุก ท่านได้ถามว่า
    “วิริยังค์ ลากงมาแล้วหรือ”
    (หมายความว่า ข้าพเจ้าได้ลาท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ซึ่งเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าแล้วหรือ ?)
    เท่านี้ผู้เขียนก็ทราบแน่ใจแล้วว่า ท่านต้องการให้อาจารย์ข้าพเจ้าอนุญาตเสียก่อน ท่านไม่ต้องการที่จะนำเอาลูกศิษย์ใครไปโดยพละการ ในเมื่ออาจารย์ของเขาไม่เต็มใจหรือไม่อนุญาต ซึ่งด้วยเหตุเช่นตัวของข้าพเจ้านี้ ท่านจะทำอย่างไรก็ได้เพราะฝากกายถวายชีวิตแล้ว แม้แต่อาจารย์ของข้าพเจ้าท่านจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านก็ไม่ก้าวก่ายระหว่างศิษย์อาจารย์ จึงทำให้เป็นที่น่าเคารพบูชายิ่ง
    ข้าพเจ้ารู้ความจริงแล้วดีใจยิ่งนัก และเสียใจยิ่งนักในเมื่อมารู้ตัวว่าตัวเรานี่โง่จัด ควรจะได้ล่ำลาอาจารย์ข้าพเจ้าเสียแต่วันท่านอาจารย์มั่น ฯ เดินทางก็จะดี ข้าพเจ้าเดินทางกลับ พลางเกาศีรษะพลางนึกพลางว่า โง่จัดๆ ทำให้ท่านอาจารย์มั่น ฯ เตือน แต่ก็นึกต่อไปว่า ท่านให้ความรักใคร่เอ็นดูข้าพเจ้าเป็นกรณีพิเศษ จึงได้ให้นัยแก่ผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนก็ยังได้จำและจารึกอยู่ในใจว่า ท่านก็ประสงค์จะทรมานและฝึกสอน-ต่อเติมความรู้ให้ผู้เขียนด้วยความเมตตาปรานี
    จึงเป็นอันว่าผู้เขียนได้กลับไปลาพระอาจารย์กงมา ท่านก็อนุญาตให้ผู้เขียนไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ ตามความประสงค์ สมใจผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่กับท่านอีกวาระหนึ่ง และก็เพิ่มความตั้งใจแก่ผู้เขียนอย่างยิ่ง ในอันที่จะพยายามบำเพ็ญความเพียร ปฏิบัติทางใจให้หนัก เพราะมาคิดว่าการจะหาครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิสูงเช่นนั้นยากนัก แม้หมดชีวิตหนึ่ง ๆ หรือหลายชาติอาจจะไม่ได้พบก็เป็นได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงทุ่มเททุก ๆ อย่างทั้งกำลังกายและกำลังใจศึกษา และปฏิบัติอย่างไม่หยุดยั้ง
    ผลก็ปรากฏขึ้นอย่างมหัศจรรย์เช่นกัน ทั้งพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น ฯ ก็ไพเราะเสียจริง ๆ ผู้เขียนนั่งกัมมัฏฐานได้รับความสงบใจแล้ว ได้มาฟังธรรมของท่าน ธรรมเทศนานั้น ได้เกิดรสชาติที่ซาบซึ้งหาอะไรเปรียบไม่ได้อีกแล้ว ทำไมจึงดีอย่างนี้ สุดแสนจะพรรณนา ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงคนอื่น ๆ ต่อไปว่า เราจำเป็นที่จะต้องบันทึกธรรมเทศนาของท่านอาจารย์มั่น ๆ ให้ได้ เพราะถ้าเราไม่บันทึก ต่อไปธรรมเทศนาอันวิเศษนี้ก็จะหายสูญไปอย่างน่าเสียดาย และธรรมเทศนาเช่นนี้จะพึงแสดงได้ก็แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ เท่านั้น องค์อื่นถึงแสดงก็ไม่เหมือน จึงทำให้ผู้เขียนได้พยายามอย่างยิ่ง ที่จะเขียนบันทึกธรรมเทศนาของท่านให้ได้ และก็เป็นผลสำเร็จขึ้นเป็นอันดับแรก เพราะยังไม่เคยมีใครบันทึกธรรมเทศนาของท่านเลย
    เป็นที่น่าสังเกต ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านไม่เคยยอมให้ใครบันทึกธรรมเทศนาของท่านโดยเป็นหนังสือเลย มีแต่จำกันใส่ใจเท่านั้น ถ้าใครจะบันทึกด้วยหนังสือจะต้องถูกท่านดุและประณามเอาทีเดียว แต่ผู้เขียนขโมยเขียนและยอมทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะรักและชอบและเลื่อมใสสุดหัวใจแล้ว ท่านจะดุด่าประณาม ผู้เขียนยอมทุกอย่าง ขออย่างเดียวให้ได้บันทึกธรรมเทศนาเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นต่อไปภายหลัง ไม่ได้ฟังจากท่านจะได้อ่านในหนังสือเล่มนี้ พระภิกษุสามเณรที่ไปอยู่กับท่านต่างก็กลัวเช่นนี้ จึงไม่มีใครกล้าจะเขียนธรรมเทศนาของท่าน จึงเป็นอันว่าผู้เขียนได้กล้าเสี่ยงอันตรายครั้งสำคัญทีเดียว
    เกิดความสำเร็จแก่ผู้เขียนอย่างเต็มภาคภูมิ คือตลอดพรรษานี้ผู้เขียนได้บันทึกธรรมเทศนาตลอดไตรมาส ซึ่งก็สำเร็จจนเป็นเล่มในชื่อ “หนังสือมุตโตทัย”
    หลังจากผู้เขียนได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านแล้ว ก็พยายามทำเป็นความลับไว้ตลอดเวลา วิธีการที่ผู้เขียนทำสำเร็จนั้นคือ เมื่อเวลาท่านแสดงธรรม พยายามกำหนดไว้ในใจอย่างมั่นคง เพราะขณะนั้นความจำของผู้เขียนยังอยู่ในการใช้ได้ เมื่อท่านแสดงธรรมจบแล้ว ผู้เขียนยังต้องมีหน้าที่ถวายการนวดอีกไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง เมื่อถวายการนวดเสร็จแล้ว ก็รีบกลับที่พักจับปากกา รีบเขียนธรรมเทศนาของท่าน ก่อนความจำนั้นจะเลือนลางไป ตอนนี้ผู้เขียนจะบอกอะไรให้สักอย่าง ว่าเป็นเรื่องน่าคิดหนักหนา ตอนนั้นอยู่ในระหว่างสงคราม ปากกา-ดินสอดำ-น้ำหมึกไม่ต้องหา ไม่มีใช้ เผอิญผู้เขียนมีปากกาอยู่ ๑ ด้ามติดตัวไป น้ำหมึกไม่มี ผู้เขียนต้องคิดตำราทำน้ำหมึกขึ้นใช้ โดยเอาผลสมอไทย ผลมะเหลื่อม ผลมะขามป้อม เอามาตำแช่น้ำ แล้วเอาเหล็กที่มีสนิมมากเช่นผานไถนาแช่ลงไปด้วย เมื่อแช่ ๒-๓ วันได้ที่แล้ว เอามากรองด้วยผ้าบางจนใส แล้วเอาเอาเขม่าติดก้นหม้อนี้ (ต้องการสีดำ) ใส่เข้าไป คนจนเข้ากันดีแล้วกรองอีก คราวนี้ก็เอามาใช้ได้ผล ข้าพเจ้าได้ใช้มันจนเขียนได้เป็นเล่ม แต่เวลาเขียนมันจะไม่แห้งทันที ต้องรอนานกว่าจะแห้ง
    ข้าพเจ้าได้ทำอยู่อย่างนี้ คือฟังเทศน์เสร็จแล้วถวายการนวดเสร็จแล้วกลับมาเขียนหนังสือตลอดเวลา ๓ เดือน การแสดงธรรมของท่านมิได้แสดงทุก ๆ คืน ในที่สุดข้าพเจ้าก็ทำงานเสร็จสมกับคำปณิธานที่ได้ตั้งไว้ และก็พยายามกำความลับไว้มิได้แพร่งพรายให้ผู้ใดทราบถึงการกระทำของข้าพเจ้าเลยแม้แต่คนเดียว
    เมื่อความสนิทสนมผู้เขียนกับท่านอาจารย์มั่น ฯ นับวันแต่จะสนิทยิ่งขึ้นท่านได้ให้พรพิเศษ เมตตาพิเศษแนะนำพิเศษ จนผู้เขียนหายความหวาดกลัวเหมือนอย่างแต่ก่อน
    อยู่มาวันหนึ่ง ผู้เขียนคิดว่า ก็ธรรมเทศนาที่เราเขียนแล้วนั้นจะปิดเป็นความลับไว้ทำไม เปิดเผยถวายท่านเสียดีกว่า ท่านจะกินเลือดกินเนื้อเราก็ให้รู้ ไป จึงเป็นอันว่า ผู้เขียนได้นำเอาเนื้อความอ่านเล่าถวาย ท่านจึงเอ๊ะใจขึ้นว่า
    “นี่ วิริยังค์ คุณไปเขียนแต่เมื่อไร”
    จากนั้นท่านก็ไม่ว่าอะไรและท่านก็ยอมรับว่าการบันทึกนี้ถูกต้อง โล่งอกโล่งใจข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง นึกว่ายังไงเสียคงโดนด่าหลายกระบุง แต่ท่านกลับให้ความร่วมมือเป็นอย่างน่าอัศจรรย์
    หนังสือมุตโตทัยนั้น แม้จะมีเนื้อความไม่มากนัก แต่บรรจุถ้อยคำเป็นคำสอนที่ดีมากจริง ๆ ได้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ปรากฏว่าได้พิมพ์ไปแล้วหลายหมื่นฉบับ และก็ยังไม่จืด จะต้องมีการพิมพ์ต่อไปอีกมาก
    ข้าพเจ้าถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญที่ทำได้สำเร็จในขั้นแรกของชีวิต เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก ทั้งเป็นการเสี่ยงอันตรายต่อการขับไล่ของท่านอาจารย์มั่น ฯ อย่างยิ่ง เพราะถ้าทำผิดแล้วมีอย่างเดียวคือการไล่ออก นับเป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง
    ในพรรษานี้ ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนเป็นพิเศษมากมายพอดู วันหนึ่งฝนตกใหญ่ ผู้เขียนก็รีบเข้าห้องนอน เพราะครึ้มฟ้าน่าจะนอนมาก แต่พอเอนหลังลงหน่อยเท่านั้น ด้วยความเป็นห่วงจึงแง้มหน้าต่างมองไปที่กุฏิของท่านอาจารย์มั่นฯ ข้าพเจ้าต้องตกใจมาก เพราะท่านผลัดผ้าสรงน้ำ ออกตากฝนรองน้ำฝนใส่โอ่งอยู่องค์เดียว ผู้เขียนรู้สึกตัวว่าเราผิดแล้ว ทำท่าจะนอน ท่านอาจารย์กำลังรองน้ำฝนอยู่ ผู้เขียนรีบผลัดผ้าอาบโดยพลันลงจากกุฏิยังกับจะวิ่ง เข้าไปช่วยท่านรองน้ำฝน ผู้เขียนพูดกับท่านว่า ท่านอาจารย์จะลงมาทำไมเดี๋ยวจะไม่สบาย ท่านตอบว่า
    “วิริยังค์ อยู่ใต้ฟ้าต้องกลัวฝนด้วยหรือ การอาบน้ำฝนเป็นยาอายุวัฒนะรู้ไหม ? “
    “เป็นยายังไงครับ ?” ผู้เขียนถาม
    “ก็น้ำฝนมันบริสุทธิ์ดี เหงื่อไคลก็ออกดีมากกว่าน้ำธรรมดา อาบแล้วเบาตัว” ท่านตอบ
    เมื่อรองน้ำ ถวายการถูหลัง บิดผ้าอาบ ตากเรียบร้อย ท่านก็เข้าห้องจำวัดไป ผู้เขียนกลับกุฏิแล้วก็มานึกถึงว่า น้ำฝนเป็นยา น้ำฝนเป็นยา ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านบอก ทำเอาข้าพเจ้าพยายามที่จะอาบน้ำฝนให้มากเพื่อจะได้เป็นยา จนกระทั่งบัดนี้
    วันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนถวายการปฏิบัติท่านอยู่ตามปรกติเวลากลางวัน เพราะหลังจากฉันเสร็จท่านเดินจงกรมเสร็จท่านเข้าห้อง เวลาบ่ายโมงท่านจะออกมานั่งข้างนอก ผู้เขียนก็จะต้องเตรียมน้ำสำหรับชงชา ชาก็เป็นชาเชียงใหม่ และเตรียมหมากพลูปูนยาไว้สำหรับตำหมากถวายท่าน พร้อมทั้งบุหรี่อันเป็นยาสูบที่ชาวบ้านเขาปลูกกัน วันนี้ก็เช่นเดียวกับทุก ๆ วันผู้เขียนได้ทำเช่นนั้น หลังจากทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ก็ได้มวนบุหรี่ถวายท่าน พอท่านสูบ ควันบุหรี่ก็ออกมากระทบกับจมูกของผู้เขียน วันนี้เป็นอย่างไรไม่ทราบ เกิดเหม็นควันบุหรี่ยิ่งกว่าทุกวัน จนอดไม่ไหวจึงได้พูดว่า
    “แหมบุหรี่นี่เหม็นจริง”
    เท่านั้นเอง ผู้เขียนก็ต้องถูกดุว่า “วิริยังค์ การยกโทษผู้อื่นนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง”
    ว่าแล้วท่านก็มวนบุหรี่ขึ้นตัวหนึ่งเบ้อเริ่ม ให้ผู้เขียนบอกว่า “เอาสูบเสียเดี๋ยวนี้ เมื่อสูบแล้วจะได้ไม่ยกโทษผู้อื่น”
    ทำเอาข้าพเจ้างงไป ต้องสูบบุหรี่แล้วก็สำลัก ท่านก็หัวเราะชอบใจ ผู้เขียนได้คิดเรื่องนี้ไว้เป็นการบ้านอยู่ตลอดเวลาว่า การที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านแนะนำพร่ำสอนบุคคลนี้ ท่านสอนโดยทุกวิธี แม้แต่สูบบุหรี่ ทำเอาผู้เขียนต้องจดจำตลอดชีวิต ว่า การที่จะยกโทษคนอื่นนั้นย่อมไม่มีประโยชน์อะไร เพราะคนเราต่างก็มีความสามารถ ไปคนละอย่าง เมื่อเขาทำไม่เหมือนเรา ๆ จะว่าเขาไม่ดี ก็ไม่ควรและควรจะมองคุณประโยชน์ของแต่ละบุคคล ซึ่งคน ๆ หนึ่งมิใช่ว่าจะเสียไปหมด และก็มิใช่ดีไปหมด ถ้าบุคคลผู้ฉลาดแล้วดินที่ตรงไหนก็เอามาทำประโยชน์ได้ ถ้าหากว่าเราจะไม่ยกโทษว่าดินมันต่ำทราม
    อีกวันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนกำลังหั่นผักถวายท่านในเวลาภัตตาหารเช้า ตามปรกติท่านจะต้องฉันผักทุกวัน แต่ฟันของท่านไม่ดี เพราะต้องใช้ฟันเทียม จึงต้องหั่นผักให้ละเอียด ผู้เขียนมีหน้าที่จะต้องหั่นทุกวัน ในเมื่อท่านเลือกดูแล้วว่าผักนี้เป็นที่ถูกกับธาตุของท่าน ในวันนั้นผู้เขียนได้หั่นผักเป็นพิเศษ คือหั่นให้หยาบ ๆ เพราะทุก ๆ วันหั่นละเอียด พอดีท่านเหลือบมองเห็นก็ได้ถามผู้เขียนว่า
    “วิริยังค์ ทำไมจึงหั่นหยาบนัก วันนี้”
    “มันอร่อยดีครับ หั่นละเอียดแล้วมันไม่อร่อย” ผู้เขียนตอบ
    “นี่แหละหนาเขาว่า อวดเขี้ยวก็คือหมา อวดงาก็คือช้าง”
    ท่านอาจารย์ท่านว่า ในขณะที่พระภิกษุสามเณรเต็มศาลาขณะที่เตรียมจะฉันภัตตาหารเช้า ทำเอาผู้เขียนสะดุ้งเฮือก เป็นอันว่า ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านสอนคนทุกขณะเวลา อันการพูดของท่านว่า “อวดเขี้ยวคือหมา อวดงาคือช้าง” ท่านได้เปรียบเทียบคนที่โอ้อวด หมายความว่าไปเที่ยวอวดตัวต่อใคร ๆ ว่า ข้าพเจ้านี้เก่งอย่างนั้นเก่งอย่างนี้ ต้องการที่จะมีชื่อเสียงโด่งดัง เลยหาวิธีการอวดด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เท่าที่ตัวบุคคลนั้นจะหาได้ เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อถือที่ผิด ๆ เกิดขึ้นแก่ปวงชนเป็นอันมาก โดยเหตุก็เพียงเพื่อต้องการหาชื่อเสียงความโด่งดังให้แก่ตัวเอง
    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเปรียบคนพวกนี้เหมือนกันกับสัตว์เดียรัจฉาน ตามที่ท่านได้ด่าผู้เขียนท่ามกลางพระภิกษุสามเณรขณะที่ผู้เขียนยังไม่ทันตั้งตัวเลย เพียงสู้เขียนมีเจตนาที่จะให้ท่านได้ฉันอร่อยสักวันหนึ่งเท่านั้น แต่ท่านก็ถือโอกาสดุด่าเป็นการลั่งสอนที่แนบเนียนที่สุด และได้ผลที่สุด เฉพาะตัวผู้เขียนต้องจดจำจนวันตายและเพี่อนสหธัมมิกที่รวมอยู่กับผู้เขียนก็ได้สติระลึกอยู่อย่างแนบแน่นในจิตใจ เท่าที่ผู้เขียนจำพระเถระที่อยู่ร่วมด้วยวันนั้น คือ พระอาจารย์หลุย พระอาจารย์มหาบัว พระอาจารย์เนตร์ พระอาจารย์เนียม นอกนั้นก็ลืมเลือนลางไปเสียแล้วรวมประมาณ ๒o กว่ารูป
     
  2. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ใต้สามัญสำนึก ๕
    [​IMG]
    ตอนพักวัดร้างเสี่ยงบารมีให้กับพระวิริยังค์
    การจำพรรษาที่บ้านนามนได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยที่สุด และได้ผลทางใจมากที่สุด ทั้งผลเกิดจากประสบการณ์ใหม่ ๆ อันเป็นผลได้อย่างคาดไม่ถึงเป็นผลทางปกครอง และผลทางเผยแพร่ธรรม ผู้เขียนจึงมาคิดถึงความเป็นอัจฉริยะของท่านอาจารย์มั่น ฯ มิใช่ว่าจะเยินยอท่านจนเกินความจริง แต่ท่านเป็นอัจฉริยะจริง ๆ เพราะผู้เขียนก็ชอบตรงไปตรงมาอยู่แล้ว คนจะมาพูดเกินความจริง หรืออ้อมค้อมไม่ชอบ การอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ ในพรรษานี้จึงเป็นการศึกษาทั้งธรรมและศึกษาทั้งตัวของท่านอาจารย์ด้วย มีอะไรแปลกๆ ใหม่ ๆ ให้พวกเราได้ศึกษาอยู่ตลอดเวลา ทุก ๆ องค์ที่มาอยู่กับท่านต่างก็ต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด ถึงความสามารถทั้งภายนอกภายใน นี่ก็เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัว ๆ ของผู้ที่อยู่ร่วมกับท่าน ผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมกับท่าน หรือเพียงแต่ได้ยินได้ฟัง ได้อ่านเรื่องราวของท่าน ย่อมจะไม่เป็นปัจจัตตัง บางทีก็เกิดความสงสัย แต่บางคนก็เลื่อมใส จึงเป็นของยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้
    ออกพรรษาแล้ว จะมีการตัดเย็บจีวรให้แก่องค์ที่ขาดแคลน เพราะต่างก็ช่วยกันตัดเย็บด้วยมือ กว่าจะเสร็จแต่ละตัวๆ ใช้เวลาหลายวัน ตามปรกติแล้ว ของที่ได้จากกฐิน ผ้าป่า ของที่เขามาถวายท่านก็จะถูกแจกออกไปแก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลายโดยทั่วกัน
    หลังจากธุรกิจ มีการแจกจีวรและทำจีวรเสร็จแล้ว ท่านปรารภที่จะออกไปจากวัดป่าบ้านนามน เพื่อความสงบตามอัธยาศัย ในที่ไม่ไกลจากวัดบ้านป่านามนนี้เท่าไรนัก มีบ้านหนึ่งชื่อบ้านนาสีนวล อยู่ใกล้เขาภูพาน บ้านนี้มีวัดร้างอยู่วัดหนึ่งไม่ไกลจากบ้าน มีกุฏิหลังเดียว ท่านได้เลือกเอาวัดร้างนี้เป็นที่พัก ได้ออกจากวัดป่าบ้านนามนกับผู้เขียนและมีพระติดตาม ๒ องค์ ตาผ้าขาว ๑ คน
    การมาอยู่วัดบ้านนาสีนวลนี้ถือว่าเป็นการพักผ่อนของท่าน ตามธรรมดาท่านก็พักผ่อนอยู่แล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหน แต่การอยู่ในหมู่บ้านใหญ่ พระภิกษุสามเณรก็จะมาพักเพื่อศึกษามาก เป็นการกังวลในการดูแลแนะนำสั่งสอน เมื่อมาอยู่บ้านนาสีนวล พระภิกษุสามเณรมาอยู่มากไม่ได้ เพราะเป็นบ้านเล็ก จึงถือว่าเป็นการพักผ่อน ในกาลบางครั้ง พระภิกษุสามเณรผู้อยู่โดยรอบไม่ไกลนัก ก็ถือโอกาสเข้ามานมัสการเพื่อรับโอวาทจากท่านเป็นครั้งคราว
    ณ โอกาสนี้เองเป็นโอกาสที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้เขียน เวลาว่างมาก นับเป็นโชคในชีวิตครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนได้มาอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ผู้เขียนมิได้ทิ้งโอกาสอันมีค่านี้ให้เสียไปเลย พยายามไต่ถามประวัติความเป็นมาของท่านอย่างละเอียด ความรู้พิเศษต่างๆ ที่ได้จากสถานที่นี้มากจริง ๆ และทั้งยังได้ความคุ้นเคยสนิทสนมกับท่านอย่างที่ใคร ๆ จะได้ยาก
    วันหนึ่งตอนเช้าขณะที่ผู้เขียนเตรียมคลี่สังฆาฏิซ้อนจีวร หลังจากถวายการครองจีวรให้ท่านเสร็จแล้ว ท่านได้เหลือบมองเห็น สังฆาฏิของผู้เขียนแตกตะเข็บหลายแห่ง และผู้เขียนเย็บชุนเอาไว้ ท่านถามว่า
    “สังฆาฏิขาดแล้วใช่ไหม”
    “ยังไม่ขาดเป็นแต่เพียงแตกตะเข็บครับผม” ผู้เขียนตอบ
    “นั่นแหละมันขาดแล้ว เออ วิริยังค์ ถ้าคุณเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้แต่ปางก่อน พรุ่งนี้คงจะมีใครสักคนนำผ้ามาถวาย เราจะตัดสังฆาฏิให้”
    ท่านอาจารย์ท่านพูด ทำเอาผู้เขียนขนลุกขนพอง ไม่นึกเลยว่าท่านจะพูดกับข้าพเจ้าอย่างนี้
    ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็นำบาตรออกเดินไปรอท่านที่ริมละแวกบ้าน ถวายบาตรแก่ท่านเมื่อท่านไปถึง เดินตามหลังท่านไป อันความคิดที่จะต้องคิดติดอยู่ในใจขณะนี้คือ คำพูดของท่านอาจารย์บอกว่า “ถ้าเธอมีบุญ พรุ่งนี้ก็จะมีคนนำผ้ามาถวาย” ทำให้ใจของผู้เขียนต้องกังวลหนักขึ้นว่า ท่านอาจารย์จะเอาตัวเรามาเสี่ยงบารมีเสียแล้ว นี่ถ้าหากไม่ได้ผ้าไม่มีใครมาถวาย เราอาจจะต้องเป็นคนอาภัพ จนถึงกับท่านไม่อาจจะรับเอาเราเป็นศิษย์ของท่านก็เป็นได้ ขณะที่เราก็พึ่งจะมาอยู่กับท่านเพียงปีเศษเท่านั้น ท่านจะเอาผ้าสังฆาฏิมาเสี่ยงบารมีเสียแล้ว เห็นทีจะแย่เสียละกระมังคราวนี้ และขณะนี้เป็นระยะเวลาของสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) ยังไม่สงบ ผ้าที่จะใช้หายากจริง ๆ กว่าจะได้แต่ละผืนนานนัก ชาวบ้านต้องนุ่งผ้าขาดหน้าขาดหลัง เด็กนักเรียนไปโรงเรียนไม่มีเสื้อใส่ แม้จะมีบ้างก็ปะหน้าปะหลัง พระภิกษุสามเณรตามวัดต่าง ๆ จะได้จีวรแต่ละตัวนั้นนานเต็มที ต้องปะชุนเช่นเดียวกัน
    อันเราก็มาถูกท่านอาจารย์เสี่ยงบารมีด้วยผ้าสังฆาฏิ ๑ ผืน ดูก็เป็นเรื่องใหญ่ มิใช่เป็นเรื่องเล็กเลย (ถ้าเป็นขณะนี้ ๒๕๑๕ คงไม่ต้องนึกให้ลำบาก) ค่ำคืนนี้ก็ล่วงไปอย่างฝันดีเป็นที่สุด ท่านอาจารย์ท่านพูดทิ้งคำไว้แต่ตอนเช้าแล้วท่านก็มิได้เอ่ยถึงคำนั้นอีกเลย ผู้เขียนว่าฝันดีนั้นก็คือ ยังไงเสียเราคงจะต้องได้รับผลแห่งความจริงที่ว่า เราจะเป็นผู้มีบุญ - หรือเป็นคนบาป ก็จะต้องรู้กันในวันพรุ่งนี้แน่นอน เลยทำให้ผู้เขียนทำความเพียรนั่งสมาธิกัมมัฏฐานเป็นการใหญ่ ไม่ต้องหลับนอนกันละ ก็รู้สึกว่าได้ผล หันกลับไปคิดถึงท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ทรมานคนเพื่อเป็นคนดีทุกวิถีทาง ทุกอย่างที่ท่านออกอุบายแต่ละครั้ง ได้ผลเกินคาด ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันกับที่แล้วมาหลาย ๆ ครั้งที่บังเกิดผลจากอุบายวิธีของการทรมานที่ได้ผลอย่างสุขุมลุ่มลึก ในขณะที่ผลทางภายในก็กำลังเกิดขึ้นแก่ผู้เขียนอย่างเยือกเย็นสว่างไสว สบาย ผ่องใสอย่างที่จะพูดยากทีเดียว นี้เกิดจากอุบายวิธีอันชาญฉลาดของท่านอาจารย์มั่น ฯ
    รุ่งขึ้นเวลาบ่ายโมง เสียงคนหลายคนทั้งแบกทั้งหามทัพพสัมภาระ ตีเกราะเคาะไม้ ได้ยินมาแต่ไกล ผู้เขียนกำลังเดินจงกรมอยู่ใต้ต้นไม้ ไม่ห่างจากกุฏิเท่าใดนัก ได้ยินเสียงก็สงสัย รีบออกมาคอยดู ซึ่งขณะเดียวกันท่านอาจารย์ก็เปิดประตูออกมา ก็พอดีกระบวนผู้คนได้มาหยุดอยู่ที่ริมวัด เอาของวางไว้เรียบร้อย มีหัวหน้าคนหนึ่งเข้ามาหาท่านอาจารย์ นิมนต์ให้ไปชักบังสุกุล ท่านก็เดินตามเขาไป แต่ผู้เขียนไม่ไปเพียงแต่จัดที่ต้อนรับเขาอยู่ที่กุฏิ
    ในไม่ช้าพวกเขาก็พากันนำเอาของมากองไว้ที่ชานกุฏิ ผู้เขียนไม่สนใจของอื่นนอกจากผ้า จะมีหรือไม่หนอ พอจะทำสังฆาฏิได้ ผู้เขียนก็ต้องอุทานขึ้นมาในใจว่า
    “โอ ผ้าทำสังฆาฏิมีแล้ว นี่ยังไง”
    แต่นึกยิ้มอยู่ในใจไม่พูดอะไรเลย ท่านอาจารย์เหลือบมองมายังข้าพเจ้ายังกับจะพูดอะไรสักอย่าง แต่ท่านก็ไม่พูด หลังจากท่านได้ให้พรโยม โยมกลับกันหมด และสั่งให้เณร-ตาผ้าขาวเก็บของอื่น ๆ ไป ส่วนผ้าขาวท่านสั่งให้ผู้เขียนเก็บมาดูจึงเห็นว่าเป็นผ้าบางเนื้อดี พอที่จะตัดได้สังฆาฏิผืน ๑ อย่างสบาย ท่านจึงพูด
    “เอ้า ผู้มีบุญเอาผ้านี้ไปตัดสังฆาฏิเสีย”
    เป็นคำพูดที่สั้น ๆ ฝังใจน่าดู.
    ข้าพเจ้าไม่ใช่นักเขียนนักประพันธ์ ถ้าเป็นนักเขียนนักประพันธ์คงจะพรรณนาของจริงได้กว้างขวางและแนบเนียนกว่านี้มาก แต่นี่ก็เอาเพียงความเข้าใจก็ดีแล้ว ข้าพเจ้าก็พอใจแล้วที่ยังเขียนได้ถึงเพียงนี้
    ผู้เขียนจะดีใจหรือปีติหรือถูกอาจารย์ยกยอหรืออะไร ก็พูดไม่ถูกอีกเหมือนกัน ในเหตุการณ์เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำเอาผู้เขียนต้องยิ้มข้างในอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่ประมาทในการที่จะพยายามเพี่อการปฏิบัติจิตอย่างไม่ให้เวลาล่วงเลยไปเปล่า ๆ ขณะที่เรามาอยู่กับท่านผู้ประเสริฐแล้วจะมัวประมาทอยู่ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะการได้อาจารย์เช่นนี้ยากนักที่จะมีบุญได้อยู่กับท่าน ข้าพเจ้าหมายถึงว่ามีบุญอยู่กับท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ยิ้มก็เพราะได้อยู่ปฏิบัตินั่นเอง แต่ว่าอยู่กับผู้หวังดีต่อเรานั้น แม้จะถูกโขกถูกสับก็ยินดีรับเสมอ บางครั้งถูกยกยอเช่นคราวนี้ บางครั้งถูกโขกสับเช่นคราวก่อน แต่เราก็ยินดีให้ท่านทำเช่นนั้น เพื่อความเจริญก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติของเรา พร้อมเสมอที่จะให้ท่านทำทุกอย่างเพื่อความเจริญก้าวหน้า
    ขณะที่มาอยู่ที่วัดร้าง (บ้านนาสีนวล) นี้เป็นเวลาหลายวันต่อมา ผู้เขียนชอบเล่าความฝันให้ท่านฟังบ่อย ๆ เพราะความฝันนั้นแปลก ๆ เนื่องจากอยู่ในที่สงบสบาย ซึ่งบางครั้งก็เห็นพระสาวกแต่ครั้งพุทธกาล มีพระอานนท์บ้าง พระกัสสปะบ้าง พระเรวัตตะบ้าง หรือบางครั้งก็ฝันเห็นพระพุทธเจ้าเลย ซึ่งก็ต้องเล่าถวายท่านฟังทุกคราว
    วันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนเล่าความฝันให้ท่านฟังนั้น เข้าใจว่าท่านคงรำคาญ หรืออาจจะแนะนำผู้เขียนว่าเรื่องฝันนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ท่านจึงว่า
    “เอ้อ ฝันหยังบู๋ ฝันป่นฝันปี้ ฝันคืนนี้ฝันว่าได้สี่แม่ยาย” เป็นอันว่าท่านได้ทั้งดุทั้งด่าอย่างลึกซึ้ง และเป็นการแนะนำผู้เขียนอย่างมิได้มีวันลืมอีกครั้งหนึ่ง แม้คำนี้จะเป็นคำหยาบ ผู้เขียนไม่น่าจะนำมาลงไว้ ณ ที่นี้เลย แต่ก็ไม่ทราบจะเอาคำอะไรมาพูดมาแปลให้ถูก ถ้าเอาคำอื่นมาลงกลัวจะผิดสำนวน เสียรสชาติไป ผู้เขียนก็ไม่ขอแปลด้วย สุดแล้วแต่ผู้อ่านจะแปลเอาเองก็แล้วกัน
    แต่จะอย่างไรก็ตาม เป็นคำสอนที่แนบแน่นที่สุดสำหรับผู้เขียน เพราะความฝันนี้เป็นเรื่องลุ่มหลงกันมานานแสนนานแล้ว ถึงกับมีตำรับตำราทายความฝันกันทีเดียว แต่ท่านอาจารย์ท่านก็พูดไว้เป็นคำแปลบางตอนว่า เป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าใครลุ่มหลงอยู่ในความฝันจะทำให้เป็นคนโง่เง่า ทั้งนี้ก็หมายความได้หลายอย่างว่า ผู้หลงในความฝันเท่ากับยอมตัวลงอยู่ใต้ลม ๆ แล้ง ๆ อันนี้คงจะเป็นคติลำหรับผู้หลงละเมอเพ้อฝัน ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีขึ้นแก่ผู้อบรมจิตดีแล้ว แต่ว่าขณะในที่จิตบริสุทธิ์อารมณ์ต่าง ๆ ไม่ค่อยหนาแน่น การฝันนั้นกลายเป็นนิมิต คำว่านิมิต คือเครื่องหมาย แสดง เครื่องหมายปริศนา ทำให้เกิดความจริงบางประการขึ้นได้ ซึ่งในวันต่อมา ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อพระนางเจ้าสิริมหามายาสุบินนิมิตก็ดี เมื่อพระพุทธองค์สุบินนิมิตในตอนก่อนจะตรัสรู้ก็ดี นี้เป็นนิมิตไม่ใช่ละเมอเพ้อฝัน ก็เป็นอันว่า ผู้เขียนได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้อีกมากทีเดียว
    วันหนึ่งข้าพเจ้านั่งสมาธิอยู่โคนไม้ใกล้ ๆ กับกุฏิของท่าน ได้รำพึงในใจว่า อันการอยู่ร่วมกับปราชญ์นี่ เป็นผลประโยชน์มากจริงๆ เป็นผลทุกตารางนิ้วเลยทีเดียว สมกับคำว่า ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา การคบหาบัณฑิต เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นมงคลอันอุดมสูงสุด ผู้เขียนมาซาบซึ้งถึงมงคลคาถาข้อนี้อย่างยิ่งในเมื่อมาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ ในครั้งนี้
    ความรำพึงของผู้เขียน ได้เป็นไปอย่างความบริสุทธิ์ใจ และได้มีความกระตือรือร้นต่อความเพียรเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้มากขึ้นจากการได้รับธรรมเทศนาของท่าน
    ไม่ว่าจะอยู่กันเพียงองค์หนึ่งสององค์ท่านก็แสดงธรรมให้ฟัง โดยการให้โอวาทแนะนำตื้นลึกหนาบางของข้อปฏิบัติต่าง ๆ ถ้าหากว่าเราถามถึงธรรมโดยความบริสุทธิ์ใจแล้ว ท่านจะอธิบายให้หายสงสัยได้อย่างมหัศจรรย์ทีเดียว.
    ตอนพระวิริยังค์พยาบาลพระอาจารย์มั่น ฯ ป่วย
    ในวันหนึ่งเหตุการณ์มิได้คาดฝัน ว่าเหตุเช่นนี้จะเกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการป่วยของท่านอาจารย์มั่น ฯ เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
    เสียงร้องเรียกของท่านดังก้องมาจากห้องข้างในซึ่งถูกลงกลอนประตูหมดแล้ว ขณะนั้นท่านลุกขึ้นไม่ได้ เนื่องจากเป็นไข้มาเลเรียทำให้ขาทั้ง ๒ หมดแรงไม่มีแรงยัน เมื่อผู้เขียนกำลังทำกิจวัตรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ข้างนอกได้ยินคำว่า
    “วิริยังค์ เฮาลุกบ่ได้”
    ยิ่งทำให้ตกใจยิ่งขึ้น ผู้เขียนวิ่งวนรอบกุฏิ ๒ รอบ ๓ รอบจะหาวิธีเข้ากุฏิให้ได้ แต่ก็หมดปัญญาเพราะกลอนโบราณหนาแน่นเหลือเกิน
    ทันใดนั้นความคิดได้เกิดขึ้นแก่ผู้เขียนว่า หน้าต่างคงจะไม่ได้ใส่สลัก อาจจะมีสักช่อง ผู้เขียนจึงใช้ไม้พาดแล้วขึ้นไปตามช่องหน้าต่าง ก็ไปถูกหน้าต่างหนึ่งไม่ได้ใส่กลอน เพียงงับไว้เท่านั้น ก็ดึงออกเปิดได้
    โล่งใจ ผู้เขียนรีบปีนหน้าต่างเข้าไปในห้องทันที ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ กำลังนอนอยู่ ท่านเรียกบอกให้เข้าไปเร็วเพราะท่านปวดท้องเบาอยู่ ผู้เขียนเข้าไปพยุงท่านให้ลุกขึ้นนั่งแล้วท่านก็เบาได้ตามความประสงค์ แล้วก็พยุงให้ท่านได้กลับมานอนตามเดิม
    ผู้เขียนได้ถามท่านว่า ท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์ได้เป็นอะไรไป ท่านตอบว่า มันจับไข้ตั้งแต่บ่ายโมง หนาวแท้ๆ เลยเอาผ้ามาห่มเท่าไรก็ไม่หายหนาว พอสร่างไข้ขามันก็อ่อนหมดยกไม่ขึ้นเอาเลย
    เป็นอันว่าวันรุ่งขึ้นท่านไปบิณฑบาตไม่ได้ และฉันอาหารหนักไม่ได้ ผู้เขียนต้องไปจัดแจงให้ตาผ้าขาวบ๊องๆ นั้นต้มข้าวต้ม และก็มีอาหารข้าวต้มถวายท่าน จนกระทั่งหายจากไข้ แต่ก็ยังไม่ปรกติ
    ในระยะนี้ท่านได้อนุญาตผู้เขียนเข้าไปจำวัดในห้องเดียวกับท่าน ตามปรกติแล้วท่านจะไม่ให้ใครเข้าไปจำวัดในห้องเดียวกับท่านเป็นอันขาด คราวนี้ท่านเห็นใจผู้เขียนว่าเอาใจใส่ปฏิบัติอย่างจริงใจ จึงให้เข้าไปจำวัดในห้องเดียวกับท่าน ทั้งนี้ผู้เขียนก็ประสงค์เช่นนั้นเพราะไม่แน่ใจว่า ไข้จะจับเอากับท่านอีกเมื่อไร ถ้าหากจับไข้อีกจะได้หาทางแก้ไขทันทีไม่ต้องวิ่งหาทางปีนหน้าต่างกันอีก
    ข้าพเจ้าต้องอัศจรรย์มากทีเดียว ในขณะที่ได้เข้าไปอยู่ในห้องเดียวกับท่าน คือเห็นท่านตื่นตอนตี ๓ ( ๓.๐๐ น. ) ทุกวันเลยทีเดียว ผู้เขียนก็ได้ตั้งใจและคอยระวังอยู่จึงตื่นพอดีกับท่าน เพื่อคอยปฏิบัติในขณะที่ท่านตื่นขึ้นล้างหน้า
    ต่อจากนั้นก็นั่งกัมมัฏฐานไปจนตลอดแจ้ง ผู้เขียนคิดว่า ท่านก็กำลังป่วยยังไม่หายสนิท แต่ทำไมจึงยังบำเพ็ญกัมมัฏฐาน พักเพียง ๔-๕ ชั่วโมงเท่านั้น และยิ่งคิดหนักต่อไปว่า ก็ในเมื่อท่านได้บำเพ็ญมาอย่างหนักแล้ว และรู้ธรรมเห็นธรรมตามสมควรแล้ว เหตุไฉน ? ท่านยังมิละความเพียรของท่านเลย อันที่จริงท่านไม่ต้องทำก็เห็นจะไม่เป็นไร เพราะท่านทำมามากพอแล้ว
    ซึ่งในวันหนึ่งผู้เขียนอดไม่ได้ต้องถามท่านว่า
    “ท่านอาจารย์ครับ ขณะนี้ท่านอาจารย์ก็ไม่ค่อยสบาย ควรจะได้พักผ่อนให้มากกว่านี้ จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น”
    แต่แล้วก็ได้รับคำตอบว่า
    “ก็ยิ่งไม่สบาย คนเรามันใกล้ตาย ก็ต้องยิ่งทำความเพียรโดยความไม่ประมาท แม้เราจะเป็นผู้ได้รับการฝึกฝนมามากแล้ว แต่ก็ต้องทำและยิ่งมีความรู้สึกภายในว่าต้องทำให้มาก เช่นเดียวกับเศรษฐี แม้จะมีทรัพย์มาก ก็ยิ่งต้องทำมาก วิริยังค์ สมาธิมันเป็นเพียงสังขาร ไม่เที่ยงหรอก ความจริงแห่งสัจจธรรมจึงจะเป็นของเที่ยง และการกระทำความเพียรนี้ ยังชื่อว่าทำเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ทั้งหลายด้วย”
    ทำเอาผู้เขียนต้องขนลุก ปีติซู่ซ่าไปหมด ทั้งคิดว่าท่านแม้จะมีคุณธรรมสูง ท่านก็มิได้อาตัวรอดแต่ผู้เดียว ยังต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อบุคคลอื่นอย่างน่าสรรเสริญ
    การอยู่ร่วมในห้องเดียวกับท่านในคราวนี้จึงนับว่าได้รับความสนิทสนม และใกล้ชิดอย่างยิ่ง และได้รับใช้ท่านอย่างเต็มที่สมกับความปรารถนาของผู้เขียนเป็นหนักหนา ทุก ๆ คืนที่อยู่ในห้องนี้ เหมือนอยู่ในถ้ำป่าเขาที่เปลี่ยววิเวก เพราะนอกจากการบีบนวดถวาย และไต่ถามอัตถปัญหาต่าง ๆ แล้ว นอกนั้นก็เป็นเวลาทำความเพียร
    มันไม่มีคราวใดอีกแล้ว ที่ผู้เขียนจะพึงระวังสติเหมือนคราวนี้ เพราะถ้าเราขาดสติ หมายถึงต้องถูกดุหรือถูกประณามอย่างใดอย่างหนึ่ง และผู้เขียนรู้สึกอบอุ่นเอาจริงๆ และผลแห่งความเพียรปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างรวดเร็วน่าแปลกใจตัวเองเสียเหลือเกิน มิใช่ผู้เขียนจะกล่าวเกินความจริง สิทธิอันนี้จะไม่มีศิษย์ของท่านองค์ใดจะพึงได้เลย แม้แต่อาจารย์มหาบัว ต้องการจะเข้าไปอยู่กับท่าน ตอนผู้เขียนออกมาแล้ว ท่านก็ไม่ยอมให้อยู่.ต้องหอบกลดมุ้งออกวันนั้นเอง สิทธิอันนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนภูมิใจเป็นหนักหนา
    เพราะเหตุใด ? ท่านอาจารย์มั่นฯ จึงให้ผู้เขียนได้จำวัดอยู่ในห้องเดียวกับท่านและผู้อื่นมิให้เข้าเกี่ยวข้องตลอดเวลาเดือนเศษ ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะเล่าเหตุการณ์ในห้องอันพิสดาร ดุจถ้ำแห่งธรรมอันประเสริฐนี้ให้ผู้อ่านได้ฟังอย่างพิสดาร เพราะถ้าไม่ได้เขียนตอนนี้แล้ว ผู้เขียนเห็นจะต้องเลิกเขียนหนังสือธรรมเอาเสียเลย หรือจะต้องทำให้ผู้เขียนข้องใจตัวเองตลอดชีวิตเอาทีเดียว
    พูดถึงการเดิน ผู้เขียนต้องหัดเดินใหม่เอาทีเดียวเมื่อเข้ามาอยู่ในห้องนี้ เพราะวันหนึ่งผู้เขียนปวดท้องเป็นต้องออกจากห้องตอนตี.๔. (๔.๐๐ น.) แม้จะค่อยๆ ย่องอย่างเบาแล้ว พอรุ่งขึ้นท่านได้พูดว่า
    “วิริยังค์ ทำไมจึงเดินแรงนักเมื่อคืนนี้ เวลาที่ใครๆ เขากำลังนั่งสมาธิอยู่ ต้องระวังชี อย่าเดินแรง ทำสมาธิของผู้อื่นให้เสียไป บาปเท่ากับฆ่าช้างทั้งตัวเชียวนา”
    ผู้เขียนตกใจเพราะว่าเราก็ถือว่าเดินเบาเต็มที่แล้ว เสียงยังลอดเข้าหาท่านได้อีก วันหน้าต่อมา ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกคือการเดินดัง ในที่สุดก็มาแก้เอาได้ตอนที่ใช้ปลายเท้าลงก่อน ไม่เหยียบทีเดียวหมดฝ่าเท้า จึงเบาจนท่านไม่ต้องบ่นอีกต่อไป
    เรื่องของการรักษาความสงบ ในขณะที่ผู้ใดนั่งสมาธินั้น ท่านได้ถือเอาเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้แต่ตัวของท่านเอง ขณะที่ผู้เขียนกำลังนั่งสมาธิเพลินอยู่ ไม่ทราบว่าท่านได้ออกจากห้องไปได้เมื่อไร ผู้เขียนไม่มีความรู้สึกมีเสียงกุก ๆ กัก ๆ อะไรเลย ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ต้องถอดกลอนออกข้างนอก ดูเหมือนว่าวันนั้นท่านออก ไปเดินจงกรมแต่เช้ามืด
    และคืนวันหนึ่ง ผู้เขียนถวายการนวดแก่ท่านเสร็จแล้ว ในห้องนี้ประมาณ ๒๓.๐๐ น. เห็นจะได้ ผู้เขียนตั้งใจว่าจะนั่งสมาธิเสียตลอดคืนนี้เลย ไม่ต้องนอนละเรา แล้วก็เริ่มนั่งสมาธิ ครั้งแรก ๆ การพิจารณาก็ปลอดโปร่งดี แต่พอดึกเข้าก็เลยนั่งหลับเพลินไปเลย ไม่ทราบเข้าฌานอะไรกัน หรือไม่มีฌานเป็นการนั่งหลับ นั่งไปเรื่อย ๆ ไปโดยไม่รู้ตัว และก็ขณะนั้นเองอาจจะเป็นเวลา ๑ หรือ ๒.๐๐ น. ท่านอาจารย์มั่น ฯ.ท่านเดินไปที่มุ้งกลดผู้เขียน ทำเสียงบอกให้รู้ว่านั่นกำลังหลงอยู่ จนผู้เขียนต้องตกใจสะดุ้งขึ้นและท่านก็พูดว่า
    “การบำเพ็ญสมาธิเอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสสนา คือการพิจารณาก็พอแล้ว ส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้นก็ให้กำหนดรู้ แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า การหลงฌานมากไปนั้นจะทำให้ตกไปสู่โมหะ การพิจารณาวิปัสสนามากไปนั้นจะตกไปสู่ความฟุ้งซ่าน จึงควรทำแต่พอดีพอเหมาะที่จะให้ผลอย่าให้มากนัก อย่าให้น้อยนัก ถ้าน้อยนักเป็นเหตุให้ไม่รู้จักพอ เป็นการเนิ่นช้า แต่การควบคุมสติให้มั่นคง เป็นการดีที่สุด” แล้วท่านก็เดินกลับไป
    ผู้เขียนรู้สึกปลาบปลื้มอะไรเช่นนั้น ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านมาสอนการปฏิบัติให้เราถึงในมุ้ง ดูแล้วเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจจริง ๆ และหวนระลึกถึงว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ นี้สมกับที่เป็นพระปรมาจารย์ที่แท้จริง ได้เป็นห่วงศิษย์ที่จะหลงทาง และพยายามหาหนทางให้โดยมิได้คิดว่าจะให้ลูกศิษย์ไปหา ไปหาลูกศิษย์เสียเอง ทั้งท่านก็รู้ทุกวาระจิตที่จะพึงแนะนำแก้ไข ดูเอาเถิด ผู้เขียนนั่งอยู่ในมุ้งท่านทราบได้อย่างไรว่าผู้เขียนกำลังหลงทาง และมิใช่เพียงครั้งเดียวเท่านี้ ในขณะที่ผู้เขียนพักอยู่ห้องเดียวกับท่าน นับได้หลายครั้งทีเดียว ที่ท่านได้เดินมาถึงมุ้งกลดของผู้เขียน ในเมื่อผู้เขียนต้องหลงทางเรื่องของสมาธิ
    เหตุการณ์เช่นนี้แหละทำให้ศิษย์ต้องนับถือเคารพอาจารย์อย่างไม่มีอะไรเปรียบปาน ผู้เขียนแม้จะเป็นพระผู้น้อย แต่ท่านก็มิได้คิดว่าจะเป็นผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ เมื่อเห็นว่าควรอนุเคราะห์โดยเป็นธรรมสงเคราะห์แล้ว ท่านก็กระทำทุกอย่างเพื่อการนั้น
    ในขณะที่อยู่ ณ ที่นี้ก็เป็นเวลาของการป่วยของท่านด้วย ถึงอย่างนั้นดูเหมือนว่าท่านจะไม่ค่อยคำนึงถึงการป่วยของท่านเท่าใดนัก แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ค่อยเข้ามานอนเฝ้าก็คงจะไม่เป็นไร เพราะท่านก็สละแล้วทุกๆ อย่าง ผู้เขียนเข้าใจผิดว่า ท่านต้องการจะทรมานผู้เขียนมากกว่า จึงให้มานอนร่วมห้องกับท่าน และก็เป็นความจริงที่ในความรู้สึกของผู้เขียนว่าได้ถูกทรมานอย่างหนักหน่วงทีเดียว เพราะเหตุใด ? เพราะว่าทุกขณะลมหายใจเข้าออกนั้น ต้องระวัง ทุก ๆ ครั้งของการบำเพ็ญกัมมัฏฐานก็ต้องระวัง กลัวความผิดพลาดเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ได้รับการตักเตือนทันท่วงที ไม่ต้องรอให้เสียเวลา ซึ่งจะต้องไปตักเตือนกันเมื่อเลิกจากสมาธิแล้ว ทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น ท่านก็มีโอกาสได้ชี้แจง ผลที่เกิดขึ้นก็รวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้เขียนมาคำนึงว่า เวลาทำไมจึงมีค่าเหลือเกินเช่นนี้ ไม่มีเสียประโยชน์ไปเลย แล้วทำไมจึงจะไม่ให้ผู้เขียนภาคภูมิใจอย่างยิ่งนี้ได้
    เวลาที่ดีที่สุดนั้นคือ เวลาถวายการล้างหน้าเสร็จแล้ว ประมาณ ๓ น. เศษท่านให้โอกาสถามถึงการปฏิบัติที่ผ่านมา และท่านก็แก้ไขให้อย่างแจ่มแจ้ง ถ้าเราไม่ถามท่าน ๆ ก็จะตั้งปัญหาขึ้น แล้วก็แก้ไขให้เราอย่างดีที่สุด นับเป็นโอกาสดีหรือจะเรียกว่าเป็นกุศลที่ได้บำเพ็ญมาแต่กาลก่อนก็เห็นจะได้ จึงมาประสบโอกาสเช่นนี้ ซึ่งก็มิได้นึกคิดมาก่อนเลยว่าจะได้รับการเมตตาเป็นกรณีพิเศษเช่นนี้เลย และผู้เขียนก็มิได้ให้โอกาสนี้จะต้องสูญเสียไปเปล่าเลย พยายามที่จะทำโอกาสนี้ให้ตัวเองมากที่สุด แต่ว่าในเวลาเช่นนี้คือ ก่อนจะแจ้ง ปัญหากระจุกกระจิกท่านไม่ให้ถาม ให้ถามแต่ส่วนของเป็นปฏิบัติทางจิตใจขั้นละเอียด ส่วนปัญหาเรื่องของคณะ หรืออาจารย์องค์ต่างๆ ว่าใครเป็นอย่างไร มีปฏิปทาได้ปฏิบัติผ่านมาได้ผลอย่างไร ท่านเหล่านั้นมีนิสัยอย่างไร ? ตอนนี้ท่านให้ถามตอนก่อนจะบีบนวดถวายท่าน เป็นตอนค่ำ หรือตอนบ่ายโมงระหว่างถวายน้ำชาและน้ำดื่มอื่น ๆ เป็น ต้น
    ตอนพระวิริยังค์เดินธุดงค์กับพระอาจารย์มั่น ฯ ๒ ต่อ ๒
    ระยะใดเล่าจะสำคัญอย่างยิ่งยวด และปลื้มใจได้ความรู้ประสบการณ์แห่งของจริง เท่ากับครั้งนี้ไม่มีแล้ว ในชีวิตของผู้เขียน มันเป็นปรากฏการณ์ที่มีความจริงเป็นหลักฐาน เพราะเหตุคือการเดินธุดงค์กับพระอาจารย์มั่น ฯ เพียง ๒ ต่อ ๒ ซึ่งก็มีบุรุษบ๊อง ๆ อยู่คนเดียวเท่านั้นที่ติดตามไป ผู้เขียนจะต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ทางใจไว้อย่างไม่มีการเลือนลาง ทั้งนี้เพราะความเมตตาปรานีของท่านอาจารย์มั่น ฯ มีแก่ผู้เขียนเป็นกรณีพิเศษนั่นเอง เป็นการให้การศึกษากับความเป็นจริง แม้ผู้เขียนจะได้เคยเดินธุดงค์มาแล้วอย่างโชกโชนกับพระอาจารย์กงมาเป็นระยะเวลาถึง ๘ ปีก็ตาม แต่นั่นก็เป็นการฝึกฝนในเบื้องต้น ซึ่งมิได้เหมือนกับครั้งนี้ เพราะเป็นการฝึกในขั้นพระปรมาจารย์ที่ผู้เขียนนับถืออย่างสุดยอด
    พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นปีที่จะมีการถวายพระราชทานเพลิงศพของ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ฯ มาแต่เดิม ข่าวได้ถูกส่งมาจากจังหวัดอุบลราชธานี โดยแม่ชีพวงว่า ให้ท่านขึ้นเครื่องบินไปที่จังหวัดอุบล ฯ แม่ชีพวงได้บุ๊กตั๋วเครื่องบินถวาย
    ขณะนั้นผู้เขียนก็ยังอยู่วัดร้างนี้กับพระอาจารย์มั่นฯ ตามปรกติ เมื่อได้รับข่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านได้บอกกับผู้เขียนว่า
    “จะไปขี่มันเฮ็ดหยัง ขาเฮามี”
    ท่านได้พูดว่า เดินไปก็ได้ เราเคยเดินไปตั้งหลายครั้งแล้วที่จะไปอุบล ฯ จึงเป็นที่ทราบก็กันทั่วไประหว่างพระเถรานุเถระที่มาอยู่เพื่อการศึกษาธรรมกับท่านจำนวนมาก เมื่อทราบว่าพระอาจารย์มั่น ฯ จะไปในงานพระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์เสาร์ ก็จัดแจงเพื่อติดตามไปกันทั้งหมด จึงจะต้องเป็นขบวนใหญ่มิใช่ธรรมดา
    แต่ด้วยเหตุผลอย่างไร ? ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงให้ผู้เขียนเพียงผู้เดียวติดตามท่านและเป็นการเดินเท้าธุดงค์จากบ้านนามนไปถึงพระธาตุพนม เป็นหนทางประมาณ ๕๐ กว่า ก.ม. ส่วนพระเถรานุเถระทั้งหลายก็ติดตามไปภายหลัง
    เมื่อท่านกำหนดวันเป็นที่แน่นอนแล้ว ได้ออกเดินเท้าจากบ้านนามน โดยมีผู้เขียนติดตามกับฆราวาสอายุกลางคนไปด้วย การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นที่พอใจของผู้เขียนอย่างบอกไม่ถูก นับเป็นบุญของตัวแท้ ๆ ทีเดียว
    ขณะที่เดินไปนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ เดินไปข้างหน้า ผู้เขียนเดินตามหลัง รู้สึกว่าท่านยังแข็งแรงมาก ขณะนั้นท่านอายุประมาณ ๗๔ ปีแล้ว ดูการเดินของท่านยังกระฉับกระเฉง ในขณะที่ผู้เขียนอายุ ๒๓ ปี รู้สึกว่าเป็นการแตกต่างกันมาก ประหนึ่งปู่กับหลานเอาทีเดียว เหนื่อยแล้ว แสงแดดก็กล้ามาก ร้อนจัด เป็นกลางทุ่ง เขาเรียกทุ่งนี้ว่า ทุ่งจำปานาแก เป็นทุ่งกว้างมาก ต้องใช้เวลาเดินหลายชั่วโมง คนแถบนี้กลัวกันนักเมื่อจะเดินข้ามทุ่งนี้
    มีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง มีร่มเงาพอสมควร ท่านบอกว่าแวะเข้าไปพักที่นี่ก่อนเถอะ ผู้เขียนรีบเดินไปก่อนไปจัดที่ นำเอาอาสนะไปปูถวายให้ท่านนั่งสบาย ถวายน้ำดื่ม เรียบร้อยแล้ว ท่านก็พูดว่า
    “วิริยังค์ เหนื่อยบ่”
    “ไม่เหนื่อยเลยครับ” ผู้เขียนตอบ
    “ดีแล้ว” ท่านว่า “แต่การที่เธอมากับเรานี้มีความรู้สึกอย่างไร”
    “เป็นโชคชีวิตของกระผมที่สุดแล้วครับ” ผู้เขียนตอบ
    “เวลาเดินเธอตั้งใจอย่างไร” ท่านถาม
    “กระผมตั้งสติไว้ทุกระยะเลยครับ เพราะรู้ว่าได้เดินมากับท่านที่ทรงคุณธรรม”
    “เออดี” ท่านว่า แล้วท่านเล่าว่า
    “ทุ่งจำปานาแกนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนในละแวกนี้ และนาแถบนี้ไม่ค่อยจะเสีย ดีทุก ๆ ปี แต่ระยะที่พวกเรามา เขาเก็บเกี่ยวกันหมดแล้ว ดูแต่ซังข้าวเป็นไร ซังใหญ่ ๆ ทั้งนั้น แสดงว่าข้าวงามมากปีนี้ ทำให้ผู้เขียนคิดในใจว่าท่านอาจารย์นอกจากท่านจะมีความรู้ในธรรมแล้ว งานชาวบ้านท่านก็ทราบเหมือนกัน แสดงว่าแม้ท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านต้องศึกษาความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้น ๆ มิใช่แต่จะก้มหน้าก้มตาสอนแต่การปฏิบัติธรรมอย่างเดียว
    ขณะผู้เขียน (ขออภัย) ได้ขออนุญาตเข้าป่าละเมาะเพื่อถ่ายอุจจาระ เมื่อเสร็จกิจแล้วกลับออกมา ทุก ๆ ระยะที่ผู้เขียนเข้าไปถ่ายอุจจาระและกลับ หาได้พ้นสายตาของท่านไม่ เมื่อกลับมานั่งอยู่ใต้โคนไม้นั้นแล้ว ท่านจึงพูดว่า
    “ทำไมไม่เอาน้ำไปชำระ”
    “ที่นี่เป็นป่า หาน้ำยากกระผม” ผู้เขียนตอบ
    “นี่แหละถือว่าผิดวินัย” ท่านพูดและได้พูดต่อไปว่า “การศึกษาพระวินัยนั้นสำคัญ บุคคลจะมาถือเลศอย่างนั้นอย่างนี้แล้วพากันปฏิบัติหลีกเลี่ยงพระวินัยหาควรไม่”
    “ในที่นี้เป็นที่ทุรกันดาร ควรจะรับยกเว้นพระวินัยข้อนี้ กระผม” ผู้เขียนตอบ
    “ไม่มีการยกเว้น ในเมื่ออยู่ในความสามารถ” ท่านพูด และพูดต่อไปว่า “ทั้งที่ลับและที่แจ้งก็ต้องรักษาพระธรรมวินัย ถ้าผู้ใดมาหาวิธีหลีกเลี่ยงพระธรรมวินัยแม้เล็กน้อย ผู้นั้นชื่อว่าทำลายตนเอง”
    ทำเอาผู้เขียนเสียวหลังขึ้นมาเลย นี่ก็นับว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้สอนผู้เขียนทุกระยะเลยทีเดียว เหตุเช่นนี้ผู้เขียนนึกในใจว่าบุญของเราแท้ ๆ ที่ได้พระอาจารย์ผู้รับผิดชอบในตัวของเรา แม้แต่ในเวลาถ่ายอุจจาระ ท่านยังไม่ทอดทิ้ง ยังดูแลตลอดทุกอิริยาบถ ถ้ามีอาจารย์อย่างนี้ ไม่ได้ดี ก็ไม่รู้จะไปได้ดีอย่างไรอีก แล้ว
    ต่อจากนั้นก็ออกจากร่มไม้ เดินเข้าหนทางกันต่อไป มันเป็นทางที่ไม่ค่อยเปลี่ยวเท่าไรนัก และขณะนี้ศิษย์กับอาจารย์ก็กำลังเดินอยู่ในเขตของอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม หนทางนี้เป็นทางสัญจรของประชาชนแต่ก็ไม่มากนัก นาน ๆ จะพบคนและหมู่บ้านเป็นระยะ ถ้าผู้เขียนหวนระลึกถึงทางที่เดินผ่านภูเขาดงพญาเย็นมาแล้ว การเดินทางผ่านเข้าอำเภอนาแกนี้ก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด แต่ความหมายที่สำคัญที่สุดคือการเดินไป ๒ ต่อ ๒ กับพระอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งท่านจะทำความหมายให้แก่ผู้เขียนตลอดชีวิต และเมื่อเดินไปท่านก็ถามอะไรหลายอย่าง ซึ่งจะเขียนให้หมดดูจะเลอะไป
    บางครั้งท่านก็ถามว่า “วิริยังค์ ทำไมจึงมาบวช”
    ผู้เขียนก็ตอบว่า “เพราะภาวนาเห็นทุกข์”
    “ใครสอนให้ครั้งแรก ?”
    “ไม่มีใครครับ !”
    “ทำยังไงจึงเป็นสมาธิ ?”
    “เป็นขึ้นมาเองครับกระผม !”
    “เป็นขึ้นมาได้อย่างไร ?”
    “วันหนึ่งเพื่อนกระผมชวนไปวัดทั้งๆ ที่กระผมไม่อยากไป แล้ววัดนี้ท่านอาจารย์กงมาเป็นสมภารอยู่ กระผมได้เข้าไปแล้ว ไม่ทราบขนบธรรมเนียมนั่งปนผู้หญิงอยู่ อาจารย์กงมาได้เรียกมานั่งอีกข้างหนึ่งใกล้ ๆ ท่าน ขณะนั้นกระผมต้องเหงื่อแตกเพราะอึดอัดใจ เพื่อนของกระผมอ่านหนังสือไม่ออก จึงไปต่อมนต์ด้วยปากกับพระอาจารย์กงมา ต้องอยู่ถึงเที่ยงคืน กระผมก็กลับบ้านคนเดียวไม่ได้เพราะกลัวผี จำเป็นต้องอยู่ อยู่ไปนั่งไป นึกในใจอย่างเดียวว่า (ตั้งแต่นี้ต่อไปไม่มาอีกแล้ว ๆ ๆ ) อย่างนี้ ไม่ช้าเท่าไรปรากฏว่า ตัวของกระผมหายไปเลย เบาไปหมด ขณะนั้นปรากฏว่ากระผมมี ๒ ตัว กระผมตัวหนึ่งได้เดินออกจากร่างเดิมแล้วเดินลงศาลานั้นไป ขณะนั้นมองไปโดยรอบทิศไม่เห็นใครเลยแม้แต่อาจารย์ คงเห็นแต่ร่างของกระผมนั่งอยู่ เมื่อเดินไป ได้ออกไปที่ลานวัดทางด้านตะวันออกแล้วก็ไปยืนอยู่ที่นั้น ขณะนั้นมีลมชนิดหนึ่งพัดหวิวเข้ามาสู่หัวใจ รู้สึกเย็นเอาจริง ๆ สบายบอกไม่ถูกในขณะนั้นถึงกับอุทานออกมาเองว่า “คุณของพระพุทธศาสนา มีถึงเพียงนี้เทียวหรือ ?”
    “ต่อจากนั้นปรากฏว่าเดินกลับมาที่เดิม และขึ้นศาลาหลังนั้น มองไปโดยรอบไม่เห็นใครแม้แต่เพื่อนของผม คงมองเห็นแต่ร่างของผมนั่งอยู่ ผมมานึกว่า ‘เอ ทำไมเราจะเข้าร่างเราได้หนอ ?’ ทันใดนั้นผมก็รู้สึกตัว แต่เมื่อรู้สึกตัวขั้นแรกนั้นได้ยินเสียงก่อน เป็นเสียงเพื่อนผมและพรรคพวกกำลังท่องสวดมนต์ แต่ปรากฏเหมือนไกลลิบสุดกู่ แล้วเสียงนั้นก็ค่อย ๆ ใกล้เข้า ๆ จนรู้สึกปรกติ ก็พอดีเป็นเวลาเขาเลิกกัน เที่ยงคืน”
    “กระผมอดไม่ไหว แม้จะกลัวท่านอาจารย์กงมา เพราะพึ่งจะเข้าวัดวันนี้เอง แต่กระผมก็ต้องถามท่านอาจารย์กงมาว่า กระผมเป็นอะไรไป จึงดีอย่างนี้ และก็เล่าความเป็นจริงนั้นถวาย ท่านอาจารย์กงมาถึงตะลึง ว่า ‘เอ เด็กนี่เรายังไม่สอนสมาธิให้เลย ทำไมมันจึงเกิดได้เร็วนัก’ ท่านจึงบอกกระผมว่า ‘ดีแล้วเธอ เรายังไม่ได้หัดสมาธิให้เลย เป็นขึ้นมาก่อนแล้ว และจงพยายามทำต่อไปเถิด”
    นี่แหละครับ ผู้เรียนเล่าถวายท่านอาจารย์ ฯ ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้พูดว่า
    “มันแม่นแล้ว เธอมีความเป็นต่าง ๆ มีบารมีพอสมควร มิฉะนั้นจะได้บวชหรือ ?”
    วันนี้ ๒ ศิษย์อาจารย์ก็เดินไปถึงบ้านนาโสก อ.นาแก มีวัดป่าอยู่วัดหนึ่ง และที่แห่งนี้เมื่อหลายปีมาท่านเคยมาพักแต่ไม่เป็นวัด ท่านได้พาผู้เขียนเข้ามาพักอยู่วัดนี้ และก็เป็นความดีใจของสมภารเป็นอย่างยิ่ง กุลีกุจอจัดการสถานที่พัก ทั้งญาติโยมเมื่อทราบข่าวก็พากันมานมัสการเป็นการใหญ่ แม้ว่าท่านจะเหนื่อยจากการเดินทาง ท่านก็ยังแสดงธรรม และมีธรรมกถาต่าง ๆ แก่ญาติโยมที่มาเยี่ยมกันจนดึกดื่น
    ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นมีศรัทธาญาติโยมทั้งหลายมาทำบุญถวายอาหารบิณฑบาต ผู้เขียนยังจำได้ว่า ได้ฉันน้ำมะพร้าวอ่อนอร่อยมาก หลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ๒ ศิษย์อาจารย์ก็เดินทางกันคือไป โดยมีโยมบ๊อง ๆ คนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือบริขารและเป็นกปิยะการกไปในตัวด้วย
    ขณะนี้กำลังเดินผ่านอำเภอนาแก จ. นครพนม ท่านอาจารย์ได้พูดว่า ระหว่างธาตุนารายณ์เจงเวงกับพระธาตุพนมนี้ เป็นเขตแดนติดต่อของสองจังหวัดได้แก่จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในภาคนี้มีความเชื่อกันว่านาไร่แถบนี้ไม่ ค่อยจะเสียหายด้วยการแล้งน้ำหรือด้วยการน้ำท่วม ทำให้ชาวบ้านแถบนี้มีความเป็นอยู่ไม่แร้นแค้นนัก
    ตามที่ผู้เขียนมักจะสังเกตคำพูดของท่านอาจารย์อยู่เสมอ ๆ เพราะมิใช่แต่ฟังเท่านั้นจะต้องจดจำที่สำคัญ ๆ เอาไว้เล่าให้คนอื่นหรือศิษย์ของเราฟังต่อไป
    ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันนอกจากท่านจะพูดถึงเรื่องคนในย่านนี้แล้ว ท่านก็พูดต่อไปอีกว่า
    “คนแถว ๆ นี้สนใจในธรรมดีพอสมควร ดูแต่เราพักกันอยู่ที่ไหนจะมีคนถือขันดอกไม้มาขึ้นธรรม หมายความว่ามาเรียนกัมมัฎฐานนั่นเอง แต่คณะอาจารย์ก็มีหลายพวก จึงทำให้เขาต้องเรียนกันหลายวิธี ทำให้เกิดความไขว้เขวกันมาก”
    ผู้เขียนได้เรียนท่านว่า “เราจะมารวมกันสอนกัมมัฏฐานแบบเดียวกันเสียทั้งประเทศไทยจะไม่ดีหรือ เพราะจะได้ไม่ไขว้เขว และได้ผลอย่างประเสริฐด้วย”
    ท่านตอบว่า “มันเป็นไปไม่ได้ดอก เพราะอาจารย์กัมมัฏฐานแต่ละองค์ก็มิใช่หมดกิเลส นำเอาแต่ความเห็นของตน พยายามข่มผู้อื่นด้วยการสอนไปตามความเข้าใจของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความจริง ถ้าจะไปเอาแบบคนอื่น ก็กลัวว่าจะเสียเกียรติอะไรเสียอย่างนั้น ซึ่งเป็นทางเสียหายมาก”
    การเดินธุดงค์ครั้งนี้แม้จะไม่มาราธอน เหมือนกับที่ท่านอาจารย์กงมาพาเดินจากจังหวัดจันทบุรี ถึงจังหวัดสกลนครก็ตาม แต่ก็เป็นการเดินธุดงค์แบบสาธิตก็เพราะเดินธุดงค์ไปแล้วได้ฝึกฝนจิตใจ ทั้งได้รับความรู้แปลก ๆ ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นจากการเดินธุดงค์ครั้งนี้อย่างมากมาย ทำให้ผู้เขียนคิดว่า ในชีวิตความเป็นพระภิกษุสามเณรของเรานี้มันช่างมีการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเอาจริง ๆ แต่ว่าเป็นการต่อสู้แบบนักรบที่ยืนหยัดอยู่บนอุดมคติ จึงทำให้การต่อสู้นี้มีรสชาติขึ้นอย่างบอกไม่ถูก ว่าถึงผลของการดำเนินไปของชีวิต ดูเป็นผลที่เกิดขึ้นอย่างน่าพอใจ จะอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้เขียนกำลังเดินตามหลังพระอาจารย์มั่นฯ ผู้เป็นปรมาจารย์ทางกัมมัฏฐานอยู่ การเดินก็ใกล้ที่จะถึงองค์พระธาตุพนมเข้าไปทุกขณะ พระอาทิตย์กำลังจะคล้อยลงทุกที ๆ
    ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงหันหน้ามาทางผู้เขียน แล้วพูดว่า
    “วิริยังค์ เรานอนกันที่นี่สักคืนเถอะ”
    “จะจำวัดตรงไหนดีครับ” ผู้เขียนถาม
    “โน่นยังไงกระต๊อบนาเขา เข้าไปดูซิว่ามันร้างหรือเปล่า ?” ท่านตอบ
    ผู้เขียนก็รีบเดินเข้าไปที่กระต๊อบนั้น เมื่อสังเกตดูแล้วไม่มีใคร เพราะเขาร้างไว้ กลับบ้านกันหมด เป็นกระท่อมนา ผู้เขียนมารายงานให้ท่านทราบแล้ว ก็จัดแจงขึ้นบริขารเข้าไปที่กระท่อมนาหลังนั้น จัดการปัดกวาดทำความสะอาด กางมุ้งกางกลดของท่านเสร็จแล้ว ผู้เขียนก็รีบจัดการหาน้ำเพื่อถวายให้ท่านสรง
    ขณะนั้นก็เป็นเวลาจวนค่ำแล้ว ท่านใช้ให้ผู้เขียนกับอุบาสกคนบ๊อง ๆ นั้นไปจัดทางเดินจงกรม ทำให้ผู้เขียนอุทานในใจว่า
    “นี่ท่านเดินมาตั้ง ๒o กว่ากิโลเมตร ทำไมหนอจะต้องมาเดินจงกรมอีก มันจะมิเกินไปหรือ ?”
    แต่เมื่อถูกคำสั่งแล้วก็ต้องทำตาม แม้จะเป็นเวลาจวนมืด รีบเร่งเต็มทีครึ่งชั่วโมงทุกอย่างเรียบร้อย ทันทีทางเรียบร้อยท่านเข้าทางเดินจงกรม ผู้เขียนยังคิดอิดโรยอยู่ในใจว่าจะเดินหรือไม่เดินหนอ จงกรมนี่ ! ต้องเดิน ก็ท่านแก่กว่าเรา เราแค่อายุ ๒๓ ตกลงเดิน ผู้เขียนนึกว่าท่านก็คงเดินสักประเดี๋ยว ที่ไหนได้นานพอดู ทำเอาผู้เขียนเดินจงกรมตัวเบาไปเลย จึงทำให้ได้ความคิดอย่างหนึ่งว่า
    “ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านสอนเรา เพื่อให้เรานำเอาตัวอย่างนี้ไปใช้ เพราะการชำระจิตด้วยการเดินจงกรมนั้น โมหะครอบงำยาก การเดินมาเหนื่อย ๆ แล้วนั่งสมาธิ โมหะครอบงำได้เร็ว เนื่องจากเหน็ดเหนื่อย”
    ข้อนี้ผู้เขียนยังจดจำจนบัดนี้ ถึงอย่างนั้นก็ไม่วายจะขี้เกียจเดินจงกรม แต่เมื่อนึกถึงตอนธุดงค์กับท่านอาจารย์มั่น ฯ.แล้วขยันทุกที
    หลังจากเดินจงกรมแล้ว ผู้เขียนก็รีบขึ้นไปจัดน้ำชาไว้คอยท่าน ท่านก็ได้ขึ้นไปบนกระท่อมนาแล้วก็นั่งที่อาสนะที่ข้าพเจ้าได้จัดถวาย ตอนนี้รู้สึกว่าเงียบดีปราศจากคนที่จะเข้ามารบกวน มีอยู่คนเดียวก็บ๊อง ๆ ไม่ใคร่เต็มบาท และแกก็ไม่มายุ่งอะไรกับเราและอาจารย์ แกก็ไปนั่งอยู่ห่าง ๆ มิได้สนใจอะไรกับพวกเราเลย แกเพียงคิดว่าจะแบกจะหาบเมื่อถึงเวลาเดินทางเมื่อไรเท่านั้น
    ก็เป็นโอกาสดีของผู้เขียนที่จะได้เรียนถามถึงธรรมต่าง ๆ และข้อปฏิบัติอันที่ข้องใจวิสาสะอย่างเป็นกันเอง แต่ก็อีกนั่นแหละ โดยส่วนมากท่านจะอธิบายเสียก่อนเราจะถามเสมอ ในเมื่อเราคิดอยากจะรู้อะไรต่าง ๆ เช่นคราวนี้ท่านพูดขึ้นว่า
    “วิริยังค์ คุณเคยเห็นไหมที่นักปฏิบัติกัมมัฏฐาน หรือพวกที่ทำสมาธิภาวนาคุยอวดตัวอวดตน ถือมานะทิฏฐิว่าดีกว่าผู้อื่น เข้าใจตัวเองผิด ทำสมาธิเพื่อโอ้อวด แข่งดี ทำสมาธิเพื่ออุบาย-กโลบายต่าง ๆ นานา”
    ผู้เขียนตอบว่า “เคยเห็นครับ รู้สึกว่าพวกเราก็มี”
    ท่านพูดว่า “ก็นั่นซี ทำอย่างไรจึงจะรู้ถึงว่า ไม่เอาจริง เอาจัง ทำสมาธิเพื่อกโลบาย”
    ท่านได้อธิบายต่อไปว่า “ผู้มีความหวังเป็นใหญ่ หวังเพื่อปฏิบัติ โดยต้องการจะให้คนแห่แหนกันเข้ามา เป็นการออกอุบายเพื่อหาเหตุเหล่านี้ ย่อมไม่บริสุทธิ์ทั้งตนและผู้อื่น”
    เมื่อเวลาดึกเข้ามาแล้วท่านก็เอนหลัง ผู้เขียนก็ทำหน้าที่นวดตามปรกติ
    รุ่งเช้าออกบิณฑบาต สององค์ผู้เขียนและท่านอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งก็เป็นบรรยากาศหาได้ยากในชีวิตของการมาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ ของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง คิดแล้วคิดอีกในใจของผู้เขียนถึงความเมตตากรุณาของท่านที่มีต่อผู้เขียน ซึ่งมันทำให้เกิดความอุ่นใจและซึ้งใจอย่างบอกไม่ถูก ในบรรยากาศและความกรุณาปราณีเของท่านในเพราะเหตุนี้
    มีหมู่บ้านอยู่บ้านหนึ่งชื่อบ้านต้อง ไม่ใหญ่นัก พวกเราเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนี้ ก็ไม่มีการแตกตื่นอะไร เพราะพวกเขาก็ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ จะมีอะไรพิเศษ พวกเราก็เข้าไปบิณฑบาตอย่างพระธรรมดา ใส่บาตรกันตามปรกติ ได้อาหารมาพอสมควรแล้วก็กลับมา อาหารก็นิดหน่อย พอฉันกับฆราวาสหนึ่งคนไม่เหลือ เป็นอันว่าหมดวันไป
    หลังจากฉันเสร็จวันนั้น ท่านก็พาออกเดินทางต่อไป เพื่อไปที่พระธาตุพนม คราวนี้เดินตามทางรถยนต์เป็นทางลูกรัง ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษก็ถึงพระธาตุพนม ท่านได้พาแวะพักที่วัดอ้อมแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอาจารย์เสาร์มาสร้างเอาไว้ ไม่ไกลจากพระธาตุพนมเท่าไรนัก เป็นวัดสงบสงัดดีวัดหนึ่ง
    วันหนึ่งท่านได้พาผู้เขียนไปนมัสการพระธาตุพนม ซึ่งไม่ไกลนักจากวัดนี้ เป็นเวลาเย็นเดินสบาย ขณะที่กำลังไหว้นมัสการพระธาตุพนมนั้น ท่านได้พูดว่า
    “เราเองแหละที่มาสถาปนาพระธาตุพนมแห่งนี้ หลายสิบปีมาแล้ว ในสมัยที่เรามาครั้งนั้นยังไม่มีใครสนใจ แต่เถาวัลย์ปกคลุมอยู่”
    และท่านได้พูดเสริมต่อไปว่า “ที่นี้เป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุ”
    ผู้เขียนถามท่านว่า “อุรังคธาตุ คือธาตุอะไร”
    “ก็ธาตุอกยังไงเล่า !” ท่านตอบ
    “และใครเป็นผู้นำพระบรมธาตุนี้มา”
    “พระมหากัสสปะ” ท่านว่า “ตามนิทานว่าอย่างนั้น”
    ผู้เขียนได้ถามท่านว่า “ที่นี้จะชื่อว่าเป็นพระบรมธาตุจริงหรือไม่”
    “ก็จริงซิ มิฉะนั้นเราจะมาจัดการสถาปนาขึ้นหรือ ?” ท่านตอบ ก็ทำให้ผู้เขียนมั่นใจขึ้นมาก ในเมื่อได้รับคำตอบยืนยันเช่นนี้
    อยู่ที่วัดอ้อมแก้วนี้เป็นเวลาหลายวัน มีแม่ชีคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมทางใจดีมาก ผู้เขียนลืมชื่อเสียแล้ว เป็นคนมีฐานะดี ได้มาส่งอาหารเป็นประจำทุกวันและเธอก็ดีใจมากที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้มาพักอยู่ที่วัดนี้ เพราะเธอก็ถือว่าวัดนี้เป็นของเธออยู่แล้ว
    ผู้เขียนได้รับความอิ่มใจ และปีติในใจอีกครั้งกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นแก่ผู้เขียน วันนั้นเป็นเวลาบ่ายแล้ว ขณะนั้นท่านก็กำลังให้ผู้เขียนบีบนวดถวายเป็นประจำ เมื่อนวดเสร็จ ท่านได้เอามือจับฟันของท่านดึงออกมายื่นให้ผู้เขียน แล้วพูดว่า
    “วิริยังค์ จะเอาไหม ?”
    ผู้เขียนรีบรับทันทีว่า “เอาครับ”
    รีบยกมือประณมเข้าไปรับเอาฟันชี่นั้นมาอย่างปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งยวด และขณะที่ดึงฟันซี่นี้ออกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในปากของท่าน เลือดแม้แต่หยดเดียวก็ไม่มี เป็นฟันหลุดออกมาแท้ ๆ และตั้งแต่บัดนั้น จนท่านมรณภาพก็ไม่ปรากฏว่ามีฟันหลุดออกมาอีกเลยแม้แต่ซี่เดียว จึงเป็นลาภอันประเสริฐของผู้เขียน ที่ได้มีโชคได้รับมูลมรดกคือฟันซี่นี้
    มิใช่คิดว่าจะเป็นการหลงวัตถุภายนอก โดยการไม่ใฝ่ใจในธรรมซึ่งเป็นความประสงค์ในการมาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็เท่ากับรางวัลอันเป็นอนุสติ เพราะความระลึกถึงในส่วนของธาตุขันธ์อันนับเนื่องมาจากตัวของท่านผู้บริสุทธิ์ ผู้เขียนยังเก็บฟันของท่านไว้จนถึงทุกวันนี้ เป็นการระลึกถึงว่า สมัยหนึ่งเราได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ประการหนึ่งก็ทำให้ระลึก วาจา กันเป็นคำพูดอย่างลึกซึ้งของธรรวมทั้งหลาย ที่ท่านได้เลือกคัดจัดสรรมาให้เราได้ฟังกันนั้น มันยังฝังลึกอยู่ในส่วนลึกของหัวใจพวกเราอย่างหนักแน่น ว่าถึงผู้ที่ได้รับคุณธรรมตามเป็นจริง
    ถึงแม้ว่า ฟันซี่นี้ของท่านจะพูดไม่ได้อีกแล้ว เพราะไม่มีวิญญาณ แต่ ฟันซี่นี้ก็ยังมีผู้เขียนเป็นผู้ระลึกถึงคำพูดอันเป็นธรรมวิจิตรของท่านอยู่ผู้หนึ่ง ทั้งยังเป็นผู้พูดแทนท่านอีกด้วย ผู้เขียนต้องยอมรับอย่างเปิดอกว่า ธรรมเทศนาที่ผู้เขียนใช้สอนพุทธบริษัทอยู่ทุกวันนี้ ก็คือได้จำมาจากขี้ฟันของท่านอาจารย์มั่น ฯ มานั้นเอง ฟันซี่นี้จึงมาทำอนุสติสำคัญนักแก่ผู้เขียน แม้ธรรมต่างๆ ที่ผู้เขียนได้คิดขึ้นจากปรีชาของตนเองก็มิใช่ไม่มี มีเหมือนกัน และก็ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลจากต้นคลังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเอง
    ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้ไปประเทศซีลอน (ลังกา) ได้มีโอกาสไปที่จังหวัดแคนดีอันเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ผู้เขียนได้เข้าไปชมพระเขี้ยวแก้วครั้งนี้โดยการบังเอิญที่สุด ขณะที่ผู้เขียนเดินเข้าไปที่ปราสาทอันเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วนั้น ก็พอดีพระสังฆราชของลังกาประเทศนี้ได้เข้ามาพอดี มันเป็นวันพิเศษที่พระสังฆราชเสด็จมา ผู้เขียนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าพระองค์นี้เป็นพระสังฆราช ผู้เขียนก็เดินตามท่านไป มีพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ยืนรับอยู่สองฟากทางเข้า ผู้เขียนก็ชักเอะใจ ว่าพระองค์นั้นคงเป็นพระสำคัญ แต่ไหน ๆ เราก็เดินตามท่านมาแล้วจะเอะอะไปอย่างไร ตกกระไดพลอยโจนเถอะ เดินตามท่านเข้าไปโดยมิได้มีใครแม้แต่คนเดียวตามเข้าไปเลย มีแต่เจ้าหน้าที่ไขกุญแจเปิดประตูเข้าไปเป็นลำดับ ถึง ห้า หก ชั้น
    ข้าพเจ้าต้องตกใจ และทึ่งใจอย่างยิ่งเมื่อเข้าไปถึงที่บรรจุพระเขี้ยวแก้ว เพราะภายในห้องนั้นมันช่างงดงามอะไรเช่นนี้ และมีเครื่องทองเครื่องเพชรมากมายหลายอย่างเป็นมูลค่าเห็นจะไม่ต้องประมาณกันแล้ว
    พระสังฆราชกับผู้เขียนยืนเคียงกัน มีทหารยืนยามถือหอกปลายปืนอารักขา ๒ คน พระสังฆราชกับผู้เขียนพูดไม่รู้ภาษากัน ท่านได้ยื่นดอกไม้มาให้ผู้เขียน ๒ กำมือเพื่อทำพิธีบูชา ข้าพเจ้ารับดอกไม้นั้นอย่างอ่อนน้อมเป็นพิเศษ พระสังฆราชยิ้ม แล้วท่านก็โปรยดอกไม้ลงที่แท่นบูชา ข้าพเจ้าก็โปรยดอกไม้ลงที่แท่นบูชาเหมือนกัน ท่านประนมมือกล่าวคำบูชา ข้าพเจ้าก็ประนมมือกล่าวคำบูชา ประมาณ ๑๐ นาที
    เวลาอันระทึกใจของผู้เขียนได้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้คือ พระสังฆราชเปิดผอบครอบพระเขี้ยวแก้ว แล้วสรงน้ำ ผู้เขียนได้เห็นอย่างถนัดชัดเจน ปลื้มใจอีกแล้ว ว่าถึงใจของผู้เขียน นึกไม่เสียทีที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศไทย ได้เห็นพระเขี้ยวแก้วนัยว่าเป็นที่หวงแหนของชาวลังกาเหลือเกิน เก็บงำกันอย่างดีกลัวหาย ใครๆ ที่ไปจากต่างแดนยากนักจะเข้าชมถึงที่เช่นนี้ได้ ผู้เขียนนึกในใจว่า แหม ! เราได้เข้าถึงหัวใจชาวลังกาแล้ว ได้เข้าชมถึงที่
    ขณะที่เปิดผอบครอบพระเขี้ยวแก้วนั้นเป็นประกายวาบแวบสีเขียว ไม่ใหญ่เท่าไรนัก เพียงเท่านิ้วมือเท่านั้นเอง แต่เป็นธรรมชาติที่สวยงามจริงๆ ไม่ทราบว่าผู้เขียนจะพรรณนาอย่างไรถึงจะถูก พูดได้แต่เพียงว่างาม ๆ ๆ และของประดับในสถานที่นั้นมีค่ายิ่งเท่านั้นเอง
    ผู้เขียนได้เดินตามหลังพระสังฆราชกลับออกมา พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกายังยืนเป็นแถวรอรับกันอยู่ มองมาที่ผู้เขียนเป็นสายตาเดียวกันคงนึกว่าเรานี้แปลกแท้ๆ อยู่ ๆ ก็มาตามเสด็จพระสังฆราชลังกาได้ ตัวเบาแทบจะลอยอยู่แล้ว คนนำเที่ยวที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยลังกาเป็นผู้พาผู้เขียนไป ถึงกับตกตะลึง ยืนคอยผู้เขียนอยู่ข้างนอก พอผู้เขียนกลับมา กระโดดเข้าฉุดมือเป็นการใหญ่ บอกข้าพเจ้าว่า
    “ทำไมคุณจึงเข้าไปได้ ผมรีบเดินตามไปจะให้คุณกลับ ผมตามไม่ทัน และทหารก็ไม่ให้ผมตามเข้าไป ผมกลัวตำรวจจะจับคุณไป เรื่องจะยุ่งกันใหญ่ ผมรับรองมาจากสถานทูตไทย จะให้ความปลอดภัยแก่คุณ แหม ผมรออยู่ข้างนอกด้วยความไม่สบายใจเลย”
    หมดเรื่องสำคัญไปเรื่องหนึ่ง ที่ผู้เขียนแทรกบทเข้ามา จึงต้องขออภัยผู้อ่านด้วย แล้วก็จะวกเข้าเรื่องที่ติดตามท่านอาจารย์มั่น ฯ ต่อไป
     
  3. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ๔. เกร็ดประวัติ และ ปกิณกธรรม
    ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


    จากหนังสือ "รำลึกวันวาน"

    หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ




    [FONT=&quot]จากหนังสือ[FONT=&quot] "รำลึกวันวาน" [/FONT] [/FONT] ​
    หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ
    [​IMG]
    [FONT=&quot]โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดบันเทิงธรรม กระทู้ [FONT=&quot] 19153 โดย: ภิเนษกรมณ์ 08 มี.ค. 49[/FONT]
    <table id="table10" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    ลวงตาทองคำ จารุวัณโณ
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    [FONT=&quot]ผม ([/FONT][FONT=&quot]คุณ[/FONT]ภิเนษกรมณ์ ผู้โพสท์) [FONT=&quot]ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ[/FONT][FONT=&quot] "รำลึกวันวาน" อันเป็นบันทึกของหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ เกี่ยวกับเกร็ดประวัติและปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เห็นว่ามีหลายประเด็นน่าสนใจ ชวนให้คิด และอ่านสนุก อาจจะพอเหมาะสมกับกระดานนี้ จึงจะได้ทยอยนำมาพิมพ์ให้อ่านกัน โดยขอเป็นสรุปย่อบางส่วนนะครับ เพราะบางเรื่องท่านอธิบายไว้ยาวมาก[/FONT]
    [FONT=&quot]หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ [/FONT] (หรือในอดีต คือ พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส) เป็นพระอุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น อยู่หลายปี ได้มีโอกาสอยู่กับท่านทั้งในช่วงที่หลวงปู่มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคกและบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ระยะ พ.ศ. 2486 -2487 จนเมื่อหลวงปู่มั่นย้ายมาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พ.ศ.2488-2492 ท่านก็ได้ติดตามมาอยู่ด้วย ได้เป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ร่วมกับพระอาจารย์วัน อุตตโม และหลวงปู่หล้า เขมปัตโต จนกระทั่งหลวงปู่มั่นมรณภาพ แม้ว่าท่านจะได้ลาสิกขาไปเมื่อครั้งพรรษาประมาณ 20 เศษ แต่เมื่ออายุได้ 70ปี ได้กลับมาบวชอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2536 หลวงตาทองคำเป็นผู้ที่มีความจำแม่นยำ ได้เขียนบันทึกนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2541 ขณะอายุ 75 ปี เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านมรณภาพไปเมื่อปีที่แล้วนี้เองครับ
    <table class="MsoNormalTable" style="border-collapse: collapse; border: medium none; background: #FFFFF5" id="table1" border="1" cellpadding="0" cellspacing="0" width="95%"> <tbody><tr style="page-break-inside: avoid"> <td style="border: 1.5pt solid maroon; padding-left: 5.4pt; padding-right: 5.4pt; padding-top: 0cm; padding-bottom: 0cm" valign="top"> ผมขอนำคำปรารภของหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ ผู้เขียนมาลงให้อ่านก่อนนะครับ และขออธิบายขยายความนิดหนึ่งครับ คือ หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ ได้เขียนบันทึกเรื่องทั้งหมดนี้ขึ้นจากคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระราชบัณฑิต [FONT=&quot]([/FONT]พระมหาชัยทวี จิตตฺคุตฺโต[FONT=&quot]) [/FONT]วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ[FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot]. 2541[/FONT] หลวงตาทองคำท่านเขียนด้วยลายมือลงในสมุดจดได้หลายเล่มและเก็บไว้ที่ท่านเจ้าคุณพระราชบัณฑิตอยู่หลายปี ต่อมาท่านเจ้าคุณฯ และคณะผู้จัดพิมพ์เห็นว่าเป็นบันทึกที่มีคุณค่าสมควรนำมาพิมพ์เผยแพร่ จึงได้นำมาตีพิมพ์ เมื่อ ปี พ[FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot].2547[/FONT] ในนามกองทุนแสงตะวัน วัดปทุมวนาราม และได้กราบเรียนขอให้หลวงตาทองคำท่านเขียนคำปรารภสำหรับการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ดังต่อไปนี้
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    [FONT=&quot] [/FONT]
    <table class="MsoNormalTable" style="border-collapse: collapse; border: medium none; background: #FFFFF5" id="table2" border="1" cellpadding="0" cellspacing="0" width="95%"> <tbody><tr> <td style="border: 1.5pt solid maroon; padding-left: 5.4pt; padding-right: 5.4pt; padding-top: 0cm; padding-bottom: 0cm" valign="top"> คำปรารภ

    เมื่อ พ[FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot].2541[/FONT] ข้าพเจ้าได้จำพรรษาที่วัดปทุมรังสี อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเจ้าคุณพระมหาชัยทวี คุตตจิตโต ซึ่งข้าพเจ้ารักและเคารพไปสร้างไว้ พอออกพรรษาได้มาพักกับท่านที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร บางโอกาสได้นั่งสนทนาธรรมกับท่านเจ้าคุณฯ ท่านได้กล่าวถึงท่านพระอาจารย์มั่น ในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะบ้าง เกี่ยวกับบุคคล โบราณสถาน โบราณวัตถุบ้าง ท่านเจ้าคุณฯ สนใจเป็นพิเศษ ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมา
    ข้าพเจ้าสนใจเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ เกี่ยวกับบุคคล วัตถุโบราณ สถานโบราณ ประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ ได้ฟังแล้วจะไม่ลืม หลายปีก็ไม่ลืม พอไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่น จึงถือเป็นกรณีพิเศษ
    บางเรื่องท่านฯ จะเล่าขณะที่ข้าพเจ้าได้ถวายการนวด หลังจากท่านเทศน์เสร็จแล้ว นอกจากข้าพเจ้าที่ได้ฟังแล้ว ก็มีท่านอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร ท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม ท่านอาจารย์หล้า เขมปตฺโต ท่านก็พูดแต่ไม่มาก แต่สองรูปที่ท่านพูดให้ฟังมาก คือ ข้าพเจ้ากับท่านอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร
    ส่วนท่านอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ท่านเป็นเจ้าปัญญา ท่านพระอาจารย์ไม่ได้พูดโดยตรง จะพูดโดยอ้อม สลับมากับพระธรรมเทศนา ด้วยสติปัญญาของท่านสูงส่ง ท่านก็เลยนำมาเขียน แต่บางอย่างก็ผิดกันกับข้าพเจ้า บางอย่างก็ถูกกัน โดยเฉพาะเนื้อหาสาระสำคัญ จะผิดกันบ้างก็คงเป็นส่วนปลีกย่อย
    บางเรื่องก็เกิดจากอัตถุปัตติเหตุ เช่น เรื่องพระพุทธเจ้าเป็นบรรพบุรุษของคนไทย จากสาเหตุกระดาษห่อธูปที่บริษัทผู้ผลิตเอารูปพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องหมายการค้า ข้าพเจ้าได้เก็บนำไปถวายให้ท่านฯ ดู ท่านฯ ก็เลยเทศน์ให้ฟัง ขณะนั้นเพื่อนภิกษุยังไม่ขึ้นไปกุฏิท่าน ซึ่งเป็นการกลับตาลปัตร เพราะเรื่องนี้ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ และคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ทำให้ผู้ฟังงงงวยสับสนขึ้น เมื่อเรื่องมีอย่างนี้ ขอให้อยู่ในดุลยพินิจ จงสื่อเอาแต่ผลประโยชน์เกื้อกูลเถิด[FONT=&quot] [/FONT]
    บางเรื่องก็ได้ฟังจากพระธรรมเทศนาบ้าง ฟังจากศิษย์รุ่นก่อนๆ เช่น ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์มนู พระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตฺโต พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ บ้าง เป็นต้นจดจำมาปะติดปะต่อกัน จนมาเป็นหนังสือนี้ โดยมิได้คาดคะเน หรือเดาสุ่มเพิ่มเติม[FONT=&quot] [/FONT]มีสิ่งบกพร่อง คือ ไม่ละเอียดถี่ถ้วน บางส่วนขาดหายไป เช่น คำอุปมาอุปไมยอันไพเราะเพราะพริ้ง ที่ท่านยกมาเปรียบเปรย แต่ก็คงจะหาเนื้อหาสาระได้บ้าง สำหรับเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและการปฏิบัติ ของผู้ใคร่ในคุณธรรมอันพิเศษในพระพุทธศาสนานี้ ขอความผาสุกจงมีแด่ผู้อ่านทุกท่านเทอญ[FONT=&quot] [/FONT]
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    [FONT=&quot] [/FONT]
    <table class="MsoNormalTable" style="border-collapse: collapse; border: medium none; background: #FFFFF5" id="table3" border="1" cellpadding="0" cellspacing="0" width="95%"> <tbody><tr style="page-break-inside: avoid"> <td style="border: 1.5pt solid maroon; padding-left: 5.4pt; padding-right: 5.4pt; padding-top: 0cm; padding-bottom: 0cm" valign="top"> ก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ คณะผู้จัดพิมพ์ได้นำต้นฉบับบางเรื่องไปถวายให้หลวงปู่หลอด ปโมทิโต ได้พิจารณา เพราะท่านได้เคยอยู่จำพรรษาร่วมกันกับหลวงตาทองคำ และหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าวิสุทธิธรรม บ้านโคก อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เมื่อ ปี พ[FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot].2487 [/FONT] เมื่อหลวงปู่หลอดท่านอ่านแล้ว ได้เมตตาเขียนเถรัมภกถาให้ตีพิมพ์ในหนังสือ ดังต่อไปนี้
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    [FONT=&quot] [/FONT]
    <table class="MsoNormalTable" style="border-collapse: collapse; border: medium none; background: #FFFFF5" id="table4" border="1" cellpadding="0" cellspacing="0" width="95%"> <tbody><tr> <td style="border: 1.5pt solid maroon; padding-left: 5.4pt; padding-right: 5.4pt; padding-top: 0cm; padding-bottom: 0cm" valign="top"> เถรัมภกถา

    <table id="table19" align="left" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากความทรงจำของ พระอาจารย์ทองคำ จารุวณฺโณ [FONT=&quot]([/FONT]ญาโณภาโส[FONT=&quot]) [/FONT] เกี่ยวกับเกร็ดประวัติ และปกิณกธรรมของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าอ่าน น่าศึกษาอย่างยิ่ง อาตมาเองได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของพระอาจารย์ทองคำอยู่บ้าง และได้รวบรวมมาไว้ในหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องเทศน์ซ้ำเฒ่า ซึ่งเรียกว่าเป็นเทศน์กัณฑ์สุดท้ายของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ ที่พระอุปัฏฐากใกล้ชิดของท่านพระอาจารย์ใหญ่ และได้อยู่ในเหตุการณ์ได้นำออกมาเผยแพร่เรียกว่าหาฟังหาอ่านได้ยาก
    สำหรับอาตมากับพระอาจารย์ทองคำนั้นรู้จักคุ้นเคยกัน ตั้งแต่สมัยที่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ที่เสนาสนะบ้านโคก พระอาจารย์ทองคำท่านไปอยู่ก่อนอาตมา และได้เป็นพระอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ใหญ่ผู้ใกล้ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย ของท่านพระอาจารย์ใหญ่ที่วัดป่าสุทธาวาสนั้น แต่ภายหลังอาจเป็นด้วยวิบากกรรมของพระอาจารย์ทองคำยังไม่สิ้นกระมัง จึงต้องมีเหตุให้สึกสาลาเพศออกมามีครอบครัว แต่วาสนาในผ้ากาสาวพัสตร์ยังไม่สิ้นไปซะทีเดียว ราวปี พ[FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot].2536[/FONT] ท่านจึงได้กลับมาบวชอีกครั้ง ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธฯ โดยมีท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดีเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้กลับมาทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา สมัยที่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น และได้รจนาตามความสามารถที่จะนึกจะจำนำมาเขียนได้
    ดังนั้นเรื่องราวและข้อมูลอาจจะเป็นไปตามอายุขัยของท่าน ในขณะที่เริ่มเขียน เริ่มรจนา ก็คงจะราวๆ [FONT=&quot]70[/FONT]กว่าปีเข้าไปแล้วอายุ เรื่องราวเนื้อหาบางเรื่อง ก็อาจสามารถทำให้ผุ้อ่านได้เก็บตกจากประวัติของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ที่ครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณผู้ทรงธรรมได้เคยรจนาไว้แล้วก่อนหน้านี้ไม่มากก็น้อย ด้วยอาตมาหวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจักเป็นประโยชน์และช่วยเสริมทัศนะของท่านผู้อ่านทั้งหลาย[FONT=&quot] [/FONT] ขอให้ท่านผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ ได้อ่านอย่างมีวิจารณญาณ คือ พิจารณาธรรมอันนี้ให้เกิดประโยชน์ให้ถี่ถ้วน และให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมทั้งทำความเข้าใจให้มากๆ
    สุดท้ายนี้ อาตมาขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของคณะผู้จัดทำและผู้ที่บริจาคปัจจัยพิมพ์หนังสือเล่มนี้ทุกๆ ท่านเทอญ
    หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
    วัดสิริกมลาวาส กรุงเทพมหานคร[FONT=&quot] [/FONT]​
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    [FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    อานุภาพการสวดมนต์และเสียงสาธุการ
    สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่บนดอยปะหร่อง (เชียงใหม่) กับพระอาจารย์มนู ตอนเช้าเที่ยวบิณฑบาต พอให้พรเสร็จ ท่านได้สอนให้ชาวบ้านกล่าวสาธุพร้อมกันด้วยเสียงสูง ท่าน (พระอาจารย์มั่น) เล่าเป็นเชิงตลกว่า มือทั้งสองข้างของเขาชูขึ้นข้างบนเหมือนบั้งไฟจะขึ้นสู่ท้องฟ้า ว่างั้น
    วันหนึ่ง ท่านนั่งพักในส่วนที่ทำเป็นที่พักกลางวัน มีเทพพวกหนึ่งมาจากเขาจิตรกูฏ มาถามท่านว่า
    "เสียงสาธุ สาธุนั้น สาธุอะไร สะเทือนสะท้านทุกวัน พวกเทพทั้งหลายได้ฟัง มีความสุขไปตามๆ กัน"
    ท่านมาพิจารณาว่า เสียงอะไร ที่ไหน จึงระลึกได้ว่า เสียงสาธุการของชาวบ้านตอนถวายทานนั่นเอง
    พอรับทราบแล้วพวกเทพก็กล่าวว่า "เขาก็สาธุการด้วย" แล้วทำประทักษิณเวียนขวาลากลับไป ส่วนมากพวกเทพเขาจะทำอย่างนั้น
    ท่านพระอาจารย์มั่น เลยมาพิจารณาต่อได้ความว่า
    พุทธมนต์นั้นใครสวดก็ตาม จะเป็นกิจวัตรของพระสงฆ์เช้า เย็น หรือชาวพุทธทุกคน
    สวดมนต์ระลึกในใจ มีอานุภาพแผ่ไปได้หมื่นจักรวาล
    สวดออกเสียงพอฟังได้ มีอานุภาพแผ่ไปได้แสนจักรวาล
    สวดมนต์เช้าเย็นธรรมดา มีอานุภาพแผ่ไปได้แสนโกฏิจักรวาล
    สวดเต็มเสียงสุดกู่ มีอานุภาพแผ่ไปได้อนันตจักรวาล
    แม้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในสามภพ และที่สุดอเวจีมหานรก ยังได้รับความสุข เมื่อแว่วเสียงพุทธมนต์ผ่านลงไปถึงชั่วขณะชั่วครู่หนึ่ง ดีกว่า หาความสุขไม่ได้เลยตลอดกาล
    นี้คืออานิสงส์ของพระพุทธมนต์ ท่านพระอาจารย์มั่นว่าอย่างนี้
    ครูและศิษย์สนทนาธรรม
    <table id="table8" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    เมื่อครั้งที่ท่านพระอาจารย์มั่นอาพาธหนัก แต่ลุกนั่งเดินไปมาในระยะใกล้ได้ และยังสนทนาธรรมตามปกติ เวลาบ่ายวันหนึ่ง มีพระอาจารย์เทสก์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ท่านวัน (พระอาจารย์วัน อุตตโม) และผู้เล่า (หลวงตาทองคำ) รวมทั้งท่านพระอาจารย์มั่น เป็น 4 รูป
    พระอาจารย์เทสก์ เรียนถามท่านฯ (พระอาจารย์มั่น)ว่า
    "เวลาครูบาอาจารย์อาพาธ พิจารณาธรรมอะไร สนทนาในฐานะศิษย์เคารพครูนะ อย่าเข้าใจว่าไล่ภูมิ"
    ท่านฯ ตอบว่า "พิจารณาไปเท่าไร ก็เห็นแต่ภพ มีแต่ภพ ไม่มีที่สิ้นสุด"
    พระอาจารย์เทสก์ย้อนถามว่า "เมื่อเห็นแต่ภพ ครูบาอาจารย์พิจารณาเพื่ออะไร"
    ท่านฯ ตอบว่า "เพื่อให้รู้ และเราก็รู้มานานแล้วไม่ได้สงสัย เหตุที่พิจารณา ก็เพื่อให้ท่าน (หมายถึงพระอาจารย์เทสก์) และคนอื่นๆ (หมายถึง สานุศิษย์และสัตว์โลกทั่วไป) รู้ว่า คน สัตว์ ที่อยู่ในภพ หรือผู้ปฏิบัติ จะมีทั้งสนุก ตื่นเต้น เศร้าสลดสังเวช และเห็นธรรม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนจะรู้ว่าตนอยู่ในภพนั้นมีน้อยมาก เพราะอวิชชาปิดบังไว้ เมื่อไม่รู้ว่าตนอยู่ในภพ ก็ไม่รู้พระนิพพาน เมื่อเรารู้ว่าตนอยู่ในภพแล้ว จะอยู่ในภพทำไม ก็อยู่ในพระนิพพานเท่านั้นเอง"
    พระอาจารย์เทสก์ก็บอกท่านฯ ว่า "กระผมก็พิจารณาอย่างพระอาจารย์ว่า"
    ต่างก็ชื่นชมกันในระหว่างครูและศิษย์
    พระแก้วมรกต
    <table id="table9" align="left" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระอาจารย์อุ่น อุตตโม
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งท่านพระอาจารย์มั่นพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ พระอุปัชฌาย์อุ่น (พระครูบริบาลสังฆกิจ (อุ่น อุตตโม) วัดอุดมรัตนาราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร) ได้ไปกราบนมัสการฟังเทศน์ และได้นำรูปพระแก้วมรกตขนาด 20 นิ้ว เป็นภาพพิมพ์ใส่กรอบไปถวายท่านพระอาจารย์ แต่ดูท่านจะลืมทำความสะอาด เพราะมีฝุ่นจับอยู่ ท่านพระอาจารย์ก็น้อมรับด้วยความเคารพ
    หลังจากท่านอุปัชฌาย์อุ่นลาลงกุฏิไปแล้ว ท่านพระอาจารย์ได้ทำความสะอาด โดยนำผ้าสรงน้ำของท่านฯ มาเช็ดถู ผู้เล่า (หลวงตาทองคำ-ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] เอาผ้าเช็ดพื้นเข้าไปช่วยทำความสะอาดด้วย เพราะเห็นว่าผ้ายังสะอาดอยู่ ท่านหันมาเห็นเข้า พูดว่า

    [FONT=&quot]"อะไรกัน นั่นรูปพระพุทธเจ้าแท้ๆ ยังเอาผ้าเช็ดพื้นมาถูได้"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]ผู้เล่าสะดุ้งไปทั้งตัว เพราะความโง่เขลาปัญญาอ่อน ท่านฯ ก็เลยทำความสะอาดเอง[/FONT]
    [FONT=&quot]เสร็จแล้วก็มีเพื่อนภิกษุทยอยกันขึ้นไป รวมทั้งท่านอาจารย์วิริยังค์ด้วย ท่านเลยเทศน์ถึงความมหัศจรรย์ของพระแก้วมรกต ท่านว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]"พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลมีอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ฉิบหายด้วยภัยแห่งสงคราม"[/FONT]
    [FONT=&quot]การเสด็จไปสู่สถานที่ต่างๆ ของพระแก้วมรกตนั้นมีปัจจัย [/FONT] [FONT=&quot]3 อย่าง คือ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา เกิดกลียุคในประเทศนั้น และด้วยความรัก[/FONT]
    [FONT=&quot]และท่านยังบอกอีกว่า วัดพระแก้วนี้เป็นวัดพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ พระสงฆ์อยู่ไม่ได้ เพราะพระสงฆ์มาจากตระกูลต่างๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียด ไม่รู้พุทธอัธยาศัย พุทธธรรมเนียม เพราะพระพุทธเจ้าเป็นทั้งกษัตริย์ และผู้สุขุมาลชาติ เมื่อพระสงฆ์ไม่รู้พุทธธรรมเนียม ถ้าไปอยู่ก็มีแต่บาปกินหัว[/FONT]
    [FONT=&quot]ผู้รู้ทั้งพุทธอัธยาศัยและพุทธธรรมเนียมแล้ว มีพระมหากษัตริย์องค์เดียวเท่านั้น [/FONT] [FONT=&quot]ครั้งพุทธกาลก็มีพระเจ้าพิมพิสารเท่านั้นทรงรู้ แต่จอมไทย คือ พระมหากษัตริย์ทรงรู้มาแล้ว ได้ทรงสร้างวัดถวายจำเพาะพระแก้วเท่านั้น[/FONT]
    [FONT=&quot]พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร คือ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า ต่างแต่วาสนาบารมีมากน้อยต่างกันเท่านั้น ท่านจึงทรงรู้พุทธอัธยาศัยเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า[/FONT]
    [FONT=&quot]ผู้ใดย่างกรายเข้าสู่วัดพระแก้วเป็นบุญทุกขณะที่อยู่ในบริเวณวัด[/FONT][FONT=&quot] แม้แต่ชาวต่างชาติ มีโอกาสเข้าไปในบริเวณวัดพระแก้ว จะด้วยศรัทธาหรือไม่ก็ตาม ก็ได้เข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนาโดยปริยาย หรือจะบังเอิญก็แล้วแต่ สามารถเป็นนิสัยให้เข้ามาได้ ต่อไปจะสามารถมาเกิดเป็นคนไทย สืบต่อบุญบารมีสำเร็จมรรคผลได้[/FONT]
    [/FONT]
    พบนาคราช
    <table id="table11" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระมหาทองสุก สุจิตฺโต
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    [FONT=&quot]เมื่อครั้งอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์จำพรรษาอยู่บนเขากับพวกมูเซอ มีพระมหาทองสุกอยู่เป็นเพื่อน ใกล้ที่พักเป็นลำธาร มีน้ำไหลตลอดปี อาศัยน้ำที่นั้นใช้อุปโภคและบริโภค มีนาคราชตนหนึ่ง ชื่อว่า สุวรรณนาคราช อาศัยอยู่ที่ลำธารนั้น พร้อมด้วยบริวาร นาคราชตนนี้เคยเป็นน้องชายท่านพระอาจารย์มั่นมาหลายภพหลายชาติ ด้วยความสับสนแห่งภพจึงมาเกิดเป็นนาคราช เขารักเคารพและให้การอารักขาเป็นอย่างดี เวลาเดินจงกรมจะมาอารักขาตลอด จนกว่าจะเลิกเดิน
    [FONT=&quot]หลายวันต่อมา นาคนั้นหายไป เกิดฝนไม่ตกร้อนอบอ้าว ข้าวไร่เริ่มขาดน้ำไม่งอกงาม เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นประมาณ [/FONT] [FONT=&quot]15-16 วัน จึงได้เห็นหน้านาคนั้น[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์ถามว่า[/FONT][FONT=&quot] "หายไปไหน"[/FONT]
    [FONT=&quot]นาคราชตอบ[/FONT][FONT=&quot] "ไปขัดตาทัพอยู่ปากทาง[/FONT][FONT=&quot] [/FONT](ลำธาร) ลงสู่แม่น้ำปิง"
    ท่านพระอาจารย์ "ทำไม"
    นาคราช "มีนาคอันธพาลตนหนึ่งอาศัยอยู่แถวนั้นจะเข้ามา เลยไม่มีโอกาสแต่งฝน มัวแต่ไปขัดตาทัพอยู่"
    ท่านพระอาจารย์ "ให้เขาเข้ามาเป็นไร เพราะเป็นนาคเหมือนกัน"
    นาคราช " ไม่ได้ เข้ามาแล้วมารังแกข่มเหงเบียดเบียนบริวาร"
    ท่านพระอาจารย์ "เป็นไปได้หรือ"
    นาคราช "ก็เหมือนมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไปนั่นแหละ พวกอันธพาลก็มักจะล้ำแดนของกันและกัน เราต้องต่อสู้ป้องกันตัว"
    ท่านฯ จึงรู้ว่า อันนี้เป็นลักษณะของสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นตัวเหตุ โลกจึงวุ่นวาย
    ช่วงเย็นฝนตกอย่างหนักจนถึงสว่าง น้ำในลำธารเต็มไปหมด ข้ามไปบิณฑบาตไม่ได้ พระมหาทองสุกคิดได้ จึงเอาไม้ไผ่มาปักเรียงกัน เอาเถาวัลย์ที่ชาวบ้านนำมาทำกุฏิมาผูกกับต้นไม้ฝั่งนี้ จับปลายข้างหนึ่ง ลอยตัวข้ามน้ำไปผูกไว้กับอีกต้นฝั่งโน้น แล้วกลับมานำบริขารของท่านพระอาจารย์และตนเองข้ามไปฝั่งโน้น แล้วกลับมาพาท่านพระอาจารย์ประคองไปตามราวไม้ไผ่ ข้ามฝั่งทั้งขาไปและขากลับ แปลกแต่จริง ขาไปผูกเถาวัลย์ ท่านมหาจับไปตามราว และขากลับลอยคอไป พอตอนนำท่านพระอาจารย์ไปและกลับ ปรากฏว่าเหมือนเดินเหยียบไปบนแผ่นหิน มีน้ำประมาณแค่เข่าเท่านั้น
    ท่านมหาทองสุกเล่าว่า "เราไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแต่ความปลอดภัยเท่านั้น"
    ตกตอนเย็น เมื่อเห็นนาคราชมาอารักขา ท่านอาจารย์ถามว่า "ทำไมให้ฝนตกมากนัก"
    นาคราชว่า "ห้ามเขาไม่ฟัง เพราะละเลยมานาน"
    ท่านอาจารย์ว่า "ทำให้เราลำบาก"
    นาคราช "ท่านก็เดินบนหลังข้าพเจ้าไปสบายอยู่นี่"
    ท่านฯ ก็บอกว่า "เราก็ไม่ว่าพวกท่านดอก บ่นไปเฉยๆ อย่างนั้นล่ะ"
    [/FONT]
    การถ่ายรูปท่านพระอาจารย์มั่น
    <table id="table12" align="left" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    รูปท่านพระอาจารย์ที่เราเห็นนั้น จะเป็นรูปที่ท่านตั้งใจให้ถ่ายทั้งหมด ถ้าท่านไม่ให้ ก็ไม่มีใครถ่ายติด นี่เป็นเรื่องจริง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขุนศรีปทุมวงศ์ มาอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ เที่ยวไปฟังเทศน์ไปอุปการะด้วยปัจจัย 4 เมื่อท่านฯ อาพาธ ขุนศรีฯ ก็ส่งหมอไป หมอฉีดยาให้ท่าน 2 เข็ม และให้ยาไว้ฉันด้วย หมอของขุนศรีฯ พักอยู่ที่นั่นถึง 3 วัน อาการดีขึ้น
    ท่านก็บอกว่า "พอแล้วนะ ไม่ต้องมาฉีดอีก อาการหายแล้ว"
    พอขึ้นไปครั้งที่สอง หมอเอาช่างถ่ายภาพไปด้วย กราบนมัสการท่านว่า "พวกกระผมขออนุญาตถ่ายภาพท่านอาจารย์ไว้เป็นที่เคารพบูชา"
    ท่านฯ ว่า "ไม่ได้ดอกโยมหมอ อาตมาไม่ให้ เพราะโยมหมอถ่ายภาพของอาตมาไป เพื่อจะทำการซื้อขาย หาอยู่หากิน กลัวโยมจะเป็นบาป อาตมาไม่ให้"
    เขาก็กราบอ้อนวอน ท่านฯ บอกว่า "เราเป็นคน รู้จักภาษา ไม่ให้ ไม่ให้ เข้าใจไหมล่ะ "
    เขาก็เลยเลิกไม่อ้อนวอนอีก
    พอเช้ามา ท่านไปบิณฑบาต เขาก็ไปตั้งกล้องในที่ลับ กล้องขาหยั่งสามขา ถ่ายเสร็จก็เอาม้วนนี้ออกไป หลังจากท่านบิณฑบาต ท่านนั่งให้พร ถ่ายม้วนที่สองไปอีก มาม้วนที่สาม ม้วนที่สี่ จนสี่ม้วนแล้วก็ไปอีก นี่ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สองเอาอีกสี่ท่า ครั้งที่สามเอาอีกสี่ท่า กลับไปล้างอยู่ที่พังโคน ไม่มีอะไรติดเลย
    สิ่งที่จะปรากฏไปแล้วอุจาดตา ท่านเจ็บป่วย ท่านล้มหายตายจากก็ดี มารยาทของความล้มหายตายจากก็ถ่ายไม่ติด (ขณะที่หลวงปู่มั่นกำลังจะมรณภาพและหลังมรณภาพ มีภิกษุบางรูปใช้กล้องถ่ายภาพท่านไว้ แต่ไม่ติดเลยสักรูป -ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] ทำไมท่านจึงไม่ให้ติด เพราะว่าการเห็นรูปภาพเช่นนั้น จิตของบุคคลผู้ที่เห็นอาจจะเป็นกุศลหรืออกุศล และเพื่อรักษาจิตผู้พบเห็น ไม่ให้เป็นอกุศล ท่านจึงอธิษฐานไว้ไม่ให้ติด

    [/FONT] [FONT=&quot]อย่างรูปยืนที่เราเห็นนั้น คงจะเป็นรูปที่ท่านต้องการให้ถ่าย จึงห่มให้เป็นกิจลักษณะ คล้ายกำลังเดินจงกรม ปกติเวลาท่านเดินจงกรม ถ้าเป็นฤดูหนาว ก็จะคลุมผ้ากันหนาว ถ้าเป็นฤดูร้อน ท่านก็จะใส่แต่ผ้าอังสะ ทำแบบสบายๆ[FONT=&quot] จังหวะในการเดินก็ปกติ ไม่เร็ว ไม่ช้า ให้เป็นปกติ ก้าวปกติก้าวขนาดไหน ก็ให้ก้าวขนาดนั้นพอประชิดทางจงกรม จะหมุนกลับจากซ้ายไปขวา ทิศที่จะเดินจงกรม มีอยู่ [/FONT][FONT=&quot]2 ทิศ คือ ตะวันตกกับตะวันออก หรืออีสานกับหรดี [/FONT] (คือ ตะวันออกเฉียงเหนือกับตะวันตกเฉียงใต้-ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] นอกนั้นเดินขวางตะวัน ถ้าใครทำ ท่านฯ จะดุ ท่านว่า มันไม่ถูก เดินไปจนตาย จะให้จิตรวม มันก็ไม่รวมหรอก[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    พยากรณ์อายุ
    [FONT=&quot]เรื่องการต่ออายุจาก [FONT=&quot]60 ปี มาเป็น 80 ปี ท่าน [/FONT](พระอาจารย์มั่น-ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] ได้เล่าไว้หลายสถานที่ หลายโอกาส หลายวาระ ปีนั้นท่านจำพรรษาที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ราบไม่ใช่ภูเขา กับพระมหาทองสุก สุจิตโต ปีนั้นพอเริ่มเข้าพรรษา ท่านมีอาการเจ็บป่วย พระผู้พยาบาลก็พระมหาทองสุกนั้นล่ะ ท่านมีความรู้ทางยาด้วย ท่านพระอาจารย์กำหนดรู้แล้วว่า ท่านถึงอายุขัย จะสิ้นชีพปีนี้แน่ แต่มีข้อแม้ว่า [/FONT] [FONT=&quot] ถ้าท่านมีอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว สามารถอยู่ต่อไปได้อีก [/FONT] [FONT=&quot]20 ปี เป็น 80 ปี เท่าพระพุทธเจ้า[/FONT][FONT=&quot] ท่านจึงมาพิจารณาดูว่า อยู่กับตายอย่างไหนมีค่ามาก รู้ว่าอยู่มีค่ามาก เพราะสานุศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตหวังเฉพาะให้ท่านอยู่ แต่คำว่าอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว เจริญขึ้นขั้นไหน อย่างไร ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแล้ว ทั้งโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม นำมาพิจารณา ก็ไม่ขัดข้อง ไม่สงสัย แต่ก็ยังไม่ได้ความ อาการป่วยจะดีขึ้นก็ไม่ใช่ จะหนักก็ไม่เชิง แต่เที่ยวบิณฑบาตได้ทุกวัน อาการที่สำคัญ คือ คอมองซ้ายมองขวายาก เดือนที่ 2 ผ่านไป อาการดีขึ้น และได้ความรู้เกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]นาญฺญตฺตร โพชฺฌาตปสา นาญฺญตตร ปฏินิสฺสคฺคา นาญฺญตฺตร อินฺทริยสํวรา[/FONT]
    [FONT=&quot]แปลได้ความว่า [/FONT] [FONT=&quot]อิทธิบาท [/FONT] [FONT=&quot]4 อันอบรมดีแล้ว ก็คือ การพิจารณาโพชฌงค์ 7 นี้เอง [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านฯ อธิบายว่า เจริญให้มาก ทำให้มาก ก็เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ พร้อมความดับสนิท [/FONT] [FONT=&quot](หมายถึงอวัยวะที่ชำรุดในร่างกาย แล้วเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ด้วยฌาน)[/FONT]
    [FONT=&quot]แล้วท่านยังอุปมาเปรียบเทียบว่า เมื่อพระมหาโมคคัลลาน์และพระมหากัสสปะได้ฟังพระดำรัสนี้ ก็หายจากอาพาธ แม้ในกาลบางคราวพระพุทธองค์ก็ยังให้พระสาวกสวดถวาย แต่คำว่า [/FONT] [FONT=&quot] ผู้มีอิทธิบาท [/FONT] [FONT=&quot]4 อันเจริญดีแล้ว[/FONT][FONT=&quot] ขอเล่าเท่าที่จำได้ ท่านฯ ว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]"เราพิจารณาปุพพภาคปฏิปทา ตั้งแต่จิตเรารวมเป็นสมาธิโดยลำดับ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน แล้วเข้าอรูปฌานต่อเป็นอากาสาฯ ลฯ จนถึง เนวฺสญฺญานาสญฺญายตน หน่อยหนึ่งก็ไม่มีแล้ว ถอยจิตออกมาอยู่ในสญฺญาเวทยิตฺนิโรธ อุปมาเหมือนหนทาง 3 แพร่ง ท่านว่า จิตเราอยู่ในท่ามกลางทาง 3 แพร่ง แพร่งหนึ่งไปอรูปพรหมโลก แพร่งหนึ่งไปรูปพรหมโลก คือ จตุตถฌาน อีกแพร่งหนึ่งเข้าสู่พระนิพพาน จิตอยู่ขั้นนี้ และเราได้อธิษฐานว่า เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แล้วก็ถอยจิตออกจากทาง 3 แพร่งนั้น มาพักที่จตุตถฌาน จะพักนานเท่าไรก็แล้วแต่ พอมีกำลังแล้วจิตจะถอยออกสู่ ตติยฯ ทุติยฯ พอมาถึงปฐมฌาน ก็อธิษฐานรู้ว่า เราจะอยู่ไปอีกเท่านั้นปี เท่านี้ปี"[/FONT]
    [FONT=&quot]กว่าจะมาถึงขั้นนี้ ก็เป็นเวลาเดือนสุดท้ายแห่งการจำพรรษาแล้ว[/FONT]
    [FONT=&quot]ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่มีอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นกัปป์หรือเกินกว่า เป็นความจริง[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านฯ ว่า ท้าวสักกะแก่กลายเป็นท้าวสักกะหนุ่มก็ด้วยอิทธิบาทนี้ แต่ท้าวสักกะยังมีกิเลส ไม่ได้ฌานด้วยตัวเอง แต่ด้วยพระพุทธานุภาพ ทรงนำกระแสพระทัยของท้าวสักกะ ให้ผ่านขั้นตอนจนเป็นอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว ที่ถ้ำอินทสาร ท้าวสักกะแก่จึงเป็นท้าวสักกะหนุ่มได้ ด้วยพระพุทธานุภาพดังนี้[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    อัฐบริขารในอาคารพิพิธภัณฑ์
    <table id="table13" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    [FONT=&quot]อัฐบริขารในอาคารพิพิธภัณฑ์[/FONT]
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    [FONT=&quot]เราทราบกันมาแล้วว่า ท่านพระอาจารย์มั่นทรงผ้า [FONT=&quot]3 ผืนเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร แต่ 3 ปีสุดท้าย ท่านทรงผ้าคหปติจีวร โดยการนำมาทอดกฐินของ นายวัน นางทองสุก คมนามูล ชาวนครราชสีมา นำสนับสนุนโดยพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ศิษย์องค์สำคัญรูปหนึ่งของท่าน แต่ท่านพระอาจารย์ได้รับเป็นผ้าป่าทั้งหมด[/FONT]
    [FONT=&quot]อัฐบริขารในอาคารพิพิธภัณฑ์ [/FONT] (อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร-ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] ที่ท่านทั้งหลายเห็นนั้น เป็นผ้าคหปติจีวรปีที่ 2 ที่ท่านทรง ผู้เล่า [/FONT] (หลวงตาทองคำ-ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] ได้เก็บรักษาไว้ ส่วนผ้าคหปติจีวรปีสุดท้าย ห่มถวายไปพร้อมกับร่างของท่าน[/FONT]
    [FONT=&quot]ส่วนบาตรใบแท้ พระอาจารย์มหาทองสุก ขอถวายพระธรรมเจดีย์ [/FONT] [FONT=&quot](จูม พนฺธุโล) ส่วนใบที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ เป็นบาตรกฐินปีสุดท้าย ซึ่งท่านพระอาจารย์ไม่ได้ใช้ เพราะท่านอาพาธหนักแล้ว [/FONT] (ข้อนี้ตรงกับความเห็นของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือประวัติหลวงปู่หล้า ซึ่งท่านได้กล่าวว่า บาตรในพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่บาตรใบจริง ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยใช้-ภิเนษกรมณ์)
    [FONT=&quot]หลังจากเก็บรวบรวมอัฐบริขารเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่าเลยสั่งต่อตู้ เงินไม่พอ ได้คุณวิเศษ ช่วยจนสำเร็จเรียบร้อย แล้วก็นำมาตั้งไว้ใกล้หีบศพท่าน[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์ เป็นผู้เคร่งในเรื่องบริขาร มักน้อยจริงๆ บริขารแท้จริงให้ [/FONT] [FONT=&quot]2 คนถือขึ้นไปก็หมด ที่เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์นั้น คือ อัฐบริขารที่สานุศิษย์และบุคคลผู้เลื่อมใสได้รับไปจากท่าน พอมีอาคารพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นได้นำมามอบให้ เพื่อให้ศาสนิกชนและอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา [/FONT]
    [/FONT]
    ผีเฝ้าหวงกระดูก
    [FONT=&quot]เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ[FONT=&quot].ศ.2490 ขณะที่ผู้เล่าอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ วันหนึ่งนายฟอง ชินบุตร โยมผู้นี้มาวัดประจำ เธอได้แบกไหกระเทียมชนิดปากบาน มีฝาครอบ ขนาดใหญ่เกือบเท่าขวดโหล ข้างในบรรจุกระดูกนำมาถวายท่านพระอาจารย์[/FONT]
    [FONT=&quot]โยมฟองเล่าว่า เจ้าของไหเขาให้นำมาถวาย เป็นไหใส่กระดูกคน ดูเหมือนจะเป็นกระดูกเด็ก แต่กระดูกนั้นนำไปฝังดินแล้ว ปากไหบิ่นเพราะถูกผานไถขูดเอา โยมฟองได้เล่าถึงเหตุที่ได้ไหนี้มาว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]นายกู่ พิมพบุตร ผู้เป็นเจ้าของนา ตั้งใจจะไปไถนาตอนเช้าตรู่ ตื่นขึ้นมาเห็นยังมืดอยู่ จึงนอนต่อ พอเคลิ้มหลับไปก็ฝันเห็นว่า มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาหา บอกว่า [/FONT]
    [FONT=&quot]"ให้ไปเอาไหกระดูก 2 ใบ ไปถวายท่านพระอาจารย์มั่นให้ด้วย"[/FONT]
    [FONT=&quot]นายกู่ถามว่า[/FONT][FONT=&quot] "ไหอยู่ที่ไหน" [/FONT]
    [FONT=&quot]ชายคนนั้นตอบว่า[/FONT][FONT=&quot] "ไถนาไปสัก 3 รอบก็จะเห็น" [/FONT]
    [FONT=&quot]ถามว่า[/FONT][FONT=&quot] "ชื่ออะไร"[/FONT]
    [FONT=&quot]ตอบว่า[/FONT][FONT=&quot] "ชื่อตาเชียงจวง มาเฝ้ากระดูกลูกอยู่ที่นี่ได้ 500 ปีแล้ว วันหนึ่งได้ยินเสียงท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์แว่วๆ มาในเวลากลางคืนว่า เป็นหมามานั่งเฝ้าหวงกระดูก แล้วก็กัดกัน ส่วนเนื้อล่ำๆ อร่อยๆ มนุษย์เอาไปกินหมดแล้ว มัวแต่มานั่งเฝ้าห่วงเฝ้าหวงกระดูกตนเอง กระดูกลูกเมีย ตายแล้วไปเป็นผีเปรต ต้องมานั่งเฝ้ากระดูกถึง 500 ปีแล้ว จึงได้สติระลึกได้ ทั้งๆ ที่อดๆ อยากๆ ผอมโซ ก็ยังพอใจเฝ้าหวง เฝ้าห่วงกระดูกลูกเมียอยู่ กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไป 500 ปีแล้ว"[/FONT]
    [FONT=&quot]นี่แหละ เพราะความรัก ความห่วงหาอาลัย เป็นเหตุพาให้ไปเกิดเป็นผีเป็นเปรต เฝ้าสิ่งที่รักและอาลัย จนลืมวันลืมเวลา[/FONT]
    [/FONT]
     
  4. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    เทศน์ซ้ำเฒ่า
    [FONT=&quot]ลักษณะเสียงของท่าน (พระอาจารย์มั่น-ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] ขณะเทศน์อบรมพระเณรนั้น [/FONT] [FONT=&quot] จะทุ้มก็ไม่ใช่ จะแหลมก็ไม่เชิง อยู่ในระหว่างกลางทุ้มกับแหลม เสียงดังฟังชัด เสียงกังวาน เสียงชัดเจน ไม่มีแหบ ไม่มีเครือ[/FONT][FONT=&quot] ชั่วโมงแรกนะไม่เท่าไร ธรรมดาๆ [/FONT] [FONT=&quot]1 ชั่วโมงผ่านไป เสียงจะดังขึ้น 2 ชั่วโมงผ่านไป เสียงจะดังขึ้นอีก ถ้าติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมงแล้วเหมือนกับติดไมค์ ปกติท่านจะเทศน์ 2 ชั่วโมง เทศน์กรณีพิเศษ เช่น เดือน 3 เพ็ญ เดือน 6 เพ็ญ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา อย่างน้อยก็ประมาณ 4 ชั่วโมงถึง 6 ชั่วโมง[/FONT]
    [FONT=&quot]พระอาจารย์เทสก์เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ที่เชียงใหม่ เทศน์ที่วัดเจดีย์หลวง เทศน์ตั้งแต่ [/FONT] [FONT=&quot]1 ทุ่มถึง 11 นาฬิกาวันใหม่ ลงจากธรรมาสน์ ท่านจึงจะมานั่งฉันจังหัน นั่นเป็นกี่ชั่วโมง ตื่นเช้าขึ้นมาท่านยังเทศน์อยู่ เสียงมันดัง ทีนี้พวกข้าราชการ แม่บ้านหิ้วตะกร้าไปตลาดตอนเช้า พอได้ยินเสียงท่านเทศน์ คิดว่าพระทะเลาะกัน พากันเข้าไป ก็เห็นท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ เลยอยู่ฟังเทศน์ ลืมว่าจะไปตลาด และต้องกลับไปทำกับข้าวให้ลูกผัวกิน ฝ่ายลูกผัวตามมาเห็นอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง กำลังฟังเทศน์อยู่ ก็เลยบอกว่าจะไปจ่ายตลาดเอง แล้วก็จะเลยไปทำงาน ผู้ที่จะไปขายของก็เหมือนกัน ผ่านมาพอได้ยินเสียง คิดว่าพระทะเลาะกัน ก็พากันเข้าไป ไม่ต้องขายของ วางตะกร้าแล้วก็ฟังเทศน์ต่อ จนกระทั่งท่านเทศน์จบจึงไป พระอาจารย์เทสก์พูดให้ฟังอย่างนี้[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านเทศน์นานที่สุด คือ เทศน์ปีสุดท้าย เป็นวันมาฆบูชา [/FONT] [FONT=&quot] หลังจากเวียนเทียนเสร็จแล้ว ท่านก็เริ่มเทศน์ มีชาวบ้านหนองผือมานั่งฟังอยู่ข้างล่าง มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย ลูกเล็กเด็กแดงอุ้มนอนอยู่ที่ตัก เด็กก็ไม่ร้อง ปรากฏว่ามีคนอุ้มเด็กกลับไปแค่ [/FONT] [FONT=&quot]3 คน นอกนั้นอยู่จนรุ่ง ถึงจะกลับบ้าน ท่านฯ เทศน์อยู่ ตั้งแต่ 1 ทุ่มจนถึงเช้า อันนี้เป็นความจำของผู้เล่า[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพูดว่า เราจะเทศน์แล้วแหละ เทศน์ซ้ำเฒ่านะ ต่อจากนี้ไปจะไม่ได้เทศน์นานอย่างนี้อีกแล้ว รู้สึกว่าจะเป็นวันเพ็ญเดือน [/FONT][FONT=&quot]3 พอตกเดือน 5 ท่านก็เริ่มป่วย มีอาการไอ และป่วยมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเดือนอ้าย เป็นเวลา 9 เดือน [/FONT] (ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพเดือนพฤศจิกายน.ศ.2492 -ภิเนษกรมณ์)
    [FONT=&quot]ปกติท่านจะเทศน์ตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนา ถ้าเพ็ญเดือน[/FONT][FONT=&quot] 6 จะปรารภถึงเรื่องประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ถ้าเพ็ญเดือน 3 จะปรารภเรื่อง การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์ 1,250 รูป ที่พระเวฬุวัน ตลอดคืนจนสว่าง[/FONT]
    [FONT=&quot]ทำไมจะมากมายก่ายกองขนาดนั้น ก็เพราะท่านไม่ได้เล่าเป็นวิชาการ ท่านเล่าให้ละเอียดไปกว่านั้นอีก เรื่องก็เลยยืดยาวไป[/FONT]
    [FONT=&quot]เวลาท่านเทศน์จะลืมตา หมากไม่เคี้ยว บุหรี่ไม่สูบ น้ำไม่ดื่ม ท่านจะเทศน์อย่างเดียว พระเณรก็ลุกหนีไม่ได้ ไม่มีใครลุกหนีเลย ไปปัสสาวะก็ไม่ไป จะไอจะจามก็ไม่มี จะบ้วนน้ำลายก็ไม่มี จะนิ่งเงียบจนเทศน์จบ[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    การต้อนรับแขกเทวา
    [FONT=&quot]เรื่องนี้เกิดขึ้นประมาณกลางฤดูหนาวของปี พ[FONT=&quot].ศ.2490 ในคืนหนึ่ง เวลาประมาณ 1 ทุ่มถึง 2 ทุ่ม เป็นเวลาที่ท่านพระอาจารย์กำลังให้โอวาทแก่สานุศิษย์ มีทั้งเก่าและใหม่ ขณะให้โอวาทอยู่ ท่านหยุดไปครู่หนึ่ง กลั้นใจอึดหนึ่ง ก้มหน้านิดๆ พอเงยหน้าขึ้นมาก็โบกมือ บอกว่า "เลิกกัน" [/FONT]
    [FONT=&quot]ปกติแบบนี้มีไม่บ่อยนัก ศิษย์ก็งง นั่งเฉยอยู่ [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านย้ำอีก[/FONT][FONT=&quot] "บอกเลิกกัน ไม่รู้ภาษาหรือ" [/FONT]
    [FONT=&quot]ไม่มีใครคิดอะไร บอกเลิกก็เลิก ท่านฯ สั่งผู้เล่าเชิงบังคับให้รีบเก็บข้าวของเข้าห้อง เสร็จแล้วให้กลับกุฏิ มีภิกษุบางรูปเฉลียวใจไม่ยอมนอนพัก รอที่กุฏิของตนพอสมควรแล้ว ย้อนกลับมามองที่กุฏิของท่านพระอาจารย์ เห็นกุฏิของท่านสว่างไสวไปหมด คิดว่าไฟไหม้กุฏิ แต่ดูไปแล้วไม่ใช่แสงไฟ เป็นแสงใสนวลๆ คล้ายปุยสำลี แต่ใส ดูตั้งนานไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็เลยกลับกุฏิ[/FONT]
    [FONT=&quot]รุ่งเช้าขึ้นมา ท่านลุกขึ้นกระทำสรีรกิจตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตกค่ำถึงเวลาให้โอวาท วันนั้นท่านฯ แสดงเรื่อง ทุกกะ คือ หมวด [/FONT][FONT=&quot]2 ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้ชื่อว่า โลกปาลธรรม ธรรมอันคุ้มครองโลก วันนั้นดูท่านอธิบายเรื่องนี้เต็มที่ถึง 2 ชั่วโมงเต็ม มีเหตุผลอุปมาอุปไมย โดยยกเอา ท่านพระมหากัสสปะเป็นอุทาหรณ์ ที่พระพุทธเจ้าประทานอุปสมทแก่พระมหากัปปะเป็นพิเศษที่ว่า ดูก่อน กัสสปะ เธอจงเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงกลัว (เคารพ) ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งเก่าและใหม่ เป็นตัวอย่าง ยกมาเป็นนิทัสสนะอุทาหรณ์ ตอนสุดท้าย ท่านแสดงอานิสงส์ว่า ผู้ตั้งอยู่ในหิริและโอตตัปปะ เป็นที่รักของมนุษย์ เทพ พรหม ทั้งหลาย และทำให้มีอายุยืนด้วย เหมือนท่านพระมหากัสสปะ พอได้เวลาท่านก็หยุดพัก[/FONT]
    [FONT=&quot]คืนนั้นผู้เข้าเวร มีผู้เล่า ท่านวัน [/FONT] [FONT=&quot](พระอาจารย์วัน อุตตโม) ท่านหล้า (หลวงปู่หล้า เขมปัตโต) ท่านเลยเมตตาเล่าเพิ่มเติมให้แก่พวกเราฟังอีกว่า เมื่อคืนวานนี้พอเทศน์ให้หมู่ฟังไปหน่อยหนึ่ง มีเทพตนหนึ่ง ชื่อปัญจสิขะ มาบอกว่า [/FONT]
    [FONT=&quot]"วันนี้จะมีเทพจากชั้นดาวดึงส์มาฟังธรรมจากท่าน ขอนิมนต์ท่านเตรียมตัวรับแขกเทวา" [/FONT]
    [FONT=&quot]พอกำหนดได้ก็ไล่หมู่หนีทันที เพราะพวกนี้เขาจะมาตามกำหนด ถ้าเลยกำหนดเขาจะไม่รอ ท่านว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]เทวาพวกนี้มีประมาณ [/FONT] [FONT=&quot]500,000 ตน เพิ่งจากมนุษย์โลก จากเมืองไทยไป เริ่มแต่ท่านพระอาจารย์มาพักที่บ้านหนองผือนี้ [/FONT]
    [FONT=&quot]ผู้เล่าสงสัยว่า วัดป่าหย้านหนองผือก็แค่นี้ มีแต่ป่า เทวดา [/FONT] [FONT=&quot]500,000 ตน จะอยู่อย่างไร คนแค่ร้อยสองร้อยก็ไม่มีที่จะอยู่แล้ว [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพูดว่า เทวดาพวกนี้กายเป็นทิพย์ ท่านยังพูดเป็นภาษาบาลีในธรรมบทว่า[/FONT][FONT=&quot] "อนฺตลิกฺเข" แปลด้วยว่า ในห้วงแห่งจักรวาล มีอากาศมีช่องว่างเป็นที่ซึ่งจะเห็นรูปทั้งหลาย ปรากฏว่ารูปแผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ไม่มีทั้งสิ้น มีเทวดาเท่าไรบรรจุได้หมด ไม่มีคำว่าเต็ม ท่านว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์กำหนดถามว่า[/FONT][FONT=&quot] "พวกท่านต้องฟังธรรมอะไร และมีวัตถุประสงค์อะไร" [/FONT]
    [FONT=&quot]เขาตอบว่า[/FONT][FONT=&quot] "อยากฟังสุกฺกธมฺมสูตร มีวัตถุประสงค์ คือ เทพบางพวกทำบุญน้อย ได้ฟังสุกฺกธมฺมสูตร จะได้เสวยทิพยสมบัตินานๆ " [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านเฉลียวใจว่า อะไร คือ สุกฺกธมฺมสูตร[/FONT][FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"พระสูตรนี้มีน้อยองค์นักที่จะได้แสดงให้เทพฟัง เว้นพระสัพพัญญู และพระอัครสาวกเท่านั้น"[/FONT] [FONT=&quot] พวกเทพว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านกำหนดพิจารณาก็ได้ความปรากฏขึ้นว่า [/FONT] [FONT=&quot]"หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา ฯ เปฯ สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร" [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านอุทานในใจว่า[/FONT][FONT=&quot] "อ๋อ[/FONT] [FONT=&quot]เทวธรรมนี้เอง คือ สุกฺกธมฺมสูตร ของเทวา[/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]พอเริ่มจะอธิบาย ก็ได้ยินเสียงแว่วมาว่า "เดี๋ยวก่อน ข้าพเจ้าจะเตือนพวกเทพพวกนี้ก่อน เพราะเขาไม่เคยมาฟัง ยังไม่รู้ธรรมเนียม" [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านกำหนดเห็นพระนางสุชาดานั่งเป็นประธาน ส่วนเสียงที่ปรากฏนั้น เป็นเสียงของท้าวสักกะที่ดูแลอยู่เบื้องหลัง พอได้เวลา ก็ได้ยินเสียงแว่วมาอีกว่า[/FONT][FONT=&quot] "พร้อมแล้ว"[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านฯ ก็เริ่มเทศน์อธิบาย ด้วยการกำหนดจิตพิจารณาเนื้อหาสาระแห่งธรรมเพียงพอแล้ว หากเทพเข้าใจเขาจะให้เสียงสาธุการ ถ้าไม่เข้าใจที่เราอธิบาย เขาจะไม่ยอม ต้องว่ากันใหม่ สอนเทพสบาย ไม่ยากเหมือนสอนมนุษย์ มนุษย์ต้องใช้เสียงโวๆ เวๆ ลั่นไปหมด พูดมากก็เหนื่อย และสอนบ่อยปานนั้น ยังเข้าใจยาก สอนเทพสบายกว่า ท่านว่าอย่างนั้น[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    กาลกฐิน
    ประมาณปี พ[FONT=&quot].[FONT=&quot].2490[/FONT] ยังอยู่ในพรรษา กำนันตำบลนาใน ได้นำจดหมายของนายอำเภอพรรณานิคมไปถวายท่านที่กุฏิ ผู้เล่าก็อยู่นั่น กราบเสร็จ กำนันก็นำจดหมายน้อมถวาย
    ท่านยังไม่รับ ถามก่อนว่า[FONT=&quot] "[/FONT]นั่นอะไร[FONT=&quot]" [/FONT]
    กำนันกราบเรียนว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ใบจองกฐินของนายอำเภอพรรณานิคม ครับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านโบกมือไม่รับและกล่าวว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]อย่านำมาติดใส่วัดอาตมานะ กำนันอย่าขืนทำนะ กลับไปบอกนายอำเภอด้วยว่า นายอำเภอเอาอำนาจที่ไหน จากใคร มาห้ามไม่ให้คนมาทำบุญที่นี้ อาตมาไม่รับ ใครอยากทำบุญก็มา ไม่มีใครห้าม จะมาจองไม่ให้คนมาทำบุญไม่ได้ ไปบอกนายอำเภอด้วย[FONT=&quot]"[/FONT]
    กำนันนำความกลับไปชี้แจงให้นายอำเภอฟัง นายอำเภอยอมรับผิด ให้กราบเรียนพระอาจารย์ด้วยว่า ท่านไม่มีเจตนาล่วงเกิน เพียงแต่เห็นคนทั้งหลายเขาทำกันอย่างนี้ ก็ทำบ้าง
    กำนันมากราบเรียนท่านว่า[FONT=&quot] "[/FONT]นายอำเภอจะมาทำบุญดังที่ตั้งใจไว้ ใครจะมาอีกก็ไม่ห้าม ครับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านก็ยิ้มกล่าวว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]นายอำเภอคนนี้ พูดจาเข้าใจง่าย ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต[FONT=&quot]"[/FONT]
    สมจริงภายหลังปรากฏว่า ท่านได้เป็นถึงอธิบดีกรมการปกครอง
    ปวารณาออกพรรษาแล้ว กฐินกองต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้ามา ที่จำได้ บ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม กองที่[FONT=&quot]1[/FONT] กองที่ [FONT=&quot]2[/FONT] ลืม กองที่ [FONT=&quot]3[/FONT] เป็นบ้านม่วงไข่ ผ้าขาวนำมา (จากอำเภอพังโคน สกลนคร -ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] กองที่4 เป็นของนายอำเภอ ต่างก็พูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไปถวายกฐินท่านพระอาจารย์มั่น[/FONT]
    [FONT=&quot]มีผู้มาถวายกฐินตลอดจนถึงเดือน [/FONT] [FONT=&quot]12 เพ็ญ ล้วนแต่กองกฐินทั้งนั้น บรรดาพระสงฆ์สามเณร และผ้าขาว ทำการเย็บตัดย้อมจีวร ผลัดเปลี่ยนเพียงพอกันทุกรูป จนพรรษาสุดท้ายก็เป็นอย่างนี้ตลอดมา[/FONT]
    (พระอาจารย์มั่นไม่รับเป็นผ้ากฐิน แต่รับเป็นผ้าป่าบังสุกุลทั้งหมด และทำอย่างนี้ทุกปีจนท่านมรณภาพ ท่านไม่เคยรับกฐินและกรานกฐินเลย -ภิเนษกรมณ์)
    [FONT=&quot]ปีนั้นมีกองกฐินพิเศษอยู่หนึ่งกอง อันเป็นกองที่ [/FONT] [FONT=&quot]5 เจ้าของกฐิน ชื่อ เถ้าแก่ไฮ มีเชื้อชาติจีน ค้าขายอยู่บ้านคางฮุง ตำบลพอกน้อย อำเภอพรรณานิคม ทุกคนรู้จักดี โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้ามาก่อน เธอนำขบวนเกวียนบรรทุกเครื่องบริขารมาพักอยู่นอกบ้าน ตื่นเช้าพาคณะมาถวายบิณฑบาตเสร็จแล้ว จึงขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์รับกฐิน[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านฯ เตรียมตัวลงศาลาพร้อมพระสงฆ์ แต่ลงไม่หมดทุกองค์ เพราะบางองค์ไม่รู้ ท่านก็ไม่ว่า พิธีกรนำรับศีล ถวายทานเสร็จ[/FONT]
    [FONT=&quot]พิธีกรถามเถ้าแก่ว่า[/FONT][FONT=&quot] "จะฟังเทศน์ไหม" [/FONT]
    [FONT=&quot]เถ้าแก่ตอบ[/FONT][FONT=&quot] "[/FONT][FONT=&quot]ฟังทำไมเทศน์ ให้ทานแล้วได้บุญแล้ว [/FONT] [FONT=&quot]เสร็จแล้วก็จะลากลับ[/FONT][FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]พระอาจารย์ยิ้มแล้วกล่าวว่า [/FONT] [FONT=&quot]"ถูกต้องแล้วๆ โยมได้บุญมาตั้งแต่คิดจะทำแล้ว เพราะประกอบด้วยปัญญา"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]เถ้าแก่ไฮ ยังพูดอีกว่า[/FONT][FONT=&quot] [/FONT] [FONT=&quot]"ถ้าขอฟังเทศน์ท่าน เราไม่ให้ทานจริง เพราะขอสิ่งตอบแทน ได้บุญไม่เต็ม" [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านอาจารย์ย้ำอีกว่า[/FONT][FONT=&quot] "ถูกต้องๆ เถ้าแก่พูดถูกต้อง" แค่นั้น [/FONT]
    [FONT=&quot]เถ้าแก่ไฮก็กราบลา และลาชาวบ้านทุกคนเดินทางกลับ[/FONT]
    [FONT=&quot]ตั้งแต่วันนั้นมา ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่กุฏิหรือเที่ยวบิณฑบาต มักจะปรารภเรื่องเถ้าแก่ไฮเสมอ ว่าเขาทำถูก หลายปีผ่านไป หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ท่านมักจะปรารภเรื่องเถ้าแก่ไฮนี้เป็นตัวอย่าง[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    อานุภาพแห่งฌาน
    [FONT=&quot]วันหนึ่งฝนตกฟ้าผ่าต้นพลวงใหญ่ [FONT=&quot]([/FONT]ไม้กุง[FONT=&quot]) [/FONT] ย่ำลงมาตั้งแต่ยอดตลอดรากแก้ว ราบเรียบไปเลย ต้นพลวงใหญ่นั้นอยู่ใกล้ๆ ศาลา แต่ฝนซาบ้างแล้ว ขณะนั้นสามเณรจันดัยกำลังถือกาน้ำร้อนจะไปกุฏิท่านพระอาจารย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ [FONT=&quot] 30[/FONT] เมตร ไม่ได้ยินเสียง ไม่รู้สึกว่าฟ้าผ่า ผู้เล่าเตรียมลงจากกุฏิไปเห็นเข้า จึงรู้ว่าฟ้าผ่า พระเณรในวัดประมาณ [FONT=&quot]10[/FONT] รูป ไม่มีใครได้ยินเสียง ส่วนท่านพระอาจารย์กำลังทำสมาธิ ท่านก็บอกว่าไม่ได้ยินเสียง
    เมื่อพระทยอยกันขึ้นไป ท่านฯ ได้ถามก่อนว่า[FONT=&quot] "[/FONT]เห็นฟ้าผ่าไม้กุงไหม[FONT=&quot]"[/FONT]
    พระที่อยู่ทางอื่นก็ไม่เห็น ส่วนผู้เล่า พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ และพระอาจารย์หลอด ปโมทิโต ได้เห็น
    ท่านบอกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ผ่าขณะสามเณรจันดัยเดินมาถึงพอดี[FONT=&quot]" [/FONT]
    แต่สามเณรบอกว่า ได้เห็นแต่ไม่ได้ยิน
    ผู้เล่าคิดว่า[FONT=&quot] [/FONT]ด้วยอานุภาพแห่งฌานของท่าน เพราะช่วงนั้นท่านกำลังเข้าฌานอยู่ พวกเราจึงไม่ได้ยิน[FONT=&quot] [/FONT] แต่ชาวบ้านอยู่ในทุ่งนาห่างไกลออกไป กลับต้องหมอบราบติดดิน เพราะกลัวเสียงซึ่งดังมาก เขาเล่ากันว่า ราวกับผ่าอยู่ใกล้ๆ ทีเดียว
    (หมายเหตุ -เรื่องนี้เมื่อเทียบเคียงจากประวัติในส่วนอื่นๆ ตลอดจนบุคคลผู้ร่วมเหตุการณ์ เข้าใจว่าน่าจะเกิดที่วัดป่าวิสุทธิธรรม บ้านโคก อ.โคกศรีสุพรรณ.สกลนคร ประมาณ พ.ศ.2487 -ภิเนษกรมณ์)
    [/FONT]
    หนังสือในสำนักท่านพระอาจารย์มั่น
    <table id="table14" align="left" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    [FONT=&quot]กรมพระยาวชิรญาณวโรรส[/FONT]
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์คงจะมีเหตุผลกลใดสักอย่าง จึงยอมรับนับถือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นกรณีพิเศษ แบบแผนขนบธรรมเนียม บทสวดพระปริตรและปาฐะต่างๆ รวมทั้งพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ของทั้งสองพระองค์นี้ ท่านจำได้หมด ทั้งบาลีทั้งแปล อธิบายสลับกับพระธรรมเทศนา ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง จะเป็นโมกขุปายคาถา และจตุรารักขกัมมัฏฐานก็ดี นับเป็นธรรมเทศนาประจำทีเดียว รวมทั้งขนบธรรมเนียมต่างๆ ท่านฯ มักอ้างเสมอว่า[FONT=&quot] "แบบพระจอมฯ แบบพระจอมฯ " ทำนองนี้แล[/FONT]
    [FONT=&quot]ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีกฎบังคับว่า[/FONT][FONT=&quot] ผู้จะอยู่ศึกษากับท่านพระอาจารย์ทั้งสอง [/FONT] (หมายถึงพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น-ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] ต้องท่องนวโกวาท 7 ตำนาน 12 ตำนาน และปาฏิโมกข์ให้ได้ อย่างช้าให้เวลา 3 ปี ถ้าไม่ได้ ไม่ให้อยู่ร่วมสำนัก ส่วนหนังสืออ่านประกอบนั้น วินัยมุข เล่ม1, 2, 3 และพุทธประวัติ เล่ม 1, 2, 3 นอกจากนี้ห้ามอ่าน ถึงขนาดนั้น ท่านว่าหากได้อย่างว่า จะอยู่ในศาสนาก็พอจะรักษาตัวได้ ถึงจะไม่ได้ศึกษามาก ก็รักษาตนคุ้มแล้ว[/FONT]
    [FONT=&quot]ตัวอย่างเช่น พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นพระมหานิกาย มาขอศึกษาข้อปฏิบัติและขอญัตติกรรมเป็นพระธรรมยุต ท่านว่าให้ท่องปาฏิโมกข์ให้ได้ จึงจะญัตติให้ ท่านอาจารย์กงมาอ่านหนังสือไม่ออก เพราะไม่ได้เข้าโรงเรียน จึงเรียนปาฏิโมกข์ปากต่อปาก คำต่อคำ และหัดอ่านพร้อมกันไปด้วย ใช้เวลาถึง [/FONT] [FONT=&quot]3 ปีจึงสวดได้ และอ่านหนังสือออก จึงได้มาญัตติที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี โดยท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร [/FONT] [FONT=&quot]([/FONT]หนู ฐิตปญฺโญ[FONT=&quot])[/FONT] เป็นพระอุปัชฌาย์
    รูปที่สอง คือ พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม ท่านท่องปาฏิโมกข์ [FONT=&quot]8[/FONT] ปี จึงสวดได้ และอีกรูปหนึ่งคือ พระอาจารย์คำพอง ติสโส ก็อ่านหนังสือไม่ออก เพราะไม่ได้เข้าเรียน แต่ธรรมเทศนาของท่านไพเราะขนาดไหน ผู้เล่าเคยอยู่ด้วยกันกับท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านทั้ง [FONT=&quot]3 [/FONT] รูปนี้เป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งผู้เล่าขอถวายนามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]วีรบุรุษ[FONT=&quot]" [/FONT]เหมือนครั้งพุทธกาล พระจักขุบาลเป็นวีรบุรุษในยุคนั้น
    แม้ในเรื่องมังสะ [FONT=&quot]10[/FONT] อย่าง ท่านพระอาจารย์กล่าวว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงห้าม
    ท่านอธิบายให้ฟังว่า เนื้อมนุษย์ไม่เป็นค่านิยม ผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงติเตียน เพราะความเป็นมนุษย์มีค่ามาก เกิดกินกันขึ้น มหันตภัยก็เกิดขึ้นแก่โลกไม่สิ้นสุด [FONT=&quot] [/FONT]สัตว์นอกจากนี้เป็นอันตราย [FONT=&quot] [/FONT]สมัยก่อนมีมาก พระออกธุดงค์บริโภคเนื้อสัตว์อันตรายเหล่านี้ กลิ่นของสัตว์จะออกจากร่างกายผู้บริโภค เช่น ฉันเนื้องู กลิ่นงูก็ออก งูได้กลิ่นก็เลื้อยมาหา นึกว่าพวกเดียวกัน พอมาถึงไม่ใช่พวกเดียวกัน ก็ฉกกัดเอา เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ตั้งใจมาเจริญสมณธรรม เลยไม่ได้อะไรเพราะตายเสียก่อน พระพุทธเจ้าจึงทรงห้าม[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ
    <table id="table20" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    [FONT=&quot]พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล[/FONT]
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    เท่าที่ผู้เล่าได้ฟังมา เกี่ยวกับการเกิดในชาติก่อนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ชาติหนึ่งนั้น ท่านพระอาจารย์เกิดในมณฑลยูนนาน ในตระกูลขายผ้าขาว มีน้องสาวคนหนึ่ง เคยสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน มาชาตินี้ คือ นางนุ่ม ชุวานนท์ คหบดีชาวสกลนคร ผู้สร้างวัดป่าสุทธาวาสให้ และท่านก็ได้สงเคราะห์ด้วยธรรมเป็นที่พอใจ
    ชาติหนึ่งเกิดที่โยนกประเทศ ปัจจุบัน คือ เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ในตระกูลช่างทำเสื่อลำแพน [FONT=&quot](
    เสื่อลำแพน คือ เสื่อปูพื้นทำด้วยหวาย[FONT=&quot]) [/FONT] ท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นนายช่างใหญ่ องค์ท่านเป็นผู้จัดการ ส่วนพระธรรมเจดีย์ [FONT=&quot]([/FONT]จูม พันธุโล[FONT=&quot]) [/FONT]เป็นคนเดินตลาด
    [/FONT] ชาติหนึ่งเกิดที่แคว้นกุรุรัฐ ชมพูทวีป [FONT=&quot](ประเทศอินเดีย[FONT=&quot]) [/FONT] ผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ [FONT=&quot]([/FONT]จันทร์ สิริจนฺโท[FONT=&quot]) [/FONT] เป็นพี่ชาย คือ พระปทุมราชา ผู้ครองแคว้นกุรุ ท่าน [FONT=&quot]([/FONT]พระอาจารย์มั่น[FONT=&quot]) [/FONT] เป็นเสนาบดี พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี เป็นหลานหัวดื้อ ใครบอกไม่เชื่อ นอกจากท่าน พระบิดาจึงมอบให้ท่านฯ ดูแล ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์ และได้ตั้งความปรารถนาขอเป็นพระพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร์
    ชาติหนึ่งเกิดที่ลังกาทวีป [FONT=&quot]([/FONT]ประเทศศรีลังกา[FONT=&quot]) [/FONT] และบวชเป็นพระ ได้เข้าร่วมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ [FONT=&quot]4[/FONT] ซึ่งมีพระเป็นหมื่น พักเสนาสนะร่วมกัน สององค์บ้าง สามองค์บ้าง ท่านว่าได้อยู่เสนาสนะเดียวกับท่านวิริยังค์ [FONT=&quot]([/FONT]พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร[FONT=&quot]) [/FONT] เป็นเพื่อนกันมาจนบัดนี้ ท่านฯ ว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    จากอีสานสู่ภาคเหนือ
    เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ ท่านพระอาจารย์เล่าเองบ้าง พระอาจารย์เนียม โชติโก เล่าบ้าง
    ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า พอไปถึงวันแรกก็เจอเข้าแล้ว พักที่ริมป่า การต้อนรับ การจัดสถานที่จากชาวบ้านอย่าหวัง มีแต่พื้นดินและร่มไม้เท่านั้น เป็นสถานที่พัก เวลาเช้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านนั่งจับกลุ่มผิงไฟกัน
    พอเห็นท่าน ก็ถามว่า[FONT=&quot] "
    ตุ๊เจ้ามาเอาหยัง[FONT=&quot]" [/FONT] ดีแต่เขาพูดภาษาคำเมืองได้
    ท่านตอบว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ตูมากุมข้าว[FONT=&quot]" [/FONT]
    เขาเอาข้าวสารมาจะใส่บาตรให้ ท่านบอก[FONT=&quot] "[/FONT]ตูเอาข้าวสุก[FONT=&quot]" [/FONT]
    จึงเอาข้าวสุกมาใส่บาตรให้ เขาถาม[FONT=&quot] "[/FONT]กินกับหยัง[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]สูกินหยัง ตูก็กินนั้น[FONT=&quot]" [/FONT]
    เขาถาม[FONT=&quot] "[/FONT]หมูสับสูกินก๊า[FONT=&quot]" [/FONT]
    ตอบ[FONT=&quot] "[/FONT]กิน[FONT=&quot]" [/FONT]
    เขาเอาเนื้อหมูดิบมาให้ ท่านบอก[FONT=&quot] "[/FONT]ตูบ่มีไฟปิ้ง เอาสุก[FONT=&quot]" [/FONT]
    เขาก็เอาเนื้อสุกมา
    เขาถาม[FONT=&quot] "[/FONT]พริกเกลือ สูกินก๊า[FONT=&quot]" [/FONT]เขาก็เอามาใส่บาตรให้
    ตอนขากลับ ชาวบ้านตามมาหลายคน เขามาเห็นที่พัก เขาถาม[FONT=&quot] "[/FONT]ตุ๊เจ้านอนบ้านบ่ได้ก๊า[FONT=&quot]" [/FONT]
    ตอบ[FONT=&quot] "[/FONT]นอนได้[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ตูจะเยียะบ้านให้ เอาก๊า[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เอา[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ตุ๊เจ้าเยียะบ่ได้ก๊า[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เยียะบ่ได้[FONT=&quot] [/FONT]เขาบอก[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ตูเยียะบ่ถือ บอกเน้อ[FONT=&quot]" ([/FONT]ท่านพระอาจารย์ว่า คำนี้เป็นคำปวารณา เราก็ใช้เขาได้ตามพระวินัย[FONT=&quot]) [/FONT]
    เขามาจัดที่พักจนเสร็จ และมาบอกรับใช้ปวารณาทุกวัน
    ท่านถือโอกาสแนะนำสั่งสอนเขา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจครอบครัว เพราะเขาจนมาก เขาทำไร่เลื่อนลอย ปลูกพืชผลทุกชนิด แต่ไม่พอกิน ต้องเอาของป่าลงมาแลกข้างล่าง ลำเลียงขึ้นไปกินกัน ท่านบอก ไม่ให้บุกเบิกถางป่าต่อ ให้ทำซ้ำที่เดิมที่เคยทำมาแล้ว [FONT=&quot]1-2[/FONT] ปี เขาบอกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]บ่งามก๊า[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านรับรองว่างาม เขาก็เชื่อ
    เพื่อนสหธรรมิกมีพระมหาทองสุก สุจิตโต พระอาจารย์มนู พระอาจารย์เนียม โชติโก และน้องชาย [FONT=&quot]([/FONT]พระอาจารย์เนียม[FONT=&quot]) [/FONT]ชื่อโยมแพง
    การทำไร่แบบชาวเขานี้ พระอาจารย์เนียมท่านเชี่ยวชาญมาก เพราะท่านเคยทำสมัยยังไม่บวช ท่านจะชี้แนะเริ่มตั้งแต่ การขุด การพรวนดิน การปลูก การหว่านข้าวไร่ และพืชอื่นๆ มีข้าวโพด ฟักทอง ฟักแฟงแตงเต้าทุกชนิด หลังปลูกมีการดายหญ้า พรวนดิน ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ตามสูตรของท่าน ปีนั้นพืชผลงอกงามดีมาก
    ลืมบอกไปว่า ชาวเขาชอบเลี้ยงหมูไว้รับประทานเนื้อทุกครัวเรือน ฆ่ากินแจกเพื่อนบ้าน แลกข้าวบ้าง ข้าวโพดเป็นอาหารหมูของเขา
    ริมทางขณะไปบิณฑบาต ข้าวโพดฝักใหญ่กำลังผลิดอกออกผล ท่านอาจารย์เนียม นักเกษตรจำเป็นพบเห็นทุกวัน แต่ไม่เห็นเขาปิ้งเผาใส่บาตรสักที
    ท่านก็เลยบอกเขาว่า[FONT=&quot] "[/FONT]สูเอาข้าวโพดปิ้งใส่บาตรให้ตูกินบ้างก๊า[FONT=&quot]" [/FONT]
    เขาตอบ[FONT=&quot] "[/FONT]ข้าวโพดของหมูกินก๊า[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ตุ๊เจ้าก็กินได้ก๊า[FONT=&quot]" [/FONT]
    เขาว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ตุ๊เจ้าอยากกินอาหารหมู[FONT=&quot]" [/FONT] ตั้งแต่วันนั้นเขาปิ้งใส่บาตรทุกวัน
    ตามริมทางยอดฟักทองงอกงามน่ารับประทาน แต่เขาไม่กินกัน ท่านอาจารย์เนียมนักเกษตรจำเป็นก็บอกอีกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]สูแกงหมูก็เอายอดฟักทองใส่ลงไปด้วย[FONT=&quot]" [/FONT]
    เขาบอก[FONT=&quot] "[/FONT]หมูก็ลำ [FONT=&quot]([/FONT]อร่อย[FONT=&quot])[/FONT] พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ยอดฟักทองอีก[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านอาจารย์เนียมพอเจอคำว่า หมูก็อร่อยพอแล้วจะใส่ยอดฟักทองอีกทำไม ท่านก็อ้ำอึ้ง ครุ่นคิดอยู่ในใจ ไม่รู้จะพูดให้เขาเข้าใจอย่างไร
    เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มั่นถือเป็นเรื่องขบขันมาก ทุกครั้งที่เล่าเรื่องนี้ ท่านจะหัวเราะชนิดหัวเราะใหญ่อย่างขบขัน แม้ผู้เล่าและผู้ฟังก็อดหัวเราะไม่ได้
    คำตอบมีอยู่ว่า ที่ให้เอายอดฟักทองใส่แกงหมูนั้น ยอดฟักทองงามน่ากินและมีมาก ใส่ยอดฟักทองเพื่อประหยัดเนื้อหมู และทำให้มีรสชาดยิ่งขึ้นไปอีก เพิ่มคุณค่าทางอาหารอีกด้วย นี่คือคำตอบ
    ปีนั้นและปีต่อๆ มา พืชพันธุ์ธัญญาหารของชาวเขาอุดมสมบูรณ์ ทำบุญใส่บาตรรับพร เสียงสาธุการลั่นไปหมด กล่าวขวัญกันว่า ได้อยู่ได้กินเพราะบุญตุ๊เจ้าแต๊แต๊
    (พระอาจารย์เนียม โชติโก ภายหลังมามรณภาพที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านพระอาจารย์มั่นพาเผาศพกลางวัดในวันที่มรณภาพนั้น และได้เปิดเผยแก่พระเณรว่า พระอาจารย์เนียมไม่น่าเป็นห่วง เพราะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และไปอุบัติในพรหมโลกชั้นอาภัสรา เรื่องนี้มีบันทึกชัดเจนอยู่ในหนังสือประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต - ภิเนษกรมณ์)
    [/FONT]
    โยมแพงแห่งบ้านนามน
    <table id="table21" align="left" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    แม่นิล แม่นุ่ม (นั่ง) และแม่ลูกอินทน์
    </td> </tr> </tbody></table> แม่นุ่ม ชุวานนท์ พร้อมน้องสาวสองคน (คือ แม่นิล และแม่ลูกอินทน์ - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] ได้สร้างวัดป่าสุทธาวาสถวายจำเพาะท่านพระอาจารย์เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่น
    เมื่อท่านฯ มาพักอยู่อุดรธานี และปรารภจะไปอยู่สกลนคร แม่นุ่มก็จัดสร้างกุฏิ มีระเบียงรอบห้องนอน ต่อออกมาเป็นห้องรับแขก มีประตูและฝากั้น ท่านฯ มาพักเพียง [FONT=&quot]15[/FONT] วัน ก็อำลาญาติโยม เดินทางสู่บ้านนามน อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เป็นหมู่บ้านที่ท่านพระอาจารย์เสาร์เคยอยู่จำพรรษา
    บุคคลที่ควรกล่าวถึง คือ[FONT=&quot] [/FONT]โยมแพง[FONT=&quot] [/FONT](น้องชายของพระอาจารย์เนียม โชติโก - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] [/FONT]พร้อมภรรยาและบุตรสาว บุตรชาย ซึ่งได้ให้การบำรุงด้วยศรัทธาเลื่อมใส คนๆ นี้ขยันช่วยตนเอง บุตรอยู่ในโอวาท ได้สร้างกุฏิและศาลาถวายท่านพระอาจารย์ เธอและบุตรจะจัดอาหารสำหรับท่านพระอาจารย์ต่างหาก จะมีพริกกับเกลือ ข่าบด ขิงบด ตะไคร้บด และผักป่า[FONT=&quot] [/FONT] ผักบ้านของเธอจะมีทุกฤดู สมกับเธอขยันจริงๆ เนื้อสับ ไข่ต้ม ปลาต้ม ปลาสับ สิ่งเหล่านี้จะห่อใส่บาตรทุกวัน แต่ข้าวเจ้าหุง เธอจะใส่หม้อ ให้ลูกหิ้วมาถวายต่างหาก โภชนะต่างๆ เธอทำเป็นสัดส่วน ก่อนท่านพระอาจารย์จะฉัน ท่านจะนำมาผสมกัน มีโภชนะต่างๆ แกงบ้าง น้ำพริกบ้าง มีเกือบครบก็แล้วกัน ท่านตักใส่บาตร เหลือเท่าไรก็แจกพระต่อ จะถึงไหนก็แล้วแต่ เพราะส่วนของพระมีต่างหาก
    เธอคิดทำเองหรือท่านพระอาจารย์สั่ง ผู้เล่าไม่ได้ถาม สังเกตดูท่านจะยอมรับการกระทำแบบนี้ ท่านจัดการเอง มีพระปฏิบัติช่วยบ้าง แต่การผสมส่วน ท่านทำเอง ผู้อื่นทำท่านว่าไม่ได้ส่วนกัน ส่วนเครื่องหวานที่มีไม่ขาด คือ กล้วยสุก และมะพร้าวขูดไม่คั้นกะทิ ตอนเย็นก็มีน้ำอ้อยสด ยังมีอาหารอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งที่อื่นไม่มี มีที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น มีไม่เคยขาด คือ ปลาแดกสามปี [FONT=&quot]([/FONT]ปลาหมักกับเกลือเก็บไว้ [FONT=&quot]3[/FONT] ปี[FONT=&quot]) [/FONT] เป็นปลาดุกขนาดเล็กบ้าง กลางบ้าง เป็นตัว ปิ้งไม่เละ เป็นตัวแต่เหนียว จะใส่บาตรวันละ [FONT=&quot]2[/FONT] ตัวจำเพาะท่านพระอาจารย์[FONT=&quot] [/FONT] ผู้เล่าเคยได้แบ่งหลายหน อร่อยอย่าบอกใคร
    โยมแพงเธอมีความเคารพในท่านพระอาจารย์เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่นมาก แต่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับพระอื่นๆ บางวันแกก็มากราบนมัสการ นั่งพอสมควรแล้วก็กราบลาไป ไม่เคยถามปัญหาใดๆ เลย ที่เธอไม่ลืมคือคำปวารณาว่า[FONT=&quot] "[/FONT]กระผมขอปวารณาต่อท่านอาจารย์ด้วยปัจจัยสี่ ถ้าขัดข้องอย่างไรให้บอกกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]เป็นประจำ ท่านพระอาจารย์ก็สนทนาธรรมด้วย แต่ไม่มาก เพราะเธอไม่ชอบนั่งกับท่านพระอาจารย์นานๆ เกรงท่านจะลำบาก
    ครั้งหนึ่งผู้เล่าจำได้ ท่านฯ ถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]โยมแพง ภาวนาเป็นอย่างไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    โยมแพงตอบ[FONT=&quot] "[/FONT]ภาวนานั่นเป็นภาวนาอยู่แล้ว ทั้งกลางวันกลางคืน ถ้าเรามีสติ[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ถูกต้อง นั่นละคือคนภาวนาเป็น[FONT=&quot]"[/FONT]
    แค่นั้นเธอก็กราบลากลับ[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ความสัมพันธ์วัดสระปทุมและวัดป่าสุทธาวาส
    วัดป่าสุทธาวาส เป็นวัดที่ [FONT=&quot]3 พี่น้อง คือ แม่นุ่ม แม่นิล และแม่ลูกอินทน์ สร้างถวายท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านพระอาจารย์มั่น
    ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสงบลง ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่โคกศรีสุพรรณ แม่นุ่มไปขอพระไปเป็นเจ้าอาวาส
    ระหว่างท่านพระอาจารย์กับแม่นุ่มนั้น พูดกันไม่ถือสาหาความ พูดเหมือนพี่กับน้องพูดกัน[FONT=&quot] "[/FONT]นุ่มนี้วุ่นแต่วัดภายนอก ส่วนวัดภายในใจนั่นนะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนตะกร้า ไม่มีหมากพลู[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านว่าทำนองนี้ แต่แม่นุ่มเขาไม่โกรธไม่ถือ
    ครั้นท่านพระอาจารย์มาพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลังสงครามโลกสงบแล้ว แม่นุ่มมาขออีก
    ท่านว่า[FONT=&quot] "[/FONT]อยากได้ใคร[FONT=&quot]" [/FONT]
    ตอบ[FONT=&quot] "[/FONT]อยากได้ท่านฝั้น [FONT=&quot]([/FONT]พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร[FONT=&quot]) [/FONT] เพราะเป็นคนถิ่นนี้[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]วัดนี้เป็นสาขาวัดสระปทุม[FONT=&quot]"[/FONT]
    พระอาจารย์ฝั้นเป็นคนสกลนคร พระมหาทองสุก สุจิตโต เป็นคนสระบุรี ทำไมท่านพระอาจารย์จึงทำอย่างนั้น ท่านคงมีเหตุผลของท่าน พระมหาทองสุกขอร้องไม่อยากรับ ท่านพระอาจารย์ก็ขอร้อง และเห็นใจพระมหาทองสุก เพราะพระมหาทองสุก ท่านตั้งปณิธานอย่างหนึ่ง แต่ได้ทำสิ่งที่ไม่ได้ปณิธานไว้ แต่ด้วยความเคารพ ท่านก็น้อมรับ (ท่านรับเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส -ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] ผลงานที่ออกมา ชาวสกลนครยอมรับทุกถ้วนหน้า [/FONT]
    [/FONT]
     
  5. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ท่านพระอาจารย์ช่วยไม่ให้ตาย
    [FONT=&quot]ขณะที่ผู้เล่ามีอายุได้ [FONT=&quot]18 ปี เป็นสามเณรพำนักอยู่วัดป่าสุทธาวาส ได้มีโอกาสเข้าไปปฏิบัติท่านพระอาจารย์บ้างบางโอกาส [/FONT] (หมายถึง เป็นช่วงที่พระอาจารย์มั่นมาพำนักที่วัดป่าสุทธาวาส 15 วัน ก่อนจะเดินทางต่อไปอยู่ที่บ้านนามน อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ขณะนั้นคงเป็น พ.ศ.2485 - ภิเนษกรมณ์) พระผู้ปฏิบัติใกล้ชิดขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิดก็มีพระคำดี [FONT=&quot]([/FONT]น้องชายพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร[FONT=&quot]) [/FONT] และพระผู้ช่วยอีก [FONT=&quot]3[/FONT] รูป
    ขณะนั้นพระมหาจันทร์ศรี จันททีโป [FONT=&quot]([/FONT]ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอุดมญาณโมลี วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี[FONT=&quot]) [/FONT] เป็นครูสอนอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส ท่านถือโอกาสเข้าไปปฏิบัติใกล้ชิดทุกวัน ท่านพระอาจารย์มั่นก็ดูเมตตาเป็นพิเศษ ท่านปล่อยให้พระมหาจันทร์ศรีทำข้อวัตรเต็มที่ ท่านมหาฯ ก็เอาใจใส่ มักถามนั้นถามนี้ และให้ท่านอธิบายธรรมให้ด้วย
    พระมหาจันทร์ศรีพบหน้าผู้เล่าเมื่อไหร่ มักพูดว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ทองคำ เราไม่ตาย อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะท่านพระอาจารย์มั่นแท้ๆ [FONT=&quot]" ([/FONT]ตายหมายถึงสึก[FONT=&quot]) [/FONT]
    [/FONT]
    การแต่งตั้งท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร
    <table id="table17" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระปัญญาพิศาลเถระ(หนู)
    </td> </tr> </tbody></table> ท่านพระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นศิษย์วัดไหน และสาเหตุที่พระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ได้รับอาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปทุมวนาราม[FONT=&quot]?
    เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้เมตตาเล่าไว้หลายครั้งหลายคราวและหลายปี ว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมและอบรมกัมมัฏฐานระยะที่ [FONT=&quot]2[/FONT] ของพระอาจารย์ทั้ง [FONT=&quot]3[/FONT] รูปนั้น ท่านได้มาศึกษาที่กรุงเทพมหานคร โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ [FONT=&quot]([/FONT]จันทร์ สิริจนฺโท[FONT=&quot]) [/FONT] วัดบรมนิวาส เป็นพระอาจารย์ แต่ทำไมท่านพระอาจารย์ทั้ง [FONT=&quot]3 [/FONT]รูป ไม่พักที่วัดบรมนิวาส แต่มาพักที่วัดปทุมวนาราม หรือวัดสระปทุม ปทุมวัน ทั้งนี้เพราะทั้ง [FONT=&quot]3 [/FONT] รูปมีความผูกพันกับวัดปทุมวนาราม
    วัดปทุมวนารามนี้เป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ [FONT=&quot]4[/FONT] ผู้ทรงเป็นต้นวงศ์คณะธรรมยุต ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ[FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot].2400 [/FONT] พร้อมทั้งได้ทรงอาราธนาเจ้าอธิการก่ำ จากวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระองค์สมัยที่ทรงผนวช มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปทุมวนาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนาที่ พระครูปทุมธรรมธาดา มีพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารจำนวนหนึ่ง เป็นพระอนุจรมาจำพรรษาด้วย
    พระอารามแห่งนี้อยู่ภายนอกพระนคร สถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติกัมมัฏฐาน เจ้าอาวาสรูปแรกและรูปต่อๆ มา มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร มีเฉพาะท่านเจ้าอาวาสรูปที่ [FONT=&quot]6[/FONT] คือ พระธรรมปาโมกข์ [FONT=&quot]([/FONT]บุญมั่น มนฺตาสโย[FONT=&quot]) [/FONT] เท่านั้นที่เป็นชาวกรุงเทพมหานคร
    ก่อนอุปสมบท พระธรรมปาโมกข์ท่านเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ [FONT=&quot]5[/FONT] ท่านเป็นนักเรียนของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบรุ่นแรก ท่านออกบวชในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ [FONT=&quot]5[/FONT] เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ [FONT=&quot]2[/FONT] พระเดชพระคุณมีชื่อคล้ายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และท่านได้ติดตามพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์ที่ภาคเหนือ และประเทศพม่า
    ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ [FONT=&quot]([/FONT]จันทร์ สิริจนฺโท[FONT=&quot]) [/FONT] วัดบรมนิวาส ได้ออกไปเรียนวิปัสสนาอยู่กับท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร [FONT=&quot]([/FONT]สิงห์[FONT=&quot]) [/FONT]เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม และได้เข้ามาจำพรรษาที่วัดปทุมวนารามใน พ[FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot].2439[/FONT]
    ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร [FONT=&quot]([/FONT]สิงห์[FONT=&quot]) [/FONT]เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม รูปที่ [FONT=&quot]3[/FONT] เมื่อก่อนพระคุณท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมวิโรจน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสต้นไปยังวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ทรงพบท่านเจ้าคุณพระธรรมวิโรจน์ [FONT=&quot]([/FONT]สิงห์[FONT=&quot]) [/FONT]ทรงเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติ เพราะพระคุณท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ปฏิบัติกัมมัฏฐาน จึงทรงอาราธนาให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปทุมวนาราม เพราะท่านพระครูปทุมธรรมธาดา [FONT=&quot]([/FONT]สิงห์ อคฺคธมฺโม[FONT=&quot]) [/FONT] เจ้าอาวาสรูปที่ [FONT=&quot]2[/FONT] มรณภาพ วัดยังว่างเจ้าอาวาส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนา ที่พระปัญญาพิศาลเถร พร้อมทั้งพระราชทานพัดงาสาน เป็นพัดยศสมณศักดิ์
    พัดงาสานนี้ พระราชทานเฉพาะพระราชาคณะเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ซึ่งได้รับพระราชทานมี [FONT=&quot]4[/FONT] รูป คือ
    [FONT=&quot]1.[/FONT] พระปัญญาพิศาลเถร [FONT=&quot]([/FONT]สิงห์[FONT=&quot]) [/FONT]เจ้าอาวาสรูปที่ [FONT=&quot]3[/FONT]
    [FONT=&quot]2.[/FONT] พระวิสุทธิญาณเถร [FONT=&quot]([/FONT]ผิว[FONT=&quot]) [/FONT]เจ้าอาวาสรูปที่ [FONT=&quot]4[/FONT]
    [FONT=&quot]3.[/FONT] พระปัญญาพิศาลเถร [FONT=&quot]([/FONT]หนู ฐิตปญฺโญ[FONT=&quot]) [/FONT] เจ้าอาวาสรูปที่ [FONT=&quot]5[/FONT]
    [FONT=&quot]4.[/FONT] พระธรรมปาโมกข์ [FONT=&quot]([/FONT]พระปัญญาพิศาลเถร บุญมั่น มนฺตาสโย[FONT=&quot]) [/FONT] เจ้าอาวาสรูปที่ [FONT=&quot]6[/FONT]
    หลังจากที่ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร [FONT=&quot]([/FONT]บุญมั่น มนฺตาสโย[FONT=&quot]) [/FONT] ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราชในราชทินนามเดิม จึงคืนพัดยศงาสานเล่มนั้นไปที่กรมการศาสนา หลังจากนั้นมา พัดงาสานก็ไม่ได้อยู่ที่วัดปทุมวนารามอีกเลย
    พระอาจารย์ทั้ง [FONT=&quot]3[/FONT] จึงถือว่าเคยอยู่สำนักวัดปทุมวนาราม[FONT=&quot] [/FONT] แม้แต่บทนิพนธ์ขันธะวิมุตติสมังคีธรรมะ ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเขียนขึ้น ก็ยังใช้คำว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]พระภูริทัตโต [FONT=&quot]([/FONT]หมั่น[FONT=&quot]) [/FONT]วัดสระประทุมวัน เป็นผู้แต่ง[FONT=&quot]" [/FONT] สมุดเล่มนี้ปรากฏอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
    ท่านพระอาจารย์มั่นได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า ในฤดูแล้งปีหนึ่ง ได้พากันจาริกไปธุดงค์แถวจังหวัดนครนายก วันหนึ่งเวลาว่าง ท่านพระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ได้เล่าความฝันให้เพื่อนสหธรรมิกที่ออกธุดงค์ด้วยกันฟังว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ท่านฝันว่าได้ลอยข้ามทุ่งกว้างมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตก แล้วลอยต่ำลงๆ จนถึงพื้นดิน ได้มีบุรุษ [FONT=&quot]4[/FONT] คน แต่งตัวคล้ายมหาดเล็กสมัยโบราณ บนศีรษะใส่กระโจมแหลมๆ เหมือนคนแต่งเป็นเทวดาเวลามีขบวนแห่ขบวนใหญ่ๆ ได้นำเสลี่ยงเข้ามาหา แล้วยื่นหนังสือพระบรมราชโองการ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวาย เสร็จแล้วนิมนต์ท่านขึ้นเสลี่ยงตั้งขบวนแห่แหนท่านเข้าเฝ้าถวายพระพร[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านตื่นพอดี
    หลังจากนั้นไม่นาน ก็เป็นจริงเหมือนตามฝัน ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิญาณเถร [FONT=&quot]([/FONT]ผิว[FONT=&quot]) [/FONT] เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามรูปที่ [FONT=&quot]4[/FONT] มรณภาพ จึงมีพระบรมราชโองการ อาราธนา พระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามรูปที่ [FONT=&quot]5[/FONT] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูปทุมธรรมธาดา พระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนา [FONT=&quot] [/FONT]แล้วได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวิปัสสนาในโอกาสต่อมา โดยพระราชทานพัดยศงาสานเป็นพัดยศสมณศักดิ์
    ท่านพระอาจารย์มั่นได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า การแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงที่สำคัญๆ ในสมัยนั้น เมื่อเจ้าอาวาสว่างลง หลังจากที่เลือกสรรผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสได้แล้ว ต้องเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชฯ จะทรงพิจารณา ถ้ามีความเหมาะสมด้วยประการใดแล้ว จึงนำเข้าเฝ้าถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    วัดปทุมวนารามก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิญาณเถร [FONT=&quot]([/FONT]ผิว[FONT=&quot]) [/FONT]มรณภาพลง สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ ได้ถวายพระพรสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าว่า วัดปทุมวนารามเป็นพระอารามที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระกัมมัฏฐาน และผู้คนที่อยู่ในบริเวณรอบวัดก็อพยพมาจากล้านช้าง ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาสก็มาจากพระกัมมัฏฐานและมาจากมณฑลอุบลราชธานี ในครั้งนี้ก็เห็นสมควรที่จะอาราธนา พระอาจารย์หนู ฐิตปญฺโญ ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานี มาเป็นเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นดีด้วย จึงได้มีพระบรมราชโองการอาราธนา พระอาจารย์หนู มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ [FONT=&quot]5[/FONT] ดังกล่าว
    (พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นสหธรรมิกที่รักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดียิ่งกับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพ่อลี ธมฺมธโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย - ภิเนษกรมณ์)
    [/FONT]
    ส่งศิษย์ปราบผี
    เมื่อครั้งท่านพระอาจารย์พำนักอยู่อำเภอโคกศรีสุพรรณ มีหลวงตารูปหนึ่ง สมัยหนุ่มเคยเป็นโยมอุปัฏฐากท่าน ไปนมัสการและอยู่ปฏิบัติธรรมด้วย ผู้เล่านั่งถวายงานพัด ท่านพระอาจารย์ถามหลวงตารูปนั้นว่า
    [FONT=&quot]"
    เคยไปบ้านนาหมีนายูงไหม[FONT=&quot]" [/FONT](ปัจจุบันคงเป็นอำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี - ภิเนษกรมณ์)
    [FONT=&quot]"[/FONT]เคยขอรับกระผม[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เป็นอย่างไรความเป็นอยู่ของเขา พอมีกินมีใช้ไหม ก่อนหน้าเราจะไปเชียงใหม่ เราพักอยู่แถวน้ำโสม ท่าบ่อ[FONT=&quot]" [/FONT](คือ บริเวณ อ.น้ำโสม.อุดรธานี และ อ.ท่าบ่อ.หนองคาย - ภิเนษกรมณ์)
    ท่านเล่าว่า สมัยนั้นเคยมีชาวบ้านมาหา และกราบเรียนว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ขอนิมนต์พระคุณเจ้าไปอยู่กับพวกกระผม ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่ดงนาหมีนายูง พวกกระผมจะไม่ให้ท่านพระอาจารย์อดอยาก จะผลัดเปลี่ยนกันลงมาเอาเสบียง[FONT=&quot]" [/FONT]
    ยุคนั้นเต็มไปด้วยป่าดงพงพี ไข้ป่าเอย อสรพิษเอย เสือโคร่งลายพาดกลอนเอย ภูตผีเอย มีเป็นธรรมดา
    หลวงตารูปนั้นถวายคำตอบว่า[FONT=&quot] " [/FONT] เดี๋ยวนี้เขาเป็นบ้านเป็นเมือง มีกินมีใช้แล้ว วัดก็เป็นวัดโดยสมบูรณ์ ผู้คนมีธรรมะเป็นประจำ ตั้งแต่นั้นมา[FONT=&quot]"[/FONT]
    [/FONT]
    <table id="table21" align="left" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    [FONT=&quot]หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ[/FONT]
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    ท่านฯ เล่าต่อไปว่า[FONT=&quot] "เหตุอะไรจึงมานิมนต์[FONT=&quot]"[/FONT]
    เขาเล่าว่า[FONT=&quot] "[/FONT]อย่างอื่นไม่กลัว กลัวแต่ผีอย่างเดียว ธรรมดาสัตว์ป่าจะเป็นช้างหรือเสือ กลัวไฟกับกลัวมนุษย์ หากเห็นไฟและได้ยินเสียงมนุษย์ มันจะหลีกหนีห่างออกไป แต่ผีนี้ซิ ยิ่งแหย่เหมือนยิ่งยุ เป็นตัวเป็นตนเหมือนคน ห้อยถุงย่ามไว้ มันมาปลดทิ้ง หม่าข้าวไว้ มันมาเททิ้ง อยู่ใกล้ๆ แต่ไม่เห็นตัว พวกเราติดไฟไว้ มันเข้ามาเอาฟืนออก เราถือพร้าอีโต้เข้าไปจะฟันมัน มันวิ่งหนี เราซัดฟืนใส่มัน มันกลับซัดฟืนมาหาเรา นี้ถ้าเราเฝ้าทับคนเดียว แต่พอหมู่กลับมา มันก็หายเข้าป่าไป เป็นอยู่อย่างนี้ ขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ช่วยปราบผีด้วย[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านฯ ว่า[FONT=&quot] "[/FONT]เราก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะเหตุการณ์อย่างนี้ยังไม่เคยพบ[FONT=&quot]" [/FONT]
    ส่วนสัตว์นั้นไม่น่ากลัว ติดไฟไว้จ้างก็ไม่เข้ามา ยิ่งช้าง ถ้ามีขวดเปล่าหรือกระบอกเล็กๆ เป่าสัญญาณขึ้น แค่นั้นก็วิ่งจนป่าราพณาสูรไปเลย เพราะมันสำคัญว่าเสียงสะไนของนายพรานช้าง
    [/FONT] ท่านพระอาจารย์มั่นปรึกษากับศิษย์ว่า ใครจะไปปราบผีครั้งนี้ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ รับอาสาโดยชวนพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไปด้วย พร้อมด้วยพระสหจร [FONT=&quot]4 รูป รวมเป็น [FONT=&quot]6[/FONT] รูป
    ก่อนออกเดินทาง ท่านพระอาจารย์เตือนศิษย์ให้มีสติ เจริญพระพุทธคุณ และกรณียเมตตสูตร แล้วกำหนดจิตเป็นปริมณฑล [FONT=&quot] 3[/FONT] รอบใกล้ตัว และกำหนดให้ปริมณฑลห่างออกไป และห่างออกไปอีก กำหนดเจริญกำแพง [FONT=&quot]7[/FONT] ชั้น ด้วยบทว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกฺขา ส่วนชาวบ้านให้เขาตั้งอยู่ในสรณะและศีล [FONT=&quot]5[/FONT] ก่อนนอนให้เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ[FONT=&quot] [/FONT]ครั้นเดินทางไปถึงที่พัก เห็นแต่ร่องรอยผีมารบกวน จัดสถานที่พักแล้ว นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผีพวกนั้นหายเข้าป่าไปเลย
    ปกติท่านไม่เคยส่งเสริมในเรื่องนี้ นอกจากมีเหตุ ศิษย์ส่วนมากจึงไม่ค่อยรู้เรื่อง
    [/FONT]
    ท่านพระอาจารย์โปรดโยมมารดา
    [FONT=&quot].[FONT=&quot].2487[/FONT] ผู้เล่ามีอายุ [FONT=&quot]21[/FONT] ปี ได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน วิสาขะแล้ว ท่านพระอาจารย์ปรารภจะไปจำพรรษาที่บ้านโคก (คือวัดป่าวิสุทธิธรรม บ้านโคก อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] [/FONT]พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ได้สร้างกุฏิคอยอยู่แล้ว การเดินทางไม่มีปัญหา เพราะระยะทางใกล้กิโลเมตรเศษๆ เท่านั้น ผู้เล่าโชคดี ท่านอนุญาตให้ติดตามมาด้วย
    เหลือเวลาอีก [FONT=&quot]20[/FONT] วันจะเข้าพรรษา ผู้เล่าได้รับข่าวร้าย มีพระมาบอกว่า มารดาเสียชีวิต จำลาท่านฯ กลับบ้านเกิด (ที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] [/FONT] เพื่อความระลึกถึงพระคุณมารดา ไม่มีสมบัติอะไร มีแต่บริขาร ไม่ได้คิดอะไร เมื่อพบบิดาและได้ดูหลุมศพมารดาก็พอ กลับถึงบ้านพัก มีกระท่อมพอได้อยู่อาศัย กลางวันไปป่าช้า เยี่ยมหลุมฝังศพมารดา อุทิศบุญบวชให้ เพราะไม่มีวัตถุอื่นจะถวายแก่พระสงฆ์
    จวนจะเข้าพรรษา ก่อนเดินทางกลับ บิดาได้มอบผ้าขาวให้ เป็นผ้าทอด้วยมือของแม่เอง แม่เสียชีวิตด้วยอาการคล้ายไข้ไทฟอยด์อย่างแรง เพียง [FONT=&quot]4[/FONT] วันก็เสียชีวิต ผ้าขาวผืนนี้ ก่อนแม่เสียชีวิต [FONT=&quot]1[/FONT] วัน ได้สั่งไว้ว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]หากเป็นอะไรไป ให้นำผ้าขาวนี้ไปถวายท่านพระอาจารย์มั่นด้วย พระลูกชายก็อยู่นั่น[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่าได้นำผ้าขาวนั้นไปถวายท่านพระอาจารย์ ทำผ้าอาบน้ำฝนได้ [FONT=&quot]2[/FONT] ผืน ท่านฯ สงเคราะห์รับผืนหนึ่ง สงเคราะห์ผู้เล่าผืนหนึ่ง ผู้เล่าเป็นผู้ตัดเย็บย้อมเสร็จ
    วันอธิษฐานพรรษาผ่านไปประมาณ [FONT=&quot]10[/FONT] วันเห็นจะได้ ผู้เล่านอนพักกลางวัน ฝันเห็นมารดา มาปรากฏเต็มร่าง แต่ดูท่านยังสาว บอกว่า
    [FONT=&quot]"[/FONT]ลูกเอย แม่ได้เสียชีวิตไปจากเจ้าแล้ว จะไม่ได้พบกันอีกชาตินี้ ชาติหน้าพบกันใหม่[FONT=&quot]" [/FONT]
    ดูท่านเป็นสาวสวยมีเสื้อผ้าอาภรณ์หลากสี[FONT=&quot] [/FONT]ในฝันนั้น คิดว่าแม่เราน่ารัก อยากเป็นเด็กดูดนมอีก คิดแค่นั้น ก็ตื่นขึ้น ทั้งสะอื้นทั้งน้ำตาทั่งเทออกมา ได้ยินถึงพระอาจารย์หลอด ปโมทิโต [FONT=&quot]([/FONT]ปัจจุบันท่านอยู่ที่วัดสิริกมลาวาส ลาดพร้าว กรุงเทพฯ [FONT=&quot]) [/FONT]ท่านเลยมาถาม ก็บอกไปตามเรื่อง พอได้เวลาไปทำข้อวัตร ก็ล้างหน้าอดกลั้น เหมือนไม่ได้เกิดอะไรขึ้น
    วันที่สอง ไม่ฝันแต่ร้องไห้เหมือนเดิม โธ่เอ๋ย[FONT=&quot]...[/FONT]ความรักของแม่กับลูกนี้ เป็นความโศกที่เต็มไปด้วยความคิดถึง ผสมความสดชื่น จากเมตตากรุณาของพระคุณแม่ พอได้เวลาไปทำข้อวัตร
    ท่านพระอาจารย์ถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ทองคำ ร้องไห้คิดถึงแม่หรือ[FONT=&quot]" [/FONT]
    เท่านั้นละปีติซาบซ่านไปทั้งตัว
    ท่านว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ไม่มีอะไรตายดอก ธาตุสี่เขาแยกกัน เขาอยู่ด้วยกันมานานแล้ว จิตก็ไม่ตาย แม่คุณเลื่อมใส รับศีลและสรณคมน์จากครูบาอาจารย์เสาร์ เขาไปสู่สุคติแล้ว[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot] [/FONT] สาธุ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้จริงๆ
    เลยสิ้นความสงสัยมาแต่วันนั้น และความโศกก็หายไปตั้งแต่วันนั้น[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    เหตุการณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2
    ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ครานั้นท่านพักอยู่ดอยอะไรจำไม่ได้ แต่เป็นชาวลีซอ ท่านมิได้สนใจเรื่องภายนอก มีแต่พิจารณาธรรมภายใน เช้าวันหนึ่งไปบิณฑบาต สังเกตเห็นชาวบ้านจับกลุ่มสนทนากัน มีท่าทางตื่นเต้น ฟังไม่ค่อยรู้ภาษา จำได้แต่ว่า ยาปาน ยาปาน พอกลับถึงวัด ท่านเลยถามเป็นภาษาคำเมืองว่า[FONT=&quot] "เขาพูดอะไรกัน[FONT=&quot]" [/FONT]
    ได้ความว่า ทหารยาปาน [FONT=&quot]([/FONT]ญี่ปุ่น[FONT=&quot]) [/FONT]บุกขึ้นประเทศไทย ที่เมืองสงขลา การรบได้เป็นไปอย่างหนักหน่วง มีแม่ค้าขายของเป็นประจำในตอนเช้าเข้าร่วมรบด้วย มีหัวหน้าชื่อนางสาวกอบกุล พร้อมนักรบแม่ลูกอ่อน มีทั้งแม่ลูกหนึ่งลูกสอง
    ท่านได้ฟังแล้วก็ยิ้มกับชาวบ้าน ถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]นักรบแม่ลูกอ่อนก็มีด้วยหรือ[FONT=&quot]"[/FONT]
    ต่อมาได้มีคำสั่งจากรัฐบาลถึงกองทัพ ให้ทหารไทยหยุดยิง โดยอ้างว่าญี่ปุ่นไม่ต้องการรบกับไทย ขอผ่านเฉยๆ แต่ทหารไทยประจำแนวหน้า พร้อมนักรบแม่ลูกอ่อนก็ไม่หยุดยิง ไม่ถอย ทหารญี่ปุ่นขึ้นบกไม่ได้ ตายเขียวไปทั้งทะเล ว่าอย่างนั้น จนรัฐบาลต้องส่งกองทหารอื่นเข้าไป สั่งให้ทหารญี่ปุ่นหยุดยิง ขอสับเปลี่ยนกองทหาร ทัพแนวหน้าและนักรบแม่ลูกอ่อน จึงได้หยุดยิงถอยเข้ากรมกอง ฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นจึงขึ้นบกได้
    ท่านก็ไม่ได้ถือเอาเป็นอารมณ์ คิดว่าเป็นกรรมของสัตว์ เจริญสมณธรรมตามปกติ วันรุ่งขึ้นพอจวนจะสว่าง ท่านวิตกขึ้นว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]ชะตากรรมประเทศไทยจะเป็นอย่างไรกันหนอ[FONT=&quot]"[/FONT]
    ปรากฏนิมิตว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ประเทศไทยคล้ายภูเขาสูง บนยอดมีธงไทย [FONT=&quot]3[/FONT] สี ปลิวสะบัดอยู่ และมีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เหนือธงไทย มองดูตีนเขาลูกนั้น มีธงชาติต่างๆ ปักล้อมรอบเป็นแถวๆ [FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านพิจารณาได้ความว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ประเทศไทยไม่เป็นอะไรมาก นอกจากผู้มีกรรมเท่านั้น และต่อไปนานาประเทศจะยอมรับนับถือ เพราะประเทศไทย พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เบียดเบียน รังแกข่มเหงเพื่อนมนุษย์และสัตว์ และประเทศไทยก็ไม่เคยข่มเหงประเทศใด นอกจากป้องกันตัวเท่านั้น ชาติต่างๆ จึงยอมรับนับถือเป็นกัลยาณมิตร[FONT=&quot]"[/FONT]
    [/FONT]
    <table id="table22" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    [FONT=&quot]ผ้ายันต์[/FONT]
    นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    อีกคราวหนึ่ง ท่านพักที่ดอยมูเซอ วันหนึ่งพระสยามเทวาธิราชพร้อมเทพบริวารได้พากันมากราบนมัสการ[FONT=&quot] ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ พอรายงานตัวเสร็จ ท่านถามวัตถุประสงค์
    พระสยามเทวาธิราชตอบว่า[FONT=&quot] "[/FONT]เวลานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ อย่างหนักหน่วง พวกข้าพเจ้าป้องกันเต็มที่[FONT=&quot]"[/FONT]
    หลวงปู่มั่น ถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]มีคนบาดเจ็บล้มตายไหม[FONT=&quot]"[/FONT]
    พระสยามเทวาธิราช ตอบว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]มี[FONT=&quot]"[/FONT]
    [/FONT] หลวงปู่มั่น ถามว่า[FONT=&quot]"ทำไมไม่ช่วย[FONT=&quot]"[/FONT]
    ตอบว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ช่วยไม่ได้ เพราะเขามีกรรมเวรกับฝ่ายข้าศึก จะช่วยได้แต่ผู้ไม่มีกรรม สถานที่สำคัญ และพระพุทธศาสนาเท่านั้น[FONT=&quot]"[/FONT]
    [/FONT] หลวงปู่มั่น ถามว่า[FONT=&quot] "มานี้ประสงค์อะไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    ตอบว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ขอให้ท่านบอกคาถาปัดเป่าลูกระเบิดไม่ให้ตกถูกที่สำคัญด้วย[FONT=&quot]"[/FONT]
    หลวงปู่มั่นจึงกำหนดพิจารณาหน่อยหนึ่งได้ความว่า
    [FONT=&quot] "[/FONT]นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา[FONT=&quot]"[/FONT]
    เมื่อบอกแล้ว เทพคณะนั้นก็อนุโมทนาสาธุการ แล้วลากลับไป
    (นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา คือ ส่วนหนึ่งของคาถายูงทอง หรือ โมรปริตร นั่นเอง คำนี้หลวงปู่มั่นใช้เขียนเป็นบนผ้าเป็นคล้ายผ้ายันต์มอบให้แก่โยมบางคน ปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์หลายประการ - ภิเนษกรมณ์)
    [/FONT]
    ผลของปาณาติบาต
    เรื่องนี้ผู้เล่าและท่านอาจารย์วัน ได้ฟังด้วยกัน ที่วัดป่าบ้านหนองผือ แต่เหตุเกิดที่เชียงใหม่ เหตุมาจากการเข่นฆ่ากัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ [FONT=&quot]2 บางท่านคงได้ยินว่า ศิษย์ของท่านติดตามหาท่านไม่พบ ท่านหนีเข้าป่าลึกจนศิษย์ตามไม่ถึง
    ท่านว่า ได้ยินข่าวภายนอกน้อยมาก เพราะไม่มีคนไปถึง คงพิจารณาธรรมตามปกติ
    วันหนึ่งขณะทำสมาธิอยู่ จวนจะสว่าง ปรากฏว่าท่านยืนอยู่บนที่สูง จะเป็นบนดิน บนภูเขา อากาศก็ไม่ใช่ คล้ายยืนอยู่บนก้อนเมฆ [FONT=&quot] [/FONT]มองดูรอบทิศ เห็นเตาไฟมีหม้อใบใหญ่ไฟแดงฉาน ทั้งเตาทั้งหม้อใบใหญ่บรรจุวัตถุได้มาก หากเป็นมนุษย์ก็เป็นร้อยๆ คน แต่ละลูกแดงฉานทั้งเตาทั้งหม้อ แต่มีเปลวไฟบ้าง ไม่ถึงกับบังวัตถุที่อยู่ในหม้อนั้น
    ท่านกำหนดพิจารณา จึงรู้ขึ้นมาว่า นี้คือทหารที่ตายในสงคราม พากันมาตกนรกแออัดกันอยู่อย่างนี้ พิจารณาดูแต่ละหม้อ ไม่ได้เลือกชาติว่าชาตินั้นต้องตกหม้อนั้น ชาตินี้ต้องตกหม้อนี้ ตกรวมกันหมด แต่ละหม้อแออัดก็จริง ดูเหมือนเต็มแล้ว แต่พวกที่ทยอยกันมาก็ยังตกได้อีก ถมเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม ท่านว่า
    ท่านพิจารณาต่อไปว่า [FONT=&quot]"[/FONT]เขาเหล่านั้นรู้สึกตัวไหม[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]รู้สึกทุกคน[FONT=&quot]"[/FONT]
    ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า[FONT=&quot] "[/FONT]พวกเราไม่น่าเลย เป็นเพราะนายแท้ๆ [FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]แล้วนายเล่า[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]นายยังไม่ตาย ถ้าตายละก็นายจะลงไปลึกกว่านี้ ชนิดพวกเราตามไม่ติด[FONT=&quot]" [/FONT]
    พวกสัตว์นรกเขาพูดกันเหมือนพูดเล่น ท่านว่า ลักษณะทหารแต่ละคนไม่มีอาวุธ มีแต่เครื่องแบบ แต่ละเอียดมาก ขนาดกระทะนรกที่เรามองเห็น เต็มแล้วลงได้อีก ชนิดถมเท่าไรไม่รู้จักเต็ม
    พอท่านเห็นเหตุดังนั้น จึงมาพิจารณาตามหลักแห่งสังสารวัฏ หรือทุกข์ในวัฏฏะ ได้ความว่า
    สัตว์หนาด้วยราคะ โลกฉิบหายด้วยไฟ
    สัตว์หนาด้วยโทสะ โลกฉิบหายด้วยลม
    สัตว์หนาด้วยโมหะ โลกฉิบหายด้วยน้ำ
    ท่านมาเฉลียวใจว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]สัตว์หนาด้วยราคะ โทสะ โมหะ แล้ว ทำไมผู้ฉิบหายจึงเป็นโลก ทำไมจึงไม่เป็นสัตว์ฉิบหายเล่า[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านอธิบายย่อๆ ว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]" [/FONT] ราคะ โทสะ และโมหะ นั้น เป็นผลของอวิชชา ที่กล่าวไว้ในธรรมจักร [FONT=&quot]([/FONT]สมุทัยสัจจะ[FONT=&quot]) [/FONT]ว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นผลมาจากอวิชชานั้นเอง[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ตัวเหตุคืออวิชชา ครอบงำจิตสันดานของสัตว์ เป็นผลให้สัตว์เกิดราคะ โทสะ โมหะ ทั้งสัตว์ทั้งโลกก็ฉิบหาย คือกระทบกระเทือนไปหมด ทั้งภายนอก คือ สัตว์และโลกทั้งปวง ทั้งภายใน คือ จิตสันดานของสัตว์แสดงออกมา มีแต่ฉิบหายกับฉิบหายอย่างเดียว[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ศาสนาภายนอกและภายใน
    ท่านพระอาจารย์สอนว่า อิริยาบถทั้ง [FONT=&quot]4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นนะสร้างบุญขึ้นมาได้[FONT=&quot] [/FONT]เช่น[FONT=&quot] [/FONT]เราเดินไปก็ระลึกพุทโธไป เรานั่งอยู่ก็ระลึกพุทโธ เรานอนอยู่ก็ระลึกพุทโธ พยายามทำให้มันติดต่อ ทำการทำงานก็ระลึกพุทโธอยู่ อย่างท่านฯ ไปสอนชาวบ้านนอกนะ ถึงฤดูทำไร่ เขาไปดายหญ้า สับจอบสับเสียมลงดิน ก็ให้ระลึกพุทโธ เวลาเกี่ยวข้าวก็เหมือนกันแหละ เกี่ยวกอหนึ่งก็พุทโธ เกี่ยวกอสองก็พุทโธ หมายความว่า[FONT=&quot] [/FONT]งานที่เราทำก็ได้ บุญเราก็ได้ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีปัญญา ทำการงานทุกอย่าง อย่าทิ้งพุทโธ เพราะเหตุไร เพราะว่าบุญเกิดทางใจ
    บุญนั้นไม่ได้เกิดแต่การบริจาคทานอย่างเดียว บุญเกิดจากการรักษาศีล บุญเกิดจากการภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญภาวนา เป็นบุญที่สามารถทำได้ไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่าหรือเด็ก หญิงหรือชาย หรือคนเจ็บป่วยก็ตาม สามารถทำได้
    คนที่มีสติปัญญา ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นบุญแล้ว ทำการทำงานก็เป็นบุญ ทุกสาขาอาชีพที่เป็นอาชีพบริสุทธิ์ ถ้าเราระลึกพุทโธคราวใด บุญก็เกิดขึ้นคราวนั้น ไม่ต้องหาไกล[FONT=&quot] [/FONT]คนมีปัญญาไม่ต้องหาไกล หาอยู่ในกาย หาอยู่ในวาจา หาอยู่ในจิต
    ศาสนานั้นอยู่ในธาตุ [FONT=&quot]4[/FONT] ขันธ์ [FONT=&quot]5[/FONT] อายตนะ [FONT=&quot]6 [/FONT] ท่านฯ บอกว่า มีกล่าวไว้ในคัมภีร์วินัย ขันธปัญญธาตุ อายตนะอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ในตัวเราหรอกหรือ เพราะเหตุนั้นศาสนาจึงอยู่ในตัวเรา สมบูรณ์แบบไม่บกพร่อง นอกจากเราจะเสริมสร้างให้มัน เพื่อให้เรารู้จักศาสนาในตัวของเรา นี่คือบุคคลผู้ที่เป็นพุทธแท้ ท่านบอกอย่างนั้น
    ศาสนายังแบ่งออกเป็นศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ศาสนาภายนอก คือ พระสงฆ์ สามเณร วัด กุฎี วิหาร ศาลาการเปรียญ เจดีย์ เป็นต้น ส่วนศาสนาภายใน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีอยู่แล้ว ตั้งอยู่ในบุคคล แต่บุคคลไม่รู้ว่า อะไรคือศาสนาภายนอก ภายใน การบำรุงพระพุทธศาสนาเราจะต้องบำรุงไปพร้อมกัน ภายนอกก็บำรุง ภายในก็บำรุง[FONT=&quot] [/FONT] ถ้าเราจะบำรุงแต่ภายนอก ทิ้งภายในเสีย เราก็ไม่รู้จักศาสนาอยู่ในตัวเราเอง
    อุปมาเปรียบเหมือน ทุกคนมีสองขา ขาหนึ่งมัดติดไว้เสียไม่ใช่ หมายความว่า เราเดินได้ แต่ไม่สะดวก นั่นคือรักษาแต่ศาสนาภายนอก ศาสนาภายในไม่รักษา
    เหมือนกันกับรักษาศาสนาภายใน ภายนอกไม่รักษา ก็เปรียบเหมือนมีสองขา แต่ใช้ขาเดียว
    เพราะฉะนั้นการบำรุงศาสนา จึงต้องบำรุงไปพร้อมกัน ทั้งศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ส่วนมากจะไม่เข้าใจอย่างนี้ ท่านจึงว่า ทำอะไรให้มีสติปัญญา[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    มงคลสถาน
    สถานที่ทั้งหมดเป็นมงคล ถ้าบุคคลทำตนให้เป็นมงคล
    มงคลสถานที่ขอเล่าเป็นนิยาม คือ ไม่กำหนดแน่นอน ตามที่ท่านพระอาจารย์บอก กำหนดดังนี้
    ทิศตะวันออก ตั้งแต่มุกดาหารเข้ามา
    ทิศใต้ ตีนภูเขา ตั้งแต่มุกดาหาร คำชะอี กุดสิม [FONT=&quot](
    อำเภอเขาวง[FONT=&quot]) [/FONT] ถึง อำเภอสหัสขันธ์
    ทิศตะวันตก ตั้งแต่อำเภอสหัสขันธ์ ถึง อำเภอสว่างแดนดิน
    ทิศเหนือ ตั้งแต่อำเภอสว่างแดนดิน เส้นทางสายอุดร[FONT=&quot]-[/FONT]สกลฯ จรดนาแก ธาตุพนม
    ภายในภูพานทั้งหมด เป็นมงคลสถาน เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม ภาวนาจิตสงบดี สามารถบรรลุมรรคผลได้ ท่านว่า เพราะเป็นมงคลสถาน[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ความอัศจรรย์ของท่านพระอาจารย์
    เมื่อครั้งพุทธกาล ขณะพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัททั้งสี่นั้น ทุกคนจะเงียบตั้งใจฟัง โดยแต่ละคนสำคัญในใจว่า พระพุทธเจ้าเทศน์ให้เราฟัง จำเพาะใช้ภาษาเรา อันนี้เป็นความรู้สึกของพุทธบริษัทเหล่านั้น ซึ่งมีหลายชาติหลายภาษา ท่านพระอาจารย์มั่นก็เช่นเดียวกัน ดังจะเล่าต่อไปนี้
    เมื่อท่านพระอาจารย์จำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น มีคนไทยเชื้อสายเวียดนามคนหนึ่ง ชื่อว่า อัมพร พงษ์เจริญ เป็นบุรุษพยาบาล ประจำโรงพยาบาลแขวงคำม่วน [FONT=&quot](
    ท่าแขก[FONT=&quot]) [/FONT]ประเทศลาว เป็นชาวญวนอพยพมาอยู่พังโคน ได้เปิดคลีนิครักษาคนไข้ เคยมารักษาท่านพระอาจารย์ เกิดความเลื่อมใส ฟังเทศน์ภาษาลาวและภาษาไทยได้ชัดเจน
    วันหนึ่งเธอพาลูกน้องมา [FONT=&quot]4-5[/FONT] คน เพิ่งอพยพมาใหม่ พูดภาษาลาวไทยไม่เป็น มานั่งฟังเทศน์ด้วย หลังฟังเทศน์จบก็กราบลากลับ ท่านพระอาจารย์พัก เธอและคณะนั่งพักอยู่ ผู้เล่าเดินไปหา เธอยกมือไหว้พร้อมคณะตามธรรมเนียมไทย
    เธอถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ท่านพระอาจารย์เป็นเวียดนามหรือเป็นไทย[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่า[FONT=&quot] "[/FONT]ไทยแท้ร้อยเปอร์เซนต์[FONT=&quot]"[/FONT]
    ถาม[FONT=&quot] "[/FONT]เอ๊ะ ทำไมท่านพูดภาษาเวียดนามได้[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่า[FONT=&quot] "[/FONT]ไม่ทราบ ได้ยินแต่ท่านพูดไทย[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ก็ท่านเทศน์เมื่อกี้นี้[FONT=&quot] [/FONT]เทศน์ภาษาเวียดนามทั้งนั้น พวกผมกำลังพูดกันเรื่องนี้อยู่ว่า รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ก็เหมือนเวียดนาม กำลังสนทนากันอยู่ว่า ท่านเป็นไทยหรือเวียดนาม[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่า[FONT=&quot] "[/FONT]เราก็ฟังอยู่ด้วยกัน ท่านไม่ได้เทศน์ภาษาเวียดนาม เทศน์ภาษาไทย[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เอ แปลกนะ[FONT=&quot] [/FONT] ผู้รู้ธรรมมีอัศจรรย์หลายอย่าง[FONT=&quot]" [/FONT]เธอพูด
    อีกเรื่องหนึ่ง เกิดที่วัดป่าบ้านหนองผือเหมือนกัน โยมเง็กหงษ์ เป็นชาวจีนมาอยู่เมืองไทย พูดไทยได้สะเปะสะปะ มาฟังเทศน์พร้อมคณะชาวจีนเหมือนกัน ภาษาใช้อยู่ใช้กินธรรมดาก็สะเปะสะปะ ภาษาธรรมะยิ่งแล้วใหญ่ แต่ชอบทำบุญตามประเพณีไทย ฤดูแล้งมาปฏิบัติธรรมถือศีลพร้อมคณะ กับท่านพระอาจารย์ทุกปี
    วันหนึ่งหลังฟังเทศน์แล้ว ไปนั่งสนทนากับพวกที่มาด้วยกัน เขาพูดภาษาจีนสนทนาเรื่องธรรมะที่ท่านพระอาจารย์เทศน์ ผู้เล่าก็เดินไปพบ นั่ง ณ ที่ควรแล้ว โยมก็กราบ ถามว่า
    [FONT=&quot]"[/FONT]พูดกันเรื่องเทศน์พระอาจารย์ เพราะท่านพูดจีน เทศน์ภาษาจีน[FONT=&quot] [/FONT]ฟังเข้าใจดี ฟังพระในกรุงเทพฯ เทศน์ภาษาไทยไม่ค่อยเข้าใจ เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นคนจีน รูปร่างผิวพรรณหน้าตาก็จีนทั้งนั้น[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่าจะตอบปฏิเสธก็เกรงว่าเขาจะหมดศรัทธา[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]แต่ท่านเทศน์พวกอาตมา พระเณรโยมชาวบ้าน เทศน์ไทย[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]นั่นนา ภาษาไทยก็เก่ง ภาษาจีนก็เก่ง นี้คือ[FONT=&quot] [/FONT]ผู้ปฏิบัติรู้แท้ เป็นเซียนองค์หนึ่งได้[FONT=&quot]" [/FONT]คือ คำพูดของโยมเง็กหงษ์
    อยากรู้ประวัติของโยมคนนี้ ถามได้ที่วัดอโศการาม ได้ยินว่าท่านไปเป็นชี หมดอายุที่นั่น[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    เทวดาป้องกันอากาศหนาวให้
    ท่านฯ เล่าว่า ปีนั้นท่านพักอยู่บนดอยมูเซอ พร้อมด้วยพระมหาทองสุก อากาศหนาวมากเป็นพิเศษกว่าทุกปี [FONT=&quot] หากมีเครื่องวัดก็คงจะติดลบหลายองศา ขนาดชาวบ้านไม่ยอมหนีจากกองไฟตลอดวันตลอดคืน ทั้งสองท่านก็รู้สึกหนาวมาก ติดไฟก็ไม่ค่อยจะติด น้ำค้างแข็งเป็นน้ำแข็งหมด เอาละตัดสินใจจะหนาวตายวันนี้ก็ยอม กลับขึ้นไปกุฏิ ท่านฯ ไหว้พระสวดมนต์เสร็จเข้าสมาธิทันที พอจิตสงบ ท่านเห็นบุคคลหนึ่งพร้อมบริวาร [FONT=&quot]4 [/FONT]คน ผู้เป็นหัวหน้าแต่งตัวแบบกษัตริย์ ทรงผ้าสีแดง มาชี้บอกให้บริวารกางผ้าม่านให้ท่านทั้ง [FONT=&quot]4 [/FONT]ทิศ ทั้งข้างบนข้างล่าง
    จึงกำหนดพิจารณาว่าเป็นใครนั่น แต่ไม่ได้ถามพระยาองค์นั้น เพราะเห็นกำลังสาละวนอยู่กับการกางผ้าม่าน รู้ในใจขึ้นมาว่า[FONT=&quot] [/FONT]เป็นท้าวเวสสุวรรณ มาป้องกันอากาศหนาวให้[FONT=&quot] [/FONT] โดยใช้ผ้าม่านสีแดงกางกั้นไว้ มีความอบอุ่นพอดีๆ เทวดาเหล่าก็ไปกางถวายพระมหาทองสุกด้วย พอกางเสร็จก็ไป แปลก ไม่บอกไม่ลาไม่ไหว้ ทำธุระเสร็จแล้วก็หายไป ไม่เหมือนเทพองค์อื่นๆ เวลาหา มีการกล่าวขานกัน แต่เทพนี้มาแปลก ท่านว่า
    อาการของม่าน เวลาจะไปบิณฑบาตหรือ ยืน เดิน นั่ง นอน ปรากฏว่าจะกางกั้นไว้ ไม่กว้างไม่แคบ พอดีๆ ตื่นเช้าถามพระมหาทองสุกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]หนาวไหม[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ไม่หนาว[FONT=&quot]" [/FONT]
    แต่ท่านจะรู้ว่ามีม่านกั้นหรือเปล่าไม่ได้ถาม แต่ตัวท่านพระอาจารย์เห็นม่านกั้นพระมหาทองสุกอยู่ พอไปบิณฑบาต ชาวบ้านร้องทักว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ตุ๊เจ้าบ่หนาวก๊าๆ [FONT=&quot]" [/FONT] ตลอดทาง
    ท่านว่าม่านนั้นค่อยๆ จางไป พร้อมกับอากาศค่อยอุ่นขึ้น จนบัดนี้ก็ไม่เคยเห็นท้าวเวสสุวรรณอีก
    [/FONT]
     
  6. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ถ้ำตับเตา
    <table id="table23" align="left" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    วัดถ้ำตับเตา
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    ถ้ำตับเตา หรือ ถ้ำดับเถ้า ภาษาของท่านพระอาจารย์ [FONT=&quot](ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่[FONT=&quot]) [/FONT] ถ้ำนี้เป็นสถานที่ท่านพระอาจารย์พิจารณาพระอภิธรรมปิฏก ท่านว่าพิจารณาได้ดี ไม่ติดขัด ละเอียดลึกซึ้งมาก นี้คือเหตุที่ท่านต้องไปเชียงใหม่[FONT=&quot] [/FONT]เพราะท่านพิจารณาแล้ว ภาคอื่นไม่เหมาะ ไม่สะดวกเหมือนภาคเหนือ
    ท่านเปรียบให้ฟังว่า[FONT=&quot] [/FONT] เหมือนปลาใหญ่ว่ายอยู่ในแม่น้ำแคบและตื้น พอมาพิจารณาที่ถ้ำตับเตาหรือถ้ำดับเถ้าที่ภาคเหนือนี้ เหมือนปลาใหญ่ว่ายออกสู่ทะเลหลวง จะเหวี่ยงหัวเหวี่ยงหางไปมาทิศไหนก็ไม่ขัดข้อง[FONT=&quot] [/FONT]ท่านว่าอย่างนี้
    ถ้ำแห่งนี้มีประวัติเกี่ยวพันกับพระอรหันต์ครั้งพุทธกาล [FONT=&quot]2[/FONT] รูปๆ หนึ่ง คือ ท่านพระภัคคุ หนึ่งในกษัตริย์ [FONT=&quot]6[/FONT] พระองค์นั้น (คือเจ้าศากยะที่ออกบวชพร้อมกัน 6 องค์ ได้แก่ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ พระภัททิยะ พระเทวทัต -ภิเนษกรมณ์) ท่านพระอาจารย์รู้ว่า ถ้าอยากรู้รายละเอียดของท่านพระภัคคุ ต้องเข้าฌานให้ละเอียดเหมือนควันไฟจึงจะรู้ แต่ท่านบอกว่าท่านทำไม่ได้ รู้แต่ว่าท่านพระภัคคุมานิพพานที่นี้
    [/FONT]
    พิธีเถราภิเษก
    15 วันที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส (ระหว่างที่ท่านเดินทางย้ายจากจังหวัดอุดรธานี มาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ในปี พ..2485- ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] มีเหตุการณ์ที่ควรนำมาเล่า คือ เรื่อง[FONT=&quot] "[/FONT]เถราภิเษก[FONT=&quot]" [/FONT]ภาษาอีสานเรียกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]กองฮด[FONT=&quot]" ([/FONT]ฮด หมายถึง รด หรือเทราดลงไป[FONT=&quot]) [/FONT] คือ นำผ้าไตรมา แล้วมีการสรงน้ำพระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ถวายบริขารใหม่ สมมติเป็นสมเด็จพระอุปัชฌาย์[FONT=&quot]([/FONT]ชา[FONT=&quot]) [/FONT]เป็นครู [FONT=&quot]([/FONT]ราชครู[FONT=&quot]) [/FONT]ลาภ [FONT=&quot]1 [/FONT]ลาภ [FONT=&quot]2 [/FONT]ไปเรื่อยๆ ชาวสกลนครได้นำไตรจีวรจะมาฮดมาสรง ท่านพระอาจารย์ไม่ยอมรับ
    ท่านอธิบายว่า[FONT=&quot] "[/FONT]เป็นประเพณีที่มีมาจากเวียงจันทน์ ที่อื่นไม่มี ครั้งพุทธกาลไม่มี[FONT=&quot] [/FONT] แล้วพวกญาติโยมจะมาแต่งอาตมาให้เป็นอะไรอีก เป็นพระ อาตมาก็เป็นแล้ว พระสงฆ์อุปัชฌาย์อาจารย์แต่งให้แล้ว เป็นพระโดยสมบูรณ์ คณะสงฆ์รับรองแล้ว[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]พระพุทธเจ้ามีใครไปฮดไปสรงให้เป็นพระพุทธเจ้าบ้าง ไม่มี พระองค์ตรัสรู้เอง พระสาวก พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ฮดไม่ได้สรง ทั้งพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้วได้บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน นี่มีอำนาจกว่า แล้วจะมาฮดสรงแต่งอาตมาให้วิเศษกว่าพระพุทธเจ้าหรือ[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]อันเรื่องเถราภิเษกหรือฮดสรงนี้ เป็นขัตติยประเพณี สำหรับอภิเษกแต่งตั้งพระมหาสังฆนายก สมเด็จพระสังฆราชต่างหาก มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ไม่ใช่ของราษฎรบุคคลสามัญจะทำกัน ทางเวียงจันทน์ก็ทำเหมือนกัน ครั้นราษฎรสามัญเห็นเข้า ขออนุญาตให้ราษฎรทำบ้าง ก็เลยเป็นประเพณี[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ส่วนพระผู้ถูกฮดถูกสรง ก็ไม่เห็นว่าวิเศษ ได้สำเร็จอะไร สึกหาลาเพศไปมีครอบครัวมีกิเลสถมเถไป ไม่เห็นวิเศษวิโสอะไร แล้วพวกท่านเป็นฆราวาส อาตมาเป็นพระ ตักน้ำมาฮดหัวอาตมาๆ เป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกท่าน แทนที่จะได้บุญกลับเป็นบาปเสียอีก[FONT=&quot]"[/FONT]
    มีโยมคนหนึ่งพูดขึ้นว่า[FONT=&quot] " [/FONT]ถ้าเช่นนั้นวัตถุทานนี้ ท่านไม่รับจะทำอย่างไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านก็บอกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ถวายสงฆ์สิ พระสงฆ์นั่งอยู่นี่เต็มไปหมด[FONT=&quot]"[/FONT]
    โยมได้กราบเรียนถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ถวายสงฆ์ทำอย่างไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ใครเป็นประธานก็ถวายองค์นั่น อาตมาไม่ใช่ประธานนะ อาตมาพระจรมาอาศัยชั่วคราว ก็ท่านมหาเส็งไงเล่า (คือ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)-ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] จะถวายต่อมือท่านก็ได้ [/FONT] [FONT=&quot] วางไว้ต่อหน้าก็ได้ เป็นบังสุกุล ได้บุญมาก[/FONT][FONT=&quot]" ท่านว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]"กล่าวคำถวายไหม" โยมถามอีก[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านว่า[/FONT][FONT=&quot] "กล่าวทำไม มนุษย์รู้เรื่องกันอยู่ [/FONT] [FONT=&quot] วางไว้ข้างหน้าก็พอแล้ว จะรับพรหรือไม่รับ ก็ได้บุญแล้ว [/FONT] [FONT=&quot]ได้ถวายท่านแล้ว ถ้ายังสงสัยก็เอาคืนไป[/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]โยมวางไว้เสร็จ ก็เป็นอันยุติ[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    บทเรียนอันมีค่า
    [FONT=&quot]เหตุการณ์ที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้ เกิดขึ้นขณะท่านพักอยู่วัดป่าสุทธาวาสเป็นเวลา [FONT=&quot]15 วัน[/FONT]
    [FONT=&quot]ก่อนจะจากวัดป่าสุทธาวาสไป ชาวสกลฯ มีขุนอร่ามรัชดากร ชื่อจำไม่ได้ นามสกุล สุคนธชาติ ได้กราบเรียนท่านพระอาจารย์ว่า [/FONT]
    [FONT=&quot]"ขอนิมนต์ให้ท่านพักนานๆ อยู่โปรดญาติโยมชาวสกลนคร ท่านอยู่แต่ป่ามานานแล้ว โปรดชาวเมืองด้วย" [/FONT]
    [FONT=&quot]ว่าแล้วก็ยกขันนิมนต์ถวายท่าน[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์ตอบว่า[/FONT][FONT=&quot] "อาตมาไม่รับ อาตมาไม่อยู่ ไม่มีประโยชน์ สู้อยู่ป่าไม่ได้"[/FONT]
    [FONT=&quot]โยมขุนฯ พูดขึ้นว่า[/FONT][FONT=&quot] "ไม่มีประโยชน์อย่างไรท่าน"[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์ตอบว่า[/FONT][FONT=&quot] "ก็ไม่มีประโยชน์ซิ จะให้อาตมาสั่งสอนพวกท่านให้เป็นอะไร จะสอนให้ฉลาด พวกท่านก็ฉลาดแล้ว จะสอนให้พวกท่านมีศีลมีธรรม พวกท่านก็มีแล้ว จะสอนให้พวกท่านมีกินมีทานมีใช้ พวกท่านก็มีแล้ว หรือจะให้อาตมาสอนให้พวกท่านเป็นแท่งทอง อาตมาสอนไม่ได้ อาตมาไม่รับ อาตมาไม่อยู่"[/FONT]
    [FONT=&quot]"ชาวบ้านนอกบ้านป่า มีอะไรหลายๆ อย่างที่เขายังขาดแคลน อาตมามีเรื่องจะสอนเขาอีกมาก ถ้าอาตมาไม่ไปสอน ก็ไม่มีใครสอน นั่นเป็นหน้าที่ของอาตมา หรือใครจะไปสอนแทนอาตมา อาตมาต้องไปสอนเขา เพราะไม่มีใครสอน"[/FONT][FONT=&quot] ท่านว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]เรื่องนี้ผู้เล่าจำไม่ลืม เป็นบทเรียนอันมีค่า เพราะในยุคนั้นไม่มีใครสอนจริงๆ นอกจากครูสอนเด็กเท่านั้น เป็นความจริงแท้ๆ [/FONT]
    [/FONT]
    อัศจรรย์ปัญญาถ้วน 5
    ท่านพระอาจารย์อธิบายคำว่า ปัญญาถ้วน [FONT=&quot]5 หมายถึง อินทรีย์ [FONT=&quot]5[/FONT] พละ [FONT=&quot]5 [/FONT] ให้ปัญญามีอยู่ในทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรมทุกอย่าง นับตั้งแต่การอยู่การกินการนุ่งการห่มการอยู่ในบ้าน เกี่ยวกับปัจจัยทั้ง [FONT=&quot]4[/FONT] ต้องใช้สติปัญญาทั้งนั้น การใช้สอยปัจจัย [FONT=&quot]4 [/FONT]จึงสมบูรณ์แบบ[FONT=&quot] [/FONT]ถ้าขาดสติปัญญา การใช้สอยปัจจัย [FONT=&quot]4 [/FONT]นี่ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อไม่สมบูรณ์แล้วความบกพร่องจึงเกิดขึ้น ทุกข์ก็จะเสริมเข้ามา ท่านว่าอย่างนั้น
    เช่น การใช้จ่ายทรัพย์นี้ ถ้านอกเหนือไปจากพระพุทธเจ้าบัญญัติแล้วนะ ทรัพย์ที่จ่ายไปไม่คุ้มค่า ท่านว่านะ แล้วทีนี้ประโยชน์ที่สอน คือ สัมปรายิกัตถะประโยชน์ จะเป็นสัทธาสัมปทา สีลสัมปทา จาคะสัมปทา ปัญญาสัมปทา ก็ยังอาศัยปัญญา แม้แต่ในโลกุตตระก็เหมือนกัน ถ้าขาดสติปัญญาแล้ว ไม่สามารถจะบรรลุโลกุตตระได้[FONT=&quot] [/FONT]
    ฉะนั้นทุกอย่างปัญญาจะต้องเข้าไปเสริมอยู่เสมอ ถ้าขาดปัญญาก็หมายถึงว่า ทุกสิ่งที่ราทำไปในชีวิตประจำวันไม่คุ้มค่า สูญเปล่า แม้แต่จะกวาดพื้นก็ดี ในบริเวณบนบ้านก็ดี ไม่ใช่ว่ากวาดแล้วให้มันกระจัดกระจายไป คือกวาดเอาไปรวมกันแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วจึงค่อยเก็บนำไปทิ้งในที่ทิ้งขยะนั้น
    ส่วนการปัดกวาดบริเวณวัดนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นสอนว่า โดยปกติเราจะกวาดออกจากที่อยู่ เช่น จากรอบกุฏินี้ออกไป เมื่อเรากวาดเสร็จแล้ว ก็จะเป็นบริเวณที่เราพัฒนาให้เป็นวัดหรือเป็นลานวัดแล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง
    ส่วนที่เลยขอบออกไปก็จะเป็นป่าธรรมชาติ ถ้าเรากวาดใบไม้ไปทับถมธรรมชาติ อันนั้นคือ ขาดปัญญาแล้ว เพราะแดนพัฒนาก็ให้เป็นแดนพัฒนา แดนธรรมชาติก็ให้เป็นแดนธรรมชาติ ที่ถูกต้องเราคือ จะต้องปัดกวาดจากแดนธรรมชาติเข้ามาข้างใน แล้วก็กวาดข้างในไปหาข้างนอก และเก็บเป็นกองๆ ไว้[FONT=&quot] [/FONT]จะเผาไฟก็ให้รีบสุมเสีย ปล่อยไว้ลมจะพัดไปได้ อีกวิธี คือ เราขุดหลุมไว้ เรากวาดแล้วไปเทลงหลุม หลุมเต็มก็ไปขุดใหม่
    ทีนี้หากว่าเรากวาดออกไปเรื่อยๆ บริเวณรอบกุฏิเรานี้มันจะต่ำลงและขอบจะสูงขึ้น นั้นคือ สิ่งแวดล้อมสกปรกแล้ว สิ่งที่เราพัฒนาก็แปรรูปไปแล้ว มันจะเป็นคล้ายๆ กับก้นกระทะ อันนั้นคือการขาดสติปัญญาได้อย่างหนึ่ง มันเสียอย่างหนึ่ง
    ท่านมักเตือนอยู่เสมอว่า กวาดเข้าไปทำไม ทำไมไม่กวาดออกมา มันไปกระทบกับสิ่งแวดล้อม[FONT=&quot] [/FONT]หมายความว่า สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ก็ให้อยู่ไปตามของเขา เราอย่าเอาไปใส่ ถ้าเอาไปใส่ มันจะกระทบสิ่งแวดล้อม พื้นที่พัฒนาแล้วก็อยู่ในสภาพที่พัฒนาแล้ว พื้นที่ยังไม่พัฒนาก็ให้เป็นป่า
    ในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นขอบโดยรอบ เพราะผู้ที่ตามมาภายหลังเขาไม่รู้จุดประสงค์ ที่ท่านพระอาจารย์มั่นปัดกวาดอย่างนี้ มันมีได้มีเสียอย่างไร นี้คือความไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นจึงว่า อัศจรรย์ปัญญาถ้วน [FONT=&quot]5 [/FONT] เราจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องมีปัญญาไปแทรกอยู่เสมอ ถ้าไม่มีปัญญาเข้าไปแทรก ก็หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นไม่สมบูรณ์แบบตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้ามีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด
    นี่คือความหมายในเรื่องนี้[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ท่านพระอาจารย์เป็นผู้พอ
    เรื่องการรับบริจาคปัจจัย [FONT=&quot]4 นั้น ดูจะมีขอบเขตคำว่า[FONT=&quot] "[/FONT]พอ[FONT=&quot]" [/FONT]หรือพอละ [FONT=&quot]([/FONT]อลํ[FONT=&quot]) [/FONT]ในกุฏิของท่าน นอกจากสิ่งจำเป็นสำหรับใช้สอยประจำวันแล้ว ไม่มีอะไรเลย ผู้เล่าเคยเอาไตรจีวรที่ท่านรับบังสุกุลไปเก็บไว้ในห้องท่าน ท่านไปเห็นเข้าดุตะเพิดผู้เล่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ใครเอาอะไรมาไว้ที่นี้[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]กระผมขอรับ[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เหอะ[FONT=&quot] [/FONT]เราไม่ใช่หลวงตาสารโมบโลภมาก รีบเอาหนี[FONT=&quot] [/FONT]ใครอยากได้ก็เอาไป[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านว่า
    ผู้เล่ารีบเอาไตรจีวรออกไปทันที
    แม้การรับบริจาคทานของท่านพระอาจารย์ เท่าที่ผู้เล่าเคยสังเกตมาหลายปี[FONT=&quot] [/FONT] ท่านพระอาจารย์จะเปิดโอกาสให้ผู้มีศรัทธาบริจาค ดูจะเป็นกาลเป็นสมัย เช่น กาลกฐินภายใน [FONT=&quot]30[/FONT] วัน วิสาขบูชาเดือน [FONT=&quot]6 [/FONT]เพ็ญ ภายใน [FONT=&quot]3 [/FONT]วัน คือ ขึ้น [FONT=&quot]14-15[/FONT] ค่ำ และแรม [FONT=&quot]1 [/FONT]ค่ำ ก่อนเข้าพรรษาเริ่มตั้งแต่เดือน [FONT=&quot]7[/FONT] แรมค่ำหนึ่ง ถึงเดือน [FONT=&quot]8 [/FONT]แรมค่ำหนึ่ง[FONT=&quot] [/FONT] ยกเว้นกรณีพิเศษบุคคลเหล่านี้ คือ หญิงมีครรภ์ คนชรา คนป่วย และคนจะไปสนามรบ ท่านจะอนุญาตเป็นพิเศษ[FONT=&quot] [/FONT]
    ผู้เล่าเคยเห็นท่านกวักมือเรียกเข้ามาเลย ถ้ามีบุคคลไปถวายทานในกาลในสมัยที่ว่านี้เปิดเต็มที่ ใครทันก็ทัน ใครไม่ทันก็ไม่ทัน
    นอกกาลถ้ามีคนมาถวายทาน ท่านจะถามว่า
    [FONT=&quot]"[/FONT]บุตร ภรรยา สามี บิดามารดาของท่าน พอหรือยัง อาตมา [FONT=&quot]([/FONT]บางทีท่านเรียก[FONT=&quot] "[/FONT]พระเฒ่า[FONT=&quot]" [/FONT]แทนตัวท่าน[FONT=&quot]) [/FONT] และภิกษุสามเณรรวมทั้งผ้าขาวที่อยู่กับอาตมาพอแล้ว ตั้งแต่กาลกฐินนั้น ถ้าบุตรภรรยาของท่านยังไม่พอ ให้ทานบุตรภรรยาของท่านเสียก่อน[FONT=&quot]"[/FONT]
    โยมก็พูดว่า[FONT=&quot] " [/FONT] กระผมอยากได้บุญกับท่านอาจารย์[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านบอกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]การให้บุตรภรรยา บิดามารดาก็ได้บุญเหมือนกัน[FONT=&quot]"[/FONT]
    บุตรภรรยาบิดามารดา เป็นหน้าที่ของกุลบุตรผู้ครองเรือน ต้องรับผิดชอบ[FONT=&quot] [/FONT] ท่านคงประสงค์ให้กุลบุตรเอาใจใส่ก่อนจะให้ใคร ให้นึกถึงท่านเหล่านี้ก่อน
    ในความรู้สึกของผู้เล่า ท่านพระอาจารย์คงมุ่งผลประโยชน์ของเศรษฐกิจในครอบครัวชาวบ้านมาก ต้องการให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ จึงไม่รบกวนชาวบ้าน เป็นอยู่อย่างสมถะจริงๆ เมื่อมีเศรษฐีหรืออิสรชนมาถวายทานท่านพระอาจารย์ กลับไปแล้วท่านมักบ่นให้ผู้เล่าฟังว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]พวกนี้มันมาอวดมั่งอวดมีต่อเรา[FONT=&quot]" [/FONT]
    นึกว่าท่านพระอาจารย์ยินดีจะได้ของดีๆ ราคาแพง ได้มากๆ ท่านกลับว่า มาอวดมั่งอวดมีกับท่าน
    ท่านพระอาจารย์มั่นเคารพนับถือให้เกียรติคณะปกครองบริหารทั้งสองคณะ [FONT=&quot]([/FONT]ธรรมยุตและมหานิกาย[FONT=&quot]) [/FONT]ท่านไปอยู่บ้านใดตำบลใด จะแจ้งให้เจ้าคณะตำบลนั้นทราบเสมอทั้งสองฝ่าย หากจะมีการก่อสร้าง จะปรึกษาและขอความเห็นจากผู้ปกครองเสียก่อน เห็นดีแล้วจึงทำ ท่านเป็นบุคคลถ่อมตน ไม่ถือว่าเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ มีคนนับหน้าถือตามาก ท่านไม่ลืมตัวว่า ท่านก็มาจากเด็กท้องทุ่ง[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    เมตตาชาวภูไท
    <table id="table24" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ [FONT=&quot]
    (
    จันทร์ สิริจนฺโท[FONT=&quot])[/FONT][/FONT]
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    ผู้เล่าเคยสังเกต ดูท่านจะไม่คลุกคลีด้วยกับบุคคลผู้มักเอาเปรียบ ข่มเหง รังแกสัตว์ โดยเฉพาะพวกฉ้อราษฏร์บังหลวง[FONT=&quot] ถึงไม่มีใครบอกท่านๆ ก็รู้ เข้าไปหา ท่านจะเฉยๆ ไม่ค่อยพูดด้วย ไม่ยินดีต้อนรับ
    ส่วนชนต่างชาติต่างภาษา ก็มีพม่าที่ท่านจะยอมรับและเคยไปจำพรรษา ส่วนชาวยุโรป[FONT=&quot] [/FONT] ดูจะเมตตาชาวรัสเซียเป็นพิเศษ[FONT=&quot] [/FONT] เพราะเหตุใดก็สุดวิสัยจะเดาได้
    ส่วนภูมิประเทศที่ไม่เป็นสัปปายะแก่ท่าน หากไม่มีความจำเป็นแล้วท่านก็จะไม่ไป เช่น อุบลราชธานี ผู้เล่าได้กล่าวไว้ว่า หลังจากท่านกลับจากลพบุรีสู่กรุงเทพฯ แล้ว ท่านพระอาจารย์ได้สนทนากับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ [FONT=&quot]([/FONT]จันทร์ สิริจนฺโท[FONT=&quot]) [/FONT] ว่า มีวาสนาจะสอนหมู่ได้ไหม แล้วท่านก็กลับอุบลฯ ไปยังวัดพระอาจารย์เสาร์ พร้อมด้วยพระอาจารย์สิงห์และพระมหาปิ่น
    ระหว่างเดินธุดงค์รุกขมูลอยู่ถิ่นอุบลฯ ถูกต่อต้านจากชาวบ้านอย่างแรงด้วยวิธีการต่างๆ สารพัด ท่านว่า จึงได้ชวนพระอาจารย์เสาร์ มุ่งหน้าสู่มุกดาหาร คำชะอี หนองสูง ถิ่นนี้เป็นที่อยู่ของชนเผ่าภูไท สถานที่สัปปายะ เหมาะแก่การแสวงวิเวก และชาวบ้านก็ให้ความอุปถัมภ์บำรุงด้วยศรัทธาและเลื่อมใส ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งชีวิตจนกระทั่งเบื้องปลายแห่งชีวิต ก็ได้อาศัยชนเผ่าภูไทนี้แหละ
    บางคนสงสัยได้กราบเรียนถามท่านว่า เหตุใดท่านพระอาจารย์มักอยู่กับพวกภูไท ท่านตอบว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เพราะชาวภูไทว่าง่ายสอนง่าย[FONT=&quot]"[/FONT]
    ศิษย์ของท่านที่เป็นชนเผ่าภูไทมีชื่อเสียงหลายรูป เช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร เป็นต้น
    ท่านได้กลับไปอุบลฯ สองครั้ง ครั้งแรกกลับไปส่งมารดา ก่อนขึ้นไปเชียงใหม่ ครั้งที่สองไปทำฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์เสาร์ หลังจากนั้นก็ไม่เคยไปอีกเลย[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    รอยพระพุทธบาท
    ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องรอยพระพุทธบาท ที่อยู่จังหวัดสระบุรีว่า[FONT=&quot] เป็นรอยพระพุทธบาทแท้[FONT=&quot] [/FONT]ตามตำนานปรัมปราว่า ประทานแก่ฤาษีหรือนายพราน แต่ท่านพระอาจารย์ว่า ทรงประทานไว้แก่สามเณรเรวตะ ผู้เป็นน้องชายพระสารีบุตร
    ท่านพระอาจารย์เคยไปนมัสการเล่าว่า มีมณฑปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้มีคนเฝ้ารักษา ท่านอยากดูภาพมงคล [FONT=&quot]108[/FONT] ในรอยพระพุทธบาท แต่คนเฝ้าไม่ยอมเปิด อ้างว่าไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต เลยไม่ได้ดู ท่านว่า
    ส่วนรอยที่[FONT=&quot] 2[/FONT] ชื่อว่า[FONT=&quot] [/FONT] [FONT=&quot]"[/FONT]พระบาทฮังฮุ้ง[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] ([/FONT]รังเหยี่ยวใหญ่[FONT=&quot]) [/FONT]พระพุทธบาทนี้ ประดิษฐานอยู่ที่โยนกประเทศ อยู่ที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า
    รอยพระบาทนี้ประทานแก่[FONT=&quot] [/FONT]อชิตฤาษี ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์[FONT=&quot] [/FONT]จะมาตรัสรู้ข้างหน้า เคยเป็นพระสหาย สงเคราะห์กันมาหลายภพหลายชาติ ประทานไว้บนแผ่นหิน
    ความว่า หลังจากเสด็จเยี่ยมฤๅษี ได้สนทนาร่าเริงกันแล้ว ฤๅษีได้ถวายผลไม้ พร้อมทั้งต้มน้ำกระดูกสัตว์ถวาย ก่อนเสด็จกลับ ฤๅษีขอรอยพระบาทไว้เป็นที่ระลึก
    พระองค์ตรัสถาม[FONT=&quot] "[/FONT]จะไว้ที่ไหน[FONT=&quot]"[/FONT]
    ฤๅษีกราบทูลว่า[FONT=&quot] "[/FONT]บนแผ่นหินมีรังเหยี่ยวใหญ่อาศัยเลี้ยงลูกอยู่[FONT=&quot]"[/FONT]
    พระองค์ตรัสถาม[FONT=&quot] "[/FONT]ทำไมจึงให้ประทับไว้ที่นั่น[FONT=&quot]"[/FONT]
    ฤๅษีกราบทูลว่า[FONT=&quot] " [/FONT] ในวันฝนตก ไม่ได้ออกไปหาผลไม้ ข้าพระองค์ได้อาศัยเก็บกระดูกสัตว์มาต้มบริโภค ถ้าพระองค์ประทานรอยไว้ที่นั่น วันที่ขึ้นไปเก็บกระดูกสัตว์ จะได้ทำความสะอาด และกราบนมัสการด้วย[FONT=&quot]"[/FONT]
    พระบาทฮังฮุ้ง เรียกตามภาษาท้องถิ่นเชียงใหม่กับเชียงตุง พระอาจารย์มนูเคยไปกราบนมัสการ เล่าให้ฟังว่า พระบาทฮังฮุ้งนี้อยู่บนแผ่นหินที่ตั้งขึ้นไป ไม่มีทางขึ้น เจ้าเมืองเชียงตุงทำบันไดเวียนขึ้นไปแต่นานแล้ว บันไดตอนกลางต่อโซ่ใส่พอได้ปีนขึ้นไป แต่ผู้หญิงหรือคนไม่แข็งแรงขึ้นไม่ได้ พระอาจารย์มนูตั้งใจจะขึ้นไปพักภาวนา แต่พอขึ้นไปแล้ว แผ่นหินนั้นเหมือนหลังช้าง ไม่มีที่ให้พัก บริเวณไม่กว้าง ประมาณ [FONT=&quot]10[/FONT] วา รอบปริมณฑล เอาบริขารไปด้วย พะรุงพะรังลำบาก ขากลับ นำเอาบริขารพะรุงพะรังกลับลงมา ถ้าพลัดตกลงมาคงไม่ได้กลับบ้านเรา
    เรื่องพระพุทธบาทท่านเล่าแค่นี้[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ความสมบูรณ์พร้อมของประเทศไทย
    เรื่องอริยบุคคลนี้ ท่านพระอาจารย์ปรารภไว้หลายสถานที่หลายวาระ ต่างๆ กันแล้วแต่เหตุ
    ท่านเล่าว่า ชาวพุทธมีหลายประเทศ แต่จะขอกล่าวเฉพาะใกล้เคียง เขมร ลาว เวียดนาม และพม่า นอกนี้ไม่กล่าว
    ท่านพระอาจารย์บอกว่า[FONT=&quot] "
    เราไม่ได้ว่าเขาเหล่านั้น แต่ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีก็ว่าไม่มี มีก็ว่ามี[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านพระอาจารย์หมายถึง พระอริยบุคคลในประเทศเหล่านี้ มีที่ประเทศพม่าเพียงคนเดียว คือ หมู่บ้านที่ท่านไปจำพรรษา เป็นผ้าขาว ที่ผู้เล่าเคยเล่าว่า บุตรสาว บุตรเขย และบุตรชายของตาผ้าขาวนั้นละ ที่มาจัดเสนาสนะของบิดาเขาถวายท่านพระอาจารย์และท่านเจ้าคุณบุญมั่น ครั้งจำพรรษาที่ประเทศพม่า
    ท่านว่า[FONT=&quot] [/FONT] [FONT=&quot]"[/FONT]ยกเว้นสยามประเทศแล้วนอกนั้นไม่มี[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]สำหรับสยามประเทศ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน มีติดต่อมาโดยไม่ขาดสาย ทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงและบรรพชิต แต่มรรคขั้นต้นคฤหัสถ์มากกว่า ทั้งปริมาณและมีสิกขาน้อยกว่า[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านเล่าต่อไปว่า เราไม่ได้ว่าเขา เราไม่ได้ดูหมิ่นเขา เพราะประเทศเหล่านั้นขาดความพร้อม คือ คุณสมบัติหลายอย่าง เช่น เรื่องอักขระ ที่ไม่เป็นพุทธภาษา คือ ฐานกรณ์วิบัติ และองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ[FONT=&quot] [/FONT] องค์พระมหากษัตริย์ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานี้ก็สำคัญ ขาดไม่ได้ ถ้าขาดไป อริยบุคคลก็ขาดไปด้วย
    ท่านพระอาจารย์ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงประกาศพระศาสนา ทรงหาหลักค้ำประกันอันมั่นคง คือ มุ่งไปที่พระเจ้าพิมพิสาร ความสำคัญอันนี้มีมาตลอด หากประเทศใดไม่มีองค์ประกอบนี้ ซึ่งเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ก็ปฏิเสธได้เลย
    เปรียบเหมือนกับก้อนเส้า [FONT=&quot]3[/FONT] ก้อน ก้อนที่ [FONT=&quot]1[/FONT] คือ ความเป็นชาติ ก้อนที่ [FONT=&quot]2[/FONT] มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก้อนที่ [FONT=&quot]3[/FONT] มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หากขาดไปก้อนใดก้อนหนึ่ง ก็จะขาดความสมบูรณ์ไป ไม่สามารถจะใช้นึ่งต้มแกงหุงหาอาหารได้[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    เหตุที่ผู้ฟังเทศน์ไม่ยอมลุกหนี
    ตลอด [FONT=&quot]30 กว่าปี ที่ท่านพระอาจารย์แนะนำสั่งสอนพุทธบริษัทชาวไทยมา ดูท่านจะแนะนำสั่งสอน แนวประโยชน์ทั้ง [FONT=&quot]3[/FONT] ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ถือเป็นหลักสำคัญพอๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน[FONT=&quot] [/FONT] ทุกครั้งแห่งพระธรรมเทศนา ท่านจะไม่ละประโยชน์ทั้ง [FONT=&quot]3[/FONT] ทั้งอ้างที่มาในพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรมไปพร้อมๆ กัน
    ศิษย์ของท่านที่ได้เขียนได้เล่าประวัติของท่าน มักเล่าแต่หลักเป็นส่วนมาก เขียนหรือเล่าปลีกย่อยน้อยมาก[FONT=&quot] [/FONT] แต่ศิษย์เก่ากำลังจะเล่านี้ จะเล่าทั้งเหตุและผล พร้อมทั้งที่มาที่ไปพร้อมๆ กัน พอเป็นการเกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ผู้ได้ฟังเป็นที่ตั้ง
    ท่านพระอาจารย์จะแสดง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ มรรคผล นิพพาน อันเป็นสัมปรายิกัตถะและปรมัตถะก็ดี จะนำประโยชน์ทั้ง [FONT=&quot]2[/FONT] นี้มาเปรียบเทียบกับทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ แบบสัมพันธ์เป็นวงจรหรือวัฏจักรเสมอ เพื่อเปรียบเทียบ
    เหตุนี้ธรรมของท่านพระอาจารย์ ผู้ฟังไม่ยอมลุกหนี ถ้าท่านเทศน์ไม่จบจะไม่ยอมลุกหนี เพราะชวนฟังตลอด และคล้ายเป็นของง่าย เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก นำไปปฏิบัติก็เป็นผล ประสบความสำเร็จจริง ตามสมควรแก่การปฏิบัติ
    ขอกล่าวถึง[FONT=&quot] [/FONT]อุปนิสัยและปฏิปทา[FONT=&quot] [/FONT]ของท่านพระอาจารย์ก่อน ผู้เล่าสังเกตว่า ท่านมีความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจสัมพันธ์ และพลานามัยพร้อมมูล กล่าวคือ[FONT=&quot] [/FONT]มักน้อยสันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ฉันหนเดียวในบาตร และอยู่ป่าเป็นวัตร เสมอต้นเสมอปลายจนท่านละสังขาร
    ปฏิปทาและวัตรที่กล่าวมานี้ ผู้เล่าเคยถวายความเห็นให้เว้นในวัตรบางข้อ เช่น ฉันหนเดียว ท่านก็ไม่ยอม ท่านบอกว่า หนเดียวก็มีค่าเพียงพอแล้ว ท่านมักยกเอาพระมหากัสสปะ มาเป็นอุทาหรณ์บ่อยๆ
    ท่านแสดงถึงประโยชน์ [FONT=&quot]2[/FONT] คือ ประโยชน์เป็นที่ไปพร้อมในเบื้องหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ท่านจะยกมาเปรียบเทียบกับประโยชน์ในปัจจุบัน เปรียบด้วยการทำนา หวังผล คือ ข้าวสุก เพื่อใช้บริโภค
    ท่านกล่าวว่า ในปัจจัย [FONT=&quot]4[/FONT] เหตุที่เอาผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มเป็นข้อ [FONT=&quot]1[/FONT] นั้น เพราะคนเราเกิดจากครรภ์มา หลังจากชำระสะอาดแล้ว จะเอาผ้ารองรับก่อน ส่วน [FONT=&quot]3[/FONT] อย่าง คือ เศรษฐกิจ ปัจจัยอื่นและครอบครัว จึงตามมา
    ท่านว่าปัจจัย [FONT=&quot]4[/FONT] สำหรับบรรพชิต พระพุทธเจ้าทรงถือเป็นพื้นฐานของมรรคผลธรรมวิเศษที่พระองค์ตรัสรู้ ตลอด [FONT=&quot]45[/FONT] พรรษาที่ตรัสเทศนาแก่พุทธบริษัท จึงทรงแสดงเป็นอเนกปริยาย ทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม
    สำหรับคฤหัสถ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งคุณและโทษ ดังสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแสดงไว้ในหนังสือนวโกวาท ภาคคิหิปฏิบัติ ตั้งแต่จตุกกะ คือ หมวด [FONT=&quot]4[/FONT] ถึง ฉักกะ คือ หมวด [FONT=&quot]6[/FONT] อยากรู้รายละเอียดโปรดค้นดูได้ในหนังสือนวโกวาท
    จะกล่าวตามแนวท่านพระอาจารย์มั่น พอเป็นตัวอย่าง
    ผู้ทำนาจะได้ผล คือข้าวสุก นำมาบริโภคอย่างอร่อย อิ่มหนำสำราญ พร้อมบุตรและภรรยานั้น เริ่มตั้งแต่การไถ หว่าน ต้องหมั่นเอาใจใส่ เมื่อปักดำแล้วก็คอยดูแลคันนา น้ำ หญ้าที่เป็นศัตรูข้าว และแมลงต่างๆ โดยน้ำอย่าให้ขาด
    ท่านพูดเป็นคำพังเพยว่า[FONT=&quot] [/FONT]นาน้ำลัด นาน้ำล่วง นาหมาเห่าเมีย[FONT=&quot] [/FONT]หมายความว่า นาที่คันนาขาด คันนารั่ว น้ำไม่มีขังอยู่ ข้าวก็ไม่ได้ผล ข้าวไม่พอกิน อดอยากข้าว เมียก็หาของฝาก ยุคโบราณมีไต้ ชาวอีสานเรียกว่า กระบอง [FONT=&quot]([/FONT]ขี้ไต้มัดรวมกัน [FONT=&quot]10[/FONT] ท่อน เรียกว่า ลึมกระบอง[FONT=&quot]) [/FONT]นำไปแลกข้าวบ้านอื่น หมาก็เห่า จึงกล่าวว่านาหมาเห่าเมีย เพราะนาขาดการดูแล ข้าวจึงไม่พอกิน
    อันนี้เป็นเรื่องความเจริญในแบบเศรษฐกิจครอบครัว
    ส่วนเรื่องความเสื่อมทางเศรษฐกิจ ท่านแสดงไว้ว่า อิตฺถี ทูโต สุรา ทูโต อกฺขา ทูโต ปาปมิตฺโต จโย นิโร ลฺทธํ ลทฺธา วินาเสติ ความเป็นนักเลงหญิง การเป็นนักเลงการพนัน การเป็นนักเลงสุรา การคบคนชั่วเป็นมิตร ผู้ใดประพฤติเช่นนี้ ทรัพย์ที่ได้ก็จะเสื่อมไป[FONT=&quot] [/FONT]ท่านเทศน์อย่างนี้บ่อยๆ ขอเล่าพอสังเขป
    [/FONT]
    ลีลาแสดงธรรมของท่านพระอาจารย์
    ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ ผู้ฟังไม่ลุกหนี เพราะลีลาการแสดงธรรมของท่าน มีอ้างคัมภีร์บ้าง เช่น ธรรมบท ขุทฺทกนิกาย หนังสือที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่บุคคลนั้นที่นั้น เป็นต้น
    หากแสดงแก่บรรพชิต คือ พระที่เข้าไปนมัสการฟังธรรมเป็นครั้งคราว หรือศิษย์ที่อยู่ประจำ ดูจะอ้างอิงคัมภีร์มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหนังสือที่ทรงรจนาโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส[FONT=&quot]
    เช่น บทสวดต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแสดง มีจตุรารักขกัมมัฏฐาน เป็นต้น ส่วนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ นั้น[FONT=&quot] [/FONT]จะเน้นนวโกวาท วินัยมุข และพุทธประวัติ
    พุทธประวัตินั้น จะไม่ละเลยแม้แต่ครั้งเดียว
    ลีลาการแสดงธรรมต่างๆ ของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเอามาจากพระไตรปิฎกบ้าง แม้ในคัมภีร์ในนิทานต่างๆ เช่น คัมภีร์พระเวสสันดร อุณหิสสวิชัยสูตร ปัญญาปารมีสูตร หรือพระนิพนธ์ต่างๆ ของสองพระองค์ดังกล่าว ก็นำมาแสดง ท่านมิได้แสดงเป็นอย่างอื่น แต่ทำไมศิษย์และผู้ฟังจึงเคารพเชื่อฟังและเลื่อมใส
    ท่านว่า[FONT=&quot] [/FONT] [FONT=&quot]" [/FONT] ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสัจธรรม
    สามัญชนพูด [FONT=&quot] [/FONT]มีค่าเท่ากับ [FONT=&quot] [/FONT]สามัญโวหาร
    กัลยาณชนพูด มีค่าเท่ากับ [FONT=&quot] [/FONT]วิสามัญโวหาร
    พระอริยเจ้าพูด เป็นพระอริยโวหาร
    มีค่าต่างๆ กันดังนี้ เปรียบด้วยข้าว เปลี่ยนให้มีรสชาติยิ่งหย่อนกว่ากันได้[FONT=&quot] "[/FONT]
    ที่เล่ามานี้คือ สูตรประจำ ปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์เสาร์[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ยกย่องพระมหาเถระ
    <table id="table16" align="left" border="0" width="105"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
    (ติสฺสเถระ อ้วน)
    </td> </tr> </tbody></table> สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ [FONT=&quot](อ้วน ติสโส[FONT=&quot]) [/FONT] เป็นพระมหาเถระอีกองค์หนึ่งที่ท่านพระอาจารย์ยกย่อง ด้วยคุณสมบัติพิเศษ
    [FONT=&quot]- [/FONT] เป็นนักปกครองชั้นเยี่ยม
    [FONT=&quot]- [/FONT] มีความซื่อสัตย์
    [FONT=&quot]- [/FONT] มีผลงานที่ผู้บังคับบัญชายอมรับ
    [FONT=&quot]- [/FONT] มีความขยันและอดทนสูง
    [FONT=&quot]- [/FONT] ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ใช่พระอริยเจ้า
    ข้อ [FONT=&quot]1[/FONT] ไม่กล่าวถึง คนทั่วไปก็รู้ ข้อ [FONT=&quot]2[/FONT] ท่านเป็นธุระสนองงานให้คณะสงฆ์ ตั้งแต่อายุ [FONT=&quot]23[/FONT] ปีมาตลอด ผลงานเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา เป็นผู้มีความอดทนสูงและขยัน ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ในทำเนียบพระเถระฝ่ายบริหารว่า ไม่มีใครเทียบเท่า
    สมัยไปเป็นเจ้าคณะมณฑลจำปาศักดิ์ ต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าจากจำปาศักดิ์สู่กรุงเทพฯ เพื่อรายงานราชการคณะสงฆ์ และให้คำแนะนำในการทำมาหากินแก่ชาวบ้าน อันเป็นนโยบายของ [FONT=&quot]3 [/FONT]พระองค์พ่อลูก [FONT=&quot]([/FONT]พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส[FONT=&quot]) [/FONT] ที่ให้ไว้แก่คณะสงฆ์ในสมัยนั้น แม้ท่านพระอาจารย์ก็ยึดถือมาตลอด ดังคำอบรมศิษย์ผู้จะออกแสวงวิเวกว่า การสอนคนหมายถึงสอนชาวบ้าน[FONT=&quot] [/FONT] ต้องสอนปากสอนท้องให้เขาอิ่มก่อน จึงสอนศีลธรรม
    สมเด็จฯ นำคณะเดินทางจากจำปาศักดิ์ มาถึงช่องเม็กจะเข้าเขตอุบลราชธานี บังเอิญพระที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน ล้มป่วยเสียชีวิตลง เหลือโยมคอยนำเสบียงเดินทาง [FONT=&quot]2[/FONT] คน เดินทางมาด้วยกัน [FONT=&quot]4[/FONT] คน ตายเสียคนหนึ่ง ช่วยกันหาฟืนเผาเสร็จแล้ว ห่อกระดูกใส่ย่าม สะพายมามอบแก่มารดาบิดาของเธอ ทั้งหนักกระดูกตนเอง แล้วยังหนักกระดูกเพื่อน ท่านพระอาจารย์เล่าไปหัวเราะไป[FONT=&quot] [/FONT] ท่านชมเชยความอดทนสูงของสมเด็จฯ มาก[FONT=&quot] [/FONT]สมเด็จฯ ท่านปฏิบัติหน้าที่มาจนแก่เฒ่า ได้พักไม่กี่ปีก็มรณภาพ
    (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เกิดเมื่อ พ..2410 ที่จังหวัดอุบลราชธานี อุปสมบทเมื่อ พ..2430 ที่วัดศรีทอง โดยมีท่านพระเทวธมฺมี (ม้าว) เป็นพระอุปัชฌาย์ มรณภาพเมื่อ พ..2499 ณ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ สิริรวมอายุได้ 89 ปี - ภิเนษกรมณ์)
    [/FONT]
    ความเป็นมาของมุตโตทัย
    <table id="table25" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระอริยคุณาธาร [FONT=&quot]
    (เส็ง ปุสฺโส
    [FONT=&quot])[/FONT][/FONT]
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น เวลาได้ฟังท่านพระอาจารย์พูดคำใดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นที่พอใจ ผู้เล่าก็จะนำมาเขียนซ้ำ แม้แต่ท่านอาจารย์วิริยังค์ ท่านอาจารย์วัน ก็มีความคิดแนวเดียวกัน ทั้ง [FONT=&quot]2 องค์ เขียนแล้วก็เอามาวางไว้ให้ข้างที่นอนของผู้เล่า เป็นลักษณะคล้ายๆ กับบันทึกความเข้าใจ หรือบันทึกความจำเพื่อกันลืม
    เหตุที่มาเป็นหนังสือมุตโตทัยนั้น เนื่องจากเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร [FONT=&quot]([/FONT]เส็ง ปุสฺโส[FONT=&quot]) [/FONT] ขณะนั้นท่านเป็นรองเจ้าคณะภาค ท่านมาตรวจราชการ และได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพักอยู่ [FONT=&quot]3 [/FONT] คืน ที่กุฏิของผู้เล่า ตอนพักกลางวันท่านไปเห็นบันทึกนี้ก็เลยเอามาอ่าน [FONT=&quot] [/FONT]พออ่านเสร็จ เราก็ขึ้นไปปฏิบัติท่านเจ้าคุณฯ เพราะเคยเป็นลูกศิษย์ท่าน ท่านสอนบาลีให้
    ท่านเจ้าคุณฯ ถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]อันนี้ใครเขียนล่ะ[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เขียนหลายคนขอรับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]มีใครบ้าง[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]มีกระผม ท่านอาจารย์วิริยังค์ และท่านอาจารย์วัน ขอรับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เออ[FONT=&quot]...[/FONT]ดีมาก เราจะเอาไปพิมพ์[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]แล้วแต่ท่านเจ้าคุณ ขอรับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    ด้วยความเคารพ เพราะท่านมีบุญคุณ
    ท่านจากไปประมาณสักสามเดือน ก็มีห่อหนังสือส่งมา ในนามของท่านพระอาจารย์มั่น ผู้เล่านำไปถวายท่าน[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]อะไรนั่น[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านพระอาจารย์ถาม[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]กระผมก็ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้เปิดดู แต่ว่าคล้ายๆ กับหนังสือ[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เปิดดูซิ[FONT=&quot]" [/FONT]
    คือ[FONT=&quot] [/FONT] ลักษณะนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ถ้ายังไม่ได้ดูเสียก่อน ไม่ให้พูดว่าอะไรอยู่ข้างใน[FONT=&quot] [/FONT]เราจะไปบอกว่า หนังสือ ท่านไม่เอา
    แม้แต่เครื่องใช้ไม้สอยบริขารที่ผู้เล่าเป็นพระภัณฑาคาริก (ผู้มีหน้าที่รักษาคลังเก็บพัสดุของสงฆ์ -ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] เวลาพระสงฆ์ไปขอสบง จีวร เพื่อผลัดเปลี่ยนน่ะ [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านจะถามว่า[/FONT][FONT=&quot] "ว่ายังไง ทองคำ มีไหม" [/FONT]
    [FONT=&quot]ก็ต้องบอกว่า [/FONT] [FONT=&quot]"กระผมยังไม่ได้ดู จะลองไปดูเสียก่อน อาจจะมีก็ได้"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]ต้องพูดอย่างนั้น ถ้าเราจะไปรับโดยตรงอ๋อมี มีถมไป มีเยอะแยะน่ะแหละ เดี๋ยวท่านตะเพิดเอา [/FONT] [FONT=&quot]ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ท่านให้พูดด้วยสติปัญญา ลักษณะคล้ายๆ กับพูดเลียบๆ เคียงๆ ไป ถ้าพูดเลียบเคียง ท่านก็ทราบเองว่า ของนั้นอยู่[/FONT][FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot] แล้วเราก็เชื่อมั่นว่ามันมี แต่ถ้าเรายังสงสัยว่ามีอยู่ ก็ต้องบอกว่า [/FONT]
    [FONT=&quot]"ขอโอกาส ครูบาอาจารย์ กระผมยังสงสัยอยู่ ขอไปดูเสียก่อน" ต้องบอกว่ายังสงสัยอยู่ [/FONT]
    [FONT=&quot]ถ้ามีก็บอก[/FONT][FONT=&quot] "กระผมยังไม่ได้เปิดดู อาจจะมีก็ได้"[/FONT]
    [FONT=&quot]ที่ท่านให้พูดอย่างนั้นน่ะเป็นคำสอน เพื่อฝึกสติปัญญาของสานุศิษย์ ให้มีสติด้วย ให้มีปัญญาด้วย [/FONT] [FONT=&quot]ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น คำที่เราพูดออกไป ถ้าจะเป็นโทษแก่เราถึงขึ้นโรงขึ้นศาล เราก็สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ เพราะฉะนั้นท่านถึงไม่ให้พูดตรง [/FONT]
    [FONT=&quot]เหมือนอย่างเราพูดว่า[/FONT][FONT=&quot] "ท่านครูบาอาจารย์ วันนี้ได้ปลานำมาใส่บาตรนะ นิมนต์ท่านฉันลาบ ฉันก้อยนะ" [/FONT]
    [FONT=&quot]พระฉันไม่ได้ ผิดพระวินัย เพราะออกชื่อโภชนะทั้งห้า ท่านคงจะถือหลักนี้แหละ[/FONT]
    [FONT=&quot]หลังจากท่านรับหนังสือมาแล้วจึงเปิดดู [/FONT]
    [FONT=&quot]"เอ เราเคยได้ยินเจ้าคุณอุบาลีฯ พูดว่า คุณมั่นเธอเทศนาด้วยภาษามุตโตทัย เป็นมุตโตทัย ภาษามุตโตทัยเป็นคำพูดของเจ้าคุณอุบาลีฯ แล้วทำไมจึงมาเป็นชื่อหนังสืออันนี้ล่ะ ได้มาจากไหน"[/FONT]
    [FONT=&quot]ผู้เล่า[/FONT][FONT=&quot] "ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารไปค้นพบจากที่นอนของกระผม"[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านฯ [/FONT] [FONT=&quot]"ใครเขียนล่ะ"[/FONT]
    [FONT=&quot]ผู้เล่า[/FONT][FONT=&quot] "เขียนหลายรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์วิริยังค์ เพราะท่านเป็นผู้นำในการเขียน พวกกระผมก็ได้เขียน ท่านวันก็ได้เขียน ผิดถูกขอโอกาสครูบาอาจารย์ กระผมยอมรับผิดทุกอย่าง"[/FONT]
    [FONT=&quot]หลังจากท่านฉันจังหันเสร็จ ท่านก็เข้าห้อง ผู้เล่าก็ขึ้นไปปฏิบัติท่าน นำหนังสือขึ้นไปถวาย เป็นเวลาที่ท่านจะต้องพัก แต่ท่านไม่พัก อ่านต่อจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านฉันน้ำชา ผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ท่านก็บอกว่า [/FONT]
    [FONT=&quot]"เออ ดีเหมือนกันนะ เป็นเทศนาคำย่อ ผู้มีปัญญาพิจารณาได้"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot] ท่านว่าอย่างนั้น[/FONT]
    [/FONT] <table id="table26" align="left" border="0" width="105"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระอาจารย์วิริยังค์
    </td> </tr> </tbody></table> [FONT=&quot]หนังสือมุตโตทัยที่พิมพ์แจกในงานถวายเพลิงศพของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ก็มีของท่านอาจารย์วิริยังค์เป็นบทนำ ต่อจากนั้นก็เป็นของหลวงตาทองคำเป็นอันดับ [FONT=&quot]2 อันดับ 3 คือ ท่านอาจารย์วัน ท่านทั้งหลายที่ได้อ่าน[/FONT][FONT=&quot]หนังสือมุตโตทัย ก็คือหนังสือที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตรวจทานแล้ว เป็นของที่ท่านยอมรับแล้วว่า ดีอยู่[/FONT][FONT=&quot] [/FONT] [FONT=&quot] เพราะว่าเทศนาเป็นคำย่อ แต่ผู้มีปัญญาก็พิจารณาได้[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านมักจะพูดเสมอเรื่องค่าของศูนย์ ท่านเปรียบถึงพระนิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ พระนิพพานเป็นสูญอย่างยิ่ง [/FONT]
    [FONT=&quot]"ศูนย์ทำไมจึงมีอยู่ ทองคำ ลองเขียนดูซิ" [/FONT]
    [FONT=&quot]1-2-3-4-5-6-7-8-9-0 ธรรมดาเลขนั้นมีอยู่เก้าตัวใช่ไหม ที่มันนับได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วนเลขศูนย์มันอ่านได้ มันมีอยู่แต่ไม่มีค่า ฉะนั้นเอาไปบวกลบคูณหารกับเลข 1 ถึง 9 ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น แต่ศูนย์ก็ยังมีอยู่ เมื่อนำไปต่อกับเลขอื่น เช่น 1 ก็จะกลายเป็น 10 แต่ศูนย์อยู่ตามลำพังก็จะไม่มีค่า[/FONT]
    [FONT=&quot]เปรียบเหมือน ฐิติภูตัง คือ จิตดวงเดิมที่มีอยู่เป็นอยู่ แต่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เมื่อชำระด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว เป็นฐิติญาณัง จิตคือผู้รู้ว่าสูญจากอาสวะ และรู้ว่าสูญจากอาสวะก็เป็นบรมสุข พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นคู่กันกับ นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ[/FONT]
    [FONT=&quot]พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระสาวก หลายหมื่นหลายแสนองค์ เข้าสู่พระนิพพาน เพราะพระนิพพานไม่มีที่เต็ม ว่างอยู่ตลอด อย่ากลัวพระนิพพานเต็ม พวกเราจงเร่งไปสู่พระนิพพานเหมือนกับพระพุทธเจ้าเถิด พระนิพพานไม่เต็มหรอก ท่านว่าอย่างนั้น[/FONT]
    [FONT=&quot]มีแต่พวกขี้เกียจ กุสิโต หีน วิริโย ท่านพูดเป็นภาษาบาลี [/FONT]
    [FONT=&quot]ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ไม่มีที่สิ้นสุด แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพาเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคำนำต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายไม่มีที่สิ้นสุด[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]เหมือนกับศัพท์บาลีที่ว่า สงฺสาเร อนมตฺตคฺเค ในสงสารมีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้แล้ว นอกจากพระสัพพัญญูเจ้าเท่านั้นจะรู้ได้ เพราะอาศัยอะไร เพราะอาศัยอวิชชาตัวนี้แหละหุ้มห่อ จึงไม่รู้[/FONT]
    [FONT=&quot]เวลาท่านมีอารมณ์สนุกๆ ก็จะพูดกับพวกเรา ด้วยภาษาพื้นๆ ธรรมดา ไม่ใช่ว่าท่านจะพูดพร่ำเพรื่อ บางทีท่านอาจจะพิจารณาว่า บุคคล สถานที่ วัตถุ นั่นล่ะ เรายังไม่ได้พูดให้ใครฟัง ท่านก็จะถือโอกาสจังหวะเวลานั้นพูด [/FONT] [FONT=&quot]เกี่ยวกับพระแก้วมรกตเอย เกี่ยวกับพระนครปฐมเอย อะไรทำนองนี้[/FONT]
    [/FONT]
     
  7. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    การครองผ้า - สีผ้า
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์เล่าว่า การครองผ้าแบบพาดบ่าข้างเดียว แล้วมีผ้ารัดอกนั้น เป็นพระราชบัญญัติชั่วคราว ตราขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกประมาณ [FONT=&quot]100 ปี[/FONT][FONT=&quot] สาเหตุมีสงครามติดพัน รบกันบ่อยครั้งกับทหารพม่า พวกจารกรรมพม่าแต่งตัวเป็นพระเข้ามาสืบราชการลับ รบคราวใดแพ้ทุกที ผิดสังเกต พระพม่ามักเข้ามาในกองทัพ ไทยคิดว่าเป็นพระไทยจึงรบแพ้ จึงตราพระราชบัญญัติขึ้นมา ให้พระไทยห่มอย่างว่านั้น พระพม่าที่เข้ามา ก็คือจารบุรุษนั่นเอง ไม่ใช่พระ เมื่อศึกสงครามเลิกแล้ว ก็ยกเลิกพระราชบัญญัติด้วย แต่สมัยนั้นการคมนาคมไม่สะดวก คำสั่งไม่ทั่วถึง จึงถือกันมาจนบัดนี้[/FONT]
    [FONT=&quot]เรื่องสีผ้านั้น ท่านพระอาจารย์เล่าว่า [/FONT] [FONT=&quot] สีผ้านั้นพระวินัยกล่าวไว้อย่างชัดเจน คือ สีกรัก สีเหลืองหม่น สีเหลืองคล้ำ และสีอนุโลมอีกสองสี คือ สีเหลืองแก่ และสีมะเขือสุกแก่[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านว่า ก่อนเราจะเสียกรุงให้พม่าประมาณ [/FONT] [FONT=&quot]100 ปี การรบราฆ่าฟันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะสังเกตได้จากพระพักตร์ของพระพุทธรูป มีพระลักษณะเคร่งขรึม เข้มแข็ง เอนเอียงไปทางดุร้าย ซึ่งหมายถึง ใจเตรียมพร้อมรับศึกอยู่ตลอดเวลา หากเกิดมีการรบกัน [/FONT]
    [/FONT]
    การฟื้นฟูศาสนาในประเทศไทย
    <table id="table27" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ [FONT=&quot]
    รัชกาลที่ 4
    [/FONT]
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    [FONT=&quot]เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นี้ ท่านปรารภหลายวาระหลายสถานที่ ท่านพระอาจารย์เล่าว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวัน พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงความชราภาพของพระองค์ทั้งสองว่า
    [FONT=&quot]"ตถาคตและพระองค์ก็ย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว ไม่ช้าตถาคตก็จะปรินิพพาน และก็เช่นกัน พระองค์ก็จะเสด็จสวรรคต ตถาคตไม่กลับมาสู่ภพนี้อีก ส่วนพระองค์เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร และเป็นพระสหายของตถาคต ยังต้องกลับมาสร้างบารมีต่อ ถ้าคราวใดศาสนาของตถาคตเสื่อมลง ขอพระองค์ทรงกลับมาฟื้นฟูด้วย"[/FONT]
    [FONT=&quot]ต่อมาไม่นาน พระโอรสวิฑูฑภะก่อการกบฏขึ้นในแผ่นดิน พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จหนีไปยังแคว้นมคธ เพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอชาตศัตรู แต่พระองค์เสด็จไปไม่ทัน ประตูเมืองถูกปิดลงเสียก่อน ด้วยความชราภาพและเหนื่อยอ่อนจากการเดินทาง พระองค์ก็เสด็จสวรรคตอย่างเดียวดาย ไร้ญาติขาดมิตร ที่ศาลาที่พักคนเดินทางนอกประตูเมือง นี่แหละหนอ สังสารวัฏ มีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้[/FONT]
    [FONT=&quot]พระพุทธเจ้าคงจะทรงเห็นเหตุอันนี้ จึงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลอย่างนั้น [/FONT][FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือ พระเจ้าปเสนทิโกศล นั้นเอง[/FONT][FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot] ที่มาทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเมื่อถึงจุดนั้น[/FONT]
    [FONT=&quot]พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนักเสริมสร้าง นักฟื้นฟู นักบูรณะ นักปฏิสังขรณ์ ทรงทำสิ่งที่ชำรุดให้ดีขึ้น ทำสิ่งที่ผิดจากของเดิมให้เข้าสู่ที่เดิม ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนการซ่อมบำรุงวัตถุใช้งานที่เสื่อมสภาพ ให้มีสภาพใช้งานได้เหมือนเดิม ผู้เล่าจะไม่กล่าวโครงสร้างฟื้นฟู เพราะประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้มากแล้ว จะกล่าวเฉพาะผลงานด้านการศึกษา การพระศาสนา และการปกครองแผ่นดิน ภาษาอังกฤษก็ตรัสได้เป็นคนแรกของชาวไทย ภาษาบาลีก็เป็นพระมหาเปรียญ ทรงรจนาพระคาถาและพระปริตรต่างๆ ไว้มาก มีอรรถรสอันลึกซึ้ง และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์ติดอันดับโลก[/FONT]
    [FONT=&quot]การปรับปรุง เสริมสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์ พระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้า ทั้งด้านการศึกษา การปกครอง การปฏิบัติ จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันนี้ มีสาเหตุและปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะภัยแห่งสงครามเป็นภัยใหญ่ [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ก่อนเราจะเสียกรุงให้แก่พม่าประมาณ [/FONT] [FONT=&quot]100 ปี การรบราฆ่าฟันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะสังเกตได้จากพระพักตร์ของพระพุทธรูป มีพระลักษณะเคร่งขรึม เข้มแข็ง เอนเอียงไปทางดุร้าย ซึ่งหมายถึง ใจของชาวอยุธยาเตรียมพร้อมรับศึกอยู่ตลอดเวลา หากเกิดมีการรบติดกันเกิดขึ้น ชายทุกคนต้องเป็นทหารออกรบ หญิงทั้งสาวทั้งแก่ก็ต้องร่วมออกรบ ส่งเสบียง ไถนา ดำนาสารพัด แม้แต่พระสงฆ์ก็คงจะระส่ำระสายช่วยอยู่ด้านหลัง จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตก[/FONT]
    [FONT=&quot]ความเป็นผู้แพ้มีแต่ทุกข์กับทุกข์ เจ็บป่วยจากการเหน็ดเหนื่อยในสงครามเอย บาดแผลจากคมหอกคมดาบเอย อดอยากเอย ซากศพทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหญิง ทั้งตายเก่าตายใหม่ เรื่องเหล่านี้คือเหตุแห่งความเสื่อมของศาสนา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มมาฟื้นฟู[/FONT]
    [FONT=&quot]ทุกท่านยอมรับผลงานของพระองค์ ว่าตามความจริงในปัจจุบัน การศึกษา การปกครอง การปฏิบัติ ล้วนเป็นผลงานของพระองค์ [/FONT] [FONT=&quot] การศึกษาวิทยาการทางพระพุทธศาสนาก็ดี การปกครองคณะสงฆ์ก็ดี การปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติทรงพระวินัยก็ดี การเจริญแสวงหาวิเวกเดินรุกขมูลธุดงค์ก็ดี พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่าง ครบถ้วนสมบูรณ์ พอเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้ แม้ท่านพระอาจารย์มั่นก็ยอมรับว่าได้แบบอย่างมา[/FONT][FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot] รองจากครั้งพุทธกาล ก็มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เป็นแบบฉบับตลอดมา[/FONT]
    [FONT=&quot]เมื่อครั้งพระองค์เสด็จจาริกธุดงค์จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สุโขทัย ไปตามฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักตามชายทุ่งชายป่า ใกล้อุปจารคาม เจริญสมณธรรม หากมีชาวบ้านมาฟังธรรม ก็แสดงธรรมให้ฟัง ให้ได้ประโยชน์ทั้งตน ผู้อื่น และพระศาสนาไปพร้อมๆ กัน[/FONT]
    [FONT=&quot]พอถึงสุโขทัย กำลังหาที่พัก ชาวบ้านก็มากราบถวายพระพรว่า มีดอนแห่งหนึ่งเป็นดอนศักดิ์สิทธิ์ ปกติชาวบ้านไม่ยินยอมให้เข้าไป เพราะเคยมีพระเข้าไป แล้วแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อสถานที่นั้น ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเดือดร้อน แต่พระองค์ทรงรับรองกับชาวบ้านว่า นี้คือเจ้าของป่าดอนนั้น หากมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น พระองค์จะตายแทน ชาวบ้านก็ยินยอม อาราธนานิมนต์พระองค์ไปพัก เดินจงกรมเจริญสมณธรรมที่นั่น พระองค์ได้ไปพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงโดยบังเอิญ ขากลับทรงนำกลับมาไว้ที่กรุงเทพฯ [/FONT]
    [FONT=&quot]นี้คือตัวอย่างการออกจาริกธุดงค์กัมมัฏฐาน ที่ทรงทำเป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้[/FONT]
    (พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วว่า ภายหน้าจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นลำดับที่ 3 เมื่อนับพระเมตไตรย เป็นลำดับที่1 และจะมีพระนามว่า พระธรรมราชา - ภิเนษกรมณ์)
    [/FONT]
    บุคลิกพิเศษของท่านพระอาจารย์
    ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต[FONT=&quot] เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ตั้งแต่วันบรรพชาอุปสมบท จนกระทั่งวาระสุดท้าย[FONT=&quot] [/FONT]เรียกว่าครบบริบูรณ์ เหมือนกับว่า เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ผล คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันนี้เป็นผลของความมักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ท่านพระอาจารย์มั่น ทำได้สม่ำเสมอ ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งชีวิต จนกระทั่งบั้นปลายชีวิต
    ธุดงควัตรของท่าน คือ[FONT=&quot] [/FONT]บิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร[FONT=&quot] [/FONT] ผู้ที่จะไปถวาย ถ้าเป็นจีวรสักผืนหนึ่ง ผ้าสบง ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เรียกว่าผ้าก็แล้วกัน ถ้าจะถวายท่าน เขามักจะไปวางไว้ที่บันไดบ้าง วางใกล้ๆ กุฏิของท่านบ้าง วางตรงทางเดินไปห้องน้ำบ้าง ท่านเห็นก็บังสุกุลเอา บางผืนก็ใช้ บางผืนก็ไม่ได้ใช้ ผู้ไม่รู้อัธยาศัยไปถวายกับมือ ท่านจะไม่ใช้
    ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระนักปฏิบัติ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม ในยุค [FONT=&quot]2,000[/FONT] ปี เป็นสาวกที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบ ด้วยลักษณะภายนอกและภายใน เพราะเหตุนั้นชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์เกียรติคุณของท่าน จึงขจรขจายถึงทุกวันนี้ แทนที่จะเป็น [FONT=&quot]60[/FONT] ปีแล้วก็เลือนหายไป กลับเพิ่มขึ้นๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพราะบุคลิกของท่านนั้น เป็นบุคลิกที่สมบูรณ์แบบ ในความรู้สึกของผู้เล่า ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นบุคคลน่าอัศจรรย์ในยุคนี้
    ขอให้ท่านสังเกตดูในรูปภาพ คิ้ว คาง หู ตา จมูก มือ และเท้า ตลอดชีวิตของท่านนั้น ท่านเดินทางข้ามเขาไปไม่รู้กี่ลูก จนเท้าพอง ไม่ใช่เท้าแดงหรือเท้าเหลือง
    คิ้ว[FONT=&quot] [/FONT] ท่านมีไฝตรงระหว่างคิ้ว ลักษณะคล้ายกับพระอุณาโลมของพระพุทธเจ้า ไฝอันนี้เป็นจุดดำเล็กๆ ไม่ได้นูนขึ้นมา มีขนอ่อน [FONT=&quot]3[/FONT] เส้น ไม่ยาวมาก และโค้งหักเป็นตัวอักษร ก เป็นเส้นละเอียดอ่อนมาก[FONT=&quot] [/FONT]ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็น ขณะท่านปลงผมจะปลงขนนี้ออกด้วย แต่จะขึ้นใหม่ในลักษณะเดิมอีก
    ใบหูของท่าน[FONT=&quot] [/FONT]มีลักษณะหูยาน จมูกโด่ง แววตาของท่านก็เหมือนแววตาไก่ป่า[FONT=&quot] [/FONT] บางคนอาจไม่เคยเห็นไก่ป่า คือ เป็นวงแหวนในตาดำ[FONT=&quot] [/FONT] มือของท่านนิ้วชี้จะยาวกว่า แล้วไล่ลงมาจนถึงนิ้วก้อย นิ้วเท้าก็เหมือนกัน
    หลวงปู่หล้าท่านก็เคยเล่าว่า เวลาล้างเท้าหลวงปู่มั่น เห็นฝ่าเท้าของท่านเป็นลายก้นหอย [FONT=&quot]2[/FONT] อัน และมีรอยอยู่กลางฝ่าเท้า เหมือนกากบาท[FONT=&quot] [/FONT]เวลาท่านเดินไปไหน ท่านเดินก่อน สานุศิษย์จะไม่เหยียบรอยท่าน พอท่านเดินผ่านไปแล้ว ชาวบ้านจะไปมองดู จะเห็นเป็นลายตารางปรากฏอยู่ทั้งสองฝ่าเท้า
    รอยนิ้วเท้าก็เป็นก้นหอยเหมือนกัน[FONT=&quot] [/FONT] จะเรียกก้นหอยหรือวงจักรก็ได้ มีอันใหญ่กับอันเล็ก [FONT=&quot]2[/FONT] อัน เป็นลักษณะพิเศษของท่าน [FONT=&quot]([/FONT]หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร วัดป่านาสีดา อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้เล่าเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ขณะหลวงปู่จันทร์โสมพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ได้ถวายการนวดหลวงปู่มั่น เมื่อท่านหลับแล้ว หลวงปู่ได้พลิกดูฝ่ามือของหลวงปู่มั่น พบว่า[FONT=&quot] [/FONT] มีเส้นกากบาทเต็มฝ่ามือทั้งสองข้าง และมือท่านก็นิ่มมาก[FONT=&quot])[/FONT]
    บุคคลทุกระดับ เมื่อเข้าไปถึงท่านแล้ว ท่านจะเป็นกันเองมาก คุยสนุกสนานเหมือนคนรู้จักกันมานาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า[FONT=&quot] [/FONT] บุคคลที่มักจะเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ ท่านจะไม่ค่อยเป็นกันเองเท่าไหร่[FONT=&quot] [/FONT] ถามคำไหนได้คำนั้น ถ้าไม่ถามท่านก็นั่งเฉย
    ท่านพระอาจารย์มั่นเคยพูดว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ผู้ที่จะมาศึกษาธรรมะกับเรา จะเป็นญาติโยมก็ดี หรือเป็นพระสงฆ์ก็ดี ขอให้เก็บหอกเก็บดาบไว้ที่บ้านเสียก่อน อย่านำมาที่นี่ อยากมาปฏิบัติ มาฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้านำหอกนำดาบมา จะไม่ได้ฟังเทศน์ของพระแก่องค์นี้[FONT=&quot]"[/FONT]
    แม้กระทั่งเด็กที่ไม่รู้เดียงสา ป[FONT=&quot].2-3-4[/FONT] ท่านก็ทำเป็นเพื่อนได้ ในความรู้สึกของผู้เล่าผู้อยู่ใกล้ชิด เวลาท่านอยู่กับเด็ก กิริยาของท่านก็เข้ากับเด็กได้ดี เพราะฉะนั้นความโดดเด่นของท่าน ใครเข้าไปแล้วกลับออกมาก็อยากเข้าไปอีก ใครได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว กลับออกมาก็อยากฟังอีก
    อันนี้คืออานิสงส์ที่ท่านตั้งปณิธานว่า ข้าพระองค์ขอปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างพระองค์ หลังจากที่ได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศนาจนจบ จึงได้ตั้งปณิธานเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า คือ องค์สมณโคดมนี้[FONT=&quot] [/FONT](ขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเสนาบดีแห่งแคว้นกุรุ - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] [/FONT] หลังจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดจนชาติปัจจุบันมาเป็นท่านพระอาจารย์มั่น
    ทีนี้ทำไมท่านจึงละความปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพิจารณาแล้ว รู้สึกว่าตัวเรานี้ปรารถนาพุทธภูมิจึงมาสร้างบารมี ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ เขาคิดอยู่ในใจเหมือนกับเรานับไม่ถ้วน ผู้ที่ออกปากแล้วเหมือนกับเราก็นับไม่ถ้วน ผู้ที่ได้รับพระพุทธพยากรณ์แล้วก็นับไม่ถ้วน และผู้ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้ามีอีกหลายองค์ เช่น พระศรีอริยเมตไตรย พระเจ้าปเสนทิโกศล กว่าจะถึงวาระของเรา มันจะอีกนานเท่าไหร่ เราขอรวบรัดตัดตอนให้สิ้นกิเลสในภพนี้เสียเลย ท่านพิจารณาเช่นนี้ จึงได้ละความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    อริยวาส อริยวงศ์
    เรื่องมีอยู่ว่า สมัยที่ผู้เล่าอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองผือ มีชาวกรุงเทพมหานครไปกราบนมัสการ ถวายทานฟังเทศน์ และได้นำกระดาษห่อธูปมีเครื่องหมายการค้ารูปตราพระพุทธเจ้า [FONT=&quot](บัดนี้รูปตรานั้นไม่ปรากฏ[FONT=&quot]) [/FONT]ตกหล่นที่บันไดกุฏิท่าน พอได้เวลาผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ปฏิบัติท่านตามปกติ พบเข้าเลยเก็บขึ้นไป พอท่านเหลือบมาเห็น ถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]นั่นอะไร[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]รูปพระพุทธเจ้าขอรับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านกล่าว[FONT=&quot] "[/FONT]ดูสิคนเรานับถือพระพุทธเจ้า แต่เอาพระพุทธเจ้าไปขายกิน ไม่กลัวนรกนะ[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot] [/FONT]แล้วท่านก็ยื่นให้ผู้เล่า บอกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ให้บรรจุเสีย[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่าเอามาพิจารณาอยู่ เพราะไม่เข้าใจคำว่า[FONT=&quot] "[/FONT]บรรจุ[FONT=&quot]" [/FONT] จับพิจารณาดูพระพักตร์เหมือนแขกอินเดีย ผู้เล่าอยู่กับท่านองค์เดียว ท่านวันยังไม่ขึ้นมา
    ท่านพูดซ้ำอีกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]บรรจุเสีย[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ทำอย่างไรขอรับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ไหนเอามาซิ[FONT=&quot]" [/FONT]
    ยื่นถวายท่าน ท่านจับไม้ขีดไฟมาทำการเผาเสีย และพูดต่อว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]หนังสือธรรมะสวดมนต์ที่ตกหล่นขาดวิ่นใช้ไม่ได้แล้ว ก็ให้รีบบรรจุเสีย กลัวคนไปเหยียบย่ำ จะเป็นบาป[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่าเลยพูดไปว่า[FONT=&quot] "[/FONT]พระพุทธเจ้าเป็นแขกอินเดียนะกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านตอบ[FONT=&quot] "[/FONT]หือ คนไม่มีตาเขียน เอาพระพุทธเจ้าไปเป็นแขกหัวโตได้[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านกล่าวต่อไปว่า
    [FONT=&quot]"[/FONT]อันนี้ได้พิจารณาแล้วว่า[FONT=&quot] [/FONT]พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย พระอนุพุทธสาวกในยุคพุทธกาล ตลอดถึงยุคปัจจุบัน ล้วนแต่ไทยทั้งนั้น ชนชาติอื่น แม้แต่สรณคมน์และศีล [FONT=&quot]5[/FONT] เขาก็ไม่รู้ จะเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ดูไกลความจริงเอามากๆ เราได้เล่าให้เธอฟังแล้วว่า[FONT=&quot] [/FONT]ชนชาติไทย คือ ชาวมคธ รวมรัฐต่างๆ มีรัฐสักกะ เป็นต้น[FONT=&quot] [/FONT] หนีการล้างเผ่าพันธุ์มาในยุคนั้น และชนชาติพม่า คือ ชาวรัฐโกศล เป็นรัฐใหญ่ รวมทั้งรัฐเล็กๆ จะเป็นวัชชี มัลละ เจติ เป็นต้น[FONT=&quot] [/FONT] ก็ทะลักหนีตายจากผู้ยิ่งใหญ่ด้วยโมหะ อวิชชา มาผสมผสานเป็นมอญ [FONT=&quot]([/FONT]มัลละ[FONT=&quot]) [/FONT]เป็นชนชาติต่างๆ ในพม่าในปัจจุบัน[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ส่วนรัฐสักกะใกล้กับรัฐมคธ ก็รวมกันอพยพมาสุวรรณภูมิ ตามสายญาติที่เดินทางมาแสวงโชคล่วงหน้าก่อนแล้ว[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    ผู้เล่าเลยพูดขึ้นว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ปัจจุบัน พอจะแยกชนชาติในไทยได้ไหม ขอรับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ไม่รู้สิ อาจเป็นชาวเชียงใหม่ ชาวเชียงตุงในพม่าก็ได้[FONT=&quot]" [/FONT]
    ขณะนั้นท่านวันขึ้นไปพอดี ตอนท้ายก่อนจบ ท่านเลยสรุปว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]อันนี้ [FONT=&quot]([/FONT]หมายถึงตัวท่าน[FONT=&quot]) [/FONT]ได้พิจารณาแล้ว ทั้งรู้ทั้งเห็นโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่าพูดอีกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]แขกอินเดียทุกวันนี้คือพวกไหน ขอรับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านบอก[FONT=&quot] "[/FONT]พวกอิสลามที่มาไล่ฆ่าเราน่ะสิ[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ถ้าเช่นนั้นศาสน์พราหมณ์ ฮินดู เจ้าแม่กาลี การลอยบาปแม่น้ำคงคา ทำไมจึงยังมีอยู่ รวมทั้งภาษาสันสกฤตด้วย[FONT=&quot]" [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]อันนั้นเป็นของเก่า เขาเห็นว่าดี บางพวกก็ยอมรับเอาไปสืบต่อๆ กันมาจนปัจจุบัน ส่วนพวกเรา พระพุทธเจ้าสอนให้ละทิ้งหมดแล้ว เราหนีมาอยู่ทางนี้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรก็ทำตาม[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านยังพูดคำแรงๆ ว่า[FONT=&quot] "[/FONT]คุณตาบอดตาจาวหรือ เมืองเรา วัดวา ศาสนา พระสงฆ์ สามเณร เต็มบ้านเต็มเมืองไม่เห็นหรือ[FONT=&quot]" ([/FONT]ตาบอดตาจาว เป็นคำที่ท่านจะกล่าวเฉพาะกับผู้เล่า[FONT=&quot]) [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]แขกอินเดียเขามีเหมือนเมืองไทยไหม ไม่มี มีแต่จะทำลาย โชคดีที่อังกฤษมาปกครอง เขาออกกฎหมายห้ามทำลายโบราณวัตถุ โบราณสถาน แต่ก็เหลือน้อยเต็มที ไม่มีร่องรอยให้เราเห็น อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้าเลย ตัวเธอเองนั่นแหละ ถ้าได้ไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย จ้างเธอก็ไม่ไปเกิด[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ของเหล่านี้นั้น ต้องไปตามวาสตามวงศ์ตระกูล อย่างเช่น วงศ์พระพุทธศาสนาของเรานั้น เป็นอริยวาส อริยวงศ์ อริยตระกูล เป็นวงศ์ที่พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติ[FONT=&quot] [/FONT]คุณแปลธรรมบทมาแล้ว คำว่า ปุคฺคลฺโล ปุริสาธญฺโญ ลองแปลดูซิว่า พระพุทธจะเกิดในมัชฌิมประเทศ หรืออะไรที่ไหนก็แล้วแต่ จะเป็นที่อินเดีย หรือที่ไหนก็ตาม ทุกแห่งตกอยู่ในห้วงแห่งสังสารวัฏฏ์ ถึงวันนั้นพวกเราอาจจะไปอยู่อินเดียก็ได้[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]พระพุทธเจ้าทรงวางพุทธศาสนาไว้ จะเป็นระหว่างพุทธันดรก็ดี สุญญกัปปก็ดี ที่ไม่มีพระพุทธศาสนา แต่ชนชาติที่ได้เป็นอริยวาส อริยวงศ์ อริยประเพณี อริยนิสัย ก็ยังสืบต่อไปอยู่ ถึงจะขาด ก็ขาดแต่ผู้ได้สำเร็จมรรคผลเท่านั้น เพราะว่าจากบรมครู ต้องรอบรมครูมาตรัสรู้ จึงว่ากันใหม่[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่าได้ฟังมาด้วยประการฉะนี้แล[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ความเป็นมาของชาวไทย
    <table id="table29" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระปฐมเจดีย์
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    พระปฐมเจดีย์เป็นเจติยสถานที่ตั้งอยู่ในประเทศสุวรรณภูมิ ที่เรียกว่า[FONT=&quot] "แหลมทอง[FONT=&quot]" [/FONT]คือประเทศไทยในปัจจุบัน
    ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า เมื่อครั้งมีการทำสังคายนาครั้งที่ [FONT=&quot]3 [/FONT]นั้น พิเศษคือ มีพระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาสามารถอันกว้างไกล เห็นว่า พระพุทธศาสนามารวมเป็นกระจุกอยู่ที่ชมพูทวีป หากมีอันเป็นไปจากเภทภัยต่างๆ พระพุทธศาสนาอาจสูญสิ้นก็ได้ จึงมีพระประสงค์จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ สำหรับพระสงฆ์สายต่างๆ ผู้เล่าจะไม่นำมากล่าว จะกล่าวเฉพาะที่มายังสุวรรณภูมิประเทศ ตามที่ท่านพระอาจารย์เล่าให้ฟัง
    ท่านที่เป็นหัวหน้ามาสุวรรณภูมิคราวนั้น ตามประวัติศาสตร์ที่ได้จารึกไว้ คือ[FONT=&quot] [/FONT]ท่านพระโสณะ และท่านพระอุตตระ
    การส่งพระสงฆ์ไปประกาศพุทธศาสนาคราวสังคายนาครั้งที่ [FONT=&quot]3 [/FONT]นั้น อย่าเข้าใจว่า จัดแจงบริขารลงในบาตรและย่าม ครองผ้าเสร็จก็ออกเดินทางได้ ต้องมีการจัดการเป็นคณะมากพอสมควร รวมทั้งพระสหจร และสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ด้วยเป็นกระบวนใหญ่ การเดินทางรอนแรมระยะไกลไปต่างประเทศ พระสงฆ์ผู้เป็นหัวหน้า และสหจร ท่านคงมีสายญาติ และญาติโยมผู้เคารพนับถือตามไปด้วย คงไม่ปล่อยให้ท่านเหล่านั้น เดินทางไปลำบาก ต้องมีคณะติดตามเพื่อจะได้คอยช่วยเหลือหุงหาเสบียงอาหารในระหว่างเดินทาง อีกอย่างหนึ่ง หากพบภูมิประเทศที่เหมาะสม ก็ตั้งถิ่นฐานแสวงโชคอยู่ที่สุวรรณภูมิประเทศได้ จึงได้พากันมาเป็นกระบวนใหญ่
    ชนชาติเจ้าของถิ่นเดิม ที่อาศัยอยู่ในสุวรรณภูมิประเทศมีอยู่แล้ว แต่คงไม่มาก หากมีอันตรายจากสัตว์ร้าย และเภทภัยต่างๆ มาย่ำยีเบียดเบียน การป้องกันก็ลำบาก เพราะกำลังไม่พอ นครปฐมคงเป็นที่รวมชุมชน กระบวนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และนักแสวงโชคจากชมพูทวีป คงเอาที่นั้นเป็นจุดเริ่มต้น ชาวสุวรรณภูมิก็คงได้ยินกิตติศัพท์เช่นกัน จึงต้อนรับด้วยความยินดี
    การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ดี การแสวงโชคของญาติโยมที่ตามมาก็ดี ได้รับการสนับสนุนด้วยดี ประกอบกับผืนแผ่นดินก็กว้างใหญ่ไพศาลอุดมสมบูรณ์ ชาวประชาถิ่นเดิมก็ยอมรับนับถือพระรัตนตรัย และศีล[FONT=&quot]5[/FONT] มีการสร้างวัดถวาย คงเป็นวัดพระปฐมเจดีย์เดี๋ยวนี้ ส่วนนักแสวงโชคก็คงประกอบสัมมาอาชีพไปตามความสามารถ และปฏิบัติพระสงฆ์ไปด้วยพร้อมๆ กัน นี้คือชนชาวชมพูทวีปที่ได้เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก
    นักแสวงโชคเหล่านั้น เมื่อประสบโชคแล้ว แทนที่จะหยุดอยู่แค่นั้น ก็นึกถึงญาติๆ ทางชมพูทวีป กลับไปบอกข่าวสารแก่ญาติๆ จึงมีการอพยพย้ายถิ่นฐานตามกันมาอีก
    ลุศักราชประมาณ [FONT=&quot]500[/FONT] ถึง [FONT=&quot]900[/FONT] ปี หลังพุทธปรินิพพาน อาเพศเหตุร้ายก็เริ่มเกิดขึ้น เนื่องจากชนชาติชาวเปอร์เซีย ในปัจจุบัน คือ แถบตะวันออกกลาง เกิดมีลัทธิอย่างหนึ่งขึ้นมา ในปัจจุบันคือ ศาสนาอิสลาม ได้จัดขบวนทัพอันเกรียงไกร รุกรานเข้าสู่ชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน อินเดียสมัยนั้น มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งอาศัยของชาวชมพูทวีปทั้ง[FONT=&quot]7[/FONT]รัฐ รวมทั้งชาวศากยวงศ์ของพระองค์ อยู่ด้วยกันฉันท์พี่น้อง การเตรียมรบจึงไม่เพียงพอ เมื่อกองทัพอันเกรียงไกรยกเข้ามา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบสิ้นชาติก็เกิดขึ้น การหนีตายอย่างทุลักทุเลของรัฐเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยนาลันทาเอย พระเวฬุวันเอย พระเชตวันเอย บุพพารามเอย รวมทั้งพระสงฆ์เป็นหมื่นๆ ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกไว้แล้ว ตายเป็นเบือราบเรียบเป็นหน้ากลอง
    ชาวรัฐโกศลและรัฐเล็กรัฐน้อย เช่น ลิจฉวี มัลละ ก็ทะลักเข้าสู่ดินแดนชเวดากอง คือ พม่า มอญ ไทยใหญ่ ในปัจจุบัน ชาวมคธรัฐ มีเมืองราชคฤห์เป็นราชธานี ก็หนีตามสายญาติที่เดินทางมาก่อนแล้ว มุ่งสู่สุวรรณภูมิ รวมทั้งรัฐเล็กรัฐน้อย มีรัฐสักกะ โกลิยะ และอื่นๆ ก็ติดตามมาด้วย แยกเป็นสองสาย สายหนึ่งไปทางโยนกประเทศ คือ รัฐฉาน ปัจจุบันอยู่ในพม่า และเลยไปถึงมณฑลยูนนานของประเทศจีน
    รัฐใหญ่ในครั้งพุทธกาล คือ[FONT=&quot] [/FONT]รัฐมคธ เป็นไทยในปัจจุบัน รัฐโกศล คือ พม่า [FONT=&quot]([/FONT]เมียนมาร์ในปัจจุบัน[FONT=&quot]) [/FONT]ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พม่าและไทย พระพุทธเจ้าทรงโปรดและตรัสสอนเป็นพิเศษ สองประเทศนี้จึงมีพระพุทธศาสนาที่มั่นคงมายาวนาน และจะยาวนานต่อไป แต่พม่าเป็นเมืองเศรษฐีอุปถัมภ์ สมัยเป็นชาวโกศล ก็มีคหบดี คือ ท่านอนาถบิณฑิกะและนางวิสาขาเป็นผู้อุปถัมภ์ แต่ไทยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก พิเศษกว่าพม่า
    ชาวพม่ามีอุปนิสัยทุกอย่าง โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ เหมือนคนไทย เป็นมิตรคู่รักคู่แค้น จะฆ่ากันก็ไม่ได้ จะรักกันก็ไม่ลง ท่านว่าอย่างนี้ สมัยพุทธกาล รัฐมคธมีปัญหาอะไรก็ช่วยกัน บางคราวก็รบกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มาเป็นไทยเป็นพม่า ก็รบกัน ประวัติศาสตร์ก็จารึกไว้แล้ว
    ส่วนพระปฐมเจดีย์นั้น ผู้เล่ากราบเรียนถามท่านพระอาจารย์ ท่านตอบว่า[FONT=&quot] [/FONT] คงจะสร้างเป็นอนุสรณ์การนำพระพุทธศาสนามาสู่สุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก[FONT=&quot] [/FONT]ฟังแต่ชื่อก็แล้วกัน ปฐมก็คือที่หนึ่ง คือ พระเจดีย์องค์แรก ท่านกล่าวต่อไปว่า คงบรรจุพระธาตุพระอรหันต์รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุด้วย เมื่อมีการบูรณะแต่ละครั้ง ผู้จารึกเรื่องราว มักบันทึกเป็นปัจจุบันเสีย ประวัติศาสตร์เบื้องต้นจึงไม่ติดต่อ ขาดเป็นขั้นเป็นตอนว่า คนนั้นสร้างบ้าง คนนี้สร้างบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น
    คำพูดแต่ละยุค มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ย้อนถอยหลังกลับไป คำว่า ประเทศพม่า คนไทยจะไม่รู้จัก[FONT=&quot] [/FONT]รู้จักพม่าว่า เมืองมัณฑะเลย์หรือหงสาวดี[FONT=&quot] [/FONT] และคนพม่าก็จะไม่รู้จักคำว่า ประเทศไทย[FONT=&quot] [/FONT]จะรู้จักไทยว่า เมืองอโยธยา[FONT=&quot] [/FONT]เรื่องราวเหล่านี้ ผู้เล่าได้ฟังมาจากท่านพระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์ชอบ
    ต่อไปจะได้เล่าเรื่องชนชาวไทย ชนชาวลาว
    ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ชาวลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ก็คือชาวนครราชคฤห์ หรือรัฐมคธ เช่นเดียวกับชาวไทย ไทยและลาวจึงเป็นเชื้อชาติเดียวกัน แต่หนีตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาคนละสาย ลาวเข้าสู่แดนจีน จีนจึงเรียกว่า พวกฮวน คือ คนป่าคนเถื่อนที่หนีเข้ามา โดยชาวจีนไม่ยอมรับ จึงมีการขับไล่เกิดขึ้น [FONT=&quot]([/FONT]ประวัติศาสตร์ไทยเขียนไว้ว่า ไทยมาจากจีน เห็นจะเป็นตอนนี้กระมัง[FONT=&quot])[/FONT]
    ความจำเป็นเกิดขึ้น จึงมีการต่อสู้แบบจนตรอก ถอยร่นลงมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ตามสายญาติ คือ ไทย สู่สิบสองจุไทย สิบสองปันนา หนองแส และแคว้นหลวงพระบาง ปัจจุบันก็ยังมีคนไทยตกค้างอยู่
    พอถอยร่นลงมาถึงนครหลวงพระบาง เห็นว่าปลอดภัยแล้ว และภูมิประเทศก็คล้ายกับนครราชคฤห์ จึงได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั่น และอยู่ใกล้ญาติที่สุวรรณภูมิด้วย คือ นครปฐม เป็นพวกที่มาตั้งอยู่ก่อน และพวกที่เข้ามาตอนหนีตายคราวนั้น
    การสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นมาโดยราบรื่น โดยให้ชื่อว่า[FONT=&quot] "[/FONT]กรุงศรีสัตตนาคนหุต[FONT=&quot]" ([/FONT]เมืองล้านช้าง[FONT=&quot]) [/FONT] จนถึงพระเจ้าโพธิสารเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์มีราชโอรส [FONT=&quot]2 [/FONT]พระองค์ ชื่อเสียงท่านไม่ได้บอกไว้ พอเจริญวัย พระเจ้าโพธิสารทรงเห็นว่า เมืองปัจจุบันคับแคบ มีภูเขาล้อมรอบ ขยายขอบเขตยาก การเกษตรกรรมทำนาไม่เพียงพอ และเพื่อเป็นการขยายอาณาจักรด้วย จึงส่งราชโอรสองค์ใหญ่ ไปตามลำแม่น้ำโขง มาถึงเวียงจันทน์ จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้น มีเมืองหลวงชื่อว่า[FONT=&quot] "[/FONT]กรุงจันทบุรีศรีสัตตนาคนหุต[FONT=&quot]"[/FONT]
    ส่วนพระราชโอรสองค์น้อง ได้ไปตามลำน้ำน่าน มาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่สุโขทัย โดยมีเมืองหลวง ชื่อว่า[FONT=&quot] "[/FONT]กรุงสุโขทัย[FONT=&quot]" [/FONT] ท่านพระอาจารย์แปลให้ฟังด้วยว่า[FONT=&quot] "[/FONT]สุโขทัย[FONT=&quot]" [/FONT]แปลว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ไทยเป็นสุข[FONT=&quot]" [/FONT] เหตุที่อยู่ที่นี้เพราะปัจจัยในการครองชีพเอื้ออำนวย และใกล้ญาติทางนครปฐม ไปมาหาสู่ก็สะดวก ท่านว่าอย่างนี้
    นครปฐมก็มีเมืองหลวง คือ[FONT=&quot] "[/FONT]ทวาราวดีศรีอยุธยา[FONT=&quot]" [/FONT]ที่เรียกว่า ยุคทวาราวดี นั่นเอง เวียงจันทน์จึงเป็นพระเจ้าพี่ สุโขทัยเป็นพระเจ้าน้อง[FONT=&quot] [/FONT]นครปฐม สุโขทัย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ก็คือ ชนชาติชาวราชคฤห์ในครั้งพุทธกาลนั่นเอง
    การอพยพหนีตายคราวนั้น บางพวกลงเรือข้ามทะเล ไปขึ้นฝั่งที่นครศรีธรรมราชก็มี ซึ่งมีพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นสักขีพยานว่า ชาวใต้ทั้งหมดก็เป็นชนชาติรัฐมคธในครั้งพุทธกาล เหมือนกันกับชาวพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ก็คือ ชาวโกศล ในครั้งพุทธกาลนั้นเอง[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    <table id="table28" align="left" border="0" width="105"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
    กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    </td> </tr> </tbody></table> ท่านพระอาจารย์เล่าว่า[FONT=&quot] พระอริยบุคคลในยุครัชกาลที่ [FONT=&quot]4[/FONT] คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระโอรสของรัชกาลที่[FONT=&quot]4[/FONT] นั้นเอง เป็นองค์แรก
    ท่านเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ เทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พระสหาย[FONT=&quot] [/FONT] เพื่อปลดเปลื้องคำปฏิญญาที่พระพุทธเจ้าได้ให้ไว้ เมื่อเสด็จออกผนวชครั้งแรก (พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงพบพระโพธิสัตว์สิทธัตถะเมื่อทรงออกผนวชแล้ว และได้ตรัสปฏิญญาว่า "ถ้าพระองค์ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจงเสด็จมาที่แว่นแคว้นของหม่อมฉันก่อน" พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงรับปฏิญญาของพระเจ้าพิมพิสารไว้ -ภิเนษกรมณ์)
    [FONT=&quot]พระชาติปัจจุบันของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นชาติที่ [/FONT] [FONT=&quot]7 ชาติสุดท้าย ทรงแตกฉานในจตุปฏิสัมภิทาญาณ อย่างสมบูรณ์แบบในยุคนี้[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์ยกตัวอย่าง ความสามารถที่ไม่มีใครเทียบสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า แต่ก่อนพวกบัณฑิตที่เรียนบาลี คือ มูลกัจจายน์คัมภีร์ สนธิ[/FONT][FONT=&quot]-นาม ต้องเรียนถึง 3 ปี จึงแปลบาลีออก สมเด็จฯ ทรงรจนาบาลีไวยกรณ์ให้กุลบุตรเล่าเรียน ในปัจจุบัน 3 เดือน ก็แปลหนังสือบาลีออก นั่นอัศจรรย์ไหมท่าน[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์เล่าต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงรจนาวินัยมุขเล่ม [/FONT] [FONT=&quot]1 [/FONT] [FONT=&quot] หลักสูตรนักธรรมตรี จิตของพระองค์กำหนดวิปัสสนาญาณ [/FONT] [FONT=&quot]3 ที่กล่าวมาแล้ว คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ได้บรรลุชั้นสกิทาคามี[/FONT]
    [FONT=&quot]ต่อมาพระองค์เสด็จประพาสสวนหลวง เมืองเพชรบุรี ทรงรจนาธรรมวิจารณ์ พระหฤทัยของพระองค์ก็บรรลุพระอนาคามี[/FONT]
    [FONT=&quot]พระองค์ทรงมีภาระมาก ดูจะทรงรีบเร่งเพื่อจัดการศึกษา และปฏิบัติสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ประกอบกับสุขภาพของพระองค์ ก็อย่างที่พวกเราเห็นในพระฉายาลักษณ์นั้นเอง ดูจะทรงงานมาก ผอมไป และยุคนั้นการแพทย์ก็ไม่เจริญ แต่พระองค์ก็บำเพ็ญกรณียกิจ จนเข้ารูปเข้ารอย จนพวกเราสามารถจะประสานต่อไปได้ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นสังขารของพระองค์ ว่าไปไม่ไหวแล้ว จึงเร่งวิปัสสนาญาณ สำเร็จพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพาน[/FONT]
    [FONT=&quot]นี่คือคำบอกเล่าของท่านพระอาจารย์มั่นที่ผู้เล่าได้ฟังมา[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    [FONT=&quot]เรื่องนี้เกิดขึ้นที่วัดป่าอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิด ชื่อ คำดี ซึ่งเป็นน้องชายของพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ท่านเป็นคนช่างพูด มักถามนั่นถามนี่กับท่านพระอาจารย์ ผู้เล่าเป็นผู้ช่วยอุปัฏฐาก ไม่ค่อยพูดจา เพราะขณะนั้นยังใหม่อยู่
    [FONT=&quot]วันหนึ่งท่านคำดีได้พูดปรารภขึ้นว่า[/FONT][FONT=&quot] "ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้ น่าอัศจรรย์ กระผมอ่านพุทธประวัติแล้ว ขนลุกชูชัน"[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์ก็รับว่า [/FONT] [FONT=&quot]"จริงอย่างนั้น อันนี้[/FONT][FONT=&quot]([/FONT]หมายถึงตัวท่าน[FONT=&quot])[/FONT]ได้พิจารณาแล้ว และได้อ่านพุทธประวัติที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาไว้เป็นแบบเล่าเรียนศึกษา พระองค์ทรงได้แย้มความมหัศจรรย์เอาไว้ตั้งแต่ทรงออกผนวชครั้งแรก จนถึงวันตรัสรู้ แต่ผู้ศึกษาไม่ซึ้งถึงพระประสงค์ของพระองค์ ว่าเป็นอย่างไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านว่า[FONT=&quot] "[/FONT]อันนี้ได้พิจารณาแล้ว สมเด็จฯ พระองค์ท่านเป็นจอมปราชญ์แห่งยุคสองพันกว่าปี ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีปราชญ์ใดๆ เทียม[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านพระอาจารย์มั่น ยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์นี้ว่า เป็นพระสาวกผู้ทรงไว้ซึ่งจตุปฏิสัมภิทาญาณสมบูรณ์แบบ ในยุคพุทธศาสนาผ่านมาได้ [FONT=&quot]2,000[/FONT] กว่าปี คือ พระองค์เดียวเท่านั้น
    ดูท่านพระอาจารย์จะยกย่องเอามากๆ ขนาดกล่าวว่า พระองค์ทรงรจนาหลักสูตรนักธรรมบาลี ให้กุลบุตรได้รับการศึกษา จากพระไตรปิฎกไม่ผิดเพี้ยน ทั้งย่อและพิสดารได้อย่างเข้าใจ ใช้ภาษาง่ายๆ และไพเราะมาก จะเป็นปัญญาชนหรือสามัญชนอ่าน ก็เข้าใจได้ทันที
    ท่านว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพรรณนาความตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา อาการของพระมหาบุรุษปรากฏว่า ขณะที่บรรดาพระสนมทรงขับกล่อม บำเรอ ไม่ทรงเพลิดเพลิน แล้วทรงบรรทมหลับไป เมื่อตื่นบรรทม ทางเห็นอาการวิปลาสของพระสนมว่า บางคนมีพิณพาดอก บางคนตกอยู่ข้างรักแร้ เปลือยกาย สยายผม บ่นเพ้อพึมพำ น้ำลายไหล ปรากฏในพระหฤทัย เหมือนซากศพผีดิบในป่าช้า
    พระอาจารย์มั่นท่านว่า[FONT=&quot] [/FONT]ขณะนั้นพระหฤทัยของพระองค์ พิจารณากิจในอริยสัจ [FONT=&quot]4[/FONT] อย่าง พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่อริยมรรค ต่อมาภายหลังทรงบัญญัติเรียกว่า อริยโสดาบัน[FONT=&quot] [/FONT]จึงตัดสินพระทัยว่า เราอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว จึงเสด็จออกผนวชในคืนนั้น ต่อจากนั้นก็เสด็จเข้าสู่มคธรัฐ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป
    ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า[FONT=&quot] [/FONT] ตอนไปทรงศึกษากับดาบสทั้งสองนั้น จิตของพระองค์ก็บรรลุมรรคที่สอง คือ สกิทาคามี
    ผู้เล่าสงสัยขึ้นในใจว่า แล้วอย่างนั้นการบรรลุธรรมครั้งที่สองของพระพุทธเจ้า จะไม่สมกับคำว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง[FONT=&quot]" [/FONT]ดอกหรือ
    แต่ไม่ทันได้เรียนถาม ท่านแถลงก่อนว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ดาบสทั้งสองได้ฌานสมาบัติ [FONT=&quot]7-8[/FONT] อรูปพรหมเท่านั้น แต่ท่านทั้งสองขาดวิปัสสนา ปัญญาญาณ ซึ่งไม่ใช่สิ่งอัศจรรย์สำหรับพระองค์ จึงเป็นครูของพระองค์ไม่ได้[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านพระอาจารย์ว่าอย่างนี้
    ท่านพรรณนาถึงพุทธประวัติไว้หลายวาระ จะนำมากล่าวสักสองวาระ
    พระอาจารย์มักพูดพลางหัวเราะด้วยความชอบใจ ในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า ทรงกดพระตาลุด้วยพระชิวหา เมื่อลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เดินไม่สะดวก ก็เกิดเสียงดังอู้ในช่องพระกรรณทั้งสอง ทำให้เกิดทุกขเวทนากล้าจนปวดพระเศียร เสียดในพระอุทร ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง ก็ยังไม่สามารถจะตรัสรู้ได้ จึงทรงเปลี่ยนวาระใหม่ โดยผ่อนพระกระยาหารลงจนไม่เสวยเลย จนพระวรกายผอมโซ ซูบซีด ขุมเส้นพระโลมาเน่า ทรงลูบเส้นพระโลมาก็หลุด เพราะขุมขนเน่า มีกำลังน้อย ทรงดำเนินไปมาก็เซล้ม มีผิวดำคล้ำ จนมหาชนพากันโจษขานกันไปต่างๆ นานา
    ก่อนท่านจะพูดต่อ ก็มีอาการยิ้ม หัวเราะ ออกเสียงพอเหมาะ ดูคล้ายท่านจะพอใจในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]มหาชนบางพวกพอเห็นก็กล่าวขวัญกัน ว่าทรงดำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่าไม่ใช่ดำ คล้ำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่า ไม่ใช่คล้ำ พร้อยไปบ้าง อย่างนี้ จนเหลือกำลังที่บุรุษไหนจะทำได้ แต่ก็ไม่ได้ตรัสรู้ จึงได้อุปมา [FONT=&quot]4[/FONT] ข้อ ในพระหฤทัย ทรงเสวยพระกระยาหาร ทรงมีกำลัง[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] [/FONT] ตอนพระองค์ทรงเริ่มวิปัสสนาญาณ เป็นคำรบสาม พระหฤทัยของพระองค์ก็ทรงกระทำญาณ [FONT=&quot]3[/FONT] คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เหมือนสองวาระแรก จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่มรรคที่สาม คือ อนาคามีมรรค
    ท่านเล่าว่า มหาบุรุษอย่างพระองค์ ทรงกระทำอะไรไม่สูญเปล่า
    อา[FONT=&quot]....[/FONT]เรื่องสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณนี้ [FONT=&quot] [/FONT]ท่านอธิบายได้ละเอียดวิจิตรพิสดาร มาเชื่อมโยงตั้งแต่ เอเต เต ภิกขเวฯ มัชฌิมา ปฏิปทา ฯ ลฯ จนถึง ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมันติ ถึง อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ
    พระมหาบุรุษอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ พระบารมีของพระองค์ทรงบำเพ็ญมาพอแล้ว ด้านปัญจวัคคีย์ก็เบื่อหน่าย หนีจากพระองค์ไป ความวิเวกก็เกิดขึ้น วันเพ็ญ เดือน [FONT=&quot]6[/FONT] แห่งฤกษ์วิสาขะก็มาถึง นางสุชาดาจะแก้บน จึงถวายข้าวมธุปายาสในภาชนะซึ่งเป็นถาดทองคำ เพื่อให้มั่นพระทัย พระองค์จึงอธิษฐานลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชราว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ถ้าจะได้ตรัสรู้ในวันนี้ ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำ[FONT=&quot]" [/FONT]
    คำข้าวมธุปายาสก็มี [FONT=&quot]49[/FONT] คำพอดี พอจะรักษาพระวรกายของพระองค์ไปได้ตลอด [FONT=&quot]49[/FONT] วัน ท่านพูดอย่างนี้
    เมื่อความพร้อมทุกอย่าง ความตรัสรู้ของพระองค์เป็นสัพพัญญุตัญญาณ อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ก็เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน [FONT=&quot]6[/FONT]นี้แล โดยไม่มีใครมาแสดงอ้างว่าเป็นครูหรือเป็นศาสดาของพระองค์เลย
    ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]จู่ๆ มาถึงวันนั้น จะมาตรัสรู้เลยทีเดียวไม่ได้ พระองค์ได้พื้นฐานหลักประกันความมั่นคงแล้ว ตั้งแต่อยู่ในปราสาท วันเสด็จออกผนวชนั้นแล[FONT=&quot] [/FONT]มิฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงกระทบกระทั่งต่อสัญญาอารมณ์ต่างๆ ในระหว่างทรงบำเพ็ญเพียร คงถอยหลังกลับไปเสวยราชสมบัติอีก เพราะเบื้องหลังของพระองค์ก็พร้อมอยู่ จึงถอยไม่ได้ เพราะมีหลักประกันแล้ว[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านอธิบายจนจบ
    ผู้เล่าเฉลียวใจว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ถ้าอย่างนั้น ยสกุลบุตร ก็คงสำเร็จมาจากปราสาทล่ะสิ[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ยสกุลบุตร เป็นไปไม่ได้ เพราะวิสัยอนุพุทธะ ต้องฟังก่อนจึงจะรู้ได้ ไม่เหมือนสัมพุทธะอย่างพระพุทธเจ้า[FONT=&quot]"[/FONT]
    แล้วท่านยังเตือนผู้เล่าว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ปฏิบัติไปหากมีอะไรเกิดขึ้น จงใช้สติกับปัญญา สติกับปัญญา สติกับปัญญา[FONT=&quot]" [/FONT]ย้ำถึง [FONT=&quot]3[/FONT] ครั้ง
    [FONT=&quot]"[/FONT]รับรองว่าไม่ผิดแน่ เพราะทุกวันนี้มีแต่ครูคือ พระธรรมวินัย ขาดครูคือ เจ้าของพระธรรมวินัย คือ บรมครู[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านว่าอย่างนี้
    [/FONT]
     
  8. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    สู่วงศ์พระพุทธศาสนา
    หลังจากการทำสงครามยึดนครจำปาศักดิ์สิ้นสุดลง มีนายทหารท่านหนึ่งมากราบท่านพระอาจารย์มั่น ด้วยความเลื่อมใส มาถึงตอนเช้าก็ถวายทาน[FONT=&quot] ปกติระเบียบของท่านพระอาจารย์มั่น ถ้าแขกมาอย่างนี้น่ะ ท่านจะให้มาเวลาเช้า เวลานี้ท่านจะต้องให้ต้อนรับ แต่ถ้าเลิกฉันบิณฑบาตแล้วหมดเวลา จนถึงบ่าย [FONT=&quot]3[/FONT] โมง และจะต้องมีผู้นำมา ถ้าไม่มีผู้นำ ท่านไม่ให้เข้ามา
    ทีนี้ท่านมาคนเดียว ขึ้นไปกราบนมัสการแล้ว ท่านก็รายงานตามแบบทหาร ชื่อนั้น ชื่อนี้ ยศท่าน เท่านี้ ท่านพระอาจารย์มั่นก็เทศนาเกี่ยวกับ ทาน ศีล เนกขัมมะ การออกจากกาม โทษของกาม หลังจากท่านเทศน์จบก็ลากลับ
    พอตกค่ำ หลังจากอบรมพระเณรเสร็จแล้ว ผู้เล่าได้เข้าไปปฏิบัติท่าน ถวายการนวด ท่านก็ปรารภเปรยๆ ขึ้นว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]อันนี้ได้เหตุล่ะนะ[FONT=&quot]" ([/FONT]อันนี้หมายถึงตัวท่าน[FONT=&quot]) [/FONT]วันนั้นตอนเช้าใกล้จะสว่าง ท่านกำลังทำสมาธิอยู่ ก็มีนิมิตปรากฏว่า มีนายพันคนหนึ่ง มารายงานตัวว่า ผมมาจากวอชิงตัน ตอนนั้นก็ยังไม่ได้พิจารณาอะไรไรอก บังเอิญมาพบนายพันทหารไทยคนนี้ ท่านก็จึงหวนพิจารณา
    ได้ความว่า นายพันทหารไทยคนนี้น่ะ สมัยสงครามโลกครั้งที่[FONT=&quot]1[/FONT] ไปรบอยู่ที่ประเทศเยอรมัน มียศเป็นนายพันทหารเหมือนกัน เป็นคนอเมริกัน และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ [FONT=&quot]6[/FONT] ได้ส่งทหารไทยไปรบอยู่ที่เยอรมันนั้นเอง อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร
    สมัยนั้น เวลาพักรบน่ะ พักจริงๆ ขนาดทหารฝ่ายสัมพันธมิตรกับทหารเยอรมันจุดบุหรี่ด้วยกันได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ หลังจากพักรบแล้ว นายพันทหารไทยก็มานอนอ่านหนังสืออยู่ที่เปล นายพันทหารอเมริกันก็เข้ามาถาม[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]อ่านหนังสืออะไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    นายพันทหารไทย[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]อ่านหนังสือเรื่อง เบญจศีล เบญจธรรม เขียนโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ผมอยากรู้ อธิบายให้ผมฟังได้ไหม[FONT=&quot]"[/FONT]
    นายทหารไทยก็อธิบายให้ฟัง แกก็เลื่อมใส พูดว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ผมถือคริสต์ ผมจะปฏิบัติอย่างนี้ได้ไหม[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ขึ้นชื่อว่าความดีนี้ ไม่เลือก จะนับถืออะไรก็ทำได้[FONT=&quot]" [/FONT]ทหารไทยตอบ
    แกก็เลยสมาทานศีล [FONT=&quot]5[/FONT] กลับไปอเมริกา ไปสิ้นชีวิตลงที่นั่น
    ด้วยอานิสงส์ของการรักษาศีล [FONT=&quot]5[/FONT] นี้ ก็พลัดเข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนา[FONT=&quot] [/FONT]พอพลัดเข้ามาแล้ว ก็ยังได้มาเป็นนายพันทหารอีกเหมือนกัน คือ[FONT=&quot] [/FONT] ท่านพันเอก นิ่ม ชโยดม[FONT=&quot] [/FONT]คนที่มาเมื่อเช้านั่นแหละ เธอต้องการอยากจะสำเร็จเป็นพระโสดาบัน
    เธอพูดกับท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] "[/FONT]จะได้ปิดประตูอบายภูมิ จะเป็นไปได้ไหมท่านอาจารย์[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านตอบว่า[FONT=&quot] "[/FONT]สำหรับผู้ปฏิบัติ ก็คงจะได้กระมัง[FONT=&quot]"[/FONT]
    เธอก็ยังสงสัยลังเลอยู่ ยังไม่มั่นใจ พอกลับไปกราบท่านพระอาจารย์ ครั้งที่ [FONT=&quot]2[/FONT] ก็ถามอีก ครั้งที่ [FONT=&quot]3[/FONT] ก็ถามอีก ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดเหมือนเดิม
    หลังจากนายพันเอกนิ่มกลับไปแล้ว ขณะผู้เล่าถวายการนวดอยู่ ท่านพูดว่า
    [FONT=&quot]"[/FONT]เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะบารมียังอ่อน เขาเป็นพาหิราศาสนา ศาสนาภายนอก มาหลายภพหลายชาติ ด้วยอานิสงส์ที่รักษาศีล [FONT=&quot] 5[/FONT]ในพระพุทธศาสนา จึงพลัดเข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนา[FONT=&quot] [/FONT] ต้องมาเกิดในประเทศไทยนี้ถึง [FONT=&quot]2[/FONT] ชาติเสียก่อน จึงจะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน[FONT=&quot] [/FONT]เพราะบารมียังอ่อน[FONT=&quot]"[/FONT]
    (พันเอกนิ่ม ชโยดม เกิดเมื่อ 28 มกราคม พ.ศ.2440 ที่จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2460 สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จออกรับราชการ ในปี พ.ศ.2465 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นขุนนิมมานกลยุทธ
    ประมาณปีพ.ศ. 2490-2492 ย้ายไปรับราชการเป็นผู้บังคับการทหารบกอุบลราชธานี ในโอกาสออกตรวจเยี่ยมหน่วยทหาร ท่านได้ถือโอกาสเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ
    ครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว มีคนมาต้อนรับและนำไปพักยังศาลาที่จัดเตรียมรอไว้ โดยมีที่นอนเตรียมไว้พอดีกับจำนวนคนที่ร่วมคณะทั้งหมด ซึ่งมี 8 คน พอสอบถามก็ทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งเตรียมไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่กลางวันแล้วว่า จะมีคณะมาพัก 8 คน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านพักเอกนิ่มอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก
    เมื่อเกษียณแล้ว ท่านมักไปถือศีลปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ฯ ลฯ เรื่อยมาจนชราภาพมากจึงหยุดไป และท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2531
    -เรียบเรียงโดยภิเนษกรมณ์ จากประวัติพันเอกนิ่ม ชโยดม และบทสัมภาษณ์คุณณรงค์ ชโยดม บุตรชายคนโตของ พันเอกนิ่ม ชโยดม )[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    คนไทยเป็นบุคคลที่โชคดีที่สุดในโลก
    คืนหนึ่ง หลังจากเทศน์อบรมพระเณรจบลง ท่านพระอาจารย์เข้าพักผ่อน ผู้เล่าถวายการนวด เรื่องพันเอกนิ่ม ชโยดม คล้ายกับค้างอยู่ยังไม่จบ[FONT=&quot] ความเป็นคนไทย นับถือพระพุทธศาสนา เข้าสู่พุทธวงศ์ [FONT=&quot]([/FONT]หรือเข้าสู่วงจรชาวพุทธ[FONT=&quot]) [/FONT]มิใช่เป็นของได้ง่ายๆ ท่านเลยยกพุทธภาษิตที่มาจากคัมภีร์พระธรรมบท ขุททกนิกายว่า
    กิจฺโฉ มนุสฺส ปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ
    ภาษิตที่ยกมานั้น ท่านเอามงคลสูตรมากล่าว ตั้งแต่อเสวนาเป็นต้นไป จนถึง ผุฎฐสฺส โลกธมฺเมหิ ฯ ลฯ เป็นอวสาน มงคลที่ท่านย้ำเป็นพิเศษ คือ บท [FONT=&quot]2[/FONT] ปฏิรูปเทสวาโส ฯ ลฯ บท [FONT=&quot]3[/FONT] และ [FONT=&quot]4[/FONT] ทานญฺจ ฯ ลฯ อนวชฺชานิ กมฺมานิ เพราะ [FONT=&quot]4[/FONT] บทนี้ เป็นพื้นฐานของมงคลทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปเทสนี้ สำคัญมาก ท่านดูจะหมายเอาประเทศไทยโดยเฉพาะ
    พอท่านอธิบายจบแต่ละมงคล ก็จะย้ำเป็นบาลีว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถึง [FONT=&quot]3[/FONT] ครั้ง และเป็นภาษาไทยว่า เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ ถึง [FONT=&quot]3[/FONT] ครั้ง
    ครั้งสุดท้าย พอขึ้น ผุฏฺฐสฺ โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นั่นละ ถึงเป็นมงคลถึงที่สุด คือ พระนิพพานเลย
    ท่านพูดต่อว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ความเป็นคนไทย[FONT=&quot]...[/FONT]พร้อม[FONT=&quot]" [/FONT]
    พร้อมอย่างไร
    ท่านจะอ้างอิงตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงสมัยปัจจุบัน ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พระไตรปิฎกพร้อมมูล ประเทศไทยไม่เคยอดอยากหิวโหย ตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงปัจจุบัน ประเทศไทยไม่เคยว่างเว้นจากพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทุกยุคทุกสมัย ชาวไทยศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ถวายจตุปัจจัยพระสงฆ์ทุกวัน นับมูลค่าไม่ได้
    ทำไมคนไทยจึงมีกินมีใช้ มิใช่บุญหรือ[FONT=&quot] [/FONT]บุญมีจริงไหม มีข้าวกล้าในนางาม ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ในป่ามีไม้ มีปลาในน้ำ มีสัตว์บนบก มีนกในอากาศ มิใช่บุญเกิดจากการถวายทานพระสงฆ์ในแต่ละวันหรือ
    ธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์มั่น มักจะยกการทำนามาเป็นเครื่องอุปมาอุปไมย เปรียบเทียบเกือบจะไม่ว่างเว้นเลย และอธิบายเรื่องการทำนาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนมาก คงจะได้พบในมุตโตทัย
    ผู้เล่าจะนำมาเล่าเท่าที่จำได้ เช่น การปฏิบัติธรรมถูก ก็ถูกมาแต่ต้น ท่านหมายถึง ผู้ปฏิบัติ คือ ไม่ลืมคำสอนที่พระอุปัชฌาย์สอนไว้แต่วันบวช การทำนาก็เหมือนกัน[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ถูกมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าจึงมี ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]คำเหลืองสร้อยซิเป็นฮอยหิห่ำ ข้าวก่ำเป็นข้าวพั้ว งัวสิให้ต่อควาย[FONT=&quot]" [/FONT]
    คำนี้ท่านเปรียบผู้เรียนรู้มากแล้วลาสิกขาออกไป เปรียบด้วยข้าวในนาจวนจะสุกอยู่แล้ว เลยถูกหนอนคอรวงกัดกินเสียหายหมด เลยไม่ได้กินสูญเปล่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    พุทธภาษา
    มคธภาษาหรือบาลีภาษา เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาโดยเฉพาะ เรียกว่า[FONT=&quot] "พุทธภาษา[FONT=&quot]"[/FONT]
    วันหนึ่งผู้เล่ากลับบ้านถิ่นกำเนิด เพื่อทำบุญให้มารดาผู้บังเกิดเกล้า กลับมานมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ได้โอกาสขอนิสัยตามวินัยกรรม กล่าวคำขอนิสัย จบประโยคว่า[FONT=&quot] "[/FONT]นิสฺสาย อสฺสามิ[FONT=&quot]" [/FONT]
    ผิด เป็น[FONT=&quot] "[/FONT]วจฺฉามิ[FONT=&quot]" [/FONT]จึงจะถูก
    ท่านเตือน
    ผู้เล่าคิดว่า พวกชาวมคธเวลาเขาพูดกัน เขาพูดอย่างนี้ แสดงขั้นสูงหรือคำสูง นิเทศ แสดงออกเป็นอุเทศ เป็นพุทธภาษา นิเทศแสดงแก่ชาวมคธก่อน ปฏินิเทศแสดงเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก อย่างกว้างขวาง อุปมาอุปไมย เพื่อให้ชาวโลกเข้าใจเนื้อหาแห่งพระธรรมนั้นๆ
    เมื่อพระพุทธศาสนานี้หมดลง ภาษานี้ก็จะอันตรธานไปด้วย จนกว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาตรัสรู้ ก็ตรัสรู้ด้วยภาษานี้ มิฉะนั้นความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ไม่น่าอัศจรรย์[FONT=&quot] [/FONT]เพราะภาษาชาติต่างๆ ใครก็พูดได้ เหตุนี้จึงเรียกว่า มคธภาษา เพราะพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาเผยแพร่แก่ชนชาวมคธเป็นครั้งแรก
    ชาวมคธ คือใคร ก็คือ ชาวไทยนี้แหละ ดูแต่ภาษาที่เราพูดกันแต่ละคำ ทั้งภาษาสามัญ และภาษาทางการ ล้วนแต่พุทธภาษาทั้งนั้น ฉะนั้นไม่มีชาติไหนจะพูดเขียนภาษานี้ได้ถูกต้องที่สุด พร้อมทั้งอักขรฐานกรณ์ ทั้งภาคพยางค์ เพราะชาวมคธยอมรับนับถือนำมาใช้ก่อน จึงเรียกว่า มคธภาษา
    จำเป็นต้องคงพุทธภาษานี้ไว้ เพราะทรงไว้ซึ่งพุทธวจนะหรือพระไตรปิฎก ถ้าใช้ภาษาของชาติต่างๆ ที่แปลออกมาแล้ว ผู้ปฏิบัติเห็นแก่ง่าย จะตีความเข้าข้างตนเองมากขึ้น พุทธวจนะก็วิปริตได้[FONT=&quot] [/FONT]จะแปลเป็นภาษาของชาติไหนๆ แต่พุทธภาษาก็ยังคงกำกับไว้อยู่ เช่น ภาษาไทยฉบับบาลี หรือ ชาติอื่นๆ เช่น อังกฤษ ก็มีบาลีภาษากำกับ
    ทุกชาติจึงเรียก บาลีภาษา คือ รักษาไว้ซึ่งพุทธวจนะนั่นเอง
    พุทธภาษา เป็นภาษาที่มีอักขระ คือ สระ และ พยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ไม่ขาดไม่เกิน[FONT=&quot] [/FONT]ไม่เหมือนภาษาสามัญ เช่น อักษรไทยเกินไป อักษรอังกฤษไม่พอ
    จึงเรียกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ตันติภาษา[FONT=&quot]" [/FONT]ภาษาที่มีระเบียบแบบแผน สืบทอดกันมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ บัณฑิตนักบาลีไวยากรณ์รู้ดี เพราะบัณฑิตเหล่านี้เป็นบัณฑิตโดยเฉพาะ[FONT=&quot] "[/FONT]ตสฺสตฺโถ ปณฺฑิเตน เวทิตพฺโพ[FONT=&quot]" [/FONT] ภาษานี้เป็นภาษาท่องจำ สังวัธยาย สวดมนต์ และบันทึกลงเป็นอักษร ทั้งกระดาษ ใบลาน และวัสดุที่ควรต่างๆ ไม่ใช่ภาษาที่ชาติใดๆ ใช้พูดกันในโลก
    พุทธภาษานี้มีความมหัศจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสได้ [FONT=&quot]8[/FONT] คำ พระอานนท์พูดได้ [FONT=&quot]1[/FONT] คำ พระอานนท์พูดได้ [FONT=&quot]8[/FONT] คำ สามัญชนพูดได้ [FONT=&quot]1[/FONT] คำ
    อุทาหรณ์ ประเทศไทยเป็น[FONT=&quot] "[/FONT]ปฏิรูปเทส[FONT=&quot]" [/FONT]พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    ปฏิรูปเทสวาโส จ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา
    อตฺตสมฺมาปณิธิ จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
    สามัญชนพูดได้คำเดียวนี้ คือ ความมหัศจรรย์ของพุทธภาษา หากเป็นภาษาสามัญชน ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นของมหัศจรรย์
    นี่คือคำพูดของท่านพระอาจารย์มั่น ที่ผู้เล่าได้ฟังมา[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    บำบัดอาพาธด้วยธรรม
    ปกติท่านพระอาจารย์มั่นจะจากวัดที่อยู่จำพรรษา จาริกสู่ที่เป็นที่เที่ยวไป ก็ต้องสิ้นฤดูกาลกฐินเสียก่อน เมื่อท่านพระอาจารย์ปรารภจะเปลี่ยนสถานที่ เพราะอยู่บ้านนามน บ้านโคกศรีสุพรรณมานานแล้ว มีหลายสำนักที่ศิษย์ไปจัดถวายไว้ แต่ท่านปรารภจะไปสำนักป่าบ้านห้วยแคน ห่างไม่เกิน [FONT=&quot]10[FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot].[/FONT]
    พอได้เวลาก็ออกเดินทาง พระไปส่งหลายรูป ท่านส่งกลับหมด ผู้เล่าโชคดีได้อยู่ [FONT=&quot]2[/FONT] องค์กับท่าน มีตาปะขาวอีกคนหนึ่งชื่อแดง ความเป็นอยู่ก็สะดวกสบายตามอัตภาพ แม้ชาวบ้านยากจน แต่เขาก็ไม่ให้ท่านพระอาจารย์ยากจนด้วย จึงมีเหลือฉันทุกวัน มิหนำโยมที่ไปถวายบิณฑบาต ขาไปเต็มกระติบ ขากลับก็ยังเหลือเต็มกระติบ เพราะหมู่บ้านใกล้เคียงได้ข่าว ก็มาใส่บาตรบ้าง บ้านนั้นบ้าง บ้านนี้บ้าง มีอาจารย์วิริยังค์ อาจารย์เนตร อาจารย์มนู นำมาบ้าง
    บางวันมีกิจกรรมบูรณะ หรือซักสบงจีวร ท่านเหล่านั้นก็ช่วยกันทำให้เสร็จก่อนจึงกลับ หากเป็นวันลงอุโบสถ พระลูกศิษย์ที่พำนักในที่ต่างๆ จะมารวมกัน รูปที่อยู่ไกลหน่อยก็มาพักแรม นำญาติโยมหาบเสบียงมาพักแรม ทำอาหารบิณฑบาตถวายด้วยเสมอมา จึงไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการเจริญสมณธรรม
    หนึ่งเดือนผ่านไป อากาศเริ่มหนาวจัด ท่านพระอาจารย์ปรารภจะทำซุ้มไฟ ผู้เล่าบิณฑบาตได้ มาฉันกับท่านแล้ว ช่วยกันทำกับชาวบ้าน วันสองวันก็เสร็จ
    ประมาณเริ่มเดือนยี่ ท่านเริ่มไม่สบาย มีอาการคอตั้ง เอียงซ้ายขวายาก โรคนี้คล้ายเป็นโรคประจำ แต่ไม่เป็นบ่อย มาสกลนครหลายปีก็เพิ่งจะเป็นครั้งนี้ ก็เช่นเคย ท่านบ่นถึงพระมหาทองสุก ผู้เล่าเลยให้โยมไปนิมนต์ท่านๆ พักวัดป่าบ้านห้วยหีบ และท่านอาจารย์สอ สุมงฺคโล ด้วย ท่านอยู่บ้านนามน ท่านทั้งสองก็เดินทางมาวันนั้นเลย
    พอมาถึง ทั้งชาวบ้านและผ้าขาวแดง ระดมกันหายา มีเปลือกแดง เปลือกดู่ ใบเป๊า ใบพลับพลึง [FONT=&quot]([/FONT]ใบหัวว่านชนอีสาน[FONT=&quot]) [/FONT]ใบการบูร [FONT=&quot]([/FONT]ใบหนาดโคกอีสาน[FONT=&quot]) [/FONT]มาสับมาโขลกละเอียดดีแล้ว ตั้งหม้อห่อยาวางบนปากหม้อ ร้อนแล้วเอาผ้ารองวางประคบบนบ่า ไหล่บ้าง หลังบ้าง หน้าอกบ้าง บนศีรษะบ้าง
    [FONT=&quot]6 [/FONT] วันผ่านไป ท่านก็ยังออกบิณฑบาตทุกวัน ผู้เล่านอนพักที่ซุ้มไฟกับท่าน ตั้งแต่เริ่มไม่สบาย
    พอรุ่งขึ้นเป็นวันที่ [FONT=&quot]7[/FONT] ท่านตื่นเวลา [FONT=&quot]03.00[/FONT][FONT=&quot]. [/FONT] เป็นปกติ ปลุกผู้เล่าลุกขึ้นสุมไฟ เพราะไฟอ่อนแสงแล้ว ท่านล้างหน้า ครองผ้า สวดมนต์ แล้วก็นั่งสมาธิต่อ จะต้มยาถวายเหมือนทุกวัน ท่านไม่เอา ผู้เล่าก็ไหว้พระนั่งภาวนา จะนอนก็อายท่าน ตลอด [FONT=&quot]6[/FONT] วันที่ผ่านมา มีเวลานอนไม่พอ นั่งสัปหงกตลอดรุ่ง หลับๆ ตื่นๆ พอสว่างจัดบริขารออกบิณฑบาต พระพยาบาลที่มาพักค้างด้วย ไม่ต้องห่วงเรื่องบิณฑบาต เพราะพระที่อยู่ในรัศมีใกล้ จะพาญาติโยมมาอังคาส [FONT=&quot]([/FONT]ดูแลการถวายภัตตาหาร[FONT=&quot]) [/FONT] เต็มที่
    ตกตอนเย็นหลังจากเดินจงกรมแล้ว ท่านเข้าซุ้มไฟ ผู้เล่าเข้าไปก่อน เตรียมปูเสื่อสำหรับหมู่คณะ พอได้เวลาจะต้มยา ท่านว่าไม่ต้อง ค่อยยังชั่วแล้ว ต่อจากนั้นท่านก็เริ่มอธิบายธรรมะ ยกเป็นภาษาบาลีแรกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]อฏฺฐ เตรส[FONT=&quot]" [/FONT] แล้วท่านถามท่านสอ [FONT=&quot]([/FONT]ท่านอาจารย์สอ สุมงฺคโล ต่อมาท่านมรณภาพที่วัดป่าบ้านหนองผือ[FONT=&quot]) [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]แปลว่าอะไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านสอว่า[FONT=&quot] "[/FONT]กระผมไม่รู้ภาษาบาลี[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]หือ[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านมหาทองสุก เข้าให้แล้ว
    ท่านมหาก็อ้ำๆ อึ้งๆ ด้วยความเกรงว่าจะเป็นการอวดฉลาด[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]แปลให้ฟังก่อนนา ท่านมหาเรียนมาแล้ว กลัวทำไม[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านมหาตอบ[FONT=&quot] "[/FONT]อฏฺฐ แปลว่า [FONT=&quot]8 [/FONT] เตรส แปลว่า [FONT=&quot]13 [/FONT] ขอรับกระผม[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ถูกต้อง สมเป็นมหาจริงๆ [FONT=&quot]" [/FONT] ท่านว่า
    ท่านอธิบายว่า[FONT=&quot] "[/FONT]อาพาธคราวนี้ บำบัดด้วย มรรค [FONT=&quot]8[/FONT] และธุดงค์ [FONT=&quot]13[/FONT] เป็นมรรคสามัคคีกัน[FONT=&quot]" [/FONT]
    ต่อจากนั้นธรรมเทศนาใหญ่ก็เกิดขึ้น พระที่อยู่ในรัศมีใกล้ยังไม่กลับ ประมาณ [FONT=&quot]15[/FONT] รูป ซุ้มไฟบรรจุเต็มที่จะนั่งได้ [FONT=&quot]20[/FONT] รูป ท่านอธิบายมรรค [FONT=&quot]8[/FONT] สัมพันธ์กับธุดงค์ [FONT=&quot]13[/FONT] อย่างมีระบบ เป็นวงจรเหมือนลูกโซ่ ซึ่งผู้เล่าและพระในนั้นก็ไม่เคยฟัง [FONT=&quot]2[/FONT] ชั่วโมงเต็ม พอเลิกต่างก็พูดกันว่า โชคดี เพราะไม่เคยฟัง
    เดือน [FONT=&quot]3[/FONT] ย่างเข้ามา ท่านพระอาจารย์ก็หายเป็นปกติ เพื่อนบรรพชิตต่างก็ทยอยกันกลับสำนักเดิม ทั้งนี้เพื่อท่านพระอาจารย์จะได้วิเวกจริงๆ คงมีผู้เล่าและผ้าขาวแดงเท่านั้น ก็สะดวกดี เพราะทั้งผู้เล่าและผ้าขาว ก็เป็นบุคคลสัปปายะของท่านอยู่ ซุ้มไฟยังไม่รื้อ อากาศยังหนาวอยู่
    (เรื่องนี้เข้าใจว่าเกิดขึ้นเมื่อ ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคกและบ้านนามนติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีแล้ว คือ พ.ศ. 2485-2487 เมื่อออกพรรษาแล้วปลายปี พ.ศ.2487 ท่านจึงย้ายมาอยู่ที่วัดป่าบ้านห้วยแคน ซึ่งอยู่ไกลจากบ้านโคกและบ้านนามน ไม่เกิน 10 ก.ม. และพักอยู่ที่นี่ติดต่อกันประมาณ 4 เดือน จึงเดินทางต่อไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    จากบ้านห้วยแคน
    วันหนึ่งประมาณ [FONT=&quot]20.00[FONT=&quot].[/FONT]เศษๆ กำลังนั่งอยู่ในซุ้มไฟกับท่านพระอาจารย์ เสียงเครื่องบินกระหึ่มขึ้น บินผ่านหัวไป ท่านบอกให้ผู้เล่าพรางไฟ ผู้เล่าหาอะไรไม่ทันก็เอาจีวรคลุมโปง สองมือกางออกยืนคร่อมกองไฟไว้ จนกว่าเครื่องบินจะบินผ่านไป วนไปวนมา [FONT=&quot]2-3[/FONT] ครั้ง ช่างนานเสียเหลือเกิน
    ตื่นเช้าไปบิณฑบาต จึงรู้ว่ามีการจัดตั้งกองโจร ขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกไป เครื่องบินนำเอาอาวุธยุทธปัจจัยมาให้ฝึกพลพรรค การเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์จึงเกิดขึ้น เช่น เกณฑ์คนไปฝึกอาวุธ เกณฑ์เสบียง รู้กันอยู่ว่าปีนั้นฝนแล้ง ข้าวมีน้อย แต่ถูกเกณฑ์ไปให้พลพรรค แม่บ้านต้องหาขุดกลอยขุดมันกินแทนข้าว พระเณรก็ฉันอย่างนั้น ทุกข์แทบเลือดตากระเด็น แต่ผู้มีอำนาจและพลพรรคเหลือกินเหลือใช้ เพราะส่งมาจากต่างประเทศโดยเครื่องบิน สงคราม คือ การเอาเปรียบ กดขี่ ข่มเหง บังคับขู่เข็ญ
    เดือน [FONT=&quot]3[/FONT] ผ่านไป ซุ้มไฟถูกรื้อถอน เพราะอากาศอบอุ่นขึ้นแล้ว พอเดือน [FONT=&quot]4[/FONT] มีชาวบ้านหนองผือประมาณ [FONT=&quot]5[/FONT] คน ได้ขึ้นมาที่ศาลาที่ท่านพักอยู่ กราบนมัสการแล้วยื่นจดหมายถวาย ท่านยื่นให้ผู้เล่าอ่านให้ฟัง
    [/FONT]
    <table id="table30" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    เนื้อความในจดหมาย ขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ไปพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านตอบรับทันที สั่งให้เตรียมข้าวของ
    ชาวบ้านเขาบอก[FONT=&quot] "
    ไม่ใช่ให้ท่านพระอาจารย์ไปวันนี้ จะกลับไปบอกพระอาจารย์หลุย [FONT=&quot]([/FONT]พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร[FONT=&quot]) [/FONT]เสียก่อน แล้วท่านจะจัดคนมารับ พระอาจารย์หลุยสั่งอย่างนี้[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เออ ดีเหมือนกัน เราก็ยังไม่ได้บอกหมู่ วันขึ้น [FONT=&quot]15[/FONT] ค่ำ เดือน [FONT=&quot]4[/FONT] เพ็ญ หมู่จะมาลงอุโบสถกัน บอกหมู่แล้วก็ให้โยมมาวันนั้น พักแรมหนึ่งคืน วันแรมค่ำหนึ่งเราก็ออกเดินทางกัน[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่าไม่เคยคิด[FONT=&quot] [/FONT]เพิ่งรู้ว่าวิสัยสัตตบุรุษ ไม่ยอมละทิ้งหมู่[FONT=&quot] [/FONT]เช่น ตอนที่ท่านอาพาธหนัก จะจากพรรณานิคมไปสกลนคร [FONT=&quot]([/FONT]พักวัดป่าสุทธาวาส[FONT=&quot]) [/FONT] ยังพูดกับโยมที่มารับว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]หมู่ล่ะ จะไปกันอย่างไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    คุณวิเศษ เชาวนสมิทธิ์ กราบเรียนว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ได้เตรียมรถรับส่งตลอด มีเท่าไหร่เอาไปให้หมด[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ถ้าอย่างนั้นเอาพวกเราไป[FONT=&quot]"[/FONT]
    หลังทำอุโบสถแล้ว ท่านบอกว่า
    [FONT=&quot]"[/FONT]อีกไม่นานถิ่นนี้จะมีแต่ทหารเต็มไปหมด ใครจะอยู่ ใครจะไป ก็ตามใจ[FONT=&quot]"[/FONT]
    (ปี พ.ศ.2487 ท่านพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อออกพรรษาแล้ว ต้นปี พ.ศ.2488 ได้ส่งโยมไปกราบอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นมาพักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่ได้เดินทางย้ายไปจำพรรษาที่อื่นอีกเลยตลอด 5 พรรษา จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.2492 ท่านอาพาธหนัก จึงพากันหามท่านเดินทางไปพักที่วัดป่าบ้านภู่ (วัดกลางโนนภู่ในปัจจุบัน) ประมาณ 10 วัน แล้วนิมนต์เดินทางต่อโดยรถไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส และท่านก็ได้มรณภาพในคืนวันนั้นเอง - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    เมตตาชาวบ้านห้วยแคน
    [FONT=&quot]4 เดือนให้หลังแห่งการอยู่บ้านห้วยแคน ท่านได้แนะนำชาวบ้านว่า ข้าวเกิดจากดิน ไถคราดแผ่นดิน หว่านลงบนดิน ปักดำลงบนดิน บุกเบิกชำระดินให้เตียนดี ไถดิน ดินแล้วดินเล่า ก็คนนี่แหละทำ บ้านอื่นเขาก็คน เราก็คนเหมือนกัน เขามีข้าวกิน เราอดข้าวกิน มันอะไรกัน ทำนองนี้แหละที่ท่านพระอาจารย์สั่งสอน
    วันจากบ้านห้วยแคนสู่บ้านหนองผือ ผู้หญิงร้องไห้ ผู้ชายบางคน เช่น ผู้ใหญ่ฝันก็ร้องไห้ คร่ำครวญว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เป็นเพราะพวกเรายากจน ท่านจึงไม่อยู่ด้วย[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านก็ว่า[FONT=&quot] "[/FONT]เราอยู่มาแล้ว [FONT=&quot]4[/FONT] เดือน พวกท่านอดอยาก แต่พระก็ได้ฉันทุกวัน อยู่แผ่นดินเดียวกัน คิดถึงก็ไปเยี่ยมยามถามข่าวกันได้[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านว่า
    สองปีผ่านไป ขบวนเกวียนลำเลียงข้าวเปลือก และข้าวสาร พร้อมวัตถุอันบุคคลพึงบริโภค ก็ลำเลียงจากบ้านห้วยแคนสู่วัดป่าบ้านหนองผือ ดินแดนท่านพระอาจารย์มั่น พักเกวียนไว้ริมทาง ใกล้หมู่บ้านริมทุ่ง ผูกล่ามวัวให้อาหารวัว หาฟืนหุงหาอาหารเลี้ยงดูกัน
    เวลาเช้า ถวายบิณฑบาตท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมพระสงฆ์ ฟังเทศน์เสร็จแล้ว ถวายข้าวเปลือกหลายกระสอบและข้าวสาร อันเป็นผลผลิตจากน้ำมือชาวบ้าน
    ท่านถาม[FONT=&quot] "[/FONT]อะไรกันนี่[FONT=&quot]" [/FONT]
    เขาตอบ[FONT=&quot] "[/FONT]พวกกระผมชาวบ้านห้วยแคน แต่ก่อนอดอยาก เดี๋ยวนี้ไม่อดแล้ว เพราะฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] [/FONT] ให้เอาข้าวกล้าหว่านดำลงบนดิน บัดนี้พวกกระผมได้ทำลงบนดิน[FONT=&quot] [/FONT]ได้ข้าวมาถวาย ตอบแทนบุญคุณท่านที่สอนพวกกระผม ให้ได้กินได้ใช้ ไม่ต้องเอาลึมกระบอง [FONT=&quot]([/FONT]ขี้ไต้มัดรวมกัน [FONT=&quot]10[/FONT] อัน[FONT=&quot]) [/FONT] ไปแลกบ้านอื่นอีกแล้ว[FONT=&quot]"[/FONT]
    พักอีกหนึ่งคืน ถวายทานเสร็จ ชาวบ้านห้วยแคนก็กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นยกขบวนเกวียนกลับ[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    เทพบอกใส่บาตร
    เมื่อท่านพระอาจารย์ออกเดินทาง จากวัดป่าบ้านห้วยแคน สู่วัดป่าบ้านหนองผือ เริ่มออกเดินทางเดือน [FONT=&quot]4 แรมค่ำหนึ่ง
    วันแรก พักวัดบ้านนากับแก้ วันที่สอง พักวัดบ้านโพนนาก้างปลา สองคืนแรก เดินทางปกติไม่มีเหตุการณ์ วันที่สาม พักศาลากลางบ้านของกรมทางหลวง ศาลานี้ตั้งอยู่บ้านลาดกะเฌอ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ขณะนั้นยังไม่เป็นหมู่บ้าน เป็นปางเลี้ยงวัวเลี้ยงควายของชาวสกลนคร ทำเลเหมาะแก่การพักของคนเดินทาง มีบ่อน้ำให้ดื่มให้ใช้
    ท่านพระอาจารย์ไปถึงก็แวะพัก ขณะไปถึงนั้นเป็นเวลาประมาณ [FONT=&quot]13.00[/FONT][FONT=&quot]. [/FONT] มีพระและผ้าขาวติดตาม ชาวบ้านหนองผืออีก [FONT=&quot]12[/FONT] คน รวมทั้งท่าน เป็น [FONT=&quot]21[/FONT] คน พระช่วยกันปัดกวาด ญาติโยมนำน้ำมาไว้ดื่มไว้ใช้ ปูที่พักถวายท่านเสร็จ
    หนึ่งชั่วโมงผ่านไป ท่านพระอาจารย์ก็นั่งเฉย เอนนอนเฉยอยู่ ชาวบ้านหนองผือผู้เป็นหัวหน้าไปรับ เป็นคนใจร้อน คิดว่า ถ้าท่านพระอาจารย์พักอยู่นี้ จะฉันอะไร คนตั้งมากมาย จึงเข้าไปกราบนมัสการ ขอนิมนต์เดินทางต่อไปพักบ้านโพนงาม ระยะทางประมาณ [FONT=&quot]7-8[/FONT][FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot]. [/FONT]จะได้ทันเวลา
    ท่านบอกว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]เราไม่ไป เขาเป็นชาวบ้านป่าชาวเขา เราพักอยู่นี้ เขาจะได้กินได้ทาน[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT] หากท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]ไม่[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT] แล้วอย่าได้พูดซ้ำอีก
    ตอนเย็น ชาวบ้านก็นำอาหารมาเลี้ยงแขกโยม พอเช้าได้เวลา ท่านพระอาจารย์และพระสงฆ์เที่ยวบิณฑบาต มีคนนำไปเพราะเป็นปางควายปางวัว บ้านแต่ละหลังมีทางลัดแคบๆ พอสมควรแล้วคนก็นำกลับ ขณะกำลังถวายน้ำล้างเท้าท่านพระอาจารย์ ก็ได้ยินเสียงรถยนต์กำลังตรงเข้ามา
    ท่านและคณะกำลังนั่งจัดบาตร ชาวลาดกะเฌอ ดูจะเป็นผู้ชายมากกว่า เพราะไปรักษาสัตว์ ไม่ใช่ไปตั้งบ้านเรือน ก็มาถึงประมาณ [FONT=&quot]5-6[/FONT] ครอบครัว ท่านแขวงกรมทางหลวงขึ้นมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]พวกกระผมชวนกันมากินข้าวป่า เป็นบุญของพวกกระผม ที่ได้มาพบท่านพระอาจารย์[FONT=&quot]" [/FONT]
    เขาไม่รู้หรอกว่า นั่นคือ พระอาจารย์มั่น[FONT=&quot] [/FONT]แต่เขาเป็นผู้ดีไทย กราบเรียนว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]พระคุณท่านไม่ต้องหนักใจว่า มาพักที่กระผม มารบกวนพวกกระผม เป็นบุญของพวกกระผมแท้ๆ [FONT=&quot]" [/FONT]
    แล้วสั่งลูกน้องเอาหม้อข้าว หม้อแกง ปิ่นโต นำถวายท่านพระอาจารย์ร่วมกับชาวบ้าน
    มีเนื้อสัตว์ป่าทุกชนิด นับตั้งแต่เนื้อกวาง จนถึงตะกวด กระรอก กระแต อีเห็น ไก่ป่า สารพัดเนื้อสัตว์ ชาวสกลนครเขาเป็นคนมีมารยาทอ่อนน้อม น่ารัก และพูดจาก็เหมือนผู้ดี คอยแนะนำ นี่เนื้อนั้น นั่นเนื้อนี้ มีทั้งต้มทั้งแกง แต่ส่วนมากแล้วเป็นเนื้อปิ้ง
    ยถา สพฺพี ฯ ลฯ ฉันเสร็จแล้ว ท่านแขวงฯ ขึ้นไปกราบนมัสการพร้อมคณะว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ความจริงพวกกระผมไม่ได้ตั้งใจมา พอดีผู้ช่วยไปยืนบอกหน้าบันไดตอนมืดแล้ว จำได้แต่เสียงว่า พรุ่งนี้เราไปกินข้าวป่าที่ลาดกะเฌอกัน ผมนัดชาวปางเขาไว้แล้ว ก็เลยตกลง[FONT=&quot]"[/FONT]
    ฝ่ายผู้ช่วยก็บอกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ท่านแขวงฯ ให้เด็กไปบอกว่า พรุ่งนี้เราไปกินข้าวป่าที่ลาดกะเฌอกัน ผมเลยให้แม่บ้านจัดอาหารแต่เช้า เสียงเอ็ดตะโรทั้งพ่อบ้านแม่บ้านว่า คนนั้นไปบอก คนนี้ไปบอก แซดกันไปหมด ไม่ได้ขึ้นไปบอกข้างบน ได้ยินแต่เสียงอยู่ข้างล่าง ว่าเป็นเสียงคนนั้นคนนี้ พอมาอยู่ด้วยกันแล้ว ต่างคนปฏิเสธลั่นว่า ผมไม่ได้ไปบอก ดิฉันไม่ได้ไปบอก เลยงงไปตามๆ กัน[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านแขวงฯ ก็เลยพูดว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ถ้าอยากนั้นใครไปบอก[FONT=&quot]" [/FONT] แล้วมองไปที่ท่านพระอาจารย์
    ท่านพระอาจารย์ตอบว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ถ้าไม่มีใครไปบอก ก็คงเป็นเทพนั่นซิ[FONT=&quot]"[/FONT]
    เท่านี้เรื่องก็เป็นอันยุติ
    เลี้ยงอาหารกันต่อทั้งคณะแขวงการทาง คณะท่านพระอาจารย์ และชาวบ้านทั้งหมด รับประทานกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ท่านแขวงฯ บ่นเสียดาย ไม่มีถนนไปโพนงาม ถ้าไปสกลฯ หรือสร้างค้อ ท่านจะนำส่งตลอด จากนั้นต่างอำลาแล้วก็เดินทางต่อ
    คืนที่สี่ นอนพักบ้านวัดบ้านกุดน้ำใส ตำบลนาใน [FONT=&quot]([/FONT]ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอกุดบาก[FONT=&quot]) [/FONT] ฉันเช้าเสร็จเดินทางต่อถึงบ้านหนองผือ ก่อนท่านพระอาจารย์จะไปถึง พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร สั่งพระเณร แม้ทั้งหมาและแมว ให้หนีออกจากวัด ว่างไปประมาณ [FONT=&quot]2[/FONT] วัน แต่วัตถุใช้สอยครบและหาง่าย
    ที่พักของท่าน เป็นกระท่อมเล็กๆ ไม่สะดวก ท่านพระอาจารย์อยู่กระท่อมเล็กๆ จำเพาะองค์ได้เสียเมื่อไร ไหนพระอุปัฏฐาก ไหนญาติโยม จะไปนั่งเบียดท่านหรือ
    หญ้าคา ไม้ไผ่ไม่ทุบเปลือกไม่อด ช่วยกันทำแค่ [FONT=&quot]10[/FONT] วัน ได้ถึง [FONT=&quot]5[/FONT] ห้อง ยังดูท่านลำบากตลอดพรรษา พระใกล้ชิดและผ้าขาว ช่วยกันต่อห้องถวาย พอพระอุปัฏฐากนั่งได้
    พอออกพรรษา ท่านเลยไปพักอยู่มุมศาลา ช่วยกันทำผ้ากั้น แต่ก็ลำบาก เพราะต้องใช้เป็นที่ฉันด้วย ทำสังฆกรรมด้วย ดีหน่อยตรงที่เวลามีกิจกรรม ได้ที่พอเท่านั้น[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    เป็นอยู่ระหว่างสงคราม
    ปวารณาออกพรรษาแล้ว คำว่ากฐินผ้าป่าไม่ต้องกล่าวถึง เพราะอยู่ในภาวะสงคราม ผ้าพื้นบ้านมีอยู่ แต่จำกัด เป็นผ้าด้ายหยาบธรรมดาๆ ในความรู้สึกของพระสงฆ์ ไม่มีค่านิยม แต่ท่านพระอาจารย์ทำเป็นตัวอย่าง นำมาทำเป็นสบงขันธ์ ทำเป็นจีวรใช้ แต่ไม่ทำเป็นสังฆาฏิ
    ท่านบอกว่า[FONT=&quot] "
    แต่ก่อนเราก็ใช้ผ้าอย่างนี้ ไม่มีผ้าเจ๊กผ้าจีน เรายังสืบทอดศาสนามาได้[FONT=&quot]" [/FONT]
    ตั้งแต่นั้นมา พระเลยไม่อดจีวรใช้กัน
    ไม้ขีดไฟก็ต้องแบ่งก้านกัน กลักเปล่าเก็บไว้ เทียนไข แบ่งเล่มเวลาจะใช้ จะจุดบุหรี่ก็นับดูว่ามีถึง [FONT=&quot]5[/FONT] คนไหม ถ้าไม่ถึงก็จุดไม่ได้ ไม่คุ้มค่า เวลาไปห้องน้ำ ได้ท่าดีแล้ว ต้องดับเทียนไว้ก่อน หรืออยู่ในห้องนอน สงสัยว่าจะมีสัตว์อันตราย จึงจุดไฟไปดู เป็นต้น[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ไม่หยุดจะหนี
    เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากเข้าพรรษาไปได้ประมาณครึ่งเดือน ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หน่วยกองโจรพลพรรคก็ยกเข้าไปตั้งค่าย อยู่ห่างประมาณกิโลเมตรเศษๆ เสียงปืน เสียงระเบิด ไม่มีหูเข้าหูออก ทั้งกลางวันกลางคืน ผู้รักสันติอย่างท่านพระอาจารย์ สู้ด้วยวิธีการดังผู้เล่าจะเล่าต่อไปนี้
    เข้าพรรษาผ่านไปแล้วประมาณ [FONT=&quot]17
    วัน วันนั้น ดูท่าทางท่านขรึม[FONT=&quot] [/FONT]เวลาไปบิณฑบาต ปกติท่านจะชี้นั่นชี้นี่ อธิบายไปด้วย[FONT=&quot] [/FONT]วันนั้นเงียบขรึม จุดที่รับบิณฑบาตมีม้านั่งยาวสำหรับนั่งให้พร[FONT=&quot] [/FONT]ยถา สพฺพี ฯ เสร็จ ท่านเอ่ยถามชาวบ้านว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ป่านี้ข้าศึกศัตรูก็ไม่มี เขายิงอะไรกัน[FONT=&quot]" [/FONT]
    ชาวบ้านตอบ[FONT=&quot] "[/FONT]ไม่ทราบครับกระผม[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ป่านี้มันเป็นดงเสือ ป่าเสือ หรือว่าเขาอยากยิงเสือ[FONT=&quot]" [/FONT]
    ว่าแล้วก็ลุกขึ้นไปบิณฑบาต[FONT=&quot] [/FONT]ตลอด [FONT=&quot]4[/FONT] แห่งก็พูดอย่างนั้น
    ตกตอนเย็น พอสิ้นแสงอาทิตย์ ทั้งเสียงปืน ทั้งเสียงระเบิด ก็ดังสนั่นกึกก้องตลอดทั้งคืนจนกระทั่งรุ่งสาง มีพลพรรคเป็นไข้ตายในบังเกอร์ [FONT=&quot]2[/FONT] คน อีก [FONT=&quot]3[/FONT] คน กระเสือกกระสนออกไปตายอยู่บ้านตนเอง [FONT=&quot]3[/FONT] ศพ รวมเป็น [FONT=&quot]5[/FONT] ศพ
    ครูอุทัย สุพลวณิชย์ ชาวหนองผือ มาเล่าให้ฟังว่า พอสิ้นแสงอาทิตย์ มองไปทิศไหนก็มีแต่เสือทั้งนั้น ชนิดลายพาดกลอน ทั้งแยกเขี้ยว คิ้วขมวดใส่ เป็นร้อยๆ พันๆ ถ้าเสียงระเบิดเสียงปืนซาลงเมื่อไร เสียงเสือยิ่งเข้ามาใกล้ เลยหยุดยิงไม่ได้ ยิงปืนจนรุ่งสาง พอสว่างเสือตัวเดียวก็ไม่มีแม้แต่รอย
    ลองคิดถึงคำพูดของท่านพระอาจารย์ดูซิ ว่าข้าศึกศัตรูก็ไม่มี เขายิงอะไร ที่นี่มีแต่ดงเสือ เขาอยากยิงเสือหรือ และได้ยิงจริงๆ ด้วย สู้กองพลเสือไม่ได้ แตกหนีตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ กองโจรพลพรรคก็ไม่เห็นหน้ากลับมาอีก
    การฝึกพลพรรค ใครๆ ก็กลัวตาย มาขอร้องกำนัน ให้มากราบเรียนท่านพระอาจารย์[FONT=&quot] [/FONT] ขอให้ทำหลอดตะกรุดและผ้ายันต์ ท่านทำอยู่ [FONT=&quot]15[/FONT] วัน ก็สั่งหยุดอย่างกะทันหัน[FONT=&quot] [/FONT]ยังบอกกำนันว่า ท่านหยุดแล้ว หากกำนันไม่หยุด ท่านจะหนีกลางพรรษา ถือว่าเป็นภัยทางพระวินัย เป็นอันยุติแต่วันนั้น
    ผู้เล่าไม่รู้ไม่เฉลียวใจ จนผ่านมาหลายปี กองโจรพลพรรคได้กลายมาเป็นกองโจรคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ จึงรู้ว่าท่านเล็งเห็นแล้วว่า พวกนี้เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ผู้เป็นสัตตบุรุษ จึงไม่สนับสนุน
    [/FONT]
     
  9. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    สร้างกุฏิ
    ปี พ[FONT=&quot].[FONT=&quot].2488[/FONT] สงครามโลกเพิ่งยุติลง แต่อะไรๆ ก็ยังหายากอยู่ ผ้าก็ยังคงใช้ผ้าพื้นบ้านตามปกติ ท่านพระอาจารย์ก็ยังคงพักที่ศาลา (ที่วัดป่าบ้านหนองผือ - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] [/FONT]ความบกพร่อง ความไม่พร้อม ยังคงมีอยู่ แต่ท่านพระอาจารย์ก็ทนได้ สิ่งที่พร้อม คือ เสนาสนะ เพราะไม้มีมาก แต่คนไม่พร้อม
    ทั้งพระทั้งชาวบ้านกินง่ายๆ อยู่ง่ายๆ แต่หากฉุกคิดสักหน่อยว่า ควรจะทำกุฏิถวายท่านให้ดีกว่าที่เห็น มีห้องพักฤดูร้อน มีลมโกรก มีที่นั่งดื่มน้ำร้อน มีที่พักกลางวัน ฤดูหนาวติดไฟได้น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ขาดผู้นำที่มีหัวคิดสร้างสรรค์ ขนส่งก็ลำบากจึงอดเอา
    กว่าจะได้มาเป็นกุฏิหลังเล็กๆ [FONT=&quot]2[/FONT] หลัง ที่เห็นก็เกือบตาย ผู้เล่าเที่ยวชักชวนชาวบ้านนำออกเลื่อยไม้ในป่า ได้คนเข้าเป็นคู่ พอได้ไม้โครงเสร็จ จะนำเข้าวัดก็ไม่ง่าย เด็กเลี้ยงควาย ความรู้ประถม [FONT=&quot]2[/FONT] อายุ [FONT=&quot]22[/FONT] พรรษา [FONT=&quot]2[/FONT] ทำไมอาจหาญชาญชัยนักก็ไม่รู้
    การนำไม้เข้าวัด หากไม่มีความคิด ไม่มีหวัง การจะสร้างกุฏิถวายท่าน โดยไปปรารภให้ท่านฟังก่อนก็ไม่มีทางเป็นไปได้ การนำไม้เข้า ต้องมีใบรับรองจากป่าไม้อำเภอ และอย่าพูดว่าจะเอามาสร้างกุฏิ ต้องบอกว่า ชาวบ้านคนหนึ่งเขาสร้างบ้าน มีไม้เหลืออยากถวายวัด
    ท่านก็ว่า [FONT=&quot]"[/FONT]ศรัทธามีก็เอามา[FONT=&quot]"[/FONT]
    หากท่านถามหาใบอนุญาต ก็ต้องเอาให้ท่านดู โชคดีวันนั้น กำนันนำใบอนุญาตมาให้ เหน็บอยู่ที่ประคดเอวผู้เล่า [FONT=&quot] [/FONT]ท่านขอดูก็เอาให้ดูได้ทันที ท่านดูแล้วก็ส่งคืน
    ความเกียจคร้านของคนสมัยนั้น ขนไม้เข้าวัดแล้ว มีแต่ไม้โครง แต่ไม่มีเสา ทิ้งไว้วันแล้ววันเล่า ผู้เล่าจะชักชวนวิ่งเต้นอย่างไร ก็บอกกันแต่ว่า พรุ่งนี้ก่อนๆ ไม่สิ้นสุดสักที
    วันนั้นมาถึงเข้า ท่านฉันเสร็จ เดินลงมาจะไปห้องน้ำ ยืนดูกองไม้ ขณะนั้นมีโยม [FONT=&quot]3-4[/FONT] คน พร้อมผู้เล่าติดตามไป พอเห็น ท่านก็พูดแรงๆ ว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ใครเอาไม้มากองไว้นี่ มันรกวัด จะทำอะไรก็ไม่เห็นทำ เสาก็ไม่มี เอาคนหรือเป็นเสา คนนั้นไปยืนนั่น คนนี้ไปยืนนี่ อย่างนั้นหรือ รีบขนออกไป ใครจะเลื่อยเอาไปแบ่งกันก็เอาไป[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านว่าแล้ว ก็ทั้งรู้สึกกลัว ทั้งขบขัน เอาคนมาเป็นเสา [FONT=&quot]5-6[/FONT] วันให้หลังก็ได้เสามา พุทโธ่เอ๋ย ช่างไร้สติเสียจริงๆ ทีนี้เสามาแล้ว ไม่มีใครทำ อ้างแต่ว่า ทำไม่เป็นๆ ทั้งพระทั้งโยม
    เด็กเลี้ยงควายประถม [FONT=&quot]2[/FONT] ผู้กล้าหาญชาญชัยเหมือนเดิม ตัดสินใจให้โยมเอาต้นหญ้าสาบเสือมา เอาตอกมัดโครงสร้างขึ้น พระอาจารย์เดินมาเห็น ท่านถามว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]จะทำอะไร[FONT=&quot]" [/FONT]
    เรียนท่านว่า[FONT=&quot] "[/FONT]จะสร้างกระต๊อบด้วยไม้ที่มีอยู่ กระผม[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]นี้หรือแบบ[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]กระผม[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เออ ใช้ได้[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT] ท่านว่า ฟังแล้วก็แสนจะดีใจ
    [FONT=&quot]"[/FONT]ปลูกที่ไหนเล่า[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ปลูกที่นี่ขอรับกระผม[FONT=&quot]"[/FONT]
    ที่ๆ มีผู้ไปนมัสการเห็นอยู่ตอนนี้ล่ะ แต่ก่อนมีต้นหว้าอยู่ข้างหลัง เวลาบ่ายมีนกเขามาขันทุกวัน เรียนว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]นกเขามาขันที่ต้นหว้านี้ทุกวัน จะได้ฟังเสียงนกเขา[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านว่า[FONT=&quot] [/FONT] [FONT=&quot]"[/FONT]เออดี ปลูกก็ปลูก[FONT=&quot]"[/FONT]
    เริ่มโครงสร้างได้ [FONT=&quot]2[/FONT] วัน พระอาจารย์พรหม จิรปุญโญ มาพอดี ผู้เล่าโล่งอก เราไม่ตายแล้ว พรุ่งนี้ฉันเช้าเสร็จ พระอาจารย์พรหมก็ไปสั่งการ ใช้แกนถ่ายไฟฉายขีดเส้น เจาะตรงนั้น ผ่าตรงนี้ ทั้งโยมทั้งพระระดมกันใหญ่เลย ประมาณ [FONT=&quot]10[/FONT] วัน ก็เสร็จเรียบร้อย
    ชาวบ้านขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ขึ้นไปอยู่ ท่านบอกว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ไม้ยังใหม่อยู่ ยังไม่คลายกลิ่น หมดกลิ่นไม้ก่อนค่อยไป[FONT=&quot]"[/FONT]
    ตั้งแต่วันท่านพระอาจารย์ไปอยู่จนบัดนี้ ไปกราบนมัสการคราวใด ขนหัวลุก ทั้งละอาย คิดไม่ถูก ควรทำให้ลักษณะดีกว่านี้ นี่พอเป็นรูปโกโรโกโส ทั้งสลดทั้งสังเวชตัวเอง เด็กประถม [FONT=&quot]2[/FONT] เด็กเลี้ยงควายบ้านนอก ทำไมแกมาอาจหาญชาญชัยให้ผู้ดีมีเกียรติมาดูหัวคิดฝีมือของแกได้ เป็นจิตสำนึกมาจนบัดนี้
    [/FONT]
    การสรรหาเจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะจังหวัด
    <table id="table31" align="left" border="0" width="105"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) แถวหน้า ซ้าย
    พระธรรมเจดีย์ (จูมพนฺธุโล) แถวหน้า ขวา
    </td> </tr> </tbody></table> เมื่อตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลหมากแข้ง และเจ้าคณะจังหวัดนครพนม ว่างลง ความทราบถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สถิต ณ วัดราชบพิธฯ ให้สรรหาผู้สมควร แต่ควรเป็นคนทางภาคอีสาน ไม่มีใครนอกจากพระจันทร์ [FONT=&quot](จันทร์ เขมิโย[FONT=&quot]) [/FONT] กับพระมหาจูม [FONT=&quot]([/FONT]จูม พนฺธุโล[FONT=&quot]) [/FONT] วัดเทพศิรินทร์ โปรดให้นำตัวเข้าเฝ้า ทอดพระเนตรเห็นตรัสว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]พระจันทร์ มีวุฒิแค่นักธรรมตรี อายุพรรษาก็มากอยู่ แต่วุฒิการศึกษาไม่เข้าเกณฑ์ จะเป็นเจ้าคณะมณฑล เป็นเจ้าคณะจังหวัดได้ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครพนม[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ส่วนพระมหาจูม เปรียญ [FONT=&quot]3[/FONT] นักธรรมโทเข้าเกณฑ์ แต่อายุแค่ [FONT=&quot]28[/FONT] พรรษา [FONT=&quot]8[/FONT] อายุพรรษายังน้อยนัก จะไหวหรือ[FONT=&quot]" [/FONT]
    นี้คือพระดำรัส แต่ไม่มีตัวเปลี่ยน จึงนำตัวพระทั้ง [FONT=&quot]2[/FONT] รูป เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในขณะนั้น
    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงปรึกษาเรื่องพระมหาจูม กับพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับรองอย่างแน่พระทัย ตรัสว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ส่งไปได้เลย หม่อมฉันรับรอง พระมหาองค์นั้นไม่มีทางเสียหาย มีแต่ทางดี[FONT=&quot]" [/FONT]
    สมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็สนองพระประสงค์[FONT=&quot] [/FONT]พระจันทร์ เขมิโย และพระมหาจูม พนฺธุโล เคยออกปฏิบัติกัมมัฏฐานกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเห็นว่า ไม่เป็นวิสัย จึงนำฝากเข้าศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเทพศิรินทร์[FONT=&quot] ([/FONT]ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ธรรมเนียมการส่งพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ไปดำรงตำแหน่งวัดสำคัญ จะต้องนำตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราช และองค์พระมหากษัตริย์ก่อน[FONT=&quot])[/FONT]
    มณฑลหมากแข้ง ประกอบด้วย จังหวัดเลย หนองคาย นครพนม สกลนคร และอุดรธานี[FONT=&quot] [/FONT]เป็นวัดคณะธรรมยุต จัดการศึกษาทั้งด้านบาลีและนักธรรม การปฏิบัติธรรมวินัย เป็นไปอย่างมีระเบียบดียิ่งมากขึ้นทุกจังหวัด มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ แม้ต่างมณฑลยังส่งมาเรียนที่นี่
    สามสี่ปีให้หลังผลงานออกมาเป็นที่ยอมรับ ได้พระราชทาน ตำแหน่งพระครูสัญญาบัตรทั้ง [FONT=&quot]2[/FONT] องค์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงชมเชยพระเจ้าอยู่หัว ต่อหน้าพระพักตร์ว่า ทรงมีสายพระเนตรไกล มองดูบุคคลออก พระพรรษาน้อยอย่างพระมหาจูม พอพระทัยส่งไปเป็นเจ้าคณะมณฑลได้ นี้คือผู้เล่าได้ฟังจากท่าน[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ได้รับจดหมายใหญ่
    คงจะเป็นความผูกพันระหว่างศิษย์กับอาจารย์อย่างแน่นแฟ้น เมื่อครั้งที่ท่านพระอาจารย์ส่งพระจันทร์ ซึ่งภายหลัง คือ พระเทพสิทธาจารย์ [FONT=&quot](จันทร์ เขมิโย[FONT=&quot]) [/FONT] และ สามเณรจูม ซึ่งภายหลัง คือ พระธรรมเจดีย์ [FONT=&quot]([/FONT]จูม พนฺธุโล[FONT=&quot]) [/FONT] ไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาทางราชการได้ส่งพระทั้งสองรูป มาปฏิบัติศาสนกิจทางภาคอีสาน เป็นศิษย์ของท่าน ท่านพระอาจารย์ส่งไปศึกษาเอง เวลามาทำงานที่ภาคอีสาน นักปราชญ์อย่างท่านพระอาจารย์จะไม่เอาธุระช่วย คงเป็นไปไม่ได้ คล้ายๆ กับว่ามีอะไรผูกพันกันอยู่อย่างนั้น
    ครั้งท่านพระอาจารย์จำพรรษาอยู่ภาคเหนือ ทุกปีท่านเจ้าคุณพระมหาจูมส่งจดหมายไปกราบนมัสการนิมนต์กลับภาคอีสาน ปีแล้วปีเล่าท่านพระอาจารย์ก็เฉยๆ ปีนั้นท่านเจ้าคุณฯ จึงไปกราบนมัสการด้วยตนเอง ขอนิมนต์กลับภาคอีสาน ท่านตอบรับทันที แล้วยังเร่งด้วยว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]จะกลับวันไหนกลับด้วยกัน[FONT=&quot] [/FONT] ทุกปีเห็นแต่จดหมายเล็กเลยไม่กลับ ปีนี้จดหมายใหญ่มาแล้ว ต้องกลับ[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านว่า
    ท่านเจ้าคุณฯ จึงกราบเรียนท่านว่า[FONT=&quot] "[/FONT]นิมนต์พักอยู่ก่อน กระผมจะไปอุดรธานี จัดที่พักเรียบร้อยแล้ว จะส่งคนมารับทีหลัง[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านเจ้าคุณฯ ได้จัดวัดป่าโนนนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ถวายให้ท่านพำนักเป็นวัดแรก หลังจากท่านไปจำพรรษาที่ภาคเหนือ ถึง [FONT=&quot]11[/FONT] ปี [FONT=&quot]([/FONT][FONT=&quot].[/FONT][FONT=&quot].2472 - 2482) [/FONT] ท่านได้มาช่วยศิษย์ทั้งสองเต็มกำลัง ดังผลงานที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    การวินิจฉัยอธิกรณ์
    เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลวงตามัน นิมฺมโล อยู่วัดวิริยะพล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เป็นศิษย์องค์หนึ่ง เป็นผู้ปฏิบัติดี มีชาวสกลนครนับถือ นิมนต์มารับสังฆทาน โดยพักที่วัดป่าสุทธาวาสเป็นประจำ
    คราวหนึ่ง เธอด่วนจะกลับวัด ฉันเสร็จแล้ว นำโยมไปเอาปัจจัยส่วนแบ่งกับผ้าขาวคนหนึ่งที่เป็นไวยาวัจกร พระที่รับนิมนต์มี [FONT=&quot]7
    รูป ได้ไปรับปัจจัย ปรากฏว่าหายไปส่วนหนึ่ง ไม่ครบพระ ถามผ้าขาว เธอบอกว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]หลวงตามันเอาไปสองส่วน[FONT=&quot]"[/FONT]
    อธิกรณ์ก็เกิดขึ้น มีหลักฐานพยานเพียงพอ คณะสงฆ์จังหวัดตัดสินว่า หลวงตามันละเมิดอทิตตาทานสิกขาบท จำนวนเงินที่ได้รูปละ [FONT=&quot] 2.50[/FONT] บาท สองส่วนรวมเป็น [FONT=&quot]5[/FONT] บาท เธอปฏิเสธ แต่หักล้างหลักฐานไม่พอ คณะสงฆ์ตัดสินวินิจฉัยให้เธอสึก เธอบอกหากจะให้สึก กรุณาพาไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นก่อน คณะสงฆ์พร้อมทั้งเจ้าคณะจังหวัด[FONT=&quot]([/FONT][FONT=&quot]) [/FONT] จึงพาหลวงตามันไปวัดป่าบ้านหนองผือ
    พอไปถึงกราบนมัสการ เจ้าคณะจังหวัดยื่นเอกสารถวายท่าน
    พระอาจารย์ท่านว่า[FONT=&quot] "[/FONT]วางไว้นั่นก่อน[FONT=&quot]" [/FONT] ถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]เรื่องอะไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    เจ้าคณะจังหวัดกราบเรียนว่า[FONT=&quot] "[/FONT]เรื่องหลวงตามันละเมิดอทินนาทานสิกขาบท คณะวินิจฉัยให้เธอสึก เธออยากให้พระอาจารย์วินิจฉัยอีก[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านพระอาจารย์ถามว่า[FONT=&quot] "[/FONT]แล้วจะเชื่อผมไหม[FONT=&quot]" [/FONT]
    พากันตอบว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]เชื่อ[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ถ้าอย่างนั้นเอาเอกสารไปเผาไฟเดี๋ยวนี้ เพราะตัวหนังสือเล็กไป เอาตัวหนังสือใหญ่ คือ พวกเรา มาวินิจฉัยกัน[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT] ท่านว่า
    เจ้าคณะจังหวัดจึงจัดการเผาทันที
    ท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] "[/FONT]อันเงินนั้นหลวงตามันไม่ได้เอาไปสองส่วน เอาไปส่วนเดียว คนที่เอาเงินนั้นไป คือ คนที่อยู่ใกล้เงิน ใครอยู่ใกล้ คนนั้นเอา[FONT=&quot]"[/FONT]
    ตาผ้าขาวคนหนึ่งซึ่งนั่งนิ่งอยู่นั้น ก็สารภาพขึ้นต่อหน้าสงฆ์ ที่ท่านพระอาจารย์เป็นประธาน
    ท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] [/FONT][FONT=&quot]"[/FONT]นั่นเห็นไหม ตัวหนังสือใหญ่แจ้งจางปาง ปานเห็นเสือกลางวัน ลายพาดกลอนเต็มตัว[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT] ท่านว่า
    [FONT=&quot]"[/FONT]หลวงตามันเธอเป็นพระมีศีล ท่านเจ้าคณะจังหวัดก็ดี ท่านมหาทองสุกก็ดี คณะสงฆ์ก็ดี ทำอะไรให้รอบคอบ จะทำลายพระมีศีลโดยไม่รู้ตัว จะไปตกนรกเปล่าๆ ไม่เสียดายหรือ ประพฤติพรหมจรรย์มานาน หวังมรรคผลนิพพาน ต้องมาตกนรก มันไม่คุ้มค่ากัน อย่าไปทำลายพระมีศีล[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านว่า
    เรื่องก็สงบลงโดยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นตัวอย่างแก่คณะพระวินัยธรต่อไป หลวงตามันก็พ้นคดีไป เป็นพระบริสุทธิ์
    ที่ได้เห็นได้ฟัง ท่านพระอาจารย์มั่นวินิจฉัยอธิกรณ์ มีครั้งนี้ครั้งเดียว
    [/FONT]
    เทศน์มูลกัมมัฏฐาน
    ท่านพระอาจารย์ได้เทศน์เรื่องนี้ว่า ก่อนพระอุปัชฌาย์จะบวชให้กุลบุตรทั้งหลายนั้น จะต้องสอนเรื่องมูลกัมมัฏฐานก่อน
    เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ นี้เป็นอนุโลม
    ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นี้เป็นปฏิโลม
    ต่อจากนั้นพระอุปัชฌาย์จะอธิบาย พอให้ได้ใจความว่า รากเหง้าของพระกัมมัฏฐานทั้งหมด อันผู้ปฏิบัติจะพิจารณานั้น ออกไปจากกัมมัฏฐาน [FONT=&quot]5
    นี้เอง จึงเรียกว่า มูล คือ เค้าเป็นมูลเหตุ อันมูลกัมมัฏฐานนี้ ท่านพระอาจารย์อธิบายได้ละเอียด เป็นอเนกปริยายอย่างมีระบบ ซึ่งผู้เล่าจะนำมาเล่าพอได้ใจความดังนี้
    ท่านแปล เกสา อันว่าผมทั้งหลาย โลมา อันว่าขนทั้งหลาย นขา อันว่าเล็บทั้งหลาย ทนฺตา อันว่าฟันทั้งหลาย ตโจ อันว่าหนัง ท่านไม่ว่าทั้งหลาย ก็มันหนังผืนเดียวนี้ หุ้มห่อร่างกายอยู่ นอกนั้นมันมีมาก ก็ว่าทั้งหลาย
    ผมอยู่บนศีรษะอยู่เบื้องสูง ตามองดูจะเห็นส่วนบนก่อน ต่อจากนั้นจึงเห็นโดยลำดับ รวมลงที่สุด คือ หนัง
    หนังเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด ความนิยมชมชอบ ความสมมติว่า เป็นพระ เณร เถรท้าว รวมไปทั้ง บุตร ภรรยา สามี ก็เพราะหนังผืนนี้หุ้มห่อ หากไม่มีหนังหุ้มห่อ มีแต่เลือด เนื้อ เอ็น ตับ ไต ไส้ พุง สุดท้ายเหลือแต่กระดูกในหม้อในโหล หรือว่าเหลือแต่โครงกระดูก ใครเล่าจะนิยมชมชอบ ว่าบุคคลนี้ เป็นพระเณรเถรท้าว นี้เป็นบุตรภรรยาสามีของเรา มีไหมล่ะ
    ด้วยเหตุนี้เอง พระอุปัชฌาย์จึงได้สอนกุลบุตรผู้จะบรรพชาอุปสมบท ให้เรียนมูลกัมมัฏฐานก่อน เพราะว่า ราคะ ความกำหนัดยินดี อยากจะได้ชมเชย เชยชิด ก็เพราะไอ้เจ้าตามองไปเห็นหนังก่อน ไม่ว่าชายเห็นหญิง หญิงเห็นชาย แล้วอยากได้มาเป็นภรรยา สามี ก็เพราะหนังผืนนี้เอง นอกนั้นเป็นแค่ส่วนประกอบ หนังเป็นต้นเหตุ หนังก่อทุกข์ หนังก่อภพก่อชาติ ไม่ว่าคนและสัตว์ หมู หมา กา ไก่ ช้าง ม้า โค กระบือ แม้กระทั่งลา ก็หนังผืนนี้แล
    ทำไมพระอุปัชฌาย์จึงสอนให้พิจารณามูลกัมมัฏฐาน เพราะว่าเจ้าราคะ เจ้าโทสะ เจ้าโมหะ เจ้ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เกิดจากตาไปกระทบกับเค้ามูลนี้ จึงต้องให้รู้สภาวะที่แท้จริง ที่เกิดลักษณะอาการ กลิ่น สี ให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่งาม น่าเกลียด โสโครก เพื่อบรรเทากำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ตามความตั้งใจของกุลบุตร ที่มีศรัทธาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
    ท่านยกอุทาหรณ์ในเรื่องมูลกัมมัฏฐานไว้ว่า
    แม้สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าก็ตรัสสอนพระราหุลพุทธชิโนรส เป็นกรณีพิเศษ พระโอวาทนี้เรียกว่า[FONT=&quot] [/FONT] จูฬราหุโลวาทสูตร[FONT=&quot] [/FONT] เป็นการทดสอบความสามารถของพุทธชิโนรสครั้งแรก เพราะพระราหุลทรงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า[FONT=&quot] [/FONT]เลิศกว่าสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา
    ครั้งที่ [FONT=&quot]2[/FONT] ทรงแสดงแก่พระราหุลก็มูลกัมมัฏฐาน แต่เป็นอเนกปริยายตามอัธยาศัยของพระราหุล ชื่อว่า[FONT=&quot] [/FONT] มหาราหุโลวาทสูตร[FONT=&quot] [/FONT] จบลงจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับจตุปฏิสัมภิทาญาณอย่างสมบูรณ์ ได้รับสมญาว่า พระมหาราหุล ตั้งแต่บัดนั้น
    หลังจากนั้น พระอุปัชฌาย์ก็คลี่ผ้ากาสาวพัสตร์ เอาอังสะจากผ้าไตรจีวร ห่มเฉวียงบ่าข้างซ้าย อธิบายวิธีครองผ้าเสร็จ มอบผ้ากาสายะให้นำไปครอง
    ครองผ้าเสร็จ เข้ามาในท่ามกลางสงฆ์ กราบสามหน ถวายดอกไม้ กล่าวคำขอสรณะและศีล พระอุปัชฌาย์ก็ให้สรณะและศีล โดยบทบาลีว่า พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ [FONT=&quot]1[/FONT] สามหน ทุติยัมปิ พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ [FONT=&quot]2[/FONT] สามหน เป็น [FONT=&quot]6[/FONT] ตติยมฺปิ พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ [FONT=&quot]3[/FONT] สามหน เป็น [FONT=&quot]9[/FONT] แล้วอาจารย์จะบอกว่า การบรรพชาเป็นสามเณรสำเร็จลงด้วยไตรสรณคมน์เพียงเท่านี้
    ท่านพระอาจารย์ได้อธิบายต่อไปว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    สรณะในศาสนามีแค่ [FONT=&quot]3[/FONT] แม้ว่าจะถึงวาระที่ [FONT=&quot]3[/FONT] เก้าหน ก็ไตรสรณะอันเก่า ไม่มีคำว่า ภูเขาต้นไม้ รุกฺขเจติยา สรณํ คจฺฉามิ ภูติผีปีศาจ เสือสางคางแดง สรณํ คจฺฉามิ ถ้าเพิ่มเข้ามาอย่างนี้ผิด สรณะไม่เป็นสรณะ ไม่เป็นบรรพชิต จะเพิ่มเข้ามาภายหลัง สรณะก็เศร้าหมอง[FONT=&quot] [/FONT]ท่านว่า
    ต่อจากนั้น จะบอกให้สามเณรสมาทานสิกขาบท อันจะพึงศึกษา [FONT=&quot]10[/FONT] ประการ ส่วนการอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ไม่ต้องสมาทานศีล [FONT=&quot]227[/FONT] เป็นเรื่องของสงฆ์จะยกฐานะให้เป็นพระภิกษุ เมื่อคณะสงฆ์ยินยอมแล้ว ก็เป็นพระสงฆ์โดยสมบูรณ์
    จากนั้นเป็นหน้าที่พระอุปัชฌาย์จะสอนอนุศาสน์ ข้อห้าม และข้ออนุญาต การแสดงธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น มิได้สอนพระที่ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ใหม่เท่านั้น แต่ท่านสอนศิษย์ทั้งเก่าและใหม่ เพื่อให้ศิษย์สำนึกเสมอว่า การปฏิบัติตามโอวาทพระอุปัชฌาย์นั้น สามารถบรรลุธรรมวิเศษชั้นใดชั้นหนึ่ง มีพระโสดาบัน เป็นต้น ภายใน [FONT=&quot]7[/FONT] วัน [FONT=&quot]7[/FONT] เดือน [FONT=&quot]7[/FONT] ปี [FONT=&quot]12[/FONT] ปี และ [FONT=&quot]16[/FONT] ปี เป็นอย่างช้า
    ท่านสอนสลับกันไป ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย อย่างมีระบบ ละเอียด อุปมาอุปไมย เป็นอเนกปริยาย ชนิดผู้ฟังใจจดใจจ่อ อยากฟังตลอดเวลา ท่านเปรียบ พระอุปัชฌาย์เหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดลูก จะสอนลูกทุกอย่าง ให้ทุกอย่างที่เป็นมนุษย์สมบัติ พอกินพอใช้จนวันตาย ไม่มีผู้ใดเทียบได้ จึงได้ชื่อว่า เป็นมิตรในเรือน เป็นพรหมของบุตร เป็นพระอรหันต์ในกระท่อมจนถึงมหาปราสาท ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านว่า
    [/FONT]
    ท่านพระอาจารย์ปฏิบัติต่อสตรีเพศ
    สตรีเพศนั้นเป็นเพศยั่วยวนกามกิเลสของบุรุษเพศ ในขณะเดียวกัน บุรุษเพศก็เป็นที่ยั่วยวนกามกิเลสของสตรี เป็นคู่กันมากับโลกฉะนั้น พระเถระชื่อว่า พระอานนท์ ผู้ทรงคุณสมบัติถึง [FONT=&quot]5 ประการ ข้อที่ว่า มีนิติ คือ อุบายเป็นเครื่องนำไปของพระเถระนั้น พระอานนท์ได้เล็งเห็นการณ์ไกลต่อพระภิกษุ ผู้จะสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ในกาลต่อมา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน จึงกราบทูลถาม เรื่องการปฏิบัติต่อสตรีเพศของพระภิกษุ ว่า
    พระอานนท์[FONT=&quot] "[/FONT]ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันพระภิกษุในธรรมวินัย จะปฏิบัติต่อสตรีเพศอย่างไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    พระพุทธเจ้าตรัสว่า[FONT=&quot] "[/FONT]ดูก่อนอานนท์ การไม่รู้ไม่เห็นเป็นการดี[FONT=&quot]"[/FONT]
    พระอานนท์[FONT=&quot] "[/FONT]ถ้าจำเป็นจำเป็นต้องดูต้องรู้ต้องเห็น ควรทำอย่างไรพระเจ้าข้า[FONT=&quot]"[/FONT]
    พระพุทธเจ้า[FONT=&quot] "[/FONT]ถ้าเห็นไม่พูดเป็นการดี ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็ต้องมีสติ พูดพอประมาณ อานนท์[FONT=&quot]"[/FONT]
    ข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นอนุโลม คือ ตามไป หรือเป็นอนุวัตร คือ ความกลับ แต่ท่านพระอาจารย์นั้นปฏิบัติเป็นปฏิโลม คือ ถอยหลังกลับ หรือปฏิวัติกลับหลัง เมื่อจำเป็นต้องพูด มีสติพูด เมื่อเห็นไม่พูดเจรจา เอาข้อแรกที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ ไม่รู้ไม่เห็นเป็นหลัก ท่านว่า คือ ไม่รู้ไม่เห็นเป็นการดีนั้นเอง
    ในการสังเกตของผู้เล่า[FONT=&quot] [/FONT] ท่านพระอาจารย์จะปฏิบัติข้อไม่รู้ไม่เห็นตลอดมา เสมอต้นเสมอปลาย เพราะท่านไม่คลุกคลีกับเพศหญิงเลย แม้แต่หลานเหลนของท่าน
    ศิษย์สายของท่านจะยึดข้อนี้ตามแนวของท่าน[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    การปลูกต้นโพธิ์
    ครั้งหนึ่ง ท่านพระอาจารย์ไปพักอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง วัดนั้นมีต้นโพธิ์หลายต้น แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปกว้างขวางมาก ใบแห้งหล่นเป็นกองพะเนิน ท่านก็เลยบ่นว่า[FONT=&quot]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ต้นโพธิ์นี้เอามาปลูกทำไมกัน รกที่ ต้นไม้อื่นก็ขึ้นไม่ได้ นกมาขี้ใส่ ทำลายโบสถ์วิหาร[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผู้เล่าคิดในใจ[FONT=&quot] "[/FONT]โพธิ์ตรัสรู้ ใครๆ ก็อยากได้บุญ[FONT=&quot]"[/FONT]
    ขณะนั้นท่านกำลังกวาดใบโพธิ์แห้งอยู่ จึงพูดว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เหอ[FONT=&quot]...[/FONT]บุญมีแต่ปลูกต้นโพธิ์เท่านี้หรือ อย่างอื่นไม่มีหรือ ต้นโพธิ์พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ พระองค์ก็ตรัสรู้ไปแล้ว และต้นโพธิ์ที่ปลูกกันเป็นร้อยๆ พันๆ ก็ไม่เห็นมีใครสักคนเดียวมาตรัสรู้อีก[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านว่า แต่ละยุคมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้องค์เดียว แล้วจะปลูกให้ใครมาตรัสรู้อีก แต่ละพระองค์ที่มาตรัสรู้ ก็ไม่ใช่ใต้ต้นโพธิ์อย่างเดียว ต้นไม้อื่นก็มี ท่านว่าอย่างนี้[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    การรับศิษย์ในยุคปลายสมัย
    ลูกศิษย์ทุกท่านที่เข้าไปศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่นในยุคต้นๆ ท่านจะเร่งในเรื่องการทำความเพียร เดินจงกรม และภาวนา อย่างชนิดที่เรียกว่า เอาเป็นเอาตาย ศิษย์ก็มีความเชื่อมั่นกับครูบาอาจารย์ ความเชื่อมั่นต่อพระพุทธเจ้า ว่าไม่ตาย เพราะเราทำถูก แต่อย่าทำผิดพื้นฐาน คือ พระวินัย รับรองไม่ตาย
    ยุคหลังนักศึกษาที่สำเร็จนักธรรม สำเร็จบาลีมา ก็เริ่มเข้าไปศึกษา ท่านเหล่านี้ ยกตัวอย่าง ท่านอาจารย์มหาบัว ท่านฯ พูดไม่มาก ได้ฟังแล้วก็เข้าใจ เป็นลักษณะของผู้มีปัญญามาก
    ผู้ที่ผ่านการศึกษานักธรรมบาลีมาแล้ว จึงจะรับให้อยู่ในสำนัก สามเณรก็ต้องอายุถึง [FONT=&quot]17
    ปีเสียก่อน ทำบัตรประชาชนแล้วถึงจะรับ [FONT=&quot] [/FONT]ถ้าเป็นพระ ต้องคัดเลือกทหารก่อน ท่านถึงจะรับ ต้องผ่านการศึกษามาแล้ว เพราะว่าเขาเหล่านี้รู้แบบแผนแล้ว เมื่อมาปฏิบัติจนรู้เห็นด้วย จะเป็นประโยชน์ทั้งสองด้าน สามารถเผยแผ่ศาสนาไปในทางที่ถูกต้อง อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ของท่านพระอาจารย์มั่น
    ศิษย์ที่เข้ามาในยุคปลายก็มี ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์วิริยังค์ หลวงปู่หล้า และลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ที่ผ่านนักธรรมบาลีมาแล้วทั้งนั้น เช่น เจ้าคุณมหาเขียน [FONT=&quot]([/FONT]พระอริยเวที [FONT=&quot]([/FONT]เขียน ฐิตสีโล[FONT=&quot]) [/FONT] วัดรังสีปาลิวัน จังหวัดกาฬสินธุ์[FONT=&quot]) [/FONT]เจ้าคุณมหาโชติ [FONT=&quot]([/FONT]พระเทพสุทธาจารย์ [FONT=&quot]([/FONT]โชติ คุณสมฺปนฺโน[FONT=&quot]) [/FONT] วัดวชิราลงกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา[FONT=&quot]) [/FONT]พระมหาประทิศ เจ้าคุณกง [FONT=&quot]([/FONT]พระราชศีลโสภิต [FONT=&quot]([/FONT]กง โฆสโก[FONT=&quot]) [/FONT] วัดพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร[FONT=&quot]) [/FONT]เป็นต้น[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    วินิจฉัยปัจจัยสี่
    วาทะท่านพระอาจารย์มั่นน่าคิด เศรษฐกิจนี้ก็คือ ปัจจัย [FONT=&quot] 4 ใช่ไหม
    ปัจจัย [FONT=&quot]4[/FONT] เป็นเสฏฺโฐ เสฏฺฐา เสฏฺฐํ ทั้งปุฯ ทั้งอิตฺฯ และนปุฯ ครบทั้ง [FONT=&quot]3[/FONT] ลิงค์
    เสฏฺฐ แปลว่า เจริญที่สุด[FONT=&quot] [/FONT]เจริญอย่างไร เจริญเคียงคู่กับคน เศรษฐกิจหรือปัจจัย [FONT=&quot]4[/FONT] นี้มนุษย์จะอยู่ได้ เพราะอาศัยความเจริญนี้ไปพร้อมๆ กัน จึงสืบต่อมาได้ ท่านฯ ว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระวินัยปาฏิโมกข์ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการเศรษฐกิจนี้ เกือบจะทุกสิกขาบท
    บางสิกขาบท ท่านพระอาจารย์ก็วินิจฉัย และเข้าใจความหมาย เช่น สิกขาบทเกี่ยวปัจจัยที่ [FONT=&quot]4[/FONT] คือ ยารักษาโรค ความว่า ภิกษุไม่เป็นไข้ ติดไฟเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นติดก็ดี เพื่อจะผิงไฟนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะผิงไฟเป็นนิสัย
    ข้อนี้ทำให้ศิษย์สงสัยกันมาก โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะทำซุ้มไฟติดไฟ ตั้งแคร่นั่งนอนในซุ้มไฟ เทศน์แก่ศิษย์ในซุ้มไฟ ศิษย์ก็ได้ผิงไฟไปด้วย ไม่ต้องหนาวลำบาก ข้อนี้ท่านบอกว่า
    คำว่า ไข้ นั้น[FONT=&quot] [/FONT] หนาวจนทนไม่ไหวก็คือไข้นั้นเอง หรือจะให้เป็นไข้จับสั่น จวนจะตายอยู่แล้วจึงจะผิงไฟได้อย่างนั้นหรือ อย่าไปผิงเลย นอนคอยตายดีกว่า คนหนาวจะตายแล้วไฟก็เป็นยา ทำให้ร่างกายอบอุ่น เลือดลมเดินได้สะดวก เจริญสมณธรรมได้ ดีกว่าอดทนหนาวตาย ไม่เกิดประโยชน์อะไร
    ท่านว่า นิสัยที่พระอุปัชฌาย์สอนครั้งแรก ข้อ [FONT=&quot]4[/FONT] ว่า อาศัยน้ำมูตรเน่าเป็นยานั้น ตามความเข้าใจของนักวินัยทั้งหลาย หมายเอาผลมะขามป้อม ผลสมอ มาดองด้วยน้ำมูตรเน่าน้ำเยี่ยว อันนั้นก็ถูกต้อง[FONT=&quot] [/FONT] แต่ท่านหมายเอาน้ำปัสสาวะ คือ น้ำเน่าที่ดองในร่างกายคน แก้โรคได้ เพราะ[FONT=&quot] "[/FONT]อันนี้ได้พิจารณาแล้ว[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] ([/FONT]อันนี้หมายถึงท่านพระอาจารย์มั่น[FONT=&quot])[/FONT]
    คำว่า เภสัช นั้นหมายถึง ยาทุกชนิดที่แก้โรคได้ แต่ละอย่างต้องการกรรมวิธีด้วยการหมักดองให้เน่าเสียก่อน รวมความแล้ว ยาต้องดองด้วยน้ำมูตรเน่า กินความกว้าง หมายเอายารักษาโรคทั่วไป รวมทั้งยาบำรุงด้วย เช่น เภสัชทั้ง [FONT=&quot]5[/FONT] ท่านฯ ว่าอย่างนี้
    ในพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นเยี่ยม ท่านพระอาจารย์เน้นในวินัยปาฏิโมกข์ คือ เสขิยวัตรทั้งหมด เป็นเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ รวมทั้งสังคม และมารยาทในสังคมด้วย
    ท่านอธิบายสมณสารูป [FONT=&quot]26[/FONT] ว่า สมณสารูป สมณะผู้มีรูปงาม จะนุ่งจะห่มจะยืนจะเดิน ล้วนมีความงามทั้งนั้น นุ่งให้เรียบร้อย ห่มให้เรียบร้อย ทั้งในวัดและในบ้าน จึงเรียกว่า เป็นปริมณฑล ท่านย้ำให้เกิดบรรยากาศแห่งความร่าเริงในธรรมว่า ไม่ใช่ปริมันซังซะ ไหนก็ซังซะ มาไหนก็ซังซะ [FONT=&quot]([/FONT]หมายถึง ไม่เรียบร้อย ไม่งาม ไม่เป็นระเบียบ[FONT=&quot]) [/FONT]ไม่ใช่สมณสารูป
    เศรษฐกิจสัมพันธ์โยงใยไปถึง ธรรมวิภาคที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนา เป็นหลักสูตรนักธรรมตรี แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งธรรมทั้งวินัย เป็นสิ่งผูกพันกับชีวิตมนุษย์ทุกรูปทุกนาม เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ในคำนำว่า
    กุลบุตรผู้บวชภายในไตรมาส [FONT=&quot]3[/FONT] เดือน ก่อนลาสิกขา ให้ท่องให้จบ คือ เดือนที่ [FONT=&quot]1[/FONT] ท่องวินัยบัญญัติ เดือนที่ [FONT=&quot]2[/FONT] ท่องธรรมวิภาค เดือนที่ [FONT=&quot]3[/FONT] ท่องคิหิปฏิบัติ จบพอดี กุลบุตรลาสิกขาไป จะได้รู้หลักธรรมนำไปปฏิบัติ
    หนังสือนวโกวาท เป็นหนังสือธรรมย่อๆ แต่รวมเศรษฐกิจสัมพันธ์ไปด้วยอย่างสมบูรณ์ เพราะเหตุนี้ท่านพระอาจารย์มั่นจึงย้ำนักย้ำหนา ให้ศิษย์ท่องให้ได้ ผู้เล่าเคยถวายกัณฑ์สังฆาทิเสส พระวินัย และธรรมวิภาคหมวด [FONT=&quot]10[/FONT] อภิณหปัจจเวกขณ์ ที่ว่า บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ และคิหิปฏิบัติ เกียจคร้านทำการงาน มีโทษ [FONT=&quot]6[/FONT] อย่าง
    ในหมวด [FONT=&quot]10[/FONT] ท่านมักจะย้ำ เรื่องกถาวัตถุ [FONT=&quot]10[/FONT] ข้อ [FONT=&quot]1[/FONT] ข้อ [FONT=&quot]2[/FONT] ว่า มักน้อยสันโดษ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐีกถา คือ ความมัธยัสถ์ ใช้สอยพอดีแก่ฐานะของตน ก็ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
    ท่านพระอาจารย์กล่าวเตือนศิษย์เสมอว่า จะสอนศีลธรรมแก่ชาวบ้าน ต้องสอนให้อิ่มปากอิ่มท้องเสียก่อน จึงค่อยสอนศีลธรรมทีหลัง[FONT=&quot] [/FONT]สรุปได้ว่า เศรษฐกิจสัมพันธ์และพลานามัยแบบท่านพระอาจารย์มั่น ดูจะสัมพันธ์ผูกพันต่อเนื่องเป็นวงจร ระหว่าง พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม
    ท่านพระอาจารย์ว่า[FONT=&quot] [/FONT] อย่าไปทำตัวเป็นนักการค้าผลิตผลของชาวบ้านเสียเอง เพราะหากทำเช่นนั้น ท่านพระอาจารย์ว่า มหิจฺฉตา อสนฺตุฏฐี สสํคณิกา ไม่เกิดวิเวก มีความเกียจคร้าน จิตก็ห่างจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันควรเป็น ควรมี ควรได้ จากเพศพรหมจรรย์
    [/FONT]
    เร่งอบรมพระเณร
    คงจะเป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านพระอาจารย์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ปัจจัยที่เป็นเครื่องดำรงชีพสะดวกสบาย ปัจจัยสี่พอพียง จิตใจของประชาชนไม่สับสนวุ่นวาย สรรพสินค้าเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดการค้า ทั้งของไทยและของต่างประเทศ
    ท่านพระอาจารย์ถือเอาจังหวะนี้ เร่งรัดอบรมสั่งสอนศีลธรรม สมถวิปัสสนา แก่พระสงฆ์และประชาชน หนทางยังกันดารอยู่ เดินทางด้วยเท้าเปล่าเข้ามา เป็นเรื่องสนุกของชาวกรุงเทพฯ ไปแล้ว ทั้งหญิงชายจากกรุงเทพฯ จันทบุรี ชัยนาท สระบุรี เชียงใหม่ เข้าไปถวายทาน กราบนมัสการเป็นระยะ เป็นหมู่เป็นคณะ ตั้งแต่ออกพรรษาตลอดฤดูหนาว [FONT=&quot]4
    เดือน ทั้งใกล้ไกล
    ท่านพระอาจารย์ต้องทำกิจประจำ [FONT=&quot]5[/FONT] ประการให้มากยิ่งขึ้น ตอนเช้าเที่ยวบิณฑบาต ตอนบ่ายเทศนาสั่งสอนประชาชน พลบค่ำให้โอวาทแก่พระสงฆ์ เกือบจะไม่มีเว้นวัน อีก [FONT=&quot]2[/FONT] อย่าง เป็นเรื่องภายในส่วนตัวของท่าน ผู้เล่าไม่สามารถนำมาเล่าได้
    พระเถระฝ่ายบริหาร ทั้งเป็นเพื่อนเก่าและใหม่ ได้เดินทางข้ามเขา ไปกราบนมัสการหลายรูป เท่าที่จำได้เพื่อนเก่า มีเจ้าคุณปราจีน [FONT=&quot]([/FONT]คือ พระปราจีนมุนี [FONT=&quot]([/FONT]เพ็ง กิตติงฺกโร[FONT=&quot]) [/FONT] วัดมะกอก จังหวัดปราจีนบุรี[FONT=&quot]) [/FONT]เจ้าคุณสิงห์บุรี เจ้าคุณลพบุรี [FONT=&quot]([/FONT]คือ พระเทพวรคุณ [FONT=&quot]([/FONT]อ่ำ ภทฺราวุโธ[FONT=&quot]) [/FONT] วัดมณีชลขัณฑ์ จังหวัดลพบุรี ผู้เป็นน้องชายของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์[FONT=&quot]([/FONT]จันทร์ สิริจนฺโท[FONT=&quot]) )[/FONT]
    เจ้าคุณใหม่ มี เจ้าคุณรักษ์ หนองคาย [FONT=&quot]([/FONT]คือ พระธรรมไตรโลกาจารย์ [FONT=&quot]([/FONT]รักษ์ เรวโต[FONT=&quot]) [/FONT] วัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย[FONT=&quot]) [/FONT]เจ้าคุณเมืองเลย [FONT=&quot]([/FONT]คือ พระธรรมวราลังการ [FONT=&quot]([/FONT]ศรีจันทร์ วณฺณาโภ[FONT=&quot]) [/FONT] วัดศรีสุทธาวาส จังหวัดเลย[FONT=&quot]) [/FONT]เจ้าคุณพระมหาโชติ [FONT=&quot]([/FONT]คือ พระเทพสุทธาจารย์ [FONT=&quot]([/FONT]โชติ คุณสมฺปนฺโน[FONT=&quot]) [/FONT] วัดวชิราลงกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา[FONT=&quot]) [/FONT]เจ้าคุณเขียนนครราชสีมา [FONT=&quot]( [/FONT] คือ พระอริยเวที [FONT=&quot]([/FONT]เขียน ฐิตสีโล[FONT=&quot]) [/FONT] วัดรังสีปาลิวัน จังหวัดกาฬสินธุ์[FONT=&quot]) [/FONT]
    [/FONT]
    แสดงบุพพนิมิต
    ประมาณต้นปี[FONT=&quot] 2492 ปีที่ท่านจะเริ่มอาพาธ มันเป็นลักษณะคล้ายๆ กับเป็นลางสังหรณ์ของชีวิตแต่ละบุคคล ปกติท่านพระอาจารย์มั่นจะมีตะเกียงโป๊ะเล็ก ๆ ส่วนมุ้งนั้นเป็นมุ้งผ้า ชาวบ้านทอเอง ขณะนั้นเป็นฤดูหนาว อากาศหนาวมากคล้ายภาคเหนือ จุดไฟมาหลายปี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
    แต่วันนั้นอย่างไรไม่ทราบ ท่านร้องขึ้นประมาณตี[FONT=&quot] 2 [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]โอ๊ย โอ๊ย ไฟไหม้ ใครได้ยินมาช่วยด้วย ไฟไหม้ ใครได้ยินมาช่วยด้วย[FONT=&quot]"[/FONT]
    มีกุฏิ [FONT=&quot]3-4[/FONT] หลัง อยู่ใกล้ๆ ผู้เล่าได้ยินเสียงท่าน ตื่นขึ้นมาเปิดประตูกระโดดออกไป ไฟข้างในสว่างอยู่แล้ว กำลังจะไหม้มุ้ง ผ้าส่วนหนึ่งมันปิดท่านอยู่ ท่านแก้ไม่ออก ผ้าห่มส่วนหนึ่งแยกออกไปได้แล้ว ท่านก็พยายามหอบผ้าที่แยกออกแล้ว พังออกไป
    ผู้เล่าผลักประตูเข้าไปแรงๆ ประตูก็พังไปเลย แล้วก็ผลักประตูข้างหน้าอีก ผลักประตูหน้าต่างอีก หน้าต่างกับประตูมันมีพื้นฐานเท่ากัน ผลักเข้าไปแล้ว ก็รีบเปิดผ้าออก แล้วประคองท่านออกมาข้างนอก ท่านลุกขึ้น เข้าไปดึงมุ้งลงมา ไฟมันจะขึ้นติดเพดาน กำลังจะไหม้แล้ว ผู้เล่าก็กระโดดเข้าไป ลืมคิดถึงอันตราย บุกตะลุยเลย โยนมุ้งลงไปข้างล่าง เป็นแสงวูบไป พอปลอดภัยแล้ว พระรูปนั้นก็มา พระรูปนี้ก็มา สว่างพอดี จึงกลับไปกุฏิ เตรียมบาตรลงไปศาลา
    ท่านมองดูผู้เล่า มันทั้งดำทั้งแดงไปหมด[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เจ็บไหมล่ะ[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]พอทนได้ มันร้อนก็พอทนได้[FONT=&quot]" [/FONT]
    ท่านมีน้ำมันทำเอง สำหรับใช้ทาริดสีดวงที่เป็นโรคประจำตัวของท่าน เวลาถ่ายแล้วเลือดออก ต้องใช้น้ำมันนั้น[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]น้ำมันเรามี เอาไปทา เอ้า หล้า ช่วยกันทานะ[FONT=&quot]" [/FONT]
    ไม่พอ [FONT=&quot]2-3[/FONT] วันก็เป็นปกติ จะเป็นด้วยอานุภาพของท่านก็ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นอจินไตย
    น้ำมันนี้ ท่านทำใช้เฉพาะองค์เดียว มีน้ำมันมะพร้าว ขี้ผึ้งแท้เป็นส่วนประกอบ นอกจากนั้นก็อะไรที่ไม่ใช่ของแสบร้อน ใช้รักษาแผล เมนทอลท่านไม่เอา ทาเข้าไปเย็นๆ ใช้ [FONT=&quot]2-3[/FONT] อย่างเท่านั้น ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ใช้น้ำมันมะพร้าวกับขี้ผึ้งเท่านั้น ใช้ได้นาน [FONT=&quot]2-3[/FONT] ปี จึงจะหมด กุฏิที่ไฟไหม้ คือ หลังปัจจุบันที่วัดป่าบ้านหนองผือนั่นแหละ
    [/FONT]
     
  10. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    สุบินนิมิตบ่งบอก
    สุบินนิมิต [FONT=&quot](ฝัน[FONT=&quot]) [/FONT]ก็บ่งบอกชะตาชีวิต และอุปนิสัยของบุคคล ที่เคยอบรมสั่งสอนมาแต่ปางก่อน ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า นับตั้งแต่วันบวชเป็นพระมา (หมายถึง ช่วงบวชในพรรษาแรกๆ - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] [/FONT]นอนหลับที่ฝันทุกครั้ง คือ ฝันว่าได้ไปโน่นไปนี่ อยู่ในสภาพที่เป็นพระนี้ และแปลกเพราะบนบ่าสะพายดาบ ที่เท้าทั้งสองข้างมีรองเท้าทำด้วยหนัง
    ภายหลังมาพิจารณาได้ความว่า[FONT=&quot] [/FONT]ดาบ คือ ปัญญา รองเท้า คือ สมาธิ[FONT=&quot] [/FONT]เมื่อปฏิบัติไป หากไม่มีอาจารย์แนะนำ ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ท่านว่า และยังว่าต่อไปว่า[FONT=&quot] [/FONT] บุคคลผู้บริจาควัตถุประเภทโลหะ เช่น บาตร มีดโกน และเข็มเย็บผ้า เป็นการเพิ่มปัญญาบารมี เวลาท่านจะให้ของเบ็ดเตล็ดแก่ลูกศิษย์ มักจะหยิบเข็มออกมายื่นให้สานุศิษย์ ผู้เล่าก็เคยได้รับจากมือของท่าน[FONT=&quot] [/FONT]ส่วนการบริจาคหนัง เช่น หนังรองนั่ง และรองเท้า เป็นการบำเพ็ญเจริญฌาน อธิษฐานบารมี[FONT=&quot] [/FONT]มีผลานิสงส์
    ผู้เล่าเคยตัดรองเท้าหนังถวายท่าน และพระเถระหลายองค์ รองเท้าที่เป็นฝีมือของผู้เล่า คือ คู่เล็ก ส่วนคู่ใหญ่เป็นฝีมือของท่านอาจารย์วิริยังค์ ดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์มั่น อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
    หมายเหตุ เครื่องรองนั่งทุกชนิด เช่น ผ้าปูนั่ง พรมปูนั่งมีในจัมมขันธ์ ผู้บริจาคมีอานิสงส์ ทำจิตให้รวมเร็ว[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    เมตตาผู้เล่า
    ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นผู้รู้จักอัธยาศัยของบรรดาสานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านเคยพูดเสมอว่า
    [FONT=&quot]"
    คุณทองคำนี้เป็นบุคคลที่มีสติปัญญาอ่อน และวาสนาน้อย ถ้าจะอุปมาเปรียบสานุศิษย์ทั้งหลาย เหมือนเหล็กซึ่งถูกหลอมเป็นแท่งมาแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อถูกไฟเผา เนื้อเหล็กอ่อน ก็ต้องตีด้วยฆ้อนแปดปอนด์ มันไม่เสียหายอะไร แต่คุณทองคำนี้ เปรียบเหมือนเนื้อเหล็กผสมอยู่กับหินที่มันเกิดทีแรก ถ้าเราใช้ฆ้อนทุบก็จะแหลกละเอียดหมด[FONT=&quot]"[/FONT]
    ตอนที่ท่านพระอาจารย์เริ่มอาพาธ ได้เมตตาผู้เล่าว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ทองคำเอย เราก็สงสารเธอ ไม่มีอะไรจะให้ ขอให้เธอจงจดจำไว้ อันนี้เป็นคำสั่งสำหรับคุณโดยเฉพาะ ครั้งสุดท้ายเมื่อเราตายไปแล้ว จะไม่มีใครสั่งสอนคุณ เหมือนดังเราสั่งสอน ขอให้คุณปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์ ที่สอนครั้งแรกตั้งแต่วันบวช คือ การตั้งศรัทธาความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยอย่างแน่วแน่[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ต่อจากนั้นก็พิจารณาองค์กัมมัฏฐาน [FONT=&quot]5[/FONT] คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ขอให้ยึดมั่นอย่างนี้ เพราะว่า นอกเหนือจากพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบรมครูแล้ว ก็มีครูคนที่สองรองจากพระพุทธเจ้า คือ พระอุปัชฌาย์นี้เอง[FONT=&quot]"[/FONT]
    พระอุปัชฌาย์จะสอนตั้งแต่สรณคมน์ จนกระทั่งถึงพระนิพพาน ให้ตั้งศรัทธาต่อพระรัตนตรัย ให้พิจารณากัมมัฏฐาน [FONT=&quot]5[/FONT] คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ให้ยึดมั่นในหลักนี้ รับรองไม่ผิด ท่านว่าอย่างนั้น นี้เป็นการสั่งสมวาสนาบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ถึงไม่รู้ชาตินี้ ชาติต่อไปก็สามารถรู้ได้
    ผู้เล่ามาคิดเฉลียวใจว่า[FONT=&quot] "[/FONT]เราปฏิบัติไปอย่างนี้ เกิดเป็นบ้าเป็นอะไรขึ้นมา จะทำอย่างไร[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านบอกว่า[FONT=&quot] "[/FONT]อย่าไปนึก เป็นบ้าอะไรไม่ต้องห่วง เพราะว่าถ้าคุณไปเพ่งออกนอก คุณจะเป็นบ้า หากมีอะไรเกิดขึ้น คุณมาเพ่งในนี้ คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ มันจะแก้ของมันไปเอง[FONT=&quot]" [/FONT]ท่านว่าอย่างนั้น
    [FONT=&quot]"[/FONT]แล้วก็ทำให้มันต่อเนื่องเป็น ภาวิตา พหุลีกตา เจริญให้มาก[FONT=&quot] [/FONT] ถ้าหากว่าบุคคลที่มีวาสนาบารมีแล้ว อย่างเร็ว [FONT=&quot]7[/FONT] วัน หรือ [FONT=&quot]7[/FONT] เดือน ต้องได้บรรลุคุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง มีพระโสดาบันเป็นต้น แต่วาสนาพอปานกลาง อบรมต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง ก็ไม่เกิน [FONT=&quot]7[/FONT] ปี ต้องได้บรรลุคุณวิเศษ ผู้ที่อบรมต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง ย่อหย่อนไป แต่ว่าไม่ท้อถอย มีความเชื่อมั่นอยู่ในคำสอนของพระอุปัชฌาย์ อย่างช้าก็ [FONT=&quot]16[/FONT] ปี[FONT=&quot]"[/FONT]
    ท่านพระอาจารย์ว่าเป็นไปได้ทุกคนนั้นแหละ ถ้ายึดมั่นในคำสอนของพระอุปัชฌาย์ได้ รับรองไม่มีผิด ท่านว่างั้น และมรรคผลในธรรมวิเศษนั้น เป็นของคนไทยโดยเฉพาะ ทำไมจึงว่าเป็นของคนไทยโดยเฉพาะ เพราะเราได้ปฏิบัติสืบธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นพันๆ ปีแล้ว ความพร้อมของคนไทยจึงมี เพราะฉะนั้นผู้ที่ประสงค์จะได้บรรลุคุณธรรมวิเศษนั้น มีโอกาสทุกคน[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    อัครฐานเป็นที่ตั้งแห่งมรรคผลนิพพาน
    เทศน์กัณฑ์นี้เกิดที่วัดปทุมวนาราม ความเดิมมีว่า หลังจากท่านพระอาจารย์มั่นไปเจริญสมณธรรมอยู่ที่ถ้ำสิงห์โต หรือเรียกอีกชื่อว่า ถ้ำไผ่ขวาง ท่านพักอยู่พอสมควรแล้ว ก็กลับเข้ากรุงเทพฯ พักที่วัดสระปทุม [FONT=&quot](วัดปทุมวนาราม[FONT=&quot]) [/FONT] มีโอกาสก็ไปนมัสการท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ [FONT=&quot]([/FONT]จันทร์ สิริจนฺโท[FONT=&quot]) [/FONT] เล่าความเป็นไปในการปฏิบัติบ้าง สนทนาธรรมบ้าง ตามประสาศิษย์และครู
    ได้ปรารภถึงการแนะนำสั่งสอนหมู่คณะเชิงปรึกษาว่า ท่านมีวาสนาทางนี้ไหม
    ท่านเจ้าคุณก็รับรองว่ามี
    พอกลับมาวัดสระปทุม ท่านก็พิจารณาเรื่องการแนะนำหมู่คณะ เกิดความรู้ขึ้นมาจากภายในว่า
    อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺต วิสุทฺธิยา
    ได้ความว่า ฐานะอันเลิศมีอยู่ในหมู่มนุษย์ มีแต่หมู่มนุษย์เท่านั้น ที่จะดำเนินไปสู่หนทางเพื่อความดับทุกข์ได้ ท่านพิจารณาได้ความว่า การแนะนำหมู่คณะเป็นไปได้อยู่ ธรรมเทศนาเรื่องนี้ ท่านอธิบายอ้างอิงคัมภีร์เป็นพิเศษ
    ท่านว่า[FONT=&quot] [/FONT] ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกก็ดี ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น ทั้งอดีตนับด้วยแสนเป็นอเนกก็ดี ปัจจุบันก็ดี ในกาลอนาคตอันจะมาถึงก็ดี ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกก็ดี มีแต่มนุษย์เท่านั้น[FONT=&quot] [/FONT]ส่วนเทพ อินทร์ พรหม และอบายภูมิทั้งสี่ ก็ไม่สามารถจะมาตรัสรู้ได้ เพราะว่ากายของเทพละเอียดเกินไป กายของอบายภูมิสี่ก็หยาบเกินไป ส่วนมนุษย์อยู่ท่ามกลางแห่งภพทั้งสาม โดยเฉพาะกามภพ [FONT=&quot]11 [/FONT] คือ นับขึ้นข้างบน [FONT=&quot]6[/FONT] นับลงข้างล่าง [FONT=&quot]4 [/FONT] รวมเป็น [FONT=&quot]10[/FONT] มนุษย์อยู่ตรงกลาง รวมเป็น [FONT=&quot]11[/FONT]
    มนุษย์นี้ คือ อัครฐาน มีคุณสมบัติหรือองค์ประกอบพร้อมทุกอย่าง มนุษย์ผู้เลิศ มนุษย์ผู้ประเสริฐ มนุษย์ผู้มีความสามารถ ทำได้ทั้งโลกียปัญญา และโลกุตรปัญญา มนุษย์อยู่ในท่ามกลาง จะขึ้นข้างบนก็ได้ จะลงข้างล่างก็ได้ นักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ทรงแนะนำไว้ทั้งสองทาง โดยยกสรณะ [FONT=&quot]3[/FONT] ศีล [FONT=&quot]5[/FONT] ธรรม [FONT=&quot]5[/FONT] มงคลสูตร ธรรมบท ขุททกนิกาย มหาสมัยสูตร และสูตรอื่นๆ อีก
    จะขอกล่าวแค่ [FONT=&quot]8[/FONT] สูตร คือ[FONT=&quot] [/FONT] สุกฺกธมฺมสูตร สูตรนี้เป็น เทวธมฺมสูตร ในพระธรรมบท มหลฺลกภิกฺขุ พหุภณฺทิกภิกฺขุ พวกเทพเรียกเทวธรรมว่า สุกฺกธรรม ผู้เล่าจะยกมาพอเป็นอุทาหรณ์ เนื้อความพิสดาร ท่านพระอาจารย์เปิดกว้าง ให้บัณฑิตอธิบายเพิ่มเติมได้ โดยไม่ผิด ว่าเป็น มนุสฺสธมฺ เกิดเป็นมนุษย์มีความสามารถ
    ผู้ไม่มีสรณะ [FONT=&quot]3[/FONT] ถือลัทธิอื่นเป็นสรณะ ละเมิดศีล [FONT=&quot]5[/FONT] ข้อ [FONT=&quot]1[/FONT] ตายแล้วลงข้างล่าง เกิดเป็นมนุษย์อายุสั้น ละเมิดข้อ [FONT=&quot]2[/FONT] ข้อ [FONT=&quot]4[/FONT] ตายแล้วลงข้างล่าง เกิดเป็นเปรตอสุรกายท้องโต ปากเท่ารูเข็ม เพราะฉ้อราษฎร์บังหลวง เงินเหล่านี้เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของมนุษย์ด้วยกัน รังแกข่มเหง เอาเปรียบ จึงไปเกิดเป็นเปรต กินไม่อิ่ม หิวเป็นนิจ เพราะรูปากเล็ก
    ละเมิดข้อ [FONT=&quot]3[/FONT] ลงข้างล่าง เกิดเป็นสุนัขนับชาติไม่ถ้วน ละเมิดข้อ [FONT=&quot]5[/FONT] ลงข้างล่าง สุราเมรัย ยาเสพติดทุกชนิด ตกโลหกุมภี ดื่มน้ำทองแดง ตับไตไส้พุงทะลุ เกิดใหม่กินอีก ไม่กินก็ไม่ได้เพราะหิว ไม่มีอะไรจะกิน พ้นแล้วได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นบ้าใบ้เสียจริตผดมนุษย์ นับชาติไม่ถ้วน นี้มีส่วนลงข้างล่าง
    ส่วนขึ้นข้างบนนั้น ท่านอ้างคัมภีร์หนึ่ง คือ มงคลสูตร ตั้งแต่ อเสวนาฯ เปฯ ผุฏฺฐสฺสโลก ธมฺเมหิ ฯ เปฯ ว่าเป็นยอดมงคลอันอุดมเลิศ ท่านย้ำมาก คือ ปฏิรูปเทสวาโส จ ฯ ลฯ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เพราะคนไทย[FONT=&quot] [/FONT]ประเทศไทย เป็นปฏิรูปเทส มีคุณสมบัติ และ องค์ประกอบสมบูรณ์แบบ ไม่มีชาติไหนเหมือน
    ภูมิประเทศไทย มีลักษณะ [FONT=&quot]4[/FONT] คือ ภูเขา แม่น้ำ ทุ่งกว้าง สาวงาม ลักษณะ [FONT=&quot]4[/FONT] อย่างนี้ มีในประเทศใด ประเทศนั้นจะพัฒนาตัวของมันโดยไม่หยุดยั้ง ถ้ามีปัจจัยภายนอกเข้าไปเสริม ก็จะพัฒนาไปได้เร็ว หากไม่มี เขาก็พัฒนาของเขาได้ ท่านว่าอย่างนี้
    [/FONT]
    คำผญาสอนศิษย์
    บทโคลง กาพย์ กลอน หรือ ผญา (อ่านว่า "ผะ-หยา" - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] นั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ท่านจะนำมาพูดมาสอน สลับกับพระธรรมเทศนา เช่น[FONT=&quot] [/FONT] คราวใดที่จิตของผู้ฟังส่วนมาก มีอาการตามกระแสธรรมของท่าน [FONT=&quot] [/FONT]เมื่อท่านกำหนดดูจิตว่า ขณะนี้ จิตของผู้ฟังเกิดปีติเพลิดเพลินเกินไปจนลืมทุกข์ คิดว่าจะยินดีพอใจในอารมณ์นั้น ท่านก็จะสลับเป็นผญาหรือร่ายออกมา[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]เออ เอ้า อย่าพากันลืมทุกข์เน้อ[FONT=&quot]"[/FONT]
    เหมือนคำว่า[FONT=&quot] [/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ทุกข์ตั้งแต่ในขันธ์ห้า โฮมมาขันธ์สี่ ทุกข์ตั้งแต่ในโลกนี้ โฮมข่อยผู้เดียว[FONT=&quot]" [/FONT]
    เมื่อมีความเพลินจนลืมตัว ต่อไปก็จะลืมไตรลักษณ์ นี้เป็นความรู้สึกของผู้เล่า ผู้ปฏิบัติเกิดปีติสุข เอกัคคตา อันเกิดจาฌานสมาธิสมถะ เป็นที่พักเอากำลังปัญญา เลยไปติดในนั้น ท่านจึงให้เอาไตรลักษณ์แก้ หรือเพื่อความร่าเริง อาจหาญ บันเทิงบ้าง ตามแต่จิตของผู้ฟังจะมีอาการ ที่ท่านแสดง เป็นอาเทศนาปาฏิหาริย์ของท่าน
    คำว่า[FONT=&quot] [/FONT] [FONT=&quot]"[/FONT]มะหับมะหายไป[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT] เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนธิดามารมาล่อลวงพระพุทธเจ้า เหมือนมีตัวมีตนแล้วก็จางหายไป หรือเหมือนพยับแดดมองดูไกล เหมือนมีตัวมีตน พอเข้าใกล้ก็จางหายไป
    [FONT=&quot]"[/FONT]สาระพัดเกี้ยวขา สาระพาเกี้ยวแข้ง สายต่องแต่งเกี้ยวคอ นั่งก่อส่อเหมือนลิงติดตัง[FONT=&quot]"[/FONT][FONT=&quot] [/FONT]
    ความหมาย[FONT=&quot] "[/FONT]ตัณหารักลูกเหมือนเชือกผูกคอ ตัณหารักเมีย [FONT=&quot]([/FONT]ผัว[FONT=&quot]) [/FONT]เหมือนปอผูกศอก ตัณหารักวัตถุข้าวของเหมือนปลอกใส่ตีน [FONT=&quot]([/FONT]เท้า[FONT=&quot]) [/FONT]นั่งคอตกจนปัญญาคาความคิด เหมือนลิงติดตัง[FONT=&quot]"[/FONT]
    ผญาบางบท เป็นของนักปราชญ์แต่ปางก่อนแต่งไว้บ้าง ที่เข้ากันได้กับธรรมที่ท่านแสดง ธรรมดาพระอริยเจ้าชั้นใดชั้นหนึ่ง ท่านมีวาสนาในนิรุตติ [FONT=&quot]([/FONT]นิรุกติศาสตร์[FONT=&quot]) [/FONT]ปฏิสัมภิทาญาณ เวลาท่านแสดงธรรม คำเหล่านี้จะขึ้นมาจากญาณของท่าน อันเป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ของพระอริยเจ้า
    [/FONT]
    เหตุที่ทำให้ฝนแล้ง
    ปีนั้นฟ้าฝนไม่ค่อยดี แต่ไม่ถึงกับแล้ง นาลุ่มพอได้เกี่ยว นาบกเฉาตาย ชาวบ้านก็บ่นต่างๆ นานา บางคนถามท่านพระอาจารย์ซื่อๆ ด้วยความเคารพและกันเองว่า[FONT=&quot]
    [FONT=&quot]"[/FONT]ทำไม อัญญาท่าน[FONT=&quot]"[/FONT]
    [FONT=&quot]"[/FONT]อัญญาท่าน[FONT=&quot]" [/FONT]เป็นภาษาสกลนคร ที่ถวายให้เกียรติอย่างสูง แก่พระเถระที่ประชาชนเคารพนับถือมาก ทั้งจังหวัดจะได้สมญานี้น้อยมาก
    อัญญาท่าน ตอบ
    [FONT=&quot]"[/FONT]ฝนตกบ่ชอบ [FONT=&quot] [/FONT]เมื่อนักปราชญ์เบื่อครองธรรม
    คนบ่ยำนักบวช [FONT=&quot] [/FONT]เพราะนักบวชละสิกขาวินัย
    เมื่อหน้าหากซิมีแลฯ [FONT=&quot]"[/FONT]
    นั่นได้ยินไหม ฟังเอา ไม่อยากให้ฝนแล้ง ก็อย่าให้เป็นอย่างนั้นซิ นี่คือคำตอบ[FONT=&quot] [/FONT]
    [/FONT]
    ก่อนนิพพานที่วัดป่าบ้านภู่
    หลังจากออกพรรษาแล้ว (พ.ศ.2492-ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] อาการป่วยของท่านดูจะหนักขึ้นทุกวัน บรรดาศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านได้ประชุมกัน จะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร โดยแวะพักที่วัดป่าบ้านภู่ก่อน (วัดป่าบ้านภู่ คือ วัดป่ากลางโนนภู่ ในปัจจุบัน - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] ผู้เล่าจะขอเล่าเหตุการณ์ในวาระสุดท้ายที่จำได้ดังนี้[/FONT]
    [/FONT] <table id="table32" align="left" border="0" width="105"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    ขบวนอัญเชิญพระอาจารย์มั่นจากวัดป่าบ้านหนองผือ
    มาพักที่วัดป่ากลางโนนภู่ และไปวัดป่าสุทธาวาส
    </td> </tr> </tbody></table> [FONT=&quot]เหตุการณ์ในระหว่างเดินทางจากหนองผือสู่พรรณานิคม ระยะทางจากหนองผือ มีบ้านห้วยบุ่น นาเลา คำแหว (อ่านว่า หะแว)[FONT=&quot] ทิดไทย โคกเสาขวัญ กุดก้อม และพรรณาฯ นาเลา คำแหว หมู่บ้านห่างออกไป ต้องเดินอ้อมเขา คนสมัยนั้นมีไม่มาก แต่คนมาจากไหนมากมายเกินกว่าสมัยนั้น ทั้งหญิงทั้งชายทั้งเด็ก ที่อ้อมห้วยมาทางลัด ทั้งช่องเขา ท่าน้ำ ช่องป่าไม้ คนมากันทุกทิศทุกทาง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าท่านพระอาจารย์จะออกเดินทางวันนั้น เพราะพูดตกลงวันนั้น ทำเสลี่ยงเสร็จ วันที่สองก็นำท่านออกมาเลย มีคนแบกคานหาม 4 คน ล้วนแต่เป็นชายฉกรรจ์ทั้งนั้น[/FONT]
    [FONT=&quot]พอเดินไปได้ประมาณครึ่งกิโลเมตร ผู้รอเปลี่ยนคานหามก็บอกว่า [/FONT]
    [FONT=&quot]"เธอออกไป เราจะเข้าหามแทน"[/FONT]
    [FONT=&quot]คนหามก็บอกว่า [/FONT] [FONT=&quot]"มายังไม่ถึง 10 วา จะมาแย่งแล้ว"[/FONT]
    [FONT=&quot]"อ้าว เธอหามไกลแล้วต้องให้เราซิ" [/FONT]
    [FONT=&quot]ทะเลาะกันมาตลอดทาง พระอาจารย์ฝั้นต้องติดตามใกล้ชิด คอยห้ามทัพ ไม่ให้ทะเลาะกัน[/FONT]
    [FONT=&quot]พอคนนั้นออกมา ผู้เล่าถามว่า[/FONT][FONT=&quot] "ทำไมหามไปไกลแล้ว ยังว่าหามไปไม่ถึง 10 วา" [/FONT]
    [FONT=&quot]เขาบอกว่า[/FONT][FONT=&quot] "เวลาแบกเสาแบกฟืน หามนั้นหามนี้ มีแต่หนัก [/FONT] [FONT=&quot]แต่หามอัญญาท่านมั่น เบาเหมือนกับว่าเท้าไม่ติดดิน[/FONT][FONT=&quot]" นี้คือคำบอกเล่าของคนหาม[/FONT]
    [FONT=&quot]จากบ้านคำแหว ถึงบ้านโคก ก่อนถึงบ้านโคก มีลำห้วย น้ำเย็นไหลใสสะอาด คนหามขอพักล้างมือ ลูบไล้แขนขา เพื่อเข้าสู่หมู่บ้าน ท่านพระอาจารย์ก็อนุญาต และท่านก็ล้างหน้าด้วย ศิษย์เช็ดตัวถวาย ขณะนั้นตัวท่านร้อนอยู่ คล้ายๆ จะมีไข้ พร้อมแล้วก็หามท่านเดินทางต่อ จนกระทั่งอีกไม่เกิน [/FONT] [FONT=&quot]10 ก.ม. จะถึงพรรณาฯ เลยบ้านกุดก้อมออกมา มีทางแยกสองแพร่ง แพร่งหนึ่งไปพรรณาฯ แพร่งหนึ่งไปบ้านม่วงไข่ จึงเอาท่านวางลง[/FONT]
    [FONT=&quot]ที่วัดป่าบ้านภู่ พรรณาฯ ท่านอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม เตรียมรับพร้อม ที่วัดป่าบ้านม่วงไข่ ท่านอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เตรียมรับพร้อม เลยเจรจากัน แต่ยังตกลงกันไม่ได้ [/FONT]
    [FONT=&quot]ได้ยินถึงท่านพระอาจารย์ เลยถามว่า[/FONT][FONT=&quot] "ถึงหรือยัง"[/FONT]
    [FONT=&quot]ตอบ[/FONT][FONT=&quot] "ยังไม่ถึง"[/FONT]
    [FONT=&quot]"เออ ไม่ถึงจะอยู่นี้หรือ"[/FONT]
    [FONT=&quot]"กราบเรียน ท่านอาจารย์อ่อนจะนำไปม่วงไข่ ท่านอาจารย์ฉลวยจะนำไปพรรณาฯ "[/FONT]
    [FONT=&quot]"บ้านม่วงไข่เราไม่ไป เราจะไปวัดโยมอ่อน รู้แล้วหรือยัง รู้แล้วก็ไป"[/FONT]
    [FONT=&quot]พอถึงทุ่งนาหมดทางเกวียนแล้ว ชาวบ้านต้องเดินตามคันนา กว้างไม่เกิน [/FONT][FONT=&quot]50 ซ.ม. ข้าวแก่ก็มี กำลังจะแก่ก็มี แต่คนหามรวมทั้งคนเอามือประคองเป็นสิบสิบ เลยหยุดยืน กลัวจะเหยียบย่ำข้าว เจ้าของนาทุกคนที่ติดตามไป เขาไปยืนอยู่บนคันนา ประกาศขึ้นว่า [/FONT]
    [FONT=&quot]"ข้าวเอ๋ยข้าว บัดนี้ความจำเป็นเกิดขึ้นแล้ว ขอย่ำขอกรายด้วย" [/FONT]
    [FONT=&quot]แล้วก็หันมาบอกพวกหามว่า[/FONT][FONT=&quot] "ไปได้เลย" [/FONT]
    [FONT=&quot]แล้วก็พากันเดินเอาคันนาไว้กลาง ย่ำไร่นาไปเลย ผู้เล่าเดินตามหลัง ไม่เห็นมีข้าวล้มแม้แต่กอเดียว เพราะคนหามก็คือชาวนานี่เอง เขาต้องระวังเป็นพิเศษ ข้าวก็เลยปลอดภัย[/FONT]
    [/FONT] <table id="table33" align="right" border="0" width="105"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    ศาลาที่พักอาพาธท่านพระอาจารย์มั่น
    ณ วัดป่าบ้านภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
    </td> </tr> </tbody></table> [FONT=&quot]ถึงวัดป่าบ้านภู่ ประมาณ [FONT=&quot]16.00 น.เศษๆ ทำเวลาได้เร็วกว่าปกติ ส่วนหมู่คณะทั้งพระเถระอนุเถระ ติดตามท่านมาเกือบหมดวัด เดินตามก็มีมาก เดินลัดเขามาก็มี ผู้ไม่ค่อยมีกำลังก็เดินลัดเขา เพราะใกล้กว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]เป็นเวลา [/FONT] [FONT=&quot]11 วัน ที่ท่านได้พักอยู่วัดป่าบ้านภู่ อันเป็นวัดที่โยมอ่อน โมราราษฎร์ เป็นผู้สร้าง โยมอ่อน เป็นผู้มีศรัทธารับส่งสิ่งของต่างๆ ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ จันทบุรี โดยทางพัสดุไปรษณีย์บ้าง ฝากคนมาบ้าง ส่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ตลอด 5 ปี ผู้เล่าคิดว่าท่านพระอาจารย์คงเป็นอุปการะส่วนนี้ อันเป็นวิสัยของนักปราชญ์ จึงมาพักฉลองศรัทธาของโยมอ่อน[/FONT]
    [FONT=&quot]บรรดาพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ ทั้งพระเถระอนุเถระ ทั้งไกลทั้งใกล้ ได้มาดูแลปฏิบัติเป็นจำนวนร้อย ต่างพักหมู่บ้านใกล้เคียง มีหนองโดก ม่วงไข่ บะทอง เป็นต้น ส่วนป่าบ้านภู่ไม่ต้องกล่าวถึง นอกกุฏิ ตามร่มไม้ ริมป่า ปักกลดเต็มไปหมด[/FONT]
    [FONT=&quot]ทางราชการ มีท่านนายอำเภอพรรณานิคม เป็นประธาน ก็ได้ประกาศเป็นทางการให้ชาวพรรณาฯ ทุกตำบล หมู่บ้าน ขอให้มาช่วยกันดูแล เพื่อความสะดวกสบายแก่พระสงฆ์เป็นจำนวนร้อยๆ นั้น อาหารบิณฑบาต ที่พัก นำปานะ เพียงพอ ไม่มีบกพร่อง อาการเจ็บป่วยของท่านพระอาจารย์ ดูจะทรุดลงเรื่อยๆ ตัวร้อนเป็นไข้ ไอจะสงบก็เป็นครั้งคราว พอให้ท่านได้พักบ้าง[/FONT]
    [FONT=&quot]บรรดาศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ได้มีการประชุมกัน มีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ [/FONT] [FONT=&quot](จูม พนฺธุโล) เป็นประธาน ความว่า จะให้ท่านมรณภาพที่นี่ หรือที่สกลนคร มติในที่ประชุมเห็นว่า ให้ท่านมรณภาพที่นี่ก่อน แล้วค่อยนำไปสกลฯ โดยให้พระมหาทองสุกไปจัดสถานที่คอย ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร[/FONT]
    [FONT=&quot]คืนวันที่ [/FONT] [FONT=&quot]11 ที่มาพักวัดกลางบ้านภู่ เวลาตีสามเห็นจะได้ ท่านพระอาจารย์มีอาการไม่สบายมาก ท่านโบกมือขวา บอกว่า ไปสกลฯ ไปสกล จนอาการทุเลาลง คณะคิลานุปัฏฐากก็ทำการเช็ดตัว ถวายน้ำล้างหน้า เช็ดหน้า ห่มผ้า ก็รุ่งสว่างพอดี[/FONT]
    [FONT=&quot]อาหารบิณฑบาตพระป่วยก็นำมา ผู้เล่าตักถวาย ท่านอาจารย์วันประคองข้างหลัง อาหารช้อนแรก ท่านเริ่มเคี้ยว พอกลืนได้ครึ่งหนึ่ง ก็มีอาการไอ ไอ ไอติดต่อกัน อาหารช้อนแรกยังไม่ได้กลืน ก็ต้องคายออก[/FONT]
    [FONT=&quot]ตักถวายช้อนที่สอง ท่านยังไม่ได้เคี้ยว เกิดไอ ไอใหญ่ ท่านคายลงกระโถน แล้วบอกว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]"เรากินมา 80 ปี แล้ว กินมาพอแล้ว"[/FONT]
    [FONT=&quot]ผู้เล่าถวายน้ำอุ่นให้ดื่มเพื่อระงับอาการไอ[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านบอกว่า[/FONT][FONT=&quot] "เอากับข้าวออกไป"[/FONT]
    [FONT=&quot]ผู้เล่าอ้อนวอนท่านอีก [/FONT]
    [FONT=&quot]"เอาอีกแล้ว ทองคำนี้พูดไม่รู้จักภาษา บอกว่าเอาออกไป มันพอแล้ว" [/FONT]
    [FONT=&quot]ก็จำใจนำออกไป[/FONT]
    [FONT=&quot]พอท่านบ้วนปากเสร็จ จึงเข้าไปประคองแทนท่านอาจารย์วัน [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านบอกว่า[/FONT][FONT=&quot] "พลิกเราไปด้านนั้น ทางหน้าต่างด้านใต้" แล้วบอกว่า "เปิดหน้าต่างออก"[/FONT]
    [FONT=&quot]ผู้เล่ากราบเรียนว่า [/FONT] [FONT=&quot]"อากาศยังหนาวอยู่ สายๆ จึงค่อยเปิด"[/FONT]
    [FONT=&quot]"เอาอีกแล้ว ทองคำนี้ไม่รู้ภาษาจริงๆ บอกว่าให้เปิดออก หูจาวหรือ จึงไม่ได้ยิน"[/FONT]
    [FONT=&quot]พอเปิดหน้าต่างออกไป อะไรได้ คนเต็มไปหมดทั้งบริเวณ ประมาณได้เป็นร้อยๆ คน ทุกคนที่มาจะเงียบหมด ไม่มีเสียงให้ปรากฏ ถ้าเราอยู่ที่ลับตา จะไม่รู้ว่ามีคนมา ทุกคนก้มกราบ นั่งประนมมือ[/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านพระอาจารย์กล่าวว่า[/FONT]
    [FONT=&quot]"พวกญาติโยมพากันมามาก มาดูพระเฒ่าป่วย ดูหน้าตาสิ เป็นอย่างนี้ละ ญาติโยมเอ๋ย ไม่ว่าพระ ไม่ว่าคน พระก็มาจากคน มีเนื้อมีหนังเหมือนกัน คนก็เจ็บป่วยได้ พระก็เจ็บป่วยได้ สุดท้ายก็คือ ตาย ได้มาเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จงพากันนำไปพิจารณา เกิดมาแล้ว ก็แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนจะตาย ทานยังไม่มีก็ให้มีเสีย ศีลยังไม่เคยรักษาก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญก็เจริญให้พอเสีย จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ด้วยความไม่ประมาท นั่นละจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน เท่านี้ละ พูดมากก็เหนื่อย"[/FONT]
    [FONT=&quot]นี้คือ โอวาทที่ท่านให้ไว้แก่ชาวพรรณานิคม ตั้งแต่นั้นจนวาระสุดท้าย ท่านไม่ได้พูดอีกเลย[/FONT]
    [FONT=&quot]ประตูที่พักด้านหน้าเปิดอยู่ ท่านบอก [/FONT] [FONT=&quot]“หันตัวเราไปทางประตู”[/FONT]
    [FONT=&quot]พอหันเสร็จ ก็เห็นคนแต่งตัวผู้ดี [/FONT] [FONT=&quot]3-4 คน นั่งบนเสื่อที่ปูอยู่ข้างล่าง สำหรับให้แขกนั่ง ท่านเพ่งดูแล้วถามว่า [/FONT]
    [FONT=&quot]"ใคร"[/FONT]
    [FONT=&quot]แขก[/FONT][FONT=&quot] "กระผม วิเศษ ลูกเขยแม่นุ่ม [/FONT] (คือ คุณวิเศษ เชาวนสมิทธิ์ ลูกเขยของคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ - ภิเนษกรมณ์)[FONT=&quot] เอารถมารับท่านอาจารย์กลับสกลฯ ท่านมหาทองสุกบอกเมื่อวานนี้ กระผมเลยนำรถมารับ ขอรับ"[/FONT]
    [FONT=&quot]"เออ ไปซิ เราอยากไปตั้งแต่เมื่อคืนนี้ เอ้า วัน ทองคำ แต่งของเร็ว"[/FONT]
    [FONT=&quot]"เราจะไปอย่างไร รถจอดบนทางหลวง นี่มันมีแต่ทางเกวียน"[/FONT]
    [FONT=&quot]นายวิเศษ[/FONT][FONT=&quot] "ไม่ยาก กระผมได้นำเปลพยาบาลมา เป็นผ้าใบ เบาๆ นิ่มๆ นิมนต์นอนพักไปสบายๆ "[/FONT]
    [FONT=&quot]"คนหามเล่า"[/FONT]
    [FONT=&quot]นายวิเศษ[/FONT][FONT=&quot] "ท่านแขวงฯ ได้เตรียมคนมาพร้อมแล้ว รถก็สบาย ไม่กระเทือน เพราะเป็นรถประจำตำแหน่งของท่าน"[/FONT]
    [FONT=&quot]พอแต่งของเสร็จ หมอก็ถวายยาให้ท่านนอนหลับไปสบายๆ ก่อนไป [/FONT]
    [FONT=&quot]ท่านเอ่ยขึ้นว่า [/FONT] [FONT=&quot]"ก็หมู่เล่า จะไปกันอย่างไร"[/FONT]
    [FONT=&quot]วิเศษ[/FONT][FONT=&quot] "ไม่ยากกระผม ท่านแขวงฯ ได้เตรียมรถบรรทุกคนงานมาพร้อมแล้ว บรรทุกได้เป็นสิบๆ รูป จะขนถ่ายให้หมดวันนี้" [/FONT]
    [FONT=&quot]จึงนำท่านไปขึ้นรถ สมัยนั้นรถหายาก รถประจำตำแหน่งท่านแขวงฯ ไม่รู้ว่ายี่ห้ออะไร ได้ยินเขาพูดกันว่า แลนด์โรเวอร์ ส่วนรถบรรทุก เขาว่า รถดอดจ์หรือฟาร์โก้นี้ละ[/FONT]
    [FONT=&quot]จากพรรณานิคม ถึงวัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เกือบ [/FONT] [FONT=&quot]12 นาฬิกา เพราะทางหินลูกรัง กลัวท่านจะกระเทือนมาก ท่านก็หลับมาตลอด นำท่านขึ้นกุฏิ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดก็มี ผู้เล่า ท่านวัน ท่านหล้า ผู้จัดที่นอนให้ท่าน ได้ผินศีรษะไปทางทิศใต้ [/FONT] [FONT=&quot] ปกติเวลานอน ท่านจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก[/FONT][FONT=&quot] [/FONT] [FONT=&quot] ด้วยความพะว้าพะวัง จึงพากันลืมคิดที่จะเปลี่ยนทิศทางผินศีรษะของท่าน[/FONT]
    [FONT=&quot]เวลาประมาณ [/FONT] [FONT=&quot]1.00 น.เศษ ท่านรู้สึกตัวตื่นจากหลับ แล้วพูดออกเสียงได้แต่อือๆ แล้วก็โบกมือเป็นสัญญาณ แต่ไม่มีใครทราบว่าท่านประสงค์สิ่งใด มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ที่นั้น เห็นท่าอาการไม่ดี จึงให้สามเณรอีกรูปไปนิมนต์พระเถระทุกรูป มีเจ้าคุณจูม พระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์ฝั้น เป็นต้น มากันเต็มกุฏิ[/FONT]
    [FONT=&quot]เท่าที่สังเกตดู ท่านใกล้จะละสังขารแล้ว แต่อยากจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ท่านพลิกตัวไปได้เล็กน้อย ท่านหล้า [/FONT] [FONT=&quot](พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต) คงเข้าใจ เลยเอาหมอนค่อยๆ ผลักท่านไป ผู้เล่าประคองหมอนที่ท่านหนุน แต่ท่านรู้สึกเหนื่อยมาก จะเป็นการรบกวนท่าน ก็เลยหยุด ท่านก็เห็นจะหมดเรี่ยวแรง ขยับต่อไม่ได้ แล้วก็สงบนิ่ง ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ต้องเงี่ยหูฟัง ท่านวันได้คลำชีพจรที่เท้า ชีพจรของท่านเต้นเร็วชนิดรัวเลย รัวจนสุดขีดแล้วก็ดับไปเฉยๆ ด้วยอาการอันสงบ[/FONT]
    [FONT=&quot]เป็นอันว่า อวสานแห่งขันธวิบากของท่านได้สิ้นสุดลงแล้ว ท่ามกลางศิษย์จำนวนมาก ในเวลาประมาณ [/FONT] [FONT=&quot]02.00 น.เศษๆ ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เหลือไว้แต่ผลงานของท่kนมากมายเหลือคณานับ [/FONT]
    a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
    <table class="MsoNormalTable" style="border-collapse: collapse; border: medium none; background: #FFFFF5" id="table7" border="1" cellpadding="0" cellspacing="0" width="95%"> <tbody><tr> <td style="border: 1.5pt solid maroon; padding-left: 5.4pt; padding-right: 5.4pt; padding-top: 0cm; padding-bottom: 0cm" valign="top"> [FONT=&quot] การเดินทางอันยาวนานในวัฏสงสารของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ได้ยุติลงแล้ว เช่นเดียวกับการนำเสนอเกร็ดประวัติและปกิณกธรรมของท่าน จากหนังสือ[/FONT][FONT=&quot] "รำลึกวันวาน" ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ก็เห็นสมควรจะยุติลงเช่นเดียวกัน ในวันมงคลดิถีเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 7[/FONT]
    [FONT=&quot]หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่นำเสนอนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้เร่งปรารภความเพียร ดำเนินตามรอยที่ท่านพระอาจารย์มั่นเดินนำไปแล้วนั้น จนถึงฝั่งแห่งความพ้นทุกข์โดยทั่วกันทุกท่าน[/FONT]
    [FONT=&quot] ตมหํ สงฆํ อภิปูชยามิข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งซึ่งพระสงฆ์นั้น[/FONT]
    [FONT=&quot] ตมหํ สงฆํ สิรสา นมามิข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์นั้น[/FONT][FONT=&quot]…ด้วยเศียรเกล้า[/FONT]
    [FONT=&quot] ภิเนษกรมณ์[/FONT]
    [FONT=&quot] 12 มิ.ย. 49[/FONT]
    </td></tr></tbody></table>​
    [/FONT]
     
  11. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ๕. เรื่องฝ่าเท้าหลวงปู่มั่น

    หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต




    เรื่องฝ่าเท้าหลวงปู่มั่น
    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
    จากหนังสือ "ชีวประวัติ พระหล้า เขมปตฺโต"
    [​IMG]
    [​IMG]
    <table id="table1" border="1" width="75%"> <tbody><tr> <td width="100%"> เรื่องที่ลืมเขียนมานานคือ ....
    ( ฝ่าเท้าหลวงปู่มั่นทั้งสองข้าง เป็นตาหมากรุกหมดเต็มทั้งสองฝ่า )
    เวลาสรงน้ำท่านปรารภว่า (ฝ่าเท้าของเราไม่เหมือนหมู่เพียงเท่านี้)
    พูดค่อยๆ แบบเย็นๆ (ในยุคหนองผือ สี่ปีที่ข้าพเจ้าอยู่กับองค์ท่านนั้น)
    พระเณรผู้น้อยที่ถวายข้อวัตรสรงน้ำถวายองค์ท่านนั้น ผู้สงวนฟังจึง -
    จะได้ยิน (เพราะองค์ท่านก็ปรารภค่อยแบบประหยัดไม่แกมอวด)
    ส่วนข้าพเจ้าไม่ได้ ... อาจเอื้อมถูข้างบน (ระหว่างฝ่าเท้าเสมอๆ )
    จำพวกที่ถูหลัง ตัว แขน ขา ฝ่าเท้านั้น มักจะเป็นพระ ๔-๓-๒-
    พรรษาเท่านั้นได้ถู พระผู้ใหญ่เหนือ ๕-๖-๗-๘-๙- ไปแล้วไม่ค่อย
    จะได้ถู ตัว แขน ขา เพราะองค์หลวงปู่เทสน์ว่า สรงน้ำนี้เว้นให้ผู้น้อย
    </td> </tr> </tbody></table> ​

    [​IMG]

    <table id="table2" border="1" width="75%"> <tbody><tr> <td> เขาสรงเสีย ถ้าพระผู้ใหญ่มาทำขวางผู้น้อย ผู้น้อยเขาระอายเก้อเขิน
    เพราะเขาไม่มีทางเอื้อมมือเข้า และเขาก็กระดากระอายดังนี้
    ส่วนข้าพเจ้าพรรษาอ่อน แต่อายุสามสิบกว่าในสมัยนั้น
    และการที่องค์ท่านปรารภว่า ฝ่าเท้าของเราไม่เหมือนหมู่ นั้นองค์ท่าน
    (ปรากฏว่า ปรารภครั้งเดียวเบาๆ เท่านั้นไม่ได้ซ้ำๆ ซากๆ อีก) ส่วนข้าพเจ้า
    ผู้สงวนถูฝ่าเท้าก็เห็นเป็นตาหมากรุกเต็มฝ่าเท้าทั้งสองทางจริง ข้อนี้
    ในชีวะประวัติขององค์ท่านเล่มใดๆ ก็ไม่ปรากฏเห็น และยุคที่องค์ท่านทรงพระ
    ชีวาอยู่ ก็บรรดาลดลใจไม่มีใครสนใจปรารภ (น่าแปลกมาก) ข้าพเจ้าก็บรรดาล
    ลืมอีกด้วย เรียกได้ว่าข้าพเจ้าไม่มีพยานก็ว่าได้ (แต่เอาตาหูตนเองเป็นพยาน)
    ยุคก่อนๆ ก็ไม่มีท่านผู้ใดเล่าให้ฟัง (ชะรอยจะว่าดีชั่วไม่อยู่กับฝ่าเท้าอยู่กับใจกับธรรม)
    </td> </tr> </tbody></table> ​

    [​IMG]

    <table id="table3" border="1" width="75%"> <tbody><tr> <td> o เรื่องฝ่าเท้าขององค์หลวงปู่มั่นเป็นตาหมากรุกนี้ เป็นของ
    ทรงพระลักษณะสำคัญมาก แต่ก็น่าสนใจมากว่า ไฉน
    จึงบรรดาลไม่ให้พระจำพวกผู้ใหญ่สนใจเอาลงในชีวะ
    ประวัติ (กลายเป็นของไม่สำคัญไป) ชะรอยพระผู้น้อยที่
    เห็นในเวลาสรงน้ำถวายแล้ว ไม่เล่าถวายให้พระผู้ใหญ่
    ฟัง แต่ข้าพเจ้าเองก็บรรดาลลืม ไม่ค่อยสนใจเล่าเลย
    แต่พอมาถึงยุคภูจ้อก้อตอนแก่กว่าเจ็ดสิบปีกว่าๆ แล้ว
    จึงระลึกเห็น เป็นของน่าแปลกมากแท้ๆ ที่ลืมพากันลืม
    เขียนลง แต่คราวองค์ท่านทรงพระชีวาอยู่ก็ดี หรือ
    </td> </tr> </tbody></table> ​

    [​IMG]

    <table id="table4" border="1" width="75%"> <tbody><tr> <td> ทรงพระมรณะกาเลก็ดี ไม่มีท่านผู้ใดสงวนปรารภ ก็เป็น
    ของคล้ายกับว่าอุตตริขึ้นมาภายหลัง แต่ก็ต้องอาศรัย
    หลักของความจริง ไม่หนีจากความจริงเฉพาะตอนนี้
    เป็นพยาน จริงก็ต้องเอาจริงเป็นพยาน เท็จก็ตรงกันข้าม
    </td> </tr> </tbody></table> ​

    [​IMG]

    <table id="table5" border="1" width="75%"> <tbody><tr> <td> o ชีวะประวัติยุคภูจ้อก้อเป็นยุคสุดท้ายภายแก่ชะราพาธ ถ้าไม่มรณะกา
    เลไปเสียแล้ว ชีวะประวัติก็จะไม่จบได้ แต่จะอย่างไรก็ตามทีเถิด
    ต่างจะได้พิจารณาว่า เจตนาปฏิบัติพระพุทธศาสนาเพื่อประสงค์อะ
    ไรบ้าง และจิตใจจะอยู่ระดับใดบ้าง เหล่านี้เป็นต้น แต่บรรยาย
    พอสังเขปก็เอาละ จะบรรยายไปมากก็จะเป็นหลายวรรคหลายตอน
    และก็ความพอดีพองามในโลกนี้ไม่รู้ว่าจะอยู่ระดับใดแน่ ถ้ามาก
    เกินไปเล่มก็ใหญ่ลงทุนก็มาก ท่านผู้อ่านก็จะระอาอีก น่าพิจารณา
    และก็คล้ายๆ กับว่าตนเป็นผู้ประเสริฐเลิศล้ำ ระฆังไม่ดังก็ตีจนระฆัง
    แตก แต่จะอย่างไรก็อาศรัยเจตนาเป็นเกณฑ์ ก็แล้วกันกระมัง

    หล้า ​
    </td></tr></tbody></table>​
     
  12. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ๖. บันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่อยู่กับ

    พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

    บันทึกส่วนตัว หลวงปู่ อุ่น ชาคโร

    คัดลอกมาจากหนังสือ ชาคโรบูชา



    บันทึกส่วนตัวของ หลวงปู่ อุ่น ชาคโร
    เปิดเผยความลึกลับ ของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
    ข้าพเจ้าเกิดมาในชาตินี้ รู้สึกว่าเสียใจมากที่ได้ไปอยู่ร่วมจำพรรษากับท่านอาจารย์มั่นเพียงปีเดียว ท่านก็มานิพานจาก แต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ไปฟังเทศน์อยู่ร่วมอุปัฏฐากท่านผู้มีจิตบริสุทธิ์ นึกว่าไม่เสียทีประการหนึ่ง ครั้งสมัยนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ข้าพเจ้าอยู่วัดอรัญญวาสีท่าบ่อกับท่านอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ท่านได้พูดว่า
    พระเณรรูปใดจะไปฟังเทศน์อาจารย์มั่น ก็ไปเสียเดี๋ยวจะไม่เห็นท่านเพราะท่านได้ทำนายชีวิตท่านไว้แล้วว่า อายุผมจะถึงเพียง ๘๐ ปีเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้อายุท่านก็ ๗๙ จะเข้ามาแล้วพวกคุณจะเสียดายในภายหลังว่า ไม่ได้ฟังธรรมจากพระอรหันต์อย่างท่านอาจารย์
    ครั้งนั้นก็ได้นมัสการลาท่านอาจารย์เทสก์ ท่านก็อนุญาตและส่งทางด้วย เมื่อเดินทางไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ได้เข้าไปนมัสการท่าน ๆ ก็ยินยอมรับอยู่ในสำนักท่าน นึกว่าบุญเรามากเหนือหัว แต่นั้นก็ตั้งใจปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านเรื่อย ๆ มาตลอด ศึกษาเรื่องภายในจิตที่เป็นไปต่าง ๆ นานา
    ๑. ความลึกลับที่มีอยู่ภายในท่าน ก็ถูกเปิดเผยออกมา ที่จำได้คือ
    ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านอาจารย์มั่นว่า กระผมขอโอกาสกราบเรียน การนิมิตเห็นดวงหฤทัย (หัวใจ) ของคน ตั้งปลายขึ้นข้างบนนั้น เป็นอะไร
    ท่านเลยอธิบายไปว่า ที่จริงดวงหฤทัยของคนนั้น ก็ตั้งอยู่ธรรมดา ๆ นี้แหละ อันมันเป็นต่าง ๆ นานา ตามเรานิมิตเห็นนั้น มันเป็นนิมิตเทียบเคียงคือ ปฏิภาคนิมิตนั้นเอง ที่ท่านว่ามันตั้งชันขึ้นนั้น แสดงถึงจิตของคนนั้นมีกำลังทางสมาธิ ถ้าจิตนั้นตั้งขึ้นและปลายแหลม กกใหญ่คล้ายกับดอกบัวตูมกำลังจะเบ่งบานนั้น แสดงว่าจิตคนนั้นมีกำลังทางสมาธิและปัญญาแล้ว
    ถ้าน้ำเลี้ยงดวงหฤทัยมีสีต่าง ๆ กันนั้น หมายถึงจิตของคน เช่น โทสจริตนั้นดวงหฤทัยแดง ถ้าราคะจริตน้ำเลี้ยงหฤทัยแดงเข้ม ๆ ถ้าจิตของคนที่หลุดพ้นไปแล้วเป็น น้ำหฤทัยขาวสะอาดเลื่อมเป็นปภัสสรเหมือนทองหลอมแล้วอยู่ในเตา เลื่อมอย่างนั้นแหละ ถ้าดวงหฤทัยเหี่ยว ๆ แห้ง ๆ นั้นหมายถึง จิตของคนนั้นไม่มีกำลังทางจิตคือ ศรัทธาพลัง วิริยะพลัง สติพลัง สมาธิพลัง ปัญญาพลัง ถ้าธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ไม่มีในจิตแล้ว ท่านว่าอบรมไม่ขึ้น ไม่เป็นไป จะสั่งสอนทรมานสักปานใด ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าดวงหฤทัยคนนั้นมีกกเบ่งบานเหมือนดอกบัว อบรมสั่งสอนไป ได้ผลตามคาดหมายจริง ๆ
    ท่านว่า ผมเองเคยเพ่งดวงหฤทัยของผมเอง เห็นเลื่อมเป็นแสงเลยทีเดียว เพ่งไปเพ่งมาปรากฏแตกใส่ดวงตา นี้คำพูดของท่าน
    ท่านจึงอธิบายว่า คนในประเทศไทยนี้ ดวงหฤทัยต่างหมู่อยู่สามองค์คือ ดวงหฤทัยปรากฏว่ามีจานหรือแท่นรองสวยงามดี พระสามองค์นี้ องค์หนึ่งคือ ท่านสมเด็จพระมหาวีรวงค์ (ติสโส อ้วน) ท่านตายไปแล้ว ส่วนอีก ๒ องค์นั้นยังอยู่
    ท่านอาจารย์มั่นพูดว่า บุญวาสนาบารมีพระสามองค์นี้แปลกๆ หมู่เพื่อนมาก
    นี้นึกว่าท่านอาจารย์นี้ท่านดูคนไม่ใช่ดูแต่ หูชิ้นตาหนัง (หูเนื้อตาหนัง) เหมือนคนเรา ท่านสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาต้องดูด้วยตานอกตาในเสียก่อน ไม่เหมือนปุถุชนเรา อย่างพวกเรานี้มาเอาแต่กิเลสมาสั่งมาสอนบังคับ ไม่ว่าใครเป็นอย่างใด ฉะนั้นจึงเกิดสงครามกันบ่อย ๆ ระหว่าง อาจารย์กับลูกศิษย์ จึงวุ่นวายกันอยู่ทั่วโลก ส่วนอาจารย์มั่นนั้น ท่านสั่งสอนไปมันก็ได้ผลจริง ๆ อย่างว่า คนจริตไม่มีธรรม ๕ ข้อก็คือ คนอินทรีย์ไม่แก่กล้านั้นเอง อย่างนี้โดยมากท่านไม่รับเอาไว้ในสำนักของท่าน ท่านใช้อุบายว่า ควรไปอยู่แห่งนั้นแห่งนี้ หรือกับคนโน้นดีคนนี้ดี
    ๒. ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าตั้งใจปรึกษาท่านด้วยจิตคือ กุฏิของท่านอยู่ไม่ห่างไกลกับกุฏิของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้เข้าสมาธิทำจิตให้สงบดิ่งลงถึงจิตที่เคยเป็นมา แล้วนึกถามท่านว่า จิตของข้าน้อยตั้งอยู่อย่างนี้แหละ ข้าน้อยขอกราบเรียนว่า จิตของข้าน้อยตั้งอยู่อย่างไร และเรียกว่าจิตอะไร จึงขอนิมนต์ครูบาอาจารย์จงได้เมตตาบอกข้าน้อยด้วย
    นึกแล้วก็พยายามรักษาจิตอย่างนั้นไว้จนกว่าท่านอาจารย์มั่น เลิกเดินจงกรม เมื่อท่านเลิกเดินจงกรมแล้ว ท่านก็ขึ้นไปกุฏิ และลูกศิษย์ผู้เคยปฏิบัติอุปัฏฐากท่านคือ ท่านอาจารย์วัน ก็ขึ้นไปนั่งอยู่กับท่าน
    ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปนมัสการท่านแล้วนั่งอยู่ โดยไม่ได้พูดอะไร ๆ กับท่านเลย
    ท่านพูดเอ่ยมาว่า จิตของท่านอุ่นเป็นอย่างนั้น ๆ ตั้งอยู่อย่างนั้น ๆ เรียกว่าจิตอันนั้น ๆ ทีเดียว
    ข้าพเจ้านั่งตัวแข็งเลย พูดอะไร ๆ ไม่ออก ทั้งดีใจ ทั้งเสียใจและทั้งกลัวท่าน ละอายท่านถ้าจะกราบเรียนท่านอย่างอื่น ๆ ไปก็กลัวท่านจะเล่นงานเราอย่างหนัก แต่ทุกวันนี้คิดเสียดายเมื่อภายหลังว่า เรานี้มันโง่ถึงขนาดนี้จริง ๆ จะเรียนท่านว่า จิตเป็นอย่างนั้น แล้วข้าน้อยจะทำอย่างไรอีกจิตจึงเจริญหลุดพ้นไปได้ สมกับคำโบราณว่า อายครูบ่ฮู้ อายชู้บ่ดี คำนี้มันถูกเอาเสียจริง ๆ
    ๓. ครั้งสมัยท่านกำลังแสดงธรรมเรื่อง ความหลุดพ้นและอริยสัจธรรม ๔ ข้าพเจ้าได้นั่งอยู่ตรงหน้าตรงตาของท่าน ตั้งจิตสำรวม ส่งไปตามกระแสธรรมของท่านพร้อมทั้ง กำหนดพิจารณาไปด้วย จิตข้าพเจ้าเลยรวมลงพับเดียว ปรากฏว่า ดวงจิตของข้าพเจ้านี้คล้ายกับเครื่องนาฬิกา กำลังเดินหมุนเวียนอยู่ พอนิมิตแล้วจิตก็ถอนออกมาพอดี ถูกท่านเทศน์ใหญ่เลยว่า
    จิตพระอรหัตต์ทั้งหลายนั้น จิตท่านไม่หมุนเวียนอีก ไม่หันต่อไปอีก จึงได้นามว่า อะระหัน แปลว่า ไม่หัน ท่านเหล่านั้นจะเอา อะ ไปไส่แล้ว ไม่เหมือนเรา เรามีแต่หันอย่างเดียว ไม่หยุดไม่หย่อน พระอรหันต์นั้นท่านตัดกงหันได้แล้ว ท่านทำลายกงสังสารจักรขาดไปแล้วด้วย อรหัตตมรรค
    ข้าพเจ้านั่งฟังอยู่ครั้งนั้นจึงเกิดความมหัศจรรย์อย่างใหญ่หลวง ท่านอาจารย์มั่น นั้นไม่แสดงธรรมด้วยหูหนัง ตาหนัง เหมือนพวกเรา ท่านจก (ล้วง) เอาหัวใจผู้ฟังมาแสดงจริง ๆ ธรรมของท่านที่แสดงจึงถึงจิตถึงใจของผู้ฟัง อย่างพวกเราแสดงให้กันฟังอยู่ทุกวันนี้ มีแต่คนตาบอด ผู้แสดงบอกผู้ฟังก็บอด บอดต่อบอดจูงกันไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน จะไปโดนเอาหลักเอาตอ ตกเหว ตกขุม ที่ไหนไม่ทราบกันเลย ผู้เทศน์ก็มีกิเลส ผู้ฟังก็มีกิเลสกันทั้งนั้น ผู้เทศน์เล่าก็หวังเอาแต่กัณฑ์เทศน์ ไม่เทศน์เอาคน มันจึงไกลกันแสนไกล สมกับพระพุทธเจ้าว่า ธรรมของสัตตบุรุษกับธรรมของอสัตตบุรุษไกลกันเหมือนฟ้ากับแผ่นดิน คำหนึ่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าธรรมของเราตถาคตไปสิงในจิตของพระอรหันต์ผู้สิ้นจากกิเลสแล้ว ธรรมของเราก็เป็นธรรมแท้ไม่ปลอมแปลง ถ้าเมื่อใดธรรมของตถาคตนี้ไปสิงอยู่ในจิตปุถุชนผู้มีกิเลส ธรรมของเราก็กลายเป็นธรรมปฏิรูปคือ ธรรมปลอมแปลง
    ถ้าผู้เขียนนี้เขียนไปมาก ๆ ก็เหมือนดูว่าเทศน์ไปอีกแหละ มันเป็นการเอามะพร้าวมาขายสวนไปจึงขอเขียนเรื่องท่านอาจารย์มั่นต่อไป
    ๔. วันหนึ่งตอนเช้ากำลังฉันจังหัน พระเณรกำลังแจกอาหารลงใส่ในบาตร และพระผู้อุปัฏฐากท่านก็กำลังจัดอาหารหวานคาวลงใส่ในบาตรท่านอาจารย์มั่น ถ้าเป็นอาหารของแข็งหรือใหญ่ ต่างองค์ก็ต่างเอามีดหั่น หรือโขลกด้วยครก ต่างคนต่างกระทำด้วยความเคารพจริง
    วันนั้นข้าพเจ้าได้มองไปเห็นพระท่านทำ ก็นึกเกิดปิติขึ้นมาด้วยความเลื่อมใสปล่อยใจเลื่อนลอยไปว่า
    แหม…พระลูกศิษย์ลูกหาของครูบาอาจารย์นี้ตั้งใจปฏิบัติอุปัฏฐากด้วยความเคารพเลื่อมใสจริง เอ๊ะ…ครั้งพุทธกาล โน้นบรรดาพระสาวกทั้งหลายนั้น จะมีสานุศิษย์ปฏิบัติอุปัฏฐากดี ๆ อย่างนี้ไหมหนอ
    คิดแล้วก็ไม่นึกไม่ฝันเลยว่า เราเป็นบ้า คิดเรื่องราวให้ไปกระทบกระทั่งจิตใจของท่าน
    ครั้นต่อมาในวันหลัง บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายที่เคยปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน ก็เข้าไปจะปฏิบัติ ถูกท่านห้ามอย่างใหญ่ว่า หยุดอย่ามาทำนะ วันนั้น ท่านดุเอาจริง ๆ
    ครั้นต่อมาวันหลังอีก จะเข้าไปปฏิบัติ ท่านเล่นงานอย่างใหญ่อีกว่า ทำไมห้ามไม่ฟัง เดี๋ยวถูกค้อนตีเอาแหละ แล้วท่านก็บ่นว่า มันมาดูถูกกัน การปฏิบัติอุปัฏฐากอย่างนี้ ในครั้งพุทธกาลโน้นพระสาวกไม่มีดอก วันนั้นไม่มีใครเข้าไปใกล้ท่านได้เลย การจัดสิ่งของลงในบาตร ท่านจัดเอง การอุปัฏฐากท่านนั้นจำเป็นต้องงดไปหลายวัน
    ต่อมาท่านอาจารย์มหาบัว ท่านเป็นลูกศิษย์อาวุโสกว่าหมู่ พรรษาท่านขณะนั้นคงได้ในราว ๑๖ พรรษา จึงได้เรียกบรรดาสานุศิษย์รุ่นน้อย มีท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์เนตร อาจารย์คำพอง อาจารย์สุวัจน์ อาจารย์จันโสม บ้านนาสีดา และข้าพเจ้า พร้อมอีกหลาย ๆ รูป ไปประชุมกันที่กุฏิท่านอาจารย์มหาบัว ว่า
    เรื่องนี้เป็นใครหนอ ได้นึกได้คิดอย่างว่านี้ เป็นเหตุให้ครูบาอาจารย์เดือดร้อน ผมเองว่าพิจารณาเห็นว่าคงไม่มีไครดอก เพราะว่าใคร ๆ ที่ได้มาอยู่ก็ได้มอบกายถวายชีวิตกับท่าน แล้ว ต่างคนก็ต่างเคารพนับถือท่าน ผมว่าจะเป็นอุบายท่านอาจารย์ทรมานพวกเราเฉย ๆ ดอก ตามที่ผมได้อยู่กับท่านมาหลายปี ผมเองเคยถูกท่านทรมาน ดูว่าเรานี้จะปฏิบัติอุปัฏฐากท่านเอาจริง เอาจังไหม หรือสักแต่ว่าทำเพื่อแก้เก้อเฉย แต่นี้ไปพวกเราต้องเข้าไปทำปฏิบัติท่านเลย ท่านจะฆ่าจะแกงจะต้มอย่างไรเราก็ยอมเสียสละ
    นี้ท่านอาจารย์มหาบัวแนะนำสานุศิษย์รุ่นเล็ก ๆ ต่อมาก็เลยเข้าไปอุปัฏฐากท่าน ครั้งนี้ท่านไม่ว่าอะไร เพราะจะห้ามไว้ก็ไม่ฟัง เป็นหน้าที่ข้อวัตรของสานุศิษย์ผู้หวังดีจะทำกัน แต่นั้นมาก็ไม่มีใครปรารภเรื่องนี้อีก แม้แต่ท่านอาจารย์มั่น ก็ไม่ว่าอะไรตลอดถึงวันท่านนิพานของท่าน ยังปิดบังไว้
    ครั้นต่อมาประมาณ ๒๐ กว่าปี ข้าพเจ้าจึงมารำลึกถึงบุญคุณ ของท่านอาจารย์มั่นดู จึงนึกขึ้นมาได้ว่า เมื่ออยู่กับท่านอาจารย์มั่น ถูกท่านเทศน์กัณฑ์ใหญ่ สมัยนั้นเราผู้ที่ไม่มีสตินี้แหละ เป็นเหตุ ทำให้หมู่เพื่อนครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ เดือดร้อนไปตามกัน เมื่อมานึกทวนจิตรู้มันก็สายเสียแล้ว จำทำอย่างไรดี จะไปขอขมาโทษคารวะท่าน ท่านก็ไม่อยู่ในโลกไหนภพไหน จึงนึกคิดขึ้นมาได้ว่าเหลืออยู่แต่โอวาทคำสอนของท่านนี้แหละให้เรา เราต้องขอขมาโทษเคารพนับถือธรรมของท่านที่ให้ไว้นี้แหละ นึกขึ้นได้แล้วก็เบาใจต่อมานี้แหละ
    ท่านผู้อ่านทั้งหลาย คนเรานี้แม้แต่จิตของตัวเราเองนี้ นึกคิดไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าขณะนี้เราคิดเรื่องอะไร มันจะไปรู้จิตนึกคิดคนอื่นได้อย่างไร ทั้งวัน ทั้งคืน ทั้งปี ทั้งเดือน ผ่านไป ผ่านไป หมดไปเฉย ๆ ไม่ได้ทบทวนตรวจดูการดูจิตของตนเลย อย่างท่านอาจารย์มั่นนั้นท่านเคยพูดให้ได้ยินบ่อยว่า
    ผมเองพิจารณาเห็นจิตห็นกายอยู่ทุก ๆ เวลาเช่น เห็นกายเป็นร่างกระดูกอย่างนั้นแหละ เอาผ้ามาห่มมาคลุม ก็เห็นเอาผ้ามาคลุมร่างกระดูกอยู่อย่างนั้น
    ท่านอ่านเรื่องนี้แล้วจงระวัง อย่าให้เป็นดังจิตของข้าพเจ้าผู้เขียนนี้เลย เรื่องนี้ข้าพเจ้าผู้ถูกมาเองจึงอดปิดบังไว้ไม่ได้ เป็นของอัศจรรย์ ข้อหนึ่งที่เคยประสบเหตุการณ์มากับท่านอาจารย์มั่น จริง ๆ
    ๕. วันหนึ่งตอนบ่ายท่านอาจารย์มั่นจะสรงน้ำ ตามธรรมดาเวลาสรงน้ำมีพระปฏิบัติท่านอาจารย์ในราวสัก ๓ รูปไม่ขาด ครั้งนั้น มีพระรูปหนึ่งท่านองค์ชอบหัวดื้อหน่อย และชอบทดลองสิ่งต่าง ๆ ด้วย พระองค์นั้นจึงคิดทดลองดูว่าท่านอาจารย์มั่นนี้จะรู้ไหม จึงคิดในขณะไปสีขาให้ท่านว่า กกขา (ต้นขา) นี้ขาวเหมือนขาผู้หญิงเลย พอนึกเท่านั้น ท่านอาจารย์มั่นจึงพูดขึ้นว่า เอ๊ะ ท่านนี้เป็นบ้าจริง ๆ เว้ย แล้วพระองค์นั้นก็ถอยออก จึงมานึกว่าเอ๊ะ….ท่านอาจารย์จะรู้จริง ๆ หรืออย่างไรหนอ แกยังสงสัยอยู่ พอวันหลังก็มาปฏิบัติเวลาท่านอาบน้ำอีก พอสีเหงื่อไคลขาท่านก็ลองนึกดูอีก ครั้งนี้ท่านดุเอาอย่างใหญ่เลยว่า ท่านนี้ออกหนี อย่ามาทำเลย ไปหนี ๆ ไล่ใหญ่
    อันนี้ข้าพเจ้าผู้เขียนก็ได้ไปปฏิบัติท่านอาจารย์ในเวลานั้นเหมือนกัน อันนี้นึกว่าท่านอาจารย์มั่นนั้นท่านชำนาญทางปรจิตวิชาจริง ๆ จึงหาได้ยากอีกในโลกอันนี้
    ๖. สมัยหนึ่งเป็นเวลาออกพรรษาแล้วนายวัน และนางทองสุข ร้านศิริผล นครราชสีมา ได้มาถวายกฐิน ครั้งนั้นมีครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ นายวันนิมนต์มาด้วยมากองค์ เช่น ท่านอาจารย์สิงห์ใหญ่ อาจารย์ฝั้น อาจารย์สีโห วัดป่าสุมนามัย บ้านไผ่ ท่านอาจารย์องค์นี้ ไม่เคยมาและไม่เคยเห็นท่านอาจารย์มั่นเลย ได้ไปพักอยู่กุฏิเล็ก ๆ ห่างจากกุฏิท่านอาจารย์มั่น ประมาณ ๔ เส้น ขณะนั้นท่านอาจารย์สีโหอาบน้ำ ข้าพเจ้าและพระอื่น ๆ มาปฏิบัติท่านขณะนั้น
    ท่านอาจารย์สีโห จึงพูดกับข้าพเจ้าขึ้นเบา ๆ ว่า เอ๊ะ! ท่านอาจารย์มั่นนี้ รูปร่างหน้าตาเหมือนผมนิมิตเห็นท่านไม่ผิดเลย ว่าลักษณะท่านคน น้อย ๆ คางแบน ๆ บัดนี้เราจะได้ฟังเทศน์ท่าน เรานี้อยากให้เทศน์จริง ๆ ว่า เรานี้มันคาอยู่อะไร ทำไมจึงไม่เห็นตนคา ว่าแล้วก็ผลัดเปลี่ยนผ้า ข้าพเจ้าก็เลยไปกุฏิ
    พอตอนค่ำครูบาอาจารย์ต่างก็ไปชุมนุมที่กุฏิท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์สีโหก็อยู่นั่นแหละ ท่านอาจารย์มั่นก็ทักทายปราศรัยกับท่านอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ไป พอท่านมองไปเห็นท่านอาจารย์สีโห นั่งอยู่ ท่านเลยพูดขึ้นว่า ท่านสีโหนี้ ก็มีแต่ไปหากินข้าวต้มขนมเขาอยู่แต่ในเมืองนี่นา ทำไมไม่เห็นเข้าป่าไปภาวนาเล่า ว่าแล้วท่านหัวเราะ ใครก็หัวเราะกัน เพราะเป็นเรื่องขบขัน ผู้ฟังเพลินดูคล้ายกับว่าท่านพูดเล่น แต่ที่จริงท่านพูดตามเหตุที่ท่านรู้ทางจิต
    ๗. ครั้นต่อมาอีกเช้า เวลาฉันจังหัน ครั้งนั้นครูบาอาจารย์ที่เป็นพระแขกติดตามมากับองค์กฐินนายวัน แม่ทองสุขเช่น อาจารย์สิงห์ อาจารย์สีโห อาจารย์อ่อน อาจารย์ฝั้น และพระอื่น ๆ อีกมาก ได้ไปรวมกันฉันที่ศาลาหลังใหญ่เพราะที่หอฉันที่ไม่เพียงพอ จึงฉันอยู่ที่หอฉันก็มีแต่พระเณรเจ้าถิ่นเท่านั้น
    ครั้งนั้นบันดาอาหารหวานคาว พวกโยมทั้งหลายเลยเอาขึ้นไปแต่หอฉันที่อาจารย์มั่นอยู่ ไม่มีใครแบ่งไปศาลาใหญ่เลย พระผู้แจกอาหารเช่นอาจารย์วัน อาจารย์ทองคำ และข้าพเจ้าผู้เขียนนี้ด้วย ก็บังเอิญลืมแบ่งไปจริง ๆ พอฉันเสร็จแล้ว ไม่มีใครว่าอะไรอีก ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ฉันอยู่ศาลาหลังใหญ่ก็ฉันแต่อาหารที่ได้มาในบาตร ไม่มีใครพูดอะไร เพราะกลัวความกระทบกระเทือนจะไปถึงท่านอาจารย์ใหญ่
    พอตื่นเช้าวันหลังเท่านั้นแหละ ท่านอาจารย์มั่นเลยว่าโยมชาวบ้านหนองผือเลยว่า พวกโยมทำอาหารมาให้พระฉันกันอย่างไร อาตมาได้ยินว่า ท่านอาจารย์สิงห์ บ่นว่าอาหารจาง อาหารจางอยู่ พระพวกภัตตุเทศที่แจกอาหารเลยสืบถามดูความจริงแล้ว ลืมแบ่งอาหารไปศาลาหลังใหญ่ ปล่อยให้ครูบาอาจารย์ฉันแต่ข้าวที่ไม่มีอะไร ๆ กันทั้งนั้น จึงเป็นเหตุให้ท่านอาจารย์มั่นรู้เรื่องราวโดยไม่มีไครบอก
    อันนี้เป็นของอัศจรรย์ข้อหนึ่งตามข้าพเจ้าเคยผ่านเหตุการณ์มาในเรื่องท่านอาจารย์มั่น
    ๘. เรื่องอดีตชาติก่อน
    ท่านอาจารย์มั่นพูดว่า สมัยพระโสณะกับพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นสุวรรณภูมิ คือ นครปฐมเดี๋ยวนี้ ท่านอาจารย์มั่นนี้ได้เป็นสามเณรน้อยมาด้วย ท่านว่า สมัยนั้นท่าน ข้องคาอยู่ในการปรารถนาพุทธภูมิ ท่านจึงไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไร
    ท่านกล่าวว่า สมัยนั้นน้ำทะเลขึ้นไปจรดกับจังหวัดสระบุรี หรือเขาวงพระจันทร์ ส่วนพระโสณะและพระอุตตระนั้นชอบใช้ไม้เท้าทางกก (ทางต้น) เป็น ๘ เหลื่อม ทางปลายนั้นเป็น ๑๖ เหลื่อม
    ท่านว่า เมืองไทยเรานี้มีคนมีบุญวาสนามากมาเกิดบ่อย ๆ และเป็นที่ชุมนุมของเทวดามเหศักดิ์ผู้มีฤทธิ์มาก ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่น พระบรมสารีริกธาตุก็เสด็จมาอยู่ในเมืองไทย ประเทศอินเดียไม่ค่อยมี เพราะเมืองไทยเรามีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศอื่น ฉะนั้นเมืองไทยเรา จึงเป็นเมืองแสนสงบสุข อุดมสมบูรณ์เป็นเอกราชมานาน เพราะเป็นดินแดนที่เกิดของนักปราชญ์ทั้งหลาย
    พูดถึงตอนนี้เป็นเหตุให้เราคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศภาคภูมิใจมาก และ ภาคภูมิใจที่ได้มาเกิดในเมืองไทย
    ที่มีครูบาอาจารย์ผู้วิเศษมาโปรดนี้ได้ยินจาก ท่านพระครูสีลขันธ์สังวร (อาจารย์อ่อนสี) วัดพระงาม ท่าบ่อ พูดให้ฟัง เพราะอาจารย์องค์นี้ท่านได้อยู่กับท่านอาจารย์มั่นตั้ง ๖ ปี ท่านรู้ดีเรื่องอาจารย์มั่น ใครสนใจไปเรียนถามท่านก็ได้
    ๙. เรื่องเข้าสมาธิเวทยิตนิโรธสมาบัติ
    ท่านอาจารย์อ่อนสี วัดพระงาม เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เรื่องเข้าเวยิตนิโรธนี้ เคยมีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่กราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ท่านตอบว่า พระอรหันต์จำพวกได้อภิญญา ๖ และ ปฏิสัมภิทา ๔ จิตถึงจตุตถญาณแล้วจึงเข้าได้ อย่างพระมหาสารีบุตร พระมหากัสสป ท่านเข้าได้ถึง ๗ - ๘ วันจำพวกพระอรหันต์สุกขวิปัสโก เตวิโช อันนี้เข้าไม่ได้
    ท่านอาจารย์มั่นพูดว่า เอาน่า เชื่ออ้ายเฒ่าเถอะน่า และท่านเคยตื่นลูกศิษย์ว่า อย่าไปคิดมันเลยเรื่องนี้ ว่าแต่สิ้นกิเลสตัณหาก็พอ พวกเรานี้มันหมดยุคผู้มีบุญวาสนามากแล้ว วาสนาของสัตว์โลกนักวันแต่จะด้อยลงไปทุกที ยิ่งเลย ๒๕๐๐ ปี ไปแล้ว คนที่จะสำเร็จมรรคผลเพียงแค่แต่พระโสดาบันนี้ก็ยาก ท่านว่าดังนั้น อย่าอยากดีอยากดังเกินไป มันจะไม่พ้นทุกข์ นี้ท่านเตือนสานุศิษย์
    อย่างท่านอาจารย์ลี วัดอโศการามก็เคยพูดบ่อย ๆ ว่า เลย ๒๕๐๐ ไปแล้วคนจะทำความดีได้ยาก มีแต่คนชั่วเอาความชั่วมาทับถมกัน จริงอยู่ คำนี้ สมัยทุกวันนี้พระท่านถือธุดงค์ไปเจริญสมณธรรมอยู่ป่าอยู่เขา ไกลแสนไกล สูงแสนสูงเท่าใด คนยังไปรบกวนถามบัตรถามเบอร์ท่าน ไม่ถามเรื่องบุญเหมือนสมัยที่ท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ ถามกันแต่เรื่องเบอร์ทั้งนั้น พระสมัยนี้ก็แสวงหาแต่อย่างนั้นเหมือนกัน แล้วมันจะดีขึ้นได้อย่างไร ใครก็หาแค่มนุษย์สมบัติไม่หานิพพานสมบัติ พระท่านผู้หวังจะข้ามจากโลกก็พลอยลำบากไปด้วย เพราะโลกเขาไม่อยากให้ข้ามไปเลย
    ข้าพเจ้าได้ค้นดูหนังสือโบราณคือ หนังสืออุรังคธาตุ ตอนหนึ่งว่าพระมหากัสสปเถระเจ้าได้สร้างพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทางฝ่ายฆราวาสมี พระยาคำแดง พระยาเมืองอินทปัตถานคร พระยานันทเสน พระยาปิงคราช พระยาสุมิตถานคร โปรดให้เขียนรูปม้าอัสดรใส่พระธาตุ โดยผินหน้าไปทางทิศเหนือแม่น้ำโขง ผินหางไปทางทิศใต้แม่น้ำโขง แล้วพระมหากัสสปเถระเจ้าจึงทำนายพยากรณ์ไว้ว่า ต่อไปครั้งหน้าศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อถวายสร้อย ศาสนาแถบแม่น้ำโขงนี้จะเจริญรุ่งเรือง จะมีพระอรหันต์เกิดขึ้นแถบสายแม่น้ำโขง
    อันนี้ข้าพเจ้าบอกตรง ๆ เลยว่ามันต้องเป็นสมัยอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เสาร์นี้ไม่มีผิดจริง ๆ เพราะพระทั้งสององค์ท่านนี้ก็เป็นคนชาวอุบลซึ่งมีเขตต์จรดกับแม่น้ำโขง และเวลาท่านสององค์นี้เที่ยวเทศนาโปรดประชาชนก็เทียวโปรดตามสายแม่น้ำโขง นี้เป็นคำสันนิษฐานของข้าพเจ้า จะผิดหรือถูกประการใด ขอพิจารณาดูเถิดและให้อภัยแก่ข้าพเจ้าผู้เขียนด้วย
    อีกตอนหนึ่งในหนังสือพุทธทำนายว่า ใกล้ศาสนา ๒๕๐๐ จะมีผู้มีบุญวาสนามาเกิด มี พระยาธรรมมิกราชมาปกครองบ้านเมือง ฝ่ายพระศาสนาจะมีพระอรหันต์มาเทศน์โปรด บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวร พระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเจริญเรื่องทางด้านปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม
    เรื่องนี้ได้มีครูบาอาจารย์บางรูปได้ยินท่านอาจารย์มั่น เคยพูดว่า มันเจริญมาแล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินรัชการที่ ๔ ท่านก็เป็นจอมปราชญ์ ปกครองบ้านเมือง ได้ปรับปรุงทางคณะสงฆ์ และได้ปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญ จนมาถึงรัชการที่ ๕ บ้านเมืองได้เจริญถึงขีด ท่านว่าดังนั้น
    ส่วนฝ่ายพระศาสนาก็มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์ท่านก็ได้ปรับปรุงด้านการศึกษาปริยัติธรรมนี้ขึ้นมาจนถึงสมัยทุกวันนี้ ด้านปฏิบัติปฏิเวธธรรมอันนี้มันเจริญอยู่กับผู้ปฏิบัติ ผู้ไม่ปฏิบัติก็ไม่เห็นความเจริญ มันไม่ใช่ทั่วไป ผู้ใดปฏิบัติเห็นมรรคผลนิพพาน ก็ว่ามรรคผลนิพพานยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ไปไหน พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ท่านไม่ได้เอามรรคผลนิพพานไปด้วยคงอยู่ตามเดิม ( เอสะ ธัมโม สะนันตะโน ) พระธรรมเป็นของมีมาแต่ดั้งเดิม ไม่ไปไหน
    พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่าดูกรอานนท์ เมื่อใดภิกษุในพระศาสนานี้ยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ พระอรหันต์จะไม่ว่างจากโลก
    อันนี้คำพูดของท่านผู้เห็นธรรมแล้ว หลุดพ้นแล้ว พูด
    ทีนี้เราผู้มืดมนและข้องคาอยู่ มาพูดกัน
    ตามความเห็นแล้วว่า พระผู้วิเศษคือ พระอรหันต์ จะมาเที่ยวเทศนาโปรดประชาชนนั้น ข้าพเจ้าว่าไม่ใช่อื่นไกลคือ ท่านเจ้าคุณอุบาลี ซึ่งเป็นนักเทศน์เอกในประเทศไทย และ ท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น นี้แหละ ไม่ใช่ท่านเหาะมาทางอากาศมาประกาศว่า ข้าพเจ้านี้คือพระอรหันต์จะมาโปรดท่านเน้อ อย่างพวกเรานึกคิดกัน ท่านได้สำเร็จแล้วก็แล้วกันไป หลุดพ้นแล้ว ก็แล้วกันไป ไม่ใช่ว่าจะหามแข่งหามเสงเหมือนกลองยาว
    เคยมีพระบางพวกหามไปเข้าสมาธิให้คนดู อันอย่างนั้นมันไม่มีในพระสาวกเสียแล้ว และ พระพุทธเจ้าก็ไม่ปรากฏว่า พระองค์เข้านิโรธสมาบัติแล้วให้สาวกหามไปให้คนดูว่า มาเน้อ มาดูเราเข้านิโรธ อย่างนี้ไม่มี พระวินัยก็ปรับอาบัติไว้แล้วว่า ภิกษุใด บอกอุตตริมนุสสธรรมแก่ชาวโลก เขาปรับอาบัติปาจิตตีย์ ดังนี้
    ท่านผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ท่านไม่โอ้อวด ไม่อยากดัง เหมือนพวกเราที่มีกิเลสอยู่ดอก ถึงบอกไปคนอื่นเขาจะเชื่ออย่างไร เขาไม่เห็นด้วย มีแต่เขาจะว่าท่านนี้บ้าแล้วกระมัง ฉะนั้นการบอกเปิดเผยธรรมวิเศษที่มีในตนนี้ นอกจากอาบัติแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ ผลได้น้อยกว่าผลเสีย จะประสาอะไรแต่สาวกของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระองค์เองได้ประกาศว่า เราเป็นสยุมภู ผู้ตรัสรู้เอง คนอื่นก็ยังเชื่อยาก ทั้งตำราพวกพราหมณ์ก็ทำนายกันทั้งประเทศอินเดียว่าพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ในโลก เมื่อพระองค์เที่ยวประกาศพระศาสนา คนบางจำพวกก็ยังไม่เชื่อพระองค์ จนได้แข่งฤทธิ์แข่งเดชกับพระองค์จะเอาอย่างไรกับมนุษย์ผู้มืดหนา
    ฉะนั้นเรื่องอาจารย์มั่นนี้ก็เหมือนกัน ต้องถูกปิดบังไว้ตั้ง ๒๐ กว่าปีจึงมีวี่แววขึ้นเดียวนี้เอง……………………





     
  13. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ๗. ช่วง ๕ พรรษาสุดท้าย ณ วัดป่าบ้านหนองผือ

    โดยพระครูสุทธิธรรมาภรณ์

    (พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ)



    เมตตาธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
    ช่วง ๕ พรรษาสุดท้าย ณ วัดป่าบ้านหนองผือ
    โดยพระครูสุทธิธรรมาภรณ์ (พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ)
    เจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ)
    อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
    [​IMG]
    ความเป็นมาของวัดป่าบ้านหนองผือ
    วัดป่าภูริทัตตถิราวาส หรือวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นวัดที่สำคัญมากวัดหนึ่งในสายวัดป่ากัมมัฏฐาน ซึ่งถ้าดูตามแผนที่ วัดนี้จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดสกลนครและทางทิศใต้ของอำเภอพรรณานิคม แต่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านหนองผือ เริ่มแรกสถานที่แห่งนี้เป็นป่าพงดงดิบอันเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์นานาชนิด เป็นต้นมีเสือ หมี อีเก้ง กวาง หมูป่า สัตว์เลื้อยคลานมีแผนและงูชนิดต่าง ๆ สัตว์ปีกมีนกเกือบทุกชนิด นอกจากนั้นยังชุกชุมไปด้วยเชื้อไข้ป่ามาลาเรียเป็นอันมาก
    ต่อมาสถานที่แห่งนี้มีผู้เข้าไปหักร้างถางพงทำเป็นไร่ ปลูกพริก ปลูกฝ้าย แล้วจับจองหมายเอาเป็นที่ของตนเอง บางคนจับจองแล้วทำไม่ไหวก็ปล่อยทิ้งให้รกร้างอยู่เป็นเวลานานหลาย ๆ ปีบ้าง จนป่าเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะที่ป่าสมัยนั้นมีเป็นจำนวนมาก จะเลือกจับจองหมายเอาที่ป่าตรงไหนที่ตนชอบใจก็ย่อมได้หากใครมีกำลังพอ มีมากจนทำเป็นไร่ปลูกพริกปลูกฝ้ายไม่หวาดไม่ไหว
    <table id="table2" align="left" border="0"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    ภายหลัง พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ท่านธุดงค์หาที่วิเวกอยู่แถวบริเวณนี้ ต้องการที่จะสร้างที่พักสงฆ์สักแห่งหนึ่งที่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากนัก เมื่อท่านหาที่พักสงฆ์ชั่วคราวได้แล้วก็มีพระภิกษุสามเณรเดินธุดงค์สัญจรผ่านไปมาเข้าพักพิงพึ่งพาอาศัยอยู่ไม่ขาดสาย มาภายหลังสถานที่แห่งนี้จึงได้กลายเป็นที่พักสงฆ์และสำนักสงฆ์ถาวรตามลำดับ จนกระทั่งได้พัฒนามาเป็นวัดโดยสมบูรณ์
    ตอนแรกให้ชื่อว่า “วัดสันติวนาราม” ต่อมาหลังจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร มรณภาพแล้ว (พ.ศ. ๒๔๙๒) พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฑลในเขตนี้และเป็นศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่นด้วย ได้เล็งเห็นความสำคัญในสถานที่แห่งนี้ อันเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยพำนักจำพรรษาอยู่เป็นเวลาถึง ๕ ปีติดต่อกันท่านจึงดำริให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เพื่อเชิดชูบูชาคุณให้สอดคล้องกับนามฉายาของท่านพระอาจารย์มั่น อันเป็นมงคลนาม ว่า “วัดภูริทัตตถิราวาส” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
    วัดนี้ได้ตั้งขึ้นเป็นวัดโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ได้รับอนุญาตเอกสารสิทธ์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๙๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ พร้อมกับได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีเดียวกัน มีเจ้าอาวาสปกครองมาแล้ว ๖ รูป มีรายนามดังต่อไปนี้
    ๑. พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๘๓
    ๒. พระใบ (ไม่ทราบฉายา) พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๗
    ๓. ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๙๒
    ๔. พระทองคำ ญาโณภาโส พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๐๗
    ๕. พระจันทา เขมาภิรโต พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๒๑
    ๖. พระสอน ญาณวีโร พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๓๓
    <table id="table4" align="right" border="0"> <tbody><tr> <td>
    [​IMG]
    </td> </tr> <tr> <td>
    พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    ๗. พระอธิการพยุง ชวนปญฺโญ พ.ศ. ๒๕๓๓ - ปัจจุบัน
    กิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่ปฏิบัติมาภายในวัด คือ ถือเอาวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันจัดงานน้อมบูชาแสดง
    กตัญญูกตเวทิตาคุณกับท่านพระอาจารย์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันมรณภาพของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ใหญ่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ผู้เป็นบูรพาจารย์หรือบิดาแห่งพระกัมมัฏฐานในยุคปัจจุบันของศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้น้อมรำลึกถึงปฏิปทา ข้อวัตร และจริยวัตร ที่ท่านได้ดำเนินมาเป็นแบบอย่างอันดีงามในการประพฤติปฏิบัติธรรม ตามแนวทางของท่าน เพื่อความสงบสุขร่มเย็นและเป็นการสร้างกุศลเพิ่มพูนบารมีธรรมของตนสืบไป
    ก่อนมาเป็นวัดป่าบ้านหนองผือ
    เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ท่านเป็นคนจังหวัดเลย ได้เดินธุดงค์หาความสงบวิเวกอยู่แถบบริเวณหุบเขาภูพานแห่งนี้ ต่อมาชาวบ้านได้ ทราบข่าวว่าท่านพำนักทำความเพียรปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำพระ บ้านหนองสะไน ซึ่งไกลจากบ้านหนองผือประมาณ ๑๕ กิโลเมตร
    ขณะที่ท่านพักอยู่ ณ ถ้ำแห่งนี้ท่านได้ ปรุงยาหม้อใหญ่ไว้สำหรับฉันแก้โรคเหน็บชาหมายความว่าท่านปรุงยาแก้โรคเหน็บชา ซึ่ง หาตัวยารากไม้หลายชนิดเอาลงไปหมักดองไว้ ในไหโดยเอานำเยี่ยววัวดำตัวผู้ที่ต้มสุกแล้วทำ เป็นน้ำกระสาย หมักดองไว้เป็นเวลาสักสองอาทิตย์ จึงตักน้ำดองนั้นมาฉันแก้โรคเหน็บชาได้ ตอนนั้นชาวบ้านหนองผือเป็นโรคเหน็บชากันหลายคน และได้ทราบข่าวมาว่ามีพระกัมมัฏฐานปรุงยาแก้โรคเหน็บชาแจกให้แก่ญาติโยมเอาไปกิน หายกันหลายคนแล้ว ดังนั้น ชาวบ้านหนองผือจึงพากันไปขอยาจากท่าน
    แต่ก่อนที่ท่านจะให้ยาไปกินนั้น ท่านจะให้ธรรมะและสอนธรรมะไปด้วย เป็นต้นว่า ให้ภาวนา “พุทโธ” เพื่อจะให้ละทิ้งจากแนวทางที่ผิด คือมิจฉาทิฏฐิ มีการถือผิด ถือผี เลี้ยงผี บวงสรวง อ้อนวอนผีฟ้า ผีภูตา ต่าง ๆ เหล่านี้ ให้กลับมาถือไตรสรณคมน์ มีพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์อย่างมั่นคง แล้วสมาทานรักษาศีลห้า ศีลอุโบสถ ในวันขึ้น-แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และตอนตื่นนอนหรือก่อนนอนทุกเช้าค่ำ ท่านให้ทำวัตรสวดมนต์ไหว้พระ กราบพระเสียก่อนจึงนอนหรือออกจากห้องนอน ตลอดจนท่านห้ามไม่ให้กินเนื้อดิบ ของที่จะกินที่เป็นเนื้อทุกชนิดต้องทำให้สุกเสียก่อนจึงจะกิน นอกจากนั้นก็ให้งดเว้นมังสะเนื้อสิบอย่าง<sup></sup> ตามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้นั้นด้วย เมื่อท่านสอนสิ่งเหล่านี้แล้วจึงให้ยาไปกิน
    เมื่อญาติโยมชาวบ้านหนองผือนำยานั้นไปกิน โรคเหน็บชาก็หายกันทุกคน จึงทำให้ญาติโยมชาวบ้านหนองผือเกิดความเชื่อถือ ความเลื่อมใสศรัทธาในท่านมาก บางคนก็กลับไปขอยาจากท่านอีกเมื่อยาหมดแล้ว พร้อมทั้งได้มีโอกาสฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านด้วย ไปมากันอยู่อย่างนี้หลายครั้งหลายหนและหลายคณะ จนทำให้ญาติโยมชาวบ้านหนองผือกับพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร มีความคุ้นเคยสนิทสนมกัน และได้ติดต่อกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
    <sup> </sup> พระพุทธเจ้าทรงห้ามบริโภคเนื้อ ๑๐ อย่าง คือ เนื้อมนุษย์ เสือโคร่ง เสือดาว เสือเหลือง ช้าง งู ราชสีห์ สุนัข ม้า หมี
    พ.ศ. ๒๔๗๘ หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ยังได้เดินธุดงค์แสวงหาความสงบวิเวกอยู่ในแถบบริเวณเชิงเขาภูพานแห่งนี้เป็นเวลานาน เมื่อท่านออกจากที่พักสงฆ์ถ้ำพระ บ้านหนองสะไน แล้ว ท่านก็เดินธุดงค์ต่อมายังบ้านหนองผือ พักอยู่ที่ป่าซึ่งเป็นที่ดอนใกล้เถียงนาของโยมคนหนึ่ง อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านหนองผือ ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก
    ญาติโยมเมื่อทราบว่าพระอาจารย์หลุยเดินทางมาพักปักกลดอยู่ที่นี่ ต่างก็มากราบนมัสการท่าน พร้อมถวายจังหันในตอนเช้าด้วยความเคารพศรัทธายิ่ง เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันมาก่อน ท่านจึงพูดคุยสนทนาสอบถามเรื่องสุขทุกข์ต่าง ๆ ด้วยความเมตตาและพูดเรื่องพอให้เป็นที่รื่นเริงใจแก่ญาติโยมที่มานมัสการท่านด้วยพอสมควร
    ท่านพักอยู่ที่แห่งนี้เป็นเวลานานหลายเดือน ในขณะที่ท่านพักอยู่ที่นี่ ท่านพยายามอบรมสั่งสอนญาติโยมให้ได้รับรู้เรื่องราวข้อวัตรปฏิบัติต่อพระกัมมัฏฐานหลายอย่างหลายประการ ท่านเริ่มสอนตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เผยก่อน เป็นต้นว่า การประเมินของพระให้ได้ระยะหัตถบาส<sup></sup> และด้วยความเคารพ การทำกัปปิยะ<sup></sup> ของฉันที่เป็นภูตคาม<sup></sup> พีชคาม<sup></sup> ต่าง ๆ ถวายพระ และสอนให้รู้จักประเพณีปฏิบัติอุปัฏฐากต่อพระกัมมัฏฐานที่สัญจรไปมา ตลอดทั้งการสอนให้ท่องคำไหว้พระสวดมนต์ทั้งเช้าและเย็น พร้อมทั้งให้ฝึกนั่งสมาธิภาวนาเดินจงกรมด้วย ทุกขั้นตอนของการสอน ท่านจะแนะนำให้ดูก่อนทุกครั้ง จนทำให้ญาติโยมมีความสนใจในการฝึกอบรมธรรมกับท่านมากที่สุด ญาติโยมมีความเข้าใจและทำได้คล่องแคล่วมากขึ้น
    แม้ในการสอนเรื่องอื่น ๆ เช่น การเย็บเสื้อขาวด้วยมือ อย่างนี้ท่านก็สอน อันนี้ท่านเย็บเป็นเสื้อสำเร็จรูป แล้วจึงให้นำเอาไปเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่จะฝึกเย็บตาม โดยมากท่านจะให้โยมผู้หญิงที่ชรานำไปเย็บ ผ้าที่ท่านได้มานั้น ได้มาจากผ้าบังสุกุลบ้าง ได้จากบ้านที่เขาทำบุญบ้าง สำหรับเสื้อที่ท่านเย็บเองเสร็จแล้ว ท่านจะบริจาคให้คนเฒ่าคนแก่ที่อัตคัดยากจนที่สุดในหมู่บ้านหนองผือ (ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในช่วงสงคราม เมืองไทยขาดแคลนเสื้อผ้ามาก)
    ท่านพักอยู่ที่นี่เป็นเวลานานพอสมควร จนมีความสนิทสนมกับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ต่อมาท่านใครอยากจะตั้งที่พักสงฆ์ขึ้นสักแห่งหนึ่ง จึงตกลงให้ญาติโยมพาตระเวนค้นหาสถานที่ที่จะตั้งที่พักสงฆ์ใหม่ ค้นหาดูทั่วทั้งทิศเหนือ ทิศใต้ และทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน แต่ยังไม่เป็นที่เหมาะสมและถูกใจของท่าน จึงให้ญาติโยมค้นหาดูอีกทีทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ในที่สุดก็ได้ที่ที่เหมาะสม ถูกลักษณะและถูกใจท่านด้วย โดยเฉพาะที่ดินตรงนี้ (ที่เป็นวัดป่าบ้านหนองผือในปัจจุบันนี้) เดิมเป็นที่ดินโยมชื่อ พ่อออกต้น โพธิ์ศรี และครอบครัว มีศรัทธามอบถวายที่ดินให้เป็นที่พักสงฆ์แด่ พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ท่านจึงพาคณะญาติโยมย้ายจากที่เดิม ไปที่จะตั้งสำนักใหม่ เมื่อย้ายไปถึงแล้วจึงพากันสร้างกระต๊อบพร้อมทั้งหอฉันชั่วคราวขึ้น ซึ่งหลังคามุงด้วยหญ้าคา ฝาแนบด้วยใบตอง พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ ทำเป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราวก่อน เสร็จแล้วท่านก็ได้อยู่พักทำความเพียรตามอัธยาศัยของท่าน และอบรมธรรมะสั่งสอนญาติโยมมาเรื่อย ๆ ดังที่ท่านเคยประพฤติปฏิบัติมาจนได้ระยะหนึ่งพรรษา
    <sup> </sup> บ่วงมือ คือที่ใกล้ตัว ประมาณศอกหนึ่งในระหว่าง หมายถึงที่สุดด้านหน้าของภิกษุกับสิ่งของ หรือของภิกษผู้รับกับบุคคลผู้ประเคน เป็นต้น
    <sup> </sup> กัปปิย : ทำให้สมควร ควรแก่สมณบริโภค หมายถึง การถวายอาหารที่เป็นพืช ผัก ผลไม้ ก่อนประเคนต้องทำให้ขาดจากกัน โดยผู้ถวายต้องเด็ดหรือใช้มีดกรีดสิ่งนั้นเพื่อไม่ให้งอกหรือนำไปปลูกได้
    <sup> </sup> ภูตคาม ของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเป็นอยู่กับที่
    <sup> </sup> พีชคาม ของเขียว หรือพืชพันธุ์อันถูกพรากจากที่แล้ว แต่ยังจะเป็นได้อีก
    <table id="table8" align="right" border="0" width="233"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ)
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็เดินธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ ออกไปจำพรรษาในที่แห่งอื่นบ้าง บางครั้งท่านก็เข้ามาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านหนองผืออีก ไป ๆ มา ๆ อยู่อย่างนี้ ส่วนมากจะอยู่หมู่บ้านแถบบริเวณใกล้ ๆ หมู่บ้านหนองผือ เช่น ที่พักสงฆ์ถ้ำพระนาใน ที่พักสงฆ์ถ้ำพระ บ้านหนองสะไน ที่ป่าช้าบ้านกลาง ที่ป่าบ้านกุดไห ที่ป่าดอนใกล้บ้านอูนดง ป่าใกล้บ้านห้วยบุ่น และย้อนกลับมาที่สำนักวัดป่าบ้านหนองผือ คราวนี้ท่านพักอยู่เป็นเวลานาน ณ สถานที่แห่งนี้นี่เอง ต่อมาจึงได้กลายเป็นวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดภูริทัตตถิราวาส ชื่อที่เรียกเป็นทางการในปัจจุบัน) ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์สามเณรเดินธุดงค์เข้าไปหาความสงบวิเวกไม่ขาดสาย
    เมื่อชาวบ้านญาติโยมสมัยนั้นเห็นว่า มีพระภิกษุสงฆ์สามเณรไปมาเข้าพักอาศัยไม่ขาดระยะและมากยิ่งขึ้น จึงเกิดมีศรัทธาแรงกล้าพร้อมใจพากันสร้างศาลาถาวรขึ้นหลังหนึ่ง ซึ่งทำด้วยไม้ทั้งหลัง ที่พวกเราท่านทั้งหลายเห็นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศาลาโรงธรรมหลังใหญ่ ณ วัดป่าบ้านหนองผือในขณะนี้
    พระ อาจารย์หลุย จนฺทสาโร เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกับชาวบ้านหนองผือเป็นอย่างมากจนถือได้ว่าท่านเป็น ทั้งพ่อแม่และครูบาอาจารย์องค์แรกที่ได้เข้าไปสั่งสอนชาวบ้านหนองผือให้ได้ รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ อันเกี่ยวกับหลักธรรมและข้อประพฤติปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวบ้านมาก แม้แต่เด็กสมัยนั้น พอรู้จักจำชื่อได้ก็รู้จักชื่อท่านทุกคน เพราะสมัยนั้นบ้านหนองผือยังเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญมาก มีเทือกเขาภูพานกั้นระหว่างหมู่บ้านกับตัวอำเภอ อาจกล่าวได้ว่าตัดขาดจากโลกภายนอกเลยทีเดียว และเป็นหมู่บ้านที่ไม่ใหญ่โตนัก มีประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน เมื่อมีพระภิกษุสามเณรหรือผู้คนต่างถิ่นผ่านเข้าไปพึ่งพาอาศัย ทำความคุ้นเคยใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวบ้านแล้ว พวกเขาจะให้เกียรติจำชื่อบุคคลนั้นได้ดี และนับถือบุคคลนั้นด้วย ดังนั้น พระอาจารย์หลุยจึงเป็นพ่อที่ชาวบ้านหนองผือให้ความเคารพบูชามากที่สุดรูป หนึ่ง
    ท่านพระอาจารย์มั่นมาบ้านหนองผือ พ.ศ. ๒๔๘๘
    ต่อมา ข่าวท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ซึ่งธุดงค์จำพรรษาอยู่ทางภาคเหนือเป็นเวลาหลายปี ท่านได้รับนิมนต์จากพระเถระทั้งหลายทางภาคอีสานซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ของท่านในขณะนั้น ให้มาโปรดชาวภาคอีสาน เมื่อท่านตกลงรับนิมนต์แล้ว ท่านก็ได้เดินทางกลับภาคอีสาน โดยแวะพักอยู่ที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชฉมา และวัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี จนกระทั่งถึงจังหวัดสกลนคร อันเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกับเทือกเขาภูพาน เหมาะสำหรับผู้ต้องการแสวงหาความสงบวิเวกเป็นอย่างมาก
    <table id="table5" align="left" border="0" width="233"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    บริเวณกุฏิหลังแรกที่ท่านพระอาจารย์มั่นมาพักเมื่อเข้ามาจำพรรษา ณ วัดป่าบ้านหนองผือ เป็นครั้งแรก อยู่ตรงบริเวณใกล้ ๆ ใต้ต้นพะยอม (ทางทิศเหนือ) ของศาลาหลังใหญ่
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    ส่วนพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่ง ขณะนั้นท่านยังพักทำความเพียรอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นมาถึงเขตวัดป่าบ้านม่วงไข่ผ้าขาว (ขณะนี้อยู่ในเขตอำเภอพังโคน) เมื่อท่านทราบแน่นอนแล้ว จึงได้ชักชวนพาญาติโยมทายกวัดป่าบ้านหนองผือ ๔-๕ คน ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นที่นั่น (เดินทางหนึ่งวันและพักค้างคืนกับท่านสามคืน) ถึงแล้วเข้าไปกราบนมัสการท่านเรียบร้อย จึงได้พูดคุยสนทนากันตามประสาลูกศิษย์กับอาจารย์ เสร็จแล้วกราบลาแยกย้ายกันไปหาที่พักตามอัธยาศัย
    เมื่อตอนขากลับ คณะของพระอาจารย์หลุยได้เข้าไปกราบลาท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งมีตอนหนึ่งที่ท่านได้กล่าวว่า
    “แถวอื่น ๆ เคยไปหมดแล้ว แต่ไม่รู้เป็นอย่างไร ตรงหุบเขาบริเวณบ้านหนองผือนั้นยังไม่เคยได้เข้าไป เอาล่ะ ถ้ามีโอกาสก็จะเข้าไป”
    ท่านพูดคุยสนทนากันพอสมควรแก่เวลา เสร็จแล้วคณะของพระอาจารย์หลุยจึงถือโอกาสกราบลาท่านกลับบ้านหนองผือ
    เมื่อคณะของพระอาจารย์หลุยกลับบ้านหนองผือแล้ว ภายหลังต่อมาไม่นานก็ได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นเดินธุดงค์มาพักวิเวก อยู่ที่พักสงฆ์บ้านห้วยแคนซึ่งอยู่ในเขตอำเภอโคกศรีสุพรรณจังหวัดสกลนคร ในปัจจุบันนี้
    พระอาจารย์หลุยเมื่อได้โอกาสเช่นนี้ จึงสั่งให้ โยมพ่อออกพุฒ ซึ่งเป็นทายกวัดมาที่วัดโดยเร็วไว เพื่อมอบหน้าที่ให้ไปกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นพักอยู่ที่บ้านห้วยแคน มาบ้านหนองผือโดยรีบด่วน ให้ทันก่อนที่จะเข้าพรรษา.
    โยมพ่อออกพุฒมาที่วัดป่าบ้านหนองผือรับคำสั่งจากพระอาจารย์หลุย เมื่อเข้าใจแล้วจึงกลับบ้านไปชวนนายดอนลูกชายไปเป็นเพื่อนเดินทาง
    เมื่อตระเตรียมสิ่งของที่จำเป็นในการเดินทางเสร็จแล้ว รุ่งเช้าวันใหม่ สองคนจึงออกเดินทางด้วยกำลังฝีเท้า เพราะสมัยนั้นยังไม่มีรถราใช้ในการเดินทาง ไปถึงบ้านห้วยแคนเป็นเวลาค่ำมืดพอดี จึงพักนอนค้างคืนที่บ้านห้วยแคนหนึ่งคืน ตอนเช้าจึงเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นในวัดที่ท่านพักอยู่ และเล่าเรื่องราวความเป็นมาต่าง ๆ ให้ท่าน ทราบ แล้วถือโอกาสกราบอาราธนานิมนต์ท่าน
    ท่านก็รับนิมนต์ว่าจะมา แต่วันนั้นยังมาไม่ได้ เพราะมีของสัมภาระหลายอย่าง แต่คนที่จะช่วยขนของมีน้อย
    โยมพ่อออกพุฒพร้อมลูกชายจึงกราบลาท่าน รีบกลับบ้านหนองผือมาก่อน เพื่อมาบอกชาวบ้านให้ไปช่วยขนของ และส่งคนไปรับท่านด้วย
    เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว จึงรีบไปรายงานให้พระอาจารย์หลุยทราบ พระอาจารย์หลุยท่านเป็น ผู้คอยแนะนำ วางแนวปฏิบัติให้กับญาติโยมชาวบ้านหนองผืออยู่เบื้องหลัง ท่านได้สั่งให้เกณฑ์โยมคนหนุ่ม ๆ แข็งแรง เพื่อไปขนของ เครื่องใช้ สัมภาระต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ตลอดทั้งของใช้อย่างอื่นๆ ด้วย
    ในที่สุดก็เกณฑ์บุคคลได้ ดังรายนามที่รวบรวมได้ดังต่อไปนี้
    โยมฝ่ายผู้เฒ่า ได้แก่
    ๑. พ่อออกทิศสร้าง พิมพ์บุตร
    ๒. พ่อออกพัน เทพิน
    ๓. พอออกสลา เทพิน
    ๔. พ่อออกเชียงแสน ซาตะรักษ์
    ๕. พ่อออกอุ่น จันทะวงษา <sup></sup>
    ฯลฯ
    <sup> </sup> ชาวบ้านหนองผือ ผู้ถ่ายทอดและเล่าเรื่องในเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ เป็นโยมอุปัฏฐากรับใช้สมัยท่านพระอาจารย์มั่น ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
    โยมฝ่ายคนหนุ่ม ได้แก่
    ๑. นายกอง เณธิชัย
    ๒. นายแก้ว เทพิน
    ๓. นายสงค์ สีเหลือง
    ๔. นายนอ เณธิชัย
    ๕. นายพรหมา โพธิ์ศรี
    ๖. นายบุญเลิง เทพิน<sup></sup>
    ๗. นายโส เทพิน
    <sup> </sup> ชาวบ้านหนองผือผู้ถ่ายทอดและเล่าเรื่องในเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษา ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๔) เป็นพระภิกษุอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ
    เมื่อทุกคนทราบแล้ว จึงจัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นในการเดินทางอย่างเรียบร้อย พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็พากันออกเดินทาง
    <table id="table6" align="right" border="0" width="233"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    ศาลาหลวงปู่มั่น (หลังเดิม) เป็นศาลาหลังแรกที่ท่านพระอาจารย์มั่นใช้สวดมนต์และเคยจำวัดที่ศาลาหลังนี้ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่กุฏิถาวรที่ชาวบ้านหนองผือสร้างถวาย
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    ฝ่ายพระอาจารย์หลุยท่านคงทราบอุปนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นเหมือนกัน คือปกติท่านพระอาจารย์มั่นท่านจะไม่พักสำนักวัดป่าที่มีพระสงฆ์กำลังพักอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น พระอาจารย์หลายจึงให้พระเณรที่พักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือทุกรูปออกไปอยู่ข้างนอกหมด หมายความว่าให้ไปอยู่วัดรอบนอก ซึ่งไม่ห่างจากวัดป่าบ้านหนองผือเท่าไรนัก ทำทีให้เป็นสำนักวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์อยู่เสียก่อน ภายหลังจึงค่อยทยอยกันเข้ามาใหม่
    สำหรับพวกโยมที่ส่งไปให้เดินทางไปรับท่านพระอาจารย์มั่น เดินทางด้วยฝีเท้าออกจากบ้านหนองผือไป ผ่านบ้านผักคำภูและบ้านลาดกะเฌอไปนอนพักค้างคืนที่บ้านนากับแก้ ออกจากบ้านนากับแก้ไปถึงบ้านห้วยแคนเป็นเวลาประมาณ ๔-๕ โมงเย็น คณะญาติโยมจึงพากันไปขอพักนอนที่โรงเรียนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสำนักที่พักของท่านพระอาจารย์มั่นมากนัก
    เมื่อได้ที่พักเรียบร้อยแล้ว คณะโยมผู้เฒ่า ๔-๕ คนจึงถือโอกาสไปที่วัดเพื่อกราบนมัสการและอาราธนาท่านด้วย เมื่อท่านรับนิมนต์แล้ว ได้พูดคุยสนทนาพอสมควรแก่เวลา คณะโยมผู้เฒ่าก็กราบลากลับที่พักของตน
    <table id="table12" align="left" border="0" width="233"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    บริเวณวัดป่าบ้านหนองผือ
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    พอรุ่งเช้าเมื่อพระออกบิณฑบาต คณะโยมบ้านหนองผือก็ออกจากที่พักของตนไปที่วัดเพื่อรอขนส่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ท่านจัดเตรียมไว้แล้วไปด้วย เสร็จแล้วจึงพากันออกเดินทางกลับบ้านหนองผือ โดยคณะพวกโยมคนหนุ่ม ๆ ได้ขนของที่หนักหน่อยเดินทางล่วงหน้ามาก่อน
    สำหรับคณะของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ค่อย ๆ เดินทางมาทีหลัง เพราะเป็นคณะของคนชรา มีพระอุปัฏฐากติดตามท่านอีก ๕ รูป คือ พระอาจารย์มนู พระอาจารย์สอ พระอาจารย์หนู พระอร่าม พระเดือน พร้อมกับโยมผู้เฒ่าที่ไปรับท่านอีก ๔-๕ คน เดินทางด้วยฝีเท้ามาเรื่อย ๆ มาพักนอนค้างคืนที่ป่าใกล้บ้านลาดกะเฌอและบ้านกุดน้ำใส
    ส่วนพระอาจารย์หลุยเมื่อได้ทราบข่าวว่าคณะของท่านพระอาจารย์มั่นมาถึงบ้านกุดน้ำใสแล้ว ได้พักนอนที่นั่นหนึ่งคืน และขณะนี้ท่านกำลังเดินทางมาที่วัดป่าบ้านหนองผือแล้วด้วยพระอาจารย์หลุยจึงชวนญาติโยมรีบเดินทางไปรับท่าน และได้พบคณะของท่านพระอาจารย์มั่นในระหว่างทาง จึงเข้าไปกราบนมัสการ และช่วยขนของบางสิ่งบางอย่างที่พอจะช่วยได้ แล้วเดินทางกลับมาพร้อมกับคณะของท่านพระอาจารย์มั่นจนถึงวัดป่าบ้านหนองผือ รวมเวลาในการเดินทางประมาณ ๔ คืน ๕ วัน
    เมื่อมาถึงวัดป่าบ้านหนองผือก็นิมนต์ให้ท่านขึ้นพักอยู่กุฏิหลังหนึ่งที่เห็นว่าถาวรที่สุดในสมัยนั้น อยู่ตรงบริเวณใกล้ ๆ ใต้ต้นไม้พะยอม ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของศาลาหลังใหญ่ในขณะนี้
    <table id="table9" align="right" border="0" width="233"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    บริเวณวัดป่าบ้านหนองผือ
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    หลังจากนั้นท่านก็ได้อยู่พักผ่อนทำความเพียรตามอัธยาศัย พร้อมทั้งได้อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรตลอดทั้งญาติโยมมาเรื่อยๆ พระภิกษุสามเณรก็เริ่มทยอยมากันมากขึ้น จนกระทั่งใกล้จะเข้าพรรษา ท่านจึงได้ย้ายจากกุฏิหลังที่อยู่เดิมขึ้นไปอยู่ที่ห้องบนศาลาสวดมนต์หลังเก่า ซึ่งมองเห็นอยู่ทางทิศตะวันตกของศาลาหลังใหญ่ในขณะนี้ เพื่อให้สะดวกในการต้อนรับพระภิกษุสามเณรตลอดทั้งญาติโยมที่มากราบนมัสการท่าน เพราะเป็นสถานที่กว้างขวางพอสมควร จนออกพรรษา
    เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็มีพระภิกษุสามเณรเข้าไปกราบฟังเทศน์กับท่านบ้าง เข้าไปพักฝึกฝนอบรมข้อวัตรปฏิบัติกับท่าน หรือเข้าไปปรึกษาหารือแก้ไขปัญหา ข้อสงสัยในธรรมะต่างๆ บ้าง ทั้งนี้ มีพระภิกษุระดับชั้นผู้ใหญ่เป็นท่านเจ้าคุณถึงมหาเถระ จนระดับเล็กถึงสามเณรน้อย ตลอดทั้งอุบาสกอุบาสิกา (แต่ยังมีไม่มาก) ทยอยกันเข้ามาทุกสารทิศ
    แม้สมัยนั้นบ้านหนองผือยังเป็นบ้านที่ทุรกันดารมาก ทางสัญจรไปมาก็ลำบากเพราะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่แอ่งเขา จะเข้าจะออกต้องเดินด้วยกำลังฝีเท้าข้ามภูเขา มิฉะนั้นก็ต้องนั่งเกวียนอ้อมเข้าไปออกทางบ้านห้วยบุ่น บ้านนาเลา ทะลุถึงบ้านนาเชือก... โคกกะโหล่ง แล้วโค้งอ้อมไปทางบ้านอุ่มไผ่... บ้านกุดก้อม หรือไปทางบ้านโคกเสาขวัญจนถึงเมืองพรรณานิคมไปโน้น ถึงอย่างนั้น ผู้คนก็ยังอุตส่าห์พยายามดั้นด้นเดินทางเข้าไปนมัสการท่านโดยไม่เกรงกลัวอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้นในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ร้าย พวกเสือ พวกหมี พวกงู และไข้มาลาเรียก็ตาม ไม่ได้คำนึงถึง เพราะอรรถธรรมกิตติศัพท์กิตติคุณของท่านพระอาจารย์มั่น
    <table id="table11" align="left" border="0" width="233"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    "ศาลาโรงฉันหลวงปู่มั่น" เป็นโรงฉันที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ฉันภัตตาหารรวมกับพระภิกษุสามเณรทุกองค์ เป็นระเบียบข้อหนึ่งที่ท่านได้ให้วัดต่าง ๆ ถือปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อจะได้แนะนำข้อธุดงค์ ท่านได้ใช้ศาลานี้ฉันภัตตาหารจนถึงวันสุดท้ายที่ท่านไม่สามารถจะเดินมาได้ตลอดเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๙๒
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    ผู้ที่เดินทางเข้าไปส่วนมากเป็นพระภิกษุสามเณร บางท่านก็ไปพัก ๓ วัน ๗ วัน ๑๕ วัน บางท่านก็อยู่จำพรรษา พอออกพรรษาแล้วก็เที่ยวเดินธุดงค์ต่อไป บางท่านก็อยู่จำพรรษาประจำกับองค์ท่านตลอดจนท่านนิพพานก็มี
    พ.ศ. ๒๔๘๙ ญาติโยมชาวบ้านหนองผือคิดอยากจะสร้างกุฏิถาวรถวายท่านพระอาจารย์มั่นสักหลังหนึ่ง จึงพากันไปขออนุญาตจากท่าน ตอนแรกท่านไม่อนุญาตให้สร้าง ท่านว่า “แค่นี้ก็พออยู่แล้ว” ต่อมาอีกไม่นานญาติโยมก็ไปขอท่านสร้างอีกเป็นครั้งที่สอง ท่านก็ไม่อนุญาต พอครั้งที่สามท่านจึงอนุญาตให้สร้าง
    เมื่อท่านอนุญาตแล้ว ชาวบ้านญาติโยมจึงพากันจัดเตรียมหาเครื่องสัมภาระที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ไม้เสาก็ได้จากชาวบ้านที่มีศรัทธาบริจาคให้บ้างจนครบ นอกจากนั้นก็จัดหาเครื่องประกอบและอุปกรณ์อย่างอื่น ๆ เช่น ไม้ทำขื่อ แป ตง กระดานฝาและกระดานพื้น ตลอดทั้งไม้กระดานมุงหลังคา จนครบทุกอย่างเช่นกัน
    ไม้ที่ได้มาเหล่านี้ บางส่วนได้มาจากการที่ญาติโยมพร้อมครูบาอาจารย์พระเณรในวัดช่วยกันจัดหามา ส่วนที่ยังไม่พอจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะต้องป่าวร้องให้ลูกบ้านช่วยกันจัดหามาจนเพียงพอ จึงลงมือปลูกสร้างได้ เพราะการทำงานทุกอย่างต่อหน้าท่านพระอาจารย์มันนั้น จะต้องระมัดระวังคิดให้รอบคอบ อย่าให้งานนั้นยืดเยื้อยาวนาน หรือสะดุดหยุดลงเสียกลางคัน ให้งานนั้นทำไปเป็นช่วง ๆ และเรียบร้อย จึงจะสมที่ตนเองมีศรัทธาอยากจะสร้างจริง ๆ
    เมื่อวันลงมือปลูกสร้างนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นยังได้ไปเดินดูงานเองด้วย บางครั้งท่านก็ตอกตะปูเอง บางครั้งท่านก็แนะให้โยมผู้เป็นช่างทำตามที่ท่านต้องการ เช่น ไม้กระดานมุงหลังคาท่านบอกว่า
    “อย่าทำเป็นรูปทรงปลายแหลมมันไม่งาม ให้ทำเป็นรูปทรงปลายครึ่งวงกลมมันจึงงาม”
    <table id="table10" align="right" border="0" width="233"> <tbody><tr> <td> [​IMG]</td> </tr> <tr> <td>
    "ศาลาหลวงปู่มั่น" (หลังปัจจุบันที่ซ่อมแซมแล้ว) เป็นศาลาที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ใช้เป็นที่แสดงธรรมแก่พุทธบริษัท ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี่เป็นเวลา ๕ ปี และประชุมสงฆ์เพื่อให้โอวาท พร้อมทั้งวางระเบียบกฎเกณฑ์ให้แก่คณะกัมมัฏฐาน เป็นศาลาอนุสรณ์ควรแก่การระลึกถึงเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๙๒
    </td> </tr> </tbody></table> ​
    (เดิมไม้กระดานมุงหลังคาจะเป็นแผ่นๆ ที่ผ่าจากท่อนซุง ซึ่งตัดเป็นท่อนยาวขนาดช่วงแขนหนึ่ง แต่ละแผ่นผ่ากว้างประมาณคืบกว่า ๆ ก่อนจะเอาขึ้นมุงหลังคา เขาจะต้องใช้มีดพร้าโต้ที่คมซ่อนปลายข้างหนึ่งเสียก่อน ทำเป็นรูปทรงปลายแหลมก็มี ทำเป็นรูปทรงปลายครึ่งวงกลมก็มี แล้วแต่จะชอบแบบไหน แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านชอบแบบทางปลายครึ่งวงกลม จึงสั่งให้โยมทำแบบทรงครึ่งวงกลม)
    วันหนึ่ง โยมคนงานที่มาทำงาน บางคนนั่งคุยกัน บางคนนอนคุยกันไปด้วย พอท่านพระอาจารย์มั่นเห็น ท่านก็เดินวิ่งเข้าไปที่โยมซึ่งกำลังนั่งนอนคุยกันอยู่นั้น พร้อมพูดขึ้นว่า
    “โยมเป็นอะไรหรือ? ป่วยไข้ไม่สบายหรือ? ถ้าป่วยก็ขึ้นไปนอนซะที่บ้าน ไม่ต้องมานอนที่นี่”
    พอโยมกลุ่มนั้นได้ฟังแล้วก็แตกตื่นออกจากกลุ่ม ไปจับงานนั้นบ้างงานนี้บ้างพอแก้เก้อ ต่อมาไม่มีใครกล้ามานั่งนอนคุยกันอู้งานอย่างนี้อีกเลย จนกระทั่งกุฏิเสร็จขึ้นเป็นหลังเรียบร้อย ดังที่พวกเราท่านทั้งหลายเห็นเป็นที่ระลึกอยู่จนทุกวันนี้
    กุฏิท่านพระอาจารย์มั่นหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหินลาด บ้านนาในและห้วยผึ้ง บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ต่อมากุฏิหลังนี้ได้จดทะเบียนขึ้นกับกรมศิลปากรเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒
     
  14. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ๘. ปกิณกธรรม

    โดยพระครูสุทธิธรรมาภรณ์

    (พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ)



    ปกิณกธรรม
    ของ
    ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
    โดย พระคูรสุทธิธรรมาภรณ์ (พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ)
    เจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ)
    อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
    [​IMG]
    นับแต่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร พำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือติดต่อกันมา ๕ พรรษานั้น (พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๒) ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกับชาวบ้านหนองผือหลายเหตุการณ์ด้วยเมตตาธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านได้อนุเคราะห์อบรมสั่งสอนและปลูกฝังในหลักปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาให้แก่ชาวบ้านหนองผือและศรัทธาญาติโยม รวมทั้งฆราวาสจากที่อื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นคติธรรมสอนใจแก่บุคคลที่เกิดภายหลัง เรื่องราวที่นำมาเล่านี้ ได้หยิบยกมาจากคนเฒ่าคนแก่ที่เคยใกล้ชิดปฏิบัติอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์มั่น และนำมาจากท่านที่เคยประสบเหตุการณ์และเล่าเรื่องสืบต่อกันมาบ้าง เหตุการณ์ที่นำมาเล่านั้นอาจไม่เรียงตามลำดับ แต่จะเล่าตามเรื่องที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องๆ ไป
    ๑. ต้อนรับเจ้าคุณพระราชาคณะ
    มีท่านเจ้าคุณพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งระดับรองเจ้าคณะมณฑล เคยเป็นลูกศิษย์ของท่าน พำนักอยู่วัดที่กรุงเทพมหานคร อยากจะเข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ ข่าวคราวนี้รู้สึกว่าเป็นงานที่ใหญ่โตมโหฬารยิ่ง ระดับคณะสงฆ์ของจังหวัดสกลนครเลยทีเดียว และเป็นงานที่มียศมีเกียรติมากของข้าราชการ ตลอดทั้งชาวบ้านหนองผือและหมู่บ้านใกล้เคียงในสมัยนั้น ต่างก็จะได้ต้อนรับพระราชาคณะระดับสูงสักครั้งหนึ่ง เพราะนาน ๆ ทีจึงจะได้มีงานต้อนรับพระราชาคณะชั้นสูงที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานครเข้ามาเยี่ยมเยียนชาวบ้านนอกคอกนาอย่างพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจึงมีความปลื้มปีติใจเป็นอย่างมาก
    ในที่สุด ข่าวทางอำเภอพรรณานิคมสั่งมา ให้คณะสงฆ์ในเขตตำบลนาใน พร้อมทั้งข้าราชการครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และลูกบ้าน ตระเตรียมจัดการต้อนรับท่านอย่างเป็นทางการ จากนั้นชาวบ้านหนองผือและหมู่บ้านใกล้เคียงจึงได้จัดเตรียมขบวนต้อนรับอย่างสมเกียรติ มีประชาชน คนเฒ่าคนแก่และหนุ่มสาว ตลอดทั้งพวกเด็ก ก็ไปด้วย โดยไปรอต้อนรับกันที่ทางเข้า ณ บ้านห้วยบุ่น เป็นระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร เพราะท่านเจ้าคุณพระราชาคณะนั้นจะนั่งเกวียนเทียมวัวจากตัวอำเภอพรรณานิคมมาตามทางเกวียน เลาะเลียบเขาและอ้อมเขามาลงที่บ้านห้วยบุ่นซึ่งเป็นจุดต้อนรับของประชากรชาวตำบลนาใน
    ไม่นาน คณะของท่านเจ้าคุณก็มาถึง และได้เปลี่ยนจากนั่งเกวียนมาขึ้นแคร่หามซึ่งชาวบ้านหนองผือจัดเตรียมตกแต่งไว้รอท่าเรียบร้อยแล้ว เมื่อท่านขึ้นแคร่หามเรียบร้อย ก็พากันหามออกหน้าขบวน โดยมีประชาชนที่ไปตอนรับแห่ขบวนตามหลัง มีฆ้องตีแห่ไปด้วย อันเป็นประเพณีสนุกสนานตามประสาชาวบ้าน มาเรื่อยๆ ตามทางเกวียนจนเข้ามาถึงหมู่บ้านหนองผือ ผ่านบ้านเลยลงทุ่งนามุ่งสู่วัดป่าบ้านหนองผืออันเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทาง
    สำหรับภายในวัดป่าบ้านหนองผือ พระภิกษุสามเณรทุกรูปได้ลงมาเตรียมรอต้อนรับท่านที่ศาลาทั้งหมด ท่านพระอาจารย์มั่นก็อยู่บนศาลาเช่นกัน ในขณะนั้นพวกขบวนแห่ก็เคลื่อนใกล้เข้ามาทุกที มาถึงประตูทางเข้าวัด เคลื่อนมาเรื่อยๆ ในที่สุดขบวนแห่ก็เคลื่อนมาถึงบริเวณศาลาที่เตรียมต้อนรับ และยังคิดที่จะหามแห่เวียนรอบศาลา ๓ รอบตามประเพณี ทันใดนั้น เสียงของท่านพระอาจารย์มั่นก็ดังขึ้น เล็ดลอดออกมาจากภายในศาลา เสียงของท่านดังมาก ชัดเจน เป็นสำเนียงภาษาท้องถิ่นอีสานขนานแท้ว่า
    "เอาบุญหยังฮึ..พ่อออก? พ่อออกเอาบุญหยัง.. ? บุญเดือนสามกะบ่แม่น เดือนหกกะบ่แม่น เอาบุญหยัง..ล่ะ...พ่อออก”
    (หมายความว่า ทำบุญอะไรหรือโยม โยมทำบุญอะไร? ทำบุญเดือนสามก็ไม่ใช่ บุญเดือนหกก็ไม่ใช่) ท่านพูดเน้นและย้ำอยู่อย่างนั้น จนทำให้พวกขบวนหามแห่ พวกตีฆ้องตีกลองแปลกใจและตกใจกลัวเสียงของท่านมาก และพากันหลบหน้าหลบตาหายลับไปกับฝูงชน ส่วนพวกที่กำลังหามพระราชาคณะรูปนั้นก็กลัวท่านเหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรได้ จึงต้องจำใจหามท่านเข้าไปจนถึงระเบียงศาลา โดยหามเอาขอบของแคร่เข้าไปชิดกับขอบระเบียงศาลา แล้วท่านเจ้าคุณฯ ก็ลุกขึ้นยืน ก้าวเท้าเหยียบขอบระเบียงศาลาเดินเข้าไปภายใน ยืนลดผ้าห่มจีวรเฉวียงบ่าให้เรียบร้อยสักครู่หนึ่ง จึงเดินเข้าไปยังอาสน์สงฆ์ แล้วกราบนมัสการพระประธาน เสร็จแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่จัดไว้
    ฝ่ายญาติโยมที่แห่หามท่านมาเห็นว่าหมดธุระแล้ว จึงเก็บสัมภาระแคร่หามและเครื่องของต่าง ๆ ไปไว้ที่เดิม ในขณะที่ผู้คนกำลังวุ่นวายกันอยู่นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็ยังพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คล้าย ๆ จะให้รู้ว่างานขบวนหามขบวนแห่พระในครั้งนี้มีความผิด ท่านจึงพูดเสียงดังผิดปกติ จากนั้นท่านก็ไม่ได้พูดอะไรอีก ท่านได้เข้าไปต้อนรับพูดจาปราศรัยกับท่านเจ้าคุณฯ ถึงตอนกลางคืนวันนั้นท่านก็ได้ประชุมพระเณร เข้าใจว่าคงจะได้ฟังเทศน์กัณฑ์หนักเหมือนกัน ญาติโยมบ้านหนองผือบางคนสมัยนั้นมักไปแอบฟังเทศน์ท่านที่ใต้ถุนศาลาขณะที่ ท่านพระอาจารย์มั่นกำลังเทศน์อบรมพระเณรในตอนกลางคืนอยู่เสมอๆ ประมาณ ๔-๕ คน
    คืนนี้ก็เป็นนักแอบฟังเหมือนเช่นเคย แต่คราวนี้ไปกันหลายคนเพราะมีเหตุให้สนใจหลายอย่าง มีท่านเจ้าคณะรูปนั้นมาแบบมีเกียรตินี้หนึ่ง และเพื่อมาฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตอนกลางวันนั้นหนึ่ง มาถึงแล้วก็เข้าไปแอบอยู่ที่ใต้ถุนศาลานั่นเอง ขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นกำลังเทศน์อบรมพระเณรอยู่ ตอนแรกท่านพระอาจารย์มั่นท่านคงจะยังไม่รู้ว่ามีโยมมาแอบฟัง บังเอิญมีโยมคนหนึ่งวางกระป๋องยาสูบไว้ในที่มืด ฟังเพลิน มือคว้าไปสะดุดกระป๋องยาสูบเข้า ทำให้เกิดเสียงดังขึ้น ท่านได้ยินจึงพูดขึ้นว่า “ พ่อออกก็มาเนอะ” (หมายความว่า โยมก็มาฟังด้วย)
    การแอบฟังของญาติโยมในคืนนั้นก็ทำให้รู้เรื่องราวหลายอย่าง ส่วนมากเป็นเรื่องการประพฤติปฏิบัติพระวินัยของพระภิกษุสามเณร ตลอดทั้งกิริยามารยาทอย่างอื่นที่ยังไม่เหมาะสมกับสมณสารูป และอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการรวมคณะสงฆ์ทั้งสองให้เป็นคณะเดียว อาจเนื่องมาจากท่านเจ้าคณะรองภาคฯ รูปนั้นมาปรึกษาขอความเห็นจากท่านพระอาจารย์มั่นก็เป็นได้ และท่านก็ได้เทศน์อบรมพระเณรในคืนนั้นเป็นพิเศษจนดึก ล้วนแต่เป็นเรื่องราวที่เข้มข้นทั้งนั้น เทศน์ถึงความผิดของพระเณร แล้วก็โยงมาถึงความผิดของญาติโยม เพราะไม่มีใครสอนเขาให้เข้าใจ พวกเขาก็เลยไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ที่ผิดก็เลยพากันผิดมาเรื่อย ๆ จนบางเรื่องก็แก้ไขไม่ได้ ติดเป็นประเพณีนิยมสืบต่อกันมาก็มี แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ท่านได้เริ่มจุดที่จะสอนญาติโยมชาวบ้านหนองผือต่อไป
    ตอนเช้า ท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมทั้งพระเณรทุกรูปเข้าไปบิณฑบาตภายในหมูบ้านหนองผือ ตามปกติชาวบ้านจะรอใส่บาตรกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓๐-๔๐ คน มีทั้งหมด ๓ กลุ่ม พอพระเณรมาถึงละแวกบ้าน จะมีโยมประจำคนหนึ่งซึ่งมีบ้านอยู่ต้นทางก็จะตีเกราะเคาะไม้เป็นสัญญาณเตือนก่อน จากนั้นพระเณรก็เดินเป็นแถวตามลำดับพรรษาเข้าไปยังหมู่บ้าน ฝ่ายญาติโยมที่จะใส่บาตรจะยืนเรียงแถวยาวไปตามถนนเป็นกลุ่ม ๆ ไป
    วันนี้ก็เช่นกัน พระเจ้าพระสงฆ์ก็ไปรับบิณฑบาตเหมือนเช่นเคย มีท่านพระอาจารย์มั่นเป็นองค์นำหน้า พอไปถึงกลุ่มแรก ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดขึ้นเสียงดังชัดเจน แต่เป็นประโยคใหม่แปลกกว่าคำพูดเมื่อวานนี้ เป็นสำเนียงภาษาอีสานว่า
    “สาละแวก ปลาแดกใส่ตุ้ม ปลาเก่ากะบ่ได้ ปลาใหม่กะบ่ได้ เอาบุญหยังฮึ..
    พ่อออกแม่ออก มื้อวานนี้ สาละแวก ปลาแดกใส่ตุ้ม..
    ท่านพูดอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พูดกับญาติโยมทุกกลุ่มที่รอใส่บาตรจนตลอดสาย
    ตอนแรก ญาติโยมชาวบ้านก็แปลกใจและงง ไม่เข้าใจความหมายในคำพูดของท่าน แต่ท่านก็พูดของท่านอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ ภายหลังมา พวกชาวบ้านจึงเข้าใจความหมายและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ท่านพูดนั้นจากพระเณรภายในวัด ซึ่งได้เล่าหรืออธิบายให้ญาติโยมที่ไปจังหันที่วัดในตอนเช้าฟัง เมื่อพวกโยมเหล่านั้นกลับมาบ้าน ก็ได้บอกเล่าเรื่องเหล่านั้นให้แก่ชาวบ้านคนอื่น ๆ ทราบอีกที และเล่าต่อ ๆ มาจนถึงทุกวันนี้
    เรื่องนั้นมีความหมายว่า การที่ญาติโยมตั้งขบวนหามขบวนแห่พระอย่างนั้น เป็นการอันไม่สมควร ไม่ถูกต้อง ไม่เคารพสถานที่และครูบาอาจารย์ เป็นความผิดแผกแหวกแนวประเพณีของนักปฏิบัติ ผิดทั้งฝ่ายโยมทั้งฝ่าย พระ พระผู้ถูกหาม ไม่ป่วย ไม่ชรา อาพาธ ก็ผิดพระวินัย พระก็เป็นโทษ เป็นอาบัติ เป็นบาปเป็นกรรม ฝ่ายญาติโยมเป็นผู้ส่งเสริมความผิด ทำให้พระผิดพระวินัย ญาติโยมก็พลอยได้รับโทษไปด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การที่ญาติ โยมคิดว่าเป็นการทำเอาบุญเอากุศลในครั้งนี้นั้น ก็เลยไม่ได้อะไร บุญเก่าก็หดหาย บุญใหม่ก็ไม่ได้ เป็นการกระทำอันเปล่าประโยชน์
    ภายหลังชาวบ้านจึงพากันจำใส่ใจตลอดมา และไม่กล้าทำประเพณีอย่างนี้อีกเลย จึงได้พากันเล่าสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ถือว่าเป็นอุบายการสั่งสอนของท่านพระอาจารย์มั่นที่ชาญฉลาดยิ่ง จนชาวบ้านหนองผือได้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกบ้างมาจนทุกวันนี้
    ๒. ท่านพระอาจารย์มั่นรับนิมนต์สวดมนต์ในบ้าน
    ครั้งนั้น ชาวบ้านหนองผือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็คือเกิดโรคระบาดชนิดหนึ่งอย่างรุนแรง มีคนตายเกือบทุกวัน ครั้งละ ๑-๒ คน แต่ละวันต้องเอาคนตายไปฝังไปเผาอยู่เสมอจนทำให้ผู้คนประชาชนแตกตื่นกลัวกันมาก ไม่รู้ว่าจะทำประการใด บางคนก็คิดอยากอพยพรื้อบ้านเรือนหนีไปอยู่ถิ่นอื่น แต่ก็ยังลังเลใจอยู่ไม่กล้าตัดเป็นใจ เพราะบ้านหนองผือนี้ยังเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์อยู่มาก และเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานมนานพอสมควร ถ้าจะปล่อยให้ว่างเปล่าอยู่ก็รู้สึกว้าเหว่มาก หมดที่พึ่งที่อาศัย ในตอนนี้ชาวหนองผือหดหู่ใจกันมาก ทั้งกลัวโรคระบาดชนิดนี้จะมาถึงตัวในวันใดคืนใดก็ไม่อาจรู้ได้ การรักษาหยูกยาในสมัยนั้นมีแต่รากไม้ สมุนไพรต่าง ๆ เท่านั้น กินได้ก็ไม่ค่อยจะหาย นอกจากนั้น บางคนก็วกไปหาหมอผีทำพิธีไสยศาสตร์เสกเป่าต่าง ๆ ก็มี คือทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้หาย เพราะความกลัวตาย
    เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ ชาวบ้านก็มีความทุกข์ความลำบากใจ บางคนก็หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ตกตอนกลางคืนมาก็พากันเข้าห้องนอนกันเงียบ ไม่มีใครกล้าจะออกมาเพ่นพ่านตามถนนหนทางกันเลย ในที่สุดพวกคนวัดคนวา คนเฒ่าคนแก่ ผู้รู้หลักนักปราชญ์พิธีในทางพุทธศาสนา จึงพากันตกลงว่า ต้องทำพิธีบุญชำระกลางหมู่บ้าน ปัดรังควาน ตามประเพณีโบราณนิยมของภาคอีสานสมัยนั้น แต่ก็มีปัญหาเล็กน้อย เนื่องด้วยชาวบ้านหนองผือมีความเคารพและเกรงกลัวท่านพระอาจารย์มั่นมาก งานการอะไรที่คิดว่าไม่สมเหตุสมผลก็ไม่อยากจะให้ถึงท่าน แต่ถ้าไม่ถึงท่านก็ไม่ได้อีก เพราะว่างานพิธีบุญในครั้งนี้จำเป็นต้องนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่ปะรำพิธีกลางบ้านด้วย สำหรับพวกโยมเจ้าพิธีทั้งหลายต่างก็พะวักพะวนใจอยู่ว่าจะตัดสินใจกันอย่างไร
    สุดท้ายจึงตกลงให้โยมผู้ชายคนใดคนหนึ่งเข้าไปปรึกษาหารือกับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือดูก่อน ในตอนนี้ โยมบางคนกลัวท่านพระอาจารย์มาก ไม่กล้าไป ขอตัวไม่เป็นผู้เข้าไปปรึกษาหารือกับท่านพระอาจารย์มั่น
    ในที่สุดจึงได้มอบหมายหน้าที่ให้โยมผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมีความกล้าหน่อย ซึ่งเขาเคยบวชพระมานานพอสมควรแต่ลาสิกขามามีครอบครัวแล้ว เป็นผู้เข้าไปปรึกษาเรื่องนี้กับท่านพระอาจารย์มั่น เขาชื่ออาจารย์ บู่ นามสกุล ศูนย์จันทร์<sup></sup> (ขณะนี้บวชเป็นพระ พักอยู่สำนักสงฆ์ดานกอย) ท่านเล่าว่า
    <sup> </sup> ชาวบ้านหนองผือผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาทีวัดป่าบ้านหนองผือ
    “ตอนแรกก็กลัวท่านเหมือนกัน แต่ดูแล้วคนอื่นเขาไม่กล้า เลยตัดสินใจรับว่า ตายเป็นตาย แต่ยังอุ่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ท่านเป็นพระระดับนี้ ผิดถูกอย่างไรท่านคงจะบอกสอนเรา อาจเป็นว่าเราคิดมากไปเองก็ได้”
    โยมอาจารย์บู่ท่านจึงตกลงไปที่วัดป่าบ้านหนองผือ เพื่อเข้าไปหาท่านพระ อาจารย์ มั่น
    เมื่อไปถึงวัด ขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นกำลังนั่งอยู่ที่อาสนะหน้าห้องกุฏิท่าน หลวงพ่อบู่เล่าว่า ก่อนที่จะก้าวเดินขึ้นบันไดกุฏิท่านนั้น รู้สึกกว่าใจมันตีบตันไปหมด จึงอดใจก้าวเท้าจนกระทั่งเท้าเหยียบขั้นบันไดขั้นแรกและขั้นที่สอง พร้อมกับศีรษะตัวเองโผล่ขึ้นไป พอมองเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจังหันหน้าขวับมาพร้อมกับกล่าวขึ้นก่อนว่า
    “ไปหยังพ่อออกจารย์บู่”
    ตอนนี้จึงทำให้โยมอาจารย์บู่โล่งอกโล่งใจ จิตใจที่ตีบตันก็หายไป มีความปลอดโปร่งขึ้นมาแทนที่ จึงเดินขึ้นบันไดแล้วคลานเข้าไปกราบท่าน เสร็จแล้วเล่าเรื่องราวความเป็นมาต่าง ๆ ให้ท่านทราบ
    ท่านพระอาจารย์มั่นฟังเสร็จได้หลับตาลงนิดหนึ่ง เมื่อลืมตาขึ้นมาท่านพูดว่า
    “ มันสิเป็นหยัง เมืองเวสาลีเกิดโรคระบาดฮ้อนฮน คนตายกองกันปานอึ่ง พระพุทธเจ้าให้ไปสวดพระพุทธมนต์คาถาบทเดียว ความฮ้อนฮนหมู่นั้นจึงหายไปหมดสิ้น.. เอาทอนี่ละน้อ”
    ท่านพูดเสร็จแล้วก็ไม่ได้พูดอะไรต่อไปอีก เนื้อความนั้นหมายความว่า
    “จะเป็นอะไรไป เมืองเวสาลีคราวนั้นเกิดโรคระบาดร้อนรนอนธการ มีผู้คนนอนตายกันเหมือนกับอึ่งกับเขียด พระพุทธเจ้าให้ไปเจริญูพระพุทธมนต์ เรื่องราวความเดือดร้อนต่าง ๆ เหล่านั้นก็หายไปจนหมดสิ้น”
    หลวงพ่อบู่เล่าว่า เมื่อได้ฟังท่านพระอาจารย์มั่นพูดอย่างนั้นแล้ว รู้สึกมีความดีใจมาก เกิดมีกำลังใจขึ้นมาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอโอกาสกราบลาท่านพระอาจารย์มั่นลงจากกุฏิท่านไป แล้วรีบกลับบ้านไปป่าวร้องให้ชาวบ้านทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นอนุญาตแล้ว ให้พวกเราพากันจัดการเตรียมสร้างปะรำพิธีให้เรียบร้อย ชาวบ้านต่างคนก็ต่างดีใจมาก พากันจัดแจงปลูกปะรำพิธีกลางบ้านเสร็จในวันนั้น นอกจากนั้นยังจัดหาอาสนะ ผ้าขาวกั้นแดด กระโถน กาน้ำ ตลอดทั้งเครื่องประกอบต่างๆ ในพิธีให้ครบถ้วนหมดทุกอย่าง
    เมื่อพร้อมแล้วได้วันเวลา จึงไปอาราธนานิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ งานนี้เห็นว่าทำกันสองวัน วันแรกท่านพระอาจารย์มั่นไม่ได้ขึ้นมาสวดด้วย ท่านจัดให้พระสงฆ์ภายในวัดขึ้นมาสวดก่อน ต่อเมื่อวันสุดท้ายท่านจึงขึ้นมา ตอนนี้หลวงพ่อบู่เล่าว่า
    ท่านเดินขึ้นมาสวดมนต์ในงานด้วยเท้าเปล่า ไม่สวมรองเท้า รวมทั้งพระติดตามอีก ๓-๔ รูปก็เหมือนกัน ฝ่ายทางปะรำพิธีพวกญาติโยมก็เตรียมน้ำสำหรับล้างเข้าไว้รอท่าอยู่ก่อนแล้ว ท่านเดินทางมาถึงหน้าปะรำพิธี มีโยมคนหนึ่งเตรียมล้างเท้า อีกคนหนึ่งเป็นคนคอยเช็ด ทำไปจนเสร็จหมดทุกรูป เมื่อท่านขึ้นไปนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ทุกรูปแล้ว โยมก็เข้าไปประเคนน้ำ หมากพลู บุหรี่สักครู่ ท่านเริ่มทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพราะญาติโยมเขามานั่งรอท่าก่อนพระสงฆ์จะมาถึงแล้ว
    หลวงพ่อบู่เล่าว่า พิธีในวันนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านนำพระเจริญพระพุทธมนต์เพียงสองหรือสามสูตรเท่านั้น ที่จำได้มี รตนสูตร และ กรณียเมตตสูตร ไม่นานก็จบลง หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นได้เทศน์อบรม ฉลองพวกญาติโยมที่มาร่วมในงานนั้น อันเกี่ยวกับเรื่องของความตายและคนกลัวตายว่า
    “เป็นเพราะไม่มีที่พึ่งทางจิตใจ หรือไม่รู้ที่พึ่งอันเกษมอันอุดม จึงกลัวการตาย แต่ไม่กลัวการเกิด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคว้าโน้นคว้านี้เป็นที่พึ่ง บางคนกลัวตายแล้วไปไขว่คว้าเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งที่เคารพนับถือด้วยความงมงาย มีการอ้อนวอน วิงวอนขอ โดยวิธีบนบานศาลกล่าวจากเถื่อนถ้ำและภูผา ต้นไม้ใหญ่ ศาลพระภูมิเจ้าที่เจ้าทางต่าง ๆ ที่ตนเองเข้าใจวาเป็นที่สถิตอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อันอาจดลบันดาลให้ชีวิตตน รอดพ้นจากอันตรายความตายและความทุกข์ได้ จึงหลงพากันเซ่นสรวงด้วยเครื่องสังเวยต่าง ๆ ตามที่ตนเองเข้าใจว่า เจ้าของสถานที่เหล่านั้นจะพอใจหรือชอบใจ นอกจากนั้นยังมีการทรงเจ้าเข้าผี สะเดาะเคราะห์ สะเดาะนาม สืบชะตาราศี ตัดกรรมตัดเวรโดยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้”
    ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ต่อไปอีกว่า
    “ที่พึ่งอันอุดมมั่นคงนั้นคือ ให้ภาวนาน้อมรำลึกนึกเอาพระคุณอันวิเศษของพระพุทธเจ้า พร้อมพระธรรมและพระอริยสงฆ์ มาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ จึงจะเป็นการถูกต้องสมกับที่พวกเราเป็นผู้รับนับถือเอาพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่งประจำกายใจของตน และอีกอย่าง ให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักของอุบาสกอุบาสิกา มีการให้ทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา”
    สุดท้ายท่านได้ย้ำลงไปว่า
    “ต่อไปนี้ให้ญาติโยมทุกคนทั้งเฒ่าแก่ เด็กเล็กเด็กน้อยก็ตาม พากันสวดมนต์ทำวัตรทั้งเช้าทั้งเย็น ก่อนนอนตื่นนอนทุกวัน ให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวพ่อแม่เป็นผู้พาทำ ทำที่บ้านใครบ้านมัน ทุกครัวเรือน ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นบุญเป็นกุศลแก่พวกเรา ความเดือดร้อนต่าง ๆ เหล่านั้นมันก็จะหายไปเอง”
    ท่านให้โอวาทอบรมชาวบ้านหนองผือในครั้งนั้นเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้จบการให้โอวาทลง จากนั้นท่านพูดคุยกับญาติโยมนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วสักครู่ท่านจึงกลับวัด
    งานบุญในครั้งนี้ทำกัน ๒ วัน ที่น่าสังเกตคือ พระสงฆ์ที่ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านนั้นไม่ได้ไปฉันข้าวที่บ้านในตอนเช้า การถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์นั้นให้เอาไปรวมถวายที่วัดทั้งหมด จึงเป็นการสิ้นสุดลงของงานบุญในครั้งนี้
    ขอแทรกเรื่องนี้สักเล็กน้อย เหตุที่ชาวบ้านหนองผือไม่นิยมนิมนต์พระไปฉันข้าวในงานบุญบ้านนั้น เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีงานบุญที่บ้านโยมคนหนึ่งบ้านที่จัดงานบุญนั้นเป็นบ้านที่ไม่ใหญ่โตมากนัก ปลูกสร้างแบบชนบทบ้านนอกโบราณ รู้สึกว่าจะคับแคบสักหน่อย ที่สำหรับพระนั่งก็คับแคบมาก แต่เจ้าภาพเรือนนี้คงไม่เคยจัดงานอย่างนี้ หรือเพื่อจะมีหน้ามีตาอย่างใดก็ไม่อาจทราบได้ นิมนต์พระขึ้นไปตั้งมากมาย เมื่อพระขึ้นไปบนบ้านแล้วจึงทำให้ท่านยัดเยียดกันอยู่ ทำความลำบากใจให้แก่พระมาก กว่างานจะเสร็จ จึงทำเอาพระหน้าตาเสียความรู้สึกไปหมด
    เรื่องนี้ท่านพระอาจารย์มั่นท่านจึงสอนชาวบ้านหนองผือว่า
    “จะนิมนต์พระมาสวดมาฉันในบ้านก็ต้องดูสถานที่ก่อน ถ้าที่คับแคบให้นิมนต์พระมาแต่น้อย ถ้ากว้างขวางก็ให้ดูความเหมาะสมหากนิมนต์มาแล้วทำให้พระลำบาก ยิ่งพระแก่ ๆ แล้วยิ่งลำบากมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ญาติโยมก็จะไม่ได้บุญ จะเป็นบาปเสียเปล่า ๆ และอีกอย่างหนึ่ง การเอาพระขึ้นมาฉันข้าวในงานบุญบ้านก็เหมือนกัน ยิ่งลำบากมาก ไม่รู้ว่าอะไรวุ่นที่วุ่นวายกันไปหมด พอฉันเสร็จแล้วพระบางรูปก็อาจปวดท้องปวดไส้ขึ้นมาแล้วจะวิ่งไปที่ไหน ยิ่งพระเฒ่าพระแก่ ๆ แล้วยิ่งทรมานมาก ปวดขึ้นมารังแต่จะออก จะวิ่งไปอย่างไร ถึงแม้มีที่วิ่งไปก็คงดูไม่งามสำหรับสมณเพศ ฉะนั้น จึงให้ญาติโยมพิจารณาดู”
    ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านหนองผือไม่เคยนิมนต์พระไปฉันข้าวในงานบุญบ้าน แต่สำหรับการนิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมแสดงธรรมเทศนาหลังสวดมนต์เสร็จในงานบุญบ้านต่างๆ นั้น ยังทำกันอยู่ตามปกติ จึงเป็นระเบียบประเพณีปฏิบัติอบกันมาจนถึงทุกวันนี้
    ๓. เรื่องศพที่ท่านพระอาจารย์มั่นพาปฏิบัติ
    ครั้งหนึ่ง มีเหตุเด็กผู้ชายป่วยไข้ตายลง ชื่อเด็กชาย นงค์ นามสกุล จันทะวงษา อายุประมาณ ๖ ขวบ เป็นไข้ตายอยู่ที่กระท่อมเถียงนา เพราะเป็นหน้ากำลังดำนากัน ตามปกติพ่อแม่ในชนบทบ้านนอกทางภาคอีสานสมัยนั้น เมื่อถึงหน้าฤดูทำนาก็ต้องหอบลูกจูงหลานไปนาด้วย แม้ลูกหลานจะป่วยไข้ แต่พอเอาไปได้ก็ต้องเอาไป เพื่อจะได้เยียวยารักษากันไป พร้อมกับทำนาไปด้วยเพื่อจะเร่งงานนาให้เสร็จทันกับฤดูกาล แต่วันนั้นบังเอิญเด็กมีไข้ขึ้นสูง เยียวยาไม่ทัน ในที่สุดก็ตาย ทำให้พ่อแม่พี่น้องมีความเศร้าโศกเสียใจมาก
    เมื่อตายแล้วพ่อแม่ญาติพี่น้องต้องการจะให้นำศพเด็กเข้าไปทำบุญที่บ้าน แต่มาขัดข้องเรื่องของความคิดเห็นตามประเพณีโบราณว่า คนที่ตายในทุ่งในป่าห้ามไม่ให้เอาผ่านเข้าบ้าน โบราณท่านถือ และอีกอย่าง คนตายโหงหรือตายอย่างกะทันหัน เช่น ตายจากอุบัติเหตุ ผูกคอตาย ฆ่ากันตาย ยิงกันตาย เหล่านี้เป็นต้น โบราณท่านห้าม ไม่ให้หามผ่านเข้าบ้าน และห้ามเผา ให้ฝังครบสามปีแล้วจึงขุดเอากระดูกขึ้นมาเผาได้ เลยทำให้ชาวบ้านหนองผือสมัยนั้นถกเถียงกันไปถกเถียงกันมา ในที่สุดญาติโยมจึงนำปัญหานี้ไปปรึกษาสอบถามกับท่านพระอาจารย์มั่น
    ท่านได้แก้ความสงสัยนี้ให้แก่ญาติโยมบ้านหนองผือ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า
    “พวกหมูป่า อีเก้งกวาง ที่ยิงตายในกลางป่ายังเอามาเข้าบ้านเรือนได้ นี่มันคนตายแท้ๆ ทำไมจะเอาเข้าบ้านเข้าเรือนไม่ได้”
    ดังนั้น ญาติโยมชาวบ้านจึงนิ่งเงียบไป ทำให้หูตาสว่างขึ้นมา สุดท้ายก็นำเอาศพเด็กชายคนนำเข้าไปทำบุญที่บ้าน และเผาเหมือนกันกับศพของคนตายตามปกติธรรมดาทุกอย่าง ภายหลังต่อมาชาวบ้านหนองผือจึงไม่ค่อยถือในเรื่องนี้เป็นสำคัญ คนตายทุกประเภทจึงทำเหมือนกันหมด
    สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นพำนักอยู่สำนักวัดป่าบ้านหนองผือช่วงระยะ ๕ พรรษานั้น มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คือมีพระที่จำพรรษาอยู่ด้วยท่านมรณภาพลง ๒ รูป คือ พระอาจารย์สอ กับพระอาจารย์เนียม แต่มรณภาพลงคนละเดือน โดยเฉพาะพระอาจารย์เนียมมรณภาพเมื่อตอนเช้าด้วยอาการสงบ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ทราบเรื่องทุกอย่าง พอตอนเช้า ท่านพระอาจารย์มั่นก็พาพระเณรไปบิณฑบาตภายในหมู่บ้านตามปกติ ในขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาตอยู่นั้น ท่านพูดขึ้นเป็นสำเนียงอีสานว่า
    “ท่านเนียมฮู้แล้วน้อ พ่อออกแม่ออก ท่านเนียมฮู้แล้วน้อ”
    ท่านพูดอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ กับกลุ่มญาติโยมที่รอใส่บาตรทุกกลุ่ม จนสุดสายบิณฑบาต คำพูดของท่านนั้นหมายความว่า พระอาจารย์เนียมอยู่กับที่แล้ว ไม่กระดุกกระดิกแล้ว หรือตายแล้ว ซึ่งญาติโยมตอนนั้นบางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจความหมาย ภายหลังจึงเข้าใจชัดว่าพระอาจารย์เนียมมรณภาพแล้วเมื่อเช้านี้
    เมื่อญาติโยมทั้งหลายได้ทราบอย่างนั้นแล้วจึงบอกต่อ ๆ กันไป แล้วพากันเตรียมตัวไปที่วัดในเช้าวันนั้น
    สำหรับท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมทั้งพระเณรบิณฑบาตเสร็จแล้วกลับถึงวัด ล้างเท้าขึ้นบนศาลาหอฉัน วางบาตรบนเชิงบาตร ลดผ้าห่ม คลี่ผ้าสังฆาฏิที่ซ้อนออก ห่มเฉพาะจีวรเฉวียงบ่าเรียบร้อยแล้วพับเก็บผ้าสังฆาฏิ จึงเข้าประจำที่ฉัน เตรียมจัดแจกอาหารลงบาตร เพราะมีโยมตามส่งอาหารที่วัดด้วย เสร็จแล้วอนุโมทนายถาสัพพีตามปกติ จึงพร้อมกันลงมือฉัน
    ฝ่ายพวกชาวบ้านญาติโยมภายในหมู่บ้านที่จะมาวัดในเช้าวันนั้น ก็กำลังบอกกล่าวป่าวร้องให้ผู้คนประชาชนไปที่วัด เพื่อจะได้จัดเตรียมเอาเครื่องใช้ไม้สอยและอุปกรณ์จำเป็นในการที่จะทำงานฌาปนกิจศพตามประเพณี ทั้งคนเฒ่าคนแก่ หนุ่ม ๆ แข็งแรงก็ให้ไปด้วย ผู้มีมีดพร้า ขวานจอบ เสียม ก็ให้เอาไปด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ไปปราบพื้นที่ที่จะทำเป็นที่เผาศพชั่วคราว สำหรับพวกที่มีพร้ามีขวานให้ไปตัดไม้ที่มีขนาดให้หน่อย ยาวประมาณ ๒ วากว่า ๆ มาทำเป็นไม้ข่มเหง <sup></sup> หรือไม้ข่มหีบศพที่อยู่บนกองฟอนไม์ให้ตกลงมาจากกองฟอนขณะไฟกำลังลุกไหม้อยู่
    <sup> </sup> ข่มเหง น. เรียกให้สองท่อนสำหรับพาดข้างหีบศพบนเชิงตะกอนเพื่อกันไม่ให้ศพตกจากเชิงตะกอนว่าไม้ข่มเหง
    ส่วนคนเฒ่าคนแก่รู้หลักในการที่จะทำเกี่ยวกับศพ ก็เตรียมฝ้ายพื้นบ้านพร้อมด้ายสายสิญจน์เพื่อนำไปมัดตราสัง ภูไท<sup></sup> เรียกว่า มัดสามย่าน (คือห่อศพด้วยเสื่อแล้วมัดเป็นสามเปลาะ โดยมัดตรงคอ ตรงกลางและตรงข้อเท้า) นอกจากนั้นก็มีธูปเทียน ดอกไม้ กะบองขี้ไต้ น้ำมันก๊าด พร้อมทั้งหม้อดินสำหรับใส่กระดูกหลังจากเผาเสร็จ เป็นต้น
    <sup></sup> ชื่อชนกลุ่มหนึ่งของจังหวัดสกลนครที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีนิสัยรักสงบ อยู่กันเป็นกลุ่มตามเชิงเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผิวขาวเหลือง มีภาษาพูดเฉพาะ เข่น ชาวบ้านหนองผือ เป็นต้น
    ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นนั้น เมื่อฉันจังหันเสร็จและทำสรีรกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ได้ลุกจากอาสนะที่นั่ง เดินลงจากศาลาหอฉันไปที่กุฏิศพพระอาจารย์เนียม พระเณรทั้งหลายก็ติดตามท่านไปด้วย ไปถึงท่านก็สั่งการต่างๆ ตามที่ท่านคิดไว้แล้ว คือคล้าย ๆ กับว่าท่านจะเอาศพของพระอาจารย์เนียมเป็นเครื่องสอนคนรุ่นหลัง หรือทอดสะพานให้คนรุ่นหลัง ๆ ทั้งพระเณร พร้อมทั้งญาติโยมชาวบ้านหนองผือเอาเป็นคติตัวอย่าง
    ท่านจึงไปยืนทางด้านบนศีรษะของศพแล้วก้มลงใช้มือทั้งสองจับมุมเสื่อทั้งสองข้างของศพ ทำท่าทางจะยกศพขึ้นอย่างขึงขังจริงจัง พระเณรทั้งหลายเห็นกิริยาอาการของท่านอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าใจความหมายว่าท่านต้องการจะให้ยกศพหามไปที่กองฟอนเดี๋ยวนั้น โดยไม่ต้องตกแต่งศพหรือทำโลงใส่เลย
    ดังนั้น พระเณรทั้งหลายจึงพากันกรูเข้าไปช่วยยกศพนั้นจากมือท่าน หามไปที่กองฟอนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเห็นว่าพระเณรทั้งหลายเข้าช่วยหามมากแล้ว ท่านจึงปล่อยให้พระจัดการหามกันเอง ท่านเพียงแต่คอยสั่งการตามหลังเท่านั้น แล้วท่านก็เดินตามหลังขบวนหามศพนั้นไป ในตอนนี้พวกญาติโยมชาวบ้านกำลังทยอยเข้ามาที่บริเวณวัด
    ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นกำลังเดินไปอยู่นั้น ได้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งเดินถือฝ้ายพื้นบ้านเข้ามาหาท่าน ท่านเห็นจึงหยุดเดินและถามขึ้นว่า
    “พ่อออก ฝ้ายนั่นเอามาเฮ็ดอีหยัง..? ” (หมายความว่าโยมจะเอาฝ้ายนั้นมาทำอะไร)
    โยมนั้นก็ตอบท่านว่า “เอามามัดสามย่านแหล่วข้าน้อย” (มัดตราสัง)
    ท่านพูดขึ้นทันทีว่า “ผูกมัดมันเฮ็ดอีหยัง มันสิดิ้นรนไปไส มันฮู้พอแฮงแล้ว ให้เก็บฝ้ายนั้นไว้ใช้อย่างอื่นสิยังมีประโยชน์กว่าเอามาเผาไฟทิ่มซะซือ”
    (หมายความว่า ผูกมัดทำไม ศพมันจะดิ้นไปไหนเพราะตายแล้ว ให้เก็บฝ้ายนั้นไว้ใช้อย่างอื่นยังจะมีประโยชน์กว่าเอามาเผาไฟทิ้งเสียเปล่าๆ)
    โยมคนนั้นก็เลยหมดท่า พูดจาอะไรไม่ออก เก็บฝ้ายนั้นแล้วเดินตามหลังท่านพระอาจารย์มั่นเข้าไปยังที่ที่เผาศพพระอาจารย์เนียม
    เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเดินไปถึงที่เผาศพแล้ว มีโยมหนุ่ม ๆ แข็งแรงกำลังแบกหามท่อนไม้ใหญ่พอประมาณ ยาว ๒ วากว่าๆ (ทางนี้เรียกว่าไม้ข่มเหง) มาที่กองฟอน ท่านพระอาจารย์มั่นเหลือบไปเห็นจึงพูดขึ้นทันทีว่า
    “แบกมาเฮ็ดหยังไม้นั่น... ? ” (หมายความว่า แบกมาทำไมไม้ท่อนนั้น)
    พวกโยมก็ตอบท่านว่า “มาข่มเหงแหล่วข้าน้อย” (หมายความว่า เอาไม้นั้นมาข่มศพบนกองฟอนเพื่อไมให้ศพตกออกจากกองไฟ)
    ท่านจึงพูดขึ้นอีกว่า “สิข่มเหงมันเฮ็ดหยังอีก ตายพอแฮงแล้ว ย่านมันดิ้นหนีไปไส” (หมายความว่า จะไปข่มเหงทำไมอีกเพราะตายแล้ว กลัวศพจะดิ้นหนีไปไหน)
    พวกโยมได้ฟังเช่นนั้นก็เลยวางท่อนไม้เหล่านั้นทิ้งไว้ที่พุ่มไม้ข้าง ๆ นั้นเอง แล้วมานั่งลงคอยสังเกตการณ์ต่อไป
    ก่อนเผานั้น ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งให้พลิกศพตะแคงขวา แล้วตรวจตราดูบริขารในศพโดยที่ไม่ได้ตบแต่งศพแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงมีจีวรของศพปกปิดอยู่เท่านั้น แล้วท่านก็เหลือบไปเห็นสายรัดประคดเอวของศพ จึงดึงออกมาโยนไฟให้พระที่อยู่ใกล้ ๆ พร้อมกับพูดว่า
    “นี่ประคดไหม ใครไม่มีก็เอาไปใช้เสีย”
    แล้วท่านก็พาพระเณรสวดมาติกาบังสุกุล จนจบลง แล้วจึงให้ตาปะขาวจุดไฟใส่กระบองแล้วยื่นให้ท่าน เมื่อท่านรับแล้วพิจารณาครู่หนึ่งจึงไปวางไฟลงใต้ฟืนในกองฟอน ไม่นานไฟก็ติดลุกไหม้ขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเปลวโพลงสูงขึ้น สูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วในที่สุดไฟเริ่มใหม่ทั้งฟืนทั้งศพ ทำให้ศพที่ถูกไฟไหม้อยู่นั้นมีน้ำมันหยดหยาดย้อยถูกเปลวไฟเป็นประกายวูบวาบพร้อมกับเสียงดังพรึบ ๆ พรับ ๆ ไปทั่ว จนที่สุดคงเหลือแต่เถ้าถ่านกับกองกระดูกเท่านั้น เอง
    ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจังหันหน้าเดินออกมาข้างนอก ปล่อยให้ญาติโยมดูแลเอง ในขณะที่ท่านกำลังเดินออกมา ท่านเหลือบไปเห็นโยมผู้ชายคนหนึ่งถือหม้อดินใหญ่ขนาดกลางกำลังเดินเข้ามาหาท่าน ท่านจึงถามโยมคนนั้นทันทีว่า
    “พ่อออก เอาหม้อนั้นมาเฮ็ดหยัง” (หมายความว่า โยมเอาหม้อดินนั้นมาทำอะไร)
    โยมคนนั้นตอบท่านว่า “เอามาใส่กระดูกแหล่วข้าน้อย” (หมายความว่า เอามาใส่กระดูกขอรับ)
    ท่านจึงชี้นิ้วลงบนพื้นดินพร้อมกับถามโยมคนนั้นว่า “อันนี้แม่นหยัง” (หมายความว่า อันนี้คืออะไร)
    โยมตอบท่านว่า “ดินขอรับ”
    ท่านจึงชี้นิ้วไปที่หม้อดินที่โยมถืออยู่พร้อมกับถามอีกว่า “ นั่นเด้..เขาเอาอีหยังเฮ็ด” (หมายความว่า นั้นเขาทำด้วยอะไร)
    โยมตอบท่านว่า “ดิน ข้าน้อย”
    ท่านจึงสรุปลงพร้อมกับชี้นิ้วทำท่าทางให้ดูว่า “นั่นก็ดิน นี่ก็ดิน ขุดลงนี้แล้วจึงกวาด..ลงนี่ มันสิบ่ดีกว่าหรือ” (หมายความว่าหม้อใบนั้นก็ทำด้วยดิน ตรงพื้นนี้ก็ดิน ขุดเป็นหลุมแล้วให้กวาดกระดูกและเถ้าถ่านต่าง ๆ ลงด้วยกันจะไม่ดีกว่าหรือ) ท่านจึงบอกให้โยมนั้นเอาหม้อไปเก็บไว้ใช้ โดยบอกว่า
    “ให้เอาหม้อใบนั้นไปใช้ต้มแกงอย่างอื่นยังจะมีประโยชน์กว่าที่จะเอามาใส่กระดูก”
    เมื่อโยมได้ฟังเช่นนั้น จึงนำหม้อดินไปเก็บไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป
     
  15. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ๔. การทำบุญที่ท่านพระอาจารย์มั่นสรรเสริญ
    การสั่งสอนญาติโยมชาวบ้านหนองผือของท่านพระอาจารย์มั่นในสมัยนั้น ส่วนมากท่านจะเน้นให้ญาติโยมสมาทานศีลห้าเป็นหลัก ส่วนศีลแปดหรือศีลอุโบสถท่านไม่ค่อยจะเน้นหนักเท่าไหร่ท่านกล่าวว่า ศีลห้าเหมาะสมที่สุดสำหรับฆราวาสญาติโยมผู้ครองเรือน ถ้างดเว้นตลอดไปไม่ได้ก็ขอให้งดเว้นให้ได้ในวันพระวันศีล
    สำหรับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้น ท่านบอกว่า สัตว์ที่มีบุญคุณนั้นห้ามเด็ดขาด” นอกนั้นท่านกล่าวว่าเป็นธรรมดาของฆราวาสผู้ครองเรือน แต่ถ้าวันพระวันศีลแล้วท่านให้งดเว้นสัตว์ทุกชนิด ท่านกล่าวว่า “จะงดเว้นไม่ได้ดอกหรือ เพียงวันสองวันเท่านั้น การกินในวันรักษาศีลจะกินอะไรก็คงได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์ที่ฆ่าเอง แค่นี้ทำไม่ได้หรือ ไม่ตายดอก...
    สำหรับการขอศีลนั้น ท่านไม่นิยมให้ขอ และท่านก็ไม่เคยให้ศีล (ตอนอยู่หนองผือ) ท่านให้ใช้วิธีวิรัติงดเว้นเอาเลย ไม่ต้องไปขอจากพระซ้ำ ๆ ซาก ๆ ผู้ใดมีเจตนาจะรักษาศีล จะเป็นศีลห้า ศีลแปดก็ตาม ให้ตั้งอกตั้งใจเอาเลย แค่นั้นก็เป็นศีลได้แล้ว และการถวายทานในงานบุญต่างๆ ท่านก็ไม่นิยมให้กล่าวคำถวายเช่นกัน ท่านอธิบายว่า
    “บุญนั้นผู้ถวายได้แล้ว สำเร็จแล้วตั้งแต่ตั้งใจหรือเจตนาในครั้งแรก ตลอดจนนำมาถวายสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรอีกเพียงแต่ตั้งเจตนาดีเป็นกุศล หวังผลคือความสุข การพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เท่านี้ก็พอแล้ว นั่นมันเป็นพิธีการหรือกฎเกณฑ์อย่างหนึ่งของเขา ไม่ต้องเอาอะไรทุกชั้นทุกตอนดอก”
    ครั้งนั้นมีศรัทธาญาติโยมจากสกลนคร เขาเป็นคนเชื้อสายจีน มีชื่อว่า เจ๊กไฮ แซ่อะไรนั้นเขาไม่ได้บอกไว้ เขามีความเลื่อมใสศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมาก ขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐินในปีนั้น เมื่อถึงวันเวลากำหนดกรานกฐินแล้ว จึงได้ตระเตรียมเดินทางมาพักนอนค้างคืนที่บ้านหนองผือหนึ่งคืน โดยพักนอนที่บ้านของทายกวัดคนหนึ่ง เพื่อจะได้จัดเตรียมอาหารคาวหวานสำหรับไปจังหันตอนเช้าด้วย พอเช้าขึ้น พวกเขาจึงพากันนำเครื่องกฐินพร้อมกับเครื่องไทยทานอาหารต่าง ๆ เหล่านั้นไปที่วัด เมื่อถึงวัด ล้างเท้าที่หัวบันไดแล้วพากันขึ้นบนศาลา วางเครื่องของ คุกเข่ากราบพระประธาน แล้วจึงรวบรวมสิ่งของ เครื่องผ้ากฐิน พร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่าง ๆ วางไว้ที่หน้าพระประธานในศาลา
    ส่วนเจ๊กไฮผู้เป็นหัวหน้านำผ้ากฐินมานั้น เมื่อจัดวางผ้ากฐินพร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว นั่งสักครู่เห็นว่ายังไม่มีอะไร จึงพากันกราบพระประธาน (เจ๊กไฮก็กราบเหมือนกัน ท่าทางเหมือนคนจีนทั่วไปเขากราบนั่นแหละ) แล้วเขาก็ลงจากศาลาไปเดินเลาะเลียบชมวัดวาอารามเฉยอย่างสบายอารมณ์ จนกระทั่งพระเณรกลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นบนศาลาเตรียมจัดแจกอาหารลงบาตรจนเสร็จสรรพเรียบร้อยทุกองค์ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้เรียกเจ๊กไฮมาเพื่อจะได้อนุโมทนารับพรต่อไป แต่เจ๊กไฮก็ไม่ได้มารับพรด้วย มีคนถามเขาว่า
    “ทำไมไม่รับพรด้วย”
    เขาบอกว่า “อั๊วได้บุญแล้ว ไม่ต้องรับพรก็ได้ การกล่าวคำถวายก็ไม่ต้องว่า เพราะอั๊วได้บุญตั้งแต่อั๊วตั้งใจจะทำบุญทีแรกแล้ว ฉะนั้น อั๊วจึงไม่ต้องรับพรและกล่าวคำถวายใด ๆ เลย”
    ภายหลังฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นได้พลิกวิธีคำว่าผ้ากฐินมาเป็นผ้าบังสุกุลแทน ท่านจึงพิจารณากองผ้ากฐินเป็นผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วท่านได้เทศน์ฉลองยกย่องผ้าบังสุกุลของเจ๊กไฮเป็นการใหญ่เลย
    ท่านกล่าวถึง ผ้ากฐินนั้นได้รับอานิสงส์น้อยเพียงแค่ ๔ เดือนเท่านั้น ไม่เหมือนกับผ้าบังสุกุล ซึ่งได้อานิสงส์ตลอดไป คือผู้ใช้สามารถใช้ได้ตลอดไม่มีกำหนดเขต ใช้จนขาดหรือใช้ไม่ได้จึงจะทำอย่างอื่นตอไป และสุดท้ายท่านกล่าวอีกว่า
    “ใครทำบุญก็ไม่เหมือนเจ๊กไฮทำบุญ เจ๊กไฮทำบุญได้บุญมากที่สุด พรเขาก็ไม่ต้องรับ คำถวายก็ไม่ต้องว่า เขาได้บุญตั้งแต่เขาออกจากบ้านมา บุญเขาเต็มอยู่แล้ว ไม่ได้ตกหล่นสูญหายไปไหน บุญเป็นนามธรรมอยู่ที่ใจ อย่างนี้จึงเรียกว่า ทำบุญได้บุญแท้..”
    ทุกคนที่ไปงานทอดกฐินในครั้งนี้ต่างก็มีความปลาบปลื้มปีติในธรรมะที่ท่านกล่าวออกมา ซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลที่แปลกใหม่ ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังมาจากที่อื่นเลย โดยเฉพาะเจ๊กไฮผู้เป็นเจ้าภาพยิ่งมีความปลื้มปีติใจมากกว่าเพื่อน เพราะสิ่งที่เขาได้ทำไปแล้วนั้นเป็นสิ่งถูกต้องเป็นที่พออกพอใจของครูบาอาจารย์ที่เขาเคารพเลื่อมใส จึงเป็นที่ตรึงตาตรึงใจของเขาไปจนตลอดสิ้นชีวิต และได้เป็นเรื่องเล่าขานกันมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
    อีกครั้งหนึ่ง มีญาติโยมทางโคราชจะเป็นเจ้าภาพนำองค์กฐินมาจอดที่วัดป่าบ้านหนองผือในปีถัดมา เจ้าภาพชื่อ นายวัน คมนามูล เป็นพ่อค้าชาวโคราช มีท่านพระอาจารย์มั่นเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการรับผ้ากฐินครั้งนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วทางเจ้าภาพกฐินก็กำหนดวันเวลาจะนำกฐินมาทอด ฝ่ายพระที่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่นในปีนั้น รูปที่มีหน้าที่อปโลกน์กฐิน<sup></sup> ต่าง็ก็เตรียมท่องคำอปโลกน์กันอย่างดิบดี ตลอดทั้งพระรูปที่มีหน้าที่สวดญัตติทุติยกรรม<sup></sup> ก็เตรียมฝึกหัดอย่างเต็มที่เหมือนกัน เพื่อกันความผิดพลาด เพราะคิดว่าการสวดต่อหน้าท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่เช่นนี้ ถ้าเกิดผิดพลาด สวดตะกุกตะกักหรือไม่ถูกอักขระฐานกรณ์<sup></sup>กลัวท่านจะดุเอาต่อหน้าญาติโยม แล้วจะเป็นที่อับอายขายหน้ากัน อันนี้เป็นธรรมเนียมของพระในวัดที่จะรับกฐิน จะต้องตักเตือนกันก่อนกว่าพิธีจริงจะมาถึง งานนี้คิดว่าคงจะเช่นกัน
    เมื่อวันทอดกฐินมาถึง เจ้าภาพเขานำผ้ากฐินมาถวายในตอนเช้า คณะกฐินเพื่อมาถึงวัดแล้ว ได้นำผ้ากฐินพร้อมทั้งเครื่องอันเป็นบริวารขึ้นไปวางบนศาลาเพื่อรอเวลาพระบิณฑบาตและฉันเสร็จ ก่อนจึงค่อยทอดถวาย ในขณะที่พระกลับจากบิณฑบาต จัดแจกอาหารลงบาตรเสร็จและให้พรแล้วลงมือฉันตามปกติ ญาติโยมคณะกฐินได้ถือโอกาสนั้นลงไปเดินชมดูบริเวณวัดพลางๆ ไปก่อนเพื่อไม่ให้เสียเวลา
    สักครู่ใหญ่ เมื่อเห็นพระเณรทยอยถือบาตรลงจากศาลาหอฉันไปล้างบาตรในที่สำหรับล้าง นั่นแสดงว่าพระเณรท่านฉันจังหันเสร็จแล้ว พวกโยมคณะกฐินจึงพากันขึ้นมาที่ศาลา มาถึงก็เห็นท่านพระอาจารย์มั่นนั่งบนอาสนะกำลังทำสรีรกิจส่วนตัวหลังฉันภัตตาหาร มีการล้างมือ บ้วนปาก ชำระฟัน เป็นต้น พอท่านพระอาจารย์มั่นเห็นว่าญาติโยมขึ้นไปบนศาลาแล้วท่านจึงพูด ขึ้นว่า
    “พ่อออก..สิเฮ็ดจั้งใด ของหมู่นี้” (หมายความว่า พวกโยมจะทำอย่างไรต่อไปกับของเหล่านี้)
    โยมผู้เป็นเจ้าภาพนำผ้ากฐินมาจึงพูดตอบท่านว่า “ แล้วแต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์จะพิจารณาขอรับ”
    ท่านพระอาจารย์มั่นจึงพูดว่า “ถ้าจั้งซั่น ให้พากันไปหาฟดไม้หรือใบไม้มาปกปิดเสียก่อน”
    พวกญาติโยมเมื่อได้ฟังดังนั้นจึงพากันรีบลงไปหาฟดไม้หรือใบไม้นำมาปกปิดกองผ้ากฐิน เรียบร้อยแล้ว จึงถอยห่างออกมาอยู่ข้างนอก สักครู่ท่านพระอาจารย์มั่นจึงลุกไปพิจารณากองผ้าเหล่านั้นเป็นผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วท่านพระอาจารย์มั่นจึงกล่าวกับญาติโยมว่า
    “ของหมู่นั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วเน้อ พวกญาติโยมที่มาที่นี้ก็ได้บุญได้กุศลแล้วทุกคนเน้อ”
    และท่านก็พูดคุยกับญาติโยมที่มาทำบุญในวันนั้นอีกบ้างพอสมควร หลังจากนั้นพวกญาติโยมก็ได้กราบแล้วลงจากศาลาไปรับประทานอาหารจากเศษข้าวก้นบาตรจนเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงพร้อมกันไปกราบลาท่านพระอาจารย์กลับบ้าน งานจึงเป็นอันเสร็จสิ้นลงเพียงเท่านี้
    ส่วนพระรูปที่ฝึกซ้อมตระเตรียมท่องคำอปโลกน์กฐินและสวดญัตติทุติยกรรมวาจาอย่างดิบดีมาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น คิดว่าจะได้สวดแสดงในการกรานกฐิน<sup></sup> ครั้งนี้ เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้น เรื่องต่าง ๆ เหล่านั้นก็เป็นอันว่าจบลงเพียงแค่นั้น แลภายหลังหมู่พระทั้งหลายจึงมาพูดกับหมู่เพื่อนว่า
    “ ท่านพระอาจารย์ใหญ่เราเด็ดขาดจริง ๆ ไม่สะทกสะท้านสงสัยในเรื่องพิธีการเหล่านี้เลย”
    จึงทำให้หมู่พระลูกศิษย์สมัยนั้นคิดสงวนภูมิใจอยู่องค์เดียวมาจนถึงทุกวันนี้

    <sup></sup> อปโลกน์กฐิน = การเลือก การบอกเล่า ถ้าเราถวายของสิ่งเดียวแก่ภิกษุสงฆ์หลายรูป ท่านจะต้องเลือกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง (เช่น ถวายกฐิน) วิธีการเลือกนั้นเรียกว่า อปโลกน์ หรือ อปโลกนกรรม
    <sup></sup> ญัตติทุติยกรรม = กรรมมีญัตติเป็นที่สอง หรือกรรมมีวาจาครบ ๒ ทั้งญัตติ, กรรมอันทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนเดียว เช่น การสมมติสีมา การสังคายนา และการมอบให้ผ้ากฐิน เป็นต้น
    <sup> </sup> อักขระฐานกรณ์
    อักขระที่ใช้ในภาษาบาลีมี ๔๑ ตัว แบ่งเป็น
    ๑. สระ ๘ ตัว ได้แก่ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
    ๒. พยัญชนะ ๓๓ ตัว จัดเป็น ๒ พวก คือ วรรค และ อวรรค
    พยัญชนะ วรรค ดังนี้.
    ก วรรค ได้แก่ จ วรรค ได้แก่ จ
    ฏ วรรค ได้แก่ ต วรรค ได้แก่
    ป วรรค ได้แก่
    พยัญชนะ อวรรค ดังนี้.- ย
    ฐาน-กรณ์ ฐาน คือ ที่ตั้งที่เกิดของอักขระ มี ๖ คือ กณฺโฐ คอ, ตาลุ เพดาน, มุทฺธา ศีรษะ หรือปุ่มเหงือก, ทนฺโต ฟัน, โอฏฺโฐ ริมฝีปาก, นาสิกา จมูก
    กรณ์ คือ ที่ทำของอักขระมี ๔ คีอ ชิวฺหามชฺฌํ ท่ามกลางลิ้น ชิวฺโหปคฺคํ ถัดปลายลิ้นเข้ามา, ชิวฺหคฺคํ ปลายลิ้น, สกฏฺฐานํ ฐานของตน
    ฐาน-กรณ์ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ฐาน เป็นที่ตั้งที่เกิดในเมื่อจะออกเสียง กรณ์ ทำเสียงนั้นให้ชัด ถ้าขัดกันอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่สำเร็จ ประโยชน์
    <sup></sup> กรานกฐิน : สงฆ์พร้อมใจกันยกผ้ากฐินที่เกิดแก่สงฆ์ในเดีอนท้ายฤดูฝนให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุผู้ใด้รับเอาผ้านั้นไปทำจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งให้เสร็จในวันนั้น แล้วมาบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้านั้นให้ เพื่อภิกษุสงฆ์เหล่านั้นอนุโมทนา (ตามศัพท์ คึอ ลาด ปู ทาบไม้สะดึง : จากวินัยมุข เล่ม ๑)
    ๕. คุณยายขาวกั้งติดปัญหา
    ในการเทศน์อบรมสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมักจะกล่าวปรารภเปรียบเทียบให้ญาติโยมฟังอยู่เสมอว่า
    “การเทศน์การสั่งสอนฆราวาสญาติโยมนั้น เหมือนกับการจับปลานอกสุม” (สุ่มคือเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง)
    การจับปลานอกสุ่มนั้นใคร ๆ ก็ย่อมรู้ว่ามันยากขนาดไหน เพราะปลามันมีที่จะไปได้หลายทางโดยไม่มีขอบเขตจำกัด มันจึงไม่ยอมให้จับได้ง่ายๆ ไม่เหมือนกับปลาที่อยู่ในสุ่มซึ่งมีขอบเขตจำกัดบังคับมันอยู่ จึงจับได้ง่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า ปลานอกสุ่มจะจับไม่ได้เลย จับได้เหมือนกัน สำหรับผู้มีปัญญา
    ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีอุบายวิธีอันชาญฉลาดมากในการสั่งสอนคน ถึงแม้ว่าท่านจะกล่าวปรารภในทำนองถ่อมตน แต่องค์ท่านก็สามารถอบรมสั่งสอนโน้มน้าวจิตใจของญาติโยมให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส มาประพฤติปฏิบัติธรรมตามปฏิปทาของท่าน เป็นจำนวนมากมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้
    ข้อที่น่าสังเกตในอุบายวิธีการสั่งสอนญาติโยมของท่านคือ ท่านจะสอนเน้นเป็นรายบุคคลเฉพาะผู้สนใจประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่ท่านได้พิจารณาดูภายในแล้วเท่านั้น ถ้าหากญาติโยมผู้ใดถูกท่านพระอาจารย์มั่นพูดทักซักถามแล้ว จะต้องตั้งใจฟังให้ดี ๆ นั่นแสดงว่าท่านจะบอกขุมทรัพย์ให้ จึงเป็นบุญลาภวาสนาของบุคคลนั้นโดยแท้ และบุคคลผู้นั้นจะถูกท่านซักถามแนะนำติดตามผลอยู่เสมอ ตามอุบายวิธีของท่าน จนสมควรแก่บุญวาสนาของบุคคลนั้นแล้ว ท่านจึงปล่อยให้ดำเนินตามที่ท่านแนะสอน เพื่อเพิ่มบารมีของเขาจนแก่กล้าเป็นลำดับต่อไป
    สมัยนั้นญาติโยมชาวบ้านหนองผือกำลังมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมมาก ทั้งหญิงทั้งชายหลังจากได้พากันละเลิกนับถือผีแล้ว โดยพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ผู้แนะนำสั่งสอนเป็นองค์แรกให้ละเลิกการนับถือผีถือผิดเหล่านั้น ให้หันหน้ามานับถือพระไตรสรณคมน์อย่างจริงจัง มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแทน และท่านยังได้อบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาพร้อมทั้งเดินจงกรมด้วย พากันปฏิบัติอย่างนั้นมาเรื่อย ๆ จนทำให้การปฏิบัติธรรมของญาติโยมชาวหนองผือสมัยนั้นบางคนมีความก้าวหน้ามาก และได้สละบ้านเรือนออกบวชกันหลายคน
    โดยเฉพาะฝ่ายหญิงออกถือบวชเนกขัมมะ สละเรือนเป็นแม่ขาว แม่ชี สมาทานรักษาศีลแปดจำนวนหลายคนด้วยกัน ที่สำคัญมีคุณยายขาวกั้ง เทพิน คุณยายขาววัน พิมพ์บุตร คุณยายขาวสุภีร์ ทุมเทศ คุณยายขาวตัด จันทะวงษา คุณยายขาวเงิน โพธิ์ศรี คุณยายขาวงา มะลิทอง คุณยายขาวกาสี โพธิ์ศรี และคุณแม่ชีกดแก้ว จันทะวงษา<sup></sup> โดยมีพระอาจารย์หลุยจนฺทสาโร เป็นผู้บวชให้
    <sup></sup> ชาวบ้านหนองผือ บวชเป็นแม่ชีตั้งแต่สมัยพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร อยู่จำพรรษา จนปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๔ ยังเป็นแม่ชีพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ และได้เล่าเหตุการณ์สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ
    เมื่อบวชแล้วไปอยู่ตามสำนักที่ตั้งขึ้นชั่วคราวใกล้ ๆ กับสำนักสงฆ์ของครูบาอาจารย์ เพื่อจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านเมื่อมีโอกาส บางครั้งพวกเขาก็พากันออกไปภาวนาหาความสงบวิเวกตามป่าช้าบ้าง ตามป่าเชิงเขาและถ้ำซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้นบ้าง เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ให้แก่จิตใจ ไปกันเป็นกลุ่ม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทางด้านปฏิบัติสมาธิแล้ว จึงค่อยหาโอกาสเข้าไปกราบนมัสการเล่าถวายท่าน ท่านก็จะแก้ไขความขัดข้องนั้นให้ด้วยความเมตตากรุณา จนปัญหาเหล่านั้นลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ และได้ปฏิบัติกันอย่างนั้นมาเรื่อย ๆ
    จนกระทั่งท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินทางเข้าไปยังบ้านหนองผือ และพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ ยิ่งทำให้คุณยายขาวแม่ชีและญาติโยมซึ่งกำลังมีความสนใจปฏิบัติธรรมอยู่แล้วมีความสนใจมากยิ่งขึ้น จนบางคนปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา
    ในจำนวนนั้น มีคุณยายขาวคนหนึ่งผู้บวชชีเมื่อตอนแก่ ท่านมีอายุมากกว่าเพื่อนและเป็นหัวหน้าคณะแม่ซี ชื่อคุณยายขาวกั้ง เทพิน อายุประมาณ ๗๐ กว่าปี การปฏิบัติสมาธิมีความก้าวหน้ามาก มีความรู้ความเห็นซึ่งเกิดจากการภาวนาหลายเรื่องหลายประการ ท่านมีนิสัยชอบเที่ยวรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ทางด้านจิตตภาวนาอยู่เสมอ เมื่อเกิดปัญหาขัดข้องทางด้านจิตตภาวนา มีโอกาสก็เข้าไปกราบนมัสการเล่าปัญหา ถวายท่านพระอาจารย์มั่นฟัง ท่านก็จะแนะอุบายวิธีให้ไปประพฤติปฏิบัติตาม ในที่สุดปัญหาเหล่านั้นก็ตกไป
    ตอนหลังคุณยายขาวกั้งท่านแก่ชราภาพมาก ไปมาไม่สะดวก ลูกหลานจึงให้ไปพักที่บ้านขณะที่อยู่บ้านท่านก็ไม่ได้ลดละความพากเพียร ตอนบ่ายเดินจงกรมบนบ้าน ค่ำลงเข้าห้องทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อ ทำอย่างนี้ทุกวัน
    ตอนหนึ่ง ท่านนั่งภาวนาจิตไปเที่ยวเพลินชมเมืองสวรรค์เกือบทุกคืน นั่งภาวนาคราวใดจิตจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ทุกครั้ง ท่านบอกว่ามันสนุกสนานเพลิดเพลิน เห็นแต่สิ่งสดสวยงดงามทั้งนั้น ไปแล้วก็อยากไปอีก เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน
    วันหนึ่ง ไปกราบนมัสการเล่าเรื่องนี้ถวายท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงพูดปรามไม่ให้ไปเที่ยวเมืองสวรรค์บ่อยนัก แต่คุณยายขาวกั้งก็ยังติดอกติดใจจะไปชมเมืองสวรรค์อีก คืนหนึ่ง คุณยายขาวกั้งนั่งสมาธิภาวนาจะน้อมจิตไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ตามที่เคยไป แต่เหมือนมีอะไรมาขวางกั้นจิตทำให้ไม่รู้ทิศทางที่จะไป คืนนั้นเลยไปไม่ได้
    พอตอนเช้าฉันจังหันเสร็จคุณยายก็ไปที่วัดเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น เล่าเรื่องถวายท่านว่า
    “เมื่อคืนนี้หลวงพ่อเอาหนามไปปิดทางข้าน้อย ข้าน้อยเลยไปมิได้”
    ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า“ ไปเที่ยวเฮ็ดยั้งดุแท้ (บ่อยแท้)”
    คุณยายขาวกั้งจึงพูดตอบว่า “ไปแล้วมันม่วนรื่นเริงใจ เห็นแต่สิ่งสวยๆ งามๆ ทั้งนั้น”
    ท่านพระอาจารย์มั่นจึงบอกว่า“ เอาล่ะ บ่ต้องไปอีกนะทีนี้”
    คุณยายขาวกั้งก็เข้าใจความหมาย และยอมรับที่ท่านพระอาจารย์มั่นพูดเล่นนั้น แต่ในใจของคุณยายก็ยังคิดอยากจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์อยู่อีก ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ให้ไป เพราะท่านกลัวคุณยายจะผิดทางและเสียเวลา ท่านต้องการอยากจะให้ดูหัวใจตัวเองมากกว่าจึงจะไม่ผิดทาง
    ในที่สุดคุณยายขาวกั้งก็รับไปปฏิบัติตาม ซึ่งตามปกติคุณยายขาวกั้งจะเข้าไปกราบถามป็ญหาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ๆ แต่ละครั้งใช้เวลาไม่นาน เพราะคุณยายขาวกั้งจะถามเฉพาะปัญหาที่แก้ไม่ตกจริง ๆ เท่านั้นเมื่อท่านพระอาจารย์มั่นตอบมาอย่างไร คุณยายเข้าใจแล้วจะกราบลาท่านกลับที่พักของตน เป็นอยู่อย่างนี้เสมอ
    ต่อมาคุณยายขาวกั้งก็เกิดปัญหาทางจิตที่สำคัญขึ้นอีกคือ วันหนึ่งไปที่วัดเพื่อจะไปกราบถามปัญหากับท่านพระอาจารย์มั่นตามปกติ วันนั้น พอถึงวัดเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงทักขึ้นว่า
    “ ฮ้วย... บ่แม่นไปเกิดกับหลานสาวแหล่วบ่ น้อ” (หมายความว่า ไม่ใช่จิตของยายเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของหลานสาวแล้วหรือ)
    เพราะช่วงนั้นคุณยายขาวกั้งมีหลานสาวคนหนึ่งแต่งงานใหม่กำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ อยู่ ด้วยเหตุนี้ คุณยายขาวกั้งจึงบอกต่อท่านพระอาจารย์มั่นว่า
    “ข้าน้อยมิเยอะเกิด เพราะว่ามันทุกข์ แล้วล่ะเอ็ดแนวเลอ ข้าน้อยจังสิมิเกิดอีก”
    ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า “อ้าว... เอาให้ดีเด้อ... ภาวนาให้ดี ๆ เด้อ”
    เหมือนกับคติพจน์ที่ท่านมักยกขึ้นมากล่าวอยูเสมอว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่” ดังนี้
    จากนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นคงจะแนะอุบายวิธีแก้ให้แก่คุณยายนำไปปฏิบัติ คุณยายพอได้อุบายแล้วก็ถือโอกาสกราบลาท่านกลับบ้านของตน เมื่อกลับถึงบ้านแล้วจัดแจงเตรียมตัวเตรียมใจ ทำความพากเพียรตามอุบายที่ท่านพระอาจารย์มั่นแนะนำให้ปฏิบัติ
    คุณยายขาวกั้งทำความพากเพียร นั่งสมาธิภาวนาอยู่ประมาณสองหรือสามวันจึงรู้สาเหตุ แต่ก็ยังไม่สามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เหล่านั้นได้ จนคุณยายขาวกั้งอุทานออกมาให้ลูกหลานฟังว่า
    “พวกสู.. กูกำลังไปเกิดกับอีอุ่น จังวากูมิเยอะเกิดอิ กูกำลังม้างอยู่เดี๋ยวนี้ (หมายความว่า พวกลูกๆ หลานๆ ทั้งหลาย ยายเห็นว่ายายกำลังไปเกิดเป็นลูกของหลานสาวคือนางอุ่น แต่ว่ายายไม่ต้องการจะเกิดอีก จึงกำลังพยายามทำลายภพชาติอยู่ในขณะนี้)
    หลังจากนั้นต่อมาไม่นาน นางอุ่นหลานสาวของคุณยายขาวกั้งที่กำลังตั้งท้องอยู่ยังไม่ถึงเดือนนั้นก็แท้งออกเสียโดยไม่รู้สาเหตุเลย หรือจะเป็นด้วยจิตเดิมของคุณยายขาวกั้งเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของนางอุ่นหลานสาวจริง เมื่อคุณยายทำลายสาเหตุคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ในจิตของคุณยายได้แล้ว จึงทำให้ครรภ์นั้นแท้งเสียดังกล่าว
    สำหรับคุณยายขาวกั้งหรือแม่ชีกั้ง เรื่องการภาวนานั้น รู้สึกว่ามีความก้าวหน้ามากและเป็นไปเร็วกว่าบรรดาแม่ชีที่บวชรุ่นเดียวกัน แม้จะถือบวชชีตอนแก่ของบั้นปลายชีวิตแล้วก็ตาม การภาวนาของท่านก็เกิดความรู้ความเห็นวิจิตรพิสดารโลดโผนมาก แต่คงจะเป็นด้วยบุญวาสนาของคุณยาย ที่มีท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตตภาวนา ได้เข้ามาพำนักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือในช่วงนั้นพอดี จึงเป็นโอกาสให้คุณยายขาวกั้งได้เข้าไปกราบเรียนถามปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการภาวนากับองค์ท่าน จนสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ลุล่วงไปด้วยดี และก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่อบอุ่นใจของคุณยายมาจนกระทั่งท่านหมดอายุขัย
    ส่วนแม่ขาวแม่ชีนอกนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ประพฤติปฏิบัติทำความพากเพียรตามรอยปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่นมาเรื่อย ๆ ตามลำดับ และได้ครองเพศถือบวชเป็นแม่ขาวแม่ชีสมาทานรักษาศีลแปด เจริญเมตตาภาวนาของท่านมาจนจิตใจหนักแน่น มั่นคงในธรรมปฏิบัติไม่อาจกลับย้อนไปถือเพศเป็นผู้ครองเรือนอีกจนตลอดสิ้นอายุขัยของท่านทุกคน
    ส่วนฆราวาสญาติโยมผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ไม่อาจสละบ้านเรือนออกถือบวชได้ ก็ตั้งตนอยู่ในภูมิธรรมของอุบาสกอุบาสิกาที่ดีทั้งหลาย และมีจิตใจศรัทธามั่นคงอยู่ในบวรพระพุทธศาสนา ถือพระไตรสรณคมน์เป็นหลักในการบำเพ็ญตนตลอด ถึงคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา ๕ ประการ คือ ประกอบด้วยศรัทธา ๑ มีศีลบริสุทธิ์ ๑ เชื่อกรรมว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ๑ ไม่แสวงบุญนอกเขตพุทธศาสนา ๑ และบำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา ๑ ดังนี้ ตลอดมาจนสิ้นชีวิตของเขานั่น แล
    ๖. กำลังใจ
    ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นปีที่คณะเสรีไทยกำลังโด่งดังมาก บ้านหนองผือก็เป็นอีกแห่งที่คณะเสรีไทยเข้าไปตั้งค่าย เพื่อฝึกอบรมคณะครูและประชาชนชายหนุ่ม ให้ไปเป็นกองกำลังทหารต่อสู้ขับไล่ทหารญี่ปุ่นในสมัยนั้น คุณครูหนูไทย สุพลวานิช<sup></sup> เป็นผู้หนึ่งที่ถูกเกณฑ์ให้ไปฝึกอบรมในค่ายนี้ ท่านเกิดที่บ้านหนองผือนี่เอง
    <sup> </sup> ชาวบ้านหนองผือผู้อยู่ในเหตุการณ์และเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๔) ใช้ชิวิตอยู่ในอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
    เป็นธรรมดาสัญชาตญาณของคนเรา เมื่อตกอยู่ในภาวะเหตุการณ์เช่นนี้ จึงทำให้แสวงหาสิ่งพึ่งพิงทางใจในยามคับขัน ช่วงเวลาว่างในการฝึกก็นั่งพักผ่อนตามอัธยาศัย พูดคุยสรวลเสเฮฮากับหมู่เพื่อนร่วมค่ายหลายเรื่องหลายราว จนกระทั่งมาถึงเรื่องของดีของขลังของศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะมาถึงตัว มีเพื่อนคนหนึ่งในจำนวนนั้นได้พูดขึ้นว่า
    “ท่านพระอาจารย์ใหญ่ในวัดป่าบ้านหนองผือ ทราบข่าวว่าท่านเป็นพระดีองค์หนึ่งพวกเราจะไม่ลองไปขอของดีกับท่านดูบ้างหรือ ท่านคงจะให้พวกเรา”
    ด้วยคำพูดของเพื่อน จึงทำให้คุณครูหนูไทยนำไปคิดเป็นการบ้าน วันต่อมา คุณครูหนูไทยหาแผ่นทองมาได้แผ่นหนึ่ง มาตัดเป็นสี่แผ่นเล็ก ๆ วางใส่จานขันธ์ห้า แล้วให้โยมผู้เฒ่าทายกวัดที่เป็นญาติซึ่งไปจังหันที่วัดในตอนเช้านำแผ่นทองถวายท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อให้ท่านทำหลอดยันต์ให้ แต่โยมผู้ที่นำแผ่นทองไปนั้นไม่กล้าเข้าไปหาท่านพระอาจารย์มั่นโดยตรง จึงให้พระอุปัฏฐากเข้าไปลองถามท่านดูก่อน
    ท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดตอบพระอุปัฏฐากว่า
    “เขาอยากได้ กะเฮ็ดให้เขาสั้นตั๊ว” (หมายความว่า เขาต้องการก็ทำให้เขาได้ จะเป็นอะไร)
    เมื่อพระอุปัฏฐากเข้าใจแล้วจึงบอกให้โยมเอาแผ่นทองมาให้ท่าน รออยู่ประมาณ ๓ วัน พระอุปัฏฐากท่านก็นำหลอดยันต์นั้นมาให้โยม แล้วโยมผู้เฒ่าคนนั้นจึงนำมาให้คุณครูหนูไทยอีกทีหนึ่ง คุณครูหนูไทยเมื่อได้ของดีแล้วก็มีความดีอกดีใจเป็นอันมาก ทะนุถนอมเก็บรักษาไว้ในที่มิดชิด และนำติดตัวไปในทุกสถานที่เลย ทีเดียว
    วันหนึ่ง ว่างจากการฝึกอบรมจึงเดินเที่ยวเล่นไปทางด้านหลังสนาม เผอิญเหลือบไปเห็นพวกเพื่อนสามสี่คนกำลังทำอะไรกันอยู่ข้างมุมสนาม คุณครูหนูไทยจึงเดินไปดูก็เห็นพวกเขากำลังทดลองจะยิง “ เขี้ยวหมูตัน” ด้วยอาวุธปืนคาร์ไบน์ (ชื่อเรียกในสมัยนั้น) เมื่อเขาทดลองยิงแล้วปรากฏว่า “เขี้ยวหมูตัน” ที่ถือว่าเป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์นั้นแตกกระจายไปคนละทิศละทาง เพื่อนคนที่เป็นเจ้าของเขี้ยวหมูตันนั้นหน้าถอดสีไปหมด ส่วนเพื่อนที่เป็นคนยิงคงจะย่ามใจ หันหน้ามาถามคุณครูหนูไทยที่เดินเข้าไปสมทบทีหลังว่า
    “มีของดีอะไรมาลองบ้างเพื่อน”
    ด้วยความซื่อและความเป็นเพื่อน คุณครูหนูไทยจึงตอบเขาไปว่า
    “มีอยู่”
    แค่นั้นแหละ เพื่อนคนนั้นก็ก้าวเท้าเข้ามา เอามือล้วงปั๊บไปที่กระเป๋าเสื้อของคุณครูหนูไทย พร้อมกับพูดขึ้นว่า
    “ไหน เอาของดีมาลองดูซิ”
    โดยคุณครูหนูไทยคิดไม่ถึงว่าเพื่อนจะกล้าทำได้เช่นนั้น แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว วัตถุดังนั้นจึงติดมือเพื่อนคนนั้นไป คุณครูหนูไทยวอนขอเขาอย่างไร เขาก็ไม่ยอมคืนให้ท่าเดียว

    ในที่สุด เขาก็นำตะกรุดยันต์นั้นไปวางในที่ระยะห่างประมาณสัก ๓-๔ วา แล้วเขาก็ถอยกลับมายกปืนขึ้นเล็งไปที่ตะกรุดยันต์นั้น เพื่อนทุกคนที่อยู่ที่นั่นเงียบกริบ ต่างคนก็ต่างเอาใจไปจดจ่อที่จุดเดียวกัน สักครู่ คนยิงจึงกดไกปืน เสียงดัง “ แชะ แชะ แต่ไม่ระเบิด ทั้งหมดที่อยู่ที่นั่นต่างตกตะลึง ครั้งที่สาม เขาลองหันปลายกระบอกปืนนั้นขึ้นบนฟ้าแล้วกดไกอีกครั้ง ปรากฏว่าเสียงปืนกระบอกนั้นดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วบริเวณ
    ส่วนคุณครูหนูไทยนึกได้จึงใช้จังหวะนั้นกระโดดวิ่งเข้าไปหยิบตะกรุดยันต์นั้นอย่างรวดเร็ว แล้วกำไว้ในมืออย่างหวงแหนที่สุด ถึงแม้พวกเพื่อนๆ จะขอดูขอชม ก็ไม่อยากจะให้เขาดูเขาชม เดินบ่ายเบี่ยงไปทางอื่น แต่พวกเพื่อนก็ขอดูขอชมจนได้
    เสร็จแล้วทุกคนจึงพากันเลิกรา กลับที่พักของตนด้วยความฉงนสนเท่ห์และตื่นเต้นในอภินิหารตะกรุดยันต์ของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นอย่างมาก
    อันนี้คุณครูหนูไทยเล่าให้ฟังอย่างนั้น
    ภายหลังต่อมาบางคนทราบข่าวจึงพากันไปขอจากท่านพระอาจารย์มั่นที่วัด ส่วนมากจะได้เป็นแผ่นผ้าลงอักขระคาถาตัวยันต์ สำหรับตะกรุดแผ่นทองนั้นไม่ค่อยมี เพราะแผ่นทองสมัยนั้นหายากมาก ต่อมาไม่นานท่านพระอาจารย์มันคงเห็นว่ามากไปจนเกินเลย จึงบอกให้เลิก ท่านบอกว่า
    สงครามเขาจะสงบแล้ว ไม่ต้องเอาก็ได้พวกตะกรุดยันต์ ผ้ายันต์เหล่านั้น นั่นมันเป็นของภายนอก สู้เอาคาถาบทนี้ไปบริกรรมแนบกับใจไม่ได้ ให้บริกรรมทุกเช้าค่ำจนขึ้นใจ แล้วจะปลอดภัย อันตรายต่าง ๆ จะไม่มากล้ำกรายตัวเราได้เลย
    คาถาบทนั้นว่าดังนี้
    “นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา<sup></sup>” ฯลฯ
    <sup> </sup> เป็นบทสวดส่วนหนึ่งของบทสวด โมระปะริตตัง (คาถายูงทอง)
    ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านหนองผือเลยไม่กล้าขอท่านอีก และเป็นความจริงตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นพูด ยังไม่ถึง ๗ วัน ก็ได้ทราบข่าวว่าเครื่องบินทหารอเมริกันบินไปทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ย่อยยับจนในที่สุดประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามและสงครามในครั้งนั้นก็สงบจบสิ้นลง ดังที่พวกเราท่านทั้งหลายได้รู้จักกันแล้วในหน้าประวัติศาสตร์นั้น แล

    เคลื่อนขบวนไปสู่ความจริง
    พฤศจิกายนเห็นเดือนท้ายของฤดูฝน อุณหภูมิเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่หน้าหนาว ตอนเช้ามีหมอกลงบางเบา อากาศหนาว ท้องฟ้าโปร่ง แจ่มใสในเวลากลางวัน กลางคืนหนาวเยือกเย็น ต้องห่มผ้าหน้าหลายผืน ลมประจำฤดูเริ่มพัดโชยมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือและพัดผ่านลงสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นการแสดงถึงอาการที่จะเข้าสู่หน้าหนาว พืชไร่และต้นข้าวในนาของชาวไร่ชาวนากำลังแก่ ใบเหลืองเป็นทอง เมล็ดข้าวในรวงกำลังสุกสกาวเหลืองอร่ามแผ่กระจายไปทั่วทุกท้องนาอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดสายหูสายตา น้ำตามตลิ่ง ห้วย หนองคลอง ถึงต่าง ๆ เริ่มหยุดไหล ประชาชนชาวไร่ชาวนาในชนบทกำลังมีความหวังที่จะได้เก็บเกี่ยวข้าวในนาของตน มองดูใบหน้าและแววตาของแต่ละคนมีความสดชื่นเป็นประกาย นั่นหมายถึงการทำไร่ทำนาในปีนี้กำลังให้ผลผลิตอย่างเต็มที่ แต่ละคนมีความกระปรี้กระเปร่า กุลีกุจอเตรียมเสาะแสวงหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยวข้าวกัน เช่น เคียวเกี่ยวข้าว ต้องซื้อต้องหากระบุง ตะกร้า มีด พร้า จอบ เสียม ตลอดทั้งเตรียมถากถางลานนาสำหรับเป็นที่นวดข้าว เป็นต้นเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนาในภาคอีสานทั่วไป
    ชาวบ้านหนองผือก็เช่นเดียวกัน มีความหวังตั้งตารอที่จะได้ลงนาเก็บเกี่ยวข้าวกันในเดือนนี้ แต่ก็พะวักพะวนรอฟังข่าวคราวของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่อยู่ทางวัดป่าบ้านหนองผือเพราะทราบว่าองค์ท่านพระอาจารย์มั่นท่านชราภาพมากแล้ว อาการอาพาธของท่านมีแต่ทรงกับทรุด
    ครูบาอาจารย์ที่อุปัฏฐาก ท่านก็พยายามช่วยเยียวยารักษาท่านอย่างเต็มที่ มีพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน<sup></sup> พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส และพระอาจารย์วัน อุตฺตโม <sup></sup> พร้อมคณะศิษยานุศิษย์ที่เป็นฆราวาสก็ช่วยติดตามหมอชาวบ้าน ที่เคยเป็นหมอเสนารักษ์ประจำตำบล มาฉีดยารักษาให้หลายครั้งหลายคราว แต่อาการอาพาธของท่านมีแต่พอทุเลา แล้วก็ทรุดลงไปอีกดังที่กล่าวมาแล้ว
    <sup> </sup> จากหนังสือ “หยดน้ำบนใบบัว” หน้า ๑๒๒-๑๒๓
    <sup> </sup> จากหนังสือ “อนุสรณ์งานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร” หน้า ๗๐-๗๒
    เมื่อออกพรรษาแล้ว ครูบาอาจารย์พระเถระผู้ใหญ่จึงเริ่มทยอยเดินทางเข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ เช่น พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นต้น หลายครั้งหลายหน
    จนกระทั่งปลายเดือนตุลาคมขึ้นต้นเดือนพฤศจิกายน ประมาณวันที่ ๑ หรือ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๒ ข่าวทางวัดกระจายเข้ามาถึงหมู่บ้าน และกระจายไปทั่วหมู่บ้านอย่างรวดเร็วว่า ทางคณะครูบาอาจารย์ท่านได้ตกลงกันว่าจะนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งกำลังอาพาธอยู่ ออกไปจากบ้านหนองผือในวันพรุ่งนี้
    เหตุการณ์นี้ทำให้ญาติโยมชาวบ้านหนองผือมีความรู้สึกซึมเซาจนตั้งตัวไม่ติด คิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูกเลยทีเดียว ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า “ช็อค” เกือบจะทั้งหมู่บ้าน จากนั้นความหม่นหมองก็เข้ามาแทนที่ในดวงจิตของประชาชนชาวบ้านหนองผือ ด้วยความว้าวุ่นขุ่นมัวตลอดมา จะพากันคิดพิจารณาทัดทานขอร้องไม่ให้นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นออกไปจากบ้านหนองผือก็ทำไม่ได้ เพราะด้วยความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ด้วยความนบน้อมถ่อมตน และด้วยเหตุผลของคณะครูบาอาจารย์ท่านที่มีออกมาหลายประการ เพื่อจะนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ
    บางท่านก็มีความเห็นว่า ที่อยากจะให้นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นออกจากบ้านหนองผือเพื่อไปพักรักษาตัวที่วัดป่าสุทธาวาส เพราะอยู่ในตัวจังหวัด การหมอการแพทย์ทันสมัยกว่า ความเจริญทางการแพทย์กำลังเข้าสู่ตัวจังหวัดสกลนคร การเยียวยารักษาคงจะแน่นอนขึ้น บางท่านก็มีเหตุผลว่า องค์ท่านพระอาจารย์เคยปรารภถึงโยมแม่นุ่มในทำนองยกย่องอยู่เสมอๆ ในครั้งที่องค์ท่านเริ่มอาพาธใหม่ ๆ ตอนในพรรษา ชะรอยองค์ท่านคงจะต้องการให้นำท่านไปวัดป่าสุทธาวาส เพื่อจะได้โปรดโยมแม่นุ่ม ซึ่งเคยอุปการะต่อครูบาอาจารย์สายวัดป่ากัมมัฏฐานเป็นครั้งสุดท้ายเลยถือเป็นเหตุอ้างในการตกลงนำองค์ท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส
    บ้างก็มีเหตุผลที่มองการณ์ไกลออกไปอีกว่า การอาพาธของท่านพระอาจารย์ใหญ่ของเราในคราวครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้าย จะเอายาอะไรมาเยียวยารักษาก็คงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะองค์ท่านพระอาจารย์ท่านพูดอยู่เสมอๆ ว่า
    “เอาน้ำมารดไม้แก่นล่อนให้มันป่งเป็นใบสิมีหรือ”
    (เป็นคำถิ่นอีสาน หมายความว่า จะเอาน้ำมารดต้นไม้ที่ตายยืนต้นเหลือแต่แก่นให้ผลิตดอกออกใบอีกนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้)
    เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า องค์ท่านพระอาจารย์จะต้องจากพวกเราไปอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น หากท่านมรณภาพที่บ้านหนองผือแล้ว จะมีเหตุขัดข้องหลายอย่างหลายประการ ผู้คนประชาชนก็จะมามาก หนทางไปมาก็ไม่สะดวก ตลาดก็ไม่มี เกรงว่าจะเป็นเหตุให้สัตว์ตายในงานนี้เป็นจำนวนมาก เขาจะฆ่าทำอาหารสำหรับเลี้ยงแขกที่มาในงาน ถ้ามรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส ก็มีตลาดเขาทำกันอยู่แล้ว
    จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นจึงพูดว่า “รอให้ผู้ใหญ่มาเกิ่น ผู้ใหญ่เพิ่นสิว่าจั่งใด”
    ผู้ใหญ่ในที่นี้คงจะหมายถึงพระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี เพราะเมื่อท่านพระอาจารย์มั่นพูดได้ไม่นานก็พอดีเป็นจังหวะที่พระอาจารย์เทสก์เข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือในวันนั้น
    หลังจากนั้น ข่าวการจะหามท่านพระอาจารย์มั่นออกจากบ้านหนองผือก็เป็นความจริง การดำเนินการหามจึงเริ่มขึ้น คือการเตรียมหาอุปกรณ์ในการหาม โดยป่าวร้องให้ประชาชนชาวบ้านหนองผือช่วยจัดหาแคร่ไม้ โดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ ตัดยาวประมาณ ๒ วา ๔ ลำ เชือกอีกประมาณ ๘ เส้น และผ้าขาวสำหรับมุงหลังคากันแดด ประกอบกันเข้าทำเหมือนประทุนเกวียน
    เมื่อทำแน่นหนามั่นคงเรียบร้อยจึงเก็บเตรียมไว้ พอเช้าวันรุ่งขึ้น ฉันจังหันเสร็จ พระเณรก็ไปที่กุฏิท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้อัฐบริขารที่จำเป็นจะต้องนำไปด้วย
    เมื่อพระเณรจัดเก็บอัฐบริขารที่จำเป็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้มีหน้าที่หาม ก็หามแคร่ไม้ที่ทำเสร็จแล้วนั้นไปตั้งที่หน้ากุฏิท่าน แล้วพระเถระจึงเข้าไปกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อจะได้นำองค์ท่านขึ้นแคร่หามที่เตรียมไว้
    เมื่อท่านทราบ ท่านพระอาจารย์มั่นนิ่งไม่ว่าอะไร พระเถระทั้งหลายถือเอาอาการนั้นว่าท่านรับอาราธนาหรืออนุญาตแล้ว ดังนั้น พระเถระและพระอุปัฏฐากจึงขอโอกาสเข้าไปประคองท่านพระอาจารย์ให้ลุกขึ้น แล้วประคองพาเดินลงจากกุฏิไปยังแคร่หาม
    ในตอนนี้ผู้คนประชาชนกำลังทยอยกันมาเป็นจำนวนมาก ตลอดทั้งพระเณรและผู้ที่จะนำส่งท่านก็เตรียมพร้อมแล้ว สำหรับโยมผู้ชายที่แข็งแรงเป็นผู้หามก็เข้าประจำที่ เมื่อได้เวลาจึงให้สัญญาณว่าพร้อมแล้ว ทั้งหมดจึงพากันยกคานหามขึ้นบ่าแล้วออกเดินทางโดยบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกของวัด และเดินตามถนนไปสู่ทางออกประตูวัด
    ผู้คนประชาชนพร้อมทั้งพระเณรก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนตามขบวนหามไป แต่ละท่านแต่ละคนเงียบกริบ ไม่มีเสียงพูดจากัน บ้างก็ช่วยสะพายบาตรพระ บ้างก็ช่วยถืออัฐบริขาร บ้างก็เดินสะพายถุงและย่าม ตามไปเอาใจช่วยเป็นกำลัง บ้างก็ช่วยแบกกลดและร่ม บ้างก็ถือกระติกน้ำร้อนและน้ำเย็นซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเดินทาง ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่หามก็ขะมักเขม้นเดินไปอย่างขยันขันแข็ง จนกระทั่งผ่านประตูวัดออกไป แล้วลงสู่ทุ่งนาอันกว้างไกลพอสมควร ซึ่งในระหว่างทุ่งนามีสะพานทำด้วยไม้กว้างประมาณ ๑.๘๐ เมตร ทอดยาวดิ่งจากฝั่งทุ่งนาด้านนี้ไปจรดฝั่งทุ่งนาด้านโน้นเป็นระยะทางประมาณ ๓๐๐ เมตร กระดานพื้นสะพานทำด้วยไม้ตะเคียนเลื่อยผ่าเป็นแผ่น แต่ละแผ่นกว้างประมาณ ๙๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร ปูเรียงคู่สองแผ่นต่อกันไปจนสุดสายทางข้ามทุ่งนา
    การหามท่านพระอาจารย์มั่นก็หามไปตามสะพานนี้ จนผ่านพ้นสะพานแล้วมุ่งขึ้นสู่ถนนกลางหมู่บ้านหนองผือ ในช่วงที่ผ่านหมู่บ้านนี้ มีผู้คนประชาชนเด็กเล็กพากันชะเง้อชะแง้มองดู พอรู้ว่าเป็นขบวนหามท่านพระอาจารย์ใหญ่ พวกเขาก็มุ่งเข้ามาดูใกล้ ๆ ตามขอบข้างทางเป็นแถวบางคนนั่งพนมมือ และบางคนก็นั่งคุกเข่าพนมมือกราบเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยความอาลัยอาวรณ์สุดเสียดาย
    จนขบวนหามผ่านเลยไปและผ่านพ้นหมู่บ้าน มุ่งเข้าสู่ทางเกวียนที่จะไปบ้านห้วยบุ่น ซึ่งเป็นช่องทางเกวียน ลุลอดเลี้ยวไปมาตามใต้ดงหนาป่าทึบอันเขียวครึ้มขจี เต็มไปด้วยแมกไม้ต่างๆ นานาพรรณ ทั้งเสียงนกตัวจับอยู่บนยอดกิ่งไม้สูงส่งเสียงร้อง โพระดก โกโต้ง โกโต้ง ก้องกังวานไพรไปไกลทั่ว ตลอดทั้งตามรายทางก็มีเสียงแมลงป่าเรไร ซึ่งจับอยู่บนต้นไม้ทั่วไป ร้องกรีดกริ่งคล้ายเสียงกระดิ่งวัว เมื่อขบวนหามผ่านเข้าไปใกล้มันก็หยุดร้อง คอยสังเกตดูจนขบวนหามนั้นผ่านเลยไป เห็นว่าไม่เป็นภัยแล้วมันก็ร้องขึ้นมาใหม่ เป็นอย่างนี้จนทะลุเข้าสู่ละแวกบ้านห้วยบุ่นซึ่งเป็นหมู่บ้านของคนเผ่าข่าหรือพวกโซ่<sup></sup>
    <sup></sup> ชนกลุ่มหนึ่งของจังหวัดสกลนคร ที่พูดภาษาเฉพาะ ตั้งบ้านเรือนประมาณ ๒๐ หลังคาเรือนในสมัยนั้น สิ่งที่ชอบมากคือยาเส้นฉุน สำหรับมาพันเป็นมวนแล้วจุดไฟสูบ
    เมื่อขบวนหามผ่านบ้านห้วยบุ่น แล้วเลยลุลงมาสู่ทุ่งนาอีกครั้งซึ่งเป็นร่องน้ำซับ จนกระทั่งผ่านไปได้ จึงขึ้นสู่ทางเกวียนอันเป็นเนินและลุ่ม สูง ๆ ต่ำ ๆ บางทีก็คดโค้งทอดยาวไป เลี้ยวซ้ายแลเลี้ยวขวาตามต้นไม้สูงใหญ่ เป็นเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง จึงถึงอีกหมู่บ้านหนึ่งคือ บ้านนาเลา ขบวนไม่ได้หยุดพักในหมู่บ้านนี้ ได้หามผ่านเลยออกไปจนถึงคลองน้ำซับซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านนี้เท่าใดนัก ที่นั่นมีบ่อน้ำเล็กๆ อยู่ริมคลองน้ำซับและมีน้ำบ่อไหลออกมาใสเย็นสะอาด บริเวณใกล้ ๆ เป็นเนินร่มรื่น ซึ่งใช้เป็นที่หยุดพักของคนเดินทางไปมา
    เมื่อขบวนหามท่านพระอาจารย์มั่นมาถึงตรงนั้น จึงตกลงพากันหยุดพักเหนื่อยเสียก่อน แล้วค่อยเดินทางต่อไป ผู้ที่หามแคร่ตลอดทั้งญาติโยม พระเณร เมื่อเห็นว่าวางแคร่หามท่านพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยแล้ว ต่างก็นั่งพักเหนื่อยเอาแรงตามใต้ร่มไม้ต่าง ๆ ใกล้บริเวณนั้น บ้างก็ไปตักน้ำในบ่อด้วยครุหรือกระป๋องมาแจกจ่ายผู้ที่หามแคร่และญาติโยมที่ตามไปในขบวนให้ได้ดื่มกินจนอิ่มหนำสำราญโดยทั่วกัน
    คราวนี้ขบวนหามออกเดินทางเป็นระยะทางที่รู้ดีกว่าไกลพอสมควร หามเดินไปตามทางล้อทางเกวียนของชาวไร่ชาวนา ที่สัญจรไปมาในหมู่บ้านรายทางละแวกนั้น บางช่วงก็เดินตัดลัดเลาะเลียบไปตามเชิงเขาภูพาน แล้วจึงโค้งไปทางหมู่บ้านโคกกะโหล่ง หรือปัจจุบันเรียก บ้านคำแหว ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร แต่ก็เลยผ่านออกจากหมู่บ้านมุ่งสู่ทางเดินเท้าของชาวบ้านละแวกนั้นโดยไม่ได้หยุดพัก
    ขบวนหามเดินไปเรื่อย ๆ ตามหนทางเหล่านั้น จนผ่านริมสวนไร่นาของหมู่บ้านโคกสะอาด เลาะเลียบไปทางใต้ของหมู่บ้าน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยไม่ได้แวะเข้าหมู่บ้านโคกสะอาดและหมู่บ้านใดอีกเลย เพียงแต่เฉียดผ่านเขตนอกหมู่บ้านเท่านั้น จนกระทั่งเข้าสู่เขตป่าใหญ่ดงไม้ที่เรียกว่าเบญจพรรณ มีกะบาก ตะแบก เต็ง รัง ไม้แดง พะยอม พะยูง ยาง อันสูงใหญ่ลิบลิ่วจนยอดเฉียดฟ้าเทียมเมฆ ซึ่งยืนต้นเรียงรายอยู่ตามขอบสองข้างทางเดิน
    พวกขบวนหามก็หามท่านพระอาจารย์มั่นไปตามหนทางอันคดเคี้ยว บ้างก็เลี้ยวหลบหลุมบ่อลึกที่แห้งขอด บ้างก็เดินตามทางที่ราบเรียบเตียนโล่ง ลอดใต้ต้นไม้ใหญ่ พอได้อาศัยร่มเงาเย็นเป็นกำลังในการเดินทาง บางคราวลมหนาวของต้นฤดูหนาว เดือนพฤศจิกายน หรือเดือนสิบสอง ซึ่งพัดเอื่อยอยู่เบื้องบนท้องฟ้าแผ่กระจายไปทั่วนภากาศ หอบต้อนเอาก้อนหมอกเมฆขาวสะอาดเป็นกลุ่ม ๆ ค่อย ๆ เคลื่อนบ่ายลงสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลอยละล่องผ่านไป ลูกแล้วลูกเล่า
    บางครั้งลมอ่อน ๆ ก็พัดซู่โชยมา เบื้องล่างเป็นระลอกคลื่นสัมผัสกระทบปลายยอดกิ่งไม้ที่เรียงรายตามทางจรจนกิ่งก้านพุ่มใบปลิวว่อนไสวโอนไปมา ส่วนใบที่เหลืองแก่แห้งขั้วก็หลุดร่วงกรูพรั่งพรูโปรยปรายลงมาเป็นสายสู่พื้นดิน คล้ายกับว่ามีใครยินดีโปรยดอกไม้เงินดอกไม้ทองลงมาจากสรวงสวรรค์ จนเวลานานเท่าไหร่ไม่ทราบจึงบรรลุเข้าสู่เขตแดนหมู่บ้านอุ่มไผ่ และต้องเลี้ยวตามทางไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย
    การเดินในระยะทางช่วงนี้ใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ไม่ทราบ จึงบรรลุถึงทุ่งนาของชาวบ้านหนองโดก และห้ามเดินเลาะเลียบริมฝั่งหัวหนองโดกลงมาทางใต้ แล้วมุ่งหน้าเดินตามทางขึ้นสู่ป่าดงดิบอันเต็มไปด้วยไม้นานาชนิด ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับป่าดงไม้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ป่าดงในช่วงนี้รู้สึกว่ากว้างไกลพอสมควร
    จนกระทั่งทะลุถึงทุ่งนาซึ่งเป็นของชาวบ้านกุดก้อม อยู่ด้านทิศเหนือของหมู่บ้านเล็กน้อย ขบวนการก็หามผ่านทุ่งนา เดินตามคันนาจนถึงห้วยซึ่งมีสะพานที่ทำด้วยไม้อยู่กลางทุ่งนา โดยหามข้ามสะพานไปได้ด้วยดี แล้วจึงมุ่งไปสู่วัดป่ากลางโนนภู่อันเป็นวัดของพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น และเคยพำนักพักจำพรรษากับท่าน
    แต่ก่อนจะไปถึงวัดป่ากลางโนนภู่นั้น จะต้องหามท่านพระอาจารย์มั่นเดินตามทางบนคันนา ซึ่งย้อนไปย้อนมาหักหน้าหักหลัง เพราะพื้นนานั้นเต็มไปด้วยต้นข้าวที่กำลังสุกเหลืองอร่ามพอจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว
    ขบวนหามได้ไปถึงนาของโยมคนหนึ่งชื่อ คุณโยมเป้ะ ชาวบ้านกุดก้อม ซึ่งได้ร่วมเดินมากับขบวนนี้ด้วย เขาเป็นอุบาสกที่มีความศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมากอยู่ เห็นความลำบากในการหามท่านย้อนไปย้อนมาบนคันนา และเวลานั้นใกล้จะค่ำอยู่แล้ว จึงยอมเสียสละครั่งยิ่งใหญ่ โดยยอมให้ขบวนหามเดินผ่านต้นข้าวที่กำลังสุกเหลืองอร่ามอยู่นั้น เพื่อมุ่งตรงเข้าสู่วัดป่ากลางโนนภู่ได้เลย เพราะที่มาของเขาอยู่ระหว่างกลางของทางเข้าวัด
    ท่านทั้งหลายลองคิดดู คนเกือบสองร้อยคนเดินผ่านนาข้าวที่กำลังสุกเหลืองอร่ามอยู่นั้น สภาพจะเป็นอย่างไร แต่เจ้าของนารายนี้เขากลับดีใจ และไม่คิดเสียดายเลย เป็นสิ่งที่แปลก นี่แหละท่านเรียกว่าบุญเกิดขึ้นในใจของเขาแล้ว
    ในที่สุดก็ถามท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่วัดกลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้โดยสวัสดิภาพ เมื่อถึงวัดแล้วหามองค์ท่านขึ้นพำนักพักบนกุฎิหลังหนึ่งที่กว้างขวางและถาวรที่สุดในสมัยนั้น
    คราวนี้ผู้คนประชาชนพระเณรพร้อมทั้งผู้ที่ติดตามขบวนหามมาต่างก็หลั่งไหลแห่เข้ามาภายในบริเวณวัด เพราะเป็นเวลาจะใกล้ค่ำมืดอยู่แล้ว บางคนเพิ่งทราบข่าวก็เข้ามาในบริเวณวัดเดี๋ยวนั้นก็มี พระเณรที่ติดตามอุปัฏฐากซึ่งมากับพระเถระต่างก็ตระเตรียมหาที่พักชั่วคราวตามแต่จะหาได้ ตรงไหนสำหรับอาจารย์ของใครๆ อย่างฉุกละหุกวุ่นวายพอสมควร สำหรับพระเถระผู้ใหญ่พร้อมกับพระอุปัฏฐากที่ใกล้ชิดท่านพระอาจารย์มั่นก็เข้าไปชุมนุมที่กุฏิรับรองท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อย
    สำหรับญาติโยมชาวบ้านหนองผือที่ติดตาม เมื่อหามส่งท่านพระอาจารย์มั่นถึงจุดหมายปลายทางเรียบร้อยแล้ว ก็พากันเก็บแคร่คานหามและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้หามท่าน บางหมู่บางคณะก็กลับบ้านในคืนนั้น เพราะรีบเร่งในการที่จะลงเก็บเกี่ยวข้าว ที่กำลังสุกแก่เต็มที่แล้ว โดยเดินด้วยฝีเท้าลัดไปตามทางคนเดิน ผ่านหมู่บ้านเสาขวัญถึงวัดถ้ำเจ้าผู้ข้า แล้วขึ้นสู่สันเขาภูพาน ข้ามตรงลงไปทางบ้านหนองผือ เป็นระยะทางไม่ไกลนักประมาณ ๗-๘ กิโลเมตร
    ส่วนอีกหมู่คณะหนึ่งซึ่งยังไม่กลับในคืนนั้น ก็พักค้างคืนอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ พอรุ่งเช้าเมื่อกินข้าวกินปลาเสร็จธุระเรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางข้ามเขาภูพานกลับบ้านเช่นเดียวกัน โดยหมู่คณะหลังนี้ส่วนมากเป็นคนแก่ เมื่อเห็นว่าหมดธุระหน้าที่แล้วจึงเข้าไปขอโอกาสกราบลาท่านพระอาจารย์มั่นที่กุฏิรับรอง โดยเข้าไปกราบบอกความประสงค์ให้พระอุปัฏฐากทราบ
    ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า ผู้ใกล้ชิดอุปัฏฐากในช่วงนั้น เข้าใจว่าคงเป็นพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เมื่อพระอาจารย์วันเห็นญาติโยมชาวบ้านหนองผือเข้ามากราบลาท่านพระอาจารย์มั่นกลับบ้าน ท่านจึงพนมมือน้อมตัวไปทางท่านพระอาจารย์มั่น แล้วกล่าวคำขอโอกาสรายงานท่านพระอาจารย์มั่นว่า
    “พวกโยมบ้านหนองผือมากราบลาท่านพ่อแม่ครูบาอาจารย์กลับบ้านกระผม”
    เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นได้ยินเสียง จึงลืมตาขึ้นช้า ๆ เห็นเป็นโยมชาวบ้านหนองผือ ท่านได้พูดตักเตือนเป็นสำเนียงอีสานครั้งสุดท้ายว่า
    “เมือเสียเด้อ... หมดทอนี้ล่ะเน้อ... เอาน้ำไปรดไม้แก่นล่อนให้มันป่งเป็นใบ บ่มีดอกเด้อ... ให้พากันเฮ็ดพากันทำตามที่อาตมาเคยพาเฮ็ดพาทำนั้นเด้อ อย่าลืมเด้อ...ให้พากันรักษาศีลห้า ถ้าผู้ใดรักษาศีลห้าได้ตลอดชีวิต ผู้นั้นเลิศที่สุด หมดทอนี้ล่ะ”
    (หมายความว่า ให้พวกโยมชาวบ้านหนองผือพากันกลับบ้านเสีย ชีวิตของท่านก็คงจะหมดเท่านี้แหละ จะรักษาเยียวยาอย่างไรก็คงไม่หาย เปรียบเสมือนกับ เอาน้ำไปรดต้นไม้ ที่ตายผุกร่อนเหลือแต่แก่น ให้มันกลับงอกกิ่งใบได้อีก คงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น ท่านให้พากันประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเคยสั่งสอนและปฏิบัติมาแล้วนั้น ท่านว่าไม่ให้ลืม โดยเฉพาะศีลห้าซึ่งเหมาะสำหรับฆราวาสที่สุด ถ้าผู้ใดรักษาศีลห้าได้ตลอดชีวิตแล้ว ท่านว่าคนนั้นเป็นคนที่เลิศที่สุดในชีวิตของเพศฆราวาส)
    จากนั้นท่านก็หลับตาลงแล้วไม่ได้พูดอะไรต่ออีกเลย คำพูดเหล่านั้นเป็นการพูดครั้งสุดท้ายของท่าน
    เมื่อญาติโยมชาวบ้านหนองผือกลับบ้านแล้วก็ยังคอยฟังข่าวคราวของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอดเวลา ได้ทราบว่าท่านพักอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ประมาณ ๙-๑๐ วัน จึงมีโยมแม่นุ่ม ชุวานนท์ ที่เป็นชาวเมืองสกลนคร ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่รู้จักและศรัทธาในพระกัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านพระอาจารย์มั่น มากในยุคแรก ได้ให้รถมารับท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดสกลนคร เพื่อไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส
    ในการรับองค์ท่านพระอาจารย์มั่นไปในคราวนี้นั้น ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมทางไปรับและมีหมอติดตามไปกับรถนี้ด้วย ชื่อคุณหมอประยูร ศรีดามา ซึ่งเป็นหมอประจำสุขศาลาในเมืองสกลนคร โดยนำรถออกวิ่งจากตัวเมืองสกลนครไปตามถนนสายสกลนคร-อุดรธานี (สมัยนั้นยังเป็นทางหินลูกรัง) รถวิ่งไปตามทางหินลูกรังอย่างทุลักทุเล ใช้เวลากี่ชั่วโมงไม่ทราบได้ รถวิ่งมาได้โดยปลอดภัย จนกระทั่งมาหยุดจอดที่ปากทางแยกเข้าวัดป่ากลางโนนภู่ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๑ กิโลเมตร
    รถเข้าถึงวัดไม่ได้เพราะติดทุ่งนาซึ่งมีแต่ทางเกวียนเล็ก ๆ ผ่านเข้าไปสู่หน้าวัดเท่านั้น ดังนั้น จึงแก้ปัญหาโดยให้ญาติโยมชาวบ้านพากันหามท่านพระอาจารย์มั่นจากวัดป่ากลางโนนภู่มาขึ้นรถที่จอดรออยู่
    ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ก่อนจะหามท่านออกจากวัด คุณหมอได้ฉีดยานอนหลับให้ท่านเข็มหนึ่ง จึงหามท่านมาขึ้นรถ เมื่อถึงรถก็นำองค์ท่านขึ้นรถและจัดให้ท่านอยู่ในอาการที่สบาย จากนั้นขบวนรถจึงได้เคลื่อนตัวออก นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมุ่งสู่ตัวเมืองสกลนคร
    ท่านพระอาจารย์มั่นนอนหลับตลอดทาง จะด้วยฤทธิ์ของยานอนหลับก็ไม่อาจทราบได้ จนในที่สุดรถได้นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่วัดป่าสุทธาวาสโดยปลอดภัย โดยมาถึงวัดเวลาประมาณบ่าย ๓ หรือ ๔ โมงเย็นของวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒
    เมื่อถึงวัดแล้วจึงหามองค์ท่านขึ้นไปพักบนกุฏิรับรองที่เตรียมไว้แล้ว และดูแลให้ท่านนอนพัก แต่อาการท่านอ่อนเพลียมาก ท่านไม่พูดจาอะไรเลย เป็นเพียงแต่นอนหลับตามีลมหายใจเชื่องช้าแผ่วเบา และเคลื่อนไหวกายเล็กน้อยเท่านั้น ฝ่ายครูบาอาจารย์พระเณรในตอนนี้ต่างก็นั่งรายล้อมสงบอยู่ บางท่านก็คอยห้ามไม่ให้ส่งเสียงดังเพื่อรักษาความสงบ และคอยเตือนผู้คนประชาชนที่ทราบข่าวและหลั่งไหลเข้ามาในบริเวณวัดไม่ให้ส่งเสียง หรือเข้าไปใกล้รบกวนท่านที่พักผ่อนสงบอยู่นั้น
    เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน มันเคลื่อนคล้อยค่ำมืดลงทุกที จาก ๖ โมงเย็นเป็น๑ ทุ่ม ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม และ ๔ ทุ่ม ผ่านไปจนถึง ๖ ทุ่ม ตี ๑ ครึ่งกว่า ๆ อาการขององค์ท่านพระอาจารย์มั่นที่นอนนิ่งอยู่บนที่นอนนั้นก็เริ่มผิดปกติเป็นไปในทางที่ไม่น่าไว้ใจ มีความอ่อนเพลียมากขึ้น ลมหายใจก็แผ่วเบามากและเบาลง ๆ ตามลำดับอย่างน่าใจหาย ส่วนองค์กายของท่านนอนอยู่ในท่าครึ่งหงายตะแคงขวา ในที่สุดลมหายใจขององค์ท่านก็สิ้นสุด ถึงแก่มรณภาพละสังขารไว้ให้แก่โลกได้พิจารณาโดยสงบ ชีวิตขององค์ท่านจบสิ้นลงเพียงเท่านี้ ซึ่งตรงกับเวลาตี ๒ กว่าๆ ที่ถือว่าเป็นวันใหม่คือ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
    [​IMG]
     
  16. jammam

    jammam สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +17
    ต่อเรื่อง พระอาจารย์ท่านอื่นที่อยู่สายพระป่ากรรมฐานเช่นเดียวกับหลวงปู่ ศรี มหาวีโร พรุ่งนี้นะครับ:cool:

    ที่ลงเรื่องพระอาจารย์มั่นมากเพราะท่านเป็นพระอาจารย์ ของหลวงปู่ ศรี และท่านผูกพันกันมากๆครับ
     
  17. kennek

    kennek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2006
    โพสต์:
    2,163
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +17,232
    หลวงปู่ศรี และท่านพระอาจารย์มั่น

    [​IMG]
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 1.jpg
      1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      104.5 KB
      เปิดดู:
      697
    • 2.jpg
      2.jpg
      ขนาดไฟล์:
      81.7 KB
      เปิดดู:
      700
  18. sinsae101

    sinsae101 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    43
    ค่าพลัง:
    +134
    เล่าเรื่องหลวงปู่ต่อครับ(ขอใช้ชื่อใหม่นะครับ เพราะลืมpassword)

    ขอเล่าต่อนะครับ แต่ต่อไปนี้ผมขอเปลี่ยนนามปากกาใหม่นะครับจาก sinsae101 เป็น sinsaeroied นะครับ เพราะอาการอัลไซเมอร์กำเริบลืมระหัสผ่านซะงั้นเฮ้อ...
    ในช่วงแรกที่เข้าไปวัดป่ากุง ผมได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งที่ให้ความกรุณาผมอย่างมาก ท่านได้ติดตามรับใช้หลวงปู่ทุกโอกาสโดยการทำโรงทานในงานสำคัญของหลวงปู่ เช่นวันเกิดหลวงปู่ หรืองานกฐิน เป็นที่รู้กันว่างานทั้ง 2 งานนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัดสาขาที่ไหน(ซึ่งมีมากกว่า 150 วัด ทั้งในและนอกประเทศ)ซึ่งจะมีพระจากวัดสาขาที่มาในงานนี้ประมาณ 800 รูป โดยวันเกิดหลวงปู่จะเป็นวันที่ 3 พ.ค. ของทุกปี ส่วนกฐินหลวงปู่คือวันสุดท้ายของฤดูกฐินจัดที่วัดป่ากุง(จำง่ายๆก็วันลอยกระทงของทุกปีครับ) โรงทานจะตั้งล่วงหน้าประมาณ 2 วันก่อนวันงาน เพราะพระจากวัดสาขาและญาติโยมจะทยอยกันมาก่อนวันงานต้องได้กินครับ หลวงปู่จะสั่งว่าพวกโรงทานนี้สำคัญเพราะต้องดูแลปากท้องผู้ที่มาในงาน หลวงปู่จะกำชับให้ทำให้พอกับคนกิน
    เมื่อคนก็เยอะพระก็มากของที่เตรียมก็ต้องซื้อกันเป็นร้อยกิโลละครับ เพราะคนที่มาทั้งกินทั้งห่อ บางคนลุยเข้ามาในครัวหยิบของในครัวเลย ก็ต้องคอยอธิบายให้เข้าใจ แถมห้ามพูดไม่ดีกับเขาด้วยนะ ครัวใหญ่ก็ต้องมีทีมงานมาช่วยเตรียมของทั้งมีเด็กวัยรุ่นมาช่วยล้างจานชาม และภาชนะอื่นๆ เงินที่ใช้ซื้อของเข้าครัวต้องหลักหมื่นแก่ๆ ถึงแสนครับ สนุกครับเรานอนกันประมาณห้าทุ่มครับ ตื่นตี 2 มาเตรียมของครับยืนผัดยืนทอดกันเสียงภาชนะกระทบกันเสียงภาชนะทำให้ยามเช้าดึกคักกันมาก อาหารชุดแรกเตรียมถวายพระครับ ผมจะต้องไปสอบถามจำนวนพระที่มาลงทะเบียนที่สำนักเลขา เพื่อให้ทีมงานในครัววางแผนถูก
    เสร็จจากของเตรียมถวายพระก็ต้องเตรียมอาหารไว้เลี้ยงคน ในครัวไม่มีการพักครับทีมงานขนอาหารเข้าไปถวายพระก็ขนไป พวกที่ประจำเตาก็ลงมือทำอาหารต่อ พอประมาณ ตีห้ากว่าพวกที่จะไปใส่บาตรก็จะอาบน้ำ แต่งสวยกันครับนุ่งผ้าไหม ผู้ชายก็แต่งตัวหล่อครับ ส่วนผมก็นุ่งยีนส์ตามถนัดครับ พวกครัวนี่จะไม่ค่อยเข้าไปร่วมพิธีครับเพราะต้องกลับมาเตรียมอาหารเพื่อให้คนที่มาทำบุญได้กิน เสร็จงานโน่นแหละครับพวกเราจึงจะได้มีโอกาสเสนอหน้าอยู่หน้าหลวงปู่ แต่ก็ต้องหลังวันงานสัก 2-3 วันครับ เพราะเรามีหน้าที่ซื้อ-เตรียม-ทำ-ล้าง-เก็บ-ขนกลับครับ.. พิธีเสร็จประมาณ 10 โมง แต่ครัวกว่าจะได้กลับก็ประมาณบ่าย 2 ครับ ถึงบ้านไม่คุยกับใครอีกแล้วครับ... สลบยาวฝันหรือเปล่าก็จำไม่ได้จริงๆ
    งานของหลวงปู่เนี่ยคนมาจากไหนก็ไม่รู้ครับเยอะจริงๆ คะเนเอาน่าจะเป็นหมื่นครับ เวลาทีมครัวไปกราบหลวงปู่ก็จะดูก่อนครับว่าหลวงปู่มีญาติโยมทางไกลมากราบอยู่หรือเปล่า ถ้ามีเราก็นั่งรอ เพราะเขามาไกลให้เขาเสร็จธุระก่อน พวกเราต้องรอท้ายสุดครับจึงจะได้รายงานหลวงปู่ นั่งฟังคนที่มากราบหลวงปู่มีแต่เรื่องทุกข์ร้อนมาขอบารมีทั้งนั้น(รวมทั้งผู้เขียนด้วยครับ) แค่ฟังก็เหนื่อยแล้วครับ แปลกครับทุกข์ร้อนอะไรมาอยู่ใกล้หลวงปู่เนี่ยเพลินไปหมดไม่เบื่อไม่หิวอยู่ได้เป็นวันๆ ผู้ใหญ่ที่เมตตาที่ผมได้ติดตามเข้าไปรับใช้หลวงปู่ขอเรียกท่านในที่นี้ว่า "แม่หวัด" เดิมเป็นแม่ค้าขายผักในตลาดสามีเดิมรับราชการอยู่หน่วยงาน รพช. ปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปพลาสติก ไปใส่บาตรที่วัดป่ากุงทุกวัน ส่วนซ้อที่พาผมเข้าไปกราบหลวงปู่ครั้งแรก ทำหน้าที่แค่นั้นครับหลังจากนั้นเคยเข้าไปกราบหลวงปู่อีกหรือเปล่าผมไม่แน่ใจจริงๆ ในวันที่ซ้อพาผมไปกราบหลวงปู่ก็ได้พบกับ "แม่หวัด" และผมก็เหมือน"ไม้ผลัด"ที่นักกีฬาวิ่งผลัดส่งให้กัน เพราะมันไม่เคยกลับไปหาคนที่ส่งมันอีกเลย...

    นี่ก็อีก 20 นาทีก็จะเที่ยงคืนแล้วหากท่านคิดว่าสิ่งที่ผมเล่าให้ความเพลิศเพลินก็คอยอ่านตอนต่อไปนะครับ (หวังว่าผมคงไม่ต้องสมัครในนามปากกาใหม่นะครับ...)
     
  19. kennek

    kennek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2006
    โพสต์:
    2,163
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +17,232
    รอติดตาม เรื่องราวของพี่ sinsaeroied ต่อไปนะครับ เพลิดเพลินและชวนติดตาม
    ที่สำคัญ เป็นเรื่องราวของหลวงปู่ ที่หาฟังที่ไหนไม่ค่อยได้ หาฟังยาก :cool:
     
  20. Dragon_king

    Dragon_king เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 เมษายน 2009
    โพสต์:
    730
    ค่าพลัง:
    +1,388
    รวบรวมภาพวัตถุมงคล งานฉลองอายุ 95 พรรษา หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุงครับ (ถ้าขาดตกบกพร่อง หรือลงของท่านใดไม่ครบ ต้องขออภัยไว้ด้วย ) ผมรวบรวมเท่าที่ผมหาได้ครับ
    [​IMG]
    [​IMG]
    เหรียญ รวย เฮง ดี เนื้อทองแดง ฃออนุโมทนากับเจ้าภาพครับ

    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]
    เหรียญ ซุ้มเรือนแก้ว เนื้ออัลบาก้า ขออนุโมทนาบุญ กับผู้สร้างครับ

    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]
    พระสิวลี มวลสารคำหมาก หลวงปู่ศรี มหาวีโร
    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]
    พระผง พระพุทโธ สีดำฝังพระธาตุ

    [​IMG]
    วีซีดี สารคดี ฃีวประวัติหลวงปู่ศรี มหาวีโร
    [​IMG]
    [​IMG]
    พระธรรมเทศนา หลวงปู่ศรี มหาวีโร แผ่น 1 และ แผ่น 2
    [​IMG]
    ประวัติ หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง
    [​IMG]
    พระธรรมเทศนา หลวงปู่ศรี มหาวีโร

    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]
    หนังสือ พระศรี มหาวีโร ผู้มากล้นด้วยบุญบารมี เล่มใหญ่ หนา กระดาษมันอย่างดี ภาพสี สวยมากครับ ขออนุโมทนาบุญกับคณะเจ้าภาพด้วยครับ

    [​IMG]
    ภาพถ่ายหลวงปู่ศรี มหาวีโร ขนาดเท่ากับกระดาษ A4

    ผมก็ต้องขออนุโมทนาบุญกับท่านเจ้าภาพ คณะผู้สร้าง ทุกๆท่านด้วยครับ
    และถ้าหากขาดตกบกพร่องประการใด ผมต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...