กรรมทางกาย วาจา ใจ อย่างไหนมีโทษเป็นบาปมากกว่า

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย paang, 8 กันยายน 2006.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,326
    คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของเศรษฐีพ่อค้าผ้า) ใกล้เมืองบาลัน เวลาเช้าสาวกของนิครนถนาฎบุตรคนหนึ่งชื่อ ทีฆตปัสสีเข้าไปบิณฑบาตในเมืองนาลันทา บริโภคอาหารแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ปาวาริกัมพวัน สนทนากันเรื่องกรรมทางกาย วาจา ใจ ว่าอย่างไหนมีโทษเป็นบาปมากกว่า

    ทีฆตปัสสี : นิครนถนาฎบุตรกล่าวว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่าในการทำบาปกรรม
    พระพุทธเจ้า : เราเรียกว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ไม่เรียกทัณฑ์ และเรากล่าวว่ามโนกรรมมีโทษมากในการทำบาป

    ทีฆตปัสสีกลับไปหานิครนถนาฎบุตร ซึ่งเวลานั้นพักอยู่ที่เมืองนาลันทาเหมือนกัน เล่าเรื่องที่สนทนากับพระสมณโคดมให้อาจารย์ฟัง ซึ่งเวลานั้นอุบาลีคหบดีสาวกคฤหัสถ์คนสำคัญของนิครนถ์นั่งอยู่ด้วย เห็นว่าทีฆตปัสสีกล่าวถูกต้องแล้ว คำของพระสมณโคดมไม่ถูกต้อง

    อุบาลีคหบดีต้องการไปโต้วาทะกลับพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ นิครนถนาฎบุตรก็สนับสนุน แต่ทีฆตปัสสีไม่เห็นด้วยบอกว่า พระสมณโคดมมีมายาสำหรับกลับใจคน (อาวัฏฏนีมายา)

    มโนกรรม


    ดูกร....ทีฆตปัสสี

    ในนิครนถ์ นาฏบุตร บัญญัติกรรม
    ที่ล่วงล้ำ ในจิตไว้ เป็นไฉน
    แล้วบัญญัติ ฑัณฑะ ไว้เท่าไร
    กำหนดไว้ สามอย่างนะ พระโคดม

    หนึ่งกายา สองวาจา สามคือจิต
    กายทำผิด โทษยิ่งใหญ่ จึ่งสาสม
    แล้วศาสนา ของท่าน พระโคดม
    เผยคารม บอกกล่าวเรา ให้เข้าใจ

    พระพุทธองค์ ทรงกล่าว เล่าถึงกรรม
    พระทรงธรรม ชี้ลง ตรงกรรมใหญ่
    มโนกรรม โทษหนัก กว่ากรรมใด
    วจี กาย ไม่เทียมได้ เท่ามโนกรรม

    กรรมนั้นคือ การประกอบ ด้วยเจตนา
    ทางวาจา กาย จิต นะคมขำ
    ทั้งทางดี ทางชั่ว เจตนานำ
    การกระทำ ออกได้สาม ตามทางไป

    ไม่ว่าบุญ หรือบาป หยาบ-ละเอียด
    เป็นความเกลียด หรือความรัก จักแทนไฉน
    สร้างกุศล กุศลช่วย อำนวยชัย
    สร้างอกุศล อกุศลให้ ไม่แทนกัน

    กายกรรม วจีกรรม ทั้งดีชั่ว
    เกิดกับตัว ผู้ทำไว้ ใครแกล้งสรร
    มโนกรรม ก่อให้เกิด ผลอนันต์
    อาจแปรผัน ลึกล้ำ เกินตรึกตรอง

    พระผู้มี พระภาคเจ้า กล่าวไว้ว่า
    กรรมกายา อีกวาจา ยังเป็นสอง
    กรรมที่ให้ ผลมาก ไม่เป็นรอง
    เหนือกว่ากรรม ทั้งผองต้อง มโนกรรม



    เมื่อพบกันพระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องที่สนทนากับทีฆตปัสสีให้อุบาลีคหบดีทราบตามที่เขาทูลถาม ทรงเล่าตรงกับที่ทีฆตปัสสีเล่าทุกประการ อุบาลียืนยันว่าทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่าทัณฑ์ทางใจ (นี่คือตอนหนึ่งของการสนทนา)

    พระพุทธเจ้า : ในการก้าวไปถอยกลับของพวกนิครนถ์ ย่อมเหยียบสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นอันมาก(โดยไม่ตั้งใจ) ในเรื่องนี้นิครนถนาฎบุตรบัญญัติวิบาก (คือผลกรรม) อย่างไร
    อุบาลี : กรรมที่ทำไม่จงใจไม่มีโทษมาก
    พระพุทธเจ้า : ถ้าจงใจเล่า
    อุบาลี : เป็นกรรมที่มีโทษมาก
    พระพุทธเจ้า : นิครนถนาฎบุตรบัญญัติเจตนาไว้ในส่วนไหนของทัณฑ์ทั้ง ๓
    อุบาลี : บัญญัติไว้ในมโนทัณฑ์

    นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทรงชี้ให้ดูว่ามโนกรรมมีโทษมาก แต่อุบาลีก็ยังยืนยันเหมือนเดิม จึงตรัสซักไซ้ไล่เลียงต่อไป
    พระพุทธเจ้า : ในเมืองนาลันทานี้มีคนมาก ถ้าจะมีใครกล่าวว่าเขาจะฆ่าคนในเมืองนาลันทานี้ให้ตายพร้อมกันเพียงครู่เดียวจะทำได้หรือไม่
    อุบาลี : อย่าว่าแต่คนเดียวเลย แม้๑๐คน ๒๐-๕๐ คน ก็ไม่อาจประหารคนในเมืองนาลันทานี้ให้ตายพร้อมกันได้
    พระพุทธเจ้า : ถ้าสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีความชำนาญทางจิตมาในหมู่บ้านนาลันทานี้ กล่าวว่าจะทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้าถ่านด้วยการคิดประทุษร้ายเพียงครั้งเดียวจะทำได้หรือไม่
    อุบาลี : ทำได้อย่างแน่นอน แม้๕๐หมู่บ้านก็ทำได้อย่าว่าแต่หมู่บ้านเดียวเลย

    พระพุทธเจ้า : นี่ก็แสดงว่ามโนกรรมมีความสำคัญเพียงไร
    อุบาลี : พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ชื่นชมต่อภาษิตของพระผู้มีพระภาคตั้งแต่อุปมาข้อแรกแล้ว แต่ที่ทำเป็นยึดมั่นในความเห็นเดิมอยู่ ก็เพื่อที่จะฟังพระปฏิภาณ(ไหวพริบ) ในการตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค
    ต่อจากนั้นอุบาลีคหบดีก็สรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า แจ่มแจ้งเหมือนหงายของที่คว่ำ เป็นต้น ขอถึงพระรัตนตัรยเป็นสรณะตลอดชีวิต

    พระพุทธองค์ทรงเตือนให้ใคร่ครวญเสียก่อน เพราะอุบาลีเป็นคนที่มีชื่อเสียงอยู่ การจะเปลี่ยนความเคารพเลื่อมใสจากลัทธิหนึ่งไปยังอีกลัทธิหนึ่งจำต้องไตร่ตรองให้ดี
    อุบาลีแสดงความเลื่อมใสยิ่งขึ้นและยืนยันการถึงพระรัตนตรัยของตน พระพุทธองค์ตรัสว่าตระกูลของอุบาลีนั้นเป็นเหมือนบ่อน้ำสำหรับพวกนิครนถ์ ควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์อย่างเดิม

    อุบาลีชื่นชมต่อพระพุทธจริยายิ่งขึ้น และทูลว่าเคยได้ยินมาว่าพระสมณโคดมสอนว่า จงให้ทานแก่พวกเราไม่ควรให้แก่พวกอื่น พึงให้ทานแก่สาวกของเราไม่ควรให้ทานแก่สาวกพวกอื่น ทานที่ให้แก่เราและสาวกของเรามีผลมาก ที่ให้แก่ผู้อื่นหามีผลมากอย่างนั้นไม่ แต่ความเป็นจริงที่ประสบด้วยตนเองในบัดนี้ก็คือ พระผู้มีพระภาคชี้ชวนข้าพระองค์ให้ให้ทานแม้ในพวกนิครนถ์

    พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมมีอนุปุพพิกถา เป็นต้น จนอุบาลีคหบดีได้บรรลุธรรมคือพระโสดาปัตติผล เมื่อกลับไปยังบ้านของตนได้สั่งคนเฝ้าประตูบ้านว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปปิดประตูไม่ต้อนรับพวกนิครนถ์ ต้อนรับแต่พระผู้มีพระภาค พระภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา

    ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ยินข่าวนี้จึงบอกแก่นิครนถนาฏบุตร นิครนถนาฏบุตรไม่เชื่อ ในที่สุดได้ไปพิสูจน์ด้วยตนเอง โดยการไปที่บ้านอุบาลี แต่ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างเคย เพียงแต่ให้ปูอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง
    เมื่อออกมาต้อนรับอย่างขัดเสียไม่ได้ก็นั่งบนอาสนะที่ดีกว่า เมื่อสนทนากันไปเป็นเวลานานเห็นว่านิครนถนาฏบุตรยังสงสัยในการเปลี่ยนศาสนาของตน อุบาลีจึงประคองอัญชลีไปทางทิศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ แล้วเปล่งวาจาหลายครั้งว่าตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

    นิครนถนาฏบุตรเสียใจจนอาเจียนเป็นเลือด
    ที่พวกเดียรถีย์หรือนักบวชลัทธิอื่นพูดกันว่า พระสมณโคดมมีอาวัฏฏนีมายาเวทมนต์ สำหรับกลับใจคนนั้น จริงๆแล้วสิ่งนั้นไม่ใช่อื่นไกล สิ่งนั้นคือพระวาจาที่ประกอบไปด้วยเหตุผล ซึ่งผู้ฟังตรองตามแล้วเห็นจริงได้ และตรัสพระวาจานั้นด้วยเมตตา มุ่งประโยชน์และความสุขแก่ผู้ที่มาสนทนาด้วย เมื่อเขาได้มองเห็นเหตุผลอย่างชัดเจนและนำไปปฏิบัติตามแล้วได้ประโยชน์เขาก็เลื่อมใส กลับใจจากลัทธิอื่นมานับถือพระพุทธศาสนา

    อุปาลิวาทสูตร
     
  2. อโศก

    อโศก สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    14
    ค่าพลัง:
    +21
    สาธุ

    ผู้ใดตามดูจิตตน ผู้นั้นจะรอดพ้นจากบ่วงมาร
     

แชร์หน้านี้

Loading...