นิวรณ์ ๕

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย โทรศัพท์, 27 พฤษภาคม 2009.

  1. โทรศัพท์

    โทรศัพท์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    36
    ค่าพลัง:
    +114
    อ้างอิง : ���ó� � - ��дҹʹ����Ѵ��Ң�ع

    การอยู่ร่วมกันนั้นถ้าหากต่างคนต่างรู้หน้าที่ของตัวเอง ก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยเฉพาะหน้าที่ของเรา ที่เรามาอยู่ร่วมกันในที่นี้ส่วนใหญ่เป็นนักบวช ถือว่าเป็นผู้สละแล้ว ในเมื่อเราสละแล้ว หน้าที่ของเราคืออะไร ก็คือปฏิบัติอยู่ในศีล สมาธิและปัญญา

    ศีล...เรารักษาตามสภาพของตนเอง ศีลของพระก็ ๒๒๗ ข้อพร้อมอภิสมาจาร ศีลของเณรก็ ๑๐ ข้อพร้อมสามเณรสิกขา แม่ชีก็ศีล ๘ ฆราวาสทั่วไปก็ศีล ๕ แล้วแต่สภาพของตนเป็นอย่างไรก็รักษาสิกขาบทตามนั้น

    เรื่องของสมาธิเราทำเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ว่าสมาธิที่ไม่ทรงตัวนั้น มีสาเหตุใหญ่มาจากตัวกิเลสหยาบ คือ นิวรณ์ ๕ อย่าง

    นิวรณ์ ๕ อย่าง ถ้าเปรียบเป็นคน ๕ คน เจ้านิวรณ์ ๕ คนนี้ คบไม่ได้จริง ๆ
    กามฉันทะ เป็นนิวรณ์ตัวแรก คือ ความยินดีในรูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสัมผัสระหว่างเพศ เจ้าตัวนี้ถ้าเป็นคนก็"จอมกระล่อนปลิ้นปล้อน" คบไม่ได้ เพราะว่าเดี๋ยวมันก็ชอบรูปสวย เดี๋ยวมันก็ชอบเสียงไพเราะ เดี๋ยวมันก็ชอบกลิ่นหอม เดี๋ยวมันก็ชอบรสอร่อย เดี๋ยวมันก็ชอบสัมผัส มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ อยู่ใกล้อะไรมันไหลไปทางนั้น เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง คนประเภทนี้อย่าไปคบ ไล่มันออกไปจากใจของเรา

    ตัวที่สอง ก็คือ พยาบาท ตัวพยาบาทถ้าเป็นคนทั่ว ๆ ไปก็คือ"จอมอันธพาล" บางทีอยู่เฉย ๆ ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ทำอะไรขัดหูขัดตาหน่อยเดียว ไปไล่โกรธเขาแล้ว ในเมื่อเป็นจอมอันธพาลก็รู้อยู่ว่าคบไม่ได้ อยู่ไปก็เป็นภัยสังคม ไล่ออกไปไกล ๆ อย่าให้เข้ามาในใจของเรา

    ตัวต่อไปคือ ถีนมิทธะ ตัวนี้ก็คือ ความง่วง ความเกียจคร้าน ท้อแท้ไม่มีกำลังใจปฏิบัติ เขาเรียกว่า "จอมขี้เกียจ" คนขี้เกียจก็คบไม่ได้ เพราะจะเอาเปรียบชาวบ้านอยู่ตลอด กินแรงคนอื่นเขา

    ตัวต่อไปเขาเรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ ตัวนี้เป็นความฟุ้งซ่าน ถ้าเป็นทั่ว ๆ ไป ตัวนี้เป็น "หัวขโมย" ขโมยความดีของเราไปหมด พอถึงเวลาเรากำลังตั้งหน้าตั้งตาทำความดี โดนมันขโมย แว่บพาไปคิดอะไรก็ไม่รู้ มันลากเราออกไปจากจุดที่ทำความดี ถ้ารู้ตัวเมื่อไรก็รีบดึงตัวกลับมาทำความดีใหม่ มันก็ย่องมาคอยอยู่ใกล้ ๆ พอเราจะได้ความดีหน่อยก็โดนมันขโมยไปอีกแล้ว พาให้เราฟุ้งซ่านอยู่ตลอด กำลังใจไม่เป็นหนึ่ง

    ตัวสุดท้ายคือ วิจิกิจฉา ต้องบอกว่า มันเป็น "จอมโลเล" ไม่ว่าจะทำอะไรก็จับ ๆ จด ๆ เอาแน่ไม่ได้ ตัดสินใจไม่ขาด

    ดังนั้นบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเป็นคนทั่ว ๆ ไป เราคบมันไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าหากเป็นนักปฏิบัติยิ่งคบไม่ได้ใหญ่ ถ้าอยู่ในใจของเราเมื่อไร สมาธิจะไม่ทรงตัว

    ใจของเราถ้ามันนิ่ง มันใส จะมองเห็นกิเลสในใจของเรา ว่ามีรักโลภโกรธหลงอะไรบ้าง ถ้าเปรียบก็เปรียบเหมือนกับน้ำ น้ำที่ใส...มองลงไปก็จะเห็นว่านี่คือปลา นี่คือสาหร่าย นี่คือดอกบัว นี่คือก้อนหิน นี่คือขยะใต้น้ำ แต่ถ้าหากน้ำมันขุ่นเราก็จะไม่เห็นอะไร

    ตัวกามฉันทะ ความยินดีในรูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับ"น้ำที่เต็มไปด้วยสารพัดสี" สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีม่วง ในเมื่อมันมีแต่สีเต็มไปหมด เราก็ไม่สามารถจะแยกแยะได้ว่าใต้น้ำมีอะไรบ้าง ในเมื่อเราไม่สามารถจะหาได้ว่าใต้น้ำมีอะไร เราก็โดนกิเลสลอบโจมตีอยู่ตลอดเวลา

    ตัวพยาบาท ถ้าเปรียบเป็นน้ำก็เป็น"น้ำเดือด " น้ำที่เดือดพลั่ก ๆ อยู่ มองไม่เห็นหรอกว่าข้างล่างมีอะไร

    ตัวถีนมิทธะ ความขี้เกียจ ความง่วงเหงาหาวนอน ความท้อแท้ ไม่อยากปฏิบัติ เหมือนกับ "น้ำที่ถูกท่วมทับไปด้วยขยะ " มีแต่ขยะเต็มไปหมด มันก็เห็นไม่ได้ว่าใต้น้ำมีอะไร เพราะขยะลอยหน้าเป็นแพ

    ตัวอุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน มันเหมือนกับ "น้ำขุ่น" มันขุ่นอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อขุ่นก็ไม่สามารถจะเห็นได้ว่าใต้น้ำมีอะไร

    ตัววิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ตรงนี้เหมือนกับ "น้ำกระเพื่อม " น้ำที่กระเพื่อมอยู่ สั่นอยู่ มันก็มองไม่ชัดว่าข้างใต้มีอะไรบ้าง

    ดังนั้นหน้าที่ของเราก็คือทำอย่างไรจะทำให้ใจสงบ ให้มันใส ให้มันมองเห็นสภาพของกิเลสที่มันอยู่ในใจของเรา ก็คือ ต้องอยู่กับลมหายใจเข้าออก

    หายใจเข้า...หายใจออกอยู่กับภาพพระ หายใจเข้า...หายใจออกอยู่กับพุทโธ แล้วแต่ว่าเราถนัดแบบไหน ในแต่ละวันพยายามให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกให้มากที่สุด ยืน เดิน นอน นั่ง ดื่ม คิด พูด กิน ทำอะไรก็ตาม ให้ความรู้สึกส่วนหนึ่งอยู่กับภาพพระหรือว่าอยู่กับลมหายใจเข้าออกไว้ ความขุ่นมัวหรือว่าตัวกิเลสทั้งหลายก็จะกินใจเราไม่ได้

    วิธีวัดกำลังใจง่าย ๆ ก็คือ ถ้าช่วงนั้นไม่มีนิวรณ์ ๕ อย่างที่ว่านี้อยู่ในใจ แปลว่าจิตเรามีเกณฑ์คุณภาพอยู่ในส่วนของความดี แต่ถ้าหากมีเมื่อไรแปลว่าตกเกณฑ์ จิตค่อนไปทางชั่วแล้ว ต้องพยายามต่อสู้ ดึงมันให้กลับมาอยู่ในทางดี

    ในแต่ละเวลาจำเป็นที่จะต้องภาวนาอย่างจริงจัง เช่น ช่วงเช้า เรามาภาวนาเอาไว้ ดึงเอาความดีเข้ามาในใจ เพื่อที่ความชั่วจะไม่สามารถเข้าไปได้ เหมือนกับเก้าอี้ตัวเดียว ถ้าความดีมันนั่งอยู่ ความชั่วก็มานั่งแย่งไม่ได้ แต่ถ้าความชั่วมันนั่งอยู่ก่อน รากก็งอกติดเก้าอี้ ไล่มันออกยากมาก

    ดังนั้นช่วงเช้าจึงเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด กำลังใจของเราจะต้องอยู่กับการปฏิบัติ การภาวนา

    การสวดมนต์ การภาวนาเป็นการสร้างใจของเราให้สงบ ให้นิ่ง ให้ใส เอาความดีเข้ามาสู่ใจ เมื่อมีความดีเข้ามาสู่ใจ
    เราจะได้มีความดีให้คนอื่นเขา

    โดยเฉพาะเราซึ่งเป็นนักบวช เป็นพระ เป็นเณร เป็นแม่ชี ถึงเวลาชาวบ้านเขาเลี้ยงเรา เอาข้าว เอาน้ำ เอาขนมมาเลี้ยง ถ้าหากเราไม่มีอะไรตอบแทนเขาเลย เราไปกินของเขาเปล่า ๆ มันก็คงเหมือนกับชาวบ้านทั่ว ๆ ไปที่เข้าร้านอาหาร พอกินอาหารเสร็จก็ชักดาบไม่จ่าย หนีไปเฉย ๆ กลายเป็นพลเมืองร้าย เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความดีให้มีอยู่ในใจของเราให้มากที่สุด เพื่อถึงเวลาส่วนของความดีจะได้เป็นส่วนทดแทนในการที่ญาติโยมให้ความศรัทธาเลี้ยงดูเรา เขาถวายอาหารมา ถวายสิ่งของเครื่องใช้ปัจจัยสี่ ก็หวังผลตอบแทนคือความสุขในภายหน้าของเขา ถ้าหากว่าเราไม่มีความดี ก็เท่ากับว่าเขาไม่ได้ผลตอบแทนอะไร

    ดังนั้น ถ้าในสภาพของนักบวช ในแต่ละเช้าต้องสร้างกำลังใจของตนให้สูงที่สุด ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วพยายามประคับประคองเอาไว้ในแต่ละวัน ให้ยาวที่สุดให้นานที่สุด เพื่อให้เรามีความดีอยู่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

    ส่วนฆราวาสก็พยายามประคับประคองจิตใจให้อยู่ในสมาธิให้ได้นานที่สุดเช่นกัน เพราะว่าไม่อย่างนั้นมันจะพาเราไปฟุ้งซ่านเหลวไหล แล้วรักโลภโกรธหลงก็จะตามมา เมื่อมันมาแล้วมันมามาก เราไล่มันออกได้ยากเพราะฉะนั้นหน้าที่เราแต่ละวันจะทำอย่างไร จะสร้างความผ่องใสให้เกิดขึ้นกับจิตเพื่อที่ตัวสติปัญญาจะได้มองเห็นกิเลสอย่างชัดเจน เพื่อที่ถึงเวลาผู้ใดที่สงเคราะห์เรา เขาก็จะได้บุญได้กุศลอย่างเต็มที่ นี่คือ หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ

    ในความเป็นฆราวาสถ้าหากว่าเราทรงสมาธิได้ มีศีลบริสุทธิ์ อำนาจของศีลสมาธิก็คุ้มตัวเรา ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็อยู่รอดปลอดภัย ขณะเดียวกันถ้าหากว่ามีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นในชีวิต ก็จะมีสติมีปัญญาไปแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ลุล่วงได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพระจะเป็นฆราวาสเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องของความจำเป็น เป็นเรื่องที่ต้องทำเอาไว้ ใครทำใครได้ ทำแทนกันไม่ได้

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ก็ต้องฝากเอาไว้ว่า ไม่ใช่พูดตรงนี้แล้วจำทำแค่ตรงนี้ แต่ว่ามันต้องจำแล้วทำไปตลอดชีวิตของเรา ขึ้นชื่อว่าการกระทำความดี ไม่มีว่าทำแล้วจบลงแค่ไหน ต่อให้บุคคลที่สิ้นกิเลสแล้วท่านก็ยังตั้งหน้าตั้งตาทำความดีอยู่เพราะว่าท่านไม่ประมาทในชีวิต

    ดังนั้น ตัวเราเองที่มีกิเลสท่วมทับอยู่เต็มที่ เราก็ต้องตั้งหน้าสละกิเลส ละกิเลสให้มันเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ถ้าหากมันหมดได้เลยก็ยิ่งดี เพราะว่าเราจะได้หลุดพ้นไปสู่พระนิพพานของเรา ถ้ากิเลสมันท่วม มันทับ มันถ่วง มันหนักอยู่ อย่าว่าแต่จะไปนิพพานเลย แค่เทวดาหรือพรหมก็ไปยากแล้ว เพราะมันถ่วงเราอยู่จนกระทั่งเรากระดิกกระเดี้ยไม่ไหว

    ดังนั้น พยายามชำระใจของตนให้สะอาด รักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ สร้างปัญญาของตนให้เกิด เพื่อที่ถึงเวลาถ้าหากว่าศีลสมาธิปัญญาพร้อมสมบูรณ์ กำลังมันเพียงพอจะได้ตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน ก้าวสู่พระนิพพานพ้นไปจากโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ พ้นไปจากร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ จะได้หลุดพ้นไปสักทีไม่ต้องมาเวียนตายเวียนเกิดให้ลำบากยากเข็ญอย่างที่เป็นอยู่ในปัจุบันนี้อีก

    ดังนั้น หน้าที่ทั้งหลายเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องทำ และทำตลอดชีวิต เว้นไม่ได้ ในแต่ละวันทำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะได้สมกับเป็นนักบวช จึงจะได้สมกับเป็นนักปฏิบัติของเรา วันนี้ก็ฝากไว้แค่นี้แล้วกัน


    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เทศน์ที่เกาะพระฤาษี
    ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๐
    <!-- / message --><!-- sig -->
    <!-- / message --><!-- sig -->
     
  2. ส.เชียงใหม่

    ส.เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    214
    ค่าพลัง:
    +145
    สาธุ..อนุโมทนาธรรมครับ...ขอให้ทุกท่านมีความสุข
    ----------------------------------------------
    ตนเตือนตนของตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
    ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน ตนแชเชือนใครจะเตือนให้ป่วยการ
     

แชร์หน้านี้

Loading...