เรื่องเด่น เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งแดน ล้านนา

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 5 มีนาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งแดน ล้านนา ตอน ปฐมบทพระภิกษุนักบุญ
    16939155_10212322992939633_2324959293685173154_n.jpg
    .. มีใครจะเชื่อหรือไม่ว่า
    มีพระภิกษุธรรมดาๆ องค์หนึ่งซึ่งเข้าร่วมห่มผ้าเหลืองมาเป็นพระเข้าบวชเรียน จากสามเณรสู่พระภิกษุ และ ท้ายที่สุดก็สิ้นอายุขัยในผ้าเหลืองในระยะเวลา ๔๒ ปี โดยไม่เคยได้รับสมณศักดิ์ใดๆ ไม่ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่เคยมีพัดยศ หรือตำแหน่งทางคณะสงฆ์ แต่ทว่า พระภิกษุรูปนี้กลับเป็นผู้สามารถทำให้วัดต่างๆ ที่เชียงใหม่ และลำพูนพัฒนาขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมากจนกระทั่งท่านได้รับการยกย่องว่า "เป็นนักบุญแห่งล้านนาไทย" ซึ่งทุกท่านที่เคยเดินทางสู่แผ่นดิน อาณาจักรลานนาไทยอันเก่าแก่ไม่ว่าจะเป็นเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย ฯลฯ จะไม่มีวันหนีพ้นนามของ ครูบาศรีวิชัย ได้เลย เพราะจังหวัดของหัวเมืองเหนือที่ได้เอ่ยมานี้ล้วนแต่มีผลงานของท่านปรากฏอยู่ทั้งนั้นตลอดชีวิตของท่านไม่เคยทำบาป สร้างแต่ความดีให้แก่สาธารณชน การถูกใส่ความที่ต้องรอนแรมลงมารับการสอบสวนที่กรุงเทพฯ ถึง ๒ ครั้งในชีวิต แต่ก็พ้นมลทินคือผลตอบแทนที่ท่านได้รับ
    ย้อนเวลาหาอดีต

    ขอย้อนหลังจากวันนี้ไปสู่เหตุการณ์เมื่อร่วมศตวรรษก่อน ณ วัดบ้านปาง ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน หรือ หริภุญชัยดินแดนอันเก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่จามเทวีวงศ์ และพระรอด พระคง อันลือชื่อ
    หนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา บ้านปางคือ หมู่บ้านเล็กๆ ในป่าใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยหุบเขาสูงชันสลับซับซ้อน ไม่มีถนนที่จะติดต่อกับตัวจังหวัด หรืออำเภอใกล้เคียงใดๆ ชาวบ้านปางอยู่กันอย่างชนิดที่ว่าตามยถากรรม หรือตามมีตามเกิด ไม่มีโรงเรียน ไม่มีสถานีอนามัย เจ็บป่วยกันขึ้นมา ก็รักษากันด้วยยาสมุนไพร บ้างก็ให้หมอผีรักษา ใครเจ็บป่วยหนักขึ้นมา ก็ต้องแบกหามกันขึ้นเกวียน รอนแรมพากันเข้าไปยังตัวเมืองลำพูน ไปไม่ทันก็ตาย ไปทันก็รอด ถึงทันบางทีก็ไม่รอด ไข้ป่าเป็นไข้ที่รุนแรงถึงตายได้ สัตว์ร้ายก็ชุกชุม ส่วนใหญ่ทำมาเลี้ยงชีพด้วยการทำนากินไปวันวัน ตลอดทั้งปี พอทำได้มากเหลือกิน ก็ไม่รู้ว่าจะไปขายใครที่ไหน ที่พักอาศัยมีไม่กี่ครัวเรือน ต่างรู้จักกันทั้งหมู่บ้าน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ตามประสาชนบทของลานนาไทย ยามพลบค่ำ ก็มีแสงจันทร์เป็นตาส่องสว่าง ในสมัยนั้นใครคิดว่าจะเดินทางเข้าเมืองลำพูน หรือเชียงใหม่ก็ต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๒ อาทิตย์ ถึงจะได้เห็นความเจริญของทั้งสองจังหวัดนี้

    ในหมู่บ้านปางนี้เอง มีหนุ่มน้อยผู้หนึ่ง ซึ่งขยันขันแข็งกับการทำมาหากิน มีนากับควายคู่ยาก ที่เป็นของบิดามารดาทิ้งไว้ให้ หนุ่มน้อยผู้นี้มีชื่อเรียกเหมือนกับที่บิดามารดาทิ้งไว้ให้เลี้ยง

    นายควาย เขาก็เหมือนกับหนุ่มบ้านปางทั้งหลาย ที่เคยได้ฟังเรื่องรามความสนุกสนานของนครพิงค์ จนกระทั่งในที่สุดเขาก็ทนไม่ได้จึงตัดสินใจเดินทางรอนแรมฝ่าป่าอันกว้างใหญ่พยายามเข้าไปสัมผัสแสง สี เสียง ของนครพิงค์ในที่สุด เหมือนบุพเพสันนิวาส หนุ่มควายแห่งบ้านปาง เป็นบ้านป่าอันลี้ลับ ได้พบรักกับสาวเชียงใหม่ ที่ไม่นึกไม่ฝัน สาวเจ้าชื่อ น.ส.อุสาห์ แล้วก็ได้เสียผีตามประเพณีคนเมือง

    จากนั้นหนุ่มควายก็หอบหิ้วแม่สาวอุสาห์เดินทางกลับแนบ สู่บ้านปาง และครองรักกันอย่างมีความสุข ความยากจนก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความรักของนายควาย

    นายควาย และนางอุสาห์ ซึ่งไม่มีนามสกุล เพราะสมัยนั้นพระราชบัญญัตินามสกุลยังมิได้ออกมาใช้ นายควายครองรักกับนางอุสาห์จนกระทั่งทำได้สำเร็จ ๓ คนด้วยกัน คนโตชื่อนายไหว คนที่สองเป็นหญิงชื่อ น.ส.ออน คนที่สามเป็นหญิงชื่อ น.ส.บุญเรือน อีกไม่นานต่อมานายควายกับนางอุสาห์ก็พยายามทำได้สำเร็จเป็นคนที่ ๔ ครอบครัวของนายควายนั้นไม่ใช่เป็นรวย เมื่อเมียเริ่มตั้งท้องเป็นท้องที่ ๔ นายควายก็ต้องยิ่งทำงานหนัก ในยามว่างนอกจากทำไร่ทำนาแล้ว นายควายต้องหาอาชีพเสริมโดยการเข้าป่า บำเพ็ญตนเป็นพรานไปล่าเนื้อหาของป่า เพื่อนำมาแลกสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ไว้สำหรับลูกหญิงหรือลูกชายยังไม่ทราบเครื่องเอ็กซเรย์ไม่มีใช้
     
  2. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ฟ้าฮ้องฟ้าฟาดในวันที่มหานักบุญล้านนากำเนิด
    17098465_10212323019060286_2773058828772722748_n.jpg
    และแล้ววันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ได้รับจารึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์แห่งลานนาไทย ของครูบาศรีวิชัยก็มาถึง
    วันนั้น ตรงกับวันอังคาร เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ใต้) ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๒๔๓ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ อันเป็นปีที่ ๑๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคืนวันนั้น นางอุสาห์ครบกำหนดคลอดบุตร นอนเจ็บท้องอยู่กับบ้าน มีหมอตำแยพื้นบ้านมาคอยช่วยทำคลอดตามมีตามเกิด บนท้องฟ้าในคืน ๑๑ ค่ำ แสงจันทร์แผ่รัศมีสว่างนวล อยู่เหนือขุนเขาในป่าใหญ่ เสียงสัตว์กลางคืนร้องระงม ฟังวังเวงเสียงดูน่ากลัวอย่างนี้ทุกค่ำคืน นางอุสาห์เจ็บท้องร้องครวญคราง คละเคล้ากับเสียงที่อยู่นอกบ้าน นายควาย และเพื่อนบ้าน เฝ้าครุ่นคิดว่าจะเป็นเด็กผู้หญิง หรือเป็นเด็กผู้ชาย สมัยนั้นตาเปล่าไม่สามารถมองผ่านหนังท้องเข้าไปได้ นายควายเฝ้าดูไม่ห่างแบบเฉยๆ เพราะท้องนี้เป็นท้องที่ ๔ แล้วทันใดนั้นเอง ดินฟ้าอากาศที่ดูเป็นปกติกลับมืดครึ้ม เพราะเมฆสีดำเคลื่อนตัวมาบดบังแสงจันทร์แบบไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่เมฆดำเคลื่อนตัวอยู่นั้น ทันทีก็มีเสียงฟ้าร้องคำรนมาแต่ไกลๆ แล้วมาดังสนั่นหวั่นไหวเหนือหลังคาบ้านนายควาย พร้อมสายฝนและพายุกระหน่ำลงมา เสียงฟ้าฟาดเปรี้ยงๆ ไม่ขาดสาย และทันใดนั้นเอง พื้นดินบริเวณบ้านนายควายก็สั่นสะเทือน จนบ้านกระท่อมหลังเล็กของนายควายไหวเอน เหมือนอยากจะหลุดจากพื้นดิน เพื่อหนีเอาตัวบ้านรอดไปจากเสียงฟ้าฟาด ฝนกระหน่ำ แผ่นดินสะเทือน และอีกไม่กี่วินาทีต่อมานั้นเอง ทารกน้อยก็ลืมตามาดูโลกพร้อมกับเสียงร้องที่มาแทนเสียงฟ้าฟาด ช่างเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ฟ้า ฝน ดิน ที่สำแดงฤทธิ์เมื่อครู่นี้ บัดนี้กลับแปรเปลี่ยนเหมือนเดิมที่ก่อนคลอดไม่นานทุกคนที่คอยเฝ้าดูอาการของนางอุสาห์ ต่างพากันตกตะลึงถึงอึ้งและประหลาดใจไปตามๆ กัน ดินฟ้าอากาศในชั่วเวลาสั้นๆ ที่เกิดวิปริตขึ้น ขณะที่ทารกน้อยจะคลอดนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศไทยก็ตาม เมื่อได้เห็นย่อมถือเป็นนิมิตกันทั้งสิ้น ทุกคนที่อยู่ที่บ้านนายควายต่างลงความเห็นว่า ทารกน้อยนี้จะต้องเป็นผู้มีบุญมาเกิด เพราะเวลาตกฟากนั้น แม้แต่ฟ้าดินก็มาคอยรับรู้เสียงพึมพำและด้วยความยินดีที่นายควายได้ลูกชายอีกคนหนึ่ง บรรดาญาติพี่น้องจึงลงความเห็นว่าควรตั้งชื่อว่า อ้าย ฟ้าฮ้อง ( ฟ้าร้อง ) บ้างก็ว่าควรจะตั้งชื่อทารกน้อยนี้ว่า อินตาเฟือน ( อินทร์สะเทือน ) ความหมายว่า แม้แต่พระอินทร์ยังรับรู้ เวลาที่จะเกิดทำให้แผ่นดินไหวครูบาศรีวิชัย มีพี่ชายอีกคนหนึ่งชื่อนายแว่น เป็นลูกคนที่สามของนายควายและนางอุสาห์ แต่นายแว่นเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ครูบาศรีวิชัยจึงเป็นลูกคนที่ ๔ น้องชายหนึ่งคน ชื่อ นายน้อยทา เป็นคนสุดท้องเด็กน้อยที่ได้รับชื่อแต่แรกเกิดว่า อ้ายฟ้าฮ้อง หรือ อ้ายอินตาเฟือน เติบโตขึ้นมาที่บ้านปาง การเลี้ยงดูเหมือนๆ เด็กทั่วๆ ไป นายควายกับนางอุสาห์ไม่ได้เลี้ยงแบบประคบประหงมเหมือนลูกผู้ดีในเมือง แต่ทว่าอ้ายฟ้าฮ้องก็เติบโตด้วยความแข็งแรง

     
  3. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน เด็กใจบุญ
    17103828_10212323070741578_8022930465147923571_n.jpg 17103828_10212323070741578_8022930465147923571_n.jpg
    วันเวลาผ่านไปนับแต่ลูกคนที่ ๔ คือ อ้ายฟ้าฮ้องเกิดมาร่วมครอบครัวนั้น ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของนายควาย เริ่มดีขึ้นจากเดิม การทำนาทำไร่ก็ได้ผลดี เพราะดินฟ้าอากาศเป็นใจ ฝนตกตามฤดูกาล แผ่นดินบ้านปางอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่เป็นเพื่อนบ้านของนายควาย ได้รับรู้เหตุการณ์วันที่อ้ายฟ้าฮ้องเกิด ชาวบ้านได้พูดกับนายควายทำนองที่ว่า อ้ายฟ้าฮ้องท่าจะเป็นผู้มีบุญมาเกิด

    บิดา มารดา อ้ายฟ้าฮ้องก็นึกประหลาดใจอยู่เหมือนกัน ที่อ้ายฟ้าฮ้องไม่เหมือนลูกคนอื่น หรือเด็กชาวบ้านทั่วๆ ไป ในข้อที่ว่า อ้ายฟ้าฮ้องเป็นเด็กเงียบขรึม ไม่ค่อยจะพูดค่อยจะจา แถมยังไม่เล่นหัวมั่วสุมกับเพื่อนในวัยเดียวกันด้วย สิ่งเหล่านี้ นายควายคอยสังเกตเห็นตั้งแต่อ้ายฟ้าฮ้องมีอายุได้ ๗ ขวบ อีกอย่างหนึ่งที่นายควาย และนางอุสาห์ได้ค้นพบในตัวลูกชายคนนี้ก็คือ ฟ้าฮ้องเป็นเด็กใจบุญที่สุด เขาไม่เคยรังแกสัตว์เลยแม้แต่น้อย แม้แต่ควาย ( ชื่อคงจะเหมือนบิดา ) มีแต่ที่จะพามันไปหากินหญ้า และคอยอาบน้ำให้เป็นประจำ ค่ำๆ ก็สุมไฟไล่ยุงให้
    เรื่องราวที่แสดงถึงความใจดีของครูบาศรีวิชัยที่มีมาตั้งแต่เด็กนั้น ในหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัยก็เขียนเล่าไว้ช่วงนี้ โดยเฉพาะหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัยฉบับเก่าที่สุดคือ ค่าวซอเรื่องครูบาศรีวิชัยบ้านปาง ซึ่ง ท้าวสุนทร เป็นผู้แต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นภาษาไทยยวนนั้น เป็นหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัยเล่มแรก ที่เป็นแม่บทให้นักเขียนประวัติครูบาศรีวิชัยในสมัยหลัง ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องของครูบาศรีวิชัย หนังสือเก่าอีกเล่มหนึ่งเขียนถึงครูบาศรีวิชัยก็คือ ครูบาศรีวิชัยวัดบ้านปาง ซึ่ง เจ้าสุริยวงศ์สิโรรส เป็นผู้เขียนเป็นอักษรไทยยวนเช่นกันเรื่องความใจบุญของครูบาศรีวิชัย สมัยเมื่อยังเป็นเด็ก มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เขียนเล่าไว้ว่า วันหนึ่งที่นายควายไปจับปลามาจากลำห้วย ได้ปลาตัวใหญ่มาขังไว้ในตุ่มน้ำ เพื่อเตรียมไว้ทำอาหารกินมื้อเย็น แต่พอนางอุสาห์จะนำปลาตัวนั้นมาฆ่า ปรากฏว่าปลาที่ขังไว้หายไป ปล่อยให้ตุ่มและน้ำอยู่เป็นเพื่อนกันเฉยๆ นางอุสาห์ครุ่นคิดอยู่ว่าปลาไม่มีทางจะกระโดดหนีหายไปได้ เพราะสามีได้เอาไม้แผ่นใหญ่ ปิดฝาตุ่มไว้อย่างมิดชิด นายควายเรียกลูกๆ มาถามอย่างโกรธ ทุกคนก็บอกว่าไม่ได้ปล่อยปลา จนอ้ายฟ้าฮ้องรับสารภาพ พร้อมน้ำตาที่กำลังไหลรินว่า ตนเองนำปลาที่อยู่ในตุ่มไปปล่อยเอง อ้ายฟ้าฮ้องบอกกับบิดามารดาว่า เขาสงสารปลาตัวนั้นที่จะต้องตาย และเอามันมาเป็นอาหารกิน เขาจึงนำปลาตัวนั้นไปปล่อยเสียนายควาย และนางอุสาห์ก็อึ้งอยู่พักหนึ่ง เพราะไม่สามารถที่จะหาเหตุผลอะไรมาโต้แย้งอ้ายฟ้าฮ้องลูกชายคนนี้ยิ่งเติบโตขึ้น อ้ายฟ้าฮ้องก็ยิ่งสร้างความประหลาดใจให้กับพ่อแม่หนักยิ่งขึ้น นั่นก็คือ อ้ายฟ้าฮ้องไม่ยอมแตะต้องอาหารทุกชนิดที่มีเนื้อสัตว์ปะปนอยู่ อ้ายฟ้าฮ้องจ้องแต่จะกินผัก กับน้ำพริกเป็นประจำทุกมื้อ โดยเฉพาะน้ำพริกหนุ่ม และน้ำพริกแดง กินได้ทุกมื้อโดยไม่เบื่อ

    นายควาย ได้รับคำร้องขอจากอ้ายฟ้าฮ้องว่า ขอให้เลิกเข้าป่าล่าสัตว์เพื่อเอามากินเป็นอาหาร หรือว่าจะนำไปขายก็ดี สัตว์ทุกชนิดย่อมรักชีวิตของมัน การล่าสัตว์ถือว่าเป็นการทำบาปอย่างยิ่ง นายควายจึงต้องหันมาทำเพียงแต่ไร่นาเพียงอย่างเดียวเพราะกลัวลูกชายโกรธ เมื่อร้องขอจากผู้เป็นบิดาได้เช่นนี้ อ้ายฟ้าฮ้องมีกำลังใจที่ช่วยพ่อแม่ทำงานหนักมากกว่าเดิม

    งานที่อ้ายฟ้าฮ้องชอบที่สุดในยามเด็กนั้นก็คือ นำวัวและควายไปเลี้ยง เพราะเขาจะมีโอกาสได้อยู่เงียบๆ ตามลำพัง และสถานที่ที่อ้ายฟ้าฮ้อง ชอบไปอยู่เสมอในเวลาที่ว่างก็คือ วัดบ้านปาง ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ครูบาขัติ เป็นเจ้าอาวาส มีหนุ่มชาวบ้านปางบวชเรียนอยู่หลายองค์ สมัยนั้นวัดบ้านปางเป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่เชิงเขา ชายท้องทุ่งของหมู่บ้านปาง กุฏิและโบสถ์ก็ล้วนแต่สร้างด้วยไม้ เป็นที่ชุมนุม ทำบุญ และฟังเทศน์ฟังธรรม ครูบาขัติเจ้าอาวาสก็เป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านปางเป็นอย่างมาก

    คำว่า ครูบา ชาวคนเมืองใช้เรียกพระภิกษุที่แก่พรรษา บวชเรียนมานานและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นพระภิกษุที่มีสมณศักดิ์หรือไม่ก็ตาม หากได้ขึ้นชื่อว่าครูบาแล้ว ก็เป็นอันรู้กันได้เลยว่าเป็นพระภิกษุที่มีเกียรติคุณ

    ปกติชาวเมืองเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเมืองเชียงใหม่ และลำพูนจะเรียกพระภิกษุว่า ตุ๊เจ้า แม้แต่ครูบาศรีวิชัยนั้น เมื่อแรกเขาก็เรียก ตุ๊เจ้าบ้านปาง แต่ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้กระทำสาธารณประโยชน์นานับปการ และปฏิบัติตัวอยู่ในคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาจนเป็นที่เคารพเลื่อมใสของผู้คนทั่วไป จึงได้เปลี่ยนการเรียกจากพระศรีวิชัย มาเป็น ครูบาศรีวิชัย สืบมา

    วันแล้ววันเล่าที่อ้ายฟ้าฮ้องไปที่วัดบ้านปาง ยิ่งนานวันก็ยิ่งจับใจในความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่ได้เห็น ประการสำคัญที่สุด อ้ายฟ้าฮ้องอยากจะได้เรียนหนังสือ ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีโรงเรียนเลยสักหลัง ถ้าใครอยากเรียนหนังสือก็ต้องไปที่วัด โดยได้บวชแล้วก็เรียนพระธรรมวินัยควบคู่ไปด้วย พี่ชายคนโตของอ้ายฟ้าฮ้องคือ นายไหว ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่ง ที่วัดบ้านปางนี้เอง อ้ายฟ้าฮ้องได้เห็นพี่ชายห่มดองผ้าเหลือง มีใบหน้าดูอิ่มเอิบ ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนยกมือไหว้ ทำให้อ้ายฟ้าฮ้องครั่นเนื้อครั่นตัวอย่างใหญ่หลวง อยากจะบวชเรียนกับเขาบ้าง
     
  4. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน รักไม่ยุ่งมุ่งแต่งาน
    17103320_10212335666536465_596187833008477803_n.jpg
    แต่กาลเวลายังคงผ่านไปพร้อมกับอ้ายฟ้าฮ้องเติบโตเป็นหนุ่มวัยรุ่น ปกติธรรมดาของหนุ่มวัยรุ่นทั้งหลายแหล่ มักจะชอบชีวิตติดสนุก ยามมีงานปอยตามวัด ก็พยายามพาสาวเที่ยว หรือไม่ก็ ชอบไปแอ่วบ้านสาวๆ ตามบ้านต่างๆ ที่มีลูกสาวที่จะพอไปวัดไปวาได้ สิ่งเหล่านี้เป็นประเพณีอันดีงามของคนเมืองตั้งแต่ดั้งเดิม แต่... สำหรับหนุ่มฟ้าฮ้องแล้ว บื้อ...ไม่เคยสนใจเรื่องพันนี้เลย เมื่อเริ่มหนุ่มก็โหมกำลังช่วยป้อช่วยแม่ทำนาทำไร่อย่างแข็งแรงยิ่งกว่าพี่น้องคนใดๆ จนเป็นที่รักใคร่ของป้อแม่เป็นอย่างยิ่ง

    อ้ายฟ้าฮ้องทำงานหนักราวกับจะหยั่งรู้ว่า ในชีวิตของเขานั้น โอกาสที่จะทำงานรับใช้ตอบแทนพระคุณบิดามารดานั้นมีน้อยมาก

    ปี พ.ศ. ๒๔๓๙

    อ้ายฟ้าฮ้องเป็นหนุ่มฉกรรจ์วัย ๑๘ ปี ความเปลี่ยนแปลงก็มาถึงชีวิตเขา ด้วยความฝังจิตฝังใจในสิ่งที่เขาได้พบเห็นจากวัดบ้านปาง วันหนึ่งอ้ายฟ้าฮ้องจึงบอกกับผู้เป็นบิดาว่าตนอยากจะบวช (คำของอ้ายฟ้าฮ้องนี้ มันไม่ประหลาดใจเลยสำหรับนายควาย และนางอุสาห์) เพราะทั้งสองรู้ดีว่า สักวันหนึ่งจะต้องได้ฟังคำขอนี้จากอ้ายฟ้าฮ้อง ได้ดูจากพฤติกรรมตอนเล็กๆ แล้ว เป็นสิ่งที่ยืนยันแน่ชัดว่าชีวิตของลูกชายคนนี้ เห็นทีจะต้องอยู่ในผ้าเหลืองแน่แท้

    ในหนังสือเก่าที่เขียนถึงประวัติครูบาศรีวิชัย .มีอยู่ถึงตอนนี้ว่า

    นายควายได้ถามลูกชายว่า "ทำไมถึงอยากบวช?"
    อ้ายฟ้าฮ้องได้พูดถึงสิ่งที่ไม่น่าจะมีอยู่ในหัวเด็กหนุ่มเลยเพราะหนังสือก็ไม่ได้เรียน อ้ายฟ้าฮ้องตอบพ่อว่า

    "การที่อยากบวชก็เพราะเห็นว่าพ่อ และแม่ครอบครัวพี่น้องที่อยู่ ทำไมถึงมาอยู่ในที่ทุรกันดารเช่นนี้ พ่อและแม่ยากจน ทำไมไม่ไปเกิดอยู่ในเมืองมีเงินทองร่ำรวย เขาคิดว่าเรื่องเช่นนี้เพราะในชาติปางก่อน ได้สร้างและสะสมกรรมดีไว้น้อยนัก ชาตินี้จึงต้องลำบาก ฉะนั้นการที่อยากบวชเรียนมิใช่หลีกหนีความลำบาก เพื่อไปหาความสุข แต่ต้องการร่ำเรียนประพฤติปฏิบัติธรรม และกระทำความดีในทางพระ เพื่อที่จะให้กรรมดีนั้นเป็นอานิสงส์ หรือเนื้อนาบุญแก่บิดามารดา ที่จะมีผลส่งไปชาติภพต่อไป เมื่อไปเกิดใหม่จะได้ไม่ต้องลำบากอย่างชาตินี้ครับ"

    ดังนั้น ...ถึงแม้ว่าอ้ายฟ้าฮ้องจะเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวก็ตาม นายควาย และนางอุสาห์ก็ยินดีให้ลูกชายไปบวชเรียนสมความปรารถนา ซึ่งโดยปกติแล้วคนเมืองชาวเหนือนิยมให้ลูกบวชเณร ทั้งนี้ก็เพราะความนิยมที่ว่า บวชเณรนั้นสามารถบวชเรียนได้ตั้งแต่อายุ ๘ - ๙ ขวบขึ้นไป

    เด็กชายในวัยนี้ย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีราคีใดๆ ไม่เหมือนยุคปัจจุบันนี้มีหลายราคี และหลายราคาหาไม่ยากอีกด้วย .การได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นการบวชเณร หรือบวชพระก็ตาม เมื่อบวชแล้วก็จะมีอานิสงส์แรงส่งผ่านมาถึงผู้เป็นพ่อและแม่

    คนชาวเมืองเหนือแต่เดิม จึงจัดพิธีบวชเณร หรือเรียกกันว่า บวชลูกแก้ว มีพิธีการอย่างใหญ่โตยิ่งกว่าการบวชพระ ซึ่งแม้กระทั่งทุกวันนี้พิธีบวชลูกแก้วก็ยังเป็นที่นิยมของคนเมืองเหนืออยู่
     
  5. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน สามเณรฟ้าฮ้อง
    16997938_10212335680976826_7996121460411268739_n.jpg 16997938_10212335680976826_7996121460411268739_n.jpg
    นายควาย ได้นำอ้ายฟ้าฮ้องลูกชายสุดที่รักไปหาครูบาขัติ ณ วัดบ้านปาง ซึ่งสมัยนั้นวัดบ้านปางอยู่ติดเชิงเขา เพื่อขอให้ครูบาขัติจัดการบวชให้กับอ้ายฟ้าฮ้อง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อ้ายฟ้าฮ้องจะดีใจเพียงใด ที่จะได้บวชเรียนสมใจปรารถนา

    ๑๘ ปี แห่งชีวิตทางโลกสิ้นสุดลง อ้ายฟ้าฮ้อง หรือ อินตาเฟือน ได้ก้าวขาเข้าสู่อาณาจักรใหม่อันบริสุทธิ์ของพุทธจักร ตลอดชีวิตตั้งแต่ได้เข้าอยู่ใต้ผ้าเหลืองเป็นสามเณรนั้น อ้ายฟ้าฮ้องไม่เคยเบียดเบียนผู้ใดให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่เคยฆ่าสัตว์ ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับอีนายคนไหน ฉะนั้นอ้ายฟ้าฮ้องจึงก้าวเข้าสู่พุทธจักรด้วยความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง

    สามเณรฟ้าฮ้อง หรือ อินตาเฟือนได้ใช้ชีวิตในทางธรรมนั้น ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างหนัก สมัยนั้นยังหาผู้รู้ภาษาไทยที่จะสอนหนังสือไทยได้ยาก โดยเฉพาะในชนบทบ้านป่าอย่างบ้านปาง

    สามเณรฟ้าฮ้อง จึงเริ่มเรียนหนังสือ ด้วยอักขระพื้นเมืองที่ปรมาจารย์ได้จารึกไว้ ด้วยใบลาน แต่โบราณมา พร้อมกับศึกษาภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งจะเป็นหนทางเปิดสู่การศึกษาพระธรรมคำสอนต่างๆ สามเณรฟ้าฮ้องเป็นเด็กที่ขยัน สิ่งนี้ที่ครูบาขัติได้เล็งเห็นความมุมานะ จึงเกิดความเอ็นดูสามเณรฟ้าฮ้องยิ่งนัก

    ๑ ปีผ่านไป

    สามเณรฟ้าฮ้องกับการเจริญวัย ก็สามารถอ่านเขียนภาษาไทยพื้นเมือง เรียนรู้อักขระโบราณ เริ่มแตกฉานในภาษาบาลี และสันสกฤต ในตำราพระธรรมคำสั่งสอนในสมัยนั้น ล้วนแต่จารึกไว้ด้วยอักษรพื้นเมือง บาลี สันสกฤตทั้งสิ้น

    ครูบาขัติท่านแก่กล้าในด้านวิปัสสนากรรมฐาน ได้เห็นว่าสามเณรฟ้าฮ้องสนใจศึกษา จึงเริ่มสอนวิปัสสนากรรมฐานให้ ทั้งๆ ที่ยังเป็นสามเณรอยู่

    แทบจะทุกวัน เมื่อสามเณรฟ้าฮ้องว่างจากการเรียนหนังสือแล้ว ก็มักจะเดินขึ้นไปบนยอดเขา อันอยู่เหนือวัดบ้านปางขึ้นไป ซึ่งบนยอดเขาแห่งนั้นเป็นที่ร่มรื่น มีหมู่พันธุ์ไม้น้อยใหญ่ขึ้นเป็นดง อยู่บนที่ราบยอดเขาเหมือนปลีกวิเวก สามเณรฟ้าฮ้องขึ้นไปฝึกวิปัสสนา

    ๒ ปี กว่าๆ ผ่านไป

    สามเณรฟ้าฮ้องมีอายุครบบวช จึงกลับไปหาโยมบิดามารดาและแจ้งว่า จะขออุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อ ซึ่งก็ได้รับอนุญาต

    ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ สามเณรฟ้าฮ้องก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดโดยมีครูบาสมณะ แห่งวัดบ้านโฮ่งหลวงเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ไม่ปรากฏว่าพระกรรมวาจาจารย์เป็นใคร

    เมื่ออุปสมบทแล้ว ภิกษุฟ้าฮ้องได้มีฉายานามว่า ศิริวิชโยภิกขุ แต่ชาวบ้านปางเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า พระศรีวิชัย

    นี่คือเหตุการณ์หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยเกิดได้ ๒๑ ปี
     
  6. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ครูบาขัติ อาจารย์องค์แรกของพระศรีวิชัย
    17021920_10212335705537440_7429735348549497019_n.jpg
    ท่านมีจิตเมตตา ปรานีต่อพระศรีวิชัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลังจากที่ครูบาขัติได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ ให้จนหมดสิ้นแล้ว ครูบาขัติได้พิจารณาเห็นว่าพระภิกษุอย่างพระศรีวิชัยนั้น เป็นพระภิกษุหายากยิ่ง เพราะมีความสมถะ รักสันโดษ ประพฤติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ยิ่งกว่าพระภิกษุรูปใดที่ท่านเคยพบเห็นมาก่อน ถ้าหากว่าพระศรีวิชัยได้ศึกษาร่ำเรียนมากกว่านี้แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างยิ่ง

    ครูบาขัติเห็นควรว่าจะนำพระศรีวิชัยไปศึกษาร่ำเรียนวิชาอาคมจากครูองค์อื่นที่มีความรู้มากกว่าท่าน ในสมัยนั้นมีสำนักของ ครูบาอุปละ แห่งวัดดอยแต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลทาทุ่งแฝง อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็นนักวิปัสสนากรรมฐานที่เก่งที่สุดในยุคนั้น ครูบาอุปละมีวิชาอาคม เป็นที่เคารพยกย่องของผู้คนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคนเมือง หรือชาวป่าชาวเขาก็เป็นสานุศิษย์ของครูบาอุปละเป็นจำนวนมาก

    ครูบาขัติจึงคิดสนับสนุน พระศรีวิชัยให้ไปร่ำเรียนวิปัสสนากรรมฐาน และเวทย์มนต์อาคมขลังต่างๆ จากครูบาอุปละ พระศรีวิชัยได้รับทราบเจตนาดีของอาจารย์ก็เป็นปลื้ม นำข่าวเรื่องนี้ไปแจ้งแก่โยมบิดามารดา พร้อมกับขอลาไปศึกษาต่อที่วัดดอยแต

    พระศรีวิชัยจึงได้เดินทางออกจากวัดบ้านปาง มุ่งหน้าสู่ตำบลทาทุ่งแฝง กิ่งอำเภอแม่ทา ในสมัยนั้นปี พ.ศ. ๒๔๔๒ นั้นเอง เป็นครั้งแรกที่เดินทางออกจากบ้าบปางถิ่นมาตุภูมิ และไม่ปรากฏในหนังสือเล่มใดเลยที่กล่าวถึงพระศรีวิชัยว่า เคยเดินทางไปพ้นจากบ้านปาง ไม่ว่าจะเป็นสมัยเด็กที่ยังมีชื่อว่า อ้ายฟ้าฮ้อง ในสมัยนั้นการเดินทางจากบ้านปาง ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนไปยังกิ่งอำเภอแม่ทานั้น ถึงแม้จะอยู่ในเมืองเดียวกันคือลำพูนก็ตาม ต้องเดินด้วยเท้า และเกวียน รอนแรมไปในป่า ขึ้นเขาหลายราตรี กว่าจะถึงวัดดอยแต ของครูบาอุปละ

    ณ ที่วัดดอยแต พระศรีวิชัยได้พบปะเพื่อนพระภิกษุจำนวนหลายรูป ที่มาร่ำเรียนศึกษากับครูบาอุปละ วัดดอยแตเป็นวัดเก่าแก่ และใหญ่ มีชื่อเสียงมานาน ผิดกับวัดบ้านปาง ที่เปรียบเสมือนสำนักสงฆ์ วัดดอยแต วัดเป็นวัด

    ไม่นานต่อมา

    พระศรีวิชัยก็สามารถชนะจิตใจครูบาอุปละ แห่งสำนักวัดดอยแต ได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรศึกษาร่ำเรียนวิชาต่างๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ ครูบาอุปละเจ้าสำนักสนใจ และรักใคร่ในตัวพระศรีวิชัยกว่าศิษย์อื่นๆ และได้ถ่ายทอดวิชาให้เต็มที่

    ครูบาอุปละนับได้ว่าเป็นอาจารย์องค์ที่ ๒ ของครูบาศรีวิชัย และครูบาอุปละก็เป็นอาจารย์องค์สุดท้ายด้วย เพราะหลังจากนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าพระศรีวิชัยได้ไปศึกษาวิชาอื่นใด จากอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งอีก แต่พระศรีวิชัยก็สามารถมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่ร่ำลือ เพราะการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านพิจารณาเห็นว่าถูกต้อง ด้วยตัวเอง

    พระศรีวิชัยร่ำเรียนอยู่สำนักครูบาอุปละ ประมาณ ๑ ปี ก็ศึกษาวิชาของอาจารย์จนหมดสิ้น จึงได้อำลาครูบาอุปละกลับวัดบ้านปางเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พร้อมวิชาความรู้ต่างๆ และระเบียบวินัยสงฆ์
     
  7. ra_15

    ra_15 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    155
    ค่าพลัง:
    +116
    อนุโมทนาครับ สาธุ สาธุ สาธุ
     
  8. gun2555

    gun2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    701
    ค่าพลัง:
    +1,205
    สาธุ นาม ครูบาเจ้าศรีวิชัย นี้สุดยอดแล้ว
     
  9. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน กลับถิ่นกำเนิด
    17098574_10212343268246503_6106151464408426383_n.jpg
    การกลับมาสู่วัดบ้านปางอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านปางหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้เกียรติคุณของพระศรีวิชัย เริ่มเป็นที่ปรากฏและล่ำลือในหมู่บ้านปาง เพราะการปฏิบัติประพฤติอย่างเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของท่านเอง พระศรีวิชัยนั้นตั้งแต่เด็กมาแล้วท่านไม่กินเนื้อสัตว์เลย เมื่อบวชเรียนแล้วก็ไม่ฉันอาหารทุกชนิดที่มีเนื้อสัตว์เจือปน ท่านฉันแต่ผักและข้าว และฉันวันละ ๑ มื้อ ไม่เสพหมาก เมี่ยง และบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมี่ยงนั้นปกติเป็นที่นิยมของคนเมืองชาวเหนือทั่วไป ที่ชอบอมเมี่ยงอยู่ตลอดเวลา พระภิกษุอื่นๆ ทั่วๆ ไป ฉันเมี่ยงเป็นปกติไม่ผิดพระธรรมวินัยแต่ประการใด แต่สำหรับพระศรีวิชัย ท่านไม่แตะต้องเลย

    เพียงความประพฤติอันเคร่งครัดของพระศรีวิชัยเพียงแค่นี้ ท่านก็เอาชนะใจชาวบ้านปางทั่วไปที่เล่าลือยกย่องว่า พระศรีวิชัยเป็นภิกษุสมถะอย่างยิ่ง สมัยเมื่อพระศรีวิชัยกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านปางอีกครั้งหนึ่งนั้น ครูบาขัติมีอายุมากแล้ว พระศรีวิชัยได้ปรนนิบัติรับใช้อาจารย์เป็นอย่างดียิ่ง เป็นการสนองพระคุณอันยิ่งใหญ่เสมือนบิดาของท่าน ที่ได้อบรมมาก่อนหน้าที่จะมาเป็นสามเณร

    ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลังจากพระศรีวิชัยได้กลับมาอยู่วัดบ้านปางประมาณ ๓ ปี ครูบาขัติได้มรณภาพ วัดบ้านปางจึงขาดเจ้าวัดที่จะปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร ในฐานะที่พระศรีวิชัยมีความประพฤติอันดีงาม จึงได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าวัดบ้านปาง นับตั้งแต่พระศรีวิชัยกลับคืนมาบ้านปาง จนกระทั่งครูบาขัติมรณภาพนั้น เป็นช่วงระยะเวลา ๓ ปีนั้น เป็นระยะเวลาที่พระศรีวิชัยเริ่มเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสู่ชาวป่าชาวเขาในละแวกใกล้เคียงเป็นครั้งแรก

    บ้านปางเป็นหมู่บ้านคนเมือง ที่ล้อมลอบด้วยหมู่บ้านชาวป่าชาวเขาหลายเผ่า และเผ่าที่มีมากในแถบนั้นได้แก่ พวกยาง หรือกระเหรี่ยง พวกหนึ่งก็คือ พวกยางเปียง อันหมายถึงยางที่อยู่บนพื้นที่ราบ ส่วนยางหรือกระเหรี่ยงอีกพวกหนึ่งก็คือ ยางดอย ที่มักจะตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บนเขา นอกจากชาวเขาเผ่ายางแล้วก็ยังมี มูเซอร์ ข่า ขมุ อีก้อ แม้ว ที่สร้างบ้านอยู่กระจัดกระจายในเขตุอำเภอลี้ ชาวเขาเหล่านี้ เป็นผู้ไม่มีศาสนา ล้วนแต่นับถือผีเป็นชีวิตจิตใจ มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นอดๆ อยากๆ น่าสงสารยิ่งนัก

    การกลับมาสู่บ้านปางครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในความคิดของพระศรีวิชัยก็คือ จะทำอย่างไร? จึงจะใช้ธรรมของพระพุทธองค์ ช่วยให้ชาวป่าชาวเขาเหล่านั้น มีความเป็นอยู่ที่ดีจากเดิม

    ในประวัติที่พระศรีวิชัยได้ร่ำเรียนศึกษาอย่างหนักนั้น ท่านได้พบสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะประพฤติปฏิบัติตามรอยพระพุทธองค์ นั่นก็คือ ในสมัยพุทธกาลเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ได้เที่ยวจาริกเผยแพร่พระธรรม ให้แก่หมู่ชาวชมพูทวีปในถิ่นกันดารน้อยใหญ่ เพื่อให้ชาวชมพูทวีปหลุดพ้นจากความทุกข์ พระพุทธศาสนาจึงได้อุบัติขึ้นในกาลครั้งนั้น ชั่วระยะเพียง ๔๕ ปี ที่พระองค์ทรงเผยแพร่พระธรรม และทำให้เกิดพระภิกษุ ภิกษุณีขึ้นมากมาย เป็นพระอรหันต์หลายพันองค์

    เมื่อความคิดเช่นนี้ได้เกิดขึ้นกับพระศรีวิชัย ท่านจึงเริ่มออกธุดงค์ไปในเขตอำเภอลี้เป็นเขตแรก เมื่อไปสถานที่ใดมีชาวป่าชาวเขาอยู่มาก ท่านก็ได้ปักกลดอยู่แห่งละหลายๆ วัน แนะนำให้ชาวป่าชาวเขาให้รู้จักนับถือในพุทธศาสนา
    พระศรีวิชัยนับเป็นพระธรรมจาริกองค์แรกแห่งลานนาไทย ที่มุ่งเผยแพร่พระธรรมเข้าไปสู่ชาวเขาเผ่าต่างๆ วันเวลาผ่านไป ชาวป่าชาวเขาก็เริ่มเข้าใจศาสนาพุทธมากขึ้น เริ่มเห็นแสงสว่างแห่งชีวิต พร้อมๆ กับความนับถือในตัวพระศรีวิชัย ครูบาศรีวิชัยนั้นท่านเป็นนักจิตวิทยาชั้นเยี่ยม การไปจาริกอบรมสอนชาวบ้านป่านั้น ท่านไม่ได้ไปมือเปล่า ท่านมีของติดมือไปด้วยเช่น สมุนไพร ยารักษาโรคต่างๆ ผู้ที่เจ็บป่วยไข้ได้อาศัยยาของท่าน ซึ่งแน่นอนย่อมจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเวทมนต์คาถาของหมอผีประจำหมู่บ้าน

    พระศรีวิชัยท่านมีอัจฉริยะในด้านภาษา สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ท่านจะพูดภาษาชาวเขาได้หลายเผ่า ซึ่งทำให้การเผยแพร่หลักธรรมของท่านเป็นไปด้วยความสะดวกขึ้น ตลอดระยะเวลา ๓ - ๕ ปีแรก ที่ท่านกลับสู่บ้านปางนั้น พระศรีวิชัยมักจะออกธุดงค์ไปเรื่อยๆ ตามเวลา และโอกาสที่จะอำนวย พระศรีวิชัย ได้จาริกไปทั่วเขตอำเภอลี้ เรื่อยไปในเขตอำเภอ บ้านโฮ่ง แม่ทา ป่าซาง ทั้งคนเมือง หมู่บ้านชนบท และชาวป่าชาวเขา ชื่อเสียงของพระศรีวิชัยกับวัดบ้านปางที่ไม่มีใครเคยรู้จักก็แพร่หลาย โดย ตุ๊เจ้าแห่งบ้านปาง
     
  10. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ต๋นวิเศษ
    17155246_10212343286086949_8569277235700064574_n.jpg
    ณ บัดนี้พระศรีวิชัย ได้รับการยกย่องจากชาวป่าชาวเขา จากคนเมืองทั่วไปในเขตชนบทประเทศแห่งนี้ ชาวเขาจำนวนหลายเผ่า เริ่มหันมานับถือพระพุทธศาสนา แทนการนับถือผี รวมทั้งคนเมืองในหมู่บ้านชนบทต่างๆ ก็นิยมนำลูกหลาน ไปฝากตัวให้เป็นศิษย์ของพระศรีวิชัย วัดบ้านปาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะก่อนการเข้าพรรษา จะมีชาวบ้านจากท้องถิ่นต่างๆ นำบุตรหลานไปบรรพชาเป็นพระภิกษุ ที่วัดบ้านปาง เพื่อให้พระศรีวิชัยได้อบรมสั่งสอน และเรียนหนังสือธรรม จนกระทั่งเมื่อครูบาขัติมรณภาพแล้ว เกียรติคุณของพระศรีวิชัยก็มีมากขึ้น และมีผู้เรียกพระศรีวิชัยเป็น ครูบาศรีวิชัย หรือ ชาวบ้านบางคนเรียกว่า ต๋นวิเศษ คือ เป็น ผู้วิเศษ นั่นเอง

    คำพูดต่างๆ ที่ชาวบ้านเรียกครูบาศรีวิชัยได้แพร่ออกไปเรื่อยๆ ว่า ครูบาศรีวิชัย ตุ๊เจ้าบ้านปาง ครูบาศรีวิชัยสามารถหยั่งรู้จิตใจคน คาดคะเนภาวะจิตใจคนได้เหมือนเทวดา เป็นผู้วิเศษ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ชาวป่าชาวเขา ให้พ้นจากความทุกข์ หรือเจ็บป่วยไข้ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ หรือไกลจากวัดบ้านปางก็ตาม ครูบาศรีวิชัยก็ไปช่วยให้พ้นจากความทุกข์

    บางคนบางกลุ่มเล่าลือกันหนักขึ้นไปอีกว่า พระอินทร์ได้เหาะลงมาหาครูบาศรีวิชัย แล้วมอบดาบวิเศษซึ่งชาวบ้านเหนือเรียกกันว่า ดาบสะหลีกั๋น คือ ดาบศรีกัญชัย ให้แก่ครูบาศรีวิชัยเพื่อใช้ดาบวิเศษนี้ปัดเป่าความทุกข์ให้แก่ชาวป่าชาวเขา สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำเล่าลือ ซึ่งความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ครูบาศรีวิชัยเป็นเพียงพระภิกษุธรรมดาองค์หนึ่งที่เคร่งในธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติชอบเท่านั้น แต่ การที่จะไม่ให้ใครวิพากษ์วิจารณ์ หรือร่ำลือนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในหมู่ชาวป่าชาวเขาที่ห่างไกลความเจริญเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว

    ท่านเจ้าคุณวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน เคยเขียนถึงครูบาศรีวิชัยไว้ในหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัย ที่พิมพ์แจกในงานทำบุญศพของท่านเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ตอนหนึ่งว่า

    "ข้าพเจ้าได้ค้านว่า พระศรีวิชัยไม่ใช่ผู้วิเศษอย่างที่ชาวบ้านบางพวกเข้าใจกัน แต่รับรองว่าพระศรีวิชัยเป็นผู้นำได้ดีคือ มีใจเด็ดเดี่ยว มีสัจจะ เป็นคนทำจริง ไม่เป็นแต่เพียงปากพูด เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย"

    หลังจากที่ครูบาขัติมรณภาพแล้ว วัดบ้านปางดูจะคับแคบไปเสียแล้ว เพราะมีผู้ศรัทธาในครูบาศรีวิชัยมุ่งหน้ามาหาเพื่อฟังเทศน์ ฟังคำสั่งสอนของท่านอยู่เสมอๆ ครั้งละมากๆ รวมทั้งจำนวนภิกษุสามเณรก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับสถานที่ตั้งของวัดบ้านปางนั้นอยู่บนที่ราบเชิงเขาใกล้ชิดติดกับบ้านปางจึงหาความสงบไม่ค่อยจะได้
    ครูบาศรีวิชัยจึงคิดถึงสถานที่สงบแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ปลีกวิเวกที่ท่านเคยไปนั่งวิปัสสนา ตั้งแต่ครั้งท่านยังเป็นสามเณรน้อยๆ ที่นั่นคือบริเวณยอดเขาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านปาง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบ้านปางประมาณ ๒ กิโลเมตร สถานที่แห่งนี้ครูบาศรีวิชัยเคยไปนั่งวิปัสสนาหาความสงบแห่งดวงจิตอยู่เสมอๆ ท่านจึงเกิดความคิดที่จะสร้างวัดบ้านปางขึ้นใหม่บนยอดเขาแห่งนั้น

    นับเป็นเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ หลังจากที่ครูบาขัติมรณภาพแล้ว ๑ ปี ครูบาศรีวิชัยตามประวัติแล้ว เมื่อท่านจะเริ่มทำสิ่งใด ท่านต้องขอเวลานั่งอธิษฐานเสียก่อน เมื่ออธิษฐานแล้วถ้ามีนิมิตชี้ให้เห็นว่าสิ่งนั้นจักต้องสำเร็จ จึงเริ่มลงมือ และบอกกล่าวแก่อุบาสกอุบาสิกา ตลอดจนสานุศิษย์ของท่าน

    ฉะนั้น เมื่อครูบาศรีวิชัยเกิดความคิดที่จะสร้างวัดบนยอดเขาแห่งนี้ ในคืนวันหนึ่ง ครูบาศรีวิชัยจึงชวนพระภิกษุร่วมวัดรูปหนึ่ง ซึ่งบวชมานาน มีอาวุโสมาก จนเป็นเพื่อนกับท่านได้ ออกจากวัดบ้านปาง ตรงไปยังยอดเขาแห่งนั้น นั่งวิปัสสนากรรมฐาน เพราะกลัวผี
     
  11. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน นิมิตประหลาด
    17190894_10212350960118795_4115146438115445723_n.jpg
    คืนนั้นพระจันทร์เต็มดวงกระจ่างฟ้า

    ครูบาศรีวิชัยได้ตั้งอธิษฐานว่า ถ้าหากท่านสามารถสร้างวัดบนยอดเขาแห่งนี้ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ขอให้มีนิมิตสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นในราตรีนี้เถิด แล้วท่านกับเพื่อนพระภิกษุก็จำวัตรอยู่บนยอดเขานั้นเอง

    ตกดึก ขณะที่น้ำค้างลงหนัก หมอกละอองไอสีขาวปกคลุมบนดอยแห่งนั้น ครูบาศรีวิชัยก็เกิดนิมิตประหลาด ในความฝันนั้นท่านมองเห็นดวงจันทร์สุกสกาวอยู่บนฟากฟ้าที่ไร้เมฆมาเบียดบัง ในขณะที่ท่านเพลินชมอยู่นั้น สิ่งประหลาดก็เกิดขึ้น ท่านมองเห็นดวงจันทร์ที่อยู่สูงสุดฟ้าค่อยๆ ลอยต่ำลงมาบนยอดดอย ดวงจันทร์ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาจนกระทั่งแลเห็นเป็นดวงใหญ่มหึมา กำลังสาดแสงเรืองจรัสแรงกล้า จนแทบจะเอื้อมมือไปคว้าได้ถึง แต่ดวงจันทร์นั้นก็มิได้หยุดอยู่เพียงนั้น คงเคลื่อนลอยต่ำลงมาแทบจรดยอดดอย ทับลงบนตัวท่านที่กำลังมองอยู่ จนแสงสว่างจ้าแสบตา ในวินาทีนั้นเอง ครูบาศรีวิชัยก็ตกใจตื่น และแลเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปกติ เสียงสัตว์กลางคืนระงมอยู่โดยรอบ ยามนั้นบนฟากฟ้ามีเมฆหมอกหนาบดบังดวงจันทร์เสียสิ้น เพื่อนภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ยังนอนหลับอยู่เป็นปกติอยู่ข้างๆ

    ครูบาศรีวิชัยดีใจนัก ท่านทราบทันทีว่า นี่คือนิมิตอันดี ท่านจะสามารถสร้างวัดบนยอดเขาแห่งนี้ได้สำเร็จ ท่านจึงได้ปลุกเพื่อนพระภิกษุร่วมวัดขึ้นมากลางดึกคืนนั้น แล้วเล่าความฝันให้ฟัง

    รุ่งเช้า ครูบาศรีวิชัย และเพื่อนพระภิกษุลงจากยอดดอยแล้วกลับสู่วัดบ้านปาง ณ ที่นั้น มีสานุศิษย์มาร่วมชุมนุมกันอยู่หลายร้อยคน ครูบาศรีวิชัยจึงได้แจ้งแก่สานุศิษย์ว่า จะสร้างวัดบ้านปางใหม่บนยอดดอยแห่งนี้ เหมือนคำประกาศิตของผู้วิเศษฉนั้น สานุศิษย์ที่ชุมนุมกันอยู่ต่างแซ่ซ้องเสียงอึงมี่ไปทั่ว ยินดีที่จะได้ร่วมสร้างวัดบ้านปางใหม่ขึ้น แล้วอีกไม่กี่วันต่อมาข่าวเรื่องครูบาศรีวิชัยจะสร้างวัด ก็แพร่หลายไปทั่ว ไม่ว่าชาวป่า ชาวเขา หรือคนเมืองชนบทเมื่อได้รับข่าวนี้ ต่างก็มุ่งหน้าเดินทางมาสู่บ้านปาง จำนวนร้อย จำนวนพันเพื่อช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างวัด

    นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะความศรัทธาของชาวป่า ชาวเขา และคนเมืองที่นิยมนับถือในตัวท่าน ต่างคนต่างมากันเองโดยมิได้มีการเกณฑ์ หรือนัดหมายมาก่อนเลย

    บ้านปางเป็นหมู่บ้านชนบทเล็กๆ งานสร้างวัดบ้านปางบนยอดเขาสำเร็จลงอย่างรวดเร็ว เมื่อทุกคนตั้งใจคนละไม้คนละมือ ชาวเขาหลายเผ่าลงไปเก็บก้อนหินตามลำธารใหญ่เชิงเขา นำขึ้นมาเรียงเป็นแนวกำแพงวัด คนเมืองผู้มีฝีมือในงานช่าง ก็ช่วยกันตัดไม้มาสร้างกุฏิ วิหารและโบสถ์ ช่วยกันปรับพื้นที่บนยอดเขาให้ราบเรียบงดงาม

    ในที่สุดพระอารามใหม่ของครูบาศรีวิชัย ที่แลเห็นโดดเด่นอยู่บนยอดเขา ก็สำเร็จเรียบร้อยในเวลาอันสั้น วันที่สร้างวัดเสร็จนั้นตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๖๖ ฉลูศก ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๔๗

    ครูบาศรีวิชัยได้ตั้งชื่อให้วัดบ้านปางใหม่แห่งนี้ว่า วัดศรีดอนชัยทรายมูลบุญเรือน คือ เหมาะแก่ผู้ทรงศีล การสร้างวัดแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ นั้น เปรียบเสมือนหนึ่งการพิสูจน์เกียรติคุณ หรือบารมีของครูบาศรีวิชัย ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง ๒๖ ปี มีพรรษาเพียง ๘ พรรษาเท่านั้น


    น่าอัศจรรย์เพียงใด ที่พระภิกษุหนุ่มอายุเพียงเท่านี้สามารถผูกจิตใจคนจำนวนมากมายที่มาช่วยกันสร้างวัด ไม่ว่าจะเป็นคนเมือง ชาวป่า ชาวเขาก็ตาม
     
  12. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน นิมิตประหลาด
    17190894_10212350960118795_4115146438115445723_n.jpg
    คืนนั้นพระจันทร์เต็มดวงกระจ่างฟ้า

    ครูบาศรีวิชัยได้ตั้งอธิษฐานว่า ถ้าหากท่านสามารถสร้างวัดบนยอดเขาแห่งนี้ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ขอให้มีนิมิตสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นในราตรีนี้เถิด แล้วท่านกับเพื่อนพระภิกษุก็จำวัตรอยู่บนยอดเขานั้นเอง

    ตกดึก ขณะที่น้ำค้างลงหนัก หมอกละอองไอสีขาวปกคลุมบนดอยแห่งนั้น ครูบาศรีวิชัยก็เกิดนิมิตประหลาด ในความฝันนั้นท่านมองเห็นดวงจันทร์สุกสกาวอยู่บนฟากฟ้าที่ไร้เมฆมาเบียดบัง ในขณะที่ท่านเพลินชมอยู่นั้น สิ่งประหลาดก็เกิดขึ้น ท่านมองเห็นดวงจันทร์ที่อยู่สูงสุดฟ้าค่อยๆ ลอยต่ำลงมาบนยอดดอย ดวงจันทร์ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาจนกระทั่งแลเห็นเป็นดวงใหญ่มหึมา กำลังสาดแสงเรืองจรัสแรงกล้า จนแทบจะเอื้อมมือไปคว้าได้ถึง แต่ดวงจันทร์นั้นก็มิได้หยุดอยู่เพียงนั้น คงเคลื่อนลอยต่ำลงมาแทบจรดยอดดอย ทับลงบนตัวท่านที่กำลังมองอยู่ จนแสงสว่างจ้าแสบตา ในวินาทีนั้นเอง ครูบาศรีวิชัยก็ตกใจตื่น และแลเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปกติ เสียงสัตว์กลางคืนระงมอยู่โดยรอบ ยามนั้นบนฟากฟ้ามีเมฆหมอกหนาบดบังดวงจันทร์เสียสิ้น เพื่อนภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ยังนอนหลับอยู่เป็นปกติอยู่ข้างๆ

    ครูบาศรีวิชัยดีใจนัก ท่านทราบทันทีว่า นี่คือนิมิตอันดี ท่านจะสามารถสร้างวัดบนยอดเขาแห่งนี้ได้สำเร็จ ท่านจึงได้ปลุกเพื่อนพระภิกษุร่วมวัดขึ้นมากลางดึกคืนนั้น แล้วเล่าความฝันให้ฟัง

    รุ่งเช้า ครูบาศรีวิชัย และเพื่อนพระภิกษุลงจากยอดดอยแล้วกลับสู่วัดบ้านปาง ณ ที่นั้น มีสานุศิษย์มาร่วมชุมนุมกันอยู่หลายร้อยคน ครูบาศรีวิชัยจึงได้แจ้งแก่สานุศิษย์ว่า จะสร้างวัดบ้านปางใหม่บนยอดดอยแห่งนี้ เหมือนคำประกาศิตของผู้วิเศษฉนั้น สานุศิษย์ที่ชุมนุมกันอยู่ต่างแซ่ซ้องเสียงอึงมี่ไปทั่ว ยินดีที่จะได้ร่วมสร้างวัดบ้านปางใหม่ขึ้น แล้วอีกไม่กี่วันต่อมาข่าวเรื่องครูบาศรีวิชัยจะสร้างวัด ก็แพร่หลายไปทั่ว ไม่ว่าชาวป่า ชาวเขา หรือคนเมืองชนบทเมื่อได้รับข่าวนี้ ต่างก็มุ่งหน้าเดินทางมาสู่บ้านปาง จำนวนร้อย จำนวนพันเพื่อช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างวัด

    นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะความศรัทธาของชาวป่า ชาวเขา และคนเมืองที่นิยมนับถือในตัวท่าน ต่างคนต่างมากันเองโดยมิได้มีการเกณฑ์ หรือนัดหมายมาก่อนเลย

    บ้านปางเป็นหมู่บ้านชนบทเล็กๆ งานสร้างวัดบ้านปางบนยอดเขาสำเร็จลงอย่างรวดเร็ว เมื่อทุกคนตั้งใจคนละไม้คนละมือ ชาวเขาหลายเผ่าลงไปเก็บก้อนหินตามลำธารใหญ่เชิงเขา นำขึ้นมาเรียงเป็นแนวกำแพงวัด คนเมืองผู้มีฝีมือในงานช่าง ก็ช่วยกันตัดไม้มาสร้างกุฏิ วิหารและโบสถ์ ช่วยกันปรับพื้นที่บนยอดเขาให้ราบเรียบงดงาม

    ในที่สุดพระอารามใหม่ของครูบาศรีวิชัย ที่แลเห็นโดดเด่นอยู่บนยอดเขา ก็สำเร็จเรียบร้อยในเวลาอันสั้น วันที่สร้างวัดเสร็จนั้นตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๖๖ ฉลูศก ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๔๗

    ครูบาศรีวิชัยได้ตั้งชื่อให้วัดบ้านปางใหม่แห่งนี้ว่า วัดศรีดอนชัยทรายมูลบุญเรือน คือ เหมาะแก่ผู้ทรงศีล การสร้างวัดแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ นั้น เปรียบเสมือนหนึ่งการพิสูจน์เกียรติคุณ หรือบารมีของครูบาศรีวิชัย ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง ๒๖ ปี มีพรรษาเพียง ๘ พรรษาเท่านั้น


    น่าอัศจรรย์เพียงใด ที่พระภิกษุหนุ่มอายุเพียงเท่านี้สามารถผูกจิตใจคนจำนวนมากมายที่มาช่วยกันสร้างวัด ไม่ว่าจะเป็นคนเมือง ชาวป่า ชาวเขาก็ตาม
     
  13. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ข้อหาแรกในการต้องอธิกรณ์ของครูบาศรีวิชัย
    17155526_10212350982319350_2661065876845980494_n.jpg
    และแล้วในปีหนึ่งนั้นเอง ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยต้องถูกกล่าวหาจากเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ ในข้อหาที่ว่า ครูบาศรีวิชัยตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน ทำพิธีบวชโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะแขวง และอำเภอลี้ อันเป็นความผิดในสมัยนั้น ท่านเป็นเจ้าคณะหมวดเป็นตำแหน่งใหม่ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

    ด้วยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ นี้เอง ทำให้ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ถูกกล่าวหา จากเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้เป็นครั้งแรก ระยะนั้นปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๕๑ มีพระครูมหารัตนกร เป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ สาเหตุที่เกิดเรื่องราว ก็เพราะว่า ในระหว่างปีนั้น มีกุลบุตรเป็นจำนวนมากขออุปสมบท และบรรพชากับครูบาศรีวิชัย ซึ่งไม่ได้มีตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์ เพราะปกติผู้ที่จะทำการบวชพระได้ต้องเป็นอุปัชฌาย์เท่านั้น

    วันเวลาแห่งระยะเข้าพรรษากระชั้นชิดเข้ามาทุกวัน ครูบาศรีวิชัยนั้นท่านทราบดีว่า ท่านมิได้เป็นอุปัชฌาย์ ไม่สามารถที่จะบวชให้แก่ผู้ที่มาขอบวชเหล่านั้นได้ เป็นการผิดพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ แต่บรรดาสานุศิษย์ที่เข้ามาขอบวชกับท่านนั้นก็ไม่ยอม ยืนยันที่จะต้องให้ท่านบวชให้ ทั้งนี้บุคคลเหล่านั้นมีความศรัทธาต่อครูบาศรีวิชัยนั่นเอง ครูบาศรีวิชัยท่านก็รู้ดีว่า ถ้าท่านบวชให้ ท่านจะต้องมีความผิด แต่จะผลักใสผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ที่มีเจตนาศึกษาพระธรรมโดยให้ท่านเป็นผู้ฝึกสอน และเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนานั้น ก็จะไม่เป็นการถูกวิธี และถ้าจะผลักดันให้สานุศิษย์เหล่านั้น ไปบวชที่วัดอื่น ที่มีพระอุปัชฌาย์ที่ถูกต้อง ก็จะไม่ทันการเสียแล้ว เพราะสภาพการคมนาคมอันทุรกันดารในเวลาอย่างนั้น ย่อมไม่เอื้ออำนวยที่จะทำเช่นนั้นได้

    ครูบาศรีวิชัยคงจะเห็นว่า ในสมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะใคร่บวชเรียนในพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์อันใด นอกจากบิดามารดาเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้ก็ได้กระทำกันมานาน การที่จะบวชให้แก่กุลบุตร จึงไม่น่าที่จะเป็นความผิดอันใดเมื่อคิดดังนั้นแล้ว ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระพุทธศาสนา ครูบาศรีวิชัยก็ทำพิธีบวชให้แก่สานุศิษย์ทั้งปวงเหล่านั้น ณ วัดบ้านปางเป็นจำนวนมาก และนับเป็นการอุปสมบทครั้งใหญ่ที่ได้รับการเล่าลืออย่างกว้างขวาง วัดบ้านปางในพรรษานั้น จึงมีพระภิกษุสามเณรนับร้อยรูป ดูเป็นปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดอย่างยิ่ง ที่ต่างพากันมาทำพิธีบวชมากมาย สำหรับวัดชนบทเล็กๆ เช่นวัดศรีดอนชัยทรายมูลบุญเรืองแห่งนี้

    แล้วข่าวนี้ได้ล่ำลือข้ามป่าข้ามเขาไปเข้าหูเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ และทางฝ่ายบ้านเมือง เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มีคนรัก ก็ย่อมต้องมีคนเกลียด ผู้ที่ไม่ชอบครูบาศรีวิชัยก็ไปปล่อยข่าวใส่ร้ายต่างๆ นานา กล่าวหาว่าท่านตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ไม่เคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง กระทำการบวชโดยมิได้เป็นอุปัชฌาย์

    ความเห็นของผู้เรียบเรียงประวัติครูบาศรีวิชัย
    ขอแทรกความคิดเห็น

    ขอแทรกความคิดเห็นบางอย่าง บางประการในเหตุการณ์เกี่ยวกับประวัติครูบาศรีวิชัยตอนนี้ ในหนังสือหลายเล่มที่เขียนขึ้นในสมัยหลังๆ โดยอาศัยเค้าเรื่องเดิมมาจากหนังสือเก่าที่ท้าวสุนทร และเจ้าสุริยวงศ์สิโรรสแต่งไว้นั้น มักจะเขียนใส่ร้ายเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ในสมัยนั้นอย่างรุนแรงไม่เป็นธรรม ถึงขนาดที่กล่าวว่า สมัยนั้นถ้าใครบวช ก็ต้องไปขออนุญาตเจ้าคณะแขวง และนายอำเภอเสียก่อน จึงจะบวชเรียนได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เป็นการดึงเอาศาสนาไปพัวพันกับการบ้านการเมืองซึ่งถ้าหากว่าท่านได้อ่านพระราชบัญญัติ ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็จะพบว่าไม่มีข้อความในมาตราใดๆ เลย ผู้ที่จะบวชต้องไปขออนุญาตเจ้าคณะแขวง หรือนายอำเภอเสียก่อน แต่การที่พระครูมหารัตนากร เจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยก็เพราะว่า ครูบาศรีวิชัยมีความผิดที่บวชให้ผู้อื่น โดยที่มิได้เป็นอุปัชฌาย์ อันเป็นความผิดในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ส่วนนายอำเภอที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยนั้น ก็เพราะคำกล่าวร้ายเล่าลือกันว่า ครูบาศรีวิชัยส้องสุมผู้คน คล้ายกับว่าจะตั้งตนเป็นผีบุญก่อการกบฏ จึงเป็นหน้าที่ของนายอำเภอโดยตรงที่จะต้องสอบสวนว่าเป็นความจริงตามนั้นหรือไม่?นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกัน จากการอ่านประวัติครูบาศรีวิชัยมากมายหลายสิบสำนวน แรกๆ จึงมีความเชื่อคล้อยตามไปว่าเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ และนายอำเภอ กระทำการชั่ว อิจฉาตาร้อนในเกียรติคุณของครูบาศรีวิชัย จนกระทั่งต้องหาทางกำจัดให้พ้นไปจากอำเภอลี้ แต่ทว่า เมื่อจะเริ่มต้นเขียนเรื่อง ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทยนี้ จึงได้ค้นคว้าหาหลักฐานต่างๆ เพื่อประกอบการเขียนให้สมบูรณ์ แล้วก็ได้พบความจริงว่า เจ้าคณะอำเภอลี้กระทำทุกอย่างถูกต้อง โดยมิได้มีอคติ และโมหจริตใดๆ ต่อครูบาศรีวิชัย แต่ก็หาข้อความผิดจากครูบาศรีวิชัยมิได้ ความจริงควรจะเป็นไปในรูปใดท่านผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินได้เองอยู่แล้ว

     
  14. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน จากวัด
    17156222_10212360460276293_5732788419009499077_n.jpg
    เมื่อครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหาว่าเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน และส้องสุมผู้คนเพื่อก่อความไม่สงบ เจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ และนายอำเภอลี้ จึงต้องเดินทางไปสู่บ้านปาง นิมนต์ครูบาศรีวิชัยมายังวัดเจ้าคณะแขวง ที่อำเภอลี้ เพื่อสอบสวนต่อไป เป็นครั้งแรกที่ครูบาศรีวิชัยเดินทางออกจากบ้านปางนับตั้งแต่ได้สร้างวัดศรีดอนชัยทรายมูลบุญเรือนขึ้น จนกระทั่งมีสานุศิษย์มากมาย ท่านสั่งให้ทุกคนอยู่ในความสงบ อดใจรออยู่ที่วัดต่อไป ท่านเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของท่านว่า ท่านไม่ได้ทำผิดร้ายแรงอะไรเลย จึงยินดีให้เจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้นำท่านจากวัดบ้านปางไปอำเภอลี้แต่โดยดี

    ผู้คนจำนวนมากมีทั้งคนเมือง และชาวป่าชาวเขา เมื่อทราบว่าครูบาศรีวิชัยถูกคุมตัวไปวัดเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ ก็พากันไปหาท่านมากมาย นำสิ่งของไปถวายท่านตลอดเวลา จนกระทั่งวัดเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ที่เคยเงียบสงบ หนาแน่นไปด้วยผู้คนต่างถิ่นแปลกหน้า เพียง ๔ วันที่ครูบาศรีวิชัยถูกคุมตัวอยู่ ทั้งเจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้ก็ได้เห็นเป็นประจักษ์แก่สายตาของท่านเองว่ากรณีที่ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหานี้ เห็นจะเกินกำลังเจ้าคณะแขวง และนายอำเภอจะทำการสอบสวนเสียแล้ว

    จึงพร้อมใจกันนิมนต์ครูบาศรีวิชัยเข้าสู่เมืองลำพูน เพื่อให้เจ้าคณะเมือง และเจ้าเมืองลำพูนสอบสวนต่อ นี่เป็นครั้งแรกที่ครูบาศรีวิชัยถูกนำตัวไปสอบสวนที่เมืองลำพูน อันเป็นเหตุการณ์ที่เสริมสร้างเกียรติคุณของครูบาศรีวิชัยให้โด่งดังขึ้น ยิ่งกว่าเดิม อันเป็นสาเหตุนำท่านไปสู่การถูกกล่าวหาครั้งใหญ่ จนกระทั่งถูกส่งตัวไปให้สมเด็จพระสังฆราชสอบสวนที่กรุงเทพฯ

    พระครูศรีวิวาส คือผู้รับตำแหน่งเจ้าคณะเมืองลำพูน เมื่อครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหาเป็นครั้งแรก เจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้ ส่งครูบาศรีวิชัยมาให้สอบสวนนั้น ท่านพระครูได้พิจารณาเรื่องทั้งปวงด้วยใจเป็นธรรม แล้วท่านก็พูดอย่างเดียวว่า ครูบาศรีวิชัยมีความผิดตรงที่ว่า ไปทำพิธีบวชให้แก่สานุศิษย์ที่เลื่อมใสทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนความผิดอื่นๆ ตามข้อกล่าวหาที่เล่าลือว่าครูบาศรีวิชัย จะตั้งตัวเป็นผีบุญทำการกบฏนั้น มองไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้

    ครูบาศรีวิชัยท่านก็ยอมรับผิดในข้อนั้น แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และหวังต่อพระพุทธศาสนาจึงได้กระทำเช่นนั้น มิได้มีเจตนาที่ขัดระเบียบแต่ประการใด

    พระครูศรีวิวาส จึงได้ว่ากล่าวตักเตือนครูบาศรีวิชัยว่า อย่ากระทำความผิดเช่นนี้อีก กล่าวคือมิให้บวชสานุศิษย์ได้โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วอนุญาตให้ครูบาศรีวิชัย กลับสู่วัดบ้านปางได้

    การได้กลับสู่วัดบ้านปางครั้งนี้เอง ชื่อเสียง และเกียรติคุณของท่านยิ่งเป็นที่เล่าลือกันมากขึ้น ทั้งๆ ที่ท่านเองก็ยังสมถะ รักสันโดษอยู่เช่นเดิม มิได้ประกาศ หรือโอ้อวดตัวเองแต่ประการใด ที่พ้นผิดจากการกล่าวหาในครั้งนี้ได้ แต่ เรื่องปากของคนเป็นเรื่องที่ห้ามยาก เมื่อมีการพูดกันปากต่อปาก ก็ย่อมมีการพูดเสริมเติมต่อ เป็นเรื่องราวให้ฟังดูพิลึกมหัศจรรย์ยิ่งๆ ขึ้นไป จนผู้ที่ได้ยินแต่คำเล่าลือพากันเชื่อสนิทว่า ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้วิเศษ ดังนั้นจำนวนผู้ที่เดินทาไปสู่วัดบ้านปางจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ครูบาศรีวิชัยก็ยังคงเคร่งครัดกับการเจริญสมถกรรมฐานของท่านที่วัดบ้านปางเรื่อยไป มิได้โอ้อวดตัวเองว่าเป็นผู้วิเศษแต่อย่างใด ใครไปมาหาสู่ก็สั่งสอน เทศนาให้ได้ลิ้มรสพระธรรม แนะแนวทางปฏิบัติตนให้เป็นคนดี ละเว้นความชั่ว พูดดี ทำดี คิดดี อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาโดยแท้ ครูบาศรีวิชัย เป็นพระที่มีลักษณะเป็นผู้นำ สามารถผูกจิตใจคนหมู่มากให้เชื่อถือในคำสั่งสอนของท่านได้อย่างดียิ่ง ซึ่งถ้าหากเรียกกันในสมัยปัจจุบันแล้ว ท่านก็เป็นผู้นักปลุกระดมมวลชนคนสำคัญ แต่การปลุกระดมมวลชนของท่านนั้น มิได้ปลุกให้เกิดการระส่ำระสายในแผ่นดินเหมือนเป็นอย่างทุกวันนี้ แต่ตรงกันข้ามครูบาศรีวิชัยปลุกระดมให้คนอยู่ในศีลธรรม แม้แต่ชาวป่าชาวเขาผู้มีแต่บาป ไม่รู้ โน่น นั่น นี่ ไม่มีศาสนาในสมัยโน้น ก็ยังศรัทธาเชื่อถือได้ และปฏิบัติตามแนวทางคำสอนของท่านในที่สุด

    ไม่นานนักครูบาศรีวิชัยก็อยู่ของท่านดีๆ ก็มีความผิดมาหาท่านจนถึงกุฏิ ที่วัดบ้านปางอีกจนได้
     
  15. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ต้องอธิกรณ์ครั้งที่๒และที่๓ อีกจนได้
    17097390_10212360490037037_2914530484125116986_o.jpg
    ในสมัยนั้นพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ยังไม่เป็นที่รู้จัก และเข้าใจกันแพร่หลายในหมู่พระภิกษุที่อยู่ในชนบทห่างไกล ดังนั้น เจ้าคณะเมืองแต่ละเมือง จะมีภาระหน้าที่ในการเรียกเจ้าคณะแขวงไปรับการอบรม เพื่อให้ทราบรายละเอียดในพระราชบัญญัตินี้ จะได้ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ได้ถูกต้อง ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้สังฆมณฑลประเทศอยู่ในระเบียบอันเดียวกัน ตามที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชทรงกราบทูลแนะนำไว้

    วันหนึ่ง เจ้าคณะแขวง อำเภอลี้จึงมีหนังสือแจ้งไปยังวัดต่างๆ ในเขตอำเภอลี้ให้เจ้าอาวาสทั้งหมดมาประชุมกัน ณ วัดเจ้าคณะแขวงเพื่อที่จะได้ศึกษารายละเอียดของพระราชบัญญัติการปกครองสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ให้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกัน ครูบาศรีวิชัยก็ได้รับหนังสือให้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เช่นกัน แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดหมายแล้ว ครูบาศรีวิชัยไม่ไป

    สาเหตุที่ครูบาศรีวิชัยไม่ยอมไปฟังคำชี้แจงรายละเอียดในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ที่วัดเจ้าคณะแขวง อำเภอลี้ครั้งนี้ ในหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัยเขียนตรงกันว่า เพราะว่าครูบาศรีวิชัยลืมวันนัดด้วยมิได้สนใจนัก เพลินแต่เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง แต่สาเหตุที่แท้จริงจะเป็นเช่นไรนั้น ก็ยากที่ใครจะรู้ได้ เชื่อว่าครูบาศรีวิชัยมิได้ลืม เพราะท่านเป็นผู้มีความจำอย่างดียิ่ง แต่ท่านก็ไม่ไปก็คงจะเป็นเพราะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เห็นว่า ไม่จำเป็นจะต้องไปมากกว่า

    เพราะการไม่ไปประชุมครั้งนี้เอง ครูบาศรีวิชัยก็มีความผิดถูกสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง โดยเจ้าคณะแขวงลี้ กล่าวโทษฟ้องมายังเจ้าคณะเมืองซึ่งในสมัยนั้นเจ้าคณะเมืองลำพูนเพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ๆ คือพระครูญาณมงคลซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาวัน อำเภอเมืองลำพูน

    ครูบาศรีวิชัยจึงถูกนำไปสอบสวนที่เมืองลำพูนอีกครั้งหนึ่ง ในคำกล่าวโทษของเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้นั้น อ้างว่านอกจากครูบาศรีวิชัยจะไม่ไปร่วมประชุมฟังคำอธิบายเรื่องพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์แล้ว ยังชวนให้เจ้าอาวาสวัดอื่นๆ ไม่ไปด้วย เป็นการแข็งข้อ ไม่เชื่อฟังคำสั่งของเจ้าคณะแขวง

    ครูบาศรีวิชัยได้ยอมรับผิดต่อเจ้าคณะเมืองลำพูน ในข้อที่ว่าท่านมิได้ประชุมด้วยเพราะลืมวันนัดหมาย ส่วนข้อที่ว่าท่านได้ชักชวนเจ้าอาวาสวัดอื่นให้แข็งข้อนั้น ท่านมิได้ทำ มีแต่เจ้าอาวาสวัดอื่น ในย่านใกล้เคียงเห็นว่า ครูบาศรีวิชัยไม่ไป ท่านเจ้าอาวาสเหล่านั้นก็ไม่ไปด้วย ซึ่งจะมาเหมาว่าเป็นความผิดของครูบาศรีวิชัยนั้นหาได้ไม่

    พระครูญาณมงคล สอบสวนครูบาศรีวิชัยแล้ว ก็ตักเตือนให้เชื่อฟังคำสั่งสอนของเจ้าคณะแขวงอย่าขัดขืนคำสั่งอีกต่อไป แล้วอนุญาตให้ครูบาศรีวิชัยกลับวัดบ้านปางได้

    การที่ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวโทษ แล้วนำไปสอบสวนถึงเมืองลำพูนสองครั้งสองครา แต่ก็พ้นมลทินกลับสู่วัดบ้านปางได้นั้น ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมากยิ่งขึ้น และแน่ล่ะ ก็ย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าคณะแขวงลี้ และทางฝ่ายบ้านเมืองของอำเภอลี้ ชาวบ้านปาง และชุมชนอื่นๆ ที่ไม่เข้าใจเหตุผลดีเพียงพอ ก็อาจจะกล่าวว่าท่านเจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้กลั่นแกล้งครูบาศรีวิชัย ทำให้ถูกเกลียดชังจากผู้คนทั่วไป

    นับว่าเป็นกรรมเก่าของท่านเจ้าคณะแขวงลี้ และนายอำเภอลี้ในสมัยนั้นครูบาศรีวิชัย ท่านมีลักษณะเป็นผู้นำ และมีความเชื่อมั่นในตัวเองเสมอ ท่านเห็นว่าการบวชเป็นศิษย์ตถาคตนั้น หากปฏิบัติตนตามพุทธบัญญัติ และพระธรรมวินัยแล้ว ก็ไม่น่าจะมีสิ่งใดมาเป็นระเบียบข้อบังคับ ให้พระภิกษุต้องทำเช่นนั้น ( ในความเห็นข้อนี้ครูบาศรีวิชัย จะยังไม่ทราบถึงอนาคตว่าจะมีการแฝงตัวมาในผ้าเหลือง )

    ในฐานะที่ท่านเป็นผู้สมถะ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แก่สานุศิษย์ ก็ไม่มีระเบียบข้อบังคับใดๆ มาเป็นสิ่งขัดขวาง อาจด้วยเหตุนี้ ที่ครูบาศรีวิชัยไม่ยอมไปประชุม เพื่อรับฟังระเบียบต่างๆ ในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ จากเจ้าคณะแขวงลี้ แม้ว่าจะได้รับคำสั่งเป็นครั้งที่ ๒ ก็ตาม

    เมื่อครูบาศรีวิชัย กลับจากถูกเจ้าคณะเมืองสอบสวนได้ไม่นาน เจ้าคณะแขวงลี้ก็มีคำสั่งให้ครูบาศรีวิชัยนำพระภิกษุสามเณรลูกวัดบ้านปางทั้งหลาย ไปประชุมเพื่อรับทราบพระราชบัญญัติอีกครั้งหนึ่งที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้ แต่ครูบาศรีวิชัยก็ไม่ยอมไปอีก

    คราวนี้ครูบาศรีวิชัย ถูกนำไปสอบสวนที่เมืองลำพูนเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ถูกกักตัวไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นเวลา ๑ ปี คณะกรรมการสงฆ์ได้พิจารณาความผิดของครูบาศรีวิชัยแล้วมีมติให้พ้นจากการเป็นเจ้าคณะหมวด อนุญาตให้ไปอยู่ที่วัดบ้านปางได้ในฐานะพระภิกษุลูกวัดธรรมดา มิใช่เจ้าอาวาสเหมือนเมื่อก่อน ครูบาศรีวิชัยก็ยินดี เพราะท่านเองนั้น ไม่ต้องการตำแหน่งหรือสมณศักดิ์ใดๆ อยู่แล้ว

    แล้วก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าคณะแขวงลี้ จะแต่งตั้งพระภิกษุรูปใดไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีดอนชัยทรายมูลบุญเรือน หรือวัดบ้านปางเลย ครูบาศรีวิชัยจึงปกครองวัดนี้โดยพฤตินัยเรื่อยมา เพราะถึงจะให้พระผู้ใดไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง ก็คงไม่มีความหมาย ด้วยชาวบ้านในแถบนั้นนิยมยกย่องครูบาศรีวิชัยทั้งนั้น

    ต่อมาไม่นานเจ้าคณะแขวงลี้ได้มีหนังสือไปยังวัดต่างๆ ทุกแห่งในแขวงอำเภอลี้ให้สำรวจจำนวนพระภิกษุสามเณรของแต่ละวัด แจ้งไปให้เจ้าคณะแขวงทราบ เพื่อที่จะได้รวบรวมเสนอแก่เจ้าคณะเมือง ตามคำสั่งต่อไป ครูบาศรีวิชัยก็ได้รับหนังสือนี้ด้วย เมื่อท่านได้รับหนังสือจากเจ้าคณะแขวง ท่านก็ทำเฉยเสีย เพราะถือว่าท่านไม่ได้เป็นเจ้าคณะหมวด หรือเจ้าอาวาสวัดบ้านปางอีกต่อไปแล้ว ท่านย่อมไม่มีอำนาจ และหน้าที่ใด ไปเที่ยวสำรวจจำนวนพระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ ในเขตท่าน ที่ท่านเคยปกครองดูแลอยู่ แม้แต่วัดบ้านปางเองก็เถอะ ท่านไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสเพราะถูกถอดเสียแล้ว ท่านจึงไม่มีหน้าที่ในการสำรวจจำนวนพระภิกษุสามเณร นี่เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวโทษจากเจ้าคณะแขวงลี้อีกครั้ง
     
  16. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน มงคลคาถา
    17201057_10212391908702484_8697990394820160688_n.jpg พุทธศักราช ๒๔๕๓

    เมื่อประชาชนทั่วประเทศถิ่นสยาม ต้องพบกับความวิปโยคอาลัยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ปีนั้น

    ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบแทนต่อมา โปรดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ในการนี้ วัดต่างๆ ในมณฑลเมือง และแขวงได้รับคำสั่งให้ตามประทีปโคมไฟ สร้างซุ้มประตูวัด และจัดให้มีงานรื่นเริงสมโภช เพื่อถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    เจ้าคณะแขวงลี้เมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าเมือง ก็ส่งหนังสือไปยังวัดต่างๆ โดยทั่วกัน รวมทั้งวัดบ้านปาง แล้วครูบาศรีวิชัยก็ได้ทำสิ่งซึ่งไม่เคยมีพระภิกษุวัดไหนเคยทำมาก่อนเลย นั่นคือ แทนที่วัดบ้านปางจะประดับประทีปโคมไฟ สร้างซุ้ม และมีงานรื่นเริงฉลองเป็นการถวายพระพรเหมือนวัดอื่นๆ ในวันที่กำหนดนัดหมายนั้น ครูบาศรีวิชัย และภิกษุสามเณรแห่งวัดบ้านปาง กลับมาร่วมชุมนุมพร้อมกัน ณ โบสถ์วัดบ้านปางจนล้นหลามออกมาภายนอกโบสถ์แล้วสวด พระมงคลคาถา เป็นการถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีการสร้างซุ้ม ตามประทีปโคมไฟใดๆ ทั้งสิ้น ณ วัดบ้านปาง ไม่มีงานฉลองรื่นเริงสนุกสนานเหมือนวัดแห่งอื่นๆ ในอำเภอลี้

    ข่าวนี้เป็นที่ร่ำลือไปเข้าหูเจ้าคณะแขวงลี้ และนายอำเภอลี้อีกจนได้ ผู้ที่ไม่ชอบครูบาศรีวิชัยเล่าลือกันว่า ครูบาศรีวิชัยกระด้างกระเดื่องต่อแผ่นดิน ไม่ยอมสร้างซุ้ม ตามประทีปโคมไฟ เนื่องในงานบรมราชาภิเษก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว โทษของครูบาศรีวิชัยก็กบฏนั่นเอง ครูบาศรีวิชัยจึงถูกสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง แต่สอบสวนแล้วก็ไม่สามารถเอาผิดจากท่านได้ เพราะครูบาศรีวิชัย และสามเณรแห่งวัดบ้านปางได้กระทำสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว นั่นคือการร่วมชุมนุมชัยมงคลคาถาถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ครูบาศรีวิชัยถูกเรียกตัว ถูกสอบสวน แต่ทว่าก็ไม่มีใครสามารถทำอะไรท่านได้ ข่าวเรื่องนี้จึงระบือไปไกล ผู้คนต่างทิศต่างถิ่น ก็ยังคงเดินทางมาฝากเนื้อฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของท่านเพิ่มมากขึ้น พวกชาวป่าชาวเขาก็มาเป็นศิษย์ หลั่งไหลมาทั่วทุกสารทิศ จนกระทั่งมีการจัดเวรยามดูแลรักษาวัดบ้านปาง ป้องกันมิให้ผู้ใดที่คิดร้ายล่วงล้ำเข้ามา ในสำนักของครูบาศรีวิชัยได้

    ข่าวก็เลยลือกันไปว่า คราวนี้ครูบาศรีวิชัย และสานุศิษย์ของท่านสะสมกำลังอาวุธ และผู้คนเพื่อที่จะคิดการร้ายต่อแผ่นดิน

    เจ้าคณะแขวงลี้องค์ใหม่คือ พระครูมหาอินทร์ ไม่อาจจะทนฟังคำล่ำลือเหล่านั้นได้อีกต่อไป นำความเข้าปรึกษากับทางฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งก็หนีไม่พ้นนายอำเภอลี้อีกนั่นแหละ ว่าจะทำประการใดดีถึงจะสามารถทำให้ครูบาศรีวิชัย เสื่อมศรัทธาจากประชาชนได้ เพราะถ้าหากว่าจะเรียกครูบาศรีวิชัยเข้าไปสอบสวนที่เมืองลำพูนแล้ว หากผลออกมาเช่นเดิม ครูบาศรีวิชัยก็จะต้องมีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก

    เจ้าคณะแขวงลี้ และนายอำเภอลี้ มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะนำเรื่องทั้งหมดไปกราบเรียนเจ้าคณะเมือง และเจ้าคณะเมืองลำพูนทราบ เพื่อที่จะไล่ครูบาศรีวิชัยออกไปพ้นเขตจังหวัดลำพูนเสียเรื่องราวไม่สงบเรียบร้อยต่างๆ ก็คงจะหมดสิ้นไป

    ข้อกล่าวหาที่เจ้าคณะแขวงลี้ และนายอำเภอนำไปบอกเล่าให้แก่เจ้าคณะเมือง และเจ้าเมืองลำพูนก็คือ ครูบาศรีวิชัยขัดขืนไม่เชื่อฟังการบังคับบัญชาของเจ้าคณะแขวง ชักนำให้เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในเขตใกล้เคียง ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัย พร้อมกับเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คน ทั้งคฤหัสถ์ และนักบวชเป็นก๊ก เป็นเหล่า ใช้เวทมนต์คาถา อ้างตนว่าเป็นผู้วิเศษหลอกลวงคนทั่วไป

    นี่เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมากถึงขั้นกบฏต่อพุทธจักร และอาณาจักร
     
  17. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน คำสั่งไล่
    17156207_10212391927342950_8485968789095120959_n.jpg 17156207_10212391927342950_8485968789095120959_n.jpg เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ครูบาศรีวิชัยเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เมื่อพระครูญาณมงคลเจ้าคณะเมืองลำพูนได้รับคำฟ้องจากเจ้าคณะแขวงลี้ และนายอำเภอลี้ แล้วท่านก็รายงานให้ข้าหลวงเมืองลำพูน และเจ้าผู้ครองนครซึ่งยังมีอยู่ในสมัยนั้นคือ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ทรงทราบ

    ในที่สุดการร่วมมือปรึกษาหารือกันอย่างเคร่งเครียดระหว่างเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ข้าหลวงเมือง และเจ้าคณะเมืองลำพูนก็มีความเห็นต้องกันว่า สมควรที่จะขับครูบาศรีวิชัยออกไปให้พ้นเขตเมืองลำพูน แล้วเรื่องร้ายแรงต่างๆ ก็คงจะยุติลง ทั้งนี้โดยให้พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้มีหนังสือแจ้งไปให้ครูบาศรีวิชัยทราบ

    แล้ววันหนึ่งเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒ นั้นเอง ณ วัดบ้านปางอำเภอลี้ขณะที่ครูบาศรีวิชัยกำลังสอนหนังสือธรรมแก่สานุศิษย์ เจ้าคณะแขวงลี้ และนายอำเภอก็นำหนังสือคำสั่งของเจ้าคณะเมืองมามอบให้ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้เปิดอ่านท่ามกลางสานุศิษย์ ใจความในหนังสือของพระครูญาณมงคล เจ้าคณะเมืองมีอยู่ว่า

    ที่วัดมหาวัน ลำพูน

    วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๒

    เจ้าคณะจังหวัดลำพูนถึงพระศรีวิชัย วัดบ้านปาง

    เนื่องที่ท่านบ่ฟังบังคับบัญชาของฉัน และเจ้าคณะแขวงลี้ ขัดขืนต่อระเบียบราชการบ้านเมือง เรื่องการสำรวจอาราม ก่อการอื่นๆ หลายประการ บัดนี้ทางคณะสงฆ์ทั้งหลายเห็นว่า ท่านบ่ควรอยู่วัดนี้ต่อไป เพราะฉะนั้นนับแต่ที่ท่านได้รับคำสั่งนี้ กับได้ฟังคำปรึกษาโทษเป็นต้นไป ให้ท่านได้หนีออกไปให้พ้นเขต จังหวัดลำพูน ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันประกาศนี้

    พระครูญาณมงคล

    ประทับตราเจ้าคณะจังหวัดลำพูนมาเป็นสำคัญ

    นี่คือคำสั่งที่ครูบาศรีวิชัยได้รับ ท่านจะต้องออกไปพ้นวัดบ้านปาง พ้นเขตอำเภอลี้ และเมืองลำพูนภายใน ๑๕ วัน คือไม่เกินวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ตามคำสั่งของเจ้าคณะเมืองลำพูน นอกเหนือจากคำสั่งของเจ้าคณะเมืองที่มีมาถึงครูบาศรีวิชัยโดยตรงแล้ว พระครูญาณมงคลยังมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งถึงเจ้าอาวาสทุกแห่งในเขตเมืองลำพูนมีใจความว่า

    ที่วัดมหาวัน ลำพูน

    วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๒

    พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน

    มายังหัววัดเจ้าอธิการหัวหมวดอุปัชฌาย์ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูนทุกแขวง ทุกตำบล

    ด้วยพระครูศรีวิชัย วัดบ้านปางมีความผิดถูกไล่ออกจากจังหวัดลำพูน ถ้าพระศรีวิชัยมาขออาศัยอยู่วัดวาอารามตำบลใดๆ ในเขตจังหวัดลำพูน อย่าให้อาศัยอยู่ด้วยเป็นอันขาด

    พระครูญาณมงคล

    "ประทับตราตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดลำพูนมาเป็นสำคัญ"รูบาศรีวิชัย ได้รับทราบหนังสือคำสั่งนี้ท่ามกลางสานุศิษย์ ทั้งภิกษุและคฤหัสถ์ที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ วัดบ้านปาง ท่านประกาศทันทีว่า ท่านจะไม่ยอมออกจากวัดบ้านปางและเมืองลำพูนแผ่นดินเกิด ต่อหน้าเจ้าคณะเมืองแขวงและนายอำเภอลี้ นับเป็นการเผชิญหน้าที่บรรยากาศตึงเครียดอย่างยิ่ง ระหว่างครูบาศรีวิชัย และสานุศิษย์จำนวนพัน ทั้งภิกษุ, สามเณร, คฤหัสถ์ กับ เจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้
    แรกๆ ทีเดียวสานุศิษย์ทั้งหลายมีทั้ง ข่า ขมุ เงี้ยว และยาง ต่างแสดงความโกรธแค้นเจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้อย่างเห็นได้ชัด แต่ครูบาศรีวิชัยได้ขอร้องให้ทุกคนตั้งอยู่ในความสงบ ท่านจะเป็นผู้ไปพูดกับเจ้าคณะแขวงกับนายอำเภอลี้เองว่า ท่านมิได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่ถูกกล่าวหาว่า ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ส้องสุมกำลังผู้คน เพื่อก่อการร้ายต่อแผ่นดิน บัดนี้ทั้งเจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้ก็ได้มาอยู่ ต่อหน้าภิกษุสามเณร และสานุศิษย์ที่วัดบ้านปางแล้ว ครูบาศรีวิชัยกล่าวว่า "จงสอบถามบุคคลเหล่านี้เถิดว่าท่านไปหลอกอะไรเขาหรือเปล่า ?"

    เสียงอื้ออึงก็เกิดขึ้น ภิกษุสามเณรและสานุศิษย์ของครูบาศรีวิชัยที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั่นต่างก็แย่งกันบอกแย่งกันพูด พอสรุปแล้วได้ความว่า ทุกคนล้วนแล้วต่างมีความศรัทธาในความประพฤติปฏิบัติของครูบาศรีวิชัย จึงมาสู่วัดบ้านปาง เพื่อบวชเรียนหาความรู้ มิใช่การมาส้องสุมเพื่อคิดร้ายใคร

    ทั้งเจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้ก็ไม่รู้จะทำประการใด เมื่อครูบาศรีวิชัยว่าท่านไม่ผิด ท่านจะอยู่ของท่านที่วัดบ้านปางต่อไป การมาหาครูบาศรีวิชัยครั้งนี้ เจ้าคณะแขวงลี้ได้รีบรายงานให้เจ้าคณะเมืองคือ พระครูญาณมงคลทราบโดยทันที พร้อมกันนี้นายอำเภอลี้ ก็ได้รายงานให้ข้าหลวงเมืองลำพูนทราบด้วย

    เป็นที่หนักใจทั้งทางฝ่ายเจ้าคณะเมือง และฝ่ายบ้านเมืองของลำพูน ในที่สุดพระครูญาณมงคล เจ้าคณะเมืองก็มีหนังสือถึงครูบาศรีวิชัยให้ท่าน และบรรดาภิกษุ สามเณรและสานุศิษย์ทั้งปวง แห่งวัดบ้านปางเดินทางเข้าเมืองลำพูน เพื่อสอบสวนพิจารณาความกันต่อไป

    เจ้าสุริยวงศ์ ผู้แต่งหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัยฉบับเก่าแก่มีอยู่สำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้พิมพ์เผยแพร่เป็นอักษรไทยยวน ซึ่งก็คืออักษรพื้นเมืองเหนือของเชียงใหม่ที่เรียกว่า "ตั๋วเมือง" หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

    “ครั้นอยู่มาบ่นานเท่าไร พระครูเจ้าคณะเมืองลำพูนมีหนังสือไปฉบับหนึ่งถึง เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองเมืองลำพูนหนังสือฉบับนี้มีใจความว่า ให้พระศรีวิชัย เรียกบรรดาสงฆ์สามเณรทั้งหลาย ซึ่งถือตามพระศรีวิชัยในหมวดบ้านปาง ให้พระศรีวิชัยนำตัวเข้ามาที่พระครูเจ้าคณะเมืองลำพูนทั้งสิ้น

    ครั้นได้รับจดหมายทั้งสองฉบับนี้แล้ว ท่านก็เรียกพระภิกษุสามเณรทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันที่วัดศรีดอนชัยทรายมูลบุญเรือน ในอรัญญวาสแห่งท่าน ครั้นพระสงฆ์สามเณรพร้อมแล้วท่านก็เทศนาให้พระภิกษุสามเณรทั้งหลายฟังว่า

    บัดนี้เจ้าคณะเมืองลำพูนพร้อมด้วยเจ้าผู้ครองลำพูนมีหนังสือมาว่า ให้เราพาเอาท่านทั้งหลาย ที่ปฏิบัติถูกต้อง เข้าไปในเมืองลำพูนทั้งหมด การครั้งนี้เป็นการใหญ่โตอยู่ เพราะเราได้ขัดขืนต่อข้อบังคับของเจ้าคณะแขวงหลายอย่าง ถ้าเข้าไปถึงพระครูเจ้าคณะเมืองลำพูนแล้วจักร้ายดีประการใดก็ไม่แจ้ง ส่วนตัวเรา ถึงจักเป็นตายด้วยอำนาจที่บ่เป็นธรรมดาข้อหนึ่งข้อใด ก็บ่มีความวิตก ถือเอาคุณธรรมกรรมฐาน คุณรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จักยอมตายในพุทธจักรฝ่ายเดียว เมื่อท่านทั้งหลายจักถือมั่นอย่างเรา จักตามเราเข้าไปก็บ่ห้าม เมื่อท่านทั้งหลายกลัวยังราชภัย มนุษย์ภัย เอาตัวไปหลบหลีกแอบแฝงอยู่แห่งหนตำบลใด ฤๅจะเข้าไปหาเจ้าคณะแขวง ยอมปฏิบัติตามระเบียบการปกครองที่จัดขึ้นใหม่ตามสมัยของราชการ เราก็บ่ห้าม เมื่อท่านทั้งหลาย จักถือตามเรามั่นเที่ยงแท้ เมื่อเราช่วยท่านในปัจจุบันภาวะนี้บ่ได้ เราเสี้ยงบุญไปแล้ว (เสี้ยง - คำเมืองหมายถึงหมด) ถ้าท่านทั้งหลายจะถือมั่นอย่างเรา บ่กลับกลายไปอย่างอื่นอย่างใด ท่านทั้งหลายคงจักได้ถึงที่สุขในชาติหน้าเป็นมั่นเที่ยงแท้บ่สงสัย เมื่อท่านทั้งหลายตนใดตนหนึ่ง จะหันร้ายดีประการใดจุ่งวิสัชนาในกาลบัดนี้เทอญ”

    เมื่อครูบาศรีวิชัยกล่าวจบลงนั้น พระภิกษุประมาณ ๓๐๐ รูป สามเณรอีกนับร้อยรูป และสานุศิษย์จำนวนมากที่มาประชุมพร้อมกันอยู่ ณ ที่นั้นว่าต่างมีความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ยอมทอดทิ้งครูบาศรีวิชัยเป็นอันขาด จะยึดมั่นปฏิบัติตามคำสั่งสอนครูบาศรีวิชัยสืบต่อไป และทุกรูปทุกคนยินดีที่จะติดตามครูบาศรีวิชัยเข้าสู่เมืองลำพูน
     
  18. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอนบุญนิมิต
    17203050_10212437711087515_6877128963944193208_n.jpg
    เจ้าสุริยวงศ์สิโรรส เล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนี้อีกตอนหนึ่งว่า

    “ในวันประชุมสังฆะ ในปัจฉิมยามจะใกล้รุ่ง ท่านก็มุ่งเห็นนิมิตฝันว่า ยังมีปราสาทหลังหนึ่งสูงนพศูรย์เยี่ยมเมฆ ล้มระเนระนาดอยู่เหนือดิน ปุถุชนทั้งหลายนับพันนับหมื่นพากันมาเพื่อจะช่วยปราสาทหลังนั้น ได้พากันมาเพื่อจะเข้าไปยกปราสาท ก็บ่อาจสามารถจักยกขึ้นได้ด้วยกำลังมนุษย์ ท่านได้เข้าไปยกปราสาทหลังนั้นให้ตั้งเป็นปกติดังเดิม

    ครั้นรัตติยามคืนนั้นรุ่งมา แล้วท่านก็ลุกมาล้างหน้าแล้วก็มายังที่สมควร แล้วท่านก็สำแดงนิมิตที่ท่านได้หัน (เห็น) มาในกลางคืนนั้น ให้พระภิกษุทั้งหลาย และคฤหัสถ์เฒ่าแก่ทั้งหลายซึ่งมีอุปัฏฐากท่านอยู่ยังที่นั้น พระสงฆ์ และคฤหัสถ์ทั้งหลายได้ยินฟังท่านเทศนาแสดงยังนิมิต ต่างพากันชื่นชมยินดี แล้วก็พากันทำนายฝันว่า ท่านคงมีบุญสมภารอันกว้างขวาง จะได้เป็นผู้ปกครองศาสนา ให้ก้านแก่งรุ่งเรืองต่อไปภายหน้าตราบ ๕๐๐๐ พระวัสสา แล้วก็พากันให้พรแก่ท่านอันเป็นมงคลอันดีก็มีนั้นแลฯ”

    จากความฝันของครูบาศรีวิชัยดังนี้ จึงเล่าสืบกันมาในหมู่ผู้เฒ่าผู้แก่บ้านปางว่า หลังที่ครูบาศรีวิชัยพ้นมลทิน ในการถูกสอบสวนความผิดต่างๆ แล้วท่านจะได้อุทิศตัวเองสร้างงานสาธารณประโยชน์ ในการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามที่เก่าแก่ต่างๆ ที่ชำรุด หรือร้างไปแล้วให้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่ ตลอดชีวิตในบั้นปลายของท่าน อันเปรียบเสมือนหนึ่งการยกปราสาทที่ปรักหักพังให้กลับคืนดีนั่นเอง

    ครูบาศรีวิชัยได้กำหนดวันที่จะเดินทางเข้าสู่เมืองลำพูนตามคำสั่งของท่านเจ้าคณะ โดยมีภิกษุสามเณร และสานุศิษย์จำนวนมากจะร่วมทางไปกับท่านด้วย

    เหตุมหัศจรรย์ ก่อนหน้าที่ครูบาศรีวิชัยจะเดินทางเข้าสู่เมืองลำพูนนั้นเพียง ๑ วัน ก็เกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้นที่วัดบ้านปาง นั่นคือในเช้าวันนั้นมีฝูงกาประมาณ ๓๐ - ๔๐ ตัว บินมาเกาะอยู่ที่กำแพงวัดบ้านปาง ที่ก่อเทินเป็นกำแพงขึ้นมาด้วยก้อนหินใหญ่น้อย นับตั้งแต่สร้างวัดบ้านปางเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เมื่อกามาเกาะอยู่ก็ส่งเสียงร้องดังไปทั่วทั้งวัด เป็นที่ประหลาดใจของผู้คนซึ่งชุมนุมกันอยู่

    แล้วอีกพักใหญ่ต่อมา บนท้องฟ้ามีนกอินทรีตัวหนึ่งบินร่อนวนเวียนอยู่ไปมา ในทันใดนั้น กาทั้งฝูงก็พากันบินขึ้นไล่ตามจิกตีนกอินทรีตัวนั้นอย่างดุเดือด ภิกษุสามเณร และสานุศิษย์พร้อมด้วยครูบาศรีวิชัยออกมายืนดูกันเต็มลานวัด การต่อสู้ระหว่างนกอินทรี ๑ ตัวกับกา ๑ ฝูงดำเนินไปสักครู่หนึ่ง กาทั้งฝูงก็ไม่อาจจะสู้กับนกอินทรีได้ ทั้งฝูงจึงบินลงมาจับเกาะที่กำแพงหินวัดดังเดิม แล้วส่งเสียงร้องเกรียวกราว และก็น่าแปลกใจ นกอินทรีตัวนั้นไม่บินหนีไปไหน คงยังบินร่อนวนเวียนไปมาอยู่เหนือวัดบ้านปางนั่นเอง ไม่นานต่อมา พวกกาทั้งหมดก็ระดมบินขึ้นไปไล่จิกนกอินทรีอีกครั้ง คราวนี้ผู้คนแตกตื่นมายืนดูการราวีระหว่าง ๑ อินทรี กับอีกาทั้งฝูงกันมากขึ้น ผู้คนต่างส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ยังเหตุประหลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้อยู่อึงมี่

    ผลการต่อสู้ครั้งนี้เหมือนเดิม เหล่าอีกาก็ไม่สามารถสู้นกอินทรีได้ และแล้วก็บินลงมาเกาะที่กำแพงหินวัดดังเดิม ในวันนั้นพวกฝูงกาได้บินขึ้นไปรุมเล่นงานนกอินทรีถึง ๓ ครั้ง แต่ก็แพ้ รู้สึกอาย กาทั้งหมดจึงบินหายวับไปจากวัดบ้านปาง ปล่อยให้ผู้คนยังแหงนคอดูจนกาบินลับฟ้าไป แล้วนกอินทรีก็บินจากไปในระหว่างขุนเขาอันไม่ไกลจากวัดบ้านปางนัก

    นี่คือเหตุมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น ณ วัดบ้านปาง หนึ่งวันก่อนที่ครูบาศรีวิชัย และภิกษุสามเณรทั้งหลายจะเดินทางไปยังเมืองลำพูน เหตุประหลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็เป็นที่โจษขานกันอย่างยิ่ง ว่าเป็นนิมิตหมายอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยอย่างแน่นอน

    เมื่อครูบาศรีวิชัยกำเนิดขึ้นมา เวลานั้นแผ่นดินไหวสั่นสะเทือน จนท่านมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ ฟ้าฮ้อง หรือ อินตาเฟือน บัดนี้เมื่อครูบาศรีวิชัยจะเดินทางจากวัดบ้านปาง เข้ารับการไต่สวนความผิด ฝูงกา และนกอินทรีก็มาแสดงนิมิตให้เห็น ผู้คนต่างพูดถึงนิมิตในครั้งนี้ ว่าเป็นการแสดงให้เห็นอย่างแน่ชัดว่า นกอินทรีเปรียบดังครูบาศรีวิชัยที่ท่านอยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างสมถะ แต่ยังมิวายที่จะถูกรังแกได้ (ในที่สุดฝูงกาก็ต้องพ่ายแพ้นกอินทรี)
     
  19. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ขบวนนักบุญ
    17202887_10212437742808308_5171183240206019658_n.jpg
    และแล้ววันที่กำหนดให้ครูบาศรีวิชัยเดินทางเข้าเมืองลำพูนก็มาถึง คือ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒

    ในเช้าวันนั้นที่วัดบ้านปางมีภิกษุมาชุมนุมอยู่ประมาณ ๓๐๐ รูป สามเณรอีกประมาณ ๔๐๐ รูป และสานุศิษย์ที่เป็นคฤหัสถ์อีกประมาณ ๑,๐๐๐ คน ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวเขาอยู่หลายเผ่า อาทิ ยาง ขมุ แม้ว ลีซอ ก้อ ฯลฯ จำนวนไม่น้อยที่พร้อมออกเดินทางไปกับครูบาศรีวิชัย

    ครูบาศรีวิชัย เข้าเมืองลำพูนไปสู่อำเภอลี้ในสมัย พ.ศ. ๒๔๖๒ นั้นมิได้เดินทางอย่างสะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งนั่งรถยนต์เพียงชั่วโมงก็ถึง การเดินทางครั้งนี้ต้องพักแรมในระหว่างทางถึง ๕ คืน จะเห็นได้ว่าอำเภอลี้ห่างไกลจากเมืองลำพูนแค่ไหน และชนบทอย่างบ้านปางไปเมืองลำพูนจะลี้ลับขนาดไหน แต่ด้วยบารมีครูบาศรีวิชัยนั่นเอง ทำให้ผู้คนบุกบั่นไปหาท่าน สมัครเป็นสานุศิษย์มากถึงเพียงนี้ ก่อนที่ครูบาศรีวิชัยจะเคลื่อนขบวนนักบุญไปเมืองลำพูน โยมมารดาของท่านคือ นางอุสาห์เป็นห่วงยิ่งนัก นางร่ำไห้ปานหนึ่งว่าจะขาดใจ เพราะเป็นห่วงครูบาศรีวิชัย เกรงว่าจะได้รับภัย ครูบาศรีวิชัยก็ได้เพียงแต่ปลอบโยนโยมมารดาด้วยคำพูดว่า "โยมอย่าได้วิตกเลย อาตมาไม่เป็นอะไรหรอก" โยมมารดาถึงกับอ้อนวอนให้ครูบาศรีวิชัยสึกจากการเป็นภิกษุเสีย เพื่อจะได้พ้นภัยแล้วจะได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันเหมือนเดิม แต่ครูบาศรีวิชัยก็ยืนยันว่า ถ้าอาตมาจะตายก็ขอให้อาตมาตายในผ้าเหลืองเถิด
    ครูบาศรีวิชัย เริ่มต้นออกเดินทางจากวัดบ้านปางมุ่งหน้าไปทางดอยพระธาตุสามยอด อันเป็นสถานที่ต้องพักแรมคืนแรก เมื่อเริ่มต้นเดินทางนั้น ภิกษุสามเณรจากวัดต่างประมาณ ๗๐๐ รูป เดินตามหลังครูบาศรีวิชัยเป็นแถวขบวนยาว พร้อมด้วยสานุศิษย์และคฤหัสถ์ก็เดินตามหลัง ไม่ว่าแถวขบวนซึ่งเดินนำโดยครูบาศรีวิชัย เมื่อเดินผ่านยังหมู่บ้านใด ก็มีคนนำสิ่งของ เครื่องจตุปัจจัย และอาหารแห้งมาถวายยิ่งไปกว่านั้นจำนวนผู้คน (ชาวบ้าน) ก็เพิ่มมากขึ้น เพราะแต่ละหมู่บ้าน แต่ละที่ที่ครูบาศรีวิชัยใช้เป็นเส้นทางเดินผ่านนั้น ล้วนแต่มีคนศรัทธาท่านทั้งสิ้น ครูบาศรีวิชัย และขบวนนักบุญประหนึ่งจะสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่ผืนดินของเมืองลำพูนยิ่งนัก

    ราตรีแรกในการเดินทาง ต้องพักที่วัดดอยธาตุสามยอด คืนที่สองพักที่วัดบ้านโฮ่งหลวง คืนที่สามพักแรมที่วัดป่าตาล คืนที่สี่พักที่วัดต้นโชค และคืนที่ห้าพักที่วัดต้นธง ในแต่ละวัดดังกล่าวที่ขบวนนักบุญได้พักแรมนั้น บรรดาอุบาสกอุบาสิกาที่เคยได้ยินกิตติศัพท์ของครูบาศรีวิชัยมาก่อนแล้ว ต่างมาร่วมทำบุญ และขอให้ท่านเทศน์ให้ฟังอีกด้วย

    มาถึงบัดนี้ขบวนนักบุญของครูบาศรีวิชัยมีจำนวนเกินกว่า ๓,๐๐๐ คนแล้ว

    เจ้าสุริยวงศ์สิโรรส เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครูบาศรีวิชัยไปถึงเมืองลำพูน ในหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัย ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ว่า

    เมื่อครูบาศรีวิชัยไปพักอยู่ที่วัดต้นธงเป็นวัดสุดท้ายที่ขบวนได้พักแรมที่นั่น ซึ่งอยู่ในเขตชานเมืองลำพูนที่อยู่ห่างกันเพียง ๒ กิโลเมตรนั้น ก่อนหน้านี้ชาวเมืองลำพูนได้ทราบข่าว และพูดถึงการต้อนรับคณะขบวนนักบุญ ที่ร่วมเดินทางมากับครูบาศรีวิชัยด้วยนั้น โดยชาวบ้านที่เมืองลำพูนนำกลองสะบัดชัย ดนตรี ซอ ไปบรรเลงต้อนรับพร้อมด้วยเครื่องไทยทานอีกจำนวนมาก เพื่อจัดเป็นครัวทาน เตรียมแห่ครูบาศรีวิชัยเข้าเมืองลำพูน ในวันรุ่งขึ้น

    ข่าวนี้ได้ล่วงเข้าหูเจ้าคณะเมือง และข้าราชการ กดดันทำให้หวั่นไหวได้มิใช่น้อย เพราะมีผู้คนเข้าร่วมขบวนนั้นเอง ทางฝ่ายบ้านเมืองเกรงไปว่า สานุศิษย์ครูบาศรีวิชัยที่มีชาวป่าชาวเขาอยู่ด้วยนั้น อาจจะก่อเหตุร้ายขึ้นเมื่อเข้าถึงเมืองลำพูนก็ได้ ทางราชการจึงเตรียมกำลังรับเหตุการณ์อย่างพร้อมมือ ราวกับว่าจะคอยรับกองทัพศึกก็ปานนั้น

    รุ่งเช้าวันที่ ๖ หลังจากที่รอนแรมจากบ้านปาง ครูบาศรีวิชัย และผู้ติดตามทั้งหมดเริ่มเดินเท้าเข้าเมืองหริภุญชัย โดยมีขบวนแห่ครัวทานของชาวเมืองมุ่งหน้าตรงไปสู่วัดพระธาตุหริภุญชัย เพื่อถวายเครื่องไทยทาน นมัสการองค์พระธาตุหริภุญชัย ปูชนียสถานคู่เมืองลำพูนครั้นเมื่อขบวนของพระภิกษุสามเณร และสานุศิษย์ ครูบาศรีวิชัยถึงประตูด้านนอกกำแพงวัดพระธาตุหริภุญชัย ก็ได้พบกับข้าราชการเมืองรายล้อมอยู่ทั่วไป พร้อมด้วยกำลังตำรวจซึ่งมีอาวุธพร้อมมือ ขบวนพระและสามเณรจึงหยุดชะงักอยู่กับที่ ตำรวจทั้งหมดกระจายกันเข้าตรวจค้นสานุศิษย์ที่เป็นคฤหัสถ์ของครูบาศรีวิชัยทุกคน ได้พบมีดพร้าที่นำติดตัวมา เพื่อประกอบอาหารระหว่างการเดินทางมา ทางตำรวจทำการยึดไม่ว่าของแหลมคมอันใดก็ยึดทั้งหมด แม้กระทั้งมีดพับเล็กๆ ของสามเณรที่มีไว้เพื่อตัดเล็บ (สมัยนั้นที่ตัดเล็บคงไม่มีใช้) ก็ถูกยึดด้วย

    สร้างความไม่พอใจให้แก่ภิกษุสามเณร และสานุศิษย์ของครูบาศรีวิชัยเป็นอย่างยิ่ง ร่ำๆ ว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นที่หน้าวัด แต่ครูบาศรีวิชัยได้ขอร้องให้ทุกรูปทุกคนตั้งอยู่ในความสงบ แล้วตำรวจก็ห้ามทุกคนมิให้ผ่านเข้าไปในกำแพงวัดพระธาตุฯ นอกเสียจากครูบาศรีวิชัยเพียงองค์เดียวเท่านั้น ภิกษุสามเณร และสานุศิษย์ที่ตามมาให้รออยู่ด้านนอกกำแพงวัดทั้งหมด โดยมีกำลังตำรวจคอยดูแลอย่างกวดขัน

    คืนนั้นครูบาศรีวิชัย ถูกกักตัวอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ส่วนภิกษุสามเณร และสานุศิษย์ใช้ด้านนอกกำแพงวัดพระธาตุเป็นที่จำวัด และพักแรม อันเป็นภาพที่น่าหดหู่ใจยิ่งนัก ข่าวเรื่องนี้แพร่หลายไปทั่งเมืองลำพูน เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ทุกๆ คนต่างพูดกันว่า "เจ้าคณะเมือง และเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองใช้อำนาจกระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ" ราวกับว่าครูบาศรีวิชัยมีความผิดขั้นร้ายแรง เมื่อข่าวนี้ยิ่งสะพัดไปมากเท่าไร ก็มีผู้มุ่งหน้าไปสู่วัดพระธาตุมากขึ้นเท่านั้น ชาวเมืองต่างนำอาหารเข้าไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร และอีกส่วนหนึ่งพยายามจะนำอาหารเข้าไปถวายครูบาศรีวิชัยในวัด แต่ทว่าตำรวจได้รับคำสั่งไม่ให้ใครเข้าไป จึงไม่มีใครรู้ครูบาศรีวิชัยจะเป็นอย่างไรบ้าง?

    รุ่งเช้า

    ชาวเมืองลำพูนเป็นจำนวนมากต่างพากันไปทำบุญตักบาตรพระภิกษุที่เดินทางมากับครูบาศรีวิชัย และยังนำอาหารมาให้สานุศิษย์ที่มาด้วย แต่สิ่งที่ทุกคนผิดหวังมากก็คือ ไม่สามารถเข้าไปถวายภัตตาหารแด่ครูบาศรีวิชัยภายในวัดได้ เพราะตำรวจไม่อนุญาตให้ใครผ่านเข้าไป

    ชาวบ้านที่ศรัทธาในครูบาศรีวิชัยก็ไม่ยอมถอย พยายามที่จะเข้าไปให้ได้ ก็ได้แต่เพียงยืนประจันหน้ากับตำรวจอยู่ที่ประตูหน้าวัดพระธาตุฯ
     
  20. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ส่างสาคหบดียอดนักบุญ
    17203046_10212437829890485_1054911648054080726_n.jpg

    สมัยนั้นที่เมืองลำพูนมีชาวเงี้ยว หรือไทยใหญ่คนหนึ่ง มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ที่ลำพูนมานาน เป็นที่รู้จักรักใคร่ของชาวเมืองลำพูนทั่วไป เขามีชื่อว่า ส่างสา ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีจิตใจดี ทำบุญถือศีลเป็นประจำ

    ส่างสานี้รู้จัก และเคารพครูบาศรีวิชัยอยู่ไม่น้อย วันนั้นเขามุ่งหน้าไปที่วัดพระธาตุนำอาหารคาวหวานไปถวายครูบาศรีวิชัย แต่เมื่อพบกับการกีดกันของตำรวจ ส่างสาก็ลืมตาย ประกาศก้องว่า เขาจะเดินนำหน้าเข้าวัดพระธาตุให้จงได้ ถ้าตำรวจจะยิงเขาก็ยอมตาย ชาวเมืองที่มาชุมนุมอยู่ก็ร้องสนับสนุนเสียงเอะอะอึ่งมี่ไปทั่วหน้าวัดพระธาตุ แล้วส่างสาก็ทำอย่างที่เขาพูดจริงๆ เขาเดินนำคลื่นชาวเมืองเข้าประตูวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่มีตำรวจถืออาวุธพร้อมในมือปิดกั้นอยู่ ส่างสาเดินเข้าใกล้ตำรวจอย่างไม่สะทกสะท้าน เมื่อเจอเข้าไม้นี้ ตำรวจก็ต้องยอมให้ชาวเมืองผ่านเข้าไปหาครูบาศรีวิชัยแต่โดยดี เสียงไชโยโห่ร้องดังขึ้นอย่างกึกก้อง

    เมืองลำพูนในขณะนี้นั้น เต็มไปด้วยความชุลมุนวุ่นวาย เพราะการนำเอาตัวครูบาศรีวิชัยมากักขังไว้ เจ้าคณะเมือง ข้าหลวงประจำจังหวัด และเจ้าผู้ครองนครเมืองเห็นพ้องต้องกันว่า หากขืนกักตัวครูบาศรีวิชัยไว้ที่ลำพูนต่อไป เรื่องราวคงจะลุกลามใหญ่โต จึงพร้อมใจกันทำหนังสือแจ้งให้เจ้าคณะมณฑลที่นครเชียงใหม่ทราบ เพื่อมารับครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนที่นครเชียงใหม่ต่อไป ตามอำนาจที่เจ้าคณะมณฑลมีอยู่ ครูบาศรีวิชัยจึงต้องเดินทางไปเชียงใหม่ด้วยสาเหตุนี้เอง

    ครูบาศรีวิชัย คือ ศูนย์รวมแห่งจิตใจของชาวเมืองลำพูนในครั้งนั้น นับแต่ท่านถูกกล่าวหาด้วยข้อหาฉกรรจ์ แล้วเดินทางมาสู่ลำพูน จนกระทั่งถูกกักตัวอยู่ตลอดทั้งคืน ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ประชาชนชาวเมืองลำพูนที่ทราบข่าว ต่างก็มุ่งหน้าไปวัดพระธาตุหริภุญชัย นับแต่เวลาบ่ายเมื่อเดินทางไปถึง แต่ก็ผิดหวังที่ไม่สามารถพบครูบาศรีวิชัยได้ จนกระทั่งถึงรุ่งเช้า

    ส่างสา คหบดีชาวเมืองลำพูน จึงเป็นผู้นำคลื่นชาวบ้านที่เคารพ และศรัทธาครูบาศรีวิชัย ฝ่าวงล้อมของตำรวจที่คอยป้องกันเหตุอยู่ เข้าไปพบครูบาศรีวิชัยภายในวัดได้ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยเห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นเล่าว่า ชาวบ้านจำนวนนับพันๆ คนต่างเฮโลเข้าประตูวัดพระธาตุหริภุญชัย เข้าไปแล้ว เมื่อได้พบครูบาศรีวิชัย ต่างก็นั่งลงคุกเข่าก้มกราบในบริเวณวัดแน่นไปหมด ยิ่งกว่ามีงานปอยประจำปีเสียอีก สิ่งของที่ชาวบ้านนำมาด้วย เพื่อถวายแด่ครูบาศรีวิชัย กองอยู่เป็นภูเขาเลากาน่าอัศจรรย์นัก ที่ภิกษุหนุ่มอายุเพียง ๔๑ ปี มีพรรษาเพียง ๒๑ พรรษา ไม่มีสมณศักดิ์ใด ไม่สร้างพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง มีแต่สัจธรรมของพระพุทธองค์เป็นสมบัติ ได้รับความเลื่อมใสจากชาวเมืองมากมายถึงเพียงนี้

    พลังแห่งศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อครูบาศรีวิชัยนี้เอง ทำให้เจ้าคณะเมืองลำพูน และข้าหลวงเมืองเห็นชัดว่า ถ้าขืนกักครูบาศรีวิชัยไว้ที่วัดพระธาตุฯ หรือสถานที่ใดๆ ในเมืองลำพูนก็คงจะเป็นชนวนแห่งความยุ่งยากนานับปการ

    วิธีที่ดีที่สุด คือ ส่งครูบาศรีวิชัยไปเชียงใหม่ให้เจ้าคณะมณฑลเป็นผู้สอบสวนความผิดต่อไป

    สมัยนั้นการคมนาคมที่ติดต่อระหว่างลำพูน และเชียงใหม่สะดวกขึ้นบ้างแล้ว ด้วยมีถนนผ่านบ้านป่าเหว สารถี ป่ายาง เนิ้ง หนองหอย เข้าสู่เชียงใหม่ ซึ่งก็คือถนนสายลำพูน-เชียงใหม่ปัจจุบัน ดังนั้น หนังสือด่วนจากข้าหลวงเมืองลำพูนพร้อมด้วยลิขิตของเจ้าคณะเมืองลำพูน ให้ม้าเร็วนำเข้าเชียงใหม่ในเย็นวันที่ครูบาศรีวิชัยเดินทางมาถึงลำพูนนั่นเอง

    ในหนังสือระบุว่า ขอให้ทางเจ้าคณะมณฑลรีบจัดการมารับตัวครูบาศรีวิชัยไปให้พ้นเขตลำพูนโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเหตุจลาจลจากผู้เคารพเลื่อมใสในตัวครูบาศรีวิชัย ซึ่งคาดว่าเมื่อนำครูบาศรีวิชัยไปสู่เชียงใหม่แล้ว ชาวบ้านก็จะสลายไปเอง

    ดังนั้น วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ครูบาศรีวิชัย ถูกกักตัวไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูนหนึ่งคืนนั่นเอง พลโทหม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชมณฑลพายัพ ซึ่งได้รับหนังสือด่วนจากข้าหลวงเมืองลำพูน จึงให้คณะกรรมการนำรถยนต์ไปรับครูบาศรีวิชัยจากลำพูนมาเชียงใหม่ วันนั้นตรงกับวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒


     

แชร์หน้านี้

Loading...