เรื่องเด่น วิธีฝึกจิตให้มีพลัง พระธรรมเจติยาจารย์(วิริยังค์ สิรินธโร)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 1 กุมภาพันธ์ 2017.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,293
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    วิธีฝึกจิตให้มีพลัง

    ต่อไปนี้ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจที่จะทำความสงบกันต่อไป ในเบื้องต้นนี้อาตมาจะเป็นผู้นำ ทุกๆ คนให้ว่าตาม

    ข้าพเจ้า ระลึกถึง คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ จงมาดลบันดาล ให้ใจของข้าพเจ้า จงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ (3ครั้ง) พุทโธ พุทโธ พุทโธ

    นี่ก็ให้นึกไว้ในใจ นั่งขัดสมาส ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาหงายทับมือซ้าย วางไว้บนตัก หลับตา นึกพุทโธในใจ กำหนดใจของเราไว้ที่ใจ การทำสมาธิ ต้องการความเป็นหนึ่ง ความเป็นหนึ่งเป็นต้นเหตุของการที่จะให้เกิดพลังจิต พลังจิตนั้นก็คือ กระแสธรรม ทำอย่างไรพลังจิตของเราจะเกิดขึ้นได้

    การทำจิตให้เป็นหนึ่ง คือการที่จะทำจิตนี้ให้เกิดพลังจิต พลังจิตนี้ ที่จะเป็นกำลังที่จะทำวิปัสสนาต่อไปในกาลข้างหน้า แต่การที่จะเป็นหนึ่งได้นั้น ต้องอาศัยคำบริกรรม คำบริกรรมนั้น อย่างที่เราบริกรรมว่าพุทโธๆ เป็นคำบริกรรม ผู้ที่นึกพุทโธได้แล้ว ถือว่าจิตนั้น เริ่มที่จะเข้าเป็นหนึ่ง เมื่อจิตเป็นหนึ่งได้แล้ว พุทโธก็ไม่ต้องนึก

    เมื่อเราไม่นึกพุทโธ แต่ว่าจิตของเราเป็นหนึ่งได้ ก็ถือว่าจิตของเราได้เลื่อนไปอีกขั้นนึง การที่เรากระทำสมาธินั้น เราจะต้องรู้ว่าเมื่อเวลาทำจิตของเราได้ผลอย่างไร เราจะต้องทำอย่างนั้นไปเสมอๆ เพราะว่าต่างคนก็ต่างมีนิสสัยวาสนาบารมีต่างกัน

    เมื่อใครจะกำหนดจิตอย่างไรที่เป็นผลเป็นประโยชน์แก่ตนนั้น เราก็จะต้องกำหนดจิตอย่างนั้นและเมื่อกำหนดจิตอย่างนั้นอยู่ตลอดไป ความชำนาญเกิดขึ้น ความชำนาญนั้น ในภาษาบาลีท่านกล่าวว่า วสี

    วสี แปลว่าความชำนาญ ความชำนาญนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการบำเพ็ญจิต เหมือนกันกับผู้ที่เขียนหนังสือเกิดความชำนาญ เค้าย่อมจะต้องเขียนได้อย่างสบาย แม้จะหลับตาเขียนก็ได้เพราะความชำนาญและเขาก็ได้ประโยชน์จากการเขียนนั้น อย่างรวดเร็ว

    ผู้ที่บำเพ็ญจิตก็เช่นเดียวกัน ต้องแสวงหาความชำนาญให้เกิดขึ้น หรือเรียกว่าแสวงหาวสี การที่เราตั้งจิตนั้น เมื่อเราตั้งได้อย่างนี้ เราทำอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าถูกต้อง เพราะความถูกนั้น อยู่ที่จิตเราตั้งได้ เมื่อจิตตั้งได้ ความตั้งของจิตนั้น ถือว่า สติ

    สตินั้นเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนจะต้องมี ถ้าสตินั้นขาดเมื่อไร การตั้งก็ตั้งไม่อยู่ เหมือนกันกับสิ่งที่เราจะตั้งขึ้นมาเป็นเสา หรือจะตั้งขึ้นมาเป็นสิ่งของ เป็นโต๊ะ เป็นเตียง ถ้าหากว่าขามันหักหรือว่าขาไม่ดี เตียงก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ก็ต้องล้มกันลงไป ขาของเตียงก็ดี ขาของเก้าอี้หรือเสาก็ดี ล้วนแล้วแต่เราสมมุติกันขึ้น แต่ถ้าหากว่าจะเปรียบเทียบ ก็เปรียบได้ด้วยสติ

    สตินั้นคือความระลึกหรือเรียกว่าความตั้งอยู่ ความไม่วอกแวก จิตมันวอกแวกไปไม่ได้ในเมื่อมันมีสติ แต่พอขาดสติมันก็วอกแวกออกไป อย่างนี้เป็นลักษณะธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่เราจะทำสิ่งที่เรียกว่าสมาธิให้เข้มแข็ง หรือเป็นกำลังต่อไปนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเสริม คือเสริมสตินี้ ให้มีกำลังยิ่งๆ ขึ้นไป

    วิธีการที่จะเสริมสติ พระพุทธเจ้าแนะนำไว้ 4 ประการ คือ สติปัฏฐาน 4 มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หนึ่ง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สอง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สาม ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สี่

    สี่ประการนี้เป็นหลักหรือเรียกว่าเป็นหน่วยของการส่งเสริมสติของเรานี้ให้มั่นคง ในจำนวนสติปัฏฐาน 4 นั้น พระพุทธเจ้ายกกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอันดับหนึ่ง อันดับหนึ่งก็คือกาย จึงเป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ ทุกวันๆ และเป็นสิ่งเราได้สัมผัสอยู่ ทุกวันๆ เราจึงรู้และเข้าใจง่ายในการที่จะเอากายนี้มาเป็นการส่งเสริม หรือเรียกว่าเสริมสติของเราให้แก่กล้ายิ่งขึ้น วิธีการที่ท่านให้เอากายนี้เป็นการเสริมสตินั้น ท่านทำอย่างไร

    ในบาลีท่านแสดงไว้ว่าให้เราพากันมีสติมองดูกายในอดีต อนาคตและปัจจุบัน กายในอดีตเป็นอย่างไร กายในอนาคตเป็นอย่างไร กายในปัจจุบันเป็นอย่างไร เรากำหนดจิตไว้ที่นั่น จะเป็นระยะหนึ่ง หรือว่านาน หรือไม่นาน ก็สุดแล้วแต่ แต่ถ้าหากว่าเรากำหนดลงไปได้ จะเป็นการเสริมสติขึ้นมาทันที

    ในกายนี้ถ้าหากว่าเป็นกายในอดีต ท่านก็ให้พิจารณาถึงว่าเมื่อเรา 50, 40, 30, 20, 10 ปี 9, 8, 7, 6, 5, 4, 3, 2, 1 นี่เรียกว่าเราดูกายของเราตั้งแต่นี้ไปจนกระทั่งถึงเด็ก มันเป็นยังไง รูปร่างลักษณะและต่อนี้ไปก็ อนาคตัง วา คือกายในอนาคต ที่ต้องพิจารณาดูว่า จาก 50 แล้วเป็น 60 จาก 60 เป็น 70 จาก 70 เป็น 80 จนกระทั่งถึงตาย ลักษณะของการมีกายในอนาคตนั้นคือความแก่และความตาย ลักษณะเป็นอย่างไร นี่เป็นกายในอนาคต ในการที่จะพิจารณาให้เห็นเป็นการส่งเสริมสติและปัจจุปันนัง วา กายในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าแนะนำว่ากายในปัจจุบันนั้น อะยังโข เม กาโย กายของเรานี้แล อุททัง ปาทะ ตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา อะโท เกสะ มัทถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ตะจะ ปริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ปุโร นานัปปะการัสสะ อสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ อัตถิ อิมัสสมิง กาเย มีอยู่ในกายนี้ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ เรียกว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ในร่างกายอันนี้

    หนังนั้นเป็นอย่างไร เนื้อนั้นเป็นอย่างไร กระดูกนั้นเป็นอย่างไร จนกระทั่ง ท่านได้แสดงว่า อัญเญนะ ชังคะถิกัง กระดูกแข้งจะกระเด็นไปทางอื่น อัญเญนะ พาหัตถิกัง กระดูกแขนจะกระเด็นไปทางอื่น เป็นต้น คือท่านให้แยกแยะออกไปว่า อันนี้คือ โครงกระดูก อันนี้คือกระดูกแขน อันนี้คือลำไส้ อันนี้คือน้ำเลือด อันนี้คือน้ำเหลือง อันนี้คือร่างกายส่วนต่างๆ จะเป็นกระดูกเท้า กระดูกแขน กระดูกมือ ก็ว่าไป

    อันนี้เรียกว่า ปัจจุปันนัง วา กายในปัจจุบัน การพิจารณาอย่างนี้ถือว่าได้ดำเนินจิตเข้าสู่มหาสติปัฏฐาน สติ แปลว่าสติ ฐานะ แปลว่าความมั่นคง จึงเรียกว่าสติปัฏฐาน ทีนี้ท่านก็ใส่ข้างหน้าไว้ว่าเป็น มหา แปลว่าใหญ่ จึงเรียกว่ามหาสติปัฏฐาน คือเป็นฐานที่ตั้งแห่งสติใหญ่ ความใหญ่ ความยิ่ง ก็ถือว่าเป็นความสำคัญ

    เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการจะเสริมสติ ในเมื่อจิตนี้มันเข้าไปสู่ภวังค์ หรือจิตนี้มันเข้าไปสู่ความสงบ เราก็นำจิตอันนี้เข้ามาดูร่างกาย จะเป็นร่างกายในอดีตหรือจะเป็นร่างกายในอนาคตหรือจะเป็นร่างกายในปัจจุบันนั้น ก็สุดแล้วแต่ว่าเราจะกำหนดลงไปตรงไหน เมื่อกำหนดลงไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะให้กำหนดอยู่แต่ตรงนั้น อย่างเดียว

    เมื่อกำหนดพิจารณาไปเห็นตามสมควรแล้ว เราก็ย้อนจิตกลับคืนมาที่ตั้งของจิต เหมือนกันกับคนที่เค้านั่งอยู่ เมื่อเวลาที่นั่งอยู่นั้น ต้องการอยากจะมองดูสิ่งใด ก็มองไป เห็นหน้าต่าง เห็นประตู แต่ว่าเรานั่งอยู่ในที่นี้ เมื่อเห็นแล้วเราก็หลับตา เราไม่ต้องการที่จะมองให้เห็นอีก เราก็เอาจิตนี้มานั่งอยู่ที่เรานั่ง

    เหมือนกับเรามองดูกายในอดีต อนาคต ปัจจุบัน เมื่อเรามองไป ในที่สุดเราก็ย่อกลับคืนมาหาจิต คือมาตั้งอยู่ที่จิต ในขณะที่เราพิจารณาร่างกายอันนั้น เรามองไปเห็น มันจะชัดเจนขึ้นตามลำดับ ถ้าหากว่าความชัดเจนที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นโดยที่ สันทิฎฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง คือเห็นเองที่ว่าเมื่อเรามองลงไปแล้ว ความชัดเจนนี้มันจะชัดเจนเพิ่มขึ้น

    ถ้าความชัดเจนเพิ่มขึ้น แสดงว่าจิตนี้เกิดความผ่องใส หรือว่าจิตนี้มีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับและก็จิตนี้มีสติอันเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ เพราะว่าความสว่างหรือความเห็นแจ้งลงไปในร่างกายอันนี้นั้น มันจะไม่ชัดเจน เริ่มต้นด้วยความไม่ชัดเจน จนกระทั่งไปหาความชัดเจน ไปถึงความชัดเจน ก็ไปจนถึงความแจ้งสว่าง จากความแจ้งสว่าง ก็เรียกว่าถึงความลึกซึ้ง

    อันนี้ก็เป็นไปด้วยอำนาจหรือเรียกว่าพลังของจิต อำนาจและพลังของจิตนั้น ย่อมจะแสดงให้เห็นถึงกิริยา เพราะว่าอำนาจจะมีแค่ไหนนั้น ก็สุดแต่ฐานที่ตั้ง หรือเรียกว่าสติปัฏฐานนี่แหละ เมื่อสติปัฏฐานนี้ มันเป็นของธรรมดา เราก็ไม่ใส่ มหา ลงไป ใส่แต่ว่าสติปัฏฐานอย่างเดียว แต่ถ้าหากว่าเกิดความยิ่งใหญ่ขึ้นมา ทีนี้จึงจะเรียกว่าเป็นมหา เรียกว่ามหาสติปัฏฐาน

    ก็คือเกิดความแจ่มแจ้ง เกิดความชัดแจ้ง ความชัดแจ้งอันนี้ มันไม่ใช่เป็นสิ่งเดา หรือไม่ใช่เป็นสิ่งคิด คือคิดขึ้นมาก็ไม่สว่าง หรือถ้าเดาไปมันก็ไม่สว่าง แต่ว่ามันจะต้องเกิดความจริงขึ้น อันนี้เป็นเครื่องทดสอบว่าจิตของเรานั้น มีความเจริญก้าวหน้าไปแค่ไหนแล้ว

    ถ้าเราไม่ทดสอบ เราก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าจิตของเรานี้ เมื่อไหร่เรามาทำ เราก็ทำไปอย่างนั้นๆ แหละ อย่างนั้นมันก็ไม่ค่อยถูกต้อง มันจำเป็นที่จะต้องทดสอบ การทดสอบก็คือการพิจารณาตามความเป็นจริงว่าเราได้เห็นจริงชัดลงไปหรือไม่ เมื่อเราหลับตาพิจารณาลงไปแล้วนี่ เราเห็นจริงชัดแค่ไหน ความชัดเจน หรือว่าความสว่าง หรือว่าความซึ้ง มันจะถึงแค่ไหนนั้น ตัวของตนก็รู้ได้

    เพราะฉะนั้นความก้าวหน้าของจิตหรือเรียกว่าการพัฒนาจิตนั้น จึงอยู่ที่ตัวของเรารู้ตัวของเราเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้นั้นก็จะเกิดความเจริญ ภาวิโต เจริญให้มาก พะหุลีกะโต กระทำให้มาก อภิญายะ ก็จะเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง สัมโพธายะ ก็จะเป็นไปเพื่อความรู้ดี นิพพานายะ ก็จะเป็นไปเพื่อความดับสนิทหรือเรียกว่าเป็นไปเพื่อพระนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น

    เพราะเหตุที่ว่าหนทางที่จะดำเนินเข้าไปสู่อริยสัจธรรมนี้ เป็นสิ่งที่มีความจริงที่ไม่มีความจริงที่ไหนจะจริงเท่า ฉะนั้นจึงเรียกว่า อริยสัจจ์ 4 อริยสัจจ์ 4 นั้นคืออะไร อริยสัจจ์ 4 ก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    ทุกข์นั้น ได้แก่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย สมุทัยนั้น ได้แก่ ตัณหาทั้ง 3 นิโรธนั้นได้แก่การดับตัณหา มรรคนั้น ได้แก่หนทางที่จะดับตัณหา ทุกข์นั้น คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เรียกว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์

    ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้น ใครเป็นผู้เกิดมา แล้วใครเป็นผู้ตาย เราก็ไม่ต้องเถียง ร่างกายนี้เป็นผู้เกิดมา ร่างกายนี้เป็นผู้แก่ ร่างกายนี้เป็นผู้ตาย เพราะฉะนั้น ตัวทุกข์ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็คือร่างกายอันนี้ จึงไปตรงกับที่พระพุทธเจ้าแนะนำให้พิจารณาถึงสติปัฏฐาน จึงเรียกว่าร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์

    เมื่อร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์แล้ว ในอริยสัจจ์ท่านก็แสดงว่า ปริโยยันติ เม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ควรกำหนดรู้ ท่านไม่ให้ทำอะไรในร่างกายอันนี้ ให้ทำความรู้ ให้รู้ตามความเป็นจริง คือให้รู้ตามความเป็นจริงว่าร่างกายอันนี้ เมื่อพูดกันตามความเป็นจริงแล้วมันก็คือธาตุ ธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม

    สิ่งใดในร่างกายที่มันแข็งๆ อยู่ ก็เรียกว่า ธาตุดิน สิ่งใดที่มันเหลวๆ อยู่ ก็เรียกว่า ธาตุน้ำ สิ่งใดที่พัดไปพัดมา ก็เรียกว่า ธาตุลม สิ่งใดที่ทำร่างกายให้รุ่มร้อน อบอุ่น ก็เรียกว่า ธาตุไฟ อันนี้คือการพิจารณาตามความเป็นจริง แล้วความเป็นจริงมันก็จะต้องเกิดมาในเบื้องต้น คร่ำคร่าไปในท่ามกลาง แตกสลายไปในที่สุด

    นี่ความจริงเค้าเรียกว่า ทุกขสัจจ์ ในทุกขสัจจ์นี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปริโย ยันติ เม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ควรกำหนดรู้ การกำหนดรู้นั้น จำเป็นต้องศึกษา ถ้าไม่ศึกษาซะก่อนนี่ เรากำหนดรู้ไม่ได้ อย่างเราจะกำหนดดูตัวหนังสือ ตัวหนังสือนี่อ่านว่ายังไง จำเป็นต้องศึกษามาตั้งแต่ต้น

    ถ้าไม่ศึกษาแล้ว เปิดหนังสือขึ้นมา เราก็อ่านไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง ถ้าเราไม่ศึกษาแล้ว เราจับปากกาออกมาเขียน มันก็เป็นตัวหนังสือไม่ได้ แต่ถ้าเราศึกษาแล้วนี่ เปิดหนังสือออกมาเราก็อ่านรู้เรื่อง จับปากกามาถึงก็เขียนได้ตามความมุ่งหมาย อันนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปริโย ยันติ เม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ควรกำหนดรู้นั้น ก็ให้กำหนดรู้อย่างนี้ ทำยังไงถึงจะรู้อย่างนี้ลงไปได้ ถึงจะเรียกว่าสัจจธรรม ถ้าหากว่าเรากำหนดลงไปนี่ มันยังสวยยังงามอยู่ มันไม่ใช่สัจจธรรม หรือกำหนดลงไปนี่ ตรงนี้ก็งาม ตรงนั้นก็สวย แขนก็สวย ขาก็สวย คอก็สวย หน้าก็สวย ผมก็สวย มันก็เลยไม่ใช่สัจจธรรม อันนั้นเรียกว่าเป็นโลกีย์ หรือเรียกว่ากิเลสตัณหา

    แต่ถ้าหากว่าจิตที่มันเป็นสมาธิขึ้นมาจริงจังแล้ว จะไม่เห็นอย่างนั้น จะเห็นตามความเป็นจริงไปเลย เมื่อเห็นตามความเป็นจริงขึ้นมาเมื่อไร มันจะมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจนั้น ก็ได้แก่ นิพพิทา คือความเบื่อ หรือเรียกว่าความเบื่อหน่าย

    ความเบื่อหน่ายอันนี้ ถ้าเกิดขึ้นมาได้เมื่อใด เมื่อนั้นแหละ ผู้นั้นก็ถือว่าดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจะแล้ว จิตนี้เข้าสู่สัจจธรรมแล้ว เพราะว่าจิตนี้ปลงตกไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ตัณหา ที่เรียกว่ากิเลสตัณหาสมุทัย พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมุทัยนั้น ปหา ตะ ปัณติ เม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมุทัยควรละ

    สมุทัยควรละนั้น ถ้าหากว่าเราจะไปตั้งอกตั้งใจละเอาอย่างนี้ คิดละเอาอย่างนี้ มันละไม่ได้ เหมือนกันกับความหิวอย่างนี้ เราจะไปคิดละเอา หรือว่าจะไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดละให้มันหมดความหิวไปย่อมไม่ได้ แต่หากว่าความหิวจะหมดไปนั้น ก็อาศัยการรับประทาน เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว ความหิวหายไปเอง โดยที่เราไม่ต้องไปคิดอยากจะให้มันหาย แต่มันก็หายไปเองเหมือนกันกับที่มาพิจารณาดูตัวทุกข์ เห็นแล้วว่าอันนี้เป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม จะไปหลงรักหลงชังมันทำไม เกิด นิพพิทาญาณ ขึ้นมาอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าละลงไปในตัวเสร็จ คือไม่จำเป็นต้องไปพูดว่าละ สมุทัย ก็เป็นอันว่าถูกขจัด ละออกไปได้ เป็นอัตโนมัติ เหมือนกันกับรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว มันอิ่มมันก็หายไปเป็นอัตโนมัติ

    ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ในข้อที่ 3 พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า สัจฉิกาตะ ปัณติ เม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คำว่าทำให้แจ้งนั้น คือ หมายความว่า รู้แจ้ง และเห็นจริง นิโรธ แปลว่าความดับ หรือเรียกว่าดับทุกข์ ก็เหมือนกันกับที่ว่า พิจารณาเห็นแล้วว่านี่คือธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม ในที่สุด จิตมันก็ละ คือดับ

    การดับนั้นไม่ใช่ว่าคิดดับเอา จำเป็นอยู่เองที่จะต้องให้เกิดตามความเป็นจริง เพราะว่าความเป็นจริงนั้น ย่อมเป็นความเป็นจริงตลอด ในข้อนี้ก็เปรียบเหมือนกันกับเด็กที่เรียนหนังสือ เรียนไป เรียนไป มันก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ตัว ก. ตัว ข. เอาหัวขึ้น เอาหัวลง ตัว ง. ตัว จ. ก็เอาตีนขึ้น เอาหัวลง มันก็เขียนไปของมันเรื่อยไปเพราะอะไรมันจึงเขียนอย่างนั้น เพราะมันไม่รู้ เพราะมันยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง แต่มันก็พยายามเขียน เขียนจนกระทั่งถึง ป.4, ป.5, ป.6 มันก็เขียนได้ ทีนี้มันก็ไม่เอาหัวลงหัวขึ้นแล้ว มันก็เขียนได้ตามความประสงค์ ตัว ก. เป็นตัว ก. ตัว ข. เป็นตัว ข. อย่างนี้เป็นต้น

    ทำไมมันจึงเขียนได้ ก็เพราะมันฝึก มันฝึกจนกระทั่งมันเกิดความชำนาญ เกิดความชำนาญแล้ว มันก็เกิดสมองที่จะจำเอาไว้ได้ ในความชำนาญนั้น ทีนี้เมื่อเวลาที่มันอ่านออกและเขียนได้แล้ว มันจะกลับไปเป็นคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อีก มันก็กลับไปไม่ได้ มันจะต้องอยู่ของมันอย่างนั้น มันจะต้องสว่างของมันอย่างนั้น คือสว่างในใจของมัน ทั้งกลางวันกลางคืนมันจะใสสว่างของมันอยู่ตลอด

    ไอ้เด็กน่ะ ที่มันเรียนถึง ป.6 หรือว่ามัธยมแล้วอย่างนี้ ทีนี้มันก็ไม่รู้ตัวเองหรอกว่ามันสว่างอยู่ของมัน แต่มันก็สว่าง ถ้ามันไม่สว่าง มันก็ลืมหมด แต่เพราะมันสว่างโร่อยู่ในใจของมัน มันก็เลยไม่ต้องลืม ก็เปรียบเหมือนกับว่า นิโรธ ที่จะต้องทำให้แจ้ง ก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อทำให้แจ้งแล้ว มันก็ไม่ดับแล้ว คือมันไม่กลับไปเป็นคนหลงอีก

    เหมือนกันกับนักเรียนที่มันอ่านออกเขียนได้แล้วนี่ มันก็กลับไปเป็นคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่ได้ ถึงจะแกล้งทำแค่ไหน มันก็แกล้งทำเท่านั้นแหละ แต่ความจริงมันอ่านออกเขียนได้ไปแล้ว มันจะกลับคืนมาเป็นคนโง่อีก ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในริโรธที่พระองค์ทรงแสดงว่า สัจฉิกา ตะ ปัณติ เม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิโรธ ควรทำให้แจ้ง ก็แจ้งอย่างนี้ พอแจ้งแล้วมันไม่มีมืด มันพบแสงสว่างแล้ว มันก็ไม่มีมืด มันก็ได้หนทาง รู้แน่ คือว่าตายแน่ คือว่าเจ็บแน่ คือว่าร่างกายนี้เป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม แน่ แล้วก็ไม่กลับคืนมาไม่แน่อีก มันจะต้องแน่อยู่อย่างนั้นตลอด

    ทีนี้เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็อยู่ที่ว่าเราจะทำให้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน จะเอาแค่ชั้นประถมหรือจะเอาแค่ชั้นมัธยม หรือจะเอาแค่มหาวิทยาลับ หรือจะเอาถึงขั้นดอกเตอร์ มันก็สุดแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้ ในข้อสุดท้ายพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ภาเว ตะ ปัณติ เม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรรค ควรเจริญให้มาก

    ทีนี้ก็อยู่เป็นหน้าที่ที่ มรรค หมายความว่าเรารู้หนทางแล้ว มองหนทางได้ชัดเจนแล้ว อันนี้ก็จะเป็นหนทางดำเนินต่อไป สุดแล้วแต่ความสามารถ แต่ว่าเราเดินทางถูกแล้ว เรามาทางถูกแล้ว เราก็เดินต่อไปในทางที่ถูก เมื่อเดินทางถูกแล้วนี่ วันหนึ่งก็ถึง คือหมายความว่าถึงที่หมายปลายทาง

    ในชีวิตของคนเรานี้ ถ้าหากว่ามีการปฏิบัติหรือได้ทำการปฏิบัตินี่ ถือว่าเป็นสิ่งที่ให้เกิดผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาล ไม่มีผลใดที่จะยิ่งไปกว่านี้ ในบรรดาการกระทำทั้งปวง เพราะมนุษย์เราเกิดมาแล้วตายไป ทรัพย์สินสมบัติอะไรก็เอาตามไปไม่ได้ สามี ภรรยาสุดที่รัก ก็ตามเราไปไม่ได้ ลูกสุดที่รัก ก็ตามเราไปไม่ได้ ทรัพย์สินสมบัติสุดที่รัก มันก็ตามเราไปไม่ได้

    เมื่อเราตายไปแล้ว สิ่งที่อยู่ในโลกนี้ มันก็ต้องอยู่ในโลก ก็เป็นของคนอื่นต่อไป มันไม่ใช่เป็นของเรา เราจะใช้มันอยู่ได้ก็เพียงชั่วชีวิตนี้ พอเลยจากชีวิตนี้เราก็ใช้มันไม่ได้ ชีวิตนึงมันก็หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปอยู่เพียงแค่นี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเด็ก พอเป็นเด็กแล้วก็เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็แก่ลงไป แก่ลงไปแล้วก็ตาย แล้วก็เกิดมาเป็นเด็กใหม่ มันก็เวียนไปอยู่อย่างนี้นี่ ก็มีแค่นั้น

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะวิเศษกว่าที่เราจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่เสียเปล่าๆ นั้น ก็คือการมาฝึกในเรื่องจิตใจนี้ เพราะว่าการฝึกเรื่องจิตใจนี้ เป็นการฝึกที่เราต้องอาศัยระยะเวลาอันยาวนาน เรียกว่าใช้เวลา เมื่อเราใช้เวลาตามสมควรแล้วนี่ มันเกิดผลสำเร็จ เรียกว่าเป็นผลสำเร็จ
    การเกิดผลสำเร็จนั้น เราจะรู้ได้ในเมื่อเราสำเร็จผลสิ่งนั้นๆ ขึ้นมา อย่างที่เราเรียนสำเร็จ ชั้นประถม 1 เราก็รู้แล้ว เราเรียนสำเร็จชั้นประถมสุดท้าย เราก็รู้แล้ว เราเรียนสำเร็จชั้นมัธยม เราก็รู้แล้ว เราเรียนสำเร็จปริญญาตรี เราก็รู้แล้ว ปริญญาโท เราก็รู้แล้ว ปริญญาเอก เราก็รู้แล้ว ใครจะรู้กับเราล่ะ เราก็เป็นคนที่จะรู้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมานั้น เกิดขึ้นโดยเฉพาะ

    ยิ่งการปฏิบัติจิตก็เหมือนกัน พอไปถึงขั้นสำเร็จ ก็เรียกว่าเกิดขึ้นมาโดยเฉพาะ ผู้นั้นก็รู้ รู้ถึงความสำเร็จอันนี้ขึ้นมา มันจะต้องเป็นความจริงที่เรียกว่าสำเร็จขึ้นมาเหมือนกันกับคนที่รับประทานอาหารอิ่ม เค้าก็ต้องรู้ว่าเค้าอิ่ม ใครจะไปรู้ให้เค้าได้ เค้าก็รู้ว่าเค้าอิ่ม เราจะไปบอกคนอื่นได้เหมือนกันว่าชั้นอิ่มแล้ว แต่ว่าคนอื่นเค้าก็ อย่างงั้นๆ แหละ แต่ตัวของเราเองต่างหากที่เป็นผู้ที่รู้ว่าเกิดความอิ่ม อันนี้เป็นข้อเปรียบเทียบในเรื่องการปฏิบัติจิต ต่อไปนี้ก็นั่งสมาธิกันต่อไป

    - พระธรรมเจติยาจารย์(วิริยังค์ สิรินธโร)วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 พระโขนง กรุงเทพฯ -

    Credit : http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/lp-viriyang-03.htm

    FB_IMG_1485937720110.jpg
     
  2. montri_p

    montri_p เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 เมษายน 2007
    โพสต์:
    209
    ค่าพลัง:
    +467

แชร์หน้านี้

Loading...